รายงาน: ความรู้-ไม่รู้ ‘ผู้ชายข้ามเพศ’ “ในประเทศที่ไม่ฆ่าเราก็ดีเท่าไหร่แล้ว”

ทำความเข้าใจ ‘ผู้ชายข้ามเพศ’ หรือ Transman ปัจจุบันยังขาดความรู้ด้านสุขภาวะ ต้องหาจากอินเตอร์เน็ต ตกเป็นเหยื่อการโฆษณา แพทย์ย้ำต้องระมัดระวัง ควรพบแพทย์หากเจ็บป่วย ก่อนเข้าระยะลุกลาม กลุ่มผู้ชายข้ามเพศเร่งสร้างองค์ความรู้ แนะรัฐรับฟัง เรียกร้องแพทยสภา-กระทรวงสาธารณสุขอย่านิ่งดูดาย บูรณาการทั้งด้านการแพทย์และกฎหมาย

ภาพจาก pride-institute.com

สามสี่ปีก่อน กฤตธีพัฒน์ โชติฐานิตสกุล เปิดตัวออกสู่สังคมว่าเขาคือผู้ชายข้ามเพศ หรือผู้หญิงที่ทำการปรับเปลี่ยนเนื้อตัวร่างกายจนข้ามเพศเป็นผู้ชาย ทำให้สังคมไทยเริ่มรู้จักกลุ่มคนหลากหลายทางเพศอีกกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า ผู้ชายข้ามเพศ หรือ Transman มากขึ้น ปัจจุบันกฤตธีพัฒน์ดำรงตำแหน่งประธานเครือข่ายผู้ชายข้ามเพศแห่งประเทศไทย

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่จะต้องกำหนดนิยาม จัดหมวดหมู่ เพื่อให้กระบวนการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นทำได้สะดวก ไม่มีข้อยกเว้นแม้แต่กับความหลากหลายทางเพศ ความรู้เกี่ยวกับผู้ชายข้ามเพศดีกว่าเมื่อสามสี่ปีก่อนแน่นอน แต่ก็ยังน้อยกว่าเพศชาย-หญิง กะเทย ทอม หรือผู้หญิงข้ามเพศ

แค่นิยามว่า ผู้ชายข้ามเพศ คืออะไร ก็มีความแตกต่างกันไปตามมุมของผู้นิยามแล้ว

Transman คือใคร?

นพ.อติวุทธ กมุทมาศ หัวหน้าหน่วยเพศวิทยาคลินิกและเวชศาสตร์ทางเพศ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายว่า Transgender เป็นคำใหญ่ แปลเป็นไทยว่าคนข้ามเพศ เช่น เกิดเป็นหญิงแต่อยากแต่งตัวเป็นผู้ชาย เพียงเท่านี้ก็ถือเป็นทรานเจนเดอร์แล้ว ซึ่งรวมทอมหรือกะเทยด้วย

“แต่ถ้าเป็น Transman หมายถึงคนที่เป็น Transsexual เท่านั้น คือขั้นที่ไม่ใช่แค่ต้องการแต่งตัวหรือดำรงตนข้ามเพศ แต่ต้องการให้ตนเองทั้งหมดเป็นเพศชายด้วย ต้องมีการผ่าตัด ตัดหน้าอก ตัดมดลูก สร้างอวัยวะเพศชายขึ้น อาจจะรังเกียจอวัยวะเพศเดิมของตน การปัสสาวะก็อาจต้องการยืน ไม่นั่ง เพราะเขาคิดว่าตนเองเป็นผู้ชาย”

นั่นเป็นความหมายในเชิงการแพทย์ที่ต้องสร้างความชัดเจน ทว่า ในมิติเชิงมนุษย์แล้ว คำนิยามข้างต้นก็อาจไม่ตรงกับที่ Transman เข้าใจ

Transman บางคนที่เราได้พูดคุยด้วย บอกว่า ไม่ได้นิยามความเป็น Transman จากรูปลักษณ์ภายนอก ไม่จำเป็นว่าต้องผ่าตัดเปลี่ยนแปลงตัวเองหรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าคนคนนั้นนิยามอัตลักษณ์ตนเองว่าเป็นผู้ชายหรือไม่ หากบุคคลหนึ่งนิยาม ระบุอัตลักษณ์ หรือรับรู้ตนเองว่าเป็น ผู้ชาย ก็ถือว่าเป็น Transman แล้ว แม้ว่าคนอื่นจะเรียกพวกเขาว่าทอม

ความรู้ที่ยังสับสน

ถ้าคุณเป็นเพศชายหรือเพศหญิง คุณป่วย คุณมีปัญหาเพศ ไม่ยากที่จะเข้าหา-เข้าถึงความรู้ต่างๆ เพื่อเยียวยาความเจ็บป่วยหรือไม่สะดวกสบาย ไม่มีความสุข จากปัญหาสุขภาพหรือปัญหาทางเพศ ถ้าเป็นเพศอื่นๆ ปริมาณและความน่าเชื่อถือของความรู้ด้านนี้ก็จะลดหลั่นกันลงมา Transman น่าจะอยู่ในกลุ่มท้ายของสังคมไทยเรื่องปริมาณองค์ความรู้ในการดูแลตัวเอง

แหล่งข่าว Transman คนหนึ่ง เล่าว่า ปัจจุบัน องค์ความรู้ด้านสุขภาพและสุขภาวะทางเพศของ Transman เข้าถึงได้ง่ายกว่าเมื่อก่อน แต่ก็ยังไม่มีองค์ความรู้กลางจริงๆ ที่จัดทำโดยผู้ที่มีความรู้ ความรู้จำนวนหนึ่งก็เป็นการเล่าปากต่อปากภายในกลุ่ม จากประสบการณ์เขา เมื่อพบว่ามีอาการบางอย่างที่คาดว่าเป็นผลข้างเคียงจากการรับฮอร์โมน แต่แพทย์ก็ไม่สามารถระบุสาเหตุได้ สุดท้าย เขาจึงต้องพึ่งหนังสือคู่มือจากต่างประเทศ ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพของผู้ชายข้ามเพศขณะนี้ยังไม่เพียงพอ

นพ.อติวุทธ ยอมรับว่า ปัจจุบัน แพทย์เฉพาะทางด้านนี้ในเมืองไทยยังมีไม่ถึง 10 คน

ปัญหาที่ตามมาคือความสับสนในกลุ่มผู้ชายข้ามเพศ เมื่อผู้ชายข้ามเพศมีจำนวนมากขึ้น ความต้องการด้านสินค้าและบริการก็สูงตาม การค้าการขายก็เข้ามา

“อย่างแพทย์ที่เคยทำงานโรงพยาบาลรัฐ บางคนออกมาเปิดคลินิกเสริม ให้บริการผู้ชายข้ามเพศ พอเป็นการค้ามากขึ้นก็มีการจ้างพรีเซ็นเตอร์ที่เป็นผู้ชายข้ามเพศที่มีกลุ่มแฟนคลับ เกิดการรีวิวสินค้า ข้อดีคือหลายคนศึกษาจากรีวิว ข้อเสียคือด้วยความที่เป็นการค้า บางรีวิวได้ค่าคอมมิชชั่น ก็เกิดกระแสว่าคลินิกนี้ดีที่สุด เกิดการดิสเครดิตกัน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือทุกคนเชื่อรีวิว แห่กันไป เห็นคนนี้ทำแผลผ่าตัดออกมาสวย ทั้งที่อาจไม่เหมาะกับตัวเอง ผมคิดว่าควรจะมีความรู้กลางที่ให้แต่ละคนศึกษาแล้วเลือกเอาเองว่า แพทย์คนไหนเหมาะกับเขา"

“มีบ้างที่ผู้ชายข้ามเพศไปบางคนไปดื่มกับผู้ชาย แล้วถูกล่วงละเมิดทางเพศ ปัญหาที่ตามมาคือเขาไม่รู้ว่าเขาจะกินยาคุมได้หรือไม่ จะเกิดปัญหากับฮอร์โมนที่เขารับอยู่หรือเปล่า ตรงนี้ผมก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าจะจัดการกับตัวเองได้หรือไม่ หรืออย่างเช่นทรานส์เมนบริจาคเลือดได้หรือเปล่า ผมไปสภากาชาด ผมบอกว่าเทคยาอะไรอยู่ หมอไม่อนุญาตให้บริจาคเลือดเนื่องจากมันเป็นสารสเตียรอยด์ แต่พอไปอีกโรงพยาบาลหนึ่ง หมอบอกว่าบริจาคได้ เพราะต้องมีการกรอง ซึ่งสุดท้ายก็ไม่รู้ว่าได้หรือไม่ได้ ข้อมูลดิ้นไปดิ้นมา” แหล่งข่าวกล่าว

“เราอยู่ในประเทศที่ไม่ฆ่าเราก็ดีเท่าไหร่แล้ว”

สอบถามกฤตธีพัฒน์ประเด็นนี้ เขาบอกว่า ถ้าคะแนนเต็ม 100 คงได้ไม่ถึง 10 คะแนน

“ทุกวันนี้ยังมี Transman ที่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ถ้าเขาไม่ได้ผ่าตัดแปลงเพศหรือผ่าตัดเอาระบบสืบพันธุ์ของเพศหญิงออก เขาไม่รู้เลยว่ายังต้องไปตรวจภายใน ยังมีความเสี่ยงอยู่ ยังไม่มีหน่วยงานแพทย์มาให้ความรู้ ซึ่งเราก็เข้าใจว่าหน่วยงานแพทย์อาจไม่ได้ค้นคว้าเรื่องนี้”

“ผมคิดว่าประเทศเรามีความรุนแรงเยอะ เพียงแต่ไม่ได้แสดงออกชัดเจน เราไม่เห็นการฆ่ากันบ่อยเท่าเมืองนอก แต่จะพูดว่าไม่มีเลยก็ไม่ได้ การที่หลายคนบอกว่าเราอยู่ในประเทศที่ไม่ฆ่าเราก็ดีเท่าไหร่แล้ว จะเรียกร้องสิทธิอะไรเยอะ"

องค์ความรู้ยังเกี่ยวเนื่องกับหลักการปฏิบัติต่อบุคคลหลากหลายทางเพศด้วย เพราะบางเรื่องก็ละเอียดอ่อนและเปราะบางในความรู้สึก เช่น การบริการในสถานพยาบาล กฤตธีพัฒน์ เล่าว่า

“อย่างเวลาไปโรงพยาบาล การเรียกชื่อ เขาเห็นอยู่แล้วว่าบัตรเราอาจจะเขียนว่านางสาว ซึ่งถ้าเป็นผู้ให้บริการที่ไม่เคยรับมือกับเรื่องแบบนี้ เขาก็จะประกาศออกมาดังๆ เราก็จะเกิดความกระอักกระอ่วน ซึ่งจะมีเพียงไม่กี่ที่ที่มีการอบรมหมอและพยาบาลเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ"

“แต่ทุกครั้งที่เราพยายามจะพูดเรื่องทำนองนี้ออกไป เขาก็มักจะมองว่าไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายที่ต้องพูดอะไรเยอะ ไม่ค่อยเห็นความสำคัญ ทั้งโรงพยาบาลด้วย หรือเวลาไปสอนนักศึกษา เขาก็ไม่เข้าใจว่าจะให้เขามาเรียนเรื่องเพศสภาพทำไม อาจจะเป็นเพราะอย่างที่หลายคนมองว่า เราอยู่ในประเทศไทยที่ไม่ได้มีความรุนแรงต่อคนหลากหลายทางเพศเท่าเมืองนอก เขาก็เลยรู้สึกว่าไม่น่าสนใจ"

“ผมคิดว่าประเทศเรามีความรุนแรงเยอะ เพียงแต่ไม่ได้แสดงออกชัดเจน เราไม่เห็นการฆ่ากันบ่อยเท่าเมืองนอก แต่จะพูดว่าไม่มีเลยก็ไม่ได้ การที่หลายคนบอกว่าเราอยู่ในประเทศที่ไม่ฆ่าเราก็ดีเท่าไหร่แล้ว จะเรียกร้องสิทธิอะไรเยอะ เขายังมองไม่เห็นว่าสิ่งที่เราเรียกร้องเป็นสิทธิที่เท่าเทียม บางทีพอเราพูดว่าเราขาดอะไรบ้าง เขาก็มองว่าเราต้องการสิทธิพิเศษ แต่ชาย-หญิงต่างหากที่ได้สิทธิเหล่านั้น เช่น เวลาอยู่หน้าห้องน้ำไม่ต้องเก้ๆ กังๆ ว่าจะเข้าห้องไหนดี คือสิ่งเหล่านี้เขาได้จนเป็นความเคยชิน จนลืมคิดว่ามีคนอื่นที่ยังไม่ได้อยู่จริง”

ขาดแคลนแพทย์เฉพาะด้าน

นพ.อติวุทธ กล่าวว่า ในแง่นหนึ่งปัญหาด้านสุขภาพของผู้ชายข้ามเพศถือว่าน้อยกว่าผู้หญิงข้ามเพศ เพราะว่าการรับฮอร์โมนของผู้ชายข้ามเพศต้องใช้วิธีฉีดเข้าร่างกาย ทำให้อย่างน้อยต้องมาพบแพทย์ ต่างจากผู้หญิงข้ามเพศที่มักทานฮอร์โมนเอง แต่ไม่ใช่ว่าผู้ชายข้ามเพศปลอดจากปัญหา เพราะถ้าไม่ใช่แพทย์เฉพาะทางก็อาจทำให้ได้รับฮอร์โมนไม่ถูกต้อง เช่น อาจได้รับมากไปหรือน้อยไป เนื่องจากการฉีดฮอร์โมนต้องมีการตรวจค่าฮอร์โมนในเลือดเป็นระยะๆ

นพ.อติวุทธ ยอมรับว่า

“ปัจจุบันขาดแคลนแพทย์เฉพาะทางด้านนี้ มีแพทย์จำนวนน้อยที่จะดูแลคนข้ามเพศ หรือป่วยมาถ้าไม่ใช่โรคทั่วไป แต่เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับภาวะข้ามเพศโดยตรง หมอก็จะไม่สามารถรักษาได้”

นพ.อติวุทธขยายความว่า โรคที่เกี่ยวกับภาวะข้ามเพศ เช่น โรคที่เกี่ยวกับการใช้ฮอร์โมนข้ามเพศ โรคที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะที่ยังหลงเหลืออยู่ ทรานส์เมนบางคนอาจยังไม่ได้ผ่าตัดแปลงเพศ แค่ผ่าตัดเต้านม แต่ยังมีมดลูกอยู่ เนื่องจากการผ่าตัดมดลูกยังมีราคาค่อนข้างสูง ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหา เช่น เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวขึ้นจากฮอร์โมนที่ได้รับ

“คนข้ามเพศก็อาจจะไม่รู้ว่าควรไปหาหมอที่ไหนดี บวกกับไม่กล้าด้วย กลัวว่าหมอจะดูถูก รังเกียจ หรือไม่รู้ ทำให้บุคคลข้ามเพศมีโอกาสเจอหมอค่อนข้างช้า ทำให้มาพบหมอในระยะท้ายๆ ของโรคแล้ว”

นพ.อติวุทธ ยังเตือนด้วยว่า ต้องระมัดระวังข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต อย่าเชื่อโดยไม่ตรวจสอบ ทางที่ดีควรปรึกษาแพทย์จะดีที่สุด

เร่งสร้างองค์ความรู้ บูรณาการกับด้านกฎหมาย

อาจจะเหมือนที่กฤตธีพัฒน์พูด สำหรับชาย-หญิง คงรู้สึกว่า เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องหยุมหยิม เรียกร้องอะไรนักหนา แต่นั่นก็เพราะชาย-หญิงเคยชินกับสภาพแวดล้อมภายใต้กรอบ 2 เพศที่ทุกอย่างถูกจัดเอาไว้แล้วต่างหาก ทำให้ไม่รู้สึกถึงรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ ในชีวิตของผู้ที่มีความแตกต่างจากตน ไม่ว่าจะเป็นคนหลากหลายทางเพศ (หรือคนพิการ)

ขณะนี้กลุ่มผู้ชายข้ามเพศและคนทำงานด้านความหลากหลายทางเพศกำลังผลักดันองค์ความรู้เกี่ยวกับผู้ชายข้ามเพศออกมา อย่างน้อยก็เป็นคู่มือเบื้องต้น ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ภาครัฐจะต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย แหล่งข่าวกล่าวว่า ภาครัฐควรร่วมมือกับมูลนิธิหรือองค์กรด้านความหลากหลายทางเพศ เนื่องจากบางครั้งการผลิตคู่มือของภาครัฐอาจอิงกับคู่มือของประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไปหรือยังมีองค์ความรู้ด้านการแพทย์ที่ไปอิงกับของผู้หญิงข้ามเพศมากกว่า เพราะองค์ความรู้ของผู้หญิงข้ามเพศจะเป็นที่รู้จักมากกว่า

ขณะที่กฤตธีพัฒน์กล่าวว่า เห็นความพยายามของภาครัฐ แต่ก็มุ่งไปที่ด้านสิทธิมากกว่าองค์ความรู้ด้านสุขภาวะของผู้ชายข้ามเพศ เขายังเรียกร้องให้ทางแพทยสภาและกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มบทบาทของตนในด้านนี้ให้มากขึ้น 

“เรื่องเกี่ยวกับการแพทย์ควรมาพร้อมกันกับด้านกฎหมาย ในต่างประเทศเขาพัฒนาควบคู่กันไปเลย ทางกฎหมายค่อนข้างจะฟังแพทย์ เช่น ถ้าจิตแพทย์เซ็นต์มาให้ว่าคุณเป็น Gender Dysphoria (ภาวะความไม่พอใจในเพศของตนเอง) คุณสามารถเอาใบนั้นไปจัดการด้านกฎหมายได้ เช่น เปลี่ยนคำนำหน้านาม เป็นต้น ดังนั้น เรื่องนี้จึงควรบูรณาการไปพร้อมๆ กัน”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท