อียูห่วงระบบขนส่งสาธารณะในยุโรปยังไม่สอดคล้องหลักสิทธิมนุษยชน

แม้จะมีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน แต่การเดินทางของคนพิการก็ยังยากและถูกแยกออกจากการดำเนินชีวิตทั่วไปเสมอ กรรมาธิการสหภาพยุโรปจึงเสนอกฎหมายสิ่งอำนวยความสะดวก เชื่อว่าจะทำให้คนพิการเข้าถึงและใช้ชีวิตด้วยตัวเองได้


ภาพจาก https://www.flickr.com/photos/inverness_trucker/8139437963/sizes/m/

16 ธ.ค.2559 เว็บไซต์ อียูแอคทิฟ รายงานสถานการณ์การเข้าถึงบริการขนส่งสาธารณะในยุโรป โดยหลังจากกฎหมายคนพิการถูกใช้งาน มีการผลักดันระบบการขนส่งสาธารณะในหลายเมืองรอบยุโรป เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ มีตัวอักษรที่อ่านง่ายขึ้นสำหรับคนมีปัญหาด้านการมองเห็นหรือตาบอดโดยสิ้นเชิง แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่ทำให้การเปลี่ยนแปลงนี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบสุดโต่ง ที่ทำขึ้นโดยเฉพาะเพื่อคนพิการ โดยคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปเตรียมยื่นเสนอกฎหมายการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่อรัฐสภาเมื่อกว่าหนึ่งปีที่แล้ว เพื่อทำให้ทุกการบริการ ซึ่งรวมถึงการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น เอทีเอ็ม นั้นง่ายขึ้นสำหรับคนพิการ

นอกจากนี้ การเดินทางในเมืองจะง่ายขึ้นเช่นกันหากกฎหมายนี้ถูกนำไปใช้ รถโดยสารสาธารณะ และจุดจอดรถต่างๆ จะถูกบังคับให้ต้องเข้าถึงได้ง่ายโดยคนพิการ

แม้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคนพิการส่วนมากจะโฟกัสในเรื่องของการเดินทางและสิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินทาง แต่ก็ไม่ได้เป็นข้อยืนยันว่า คนพิการจะสามารถเข้าหรือออกจากการเดินทางนั้นๆ ได้อย่างสะดวกสบายนัก

อย่างไรก็ดี องค์กร The International Association of Public Transport (UITP) ได้กล่าวถึงข้อยกเว้นในการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก และเสริมว่า การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกบางประเภทนั้น เป็นภาระอันหนักอึ้งของผู้ประกอบการ เช่น การซื้อเครื่องจำหน่ายตั๋วที่เอื้อต่อคนพิการใหม่ทั้งหมด 

การแพทย์ vs. สิทธิมนุษยชน

แม้หลายเมืองในยุโรปมีมาตรการอำนวยความสะดวกคนพิการในการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ แต่ก็ยังมีรถไฟฟ้าใต้ดินหรือจุดจอดรถบัสอีกมากมายที่ยังไม่เอื้อต่อคนพิการ

กันทา อันกา รองประธานสภาคนพิการยุโรป ผู้สนับสนุนในเรื่องสิทธิคนพิการเล่าว่า เธอต้องโทรหาเจ้าหน้าการรถไฟก่อนล่วงหน้าถึง 48 ชั่วโมง หากต้องการโดยสารรถไฟในริกา เมืองที่เธออยู่ อันกาใช้วีลแชร์ การใช้งานรถไฟฟ้าใต้ดินและรถบัสสาธารณะยังคงเป็นเรื่องยาก สำหรับเธอ อีกทั้งป้ายสัญลักษณ์ต่างๆ และข้อมูลสำหรับคนใช้วีลแชร์ยังมักมีข้อผิดพลาดเสมอ

อันกากล่าวว่า ระบบขนส่งสาธารณะของหลายเมืองในยุโรปที่เอื้อต่อคนพิการยังล้าหลังมาก แม้ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (CRPD) จะกล่าวถึงการดำเนินชีวิตอิสระของคนพิการเป็นประเด็นที่ต้องคำนึงถึงตามหลักสิทธิมนุษยชนก็ตาม

“สิ่งหนึ่งที่แตกต่างระหว่าง โมเดลทางการแพทย์กับสิทธิมนุษยชนคือ โมเดลทางการแพทย์เน้นหนักในเรื่องการจัดหาอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ แต่โมเดลหลักสิทธิมนุษยชนจะเน้นหนักในเรื่องความเท่าเทียม และการทำให้คนพิการไม่ถูกแบ่งแยกออกจากคนอื่นๆ” เธอกล่าว

สิทธิของผู้โดยสาร

กฎหมายเกี่ยวกับสิทธิผู้โดยสารในยุโรป ให้คำมั่นว่าหากคุณเป็นคนพิการ คุณจะได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนในการโดยสารรถไฟ เครื่องบิน รถบัสหรือเรือ แต่กฎหมายนี้ไม่ครอบคลุมถึงการเดินทางสาธารณะในชุมชน จึงเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการประจำเมือง ที่จะต้องพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเพื่อทำให้คนพิการเข้าถึงมากขึ้น โดยมีเป้าหมายคือ ทำให้เกิดความเท่าเทียมกันของการใช้ชีวิตในเมืองของคนพิการ และหลีกเลี่ยงการถูกแยกหรือกันออก

เมืองเชสเตอร์ ที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอังกฤษ มีประชากรราว 81,000 คน เมืองนี้ชนะรางวัลด้านการเข้าถึงของยุโรป ประจำปี 2017 แท็กซี่ 192 คันรอบเมืองล้วนใช้งานสะดวกต่อผู้ใช้วีลแชร์ และมีอุปกรณ์ช่วยสื่อสารหรือที่เรียกว่า loop sound เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่มีปัญหาทางการได้ยิน อีกทั้งยังมีการทำสัญลักษณ์สีบริเวณที่นั่ง เพื่อง่ายต่อการใช้งานของคนสายตาเลือนราง นอกจากนี้รถบัสโดยสารที่วิ่งในเมืองยังเอื้อต่อการใช้งานของคนที่ใช้วีลแชร์อีกด้วย

เหตุผลหลักที่เมืองเชสเตอร์เลือกทำให้การเดินทางของเมืองสะดวกสำหรับทุกคนคือ พวกเขาไม่ต้องการให้คนพิการที่อาศัยอยู่ย้ายออกไป หรือเดินทางไปจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่อื่นๆ อนึ่ง ประชากรที่เป็นคนพิการในเมืองเชสเตอร์นั้นมีอยู่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประชากรพิการในอังกฤษในอัตราร้อยละ 18 นอกจากนั้น เมืองนี้ยังถูกคาดการณ์ว่า จะกลายเป็นเมืองแห่งสังคมผู้สูงอายุอีกด้วย

จากคำบอกเล่าของ เกรแฮม การ์เนต เจ้าหน้าที่สภาเมืองที่ทำงานด้านคนพิการ เล่าว่า สภาเมืองเชสเตอร์มีกองทุนสนับสนุนพิเศษ ที่ช่วยเหลือเรื่องการจัดหาอุปกรณ์สำหรับคนที่เดินไม่สะดวก อย่างสกูตเตอร์และวีลแชร์ เพื่อให้คนพิการได้ออกนอกบ้านไปชอปปิ้ง แต่ละปีอุปกรณ์แต่ละชิ้นถูกจองมากกว่า 3,000 ครั้ง และในการชอปปิ้งแต่ละครั้งจะมีเม็ดเงินไหลเข้ามาประมาณ 79 ปอนด์ หรือ 3,500 บาท นี่แสดงให้เห็นว่า ระบบการเงิน จับจ่ายใช้สอยในคนพิการก็มีการถ่ายเทไปมา และมีการเคลื่อนไหว ที่ขัดกับภาพจำแห่งการระดมทุนเพื่อช่วยเหลือเท่านั้น และยังเป็นผลดีมหาศาลต่อเศรษฐกิจในชุมชนอีกด้วย

 

แปลและเรียบเรียงจาก

http://www.euractiv.com/section/transport/news/eu-disability-rights-bill-wont-fix-public-transport-problems-campaigners-fear/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท