Skip to main content
sharethis

นักการเมืองสะท้อนความคิดเห็นหลัง กรธ. ปรับแก้ไข พ.ร.บ.พรรคการเมือง ชาติไทยพัฒนาเห็นด้วยและขอบคุณ เพื่อไทยซัด โทษประหาร กรณีซื้อขายตำแหน่ง ง่ายต่อการป่ายสี ประชาธิปัตย์ถาม ทำไมโทษประหารไม่ครอบคลุมนายกฯ คนนอก-รมต.ไร้พรรค

จากกรณีที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ว่าถึงความคืบหน้าของการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (พ.ร.บ.พรรคการเมือง) ว่าได้มีการปรับเรื่องการจ่ายเงินทุนประเดิมพรรคจากเดิมที่ผู้ก่อตั้งพรรคที่รวมตัวกันอย่างน้อย 500 คน จะต้องจ่ายเงินทุนประเดิมพรรคการเมืองอย่างน้อยคนละ 2,000 บาท แต่ไม่เกิน 300,000 บาทต่อหนึ่งคน โดยเมื่อรวมกันแล้วจะต้องมีเงินทุนประเดิมพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท พร้อมทั้งปรับลดเงื่อนไขจำนวนสมาชิกพรรค ซึ่งต้องจ่ายเงินบำรุงพรรคเป็นรายปี จากเดิมที่กำหนดไว้ว่าภายใน 4 ปี พรรคการเมืองทุกพรรคจะต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 20,000 คน เป็นไม่น้อยกว่า 10,000 คน

สำหรับอีกประเด็นที่มีการพูดถึงในวงกว้างคือ เรื่องการกำหนดโทษประหารชีวิต หากเกิดกรณีชื้อขายตำแหน่งรัฐมนตรี ทางด้าน กรธ. ยังคงยืนยันหลักการเดิม เนื่องจากเห็นว่าสมเหมาะในบางกรณีที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศ

นิกร พรรคชาติไทยพัฒนา เห็นด้วย กรธ. ลดเงือนไขตั้งพรรคการเมือง + ยืนยันโทษประหารชีวิต

แฟ้มภาพ: iLaw

ล่าสุดวันนี้ (21 ธ.ค. 2559) นิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา และสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้กล่าวถึงกรณีที่ กรธ. ปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมืองว่า ต้องขอบคุณ กรธ. ที่รับฟังเสียงท้วงติงต่างๆ ถือเป็นท่าทีที่ดี เท่ากับถอยให้พรรคการเมืองนิดหน่อย ไม่ว่าจะเป็น เรื่องเงินทุนประเดิมพรรคการเมืองที่มีการปรับลดขั้นต่ำของการจ่ายลง

เรื่องการปรับลดเกณฑ์การหาสมาชิก 4 ปีจาก 20,000 คน ให้เหลือ 10,000 คน เรื่องการขยายกรอบเวลาที่พรรคการเมืองต้องดำเนินก่อนการเลือกตั้งจาก 150 วันเป็น 180 วัน รวมทั้ง การปรับบทลงโทษหากพรรคไม่ดำเนินการใน 4 กิจกรรมตามมาตรา 23 ส่วนการคงโทษประหารไว้ในกรณีซื้อขายตำแหน่งนั้น คิดว่าไม่ปรับไม่เป็นไร กรธ. คงอยากแสดงให้เห็นว่าวางยาแรงที่สุดไว้ แต่จะใช้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ศาลต้องใช้ดุลยพินิจ

นิกร กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อกฏหมายพรรคการเมืองบังคับใช้ จะต้องบวกระยะเวลาไปอีก 180 วันที่พรรคการเมืองต้องกลับไปปรับปรุงก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่รู้ว่าเมื่อไร จึงอาจจะเกิดปัญหาใหม่ โดยเฉพาะเรื่องเวลารออยู่ จึงอยากให้ กรธ. ขยับระยะเวลาในการร่าง กฏหมายลูกอีก 2 ฉบับที่เหลือให้เร็วขึ้นเพื่อให้ทันกับระยะเวลาตามโรดแมปเลือกตั้งเดิมที่วางไว้

เพื่อไทย ไม่เห็นด้วยบังคับจ่ายเงินบำรุงพรรค พร้อมซัดกรณีโทษประหาร ขัดหลักนิติธรรม

