เปิดการศึกษา “การสร้างพื้นที่ปลอดภัย” ชายแดนใต้ หลากโมเดล-ข้อวิพากษ์ความเป็นไปได้

พื้นที่ปลอดภัย หรือ Safety Zone คือข้อเรียกร้องที่กำลังเป็นที่พูดถึงในการพูดคุยสันติสุขในขณะนี้  เวทีเสวนา “การสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Safety zone) ในจังหวัดชายแดนใต้”  ได้นำเสนอตัวแบบพื้นที่ปลอดภัยที่เป็นไปได้ 3 แบบ โดยรวบรวมข้อมูลจากวงพูดคุยจากภาคส่วนต่างๆ ภายในพื้นที่สามจังหมดชายแดนใต้ เพื่อหาพื้นที่ปลอดภัยตามที่คนเหล่านั้นต้องการ อีกทั้งยังมีการวิเคราะห์อุปสรรค และความเป็นไปได้ที่จะสร้างพื้นที่ปลอดภัยนั้นเป็นจริง

การนำเสนอพื้นที่ปลอดภัยทั้งสามแบบนำโดย อาทิตย์ ทองอินทร์ หัวหน้าภาควิชาสังคมศาสตร์ วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้รวบรวบข้อมูล ร่วมแลกเปลี่ยนโดยโซรยา จามจุรี คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ (PAOW) และตัวแทนจากภาครัฐ พลตรีชุมพล แก้วล้วน  รองผู้อำนวยการศูนย์สันติวิธี กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า

อาทิตย์ ทองอินทร์ : 3 ตัวแบบพื้นที่ปลอดภัย และอุปสรรคที่ต้องแก้

อาทิตย์ ทองอินทร์ กล่าวถึงความหมายของพื้นที่ปลอดภัยซึ่งมีหลากหลาย จากการรวบรวมตามเวทีพูดคุยต่างๆ พบว่าพื้นที่ปลอดภัยที่ถูกพูดถึงนั้นมี 3 รูปแบบ วงพูดคุยที่ถูกนำมากล่าวถึงในครั้งนี้ประกอบไปทั้งวงพูดคุยกับคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ , กอ.รมน. ภาค 4 , ภาคประชาสังคม , กลุ่มไทยพุทธ , กลุ่มนักการเมือง และกำนันผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งพบว่าการจะสร้างพื้นที่ปลอดภัยที่สำเร็จผล และไม่สร้างภาระปัญหาให้บานปลายไปกว่าเดิมนั้น มีข้อควรคำนึงถึงหลายข้อด้วยกัน

เงื่อนไขหลักก่อนที่จะมีการพูดคุยเพื่อหาพื้นที่ปลอดภัยอย่างเป็นรูปธรรม คือ ต้องมีความเข้าใจในพื้นที่อย่างถูกต้อง ขณะนี้ในพื้นที่มีความขัดแย้งแบบอสมมาตร กล่าวคือ คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายมีอำนาจการต่อรองที่ไม่เท่ากัน ฝ่ายหนึ่งมีอำนาจการต่อรองมากกว่าอย่างมหาศาล การพูดคุยเพื่อต่อรองจึงไม่สมเหตุสมผลกับอีกฝ่ายหนึ่งผู้มีอำนาจการต่อรองเพียงเล็กน้อย อาวุธเพียงอย่างเดียวที่มีอยู่นั้นคือกำลังและอาวุธ ปัญหาความขัดแย้งที่มีรากมาจากการเมือง หากจะให้มีการยุติต้องมีคำตอบให้ได้ว่าจะเอาอะไรไปแลกเปลี่ยน อะไรที่จะให้เขายุติปฏิบัติการต่อสู้ ตัวแบบที่อาจจะเป็นข้อแลกเปลี่ยนได้ เช่น การเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้กับผู้เห็นต่างที่สู้ในแบบสันติวิธีได้มีพื้นที่แสดงความเห็น อีกทั้งฝ่ายที่ต่อสู้โดยใช้อาวุธก็จะต้องได้รับการรับประกันการปฏิบัติที่เป็นธรรม ทั้งสองข้อนี้พอจะเป็นข้อแลกเปลี่ยนเพื่อให้คู่ขัดแย้งยุติและวางอาวุธชั่วคราวได้หรือไม่

เงื่อนไขที่สองคือการนิยามพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าเป็นพื้นที่สงครามหรือเป็นพื้นที่ขัดแย้ง เมื่อนิยามต่างกันพื้นที่ปลอดภัยที่กำลังจะเกิดขึ้นก็จะมีหน้าตาที่ต่างกัน

เงื่อนไขที่สาม ต้องรับฟังเสียงของประชาชน โดยหลายความเห็นระบุว่าภาคประชาสังคมจะเป็นข้อต่อสำคัญที่จะทำให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยได้

เงื่อนไขสุดท้ายคือ ระหว่างการพูดคุยเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัย พบว่านิยามหลักของการสร้างพื้นที่ปลอดภัยนั้นอยู่ในมุมมองและเงื่อนไขของปาร์ตี้เอ รัฐบาลไทย และปาร์ตี้บี มาราปาตานี ซึ่งเห็นต่างทางการเมือง แต่พลวัตของความขัดแย้งที่ผ่านมายาวนานนั้นทราบกันดีว่านั้นยังมีกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ใช่จากสองปาร์ตี้  ซึ่งเป็นกลุ่มที่ก่อความรุนแรงเช่นกัน จะสร้างความปลอดภัยจากภัยแทรกซ้อนเหล่านี้ได้อย่างไร ในเมื่อเขาอาจจะได้ผลประโยชน์จากความรุนแรง

พื้นที่ปลอดภัยแบบที่ 1 :   พื้นที่สาธารณะปลอดภัย

พื้นที่สาธารณะมีความสำคัญเพราะเป็นพื้นที่ในชีวิตประจำวัน พื้นที่ปลอดภัยรูปแบบนี้เกิดจากเสียงเรียกร้องของคนในพื้นที่ซึ่งเป็นผู้สูญเสียไม่ใช่เสียงของผู้ใช้ความรุนแรง  มาตรการคือเรียกร้องกดดันให้ทุกฝ่ายยุติการใช้ความรุนแรงและหยุดใช้มาตรการทางการทหาร รัฐทำงานกับชุมชนเพื่อปรับปรุงมาตรการรักษาความปลอดภัยร่วมกัน แต่ก็ยังมีอุปสรรคนั่นคืออาจจะทำให้ชุมชนเข้าไปเกี่ยวข้องกับการต่อสู้ระหว่างคู่ขัดแย้ง หรือเป็นการท้าทายอำนาจคู่ขัดแย้ง และประการสำคัญคือชุมชนที่จะได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดการดูแล จะนำทรัพยากรมาจากองค์กรใด ซึ่งตนคิดว่าปาร์ตี้บีคงจะไม่มีขั้นตอนการเขียนแผนงานและสนับสนุนงบประมานและทรัพยากร หน้าที่นี้จึงต้องเป็นของฝ่ายรัฐ เมื่อเป็นเช่นนั้นจะเสี่ยงต่อการถูกมองว่าชุมชนเป็นกลุ่มที่ขึ้นกับรัฐหรือไม่ และนั่นอาจทำให้ประชาชนต้องตกอยู่ในเกมการเมือง

ตัวแบบนี้ยังน่ากังวลอีกหลายข้อ เช่น 1.จะทำได้จริงหรือไม่ ในเมื่อความเป็นจริงทั้งสองฝ่ายนั้นยังมีการละเมิดกติกาอยู่พอสมควร ในวงพูดคุยหนึ่งซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการทำวิจัยนี้มีข้อเสนอว่าปาร์ตี้เอต้องเป็นฝ่ายเริ่มยุติการกระทำทั้งความรุนแรงและละเมิดก่อน เพื่อบีบให้ปาร์ตี้บีเข้าสู่กติกาตามที่ตกลงเอาไว้ 2. กลไกในการตรวจสอบตัวผู้ก่อเหตุนั้นมีความเป็นกลางและยุติธรรมแค่ไหน หากมีการละเมิดกติกาขึ้นอีกครั้ง  3. ตัวแบบนี้เป็นเพียงการรักษาไปตามอาการไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาที่เป็นต้นตอ 4. การสร้างพื้นที่ปลอดภัยในลักษณะนี้อาจเป็นการทำให้พื้นที่นั้นไม่ปลอดภัยมากขึ้นกว่าเดิม เพราะเป็นการผลักพื้นที่ให้เข้าสู่เกมของความชอบธรรม ปัจจุบันความขัดแย้งประกอบด้วยปัจจัยหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือสงครามจิตวิทยา และสงครามข้อมูลข่าวสาร ซึ่งอาจจะทำให้สับสนและกลายเป็นพื้นที่ขัดแย้งเข้มข้น อุปสรรคสุดท้ายคือ ตัวแบบนี้เป็นการกำหนดพื้นที่สาธารณะให้เป็นพื้นที่โรงเรียน วัด มัสยิด ตลาด ซึ่งนั้นหมายความว่ารวมถึงโรงเรียนทุกที่ในพื้นที่ชายแดนใต้นั้นเป็นพื้นที่ปลอดภัย แต่การปฏิบัติจริงนั้นการพยายามสร้างพื้นที่ดังกล่าวเพียงแค่เขตเดียวอำเภอเดียวยังอยาก แล้วการสร้างพื้นที่ปลอดภัยที่กระจายอยู่ทั่วพื้นที่จะจัดการได้อย่างไร

“เมื่อเกิดเหตุรุนแรงครั้งหนึ่งขึ้นมาแล้วมันไม่ได้ยุติแค่ระเบิด มันมีฝุ่นควันของระเบิดที่ขุ่นมัว คลุมเครือ และนี่คือช่องโหว่ที่ทำให้สามารถใส่ปฏิบัติการข่าวสารเข้าไปในนั้นได้”

พื้นที่ปลอดภัยแบบที่ 2 : พื้นที่ปลอดภัยภายใต้โครงการประชารัฐ

ตัวแบบนี้ขับเคลื่อนด้วยแนวทางประชารัฐร่วมใจ การทำงานจะเป็นการขับเคลื่อนระหว่างชุมชนและรัฐ  เป็นพื้นที่ที่ไม่มีคู่ขัดแย้งมีเพียงการสร้างอำเภอสันติสุขตามกลไกของรัฐ การดำเนินการคือสร้างความเข้าใจระหว่างผู้เห็นต่างจากรัฐ และขยายโครงการพัฒนาให้เข้าถึงในระดับครัวเรือน ให้ครอบครัวเข้าถึงรายได้และคุณภาพชีวิต แต่อุปสรรคคืออาจจะไม่ได้ความร่วมมือจากชุมชน และเกิดช่องว่างระหว่างงานด้านนโยบายและการปฏิบัติ อีกทั้งสร้างความเข้าใจผิดให้แก่ฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นชุมชนที่ขึ้นอยู่กับรัฐ แต่ทั้งนี้นี่เป็นวิธีที่จะได้ทดสอบความจริงใจในการแก้ปัญหาของรัฐอย่างจับต้องได้ แต่เป็นวิธีที่มีความเสี่ยงเพราะอาจทำให้เกิดการเสียสมดุลมากกว่าเดิม

จากการพูดคุยในวงสนทนาอื่นๆ ได้ทราบความเห็นว่า วิธีนี้จะเป็นการผลักให้จุดแตกหักของปัญหานั้นอยู่ในหมู่บ้านมากขึ้น เพราะรัฐได้ทำการเสริมเขี้ยวเล็บให้หมู่บ้าน ซึ่งอาจจะทำให้เป็นเป้าหมายได้มากกว่าเดิม

“วิธีนี้พลเรือนอาจจะกลายเป็นพลรบ การจับอาวุธของชาวบ้านสุดท้ายอาจเป็นเพียงแค่เพราะเรื่องส่วนตัว ตัวแบบนี้เป็นตัวแบบที่ค่อนข้างเห็นความพยายามของรัฐแต่ก็ยังเป็นตัวแบบของรัฐมากเกินไป อาจจะต้องเปลี่ยนชื่อเป็นรัฐประชา เนื่องจากมีรัฐนำหน้าประชาชน”

พื้นที่ปลอดภัยแบบที่ 3 : พื้นที่สันติ

พื้นที่สันติเป็นตัวแบบที่มาจากการระดมความเห็นของภาคประชาชน ซึ่งมีความเห็นว่าพื้นที่ปลอดภัยควรมีการสร้างกติการ่วมกัน อีกทั้งต้องเป็นพื้นที่ที่สามารถเปิดความคิดด้านการเมือง สามารถให้พูดคุยเรื่องการเมืองอย่างแท้จริง การดำเนินงานของพื้นที่สันติจะต้องมีหน่วยงานที่เป็นกลางมาทำงานกับชุมชน รัฐ ขบวนการฯ และตั้งคณะการทำงานเพื่อคอยมอนิเตอร์ข่าวสารของทั้งสองฝ่าย เพื่อสอดส่องและควบคุมการเคลื่อนไหว เปิดพื้นที่พูดคุย และ สนับสนุนการพัฒนา ซึ่งการทำงานในรูปแบบนี้จะสามารถลดความหวาดระแวงและสงครามประสาทไปได้ แต่ถึงจะเป็นตัวแบบที่มีคนเห็นด้วยแต่ก็ยังมีอุปสรรคอีกมาก เช่น จะสามารถหาหน่วยงานที่ทำงานเป็นกลางได้หรือ อีกทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นปัจจุบันไม่ใช่กลไกที่เกิดขึ้นจากปาร์ตี้เอ และปาร์ตี้บีเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่นกลุ่มก่อเหตุซึ่งเป็นปัญหาแทรกซ้อน

ผลเสียที่จะตามมาจากจากตัวแบบนี้คือ ชุมชนจะกลายเป็นผู้เล่นทางการเมืองอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งอาจจะมีความเสี่ยงมากกว่าเดิม และจะสามารถสร้างชุมชนที่เป็นต้นแบบนำร่องในทางปฏิบัติได้จริงหรือไม่

อาทิตย์ย้ำอีกครั้งถึงความเห็นที่ว่า พื้นที่ปลอดภัยต้องไม่ใช่เป็นเพียงพื้นที่ปลอดภัยทางทหารเท่านั้น แต่หมายถึงพื้นที่ปลอดภัยทางความคิด ซึ่งทุกฝ่ายต้องสามารถแสดงความเห็นทางการเมืองซึ่งเป็นต้นตอของปัญหาได้โดยไม่ถูกปิดกั้นหรือเป็นอันตรายต่อตัวเอง  ตัวแบบนี้เป็นตัวแบบที่เปิดกว้างและชุมชนเป็นเจ้าของ ทำให้หลายฝ่ายเห็นด้วยกับตัวแบบนี้มากกว่าแบบอื่นๆ

พื้นที่เสรีจะขับเคลื่อนได้อย่างไร ?

สูตรที่ 1 ไม่ว่าจะเป็นกลไกแบบไหน ก็ต้องมีสัดส่วนสามฝ่ายคือปาร์ตี้เอ ปาร์ตี้บี และภาคประชาชน  ซึ่งคนจากปาร์ตี้เอและปาร์ตี้บี ต้องเป็นคนที่มีอำนาจดูแลระดับนโยบายได้ ไม่ใช่เป็นเพียงคนทำงานระดับปฏิบัติการ

สูตรที่ 2 การใช้เจ้าหน้าที่ที่มีอยู่แล้วมาดำเนินกระบวนการ เช่นคณะกรรมการหมู่บ้าน คณะกรรมการมัสยิด ซึ่งกลไกเหล่านี้สามารถนำมาเป็นฐานปฏิบัติการได้ เพียงแต่ต้องใช้ในหลักคิดที่แตกต่างออกไปจากตัวแบบที่ 2 ที่ดำเนินการตามนโยบายรัฐ

สูตรที่ 3 ปรับโครงสร้างความขัดแย้งจากอสมมาตรให้มีความสมดุลมากขึ้น โดยให้รัฐพยายามแบ่งอำนาจการต่อรองบางส่วนให้แก่ปาร์ตี้บี ต้องยอมรับว่าเอื้อประโยชน์ให้ ซึ่งสูตรนี้ได้รับเสียงตอบรับว่าจะทำให้รัฐเสียการกุมสภาพไป

สูตรที่ 4 ชุมชนต้องเสี่ยงมาก เพราะกลายเป็นด่านหน้าที่ต้องพบกับคู่ขัดแย้ง เสนอให้การสร้างพื้นที่ปลอดภัยเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ต้องมีการประกาศอย่างเป็นทางการ ใช้วิธีปกติโดยให้ชุมชนเป็นผู้ออกแบบที่เหมาะสมกับตัวเอง วิธีนี้จะทำให้ชุมชนรู้สึกว่าเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง

เรื่องที่ควรจะต้องพูดอย่างแท้จริง

ประเด็นที่การพูดคุยสันติสุขและการแก้ปัญหาความขัดแย้งควรพูดถึงเป็นประเด็นสำคัญมากกว่าพื้นที่ปลอดภัยคือ

หลายคนที่เลือกตัวแบบที่สามเพราะว่ามันมีการพูดถึงรากเหง้าของปัญหามากที่สุด เพราะเราเห็นว่าพื้นที่ไม่ปลอดภัยเกิดจากปัจจัยมูลเหตุทางการเมือง การขับเคลื่อนทางการเมือง และความคับข้องทางการเมืองบางอย่างที่จำเป็นจะต้องค้นหา พื้นที่ไม่ปลอดภัยเป็นเพียงปัญหาปลายเหตุ

“ปัญหาของพื้นที่นั้นเปรียบเหมือนคนกำลังหิวข้าว แต่เซฟตี้โซนเป็นการยื่นกาแฟให้ดื่ม ซึ่งต่อให้ดื่มอย่างไรก็ไม่หายหิวเพราะต้องการกินข้าว ไม่ใช่เพราะกาแฟไม่ดี แต่ยังไม่อยากดื่ม ถ้าหิวข้าวก็ต้องกินข้าวให้อิ่มก่อน แล้วค่อยไปคิดถึงการดื่มกาแฟ ”

การพูดถึงเซฟตี้โซนเป็นการบีบให้นักเคลื่อนไหวและคนในพื้นที่พูดเรื่องที่หดแคบลงไปเรื่อย จากเรื่องที่เป็นแก่นกลางของปัญหา กลับเหลือเพียงพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งนี่เป็นพลวัตที่น่ากังวล ถ้าทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ใจกลางของความขัดแย้ง อาจจะไม่ได้รับการพูดถึงอีกต่อไป

ภาพรวมของเสียงสะท้อนยังมองว่ากระพูดคุยเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยยังอยู่ในกระบวนการที่เป็นความลับ ไม่เป็นที่เปิดเผยชัดเจน โดยที่เรื่องนี้เกี่ยวพันกับความเป็นความตายของคนในพื้นที่เอง

“เราควรจะมี Safety Voice พร้อมหรือก่อนมี safety Zone  ไม่อย่างนั้นเราจะไม่มีพื้นที่ปลอดภัยถ้าพื้นที่ทางการเมืองยังไม่เปิดอย่างมากเพียงพอ”

โซรยา จามจุรี: พื้นที่สาธารณะปลอดภัย เสียงของผู้สูญเสีย พื้นที่หัวอกคนเป็นแม่

โซรยา จามจุรี คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้  กล่าวว่า ตัวแบบที่หนึ่งพื้นที่สาธารณะปลอดภัยคือตัวแบบที่คณะทำงานวาระผู้หญิงเสนอ ถือได้ว่าเป็นตัวแบบที่สร้างขึ้นมาตามเสียงของผู้สูญเสีย เริ่มต้นจากการเข้าไปพูดคุยกับผู้หญิงภายในพื้นที่เรดโซน 4 ชุมชน ภายในสามจังหวัด รวมทั้งผู้หญิงที่ทำงานภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านการเยียวยาผู้สูญเสีย รวมทั้งหมดกว่า 500 คน จากการพูดคุยพบว่าพื้นที่หลักๆ ที่กลุ่มผู้หญิงต้องการให้มีความปลอดภัยนั่นคือ ตลาด โรงเรียน มัสยิดหรือวัด พื้นที่สาธารณะจริงแล้วเป็นพื้นที่ทั้งของผู้หญิงและผู้ชาย ทุกศาสนาใช้ประโยชน์ร่วมกัน เพียงแต่ผู้หญิงเป็นตัวแทนเรียกร้องส่งเสียงเท่านั้น

ขณะที่ทำการรับฟังความเห็นก็ยังพบว่ายังมีอุปสรรคอีกมากเช่น ความเห็นที่ว่าตัวแบบนี้เป็นตัวแบบที่เกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากมีโรงเรียน ตลาด วัดและมัสยิด กระจายอยู่พื้นที่ต่างๆ แต่คณะทำงานผู้หญิงเห็นว่าทุกที่นั้นสำคัญ  และที่ที่คนหมู่มากมาใช้ประโยชน์ร่วมกันนั้นควรจะเป็นที่ที่ปลอดภัยที่สุด ส่วนเรื่องทำได้หรือไม่ได้เป็นเรื่องที่ปาร์ตี้เอ ปาร์ตี้บี ต้องไปหาทางออกให้ได้ในทางปฏิบัติตามที่ผู้ได้รับความเดือดร้อนส่งเสียงมา เราจึงโยนโจทย์เหล่านี้เข้าไปยังผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการแทน

“พื้นที่สาธารณะปลอดภัยเป็นความจำเป็นเร่งด่วน เพราะมีผู้หญิงที่มาขับเคลื่อนกับเราหลายคนสูญเสียลูกในตลาด ผู้หญิงเหล่านี้คือแม่ๆ เมียๆ ที่มาขับเคลื่อนร้องขอ เราจึงคิดว่าเป็นเสียงที่มีความชอบธรรมของผู้สูญเสียที่จะส่งเสียงออกไปว่าเขาไม่ใช่คนสู้รบ เขาเป็นพลเรือน แต่ทำไมจะต้องมาสูญเสีย โดนลูกหลงจากการก่อเหตุในพื้นที่สาธารณะเหล่านี้ด้วย”

ทางคณะทำงานไม่คิดว่าข้อรียกร้องที่เสนอไปเป็นเรื่องที่เกินเลยหรือไม่สมเหตุสมผล เพราะในกฎกติกาสากล หรือกฎอิสลามตามหลักการสู้รบนั้นก็ยังมีการละเว้นบางสถานที่ซึ่งหมายรวมถึงพื้นที่สารธารณะ

ข้อวิจารณ์ที่กล่าวว่าตัวแบบพื้นที่สาธารณะปลอดภัยนี้ไม่มีการพูดถึงรากเหง้าของปัญหา เป็นเพียงการขอพื้นที่ปลอดภัยที่ไม่มีความรุนแรงในเชิงกายภาพเท่านั้น จะพบว่าตามข้อเสนอที่คณะทำงานวาระผู้หญิงได้ยื่นต่อปาร์ตี้เอ และปาร์ตี้บี  คือ ไม่ก่อเหตุรุนแรงรวมถึงไม่มีปฏิบัติการทางทหารจากทั้งสองฝ่าย รวมถึงให้พิจารณาความจำเป็นในการวองพลรบในพื้นที่ดังกล่าว ข้อที่สองระบุว่าขอให้คู่ขัดแย้งทั้งสองแก้ปัญหาโดยวิธีการทางการเมืองและนำหัวข้อพื้นที่สาธารณะปลอดภัยเข้าไปเป็นวาระสำคัญในการพูดคุยสันติสุข ซึ่งนั่นไม่ได้หมายความว่าเราเสนอเรียกร้องให้คุยเพียงแค่เรื่องการสร้างพื้นที่ปลอดภัยเพียงอย่างเดียว เพียงแค่ต้องการให้พูดถึงเป็นวาระเร่งด่วน ในขณะเดียวกันก็ต้องพูดคุยถึงต้นตอปัญหาอีกด้วย ข้อเสนอนี้ไม่มีนัยยะทางการเมืองที่จะพิสูจน์ทราบถึงพละกำลังและกองกำลังของทั้งสองฝ่ายนั่นทำให้ไม่มีการเจาะจงว่าเป็นพื้นที่ใด

พลตรีชุมพล แก้วล้วน : มุมมองของเจ้าหน้าที่ ทุกพื้นที่ต้องเป็นที่ปลอดภัย

พลตรีชุมพล แก้วล้วน  รองผู้อำนวยการศูนย์สันติวิธี กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า พื้นที่ในจังหวัดชายแดนใต้จะมีทั้งพื้นที่ธรรมดาและพื้นที่การรบซึ่งจะต้องมีการแก้ปัญหาที่แตกต่างกัน แต่ทั้งนี้สถานการณ์ก่อเหตุก็ได้ลดลงตามลำดับ เกิดขึ้นได้จากการที่มีความพยายามเปิดพูดที่พูดคุย เสวนา นี่ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น เพราะจะพยายามให้เกิดสันติสุขนั้นไม่ใช่เรื่องของฝ่ายความมั่นคงเพียงฝ่ายเดียว ดังที่กลุ่มผู้หญิงได้ส่งเสียงดังๆ ไปให้ถึงคณะทำงานอื่นๆ

พลเรือนพลรบดังที่อาทิตย์ได้กล่าวถึงตนนั้นต้องขอกล่าวว่า กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่เขาทำงานเป็นปกติของเขาอยู่แล้วเจ้าหน้าที่เพียงแค่สร้างความเข้มแข็ง เพื่อให้มีความพร้อมในการดูแลพื้นที่ ซึ่งที่อยากจะให้สังเกตกันมากขึ้นคือเพราะอะไรทำให้การพูดถึงพื้นที่ปลอดภัยนั้นจำกัดอยู่เพียงแต่การสู้รบทางกายภาพ แต่ความจริงแล้วเจ้าหน้าที่แม้ระดับปฏิบัติการก็ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติการทุกด้าน น้ำหนักการทำงานมุ่งไปในทางการเมืองด้วยซ้ำ การปิดล้อมตรวจค้นนั้นน้อยลงมาก การข่าวกรองมีความแม่นยำมากขึ้นหลังจากที่มักได้รับข้อครหาถึงความผิดพลาดบ่อยครั้ง ทำให้การทำงานแม่นยำมากขึ้น การปฏิบัติหน้าที่ปัจจุบันมีความพยายามให้ลดความรุนแรงให้น้อยลง ใช้วิธีการเจรจาจากชุมชน กำนันผู้ใหญ่บ้านมากขึ้น เพื่อให้สามารถนำบุคคลเหล่านั้นเข้ามาสู่กระบวนการทางกฎหมาย มิใช่ลงท้ายด้วยการสู้รบ

สองปีที่แล้ว กอ.รมน. พูดถึงการพัฒนาโดยร่วมกับคนในพื้นที่ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับ ศกต.ภาคประชาสังคม และฝ่ายปกครอง เรามีการลงพื้นที่เพื่อถามหาความต้องการของคนในพื้นที่ รวบรวมและนำสู่กลไกการพัฒนาจากบนสู่ล่าง มิใช่เป็นเพียงการซื้อกรวย-ราวกัน ตามที่กล่าวหา

จากการนำเสนอพื้นที่ปลอดภัยทั้ง 3 รูปแบบ ถือว่าเป็นโมเดลที่น่าสนใจและน่ายินดีแต่ในฐานะที่ตนเป็นเจ้าหน้าที่และเป็นคนพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้เห็นว่า ต้องไม่ใช่ ตลาด โรงเรียน วัด มัสยิดเท่านั้นที่ต้องปลอดภัย สวนยางหรือครัวหลังบ้านก็ต้องปลอดภัยด้วย ซึ่งเหล่านี้ไม่ต้องมีกลไกก็ได้ เพราะเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่อยู่แล้วไม่ว่าตรงไหนก็ไม่ปลอดภัยไม่ได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการก่อเหตุจากฝ่ายใดก็แล้วแต่

“คนที่เข้ามาทำหน้าที่ในฝ่ายความมั่นคงไม่มีใครที่จะเข้ามาทำงานเพื่อหยิบอาวุธแล้วออกไปกวาดล้างไปทำลายคนที่คิดต่างทางการเมือง วันนี้เราได้ถอยออกมาให้เป็นต่อสู้ด้วยสันติวิธี จนทำให้สถานการณ์ในพื้นที่เริ่มดีขึ้นแล้ว”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท