Skip to main content
sharethis

ธ.ค. ปีที่แล้วพรรคเอเคพีซึ่งเป็นพรรครัฐบาลตุรกีภายใต้การนำของประธานาธิบดี เรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะการปกครองตุรกี ซึ่งทำให้เกิดข้อถกเถียงว่าจะกลายเป็นการทำลายระบบรัฐสภา เพิ่มอำนาจให้ประธานาธิบดีแต่เพียงผู้เดียวหรือไม่

19 ม.ค. 2560 เรเซป ตอยยิบ เออร์โดกันเป็นผู้ที่มีอำนาจในตุรกีมากว่า 13 ปี เริ่มต้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและได้เป็นประธานาธิบดีในปี 2557 ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของเขาถูกเรียกว่าเป็น "ระบอบประธานาธิบดีสไตล์ตุรกี" เป็นการยกเลิกระบบรัฐสภาแบบเดิม สั่งยุบสำนักนายกรัฐมนตรีไปสู่ระบบประธานาธิบดีเปิดทางให้เออร์โดกันกลายเป็นผู้มีอำนาจบริหารหนึ่งเดียวในประเทศ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังอยู่ในการถกเถียงอภิปรายกันในสภา

ร่างรัฐธรรมนูญตุรกีฉบับนี้ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาและผ่านการทำประชามติก่อน แต่ถ้าหากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของตุรกีมีผลบังคับใช้ จะทำให้ตุรกีไม่มีคณะรัฐบาลอย่างเป็นทางการแบบเดิมที่จะตอบรับกับรัฐสภา โดยจะเป็นการให้อำนาจประธานาธิบดีในการแต่งตั้งและปลดรัฐมนตรีออก นอกจากนี้ยังให้ประธานาธิบดีอยู่ในตำแหน่งได้ 5 ปี และยังคงดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคการเมืองไปในเวลาเดียวกันได้ การเลือกตั้งสมาชิกสภาในตุรกีก็จะเปลี่ยนมาเลือกกันทุก 5 ปี แทน 4 ปี และต้องเลือกในวันเดียวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดี

ในแง่ของการจัดสรรอำนาจทางการเมือง รัฐบาลตุรกีมองว่าจะทำให้ประธานาธิบดีมีอำนาจมากขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้มีรัฐบาลผสมที่อ่อนแออีกแบบในอดีต นายกรัฐมนตรี บินาลี ยิลดิริม เคยให้สัมภาษณ์ต่อสื่อในเรื่องนี้ว่ารัฐสภาเองก็จะเข้มแข็งขึ้นด้วยโดยมีอำนาจประธานาธิบดีคอยจัดการฝ่ายบริหารเพื่อระงับความขัดแย้ง

อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์มองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในตุรกีกลับจะทำให้รัฐสภาอ่อนแอลง ทำลายระบบตรวจสอบถ่วงดุล และอาจจะถึงขั้นทำให้ตุรกีกลายเป็นระบบการปกครองที่ขึ้นอยู่กับคนๆ เดียว จากเดิมที่ฝ่ายต่างๆ ของรัฐบาลได้แก่ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการจะตรวจสอบถ่วงดุลกันเองไม่ให้ใครมีอำนาจมากเกินไป

ผู้วิจารณ์ในเรื่องนี้คือเบอร์ทิล เอ็มราห์ โอเดอร์  ศาตราจารย์ด้านกฎมายรัฐธรรมนูญจากมหาวิทยาลัยค็อกในอิสตันบูลกล่าวว่าจากข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำให้ประธานาธิบดียังคงดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคในขณะที่มีการเลือกตั้งรัฐสภาและประธานาธิบดีไปพร้อมๆ กัน ทำให้ผู้ลงสมัครประธานาธิบดีมีอำนาจจะเลือกบัญชีรายชื่อ ส.ส. ได้ในการเลือกตั้งสมาชิกสภา ส่งผลให้ประธานาธิบดีมีอำนาจควบคุมรัฐสภาและวาระการประชุมของสภา นำไปสู่การทำลายระบบตรวจสอบถ่วงดุล

เลเวนต์ คอร์คุต ศาตราจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยเมดิโปลกล่าวในทำนองเดียวกันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจจะไม่ถึงขั้นทำให้ระบบตรวจสอบถ่วงดุลถูกขจัดโดยสิ้นเชิงแต่จะทำให้ระบบแตกต่างออกไปจากระบบสภาแบบคลาสสิกหรือระบบประธานาธิบดีแบบสหรัฐฯ ที่มีผู้นำพรรคกับผู้สมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นคนละคนกัน ทำให้มีวาระของแต่ละคนต่างกันได้ ทำให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลกันได้ซึ่งระบบใหม่จะไม่มีในเรื่องนี้ คอร์คุตบอกว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขยังขจัดสิทธิในการตั้งกระทู้ถามในสภาออกไป ทำให้ตั้งคำถามกับการกระทำของประธานาธิบดีไม่ได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายสนับสนุนรัฐธรรมนูญใหม่ตุรกีอย่าง เมห์เหม็ต อุคุม ที่ปรึกษาด้านตุลาการของเออร์โดกันกล่าวว่ารัฐธรรมนูญใหม่ของพวกเขาจะมีระบบตรวจสอบถ่วงดุลที่ดียิ่งกว่าเดิม โดยอ้างว่าระบบปัจจุบันถ้าฝ่ายบริหารที่เป็นรัฐบาลมีเสียงข้างมากในสภาก็จะผ่านร่างกฎหมายได้โดยไม่มีการต่อต้าน แต่ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญระบุให้มีการแยกฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติออกจากกันมากขึ้น อุคุมอ้างอีกว่าสิทธิในการตั้งกระทู้ถามเป็นเรื่องไม่จำเป็นในระบบที่อำนาจฝ่ายบริหารคือประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งอยู่แล้ว ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ริบอำนาจกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีโดยสภาถ้าหากประธานาธิบดีกระทำความผิด

อย่างไรก็ตาม ระบบใหม่ของตุรกีจะมีการกระบวนการถอดถอนที่ซับซ้อนมาก โดยเริ่มจากการต้องใช้รายชื่อของผู้แทน 301 ใน 600 ของสภา และหลังจากนั้นต้องตั้งคณะกรรมการจากการโหวตลับโดยผู้แทน 360 เสียง และถ้าหากมีการไต่สวนพิจารณาแล้วว่าต้องส่งตัวประธานาธิบดีไปดำเนินคดีในศาลสูงสุด จะมีการดำเนินคดีกับประธานาธิบดีได้ก็ต่อเมื่อมีการโหวตลงคะแนนลับๆ จากผู้แทนเกิน 400 เสียงเท่านั้น ซึ่งคอร์คุต บอกว่าเป็นระบบที่ทำให้การถอดถอนประธานาธิบดีโดยสภาเป็นไปไม่ได้เลยในทางปฏิบัติ เพราะต้องอาศัยเสียงข้างมากในสภา 2 ใน 3 ในขณะที่รัฐสภาเต็มไปด้วยคนพรรคเดียวกับของประธานาธิบดี

โอเดอร์ ยังกล่าวถึงอีกมุมหนึ่งว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่นี้อาจจะทำให้สูญเสียอิสรภาพด้านตุลาการด้วย จากการที่ประธานาธิบดีมีอำนาจกว้างขวางเหนือสภาสูงแห่งผู้พิพากษาและอัยการ ขณะที่อุคุมอ้างว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำให้ตุลาการ "เป็นอิสระมากขึ้น" จากการที่ "สภาสูงแห่งผู้พิพากษาและอัยการ"

ต้องดูกันต่อไปว่าถ้าหากร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญตุรกีจะผ่านความเห็นชอบจากสภาหรือไม่ ซึ่งอัลจาซีราระบุว่ามีโอกาสที่ร่างการแก้ไขจะผ่านสูงมากเนื่องจากสองพรรคการเมืองอย่างเอเคพี กับเอ็มเอชพี ที่มีท่าทีสนับสนุนการแก้ไขมีจำนวนในสภามากพอที่จะทำให้ผ่านการลงมติได้ และหลังจากผ่านมติในสภาแล้วก็จะไปสู่ขั้นตอนการลงประชามติจากประชาชนซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะจัดในช่วงเดือน มี.ค. - เม.ย. ที่จะถึงนี้

 

เรียบเรียงจาก

Turkey's constitutional reform: All you need to know, Aljazeera, 18-01-2017
http://www.aljazeera.com/indepth/features/2017/01/turkey-constitutional-reform-170114085009105.html

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net