ด้าน สามารถ แก้วมีชัย ในฐานะคณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีที่กรธ. ยอมปรับร่างกฏหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมืองโดยการยกเลิกโทษยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค ตลอดจนถึงยอมลดการจ่ายเงินทุนประเดิมพรรคว่า ก็ดีใจ และถือว่า กรธ. ยังรับฟังความเห็นและเสียงสะท้อนจากพรรคการเมือง แต่ทั้งนี้ก็ยังมีอีกหลายประเด็นที่ควรจะปรับเปลี่ยนแก้ไข เช่น เรื่องค่าบำรุงพรรคของสมาชิก ถ้าไปตั้งหลักว่าใครเป็นสมาชิกต้องจ่ายค่าบำรุงแบบนี้ไม่น่าจะใช่ เพราะบางคนไม่จ่ายเงินแต่ออกแรงกาย และกำลังสมองช่วยงานในพรรค ตรงนี้ไม่สามารถวัดเป็นมูลค่าได้และถือว่ามีค่ามากกว่าค่าบำรุงพรรคเสียด้วยซ้ำ ดังนั้นไม่ควรบังคับให้ต้องมีการจ่ายค่าบำรุงเว้นแต่ว่าใครสะดวกและสมัครใจที่จะบริจาคก็เรื่องของเขา ไม่ใช่เอาเงินเป็นตัวตั้งเพราะจะทำให้เป็นปัญหา และหากบังคับให้ต้องเรียกเก็บซึ่งหากใครไม่จ่ายจะต้องพ้นสภาพสมาชิกพรรค ตรงนี้จะกลายเป็นการบั่นทอนความเข้มแข็งของพรรคการเมืองแทนที่จะเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็ง

ด้านคณิน บุญสุวรรณ อดีต ส.ส.ร.ปี 40 ในฐานะประธานคณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทย ให้ความเห็นว่า กรณีที่ กรธ.ยังยืนยันที่จะคงโทษประหารชีวิต ในความผิดฐานซื้อขายตำแหน่งทางการเมือง และตำแหน่งราชการว่า อาจเป็นเพราะคงไม่มี กรธ.คนไหน คิดจะเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ตั้งพรรคการเมือง เป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง และลงเลือกตั้งเป็น ส.ส. เพราะนำกฎหมายนี้ไปใช้บังคับกับบุคคลอื่นที่ทำการซื้อขายตำแหน่งเช่นเดียวกันไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็น ส.ว. ปลัดกระทรวง ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้ว่าราชการจังหวัด อธิบดี รัฐมนตรี หรือแม้แต่นายกรัฐมนตรี ที่ไม่ได้เป็น ส.ส. จึงเป็นการตรากฎหมายขึ้นเพื่อใช้บังคับแก่คดีใดคดีหนึ่ง กรณีใดกรณีหนึ่ง หรือแค่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ถือว่าขัดหลักนิติธรรมอย่างร้ายแรง

คณิน กล่าวว่า โทษฐานซื้อขายตำแหน่งเป็นข้อหาที่ครอบจักรวาล และค่อนข้างเป็นนามธรรมซึ่งจับต้องได้ยาก ดังนั้นจึงง่ายแก่การกล่าวหา และสร้างหลักฐานเท็จขึ้นมาเพื่อกลั่นแกล้งทำลาย หรือใส่ร้ายป้ายสีฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง หรือดิสเครดิตคู่แข่ง ขึ้นอยู่กับผู้บังคับใช้กฎหมายและผู้ตัดสินคดีความซึ่งถึงแม้จะวินิจฉัยอย่างเที่ยงธรรมปราศจากอคติ ก็ยากที่จะอำนวยความยุติธรรมได้เต็มร้อย เพราะทุกอย่างจะขึ้นอยู่กับการใช้ดุลพินิจอย่างเดียว ที่ร้ายกว่านั้น จะมีหลักประกันอะไรหรือไม่ ที่จะบอกว่าผู้ใช้บังคับกฎหมายและผู้ตัดสิน จะไม่ใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ นอกจากนี้ เป็นการไม่ให้เกียรติ ส.ส.ที่ได้รับเลือกตั้ง ไม่ให้เกียรติประชาชนที่ไปลงคะแนนเลือกตั้ง และที่สำคัญไม่ให้เกียรติบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เป็นการรอนสิทธิ หรือเสียประโยชน์อันควรมีควรได้ เพราะเหตุเพียงแค่ว่าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเท่านั้น

คณิน กล่าวว่า การตรากฎหมายเช่นนี้ ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 26 คือ นอกจากจะขัดต่อหลักนิติธรรมแล้ว ยังเป็นการจำกัดเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ เพราะเมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับ และประชาชนรับรู้ถึงสาระสำคัญและบทกำหนดโทษที่รุนแรงเกินกว่าเหตุแล้ว คงไม่มีใครอยากเป็นสมาชิกพรรคการเมืองแน่ ดังนั้น การที่ กรธ.ระบุไว้ในมาตรา 32 ว่าภายในหนึ่งปี พรรคการเมืองต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่าห้าพันคน สาขาพรรคแต่ละสาขาต้องมีสมาชิกในพื้นที่ไม่น้อยกว่าห้าร้อยคน และต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่าสองหมื่นคนภายในสี่ปี จึงอยากจะถาม กรธ.ว่า ฝันไปหรือเปล่า

ประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกตโทษประหารทำไมไม่ครอบคลุมนายกฯคนนอก-รมต.ไร้พรรค พร้อมแนะ กรธ.หามาตรการจัดการผู้แทนนอมินี

สำหรับ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงการปรับแก้ พ.ร.บ.พรรคการเมืองครั้งล่าสุดว่า เรื่องทุนประเดิมพรรคการเมือง 1 ล้านบาทไม่มีปัญหา แต่ควรที่จะป้องกันนายทุนเข้ามาครอบงำพรรคการเมือง เพราะการเข้ามาครอบงำพรรคการเมืองของนายทุนไม่ได้มีการแสดงตัวตนอย่างเปิดเผย อาจจะส่งลูก หลานมาเป็นนอมินีแทน หรือเข้ามาเป็นรัฐมนตรี ผู้ช่วยรัฐมนตรี กรรมการบอร์ดรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น จึงขอให้ กรธ.คำนึงถึงประเด็นเหล่านี้ด้วย ว่าควรจะมีการตรวจสอบ ซึ่งความจริงเวลาเลือกตั้งพรรคการเมืองต้องใช้เงินจำนวนมาก และต้องยอมรับความจริงว่านายทุนต้องเข้ามาสนับสนุน การที่บอกว่าพรรคการเมืองมีทุนประเดิม 1 ล้าน ผมเชื่อว่าไม่เพียงพอที่จะใช้ในการเลือกตั้ง หากพิจารณาโดยรวมแล้วการปรับแก้ดังกล่าวยังไม่ตรงประเด็น เพราะประเด็นใหญ่ๆเชื่อว่า กรธ. ไม่มีการปรับแก้แน่นอน

ด้าน องอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ประเด็นการปรับแก้ไขอย่างกรณีที่ลดโทษให้เป็นตัดเงินสนับสนุนพรรคนั้น เรื่องนี้ปรับไปก็ไม่ได้มีผลอะไร เพราะที่ผ่านมาพรรคการเมือง ก็ทำตามอยู่แล้ว หรือการลดเงินขั้นต่ำในการจ่ายค่าประเดิมตั้งพรรคเป็นไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท แต่ไม่เกิน 300,000 บาท แต่ต้องรวบรวมให้ได้ 1 ล้านบาทเหมือนเดิม รวมถึงลดจำนวนการให้สรรหาสมาชิกให้ได้ 10,000 ภายใน 4 ปีนั้นก็เป็นการลดค่าใช้จ่ายลงส่วนหนึ่ง และทำให้ยังเป็นการเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองขนาดเล็กให้มีมากขึ้น แต่ในส่วนมาตรา 44 ของ ร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง ที่ทาง กรธ.ระบุไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรนั้น ที่ผ่านมาไม่ได้ทักท้วงเรื่องที่มีโทษหนักถึงขั้นประหารชีวิต หรือบังคับใช้กับนักการเมือง แต่ตนเห็นถ้าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อย่างนายกรัฐมนตรีคนนอก หรือรัฐมนตรีที่ไม่สังกัดพรรคการเมือง ที่อาจทำความผิดแบบเดียวกันได้ ซึ่งตนสงสัยว่าทำไมโทษเหล่านี้ถึงเอาผิดแค่คนที่อยู่ในพรรคการเมืองเท่านั้น แต่ทำไมกฎหมายนี้ถึงไม่ครอบคลุมคนกลุ่มอื่นด้วย

ที่มาจาก: มติชนออนไลน์ 1, 2, 3,  ไทยรัฐออนไลน์ , ผู้จัดการออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net