Skip to main content
sharethis

จัดหนักกระบวนการยุติธรรม สัมภาษณ์ สาวตรี สุขศรี อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายอาญา คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ถึงหลักกฎหมายกับเหตุผลเรื่อง “การเยาะเย้ยเจ้าพนักงาน” และ “การเย้ยหยันอำนาจรัฐ” ว่ามีหลักการตีความอย่างไร ใช้เป็นเหตุได้หรือไม่ หน้ากากแอคชั่นผิดอย่างไร ไม่ลบโพสต์ที่เป็นเหตุแห่งคดีผิดตรงไหน ฯลฯ

หากต้องการอ่านบทสัมภาษณ์ทันที ไปที่ 6.

1.

จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน นักกิจกรรมแห่งภาคอีสานที่เคลื่อนไหวกับกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ (NDM) เป็นที่รู้จักของสาธารณชนมายาวนานพอควร มีคดีติดตัวอยู่แล้ว 5 คดี คดีล่าสุดนั้นหนักหน่วงถึงขั้นเป็นข้อหาตามมาตรา 112 ด้วยพฤติการณ์แชร์รายงานพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 ของเว็บบีบีซีไทย โดยคัดลอกข้อความบางส่วนในชิ้นงานมาโพสต์ด้วย (อ่านที่นี่) จนปัจจุบันยังไม่มีข่าวการดำเนินคดีกับสำนักข่าวหรือผู้แชร์รายงานนี้รายอื่นๆ

พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่นร้องศาลขอฝากขังจตุภัทร์ผัดแรก 12 วันเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.จำเลยยื่นประกัน วางหลักทรัพย์เป็นเงินสด 400,000 บาทพร้อมระบุเหตุผลเรื่องการไม่หลบหนีและต้องเข้าสอบในภาคเรียนสุดท้ายปีสุดท้ายของมหาวิทยาลัย ศาลขอนแก่นอนุญาตให้ประกัน รายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ศาลขอนแก่นอนุญาตให้ประกันตัวโดยไม่มีเงื่อนไขใด

“ศาลพิจารณาคำร้องฯ แล้วจึงอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่กำหนดเงื่อนไขใดๆ และนัดหมายให้มารายงานตัวต่อศาลอีกครั้งในวันที่ 23 ม.ค.60”

2.

ผ่านมา 12 วัน วันที่ 16 ธ.ค. พนักงานสอบสวนยื่นศาลขอให้เพิกถอนการประกันตัวจตุภัทร์เนื่องจากมีการโพสต์เยาะเย้ยพนักงานสอบสวน คำร้องตำรวจระบุว่า

1.หลังจากผู้ต้องหาได้รับการประกันตัว ผู้ต้องหามีความเคลื่อนไหวโดยแสดงความคิดเห็นในสื่อสังคมออนไลน์โดยพิมพ์ข้อความในเชิงเยาะเย้ยเจ้าพนักงาน กรณีตนได้รับประกันตัวเป็นจำนวนเงิน 400,000 บาท และพิมพ์ข้อความว่า "เศรษฐกิจแย่แม่งเอาแต่เงินประกัน"

2.ผู้ต้องหานี้เคยมีประวัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคดีความมั่นคงมาหลายคดี

3.เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีร้ายแรง เนื่องจากเป็นความผิดฐาน หมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

4.กรณีมีเหตุฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วน เนื่องจากผู้ต้องหาได้รับอนุญาตให้ประกันตัวในชั้นศาลที่ศาลจังหวัดขอนแก่นเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2559 ศาลอนุญาตแล้ว ผู้ต้องหายังมีการแสดงความคิดเห็นในสื่อสังคมออนไลน์เรื่อยมา และอาจจะเป็นการยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน หากรอถึงวันที่ 23 ม.ค.2560 อาจก่อให้เกิดความเสียหายเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุผลและความจำเป็นดังกล่าวข้างต้นจึงขอให้ศาลมีหมายเรียกนายประกันและผู้ต้องหามาสอบถามและขอให้เพิกถอนประกันตัวผู้ต้องหานี้ด้วย

3.

