สหภาพแรงงาน ปตท. ชี้แยกธุรกิจค้าปลีกน้ำมันเป็นการแปรรูปรอบ 2

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ระบุพนักงานมีความกังวัลใจในการแยกธุรกิจค้าปลีกน้ำมันและกระจายหุ้น นับเป็นการแปรรูปรอบ 2 พนักงานในส่วนนี้มีประมาณ 1,500 คนจากพนักงานทั้งหมด 4,000 คน โดยสหภาพจะติดตามสิทธิประโยชน์ของพนักงานและการดำเนินการอื่น ๆ อย่างใกล้ชิด
 
 
อัปสร กฤษณะสมิต ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย) 
 
19 พ.ย. 2559 สำนักข่าวไทย รายงานว่าภายหลังจาก คณะกรรมการ บมจ.ปตท. มีมติเห็นชอบการปรับโครงสร้างธุรกิจ ปตท. โดยการโอนกิจการของหน่วยธุรกิจน้ำมัน รวมถึง สินทรัพย์และหนี้สิน ตลอดจนหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องให้แก่ บริษัท ปตท. ธุรกิจค้าปลีก จำกัด และการเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (PTT Oil and Retail Business Company Limited, “PTTOR”) และเตรียจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และให้ PTTOR เป็นบริษัทแกน (Flagship Company) ของกลุ่ม ปตท. ในการดำเนินธุรกิจน้ำมันและ ค้าปลีกนั้น
 
นางสาวอัปสร กฤษณะสมิต ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ สร.ปตท. กล่าวว่า พนักงาน รู้สึกกังวล เกี่ยวกับการแยกธุรกิจ เพราะเป็นธุรกิจหลักตั้งแต่เริ่มตั้งปตท. และเปรียบเสมือนการแปรรูป รอบที่ 2  พนักงานในส่วนนี้ มีประมาณ 1,500 คนจากพนักงานทั้งหมด 4,000 คน ทาง สร.ปตท.เริ่มทราบเรื่องนี้มาราว 3 เดือน ก่อนและเริ่มพูดคุยกับผู้บริหาร โดยนอกจากห่วงพนักงานจะได้รับผลกระทบแล้ว ยังเป็นห่วงว่าจะตอบสังคมได้อย่างไร  ว่า ปตท.ไม่ได้เอาสมบัติชาติ ตาม พรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจ 2542 มาให้เป็นเอกชนที่แปรรูปออกไป
 
อย่างไร ก็ตาม วานนี้ (18 พ.ย.) ผู้บริหาร ปตท.ชี้แจงแก่พนักงานว่า ไม่ได้โอนทรัพย์สินจากสิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับรัฐ หรือ อำนาจรัฐ ไปด้วย เช่น การซื้อขายน้ำมันกับหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ  ปตท.ยังคงทำหน้าที่สร้างความั่นคงทางด้านพลังงาน เพียงแต่นำทรัพย์สินที่เกิดขึ้นหลังการแปรรูป ปตท. และกิจการเพื่ออนาคตไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อนำเงินไปเพื่อสร้างความสามารถการแข่งขันทั้งในและต่างประเทศ ทำให้เกิดความคล่องตัวภายใต้  พีทีทีโออาร์ ซึ่งเมื่อบริษัทใหม่คล่องตัวทำรายได้มากขึ้น ปตท.และผู้ถือหุ้น โดยเฉพาะรัฐบาลก็จะได้รายได้จากการปันผลเพิ่มขึ้นด้วย
 
 ในขณะที่ พนักงานจะได้รับสิทธิประโยชน์คงเดิม และเปิดทางเลือกให้พนักงาน สามารถเลือกได้ว่า จะยังคงเป็นพนักงาน ปตท.ต่อไป และไปทำงาน พีทีทีโออาร์ ในลักษณะ ยืมตัวไปช่วยปฏิบัติงาน หรือ secondment  หรือจะโอนไปเป็นพนักงานของพีทีทีโออาร์ โดยให้แรงจูงใจที่เหมาะสม เช่น การให้เงินเดือน เพิ่มขึ้น แต่ในขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน ว่าจะเป็นเท่าใด
 
“ ส่วนตัวคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี นับจากนี้ในการกระจายหุ้น หาก ครม.เห็นชอบ  โดย สร.ปตท.จะติดตามสิทธิประโยชน์ของพนักงาน และการดำเนินการอื่น ๆ อย่างใกล้ชิด เบื้องต้น ได้อีเมลหา สมาชิก เพื่อพร้อมเป็นตัวแทนในการเจรจากับผู้บริหาร โดยวานนี้ก็มีการยกตัวอย่างกันว่า หากพนักงานโอนไปแล้วก็ควรได้เงินเดือนเพิ่ม เหมือนช่วงการโอนไปเป็น พนักงาน ปตท.สผ. เช่นเพิ่มเงินเดือนร้อยละ 15 สวัสดิการค่ารักษาพยาบาลไม่น้อยกว่าเดิมเป็นต้น โดยขณะนี้ผู้บริหารก็ยังไม่ตอบชัดเจน”นางสาวอัปสร กล่าว
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท