Skip to main content
sharethis
แรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่ายื่นฟ้องสำนักงานประกันสังคมกรณีปฏิเสธแรงงานข้ามชาติ เข้าถึงเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนและคำสั่งสำนักงานประกันสังคมขัดต่ออนุสัญญา ILO ฉบับที่ 19
 
เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2559 ที่ผ่านมา นายไซ เคน หรือ SAI KEIN แรงงานข้ามชาติ ชาวพม่า ได้มอบอำนาจให้ตัวแทน ยื่นฟ้องสำนักงานประกันสังคม จังหวัดนครปฐม เป็นจำเลยที่ 1 และ คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน เป็นจำเลยที่ 2 ต่อศาลแรงงาน เขตพื้นที่สมุทรสาคร สืบเนื่องจากคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ได้มีหนังสือ เลขที่ นฐ 0030.1/33948 ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2559 เรื่องแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งเรื่องเงินทดแทน เห็นว่า นายไซเคน ไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 แต่ให้นายไซ เคน ได้รับเงินทดแทนจากบริษัท ฟิลลิ่งแคร์ (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะนายจ้าง
 
นายไซ เคน ไม่เห็นด้วย ต่อคำสั่งคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน จึงใช้สิทธิทางศาลยื่นฟ้องสำนักงานประกันสังคมและคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ต่อศาลแรงงาน เพื่อให้ขอให้ศาลพิจารณาและออกคำพิพากษาเพิกถอนหนังสือคณะกรรมการเงินทดแทน เลขที่ นฐ 0030.1/33948 เนื่องจากนายไซ เคน เป็นแรงงานข้ามชาติ ชาวพม่า ทำงานเป็นลูกจ้างของบริษัท ฟิลลิ่งแคร์ (ประเทศไทย) จำกัด ในตำแหน่งพนักงานฝ่ายผลิต มีหน้าที่นำใยสังเคราะห์ เข้าเครื่องตีใยสังเคราะห์ ต่อมาวันที่ 11 พฤษภาคม 2558 ขณะที่นายไซ เคน ปฏิบัติงานควบคุมเครื่องตีใยสังเคราะห์ นายไซ เคน ได้ถูกเครื่องจักรตัดมือซ้ายขาดระดับฝ่ามือ เหลือเพียงนิ้วหัวแม่มือซ้าย นายไซเคน ได้รักษาอาการบาดเจ็บและต้องหยุดงานเพื่อรักษาตัว เป็นระยะเวลา 45 วัน จากนั้นจึงได้ยื่นคำร้องต่อสำนักงานประกันสังคม จังหวัดนครปฐม เพื่อให้ออกคำสั่งให้นายไซ เคน ได้รับเงินทดแทน กรณีประสบอันตรายจากการทำงานให้กับนายจ้าง โดยวันที่ 30 ธันวาคม 2558 สำนักงานประกันสังคม  ได้ออกคำสั่งว่า นายไซเคน ประสบอันตรายจากการทำงานให้กับนายจ้าง จึงมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากนายจ้าง จำนวน 309,504 บาท แต่นายไซเคน ไม่เห็นด้วย เนื่องจาก นายไซ เคน เป็นแรงงานข้ามชาติ ขึ้นทะเบียนตามนโยบายของรัฐบาลไทย มีเอกสารการเดินทาง และใบอนุญาตทำงานที่ออกโดยสำนักงานจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ทำงานให้กับนายจ้าง ที่ประกอบกิจการ ที่กระทรวงแรงงานประกาศให้นายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน ตามกฎหมาย แต่หากนายจ้างไม่ได้แจ้งขึ้นทะเบียนลูกจ้างและจ่ายเงินสมทบโดยฝ่าฝืนกฎหมาย สำนักงานประกันสังคมยังคงมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนให้กับนายไซเคน แล้วสำนักงานประกันสังคมไปใช้สิทธิฟ้องไล่เบี้ยกับนายจ้างแทน
 
คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน พิจารณาอุทธรณ์คำสั่งของนายไซ เคน ได้แจ้งผลคำสั่งยืนยันว่านายไซเคน ไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากกองทุน โดยเห็นว่า นายไซเคน เป็นแรงงานข้ามชาติ ใช้เอกสารการเดินทางและอยู่ระหว่างขอโควตาการทำงานกับกรมการจัดหางาน ได้ประสบอันตรายขณะทำงานให้กับบริษัท และใบอนุญาตทำงานที่ออกโดยกระทรวงแรงงาน  แต่เมื่อพิจารณาเอกสารที่เป็นใบอนุญาตทำงาน พบว่า นายไซ เคน ยังเป็นลูกจ้างของนายจ้างคนเดิม นายจ้างคนปัจจุบันยังมิได้แจ้งการรับนายไซ เคน เข้าทำงานกับสำนักงานจัดหางาน ขณะที่นายไซ เคน ประสบอันตรายจากการทำงานให้กับบริษัทฟิลลิ่งแคร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นนายจ้างที่ลักลอบจ้างนายไซ เคน โดยไม่มีหลักฐานขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม นายจ้างจึงต้องเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายเงินทดแทนเอง ซึ่งความเห็นของคณะกรรมการเงินทดแทนเรื่องการลักลอบทำงานให้กับบริษัทนั้น นายไซเคน เห็นว่า จะต้องไปว่ากันด้วยพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว มิใช่เป็นข้ออ้างในการปฏิเสธสิทธิของนายไซ เคน ในการเข้าถึงเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนซึ่งได้รับรองไว้ในพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537
 
การฟ้องสำนักงานประกันสังคม และคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ครั้งนี้ นอกจากจะขอให้ศาลแรงงานพิจารณาพิพากษา เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนแล้ว นายไซ เคน เห็นว่า พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 ได้บัญญัติขึ้นมาเพื่อการคุ้มครองลูกจ้าง ที่รวมไปถึงแรงงานข้ามชาติ โดยกฎหมายได้กำหนดให้มีกองทุนเงินทดแทนขึ้นมา เพื่อให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อเป็นหลักประกันในการจ่ายเงินทดแทนแก่ลูกจ้าง เมื่อลูกจ้างประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย หรือถึงแก่ความตาย หรือสูญหาย ระหว่างการทำงานให้กับนายจ้าง แต่อย่างไรก็ตาม สำนักงานประกันสังคม กลับกำหนดเงื่อนไขให้แรงงานข้ามชาติที่ประสบอันตรายจากการทำงาน เข้าถึงเงินทดแทนได้นั้นจะต้องมีสถานะการเข้าเมือง เอกสารแสดงตน และใบอนุญาตทำงาน หากลูกจ้างไม่มีเอกสารตามเงื่อนไข สำนักงานประกันสังคมจะออกคำสั่งให้นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบเอง จึงทำให้เกิดขั้นตอนการเจรจา ต่อรองราคา เกิดความเสียเปรียบต่อตัวลูกจ้าง ในขณะที่สำนักงานประกันสังคม วางบทบาทตัวเองเป็นคนกลางในการเจรจา ไกล่เกลี่ย และจะทำการบันทึกผลการเจรจาในการจ่ายเงินทดแทน และหลายกรณีพบว่า ภายหลังที่สำนักงานประกันสังคมทำบันทึกข้อตกลงจ่ายเงินทดแทนจากนายจ้างแล้ว แต่นายจ้างกลับหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินหรือไม่สามารถติดต่อกับนายจ้างในการจ่ายเงินทดแทนแก่ลูกจ้าง นอกจากนี้คำสั่งของคณะกรรมการฯ ยังมีลักษณะที่เป็นการเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติในการเข้าถึงเงินทดแทนจากกองทุน ที่แตกต่างจากแรงงานไทย อันเป็นการขัดต่ออนุสัญญาองค์การด้านแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 19 ว่าด้วยการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม (เรื่องเงินทดแทน กรณีอุบัติเหตุ) พ.ศ.2468 ที่ประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญา มาตั้งแต่ปี 2511
ศาลแรงงาน พื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร รับคำฟ้องของนายไซ เคน และศาลแรงงาน กำหนดนัดไกล่เกลี่ย พิจารณา และสืบพยานโจทก์ ณ ศาลแรงงานกลาง (สมุทรสาคร) ในวันที่ 14 มีนาคม 2560 เวลา 09.00 น.
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net