ศาลนัดไต่สวนคำร้องวันที่ 22  ธ.ค. พนักงานสอบสวนหยิบยกอีกหลายเรื่องนอกเหนือจากข้อความเรื่องเงินประกันดังกล่าว ซึ่งอันที่จริง ข้อความเต็มของจตุภัทร์ที่โพสต์นั้นเขียนว่า “ตอนแรกก็อยากจะขอโทษเพื่อนประชามติทั้ง 3 คน เพราะคดีล่าสุดก็โดนไป 400,000 แต่ผมไม่ได้ผิดไง ผมไม่สามารถกระทำการขอโทษได้จริงๆ #เศรษฐกิจมันเเย่แม่งเอาเเต่เงินประกัน” โดยเนื้อหาและวันเวลาที่โพสต์ชัดเจนว่าเป็นคดีปิยรัฐ จงเทพและเพื่อนกรณีฉีกบัตรประชามติ ส่วนเรื่องที่นอกเหนือจากที่ระบุในคำร้องของตำรวจนั้น ทนายความจำเลยให้ข้อมูลว่า

“ประเด็นที่พนักงานสอบสวนยกมาให้ศาลพิจารณาประกอบด้วยการโพสต์สเตัสในเฟซบุ๊ก 3 สเตตัสคือ การถ่ายรูปกับเพื่อนที่มีลักษณะเยาะเย้ยหลังจากที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว โดยเป็นรูปซึ่งมีการทำลักษณะท่าทางคล้ายกับตัวละครที่ชื่อว่า "หน้ากากแอคขั่น" ในการ์ตูนเรื่องชินจัง ประเด็นต่อมาเกี่ยวข้องกับการโพสต์เรื่องที่ ผู้ต้องหา เดินทางไปแจ้งความกับสถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น เนื่องจากวันที่ถูกควบคุมตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยึดโทรศัพท์มือถือไป แต่ไม่ได้เขียนบันทึกไว้ในรายการของกลางที่ถูกยึด และได้ถ่ายรูปทำท่าทางในลักษณะเดิม และประเด็นสุดท้ายเกี่ยวกับการโพสต์เฟซบุ๊กของผู้ต้องหา ซึ่งกำลังรับประทานข้าวราดผัดกระเพราและระบุว่า ติดคุก กินข้าวฟรี ราคา 112 บาท” (อ่านที่นี่)

4.

ศาลขอนแก่นมีคำสั่งเพิกถอนการประกันตัวตามคำร้องของตำรวจ ทำให้จตุภัทร์ถูกนำตัวไปคุมขังไว้ที่เรือนจำจังหวัดขอนแก่นตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค.จนกระทั่งปัจจุบัน

“พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลได้มีคำสั่งกำชับให้นายประกัน, ผู้ต้องหาให้มาศาลตามนัด ห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษ พยานหลักฐานในคดี หรือก่อความเสียหายใดๆ หลังปล่อยตัวชั่วคราว หากผิดนัด ผิดเงื่อนไข ศาลอาจถอนประกันและอาจไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวอีก และภายหลังปล่อยตัวชั่วคราว ได้ความจากทางไต่สวนว่า ผู้ต้องหาไม่ได้ลบข้อความที่ถูกกล่าวหาเป็นคดีนี้ในสื่อสังคมออนไลน์บนเฟซบุ๊กของผู้ต้องหา กับทั้งผู้ต้องหาได้แสดงออกถึงพฤติกรรมในสื่อสังคมออนไลน์ในเชิงสัญลักษณ์เย้ยหยันอำนาจรัฐ โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ ทั้งผู้ต้องหายังมีแนวโน้มจะกระทำการในลักษณะเช่นนี้ต่อไปอีก ผู้ต้องหาเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มีอายุ 25 ปี ย่อมรู้ดีว่า การกระทำของผู้ต้องหาดังกล่าวข้างต้นเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาล จึงฟังได้ความตามคำร้องว่า ผู้ต้องหาได้กระทำการอันก่อให้เกิดความเสียหายภายหลังการปล่อยตัวชั่วคราว ประกอบกับนายประกันผู้ต้องหาไม่ได้กำชับหรือดูแลให้ผู้ต้องหาปฏิบัติตามเงื่อนไขศาลที่มีคำสั่ง จนก่อให้เกิดความเสียหายดังกล่าว จึงให้เพิกถอนสัญญาประกันตัวผู้ต้องหา หมายขังผู้ต้องหา ตรวจคืนหลักประกันให้นายประกัน” (อ่านที่นี่)

5.

ต่อมาทนายความจำเลยอุทธรณ์คำสั่งไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 4 จังหวัดขอนแก่น และวันที่ 27 ธ.ค. ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งว่าคำสั่งศาลชั้นต้นนั้นชอบแล้ว

“พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี ประกอบกับตามทางไต่สวนของศาลชั้นต้นแล้ว เห็นว่า ผู้ต้องหาไม่ได้ลบข้อความที่ถูกกล่าวหาเป็นคดีนี้ในสื่อสังคมออนไลน์บนเฟซบุ๊กของผู้ต้องหา กับทั้งผู้ต้องหาได้แสดงออกถึงพฤติกรรมในสื่อสังคมออนไลน์ในเชิงสัญลักษณ์เย้ยหยันอำนาจรัฐโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ ทั้งผู้ต้องหายังมีแนวโน้มที่จะกระทำความผิดในลักษณะเช่นนี้ต่อไปอีก หากปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาอาจไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น ซึ่งอาจจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยผู้ต้องหาชั่วคราวในระหว่างสอบสวน คำสั่งศาลชั้นต้นชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง”

6.

สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายอาญาให้สัมภาษณ์ถึงคำถามที่ถูกพูดถึงมากในโซเชียลมีเดีย หลักในการประกันตัวเป็นเช่นไร และคิดเห็นอย่างไรต่อเรื่องนี้

ตามหลักกฎหมาย การถอนประกันจำเลยมีหลักเกณฑ์ใดบ้าง?
เรื่องนี้เบื้องต้นควรทราบก่อนว่า ปัจจุบันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ต่างๆ ในการปล่อยตัวชั่วคราว (ประกันตัว) ในคดีอาญานั้น ก็คือ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หมวด 3 “ปล่อยตัวชั่วคราว” มาตรา 106-119 ทวิ อย่างไรก็ตาม ในบทบัญญัติต่างๆ ดังกล่าวนี้ ไม่มีมาตราใดเลยที่กำหนดหลักเกณฑ์ หรือเงื่อนไขในการที่ศาลจะสั่งเพิกถอนประกันเอาไว้ (มีแต่มาตรา 116 ที่กำหนดเรื่องที่นายประกันมาขอถอนสัญญาประกัน หรือถอนหลักประกันเอง) ที่ผ่านมา ที่เราเห็นว่ามีกรณีที่ศาลสั่งเพิกถอนการประกันตัวนั้น เกิดขึ้นจากแนวทางปฏิบัติของศาล และเป็นผลพวงมาจากที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอนุญาตให้ศาลสามารถ “กำหนดเงื่อนไข” การให้ประกันตัวได้ (มาตรา 108 วรรคท้าย)
 

มาตรา 108 วรรคท้าย 
         ในการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว เจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจสั่งให้ปล่อยชั่วคราวหรือศาลจะกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับที่อยู่หรือเงื่อนไขอื่นใดให้ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวปฏิบัติ หรือในกรณีที่ผู้นั้นยินยอมจะสั่งให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์อื่นใดที่สามารถใช้ตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางของผู้ถูกปล่อยชั่วคราวก็ได้ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการหลบหนี หรือภัยอันตราย หรือความเสียหายที่จะเกิดขึ้น แต่ถ้าผู้ถูกปล่อยชั่วคราวมีอายุไม่ถึงสิบแปดปีบริบูรณ์ แม้ผู้นั้นยินยอม จะสั่งให้ใช้อุปกรณ์ดังกล่าวได้ต่อเมื่อผู้นั้นมีพฤติการณ์ที่อาจเป็นภัยต่อบุคคลอื่นอย่างร้ายแรง หรือมีเหตุสมควรประการอื่น 

 

และเพื่อให้แนวทางปฏิบัติของศาลชัดเจน ประธานศาลฎีกาได้ออกระเบียบมาตัวหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการให้ประกันตัว คือ ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลากาลศาลยุติธรรมว่าด้วยการปล่อยชั่วคราว พ.ศ. 2548 โดย ข้อ 8 ของระเบียบนี้มีสาระสำคัญว่า ในการอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวนั้นศาลสามารถกำหนดเงื่อนไขได้ และหากผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนนั้น ก็ให้ศาลพิจารณาเพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้ มันมีอยู่เท่านี้จริงๆ ดังนั้น จากที่ถามว่าการถอนประกันจำเลยมีหลักเกณฑ์อย่างไรบ้าง จึงต้องตอบกันตรงๆ ว่าหลักเกณฑ์ชัดๆ ไม่มี ทุกวันนี้ ศาลจะถอนได้หรือไม่ได้จึงขึ้นอยู่กับว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยฝ่าฝืน หรือละเมิด “เงื่อนไข” ที่ศาลกำหนดไว้หรือไม่เท่านั้น
 

ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลากาลศาลยุติธรรมว่าด้วยการปล่อยชั่วคราว พ.ศ. 2548
ข้อ ๘ ในการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ศาลจะกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับที่อยู่ของผู้ต้องหาหรือจำเลย หรือเงื่อนไขอื่นใดให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยปฏิบัติเพื่อป้องกันการหลบหนี หรือเพื่อป้องกันภัยอันตราย หรือความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการปล่อยชั่วคราวก็ได้ เช่น ให้รายงานตัวต่อเจ้าพนักงานหรือบุคคลตามที่ศาลเห็นสมควร วางข้อจำกัดเกี่ยวกับสถานที่อยู่อาศัยหรือการเดินทางออกไปนอกสถานที่อยู่อาศัย วางข้อจำกัดเกี่ยวกับการประกอบอาชีพหรือการงานบางอย่าง หรือวางข้อจำกัดเกี่ยวกับการเข้าไปในสถานที่บางแห่งที่อาจก่อให้เกิดการกระทำความผิดอีก เป็นต้น และหากผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขนั้นศาลพิจารณาเพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้

 

คำถามจึงอาจมีต่อไปว่า แล้วมันมีหลักเกณฑ์หรือขอบเขตไหมว่า ศาลสามารถกำหนดเงื่อนไขในเรื่องอะไรได้บ้างเพื่อให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยปฏิบัติในระหว่างประกันตัว ถ้าเป็นคำถามนี้ หากเราดูในมาตรา 108 วรรคท้าย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือ ป.วิอาญา ประกอบกับ ข้อ 8 ของระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการฯ อาจพอสรุปเงื่อนไขที่ศาลจะกำหนดได้ออกมา 3 ประเภท คือ

1) เงื่อนไขเกี่ยวกับที่อยู่ของผู้ได้ประกันตัว
2) เงื่อนไขเพื่อป้องกันการหลบหนี และ
3) เงื่อนไขเพื่อป้องกันอันตราย หรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการปล่อยชั่วคราว

ยกตัวอย่างเช่น กำหนดให้ต้องการรายงานตัว กำหนดสถานที่อยู่อาศัยและการเดินทางออกนอกที่อยู่อาศัย เกี่ยวกับอาชีพการงานบางอย่าง หรือการเข้าไปในสถานที่บางแห่ง เป็นต้น ซึ่งสุดท้ายศาลจะกำหนดอะไรบ้างก็คงต้องพิจารณาจากพฤติการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับคดีที่ฟ้อง ตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยเองและอื่นๆ แต่หลายๆ กรณี สำหรับผู้พิพากษาที่ดีที่ไม่ใช้ดุลพินิจในเรื่องนี้เกินเลยไปก็มักจะกำหนดเงื่อนไขโดยยึดโยงอยู่กับ “เหตุผลในการไม่ให้ประกันตัว” ตามมาตรา 108/1 ป.วิอาญา ด้วย ซึ่งก็คือเพื่อป้องกันไม่ให้หลบหนี, ไม่ให้ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไม่ให้ไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นๆ ขึ้นอีกอันจะเป็นการกระทบต่อกระบวนการสอบสวนหรือดำเนินคดี

เหตุผลในการถอนประกันที่ว่า “เป็นการเย้ยหยันอำนาจรัฐ” ถูกประชาชนทั่วไปวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก มีหลักการนี้ในกฎหมายหรือไม่ หากมีมันคืออะไร มีเกณฑ์การตีความอย่างไร ทำไมจึงต้องห้ามการเย้ยหยัน?
จากที่อธิบายถึงลักษณะ ขอบเขต และประเภทของเงื่อนไขที่ศาลกำหนดได้ในการให้ประกันตัวไปแล้ว ก็ค่อนข้างชัดเจนว่า “การเย้ยหยันอำนาจรัฐ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่ไม่ได้เข้าข่ายหรือถูกกำหนดว่าเป็นความผิดตามกฎหมายใดๆ ย่อมไม่อยู่ในเหตุผลที่ศาลจะเพิกถอนการประกันตัวได้ และอย่าว่าแต่เพิกถอนไม่ได้ แม้แต่จะใช้เหตุผลนี้เพื่อกำหนดเป็น “เงื่อนไขการให้ประกันตัว” ศาลยังทำไม่ได้(หรือไม่ควรทำได้) เนื่องจากมันไม่ได้เกี่ยวกับการป้องกันการหลบหนี การยุ่งเหยิงกับพยาน หรือการก่อเหตุอันอันตรายประการอื่นๆ ฯลฯ

คิดอย่างไรกับพฤติการณ์ของจตุภัทร์ที่ตำรวจขอนแก่นเบิกความในการไต่สวนคำร้องขอเพิกถอนการประกันตัวว่า เป็นการเย้ยหยันเยาะเย้ย เช่น การโพสต์ภาพทำท่าหน้ากากแอคชั่นร่วมกับเพื่อน และพฤติการณ์ดังกล่าวทนายอ้างว่าไม่ได้อยู่ในคำร้องขอเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวด้วยจุดนี้เป็นประเด็นในทางกฎหมายหรือไม่?
ถ้าดูจากคำร้องของตำรวจขอนแก่น ข้อ 1 ที่ว่าเป็นการเย้ยหยันหรือเยาะเย้ยรัฐนั้น (คำร้องเพิกถอนประกันของตำรวจ ข้อ 1.หลังจากผู้ต้องหาได้รับการประกันตัว ผู้ต้องหามีความเคลื่อนไหวโดยแสดงความคิดเห็นในสื่อสังคมออนไลน์โดยพิมพ์ข้อความในเชิงเยาะเย้ยเจ้าพนักงาน กรณีตนได้รับประกันตัวเป็นจำนวนเงิน 400,000 บาท และพิมพ์ข้อความว่า "เศรษฐกิจแย่แม่งเอาแต่เงินประกัน") ดังที่กล่าวมาแล้วว่า ไม่สามารถนำมาเป็นเหตุใดๆ ในทางกฎหมาย หรืออ้างเพื่อให้ศาลเพิกถอนประกันได้เลย การอ้างเรื่องนี้ของตำรวจจึงค่อนข้างเป็นเรื่องนอกกรอบของกฎหมาย และนอกจากนี้ หากเราพิจารณากันให้ดีๆ ศาลในคดีนี้เองก็ไม่ได้ตั้ง “เงื่อนไข” ว่าห้ามผู้ต้องหาเย้ยหยันหรือเสียดสีอำนาจรัฐด้วย (ซึ่งก็ไม่ควรตั้งได้อยู่แล้ว เพราะมันไม่เกี่ยวกับการให้หรือไม่ให้ประกันตัวเลย) จนจะทำให้ผู้ต้องหาถูกเพิกถอนประกันเพราะฝ่าฝืนเงื่อนไขของศาลได้

นอกจากนี้ ในข้ออ้างของตำรวจข้อ 2, 3 ที่อ้างเรื่องประวัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง และคดีนี้เป็นคดีร้ายแรง (คำร้องเพิกถอนประกันของตำรวจ ข้อ 2 ผู้ต้องหานี้เคยมีประวัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคดีความมั่นคงมาหลายคดี ข้อ 3.เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีร้ายแรง เนื่องจากเป็นความผิดฐาน หมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112)  เรื่องนี้ก็ไม่สามารถนำมาขอให้เพิกถอนประกันได้เช่นกัน เพราะเหตุที่จะถอนประกันได้ ต้องเป็นเรื่องของการ “ฝ่าฝืน หรือละเมิดเงื่อนไข” ที่ศาลกำหนดไว้ หรือเต็มที่ก็เป็นการกระทบต่อหลักการให้ประกันตัวได้ตาม ป.วิอาญา 108

ในส่วนของข้อ 4 ที่ว่าการแสดงความคิดเห็นของผู้ต้องหาเป็นการ “ยุ่งเหยิงกับพยาน” หรือ “จะเกิดความเสียหายเพิ่มขึ้น” (คำร้องเพิกถอนประกันของตำรวจ ข้อ 4. เนื่องจากผู้ต้องหาได้รับอนุญาตให้ประกันตัวในชั้นศาลที่ศาลจังหวัดขอนแก่นเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2559 ศาลอนุญาตแล้ว ผู้ต้องหายังมีการแสดงความคิดเห็นในสื่อสังคมออนไลน์เรื่อยมา และอาจจะเป็นการยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน หากรอถึงวันที่ 23 ม.ค.2560 อาจก่อให้เกิดความเสียหายเพิ่มขึ้น) การอ้างเช่นนั้นเป็นการใช้ข้ออ้างที่เลื่อนลอย ไม่มีพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องมาประกอบ และไม่สมเหตุสมผลเลยสักนิด เพราะการที่ผู้ต้องหายังคงเล่นอินเทอร์เน็ตหรือโพสต์ความคิดเห็นต่างๆ ของตนในเฟสบุ๊กของตนจะเป็นการ “ยุ่งเหยิงกับพยาน” ได้ยังไง

โดยสรุปถ้าถามความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ โดยส่วนตัวเห็นว่า การขอเพิกถอนของตำรวจ รวมทั้งการอนุญาตตามคำขอโดยศาลด้วยเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม และทั้งไม่เป็นไปตามกรอบของกฎหมาย การกระทำเช่นนี้ย่อมกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกินกว่าเหตุ ทั้งเสรีภาพในชีวิตร่างกายและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และหากชัดเจนด้วยว่า การกระทำต่างๆ ของเจ้าหน้าที่รัฐนี้มีเจตนาเพื่อกลั่นแกล้งผู้ต้องหาก็อาจจะเข้าข่ายเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในทางมิชอบเป็นความผิดตามมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญาด้วย  

สำหรับคำถามที่ว่า พฤติการณ์ต่างๆ ตามที่ทนายความอ้างว่าไม่ได้อยู่ในคำร้องนั้นเป็นประเด็นทางกฎหมายหรือไม่ โดยส่วนตัวเห็นว่าไม่เป็นประเด็นทางกฎหมาย เนื่องจากหากเรายืนยันแล้วว่า “การเย้ยหยันอำนาจรัฐ” ไม่สามารถเป็นเหตุผลทางกฎหมาย ในการที่ศาลจะสั่งเพิกถอนประกันของผู้ต้องหาได้อยู่แล้ว พฤติการณ์ต่างๆ (แสดงท่าทาง ฯลฯ) ซึ่งสื่อได้แค่ว่าผู้ต้องหาอาจจะเย้ยหยันอำนาจรัฐจริงๆ (?) ไม่ว่าจะปรากฏอยู่ในสำนวนคำร้องขอของตำรวจหรือไม่จึงไม่ใช่สาระสำคัญ

ในคำร้องเพิกถอนการประกันตัวของตำรวจระบุถึงการโพสต์ข้อความว่า “เศรษฐกิจแย่แม่งเอาแต่เงินประกัน” กรณีนี้จำเลยระบุว่าโพสต์ถึงคดีของนักกิจกรรมอีกคนหนึ่ง แต่กระนั้นแม้ไม่พิจารณาว่าโพสต์ถึงคดีใด ข้อความเช่นนี้เป็นเหตุแห่งการเพิกถอนประกันได้หรือไม่ เพราะเหตุใด?
โดยส่วนตัวเห็นว่าข้อความดังกล่าวไม่เป็นเหตุแห่งการถอนประกันตัวได้ค เพราะอย่างที่กล่าวไปแล้วว่า

1) ศาลไม่ได้กำหนดห้ามกล่าวอะไรแบบนี้ หรือกระทั่งการเย้ยหยันอำนาจรัฐ การวิพากษ์การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ฯลฯ ไว้ในเงื่อนไขการให้ประกันตัว ดังนั้น ประเด็นนี้ย่อมชัดเจนว่าผู้ต้องหาไม่ได้ “ฝ่าฝืน หรือผิดเงื่อนไขการให้ประกันตัว” และทั้งถ้อยคำเพียงเท่านี้ ไม่ได้สร้างความเสียหายหรืออันตรายใดๆ ที่ชัดเจนจนสามารถเพิกถอนประกันได้

2) การกล่าววิพากษ์วิจารณ์ระบบเศรษฐกิจก็ดี วิพากษ์การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวกับการเรียกเงินประกัน หรือหลักประกันใดๆ ในคดีอาญาก็ดี ไม่เป็นความผิดตามกฎหมายใดๆ และทั้งไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ ที่ระบุเจาะจงตัวได้ ที่อาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐาน “หมิ่นประมาท” ใครได้ด้วย ตรงกันข้ามการวิพากษ์วิจารณ์อำนาจรัฐ ถือเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบประชาชนในระบอบประชาธิปไตย ยิ่งปัญหาเรื่องนี้ด้วย หากใครติดตามอยู่บ้างจะพบว่าการที่รัฐ “เอาแต่เรียกประกัน” และเรียกประกันสูงๆ ด้วยจากผู้ต้องหาหรือจำเลย หรือการใช้ดุลพินิจของศาลในการเรียกประกันก็ขาดความชัดเจน ไม่แน่นอน และเอาแต่พิจารณาจากความหนักเบาแห่งข้อหา โดยให้ความสนใจเงื่อนไขอื่นๆ น้อยกว่า นับเป็นปัญหาในกระบวนการยุติธรรมไทยมาโดยตลอด ทำให้เกิดปัญหาการอำนวยความยุติธรรมที่เหลื่อมล้ำระหว่างคนจนคนรวย จนหลาย ๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องค้นคว้าทำวิจัย เพื่อหาทางแก้ปัญหาอยู่เนืองๆ ดังนั้น การที่ประชาชนสักคนหนึ่งไม่เฉพาะแต่ผู้ต้องหาในคดีนี้จะรู้สึกไม่ดีหรือเห็นการเอาแต่เรียกประกันเป็นปัญหาของประเทศไทยจึงไม่ใช่เรื่องแปลกหรือผิดบาปอะไร จนกลายเป็นเหตุผลในการเพิกถอนประกันตัวได้

กรณีนี้จตุภัทร์จะถูกขังอยู่ 1 ผัดและจะต้องพิจารณากันใหม่ในผัดต่อไปใช่หรือไม่?
ใช่ ตามสิทธิแล้วก็ขอประกันตัวรอบใหม่ได้

ทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ระบุว่าจำเลยไม่ได้ลบโพสต์ที่เป็นเหตุแห่งคดี แต่เรื่องนี้ไม่อยู่ในเงื่อนไขการประกันตัวเช่นกัน ขณะที่หลายคนก็ตั้งข้อสงสัยต่อเหตุผลนี้ว่า หากจำเลยทำการลบโพสต์จะถือเป็นการทำลายหรือยุ่งเหยิงพยานหลักฐานหรือไม่ มองเรื่องนี้อย่างไร?
มันไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขเช่นกัน หากศาลเห็นว่าควรลบก็สามารถกำหนดในเงื่อนไขได้ แต่ก็ไม่ได้ทำ มันเป็นไปได้ด้วยว่า ศาลเองก็ยังไม่ขัดเจน หรือตัดสินว่าบทความดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิดหรือไม่ จึงไม่ไดด้สั่งเช่นนั้น

