เบอร์นี แซนเดอร์ส พูดถึง 'ฟิเดล คาสโตร' และมรดกจากการปฏิวัติคิวบา

เบอร์นี แซนเดอร์ส อดีตผู้สมัครชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคเดโมแครต ให้สัมภาษณ์ต่อ Democracy Now! เกี่ยวกับการจากไปของฟิเดล คาสโตร โดยเขาชี้ให้เห็นมรดกที่สำคัญของคิวบาคือ ระบบบริการสาธารณสุขที่ดีมาก รวมทั้งเรื่องการศึกษา แต่บางอย่างก็เลวร้ายเพราะผ่านไป 50 ปี ผู้คนยังไม่มีเสรีภาพและเศรษฐกิจยังย่ำแย่

แต่เรื่องนี้ก็ไม่ใช่เป็นเพราะคาสโตรฝ่ายเดียว นอกจากนี้ชาวอเมริกันก็ควรเรียนรู้ว่าที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกามีส่วนส่งเสริมการเผด็จการในประเทศอื่นๆ ทั้งกัวเตมาลา ชิลี หรือเอลซัลวาดอร์ หรือแม้แต่อิหร่าน

ที่มา: Democracy Now!

แซนเดอร์สกล่าวถึงกรณีอิหร่านว่าในปี 2496 รัฐบาลสหรัฐอเมริกา เคยเกื้อหนุนบริษัทน้ำมันอังกฤษด้วยการจัดฉากให้เกิดการรัฐประหารโค่นล้ม โมฮัมเหม็ด มอสซาเดกผู้ที่มาจากการเลือกตั้งเพราะต้องการให้มีการแปรรูปบริษัทน้ำมันบางส่วนของที่นั่นให้เป็นของประเทศ ทำให้อิหร่านกลับไปสู่ระบอบชาห์ผู้โหดเหี้ยมจนปูทางให้เกิดการปฏิวัติโค่นล้มเขาจนทำให้โคไมนีขึนมามีอำนาจ แซนเดอร์สบอกว่าไม่มีการนำเสนอเรื่องแบบนี้ในสื่อใหญ่ๆ ของตะวันตกเลย

Democracy Now! สัมภาษณ์ เบอร์นี แซนเดอร์ส วุฒิสมาชิกรัฐเวอร์มอนต์ ผู้เคยลงสมัครเพื่อชิงตำแหน่งผู้แทนพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา โดยแซนเดอร์สพูดถึง ฟิเดล คาสโตร อดีตผู้นำคิวบาที่เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อไม่นานมานี้ โดยเขาเป็นคนที่ปกครองคิวบามาเป็นเวลายาวนานเกือบครึ่งศตวรรษหลังจากปฏิวัติโค่นล้มจอมเผด็จการบาติสตาที่สหรัฐอเมริกาหนุนหลัง โดยในบทสัมภาษณ์ แซนเดอร์สพูดถึงชีวิตและสิ่งที่ตกทอดมาจากคาสโตร

อนึ่ง ฮิลลารี คลินตัน คู่แข่งของแซนเดอร์สในการเป็นตัวแทนลงชิงชัยในฐานะตัวแทนพรรคเดโมแครตเคยกล่าวหาว่าเขาแสดงความชื่นชมคาสโตร ขณะที่ เอมี กูดแมน นักข่าวของ Democracy Now! สัมภาษณ์แซนเดอร์ส เกี่ยวกับคาสโตรในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับละตินอเมริกาที่ส่งผลถึงปัจจุบัน

แซนเดอร์ส กล่าวว่าคาสโตรไม่เพียงแค่ส่งผลระหว่างสหรัฐอเมริกากับละตินอเมริกาเท่านั้น เขากับภรรยาเจน แซนเดอร์ส เคยไปเยือนคิวบา 2-3 ครั้ง ครั้งแรกในปี 2532 และเจนก็ทำการศึกษาคิวบาในบางส่วนพบว่ามีสิ่งดีๆ ให้พูดถึงจำนวนมาก เช่น ระบบบริการสุขภาพดีมากสำหรับประเทศโลกที่สาม จากที่เป็นระบบประกันสุขภาพแบบถ้วนหน้าให้ทุกคนมีสิทธิเข้าถึงได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ครั้งสุดท้ายที่แซนเดอร์ไปใช้บริการพวกเขาก็บริการดีมาก มีการคิดค้นยาใหม่ๆ แซนเดอร์สบอกถึงข้อดีของคิวบาอีกเรื่องหนึ่งว่าระบบการศึกษาของพวกเขาก็ดี แต่สิ่งที่แย่คือเศรษฐกิจของคิวบาและคนที่แสดงออกต่อต้านในคิวบาก็มีชีวิตที่ไม่ค่อยดีนัก

แน่นอนว่าสำหรับแซนเดอร์สแล้วการที่คาสโตรโค่นล้มเผด็จการที่สหรัฐอเมริกาส่งเสริมถือเป็นเรื่องดีมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างไปในทางที่ดีมาก และเป็นเรื่องที่ชวนถกเถียงกันไม่รู้จบว่าสหรัฐอเมริกามีส่วนในการทำให้เกิดประเทศอย่างคิวบาได้อย่างไร การเปลี่ยนแปลงบางอย่างในคิวบาก็เป็นเรื่องเลวร้ายมาก ผ่านไป 50 ปีแล้วหลังการปฏิวัติแต่ผู้คนก็ยังไม่มีเสรีภาพในการแสดงการต่อต้านรัฐบาลได้และเศรษฐกิจก็ยังย่ำแย่

อย่างไรก็ตามแซนเดอร์สบอกว่านี่ไม่ใช่ผลที่มาจากการกระทำของคาสโตรแต่เพียงอย่างเดียว และเขาไม่เข้าใจว่าทำไมถึงทำเหมือนคิวบายังเป็นประเทศเดียวที่ไม่เป็นประชาธิปไตยแล้วก็ไม่วิจารณ์เรื่องนี้กับซาอุดิอาระเบีย และพวกเขาควรให้การศึกษาชาวอเมริกันว่าสหรัฐอเมริกา เองก็เคยส่งเสริมการโค่นล้มรัฐบาลประชาธิปไตยในประเทศอื่นๆ และส่งเสริมเผด็จการเมื่อช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็น กัวเตมาลา ชิลี หรือเอลซัลวาดอร์ แม้แต่อิหร่าน

แซนเดอร์สกล่าวถึงกรณีอิหร่านว่าในปี 2496 รัฐบาลสหรัฐอเมริกา เคยเกื้อหนุนบริษัทน้ำมันอังกฤษด้วยการจัดฉากให้เกิดการรัฐประหารโค่นล้ม โมฮัมเหม็ด มอสซาเดกผู้ที่มาจากการเลือกตั้งเพราะต้องการให้มีการแปรรูปบริษัทน้ำมันบางส่วนของที่นั่นให้เป็นของประเทศ ทำให้อิหร่านกลับไปสู่ระบอบชาห์ผู้โหดเหี้ยมจนปูทางให้เกิดการปฏิวัติโค่นล้มเขาจนทำให้โคไมนีขึนมามีอำนาจ แซนเดอร์สบอกว่าไม่มีการนำเสนอเรื่องแบบนี้ในสื่อใหญ่ๆ ของตะวันตกเลย

เอมี กูดแมน ยังถามแซนเดอร์สอีกสองคำถาม หนึ่งในนั้นคือความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องระบบการเลือกคณะผู้เลือกตั้งหรือ Electoral College ของสหรัฐอเมริกา ที่คลินตันได้คะแนนจากประชาชนโดยรวมมากกว่า แต่เมื่อนับจำนวนคณะผู้เลือกตั้งแล้ว ทำให้คลินตันพ่ายต่อโดนัลด์ ทรัมป์

แซนเดอร์สตอบว่าระบบคณะผู้เลือกตั้งนี้เป็นระบบที่ล้าสมัย ผู้คนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคณะผู้เลือกตั้งที่เขาจะเลือกเป็นใคร ผู้คนล้วนลงคะแนนให้คลินตันหรือทรัมป์ แล้วพันธกิจของพวกเขาคือการสนับสนุนตัวแทนที่คนในรัฐลงคะแนนให้

อีกคำถามหนึ่งของกูดแมนคือกรณีที่ทรัมป์อ้างว่าตัวเขาเองก็อาจจะชนะคะแนนเสียงจากประชาชนข้างมากได้แต่ที่คลินตันได้คะแนนมากว่าเป็นเพราะมีคนไปลงคะแนนอย่างผิดกฎหมาย แซนเดอร์ส มองเรื่องนี้อย่างไร

"เรื่องนี้คุณต้องแปลกใจแน่ๆ แต่โดยส่วนตัวแล้วผมไม่เชื่อสิ่งที่โดนัลด์ ทรัมป์ พูดเลยแม้แต่คำเดียว" แซนเดอร์สกล่าวในการให้สัมภาษณ์

แซนเดอร์สบอกให้ลองมองกลับไปในทุกคำกล่าวที่ดูไร้สาระและไม่มีมูลความจริงทุกอย่างที่ทรัมป์เคยพูดออกมา สำหรับแซนเดอร์สแล้วทรัมป์คือคนขี้โกหกชนิดป่วยไข้ แต่ที่อันตรายคืออาจจะถึงจุดหนึ่งที่ทรัมป์ไม่รู้ตัวว่าตัวเองโกหกอีกต่อไปแล้ว ทรัมป์อาจจะอ้างในสิ่งที่ตัวเองเห็นหรือเชื่อจริงๆ แต่มันก็มีแต่เขาคนเดียวที่เชื่อแบบนั้น อันตรายของมันไม่ใช่ว่ามันเป็นเรื่องเท็จ อันตรายของมันคือถ้าหากเรามีประธานาธิบดีที่เชื่อว่ามีคนลงคะแนนอย่างผิดกฎหมายล้านคนอาจจะส่งผลให้พวกรีพับลิกันปิดกั้นการเข้าถึงการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ทำให้คนเข้าถึงการเลือกตั้งได้ยากขึ้นไม่ว่าจะเป็นผู้อพยพหรือคนชายขอบหรือไม่ ทำให้พวกเขาต้องต่อสู้กับข้ออ้างนี้ของทรัมป์อย่างเต็มที่

เรียบเรียงจาก

Bernie Sanders on the Life and Legacy of Late Cuban Revolutionary Fidel Castro, Democracy Now!, 29-11-2016 https://www.democracynow.org/2016/11/29/bernie_sanders_on_the_life_and

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท