Skip to main content
sharethis

ทนายความ 'สมชาย-พรเพ็ญ-อัญชน' ยื่นหนังสือขอให้พนักงานสอบสวนเรียกเอกสารเป็นพยานหลักฐานในคดีเพิ่มเติม เพื่อประโยชน์ในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ของผู้ต้องหาคดีหมิ่นประมาท กอ.รมน.

สมชาย หอมลออ ,พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ,อัญชนา หีมมิหน๊ะ  ตามลำดับ

23 พ.ย. 2559 รายงานข่าวจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมแจ้งว่า เมื่อวันที่ 22 พ.ย. ที่ผ่านมา อับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ ทนายความ จากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นทนายความผู้รับมอบอำนาจของ สมชาย หอมลออ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และอัญชนา หีมมิหน๊ะ ได้ยื่นหนังสือเรื่อง ขอให้เรียกเอกสารเป็นพยานหลักฐานในคดี โดยระบุเป็นเอกสารจากหน่วยงานราชการและเอกชนจำนวนทั้งสิ้น 23 รายการ เพื่อประโยชน์ในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ของผู้ต้องหา ตามหลักการที่กำหนดไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีพันธกรณีต้องปฏิบัติ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่พนักงานสอบสวนซึ่งมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะอำนวยความยุติธรรมให้กับทุกฝ่ายในคดี ต้องรวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิดเท่าที่จะทำได้เพื่อพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา โดยในวันที่ 27 พ.ย. 2559 มีกำหนดเวลาเข้าพบพนักงานสอบสวนและยื่นคำให้การเพิ่มเติมเวลา 11.00 น.

สืบเนื่องจากที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองปัตตานี ได้กำหนดให้ผู้ต้องหามาพบภายในเดือนพฤศจิกายน 2559 โดยทั้งนักสิทธิมนุษยชนทั้งสามคนได้รับทราบข้อกล่าวหาคดีที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า โดย พ.ท.เศรษฐสิทธิ์ แก้วคูณเมือง ร้องทุกข์ ให้ดำเนินคดีกับ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ในข้อหาความผิดฐานร่วมกันหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550

เนื่องจากเหตุแห่งคดีนี้เกี่ยวข้องกับ “รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี ในจังหวัดชายแดนใต้ ปี 2557 – 2558”  ซึ่งได้จัดทำขึ้นโดยวัตถุประสงค์เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลและให้ความช่วยเหลือเหยื่อจากการทรมาน หรือการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี เพื่อบรรเทาความเจ็บปวดเสียหายทั้งทางกายและจิตใจ  ฟื้นฟูและสนับสนุนให้ผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำดังกล่าวสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายเพื่อให้บุคคลเหล่านั้นสามารถเข้าถึงความยุติธรรมและการเยียวยาจากรัฐ และเพื่อเสนอแนะต่อเจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการทั้งทางนโยบาย กฎหมาย และการปฏิบัติเพื่อป้องกันและขจัดการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีการใช้บังคับกฎหมายพิเศษ ได้แก่ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน  สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้บางรายกล้าที่จะดำเนินคดีเพื่อให้เจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐรับผิดชอบ แต่ยังมีประชาชนอีกจำนวนไม่น้อยที่ถูกทรมานฯแต่ไม่กล้าร้องเรียนหรือดำเนินคดี  ปัญหาการทรมานฯเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ต้องหาซึ่งเป็นนักสิทธิมนุษยชนต้องทำงานขับเคลื่อนให้เกิดการตรวจสอบ ให้หน่วยงานรัฐปกป้อง คุ้มครองประชาชน รวมทั้งผลักดันเชิงนโยบายต่อภาครัฐ หากไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยา ก็ยากที่จะสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนใต้ได้

ดังนั้นทนายความของผู้ต้องหาทั้งสามจึงขอให้พนักงานสอบสวนได้อำนวยความยุติธรรมแก่ผู้ต้องหาทั้งสาม โดยมีหนังสือเรียกพยานเอกสารต่าง ๆ ที่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาเป็นพยานหลักฐานในคดี เพื่อประกอบการใช้ดุลพินิจของท่านและพนักงานอัยการในการสั่งคดีให้เป็นไปโดยรอบคอบรอบและเป็นธรรมทั้งสิ้น 23 รายการ  โดยเป็นเอกสารที่อยู่ในการครอบครองของศาลยุติธรรม ศาลปกครอง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  กระทรวงยุติธรรม  สำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ เป็นต้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net