สำหรับประเด็นยุ่งเหยิงกับพยานนั้น ยิ่งไม่สมเหตุสมผลเลย เพราะหากศาลเห็นว่า บทความเป็นพยานหลักฐานได้ ดังนั้น เมื่อผู้ต้องหาไม่ได้ลบทิ้งหรือแตะต้องมัน ก็ยิ่งชัดเจนว่า ผู้ต้องหาไม่ได้เข้าไปยุ่งเหยิงกับพยาน ดังนั้น การอ้างเรื่องนี้จึงดูกลับหัวกลับหางมากๆ

นอกเหนือจากประเด็นที่ได้ถามไป อยากขอความเห็นต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภาพรวมในเรื่องการเพิกถอนประกันครั้งนี้?
ในฐานะนักกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักกฎหมายอาญารวมทั้งวิธีพิจารณาความอาญาด้วย เห็นว่าเหตุการณ์นี้ไม่เป็นผลดีต่อกระบวนการยุติธรรมไทยเลย มันทำให้ประชาชนที่เขาติดตามข่าวสารนี้อยู่ยิ่งหมดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมลงไปอีก กลายเป็นว่าโดยตัวกฎหมายเองก็พอมีหลักเกณฑ์ หลักการ หรือขอบเขตการใช้อำนาจอยู่ตามสมควร แต่ผู้บังคับใช้กฎหมายไม่ได้นำพาหรือใส่ใจต่อหลักการเหล่านั้นเลย อยากใช้เหตุอะไรก็ใช้ อยากอ้างเหตุอะไรก็อ้าง หลายๆ อย่างอาจทำให้ประชาชนเข้าใจไปได้ด้วยว่าเป็นเรื่องกลั่นแกล้งหรือกระทำตามอำเภอใจ ไม่มีหลักการและเหตุผลรอบรับ ทั้งเป็นการสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว ไม่กล้าแสดงความเห็น ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ “อำนาจรัฐ” ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นสิ่งที่ “นามธรรม” มากๆ กลับกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนเจ้าของประเทศแตะต้องไม่ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ ไม่เป็นผลดีต่อใครเลย ไม่ว่าจะเป็นต่อตำรวจ ต่อผู้พิพากษา ต่อศาล หรือกระทั่งต่อกระบวนการยุติธรรม หรือต่อประเทศเอง ...ถ้านานาอารยประเทศเขารู้ว่าผู้ต้องหาในประเทศไทยอาจถูกเพิกถอนประกันตัวได้ เพราะเยาะเย้ยอำนาจรัฐ คงหัวเราะกันแบบขื่นๆ

ขอถามเลยไปถึงเหตุแห่งคดีว่า การแชร์รายงานของบีบีซี โดยก็อบปี้เนื้อหาในรายงานไปโพสต์ประกอบการแชร์ด้วย ถือเป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือไม่?
เรื่องนี้จะตอบได้คงต้องพิจารณาไปที่ “เนื้อหา” ของ รายงานของบีบีซีก่อน ซึ่งโดยส่วนตัวยังเห็นว่า “ถกเถียง” กันได้อยู่ว่าเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 112 หรือไม่ ถ้าตีความว่าเข้าข่าย การแชร์ข้อมูลนั้นมารวมทั้งการก็อปปี้เนื้อหามาโพสต์เองด้วยก็เป็นความผิดตามพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์อยู่ เนื่องจากมีลักษณะของการ “เผยแพร่” ต่อ หรือ “นำเข้าสู่ระบบคอมฯ” ซึ่งเนื้อหาที่เป็นความผิดต่อความมั่นคง มาตรา 14 (3) พ.ร.บ. คอมฯ (ทั้งฉบับปัจจุบัน และฉบับที่กำลังจะใช้) แต่ถ้าตีความว่าเนื้อหาของต้นฉบับ คือ BBC ไม่เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 112 ตั้งแต่ต้น การแชร์ย่อมไม่มีความผิดอะไรได้อยู่แล้ว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net