Skip to main content
sharethis

29 พ.ย. 59 ครบรอบ 17 ปี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทาน “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” สู่ความสุขอย่างยั่งยืนของคนไทย พร้อมการขับเคลื่อนเข้าสู่แผนพัฒนาฯ ฉ.9-11

เมื่อวันที่ 29 พ.ย. ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ รายงานว่า ดร.ปรเมธี  วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า วันที่ 29 พ.ย. 2559 นี้ นับเป็นวันครบรอบ 17 ปี ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดชได้พระราชทานนิยามความหมาย “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” แก่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อเผยแพร่แก่ปวงชนชาวไทยทุกระดับ ทุกสาขาอาชีพน้อมนำไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตและพัฒนาประเทศ โดย สศช. ได้เผยแพร่และขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่ทุกภาคส่วนของสังคม ซึ่งมีความก้าวหน้าเป็นลำดับ

พระราชทานนิยามความหมาย “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

ด้วยพระปรีชาสามารถและพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกล พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานพระราชดำรัสชี้แนะปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางการดำเนินชีวิตและวิถีปฏิบัติ แก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า 40 ปี และได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการพัฒนาที่ตั้งอยู่บนฐานของ ทางสายกลางและความไม่ประมาท โดยคำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ตลอดจนใช้คุณธรรม ความรู้ และดำเนินชีวิตด้วยความเพียร เพื่อป้องกันให้รอดพ้นจากวิกฤต และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ

สศช. ในฐานะหน่วยงานหลักในการวางแผนของประเทศ ตระหนักถึงความสำคัญของแนวคิดดังกล่าว จึงได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากสาขาต่างๆ มาร่วมกันพิจารณากลั่นกรองพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสของที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจพอเพียง สรุปเป็นนิยามความหมาย “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” และนำความกราบบังคมทูลฯ ขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย ซึ่งพระองค์ได้ทรงพระกรุณาปรับปรุงแก้ไข และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ สศช. นำไปเผยแพร่ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของทุกฝ่ายและประชาชนทั่วไป เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2542 ซึ่งจะครบ 17 ปี ในวันที่ 29 พ.ย. 2559

ทั้งนี้ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่พระราชทานให้ความสำคัญกับ “การพัฒนาคน” ในการดำเนินวิถีชีวิตอย่างมั่นคงบนพื้นฐานของการพึ่งตนเอง ความพอมีพอกิน การรู้จักพอประมาณ การคำนึงถึงความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ไม่ประมาท ตระหนักถึงความถูกต้องในหลักวิชา มีคุณธรรมเป็นกรอบในการดำเนินชีวิต โดยมีแนวคิดในการทำงานคือ “เข้าใจ เข้าถึง และร่วมพัฒนา” อย่างสอดคล้องกับ “ภูมิสังคม” ที่หลากหลายของระบบภูมินิเวศ เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ประเพณี เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน โดยประชาชนมีส่วนร่วมตัดสินใจ เป็นการมุ่งสู่ “การพึ่งตนเอง” ดำเนินการด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง “ทำตามลำดับขั้นตอน” มีการทดลองด้วยความเพียรจนมั่นใจ จึงนำไปใช้ประโยชน์ และเผยแพร่สู่สาธารณะ 

การขับเคลื่อน

สศช. ยังรายงานถึงการขับเคลื่อน “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ด้วยว่า ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ สศช. นำ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”  ไปเผยแพร่ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของทุกฝ่ายและประชาชนทั่วไป สศช. ได้อัญเชิญ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นปรัชญานำทางในการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545-2549) จนถึงฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) เพื่อนำสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งได้เสริมสร้างความเข้าใจไปยังภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจ เห็นคุณค่า และน้อมนำไปประยุกต์ใช้ในวิถีชีวิตอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง   

ต่อมาปลายปี 2546 สศช. ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงขึ้น โดยมี ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ตำแหน่งในขณะนั้น) เป็นประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้เป็นกลไกหลักในการประสานเครือข่ายทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติให้นำเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ครอบคลุม 8 ภาคส่วน ได้แก่ ผู้นำทางความคิด นักวิชาการในระดับอุดมศึกษา สถาบันการศึกษา สถาบันการเมือง องค์กรภาครัฐ สื่อมวลชนและประชาชน ภาคธุรกิจ และชุมชนและประชาสังคม มีการเผยแพร่ตัวอย่างการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของทุกภาคส่วนอย่างหลากหลาย
 
จากนั้นการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554) ได้มุ่งขยายเครือข่าย สร้างคน และสื่อสารแบบผสมผสานสู่สาธารณชน โดยให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างองค์ความรู้ ความเข้าใจ สร้างเครือข่ายเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การปฏิบัติกับหน่วยงาน องค์กร ภาคีต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ประชาสังคม ชุมชน จนถึงระดับครัวเรือน ผ่านกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาฯ แผนชุมชน รวมถึงการศึกษาแนวทางการพัฒนาชุมชนพอเพียงจากกรณีศึกษา 40 หมู่บ้าน เพื่อรวบรวมฐานข้อมูลและการวิเคราะห์ผลเพื่อจัดทำคุณลักษณะชุมชนในอุดมคติของไทย ที่มีลักษณะการพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง 8 ประการ ได้แก่ มีความมั่นคงทางอาหาร
 
มีระบบการผลิตที่เหมาะสมกับภูมิสังคม มีครอบครัวที่อบอุ่นในชุมชนเข้มแข็ง มีสภาพเศรษฐกิจสังคมที่มั่นคง มีความพร้อมของปัจจัยพื้นฐาน มีระบบกลุ่มและองค์กรสวัสดิการ มีกระบวนการเรียนรู้และภูมิปัญญา และมีการจัดสรรใช้ประโยชน์ทรัพยากรชุมชนอย่างยั่งยืน โดยได้มีการสร้างเครือข่ายในการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การปฏิบัติ

นอกจากนี้ สศช. ได้จัดตั้งมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาประเทศตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (มพพ.) ขึ้น เพื่อเป็นกลไกหลักในการพัฒนาและต่อยอดองค์ความรู้ให้เป็นบรรทัดฐานที่พัฒนาไปสู่มาตรฐานการปฏิบัติของทุกระดับ ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายในทุกภาคส่วนและระหว่างภาคส่วนต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศในการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การติดตามความก้าวหน้าและแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์การประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงระหว่างชุมชน องค์กร สถาบัน ในภาคส่วนและระหว่างภาคส่วนต่างๆ ตลอดทั้งการเผยแพร่สู่สาธารณะ

ต่อมาในช่วงของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559) สศช. มุ่งขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ ให้กว้างขวางมากขึ้น ครอบคลุมทั้งมิติเชิงพื้นที่และกลุ่มภาคส่วนต่างๆโดยเน้นการพัฒนาความร่วมมือกับภาคีการพัฒนาในการขับเคลื่อนฯ โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีบทบาทนำในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเสริมสร้างสังคม โดยยึดหลักบรรษัทภิบาล เชื่อมโยงเป้าหมายทางธุรกิจกับการพัฒนาประเทศ ควบคู่กับการตระหนักถึงความรับผิดชอบและความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค ชุมชน และสังคมโดยรวม โดยปรับแนวคิดภาคเอกชนให้สามารถทำงานร่วมกับชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน และสถาบันการศึกษาได้อย่างเป็นพันธมิตร และสร้างเครือข่ายความรับผิดชอบทางสังคมของกลุ่มธุรกิจต่างๆ นำไปสู่การทำกิจกรรมเพื่อสังคมร่วมกัน และองค์กรธุรกิจเอกชนที่มีความรับผิดชอบ
ต่อสังคมได้รับการยกย่องให้เป็นแบบอย่างที่ดีต่อสาธารณะ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net