สนช.พิจารณาวาระแก้ รธน. 57 3 วาระรวด 13 ม.ค.นี้

มีชัยชี้แก้ไขร่าง รธน. หมวดพระมหากษัตริย์ จะต้องไปแก้ไขประเด็นของประธานองคมนตรี ที่เป็นผู้สำเร็จราชการโดยอัตโนมัติด้วย วิษณุ เผยชื่อ กก.แก้ไขร่าง รธน. ระบุกม.ลูกเดินหน้าตามโรดแมป สถานการณ์เปลี่ยนวันเลือกตั้งจะต้องวางใหม่

11 ม.ค. 2560 จากกรณีวานนี้ (10 ม.ค. 60) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์หลังจากประชุมร่วมกับ คสช. โดยชี้แจงให้ทราบว่า องคมนตรีได้แจ้งให้ทราบว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงมีรับสั่งให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับผ่านการลงประชามติ ในหมวดพระมหากษัตริย์ เรื่องพระราชอำนาจนั้น (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

สนช.พิจารณาวาระแก้ 3 วาระรวด 13 ม.ค.นี้

วันเดียวกัน เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปสนช.) เปิดเผยว่า ในที่ประชุมวิป สนช. 10 ม.ค.60 นายกรัฐมนตรีส่งหนังสือด่วนถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.  ซึ่งเป็นมติของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ฉบับปี 2557  ซึ่งวิปสนช. จึงมีมติ บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ในวันศุกร์ 13 ม.ค. โดยจะเป็นการพิจารณา 3 วาระรวดเพื่อความรวดเร็ว และให้เป็นไปตามโรดแมป โดยเป็นการแก้ไขใน 2 ประเด็น คือ เรื่องผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และเงื่อนเวลาการนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดของตัวร่างแก้ไขได้  ขณะที่ในส่วนของร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ จะ ให้รัฐบาลเป็นฝ่ายชี้แจงถึงตัวผู้แก้ไข ว่าจะเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) หรือ สนช. หรือรัฐบาลแก้ไขเอง

มีชัยชี้ต้องแก้ปมปธ.องคมนตรีที่เป็นผู้สำเร็จราชการโดยอัตโนมัติด้วย

วันนี้ (11 ม.ค.59) มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ระบุว่า ยังไม่ทราบว่าเป็นหนึ่งในคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดพิเศษ ดำเนินการยกร่างมาตราที่จะมีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ ให้เป็นไปตามข้อสังเกตพระราชทาน แต่ดูตามร่างแก้ไขแล้ว ประเด็นไม่กว้างไกล จึงจะแก้เฉพาะข้อสังเกตที่ส่งมาจากสำนักพระราชวัง

มีชัย ฤชุพันธุ์ 

มีชัย กล่าวว่า ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว ปี 2557 จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ ก่อนวันที่ 6 ก.พ. ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญกลับคืนมา และดำเนินการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับประชามติ ภายใน 30 วัน ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้จะเริ่มดำเนินการทันที นับตั้งแต่นายกรัฐมนตรีรับพระราชทานร่างกลับคืนมา
 
มีชัย ยอมรับว่า การปรับแก้ไขประเด็นพระราชอำนาจ จะส่งผลกระทบต่อคำปรารภ และมาตราอื่นๆ เช่น การแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการ ที่ร่างใหม่กำหนดให้แต่งตั้งหรือไม่ก็ได้ ซึ่งตรงนี้จะต้องไปแก้ไขประเด็นของประธานองคมนตรี ที่เป็นผู้สำเร็จราชการโดยอัตโนมัติ  พร้อมปฏิเสธที่จะให้คำยืนยันถึงโรดแมปเลือกตั้ง ว่าจะเลื่อนออกไปหรือไม่ เพราะต้องรอรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้ จึงจะสามารถเริ่มนับหนึ่งในกระบวนการได้

วิษณุ เผยชื่อ กก.แก้ไขร่าง รธน.

ด้าน วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึง การตั้งคณะกรรมการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านประชามติ ว่า จากการหารือที่ประชุมร่วมคณะรัฐมนตรี(ครม.) และ คสช. มีการเสนอให้ตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกา 8-10 คน เพื่อยกร่างมาตราที่จะแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ ให้เป็นไปตามข้อสังเกตพระราชทาน โดยจะคัดเลือกจากคณะกรรมการกฤษฎีกาที่มีมากกว่า 100 คน มีคุณสมบัติอยู่ในฐานะที่จะช่วยตรวจสอบได้ ทำหน้าที่คือยกร่างและตรวจสอบให้เป็นไปตามข้อสังเกตพระราชทานของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในรัฐธรรมนูญประมาณ 3-4 มาตรา ไม่เช่นนั้นจะถูกสังคมกล่าวหาได้ว่ารัฐบาลจะสอดแทรกแก้ไขมาตราอื่น ๆ อีก
 
“กรรมการกฤษฎีกาที่ตั้งขึ้นจะมีทั้งผม มีชัย ฤชุพันธุ์  พรเพชร วิชิตชลชัย บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ดิสทัต โหตระกิตย์ อัชพร จารุจินดา อำพน กิตติอำพน ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร  วีระพล ตั้งสุวรรณ และ อภิชาต สุขัคคานนท์ โดยจะดึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเข้ามาช่วยในฐานะเจ้าหน้าที่ในการประสานข้อมูลต่างๆ ซึ่ง มีชัย ฤชุพันธุ์ จะเป็นประธานในชุดนี้ อย่างไรก็ตาม จะยังไม่ตั้งคณะกรรมการดังกล่าวในตอนนี้ โดยจะต้องดำเนินการตามขั้นตอน คือ ในวันศุกร์ที่ 13 ม.ค.นี้  สนช. จะแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวก่อน และรอการโปรดเกล้าฯลงมาภายใน 30 วัน จากนั้นจะตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดดังกล่าว เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชามติให้เสร็จภายในไม่กี่วัน ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะมอบให้องคมนตรี นำขึ้นทูลเกล้าฯต่อไป ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับคณะกรรมการฯดังกล่าว” วิษณุ กล่าว
 
วิษณุ กล่าวว่า การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวอาจกระทบในบางมาตรา ที่เกี่ยวพันกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ แต่ยืนยันไม่แก้ในเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนและแนวนโยบายของรัฐ คณะรัฐมนตรี ศาล การเลือกตั้ง องค์กร พรรคการเมือง ส.ว. ส.ส. รวมถึงบทเฉพาะกาล การร่างรัฐธรรมนูญในหมวดพระมหากษัตริย์ เนื่องจากสถานการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนแปลง จึงมีความจำเป็นต้องปรับให้เข้ากับเหตุการณ์ เพราะหากไม่แก้ก็จะใช้หลักการเดิมตั้งแต่ปี 2475 และหลังจากแก้ไขเสร็จแล้ว 30 วัน นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ หลังจากนั้นอยู่ในพระราชอำนาจของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

กม.ลูกเดินหน้าตามโรดแมป สถานการณ์เปลี่ยนวันเลือกตั้งจะต้องวางใหม่

ส่วนการร่างกฏหมายลูก 4 ฉบับ วิษณุ กล่าวว่า ยังยึดแนวทางเดิม คือ ร่างในส่วนที่สำคัญก่อน ซึ่ง กรธ. จะต้องทำหน้าที่ตามเวลาที่กำหนด ยืนยันโรดแมปยังเดินตามขั้นตอนที่กำหนดมาก่อนหน้านี้ ไม่ตัดขั้นตอนหรือยืดเวลาใด ๆ ส่วนการกำหนดวันเลือกตั้ง อาจจะต้องกำหนดใหม่เพราะสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ทั้งเรื่องพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ และพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งรัฐบาลไม่อยากใช้ข้ออ้างนี้ แต่คือความจริงที่อยู่ในหัวใจของทุกคน ซึ่งล้วนขึ้นอยู่กับพระบรมราชวินิจฉัยในการกำหนดวันและเวลา อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งยังอยู่ตามกำหนดเดิมของโรดแมป
 
 
ที่มา : ทีมข่าววิทยุรัฐสภา และสำนักข่าวไทย 1, 2

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท