Skip to main content
sharethis

หลังให้บริการฟรีแท็กซี่วีลแชร์ตั้งแต่ปี 2555 และมีนโยบายเก็บค่าโดยสารจนถูกคัดค้าน มานิต เตชอภิโชค กรรมการอำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม ย้ำจุดยืน บริการฟรี-หนุนดึงเอกชนเข้าร่วม เพื่อให้การบริการทั่วถึง- ครอบคลุมผู้ใช้วีลแชร์มากขึ้น


ภาพจาก เฟซบุ๊ก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร

9 ธ.ค. 2559 มานิต เตชอภิโชค กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ผู้ประกอบการบริการแท็กซี่วีลแชร์ เปิดเผยเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ที่ผ่านมา ถึงนโยบายให้บริการฟรีและแนวคิดที่จะให้เอกชนเข้าร่วมบริการด้วย หลังได้รับร้องเรียนจากคนพิการ และผู้สูงอายุที่ใช้วีลแชร์ถึงปัญหาเรื่องการโทรเรียกใช้บริการรถแท็กซี่ เช่น โทรติดต่อลำบาก ฯลฯ อย่างไรก็ดี เขากล่าวว่า จะต้องหารือเรื่องนี้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสียก่อน

มานิตกล่าวว่า ปัจจุบันศูนย์บริการแท็กซี่วีลแชร์ของกรุงเทพธนาคมมีพนักงาน จำนวน 30 คน โดยทำงานอย่างเป็นขั้นตอน ไม่มีการให้อภิสิทธิ์แก่ผู้ใดทั้งสิ้น ทั้งนี้ ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีคนพิการและผู้สูงอายุที่ต้องใช้วีลแชร์ 40,000-60,000 คน แต่ทางบริษัทมีรถแท็กซี่ที่ให้บริการเพียง 30 คัน หรือสามารถบริการประชาชนได้ประมาณ 10,000 คนต่อเดือน  ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงเกิดแนวคิดที่จะให้บริษัทเอกชน เช่น นครชัยแท็กซี่ ฯลฯ เข้ามาร่วมให้บริการกลุ่มผู้ใช้วีลแชร์ ซึ่งขณะนี้มีผู้ประกอบการรถแท็กซี่หลายรายให้ความสนใจ

เขาเสริมว่า การให้บริการดังกล่าวเป็นกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ของบริษัท โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัทเอกชนต่างๆ เช่น บริษัท โตโยต้า ฯลฯ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการตรวจสอบสภาพและบำรุงรักษารถ บริษัทมิชลิน ซึ่งให้ยางรถยนต์ปีละ 100 เส้น โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย อีกส่วนมาจากการสนับสนุนงบประมาณของกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นเงินเดือนของพนักงานขับรถและพนักงานรับโทรศัพท์ โดยตั้งแต่ให้บริการมา 7 ปี บริษัทกรุงเทพธนาคมฯ ใช้งบประมาณส่วนนี้เป็นจำนวนเงิน 138 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี เขากล่าวว่า ยังต้องมีการเจรจาถึงแนวทางการดำเนินงานกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ก่อน ถึงเรื่องที่จะให้บริษัทเอกชนเข้ามาร่วมในการให้บริการกลุ่มผู้ใช้วีลแชร์

ก่อนหน้านี้ต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมาสุรพล นิติไกรพจน์ ประธานกรรมการบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด และกรรมการรวม 15 คน ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่ง เพื่อให้ผู้ว่าฯ กทม.แต่งตั้งกรรมการชุดใหม่ โดยสภากรุงเทพมหานครกล่าวว่า การลาออกยกชุดของกรรมการในบอร์ดถือเป็นเรื่องปกติ และไม่มีสิ่งผิดปกติใดๆ เนื่องจากบอร์ดชุดนี้ผู้ว่าฯ กทม.คนเก่าเป็นผู้แต่งตั้ง เมื่อหมดหน้าที่แล้ว บอร์ดที่ถูกแต่งตั้งขึ้นมาจึงต้องลาออกตามมารยาท นอกจากนี้ หากบอร์ดชุดดังกล่าวออกไปแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.ที่จะต้องแต่งตั้งบอร์ดชุดใหม่แทน ซึ่งคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นบอร์ดนั้น เป็นที่รู้กันดีว่า จะต้องเป็นคนที่ผู้ว่าฯ กทม.ไว้ใจ และเชื่อใจมากเป็นพิเศษ

รถแท็กซี่วีลแชร์นั้นเปิดให้บริการฟรีตั้งแต่ปี 2555 แต่เมื่อกลางปี 2558 มีนโยบายกำหนดให้ ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2558 เริ่มเก็บค่าโดยสารแท็กซี่วีลแชร์ในอัตราเดียวกับแท็กซี่ ซึ่งมีอัตราเริ่มต้น 35 บาท และในวันที่ 1 มี.ค.2559 จะเก็บค่าเรียกใช้บริการ 50 บาท ฝั่งผู้ใช้บริการจึงเปิดประเด็นทวงสัญญาที่อดีตผู้ว่าฯ กทม. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เคยพูดว่าจะจัดเก็บค่าโดยสารครึ่งราคา และตั้งคำถามว่า ค่าเรียกใช้บริการ 50 บาทนั้นแพงเกินไปหรือไม่

จากสถิติการให้บริการมีการเรียกใช้บริการเฉลี่ยต่อเดือน 1,648 ครั้ง จากจำนวนรถ 30 คัน สถานที่เป้าหมายการเดินทางสูงสุดคือ โรงพยาบาล ร้อยละ 31 ห้างสรรพสินค้าและตลาด ร้อยละ 25 ศูนย์คนพิการร้อยละ 14 บ้านเพื่อนหรือญาติ ร้อยละ 11 ที่เหลือเดินทางไปยังสถานที่ทั่วไป เช่น สถานที่ราชการ สถาบันการศึกษา วัด ฯลฯ
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net