Skip to main content
sharethis

บทความของมาร์เซล โรเซนเบิร์ก ผู้สื่อข่าวเดอสปีเกล สื่อเยอรมนี ระบุถึงเรื่องอิทธิพลของอินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะการเติบโตของโซเชียลเน็ตเวิร์กที่มีต่อการเมือง การเลือกตั้ง ทั้งจากตัวอย่างที่เคยมีมาและการเลือกตั้งระดับส่วนกลางในปีหน้าของเยอรมนีก็มีความเป็นไปได้ที่อิทธิพลจากการรณรงค์ทางอินเทอร์เน็ตเกิดขึ้นด้วย ทำให้ ส.ส.บางคนกังวลใจ

15 พ.ย. 2559 มาร์เซล โรเซนเบิร์ก นักข่าวของเดอสปีเกล สื่อเยอรมนี นำเสนอเรื่องเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตและการเมืองโดยระบุว่าแองเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีของเยอรมนีพูดถึงเรื่องอินเทอร์เน็ตบ่อยมากเมื่อไม่นานมานี้ และเมื่อวันที่ 8 พ.ย. ที่ผ่านมา นอกจากจะมีการอภิปรายถึงเรื่องโทรทัศน์และวงการสิ่งพิมพ์แล้วยังมีการหารือกับบริษัทอย่างเฟซบุ๊กและกูเกิลโดยเฉพาะเรื่องของ 'อัลกอริทึม' (Algorithms) หรือ 'ขั้นตอนวิธี' ที่เป็นระบบการทำให้ลำดับการค้นหาและข้อมูลต่างๆ ปรากฏในโซเชียลมีเดีย

แมร์เคิลมองว่าการที่คนนอกไม่รู้ว่าโซเชียลมีเดียเหล่านี้มีหลักการในการคัดกรองข้อมูลอย่างไรนั้นไม่เพียงเป็นปัญหาต่อพรรคการเมืองเท่านั้นแต่ยังเป็นปัญหาต่อสังคมโดยรวมด้วย สาเหตุที่เธอหันมาสนใจเรื่องนี้โรเซนเบิร์กมองว่าน่าจะเป็นเพราะเยอรมนีกำลังจะเริ่มหาเสียงเลือกตั้งระดับชาติและเข้าใจว่าโซเชียลมีเดียมีบทบาทสำคัญในการลงคะแนนของประชาชน

ผลกระทบในเรื่องข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตยังมีน้อยคนที่หันมามองเรื่องนี้ โรเซนเบิร์กระบุว่าโซเชียลมีเดียที่คนจำนวนมากเข้าถึงอย่างเฟซบุ๊กกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการปั้นแต่งและชักนำความคิดเห็นของผู้คน จากที่เฟซบุ๊กมีผู้ใช้งาน 1.8 ล้านคนทั่วโลก หรือกูเกิลก็เป็นเครื่องมือการค้นหาที่มีคนใช้มากกว่าร้อยละ 90 จึงถือว่ามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้คนเช่นกัน และดูเหมือนว่าสื่อไอทีเหล่านี้ก็รู้จุดขายของตัวเองดีจึงมีการเสนอตัวกับเหล่าผู้นำทางการเมืองให้มาเป็นลูกค้าพวกเขา เช่น เฟซบุ๊กเคยจัดประชุมเชิงปฏิบัติการพิเศษในเบอร์ลินสำหรับผู้สนใจการเมืองในเยอรมนีรวมถึงมีคู่มือการใช้โซเชียลมีเดียรณรงค์ทางการเมืองเป็นภาษาเยอรมันด้วย

ข้อมูลของคู่มือดังกล่าวเล่มล่าสุดเมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา มีการศึกษาวิจัยประเมินว่าผู้ใช้เฟซบุ๊กมีความสนใจประเด็นทางการเมืองใดบ้าง เช่น มีการสำรวจพบว่าประชากร 44,000 คนจากเยอรมนีที่อายุระหว่าง 25-50 ปี มีความสนใจเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ และขึ้นอยู่กับว่าลงงบโฆษณากับเฟซบุ๊กไปเท่าไหร่ เฟซบุ๊กจะนำเสนอพรรคการเมืองหรือนักการเมืองที่เกี่ยวข้องโดยมีการสำรวจจากการกดไลก์เพจ เพื่อนในเฟซบุ๊ก และผู้คนในช่วงวัยนั้นๆ หรือคุณสมบัติต่างๆ เช่นเป็นคนมีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกที่อาศัยอยู่ใกล้กับสำนักงานการเลือกตั้ง

โรเซนเบิร์กระบุว่าเฟซบุ๊กภูมิใจกับความสำเร็จของคู่มือตัวเองมากถึงขั้นโฆษณาตัวเองว่ามีส่วนในความสำเร็จของพรรคอนุรักษ์นิยมอังกฤษในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2558 จากการรณรงค์โดยอาศัยข้อมูล โดยบอกว่าพวกเขาทำให้การณรงค์เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้

ในเยอรมนีเองก็มีกลุ่มขวาจัดและกลุ่มตกขอบจำนวนมากที่ใช้เฟซบุ๊กเป็นตัวขับเคลื่อนดึงดูดการสนับสนุน เช่น การประท้วงต่อต้านคนต่างชาติของกลุ่มเพกิดา แต่เรื่องการสร้างอิทธิพลทางการเมืองด้วยการโฆษณาผ่านเฟซบุ๊กก็ยังไม่ใช่สิ่งที่แมร์เคิลมองว่าเป็นปัญหามากที่สุด แมร์เคิลและนักการเมืองหลายคนทั่วโลกมองว่าสิ่งที่เป็นปัญหาคืออิทธิพลแบบที่มองไม่เห็นอย่างอัลกอริทึ่มที่แมร์เคิลวิจารณ์ว่าทำให้คนอยู่กับความสนใจซ้ำเดิมของตัวเอง และบางคนก็กังวลว่าตัวโซเชียลมีเดียเองก็อาจจะกลายเป็นผู้เล่นลับๆ ทางการเมืองโดยไม่มีใครรู้เพราะมีการปิดวิธีการอัลกอริทึ่มไว้เป็นความลับทางธุรกิจและการปิดเป็นความลับนี้เองก็ทำให้ขาดการกำกับดูแล

เฟซบุ๊กรู้จักผู้ใช้บางส่วนของพวกเขาดีมากแม้กระทั่งรสนิยมทางการเมืองโดยพิจารณาจากการกดไลก์และข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ อย่างเพื่อน อายุ หรือที่อยู่อาศัย เช่นประเมินว่าผู้ที่กดไลก์แฟนเพจของแองเกลา แมร์เคิล จากพรรคคริสเตียนเดโมเครติกยูเนียนจะมีโอกาสน้อยที่จะโหวตให้พรรคฝ่ายซ้าย และในสหรัฐฯ เฟซบุ๊กก็เปิดเผยอย่างชัดเจนว่าพวกเขาแบ่งรสนิยมทางการเมืองคนออกเป็นสามประเภทคือ "เสรีนิยม" "สายกลาง" และ "อนุรักษ์นิยม"

มีนักวิทยาศาสตร์บางคนกังวลว่าเฟซบุ๊กอาจจะชักนำการเลือกตั้งได้โดยการจงใจขับเคลื่อนแค่คนเพียงบางกลุ่ม เช่น กังวลว่าเฟซบุ๊กจะส่งการเตือนความจำว่าจะมีการเลือกตั้งหรือประชามติแต่เป็นไปได้หรือไม่ว่าเฟซบุ๊กจะสามารถเลือกส่งให้คนเพียงบางกลุ่มโดยอาศัยข้อมูลส่วนตัวหรือแค่บางกลุ่มทางการเมืองเท่านั้น ในการเลือกตั้งสหรัฐฯ ปี 2553 มีการส่งคำเตือนความจำไปให้ผู้ใช้เฟซบุ๊ก 61 ล้านคน มีการศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนียเปิดเผยว่าเฟซบุ๊กทำให้ผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งมากขึ้น 340,000 ราย ซึ่งมีผลกับการเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ในกรณีที่มีการแข่งขันสูสีกัน ทำให้นักวิจัยอินเทอร์เน็ต เคท ครอวฟอร์ด มองว่าเมื่อเฟซบุ๊กมีอำนาจเช่นนี้แล้วก็ชวนให้ตั้งคำถามในเชิงจรรยาบรรณ

ในสหรัฐฯ ยังมีผลการวิจัยเมื่อไม่นานมานี้เกี่ยวกับพลังของอินเทอร์เน็ตอย่างกูเกิล โดยระบุว่าอัลกอริทึ่มการค้นหาข้อมูลของกูเกิลมีส่วนทำให้ผู้ไปลงคะแนนที่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกใครร้อยละ 20 เปลี่ยนแปลงการตัดสินใจของตัวเองได้ โดยที่นักวิทยาศาสตร์เรียกปรากฏการณ์เช่นนี้ว่า "ผลกระทบจากการชักจูงของเครื่องมือค้นหา" โดยที่ทั้งกูเกิลและเฟซบุ๊กต่างก็ยืนยันว่าพวกเขายังคงความเป็นกลางและไม่ได้มีวาระทางการเมืองใดๆ

เชอร์ริล แซนด์เบิร์ก หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของเฟซบุ๊กแถลงเมื่อปี 2557 ว่าพวกเขาไม่เคยพยายามควบคุมการเลือกตั้ง และกูเกิลก็เคยแถลงไว้แบบเดียวกัน แต่บทความของโรเซนเบิร์กก็ระบุว่าแม้ว่าพวกเขาอาจจะไม่ได้จงใจทำแต่การส่งอิทธิพลในแบบที่ไม่ได้ตั้งใจหรืออาจจะถึงขั้นไม่สามารถควบคุมได้ก็เป็นการปล่อยปละละเลยสำหรับบรรษัทยักษ์ใหญ่ที่ให้สัญญาเรื่องความเป็นกลาง และเรื่องความเป็นกลางของพวกเขาก็เพิ่งจะถูกตั้งคำถามจากฝ่ายของโดนัลด์ ทรัมป์ ในช่วงก่อนการเลือกตั้งของสหรัฐฯ

ในด้านอื่นๆ เช่น ประเด็นสิทธิมนุษยชนก็เคยมีองค์กรด้านสิทธิพลเมืองมากกว่า 70 กลุ่ม ร้องทุกข์ว่าเฟซบุ๊กลบโพสต์ที่เกี่ยวข้องกับการบันทึกการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยคนที่ทำงานเกี่ยวกับการจัดการอัลกอริทึ่มของเฟซบุ๊กจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเซ็นเซอร์เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเมืองหรือไม่ มีบางครั้งที่บรรษัทไอทีเข้ามามีบทบาทกับประเด็นทางการเมืองเองเช่นในปี 2555 กูเกิลเคยเปิดให้ลงชื่อคัดค้านกฎหมายต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์มีผู้คนลงนาม 4.5 ล้านคนภายในหนึ่งวัน การสำแดงพลังของกูเกิลทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ สยบยอม

จากมุมมองเหล่านี้จะทำให้นักการเมืองเยอรมนีเรียนรู้ที่จะใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือแบบทีมพรรคการเมืองของสหรัฐฯ หรือไม่ โรเซนเบิร์กระบุว่าอย่างไรก็ตามเฟซบุ๊กในเยอรมนีมีปัญหาเรื่องภาพลักษณ์อยู่ในแง่ของการเป็นแหล่งเฮทสปีช หรือวาจาที่ยุยงให้เกลียดชังชวนทำร้ายกลุ่มคน มีนักการเมืองและรัฐมนตรีหลายคนในเยอรมนีต้องเผชิญกับข้อความแสดงความเกลียดชังทุกวันๆ จนกระทั่งเฟซบุ๊กต้องพยายามกำจัดภาพลบด้วยการโฆษณาผ่านสื่อแบบดั้งเดิมอย่างหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์

 

เรียบเรียงจาก

Digital Democracy : How Google and Facebook Can Reshape Elections, Marcel Rosenberg, 08-11-2016
http://www.spiegel.de/international/germany/google-and-facebook-could-help-decide-2017-german-election-a-1120156.html

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net