Skip to main content
sharethis

รัฐบาลเตรียมประกาศแผนที่การเกษตร กำหนดพื้นที่เหมาะสมสำหรับปลูกพืชแต่ละชนิด แต่ใม่ใช่มาตรการบังคับ ก.เกษตรฯ ลดขั้นตอนรับรองเกษตรแปลงใหญ่

18 ม.ค. 2560 พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมกรอบแนวทางแก้ปัญหาข้าวครบวงจร ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดแผนงานในปี 60 โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ เตรียมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ในวันจันทร์ที่ 23 ม.ค.นี้ เพื่อรับทราบข้อมูล เกี่ยวกับปริมาณการปลูกข้าว ความต้องการทั้งปริมาณการบริโภคในประเทศ และการส่งออก และใช้ในอุตสาหกรรม  ซึ่งมีความต้องการประมาณ 30 ล้านตัน และการปลูกข้าวในพื้นที่ปลูกนาปีประมาณ 58 ล้านไร่ และนาปรัง 5 ล้านไร่ หลังจากนั้นกระทรวงเกษตรฯเตรียมออกประกาศแผนที่ทางการเกษตร ในวันที่ 28 ก.พ.60 เพื่อกำหนดเขตพื้นที่เหมาะสม หรือไม่เหมาะในการปลูกหรือทำการเกษตร หวังปรับเปลี่ยนการปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ และความต้องการของตลาด เช่น พื้นที่ใดไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าวควรปลูกพืชชนิดอื่น เช่น การปลูกถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วลิสง เพราะตลาดยังมีความต้องการ เช่น การเปลี่ยนจากปลูกข้าว ไปเลี้ยงปศุสัตว์ โดยภาครัฐพร้อมส่งเสริมการตลาดให้กับเกษตรกร ผ่านมาตรการส่งเสริมต่างๆ เพื่อเสนอ ครม.พิจารณาในเร็วๆนี้ ยอมรับว่าไม่ใช่มาตรการบังคับ  หากรายใดปลูกพืชสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลจะได้รับการส่งเสริมผ่านมาตรการต่างๆจากภาครัฐ

ก.เกษตรฯ ลดขั้นตอนรับรองเกษตรแปลงใหญ่

ขณะที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินงานโครงการเกษตรแปลงใหญ่ปี 2559  มีแปลงใหญ่ทั้งสิ้น 600 แปลง พื้นที่ 1.538 ล้านไร่ เกษตรกร 96,554 ราย สำหรับปี 2560 กำหนดเป้าหมายไม่น้อยกว่า 900 แปลง คือ เดือนมกราคม 400 แปลง และพฤษภาคม 512 แปลง รวมทั้งสิ้น 1,512 แปลง ซึ่งปีนี้ต้องมีการปรับลดหลักการ เพื่อให้เกษตรกรเข้าใจง่ายขึ้น ทั้งนี้ รายงานความสำเร็จที่สามารถตรวจวัดผลผลิตและประเมินผลได้มี 480 แปลง จาก 600 แปลง คิดเป็นร้อยละ 92 ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างประเมินผลผลิต เนื่องจากยังไม่เก็บเกี่ยว
 
“การปรับปรุงขั้นตอนการรับรองส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ได้ลดขั้นตอน โดยแต่งตั้งคณะทำงานรับรองแปลง Single Command (ประธาน/เกษตรจังหวัด/เลขานุการ)  จากเดิมต้องผ่านอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัด  โดยให้คณะทำงานรับรองแปลงรับรองและนำเสนออนุกรรมการฯ เพื่อรับทราบ อีกทั้งต้องมีฐานข้อมูลที่ชัดเจนทุกราย เพื่อให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น” พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว
 
โดย สมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า การดำเนินงานแปลงใหญ่ที่ผ่านมามีหลักเกณฑ์การดำเนินงาน ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดในการขยายพื้นที่ เนื่องจากมีเกษตรกรต้องการเข้าร่วมแปลงใหญ่จำนวนมาก จึงมีการหารือร่วมกันและสรุปหลักการของแปลงใหญ่ ดังนี้ 1.ง่ายต่อการเข้าถึง รวมตัวกันได้ จับเป็นกลุ่มผลผลิตเกษตรชนิดเดียวกัน ดำเนินการได้ทันที  2. ขนาดพื้นที่เหมาะสม ไม่จำกัดขนาดและจำนวนเกษตรกรที่เข้าร่วม 3. พัฒนาให้ถึงเป้าหมาย คือ ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ขยายโอกาส 4. พื้นที่ไม่เหมาะสมตาม Agri Map สามารถรวมเป็นแปลงใหญ่ได้ และใช้เทคโนโลยีเข้าไปปรับพื้นที่ให้เหมาะสม 5. ยกระดับมาตรฐานผลผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้น 6. แหล่งน้ำ ตามความจำเป็นหรือความเหมาะสม 7. กระบวนการกลุ่ม คือ กลุ่มเดิม (สหกรณ์/วิสาหกิจชุมชน) กลุ่มย่อยทำแปลงใหญ่ได้ กรณีไม่มีกลุ่ม จะต้องมีการพัฒนาให้เกิดกลุ่มที่มีความเข้มแข็ง 8. Economy of scale ตัดสินด้วยเกณฑ์ของแหล่งทุน ขึ้นกับกิจกรรมที่กลุ่มขอรับการสนับสนุน และ 9. ความสมัครใจเป็นสมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่ และดำเนินการภายใต้หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และเป้าหมายของแปลงใหญ่
 
ที่มา สำนักข่าวไทย 1, 2
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net