‘หมอมงคล’ ค้านโยกงบประกันสุขภาพ ขรก. ให้เอกชน หวั่นทำระบบสุขภาพพังทั้ง 3 ระบบ

‘หมอมงคล’ ฉะแนวคิดโยนเงิน 7.2 หมื่นล้านให้ประกันภัยเอกชนดูแลสุขภาพข้าราชการ หวั่นซ้ำร้อย พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถฯ เบิกยาก เงื่อนไขเยอะ ซ้ำค่าบริหารจัดการยังสูงถึง 40 เปอร์เซ็นต์ต่อปี อาจทำงบฯ หาย 2 หมื่นล้านเป็นค่าจัดการ หวั่นไม่เกิน 2 ปีกระทบลูกโซ่ระบบสวัสดิการล้มทั้ง 3 ระบบ แนะกรมบัญชีกลางควรแก้ที่ต้นเหตุ สร้างระบบติดตามตรวจสอบการใช้สิทธิ

นพ.มงคล ณ สงขลา
(ภาพจาก  Hfocus)
 

จากกรณีที่รัฐบาลมีนโยบายจะให้บริษัทประกันภัยเอกชนเข้ามาดูแลสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการและครอบครัวกว่า 5 ล้านคนแทนกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ทำให้เริ่มเกิดกระแสการคัดค้านขึ้นมา โดย นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออกมาแสดงความเห็นคัดค้านอย่างแข็งขัน

วันที่ 7 ธันวาคม 2559 เครือข่ายปฏิรูประบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ (คสร.) ได้จัดแถลงข่าว ‘คัดค้านกระทรวงการคลังเตรียมยกงบประมาณเจ็ดหมื่นล้านบาทให้ธุรกิจประกันภัยดูแลสวัสดิการการรักษาพยาบาลข้าราชการ’ ที่ศศนิเวศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นพ.มงคล กล่าวในงานแถลงข่าวว่า ไม่สามารถยอมรับนโยบายนี้ได้ เพราะเท่ากับนำเงิน 7.2 หมื่นล้านบาทไปให้บริษัทประกันภัยเอกชนเป็นผู้บริหารจัดการ เพราะประสบการณ์จาก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ชัดเจนว่าสร้างผลกระทบมากกว่าผลประโยชน์ที่ประชาชนควรได้

“เราไม่สามารถรับได้ที่จะให้ทำโดยบริษัทประกันภัยเอกชน เพราะเรามีประสบการณ์การบริหาร พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถ 2535 บริษัทประกันภัยเอกชนมีค่าบริหารจัดการและต้องคิดกำไร ซึ่งในส่วนของ พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถ ฯ บริษัทประกันภัยเอกชนคิดค่าบริหารจัดการต่อปีสูงกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ แต่เวลามีอุบัติเหตุ การเบิกค่ารักษากลับยากมาก ต้องไปแจ้งความ มีบันทึกประจำวัน โรงพยาบาลจะเบิกเงินจากบริษัทประกันภัยเอกชนต้องส่งเอกสารมากมาย ในที่สุดเหนื่อยที่จะเบิก ต้องให้ผู้ประสบเหตุมาเบิกจากสวัสดิการที่มีอยู่

“กรณีนี้ ถ้าบริษัทประกันภัยเอกชนมาบริหาร การเบิกจ่ายคงเป็นแบบเดียวกัน แล้วเงิน 7.2 หมื่นล้าน สมมติถ้าโดนหักไป 10 เปอร์เซ็นต์เพื่อเป็นค่าบริหารจัดการ เงินที่จะไปสู่โรงพยาบาลรัฐก็จะหายไป 7,200 ล้านบาท แล้วโรงพยาบาลก็จะไม่มั่นใจว่ารักษาไปแล้วจะเบิกได้อย่างที่จ่ายไปหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีเพดานว่าจะเบิกได้เท่าไหร่ เราไว้ใจตรงนี้ไม่ได้เลย เพราะเขาไม่มีทางจะทำเพื่อการกุศล”

นพ.มงคล ตั้งคำถามว่า เมื่อเงินส่วนหนึ่งหายไปเป็นค่าบริหารจัดการของบริษัทประกันภัยเอกชน สิทธิการรักษาพยาบาลจะอยู่คงที่ได้หรือไม่ ซึ่งโดยส่วนตัว นพ.มงคล เห็นว่าเป็นไปไม่ได้ คนที่อยู่ในวงการข้าราชการและครอบครัว รวมถึงโรงพยาบาลรัฐที่ดูแลการรักษาพยาบาลข้าราชการจะกระทบทั้งหมด ยิ่งเมื่อโรงพยาบาลของรัฐ ณ เวลานี้ได้รับงบประมาณไม่เพียงพออยู่แล้ว หากงบประมาณที่ได้ถูกลดลงอีกจะเกิดความเสียหายกับระบบสุขภาพ และจะลุกลามไปยังระบบสวัสดิการสุขภาพทั้งสามระบบ-สวัสดิการข้าราชการ, ประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ-ต้องล้มภายในไม่เกิน 2 ปี

ด้าน นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล อดีตเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และอดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า เมื่อตนอยู่ สวรส. ได้ส่งสัญญาณเตือนทางกรมบัญชีกลางมา 10 กว่าปีแล้วว่า ระบบสวัสดิการสุขภาพข้าราชการจะเป็นภาระมากขึ้นในอนาคต แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง

“ค่าใช้จ่ายของข้าราชการที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เราต้องเกาให้ถูกที่คัน ก่อนจะโยนไปให้เอกชน งานหลายเรื่องเอ๊าท์ซอร์สหรือแปรรูปไม่ใช่คำตอบ”

นพ.ศิริวัฒน์ ยกตัวอย่างว่า กรมบัญชีกลางเคยเรียกเงินโรงพยาบาลคืนเนื่องจากพบว่ามีการสั่งยาจากบริษัทเอกชนเป็นยอดเงินสูงมาก ซึ่งพบว่ามีแพทย์ ‘ยิงยา’ หรือการสั่งยาจากบริษัทเอกชนเพื่อทำยอดโดยมีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ กรณีนี้สะท้อนว่าระบบการตรวจสอบติดตามของกรมบัญชีกลางยังไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งนี่ก็เป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการสูงขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากเรื่องการขาดระบบติดตามตรวจสอบที่เป็นระบบแล้ว การทำงบประมาณแบบปลายเปิดโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยนอกยังทำให้งบประมาณบานปลาย ดังนั้น ก่อนที่จะโยนเงิน 7.2 หมื่นล้านไปให้เอกชนจัดการ กรมบัญชีกลางควรสร้างระบบติดตามตรวจสอบการใช้สิทธิและการให้บริการให้ชัดเจนและการติดตามประเมินผลการใช้จ่ายเสียก่อน ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้การใช้จ่ายงบประมาณมีประสิทธิภาพและคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น โดยที่ผ่านมาก็มีงานวิชาการที่ศึกษาเรื่องนี้รองรับอยู่แล้ว หรืออาจจะให้ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นผู้กำกับดูแลในส่วนนี้ก็ได้ เนื่องจากมีบุคลากรและระบบพร้อมอยู่แล้ว

เพราะการปล่อยให้บริษัทประกันภัยเอกชนเข้ามาดูแล หากต้องใช้ค่าบริหารจัดการเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 คือร้อยละ 40 เงิน 7.2 หมื่นล้านบาทจะหายไปทันที 2 หมื่นกว่าล้าน ขณะที่ สปสช. มีค่าใช้จ่ายส่วนนี้เพียงร้อยละ 1 และสำนักงานประกันสังคมใช้เพียงร้อยละ 5 เท่านั้น นี่จึงกลับไปสู่คำถามของ นพ.มงคล ที่ว่า เมื่อเงินหายไป สิทธิการรักษาพยาบาลของข้าราชการและครอบครัวจะคงอยู่เหมือนเดิมได้อย่างไร

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท