7 นักวิชาการลาออก บอร์ดแก้ปัญหาเขื่อนปากมูล

7 นักวิชาการลาออกจากคณะกรรมการอำนวยการเพื่อการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ระบุ มีการสั่งปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลโดยไม่ได้ยึดหลักเกณฑ์ที่วางไว้ และไม่มีการชี้แจง

17 พ.ย. 2559 วานนี้ นักวิชาการ 7 คนประกอบด้วย ประกอบ ประกอบ วิโรจนกูฏ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, สุนี ไชยรส อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ชวลิต วิทยานนท์ ผู้เชี่ยวชาญในคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (เอ็มอาร์ซี) และผู้เชี่ยวชาญเรื่องปลาน้ำจืดในประเทศไทย, อานันท์ หาญพาณิชย์พันธ์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาสังคม ม.รังสิต, ชโลทร แก่นสันติสุขมงคล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พรชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ผู้แทนเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อม ออกแถลงการณ์ เรื่องการลาออกจากคณะกรรมการอำนวยการเพื่อการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล

โดยแถลงการณ์ระบุว่า สืบเนื่องจากกรณีคณะอนุกรรมการบริหารจัดการเขื่อนปากมูล ซึ่งเป็นกลไกระดับจังหวัด ได้มีมติให้ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2559 และต่อมาการไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้ปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูลเมื่อวันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยการดำเนินการดังกล่าว ไม่ได้ยึดหลักเกณฑ์ตามมติของคณะกรรมการอำนวยการฯ เพียงแต่ให้เหตุผลเรื่องความเหมาะสม โดยทันทีที่ทราบเรื่อง กลุ่มนักวิชาการที่เป็นคณะกรรมการอำนวยการและมีรายชื่อด้านท้าย ได้พยายามทักท้วงและขอให้มีการเปิดประชุมวาระพิเศษ เพื่อพิจารณาปัญหาที่เกิดจากการดำเนินการดังกล่าว

แต่จนถึงปัจจุบัน ประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล ยังคงปิดบานประตู โดยที่กลุ่มนักวิชาการทั้งเจ็ด ยังไม่ได้รับคำชี้แจงเหตุผลความจำเป็นที่เร่งด่วนในการไม่ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ฯที่วางไว้และยังไม่มีการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว

"การปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล โดยไม่ได้ยึดหลักเกณฑ์ทางวิชาการ ตามมติที่ทุกฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน เป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นที่ยอมรับได้ คณะกรรมการตามรายชื่อด้านท้ายจึงไม่มีทางเลือกนอกจากการลาออกจากคณะกรรมการอำนวยการเพื่อการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป" แถลงการณ์ระบุ

สำหรับคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2558 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 131/2558 เรื่อง ‘แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล’ เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จึงแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล คณะกรรมการมีทั้งสิ้น 31 คน มีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ และรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ที่เลขาธิการนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นรองประธาน กรรมการประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ และนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง เช่น ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ปลัดกระทรวงพลังงาน

แถลงการณ์
การลาออกจากคณะกรรมการอำนวยการเพื่อการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล

กว่ายี่สิบปีของการก่อสร้างเขื่อนปากมูลและเปิดใช้งานในปี 2537 ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน เนื่องมาจากผลกระทบต่อวิถีชีวิต และระบบนิเวศวิทยาของชาวบ้านซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำมูลตอนล่าง ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบได้ชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องกระบวนการแก้ไขปัญหาที่มีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ในทุกรัฐบาลนับตั้งแต่ปี 2534

รัฐบาลทุกชุดได้แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล และมีมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหา แต่ก็ไม่อาจยุติความขัดแย้งต่างๆได้ ในทางตรงข้าม ปมปัญหาต่างๆ สลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้นตามระยะเวลาที่ผ่านไป

ตลอดระยะเวลากว่ายี่สิบปี มีงานวิชาการทั้งภายในประเทศและของต่างประเทศ ที่ทำการศึกษา วิจัย กรณีปัญหาเขื่อนปากมูล เพื่อสรุปข้อเท็จจริงและข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลจำนวนมาก ในปี 2553 รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล และต่อมาคณะกรรมการฯได้แต่งตั้ง คณะอนุกรรมการการศึกษาข้อมูลงานวิจัยและข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล เพื่อศึกษาเปรียบเทียบงานวิจัยต่างๆ และสรุปปัญหาพร้อมข้อเสนอแนะ โดยรัฐบาลได้แต่งตั้งนักวิชาการที่เป็นกลางและได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย และหวังว่า ข้อสรุปที่เป็นกลางจากนักวิชาการ จะช่วยทำให้ทุกฝ่ายยอมรับกระบวนการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล

อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปของคณะอนุกรรมการศึกษาข้อมูลงานวิจัยฯ ที่เสนอรัฐบาลในปี 2554 ไม่ได้ถูกนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหา ต่อมา เมื่อชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ เรียกร้องให้รัฐบาลในปี 2557 แก้ไขปัญหาตามข้อเสนอของอนุกรรมการศึกษาข้อมูลงานวิจัยฯในปี 2554 รัฐบาลฯจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลในปี 2558 มีองค์ประกอบเป็นนักวิชาการจากหลากหลายสาขา โดยมุ่งหวังให้คณะกรรมการฯที่มีองค์ประกอบที่สำคัญเป็นนักวิชาการ ใช้องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นกลางในการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลทั้งระยะสั้นและระยะยาว

คณะกรรมการฯได้ดำเนินการศึกษาข้อเท็จจริงต่างๆ และนำมาซึ่งข้อสรุปในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์การบริหารจัดการการเปิดปิดประตูน้ำในแต่ละปี และหากมีสถานการณ์เฉพาะหน้าที่จำเป็นต้องบริหารจัดการฯที่แตกต่างไปจากหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ก็ให้ขออนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการฯ
หลักเกณฑ์ดังกล่าว ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และใช้ในการบริหารจัดการเขื่อนปากมูลมาตั้งแต่ปี 2558 ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาว คณะกรรมการฯได้แต่งตั้งอนุกรรมการฯในการศึกษาผลกระทบต่างๆและการเยียวยา รวมทั้ง การศึกษาความเป็นไปได้ในทางวิศวกรรมที่จะสร้างคลองเทียมเพื่อให้ปลาขึ้นมาวางไข่ได้ โดยไม่ต้องเปิดประตูน้ำ ซึ่งกระบวนการดำเนินงานภายใต้คณะกรรมการฯ ที่ผ่านมานับได้ว่า เป็นกระบวนการที่ยืนอยู่บนฐานของการรับฟังความคิดเห็นที่รอบด้าน เพื่อนำไปสู่ตัดสินใจอย่างมีส่วนร่วม บนฐานของข้อมูล ข้อเท็จจริงทางวิชาการที่มีเหตุผล จนทำให้หลายภาคส่วนเริ่มมีความหวังว่า นี่อาจเป็นโอกาสที่จะปูทางไปสู่ความสำเร็จในการจัดการปัญหาความขัดแย้งที่ดำรงอยู่อย่างยืดเยื้อยาวนานในกรณีนี้ได้เสียที

อย่างไรก็ดี ในระหว่างที่กระบวนการแก้ไขปัญหาซึ่งกำลังดำเนินไปด้วยดี และได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย คณะอนุกรรมการบริหารจัดการเขื่อนปากมูล ซึ่งเป็นกลไกระดับจังหวัดได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการอำนวยการฯ ให้รับผิดชอบการดำเนินงานในพื้นที่ตามเกณฑ์ที่ได้มีการกำหนดไว้ ได้มีมติให้ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2559 และต่อมาการไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้ปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูลเมื่อวันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยการดำเนินการดังกล่าว ไม่ได้ยึดหลักเกณฑ์ตามมติของคณะกรรมการอำนวยการฯ เพียงแต่ให้เหตุผลเรื่องความเหมาะสม

ทันทีที่ทราบเรื่องดังกล่าว กลุ่มนักวิชาการที่เป็นคณะกรรมการอำนวยการและมีรายชื่อด้านท้าย ได้พยายามทักท้วงการดำเนินการดังกล่าว และขอให้ท่านประธานคณะกรรมการอำนวยการ เปิดประชุมวาระพิเศษ เพื่อพิจารณาปัญหาที่เกิดจากการดำเนินการของคณะอนุกรรมการฯ ดังกล่าว เนื่องจากหลักเกณฑ์ในการเปิดปิดประตูน้ำ เป็นหลักเกณฑ์ที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย และเป็นที่รับรู้กันในทางสาธารณะ การตัดสินใจไม่ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวของคณะอนุกรรมการฯ ระดับจังหวัด โดยไม่มีการชี้แจงเหตุผลที่รับฟังได้ ย่อมเป็นการทำลายบรรทัดฐานที่ดีที่ได้ร่วมกันสร้างขึ้นมา รวมทั้งเป็นการทำลายความไว้วางใจ และ ความน่าเชื่อถือของตัวคณะกรรมการอำนวยการฯ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาในอนาคตอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบัน ประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล ยังคงปิดบานประตู โดยที่กลุ่มนักวิชาการที่มีรายชื่อด้านท้าย ยังไม่ได้รับคำชี้แจงเหตุผลความจำเป็นที่เร่งด่วนในการไม่ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ฯของคณะกรรมการอำนวยการ นอกจากนั้นยังไม่มีการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว

กลุ่มนักวิชาการที่มีรายชื่อด้านท้าย ได้พิจารณาอย่างรอบด้านแล้ว เห็นว่า การปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล โดยไม่ได้ยึดหลักเกณฑ์ทางวิชาการ ตามมติที่ทุกฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน เป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นที่ยอมรับได้ คณะกรรมการตามรายชื่อด้านท้ายจึงไม่มีทางเลือกนอกจากการลาออกจากคณะกรรมการอำนวยการเพื่อการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ลงชื่อ
ศ.ประกอบ วิโรจนกูฎ
นางสุนี ไชยรส
นายเดชรัต สุขกำเนิด
นายชวลิต วิทยานนท์
นายอานันท์ หาญพาณิชย์พันธ์
นายชโลทร แก่นสันติสุขมงคล
นายพรชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท