Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 

โครงการจัดสอบนักเรียนนานาชาติ หรือ PISA (Program for International Students Assessment) ที่ดำเนินการโดย OECD (องค์การความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจโพ้นทะเล) ประกาศผล PISA 2015 อย่างเป็นทางการ โดยมีประเทศเข้าร่วมการทดสอบ 72 ประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจ ทั้งหมดเป็นการทดสอบวิทยาศาสตร์ การอ่าน และคณิตศาสตร์ ในเด็กอายุ 15 ปี ปรากฏว่าไทยอยู่อันดับที่ 55 (วิทยาศาสตร์ อันดับที่ 54 การอ่าน อันดับที่ 57 และคณิตศาสตร์ อันดับที่ 54) ปรากฏว่า ผลการทดสอบลดลงจากการสอบเมื่อปี 2012 ในทุกวิชา ขณะที่เวียดนามมีผลคะแนน PISA ขยับขึ้นมาในอันดับ 8 ของโลก ซึ่งจากผลการทดสอบที่ออกมาแสดงให้เห็นว่า อันดับ PISA ของไทยตกต่ำอย่างมาก

หากพิจารณาแล้วอันดับ PISA ของไทยที่ได้ในปีนี้ แสดงให้เห็นถึงความตกต่ำทางการศึกษาของไทยเป็นประวัติการณ์อย่างถึงที่สุด กล่าวคือ ไทยไม่ผ่านมาตรฐานการศึกษาตามเกณฑ์ของโลก หรือกล่าวตามตรงก็คือ  นักเรียนไทยได้ผลการสอบ “ตก” นั่นเอง

เป็นการตกชนิดที่นักการศึกษาไทยบางท่าน (อย่างเช่น นายสมพงษ์ จิตระดับ แห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย) ถึงกับกล่าวว่า “ตกซ้ำซาก ไม่มีแนวโน้มดีขึ้น จัดอันดับกี่ครั้งต่อกี่ครั้งก็ตกอย่างนี้ทุกครั้ง สะท้อนว่าการปฏิรูปการเรียนรู้ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ล้มเหลว ไม่เป็นท่า” (http://www.matichon.co.th/news/395185)

น่าคิดว่ากระแสทัศน์ทางการศึกษาของไทยกับกระแสทัศน์ทางการศึกษาของโลกหรือของสากลเดินกันไปคนละทางกันล่ะหรือ? การศึกษาของไทยหรือแบบไทยๆ เป็นไปในแนวทางเดียวกับการศึกษาแบบสากลหรือไม่? หรือวิธีการและหลักสูตรการศึกษาของไทยไปคนละทางกับของสากล โดยเฉพาะกับวิธีการทางการศึกษาและหลักสูตรของประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างเช่น ยุโรป สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น (OECD)

เพราะที่ผ่านมารัฐบาลไทยเคยสนับสนุนหรือมีนโบบาย Child Center คือเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง แต่แล้วก็ไปได้ไม่นาน หรือว่าสภาพวัฒนธรรมแบบไทยๆ ไม่เหมาะสมกับกระแสทัศน์การศึกษาแบบสากลที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง จนท้ายที่สุดนำมาซึ่ง “ครู (ผู้สอน)เป็นศูนย์กลาง” ดังเดิม

ดูเหมือนนักการศึกษาไทยและหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา รวมถึงผู้บริหารในระดับนโยบายการศึกษาของรัฐบาลไทย (กระทรวงศึกษาธิการ) เองเข้าใจเป็นอย่างดีว่าปัญหาใหญ่ในการจัดรกระบวนทัพทางด้านการศึกษาของไทยคืออะไร แต่แล้วกลับแก้ไขปัญหาที่ว่านี้ไม่ได้เสียทีจนหลายปีดีดัก

ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาระดับต้น ระดับกลางหรือระดับปลายหรือระดับมหาวิทยาลัย ล้วนแต่มีปัญหาเดียวกัน ไม่รวมถึงการกระทำเชิงนโยบายรัฐด้านอื่นๆ ที่ย้อนแย้ง (paradox) กับกระแสทัศน์การศึกษาแบบสากล เนื่องจากการรวบรัดตัดตอนเชิงนโยบาย คือไม่เปิดโอกาสให้วิพากษ์วิจารณ์นโยบายรัฐอย่างเต็มที่ ขณะที่กระแสทัศน์ทางการศึกษาแบบสากลเน้นไปที่การกล้าวิพากษ์  แม้กระทั่งการวิพากษ์ตัวผู้สอน นี่เองที่วัฒนธรรมการศึกษาไทยอาจรับไม่ได้

หากดูวัฒนธรรมการเรียนการสอนในระบบการศึกษาของสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน ผู้สอนเปิดโอกาสอย่างเต็มที่จากข้อมูลที่มีอย่างล้นหลามในสื่อยุคโลกาภิวัตน์  (เช่น ข้อมูลจาก search engines ในอินเตอร์เน็ต) เปิดโอกาสให้ผู้เรียนนำข้อมูลที่อ่านมาดังกล่าวมาวิพากษ์วิจารณ์ในห้องเรียนด้วยความเข้าใจว่า ความรู้มีอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะแหล่งความรู้นอกห้องเรียน หากแต่การนำข้อมูลหรือความรู้มาวิพากษ์ดังกล่าว มิใช่สักแต่การลอกข้อมูลความรู้มาเท่านั้นผู้เรียนต้องนำข้อมูลความรู้ “มายำ”หรือวิพากษ์เพื่อแสดงความถูกความผิดของข้อมูลความรู้ที่ได้มาด้วย

นั่นหมายความว่า ผู้สอนต้องยอมรับตัวเองว่า ในแง่ของปริมาณข้อมูลความรู้นั้น ในสมัยโลกาภิวัตน์ผู้สอนอาจไม่สามารถมีมากเท่าผู้เรียนที่สามารถสืบค้นได้หลายทาง การวิพากษ์ข้อมูลความรู้ในศาสตร์ต่างๆ ตะหากที่ทำให้เกิดนวัตกรรมหรือการต่อยอดข้อมูลความรู้ใหม่ๆ เรื่องนี้สถานศึกษาจำนวนมากในอเมริกาเข้าใจดีและมีนโยบายให้ผู้สอนทำเช่นนี้ เช่น มหาวิทยาลัยเนวาดา ลาสเวกัส (UNLV) จ้างผู้สอนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญหรือประสบความสำเร็จในวิชาชีพแขนงต่างๆ ที่มีประสบการณ์จากข้างนอกสอนนักศึกษาที่นั่นมานานหลายปี เป็นต้น

เมื่อกระแสทัศน์การศึกษาในระดับล่างคือตั้งแต่ระดับประถม มัธยม มีปัญหาจากรูปแบบวัฒนธรรมการถือผู้สอนเป็นศูนย์กลาง ก็ย่อมส่งผลต่อมายังการศึกษาในระดับอุดมศึกษาอีกด้วย ทั้งส่งผลต่อแม้กระทั่งเนื้อหางานวิจัยที่เบี่ยงเบนไปจากข้อเท็จจริง เพราะเป็นงานวิจัยที่ตั้งอยู่ในกรอบของการตอบสนองต่อวัฒนธรรมอำนาจนิยมเป็นหลักนั่นเอง

จากผลสอบ PISA ของนักเรียนไทยที่ย่ำแย่คราวนี้ หลายฝ่ายทางการศึกษาของไทย รวมถึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่นสื่อมวลชน เป็นต้น ได้คำตอบที่ตรงกันอย่างหนึ่ง เท่าที่ผู้เขียนสังเกตดูก็คือ นักเรียนไทยวิเคราะห์ไม่เป็น เมื่อวิเคราะห์ไม่เป็นก็นำข้อมูลความรู้ที่ได้มาไปประยุกต์หรือไปต่อยอดเพื่อนให้เกิดนวัตกรรมไม่ได้ ขณะที่กรอบของการศึกษายังตั้งอยู่บนพื้นฐานของการท่องจำเหมือนเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว ซึ่งรูปแบบวัฒนธรรมทางการศึกษาดังกล่าวมิได้เป็นแค่ในระดับการศึกษาตอนต้นหรือตอนกลาง (มัธยม)เท่านั้น หากแต่เป็นไปถึงในระดับการศึกษาขั้นปริญญาโท ปริญญาเอกหรือในระดับบัณฑิตศึกษา

น่าสงสัยว่าการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาของไทยที่ตั้งอยู่บนวัฒนธรรมพินอบพิเทาหรืออำนาจนิยมที่ว่านี้ จะมีคุณภาพมากน้อยขนาดไหน ที่อนุมัติปริญญากันตูมๆ ตามสถาบันการศึกษาต่างๆ จะมิต่างไปจากสำนวนคำพูดเชิงดูถูกดูแคลนที่ว่า “จ่ายครบจบแน่”อย่างไร

ไม่รวมถึงการรับจ้างเขียนวิทยานิพนธ์ที่กระทำกันอย่างเปิดเผยโล่งโจ้ง (หาดูได้ตามเว็บไซท์ต่างๆ ทั่วไป)  น่าอับอายมากตรงที่อาจารย์ผู้สอนในมหาวิทยาลัยเป็นผู้รับจ้างเขียนวิทยานิพนธ์เสียเอง ผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการและรัฐบาลเองไม่ได้เข้าไปดูแลเต็มที่ ขณะที่เวลานี้บางประเทศ เช่น ออสเตรเลีย เป็นต้น หน่วยงานด้านการศึกษาถึงกับเข้ามาสอดส่องความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์ผู้สอนกับลูกศิษย์ในโซเชียลมีเดียเอาด้วยซ้ำ

ประเด็นการวิเคราะห์ไม่เป็นของนักเรียนนักศึกษาไทย น่าจะเป็นประเด็นทิ่มแทงไปที่วัฒนธรรมการศึกษาแบบท่องจำแบบไทยๆที่ฝังหัวมาช้านาน รวมถึงวัฒนธรรมการเชื่อฟังผู้สอนแบบเชื่องๆ โดยปราศจากความเป็นตัวของตัวเอง (คิดเอง/คิดเป็น) ผลก็คือ สังคมการศึกษาของไทยเป็นสังคมที่ขาดการวิพากษ์ ตั้งแต่สังคมขนาดเล็กอย่างครอบครัว โรงเรียน และสังคมระดับประเทศ เมื่อวิพากษ์ไม่ได้ก็ป่วยการที่จะหวังถึงนวัตกรรม ไม่ว่าจะใช้คำพูดสวยหรูเชิงการโปรโมทประเทศ เช่น ไทยแลนด์ 4.0 เป็นต้น มากมายเพียงใดก็ตาม

รู้ๆ กันอยู่ครับว่าศักยภาพของบุคลากรผู้จบการศึกษา โดยเฉพาะในระดับบัณฑิตศึกษาของไทยเป็นอย่างไร มีคำนำหน้าชื่อ (ดร.) ไว้พิมพ์นามบัตรแจกเพื่อความโก้ หรือ เพื่อให้คนเห็นในใบฎีกาตอนเป็นกรรมการงานทอดกฐิน ทอดผ้าป่าฯทำนองนี้ซะก็มาก.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net