นิธิ เอียวศรีวงศ์: กับดักแสนสบาย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

 

องค์การสหประชาชาติตั้งเกณฑ์ไว้ว่าประเทศที่มีรายได้ประชาชาติตั้งแต่ 4,036-12,475 เหรียญต่อปี คือประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ส่วนใหญ่ของประเทศต่างๆ ทั้งโลกก็ล้วนอยู่ในกลุ่มนี้ทั้งสิ้น เฉพาะส่วนที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงซึ่งมีไทยอยู่ด้วยนั้น มีอยู่ 54 ประเทศ

ปัญหาของประเทศที่มีรายได้ปานกลางก็คือ ส่วนใหญ่แล้วไม่งอกขึ้นไปเป็นประเทศรายได้สูง ไม่งอกสักที หรือใช้เวลานานเกินควรกว่าจะงอกขึ้นไปได้ จึงมักเรียกกันว่ากับดักรายได้ปานกลาง ซึ่งพูดถึงกันมากว่า 20 ปีแล้ว รวมทั้งผู้นำ คสช. ด้วย ซึ่งต้องการนำเศรษฐกิจไทยให้ฝ่าพ้นกับดักนี้ไปให้ได้

นักวิเคราะห์ของแบงก์อเมริกาคนหนึ่งประเมินว่า ในบรรดาประเทศรายได้ปานกลางทั้งโลก 215 ประเทศนั้น จะมีเพียง 14 ประเทศเท่านั้นที่จะงอกพ้นกับดักนี้ได้ ในระยะเวลาพอสมควรนะครับ ไม่ใช่ว่ากันเป็นศตวรรษ ใน 14 ประเทศนี้ไม่มีไทย แต่มีมาเลเซีย, บราซิล, ชิลี, เมกซิโก, โปแลนด์, คอสตาริกา, บอตสวานา, ฯลฯ เป็นต้น

ทั้งๆ ที่ตัวเลขทางด้านการศึกษาของไทยดีกว่าบางประเทศของ 14 ประเทศนั้น เช่น คุณภาพด้านการศึกษาของไทย (วัดจากความรู้เด็กด้านการอ่าน, คำนวณ และวิทยาศาสตร์) ดีกว่าบราซิล, มอนเตเนโกร, ต่ำกว่าเมกซิโก และเซอร์เบียนิดเดียว หรือหากดูว่าโอกาสที่เด็กอายุ 15 จะอยู่ในระบบการศึกษาทั้งหมดในอนาคตอันใกล้หรือไม่ (เขาพบว่าประเทศใดที่เด็กวัยนี้อยู่ในโรงเรียนทั้งหมด ก็ยิ่งทำให้รายได้ประชาชาติสูงขึ้นเท่านั้น) ไทยก็อยู่ในอันดับที่สูงกว่ามาเลเซีย, ชิลี, คอสตาริกา, เม็กซิโก, มอนเตเนโกร, บราซิล, มาซิโดเนีย, บอตสวานา และแอฟริกาใต้ เกือบจะสูงกว่าทุกประเทศใน 14 ประเทศ

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยของ TDRI (คุณ Kirida Paopichit) บอกว่า ประเทศไทยจะฟันฝ่ากับดักรายได้ปานกลางไปได้ใน 20 ปี แต่เราจะแก่เสียก่อนรวย (ใครที่มีเงินจับจ่ายได้สบายขึ้นตอนแก่คงรู้ว่า ความรวยไม่เปลี่ยนชีวิตไปมากนัก และที่สำคัญคือให้ไปเสี่ยงลงทุนอะไรเพื่อให้รวยเร็วขึ้นและมากขึ้นก็ไม่เอา enterprising spirit มันตายไปก่อนจะหยุดหายใจแล้ว ประเทศของคนแก่ก็อย่างนั้นแหละครับ)

ซ้ำร้าย พอถึงตอนนั้น องค์การสหประชาชาติอาจขยับรายได้ขั้นต่ำของประเทศรายได้สูงไปเรื่อยๆ จนเราไปไม่ถึงซักทีก็ได้

การเอาชีวิตไปผูกไว้กับตัวเลข อาจทำให้เราอุทิศชีวิตให้แก่การวิ่งไล่จับฟองสบู่ตลอดไปก็ได้

กูรูทั้งหลายจึงบอกสูตรว่าจะก้าวให้พ้นกับดักรายได้ปานกลางอย่างไร กูรูบอกได้ (หรืออย่างน้อยก็อ้างว่าบอกได้) โดยการศึกษาประสบการณ์ของประเทศที่ก้าวพ้นกับดักดังกล่าวมาแล้ว เริ่มตั้งแต่อังกฤษและยุโรปตะวันตก สหรัฐ มาจนถึงญี่ปุ่น, เกาหลี, ไต้หวัน ฯลฯ แล้วก็สรุปออกมาว่าเงื่อนไขที่ช่วยให้เป็นไปได้คืออะไร

พอนำมาบอกแก่ประเทศที่ติดกับดักทั้งหลาย กูรูก็ได้รับการจ้างงานทันที แต่คนอีกมากในกับดักก็ยังตกงานเหมือนเดิม

เรื่องนี้ก็ช่างเถิดครับ แต่อยากให้สังเกตว่า สูตรของกูรูซึ่งวางอยู่บนความสำเร็จของหลายประเทศ และหลายยุคสมัยนั้น หมายความว่าปัจจัยที่เอื้อต่อการก้าวพ้นกับดักที่กูรูมองเห็น ย่อมมีเงื่อนไขทางสังคม, เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมที่แตกต่างกันมาก สูตรที่นำไปสู่ความสำเร็จในสังคมหนึ่ง หรือยุคสมัยหนึ่ง อาจไม่ช่วยให้อีกสังคมหนึ่งและยุคสมัยหนึ่งทำได้เหมือนกันก็ได้

ผมขอยกตัวอย่างสูตรอันหนึ่ง ซึ่งกูรูส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นความอ่อนแอที่ทำให้ไทยก้าวไม่พ้นกับดัก นั่นคือเราลงทุนกับการวิจัยและพัฒนา (R&D) น้อยเกินไป ทำให้เราไม่สามารถขยับเทคโนโลยีไปสู่ระดับสูงขึ้นได้

บทความหนึ่งในนิตยสาร The Diplomat ให้ตัวเลขสถิติเรื่องนี้ของไทยไว้หลายแง่มุม แล้วก็แนะนำให้ไทยทำตามอย่างเกาหลีคือตั้งสถาบันวิทยาศาสตร์ขึ้น (Kaist – Korea Advanced Institute of Sciences) อันเป็นองค์กรที่มีส่วนอย่างมากในการทำให้เกาหลีกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมในช่วงทศวรรษ 1970 และ 1980

การใช้อำนาจใน ม.44 ล้มเลิกโครงสร้างของสภาวิจัย นำนายกฯ (ที่ยังพูดเรื่องภูเขาอัลไต) เข้าไปนั่งเป็นประธาน รวมเจ้าสัวอีกหลายคนเป็นกรรมการ ก็มาจากสูตรนี้

แต่อย่าเข้าใจว่าเป็นวิถีทางใหม่ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จนะครับ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ทำมาแล้วเมื่อครึ่งศตวรรษก่อน ถึงแม้ไม่ได้ไปนั่งเป็นประธานเอง แต่ก็ส่งครูคนสนิทเข้าไปกำกับดูแลเองอย่างใกล้ชิด

แล้วจนบัดนี้ก็ยังพูดกันเหมือนเดิมว่า เราลงทุนด้าน R&D น้อยเกินไป ดังนั้น วิถีทางของคณะรัฐประหารครั้งนี้นอกจากไม่ใช่เรื่องใหม่แล้ว ยังไม่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอะไรอีกด้วย

หลายสิบปีมาแล้ว องค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ในการให้ทุนวิจัยก็พูดเรื่องนี้ ผู้อำนวยการสามารถท่องตัวเลขเปรียบเทียบเงินที่ญี่ปุ่น, ยุโรปตะวันตก, สหรัฐ, เกาหลี, ไต้หวัน, สิงคโปร์ ฯลฯ และไทย ใช้ในการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาให้ฟังได้เป็นชั่วโมง

ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงสิทธิประโยชน์ทางภาษีและอื่นๆ ซึ่งนายทุนไทยจะได้รับ เมื่อลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา ซึ่งรัฐบาลไทยก็ได้อำนวยให้มาหลายทศวรรษแล้ว

การวิจัยและพัฒนาไม่มีทางเกิดขึ้น เพียงเพราะรัฐสนับสนุน หรือใช้อำนาจเผด็จการเข้ามากำกับดูแล หรือปัญญาชนพูดถึงบ่อยๆ แต่ต้องมีเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ, การเมือง, สังคม, วัฒนธรรมที่ช่วยให้เกิดการลงทุนด้านนี้ด้วย

เงื่อนไขทางสังคมและวัฒนธรรมเป็นอย่างไร จึงจะช่วยให้ผู้คนพร้อมลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา ผมจะไม่พูดถึงล่ะครับ เพราะอาจต้องใช้เนื้อที่มาก ขอแนะสั้นๆ เช่นจัดการศึกษาให้เน้นด้านการศึกษาค้นคว้าเพื่อแก้ปัญหาทั้งนามธรรมและรูปธรรมเป็นต้น แต่ผมอยากจะชี้ให้เห็นเงื่อนไขทางสังคม-การเมือง (Socio-Politics) เพราะมองเห็นได้ง่ายกว่า

หากตัวเราเองเป็นนายทุนไทย ถามและตอบตัวเองอย่างซื่อสัตย์ว่า เราจะเอาเงินของเราไปลงทุนกับการวิจัยและพัฒนาหรือไม่ จริงอยู่กิจการที่ทำเงินให้เราอยู่เวลานี้ต้องแข่งขัน แต่แข่งขันกับใครในด้านไหน? คำตอบคือแข่งกับประเทศระดับเดียวหรือต่ำกว่าเรา และแข่งทางด้านราคาเป็นสำคัญ ตราบเท่าที่รัฐบาลไทย (ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือแย่งอำนาจมา) อยู่ฝ่ายเดียวกับเรา การผลิตด้วยเทคโนโลยีปานกลาง แม้ด้อยประสิทธิภาพบ้าง ก็ทำกำไรได้อย่างแน่นอนและปลอดภัยกว่าเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิต (ประเภทของสินค้า, การตลาด, การกระจายสินค้า, การจัดการแรงงาน ฯลฯ)

เหตุใดนายทุนจึงจะอยากยกระดับการผลิตด้วยเทคโนโลยีที่สูงขึ้น หรือผลิตสินค้ามูลค่าสูงขึ้นล่ะครับ หากการทำกำไรแน่นอนน้อยลง และเสี่ยงต้องแข่งในตลาดที่ตัวไม่คุ้นเคยกว่า นายทุนที่ไหนๆ ก็ต้องการกำไรที่แน่นอนและปลอดภัยกว่าทั้งนั้น

รัฐบาลควรสนับสนุนการลงทุนด้าน R&D แน่ แต่ต้องสร้างเงื่อนไขที่ทำให้ฝ่ายธุรกิจอยากลงทุนและใช้ประโยชน์จาก R&D ไปพร้อมกันด้วย

ยกตัวอย่างจากสิงคโปร์นะครับว่า เขาสร้างเงื่อนไขดังกล่าวอย่างไร

ในช่วงทศวรรษ 1960 สิงคโปร์ยังเป็นประเทศยากจน ประชากรจำนวนมากไม่มีงานทำ และไม่มีทักษะด้วย รัฐบาลจึงดึงการลงทุนจากต่างชาติเพื่อผลิตสินค้าถูกๆ เช่น เสื้อผ้าและส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ (เหมือนและพร้อมกับไทย) นโยบายนี้ประสบความสำเร็จเพราะดูดซับแรงงานได้หมดเกลี้ยง จนกระทั่งโรงงานต้องดึงแรงงานอพยพที่ไร้ทักษะจากเพื่อนบ้านมาเสริม

แต่รัฐบาลสิงคโปร์รู้ตัวเร็ว จึงวางนโยบายที่จะไต่บรรไดเทคโนโลยีขั้นสูงขึ้น จึงลงทุน (ไม่ใช่ด้าน R&D นะครับ) ด้านพัฒนาฝีมือแรงงานอย่างเต็มที่ รวมทั้งขอความช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศทางด้านนี้ด้วย (จนถึงทุกวันนี้ ไทยยังค่อนข้างเป็นอริหรือระแวงองค์กรด้านแรงงานระหว่างประเทศอยู่เลย)

ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันก็คือในช่วงนี้ ระหว่าง 1979-1984 สภาค่าจ้างแห่งชาติของสิงคโปร์ขึ้นค่าแรงติดต่อกัน 5 ครั้ง นายทุนสิงคโปร์และต่างชาติไม่สามารถหากำไรกับค่าแรงราคาถูกได้อีกแล้ว จึงถูกบังคับด้วยเหตุผลทางธุรกิจให้ขยับการผลิตของตนไปสู่ระดับสูงขึ้น เพื่อให้คุ้มกับค่าแรงที่ต้องจ่ายมากขึ้น พร้อมกันนั้น ก็ไม่มีอุปสรรคที่จะหาแรงงานที่มีทักษะซึ่งรัฐและสังคมได้เตรียมไว้ให้แล้ว (Pasuk Phongpaichit & Pornthep Benyaapikul, Political Economy Dimension of a Middle Income Trap: Challenges and Opportunities for Policy Reform – Thailand) นี่คือฐานที่สิงคโปร์จะก้าวขึ้นไปสู่ประเทศรายได้สูง (ชิบเป๋ง) และเศรษฐกิจพัฒนาแล้วในปัจจุบัน

ลองเอามาเปรียบกับเงื่อนไขทางการเมืองไทย ก็จะเห็นได้เองว่า แม้เราเริ่มต้นพร้อมกัน ในที่สุดเขาก็แยกเดินไปทางหนึ่ง ส่วนเราติดตังอยู่บนเส้นทางเดิมอย่างดิ้นไม่หลุด

ผมชี้ให้เห็นเพียงบางเรื่องก็พอจะคิดเองได้นะครับ เรายืนยันที่จะกดค่าแรงไว้ให้ต่ำสุด ค่าแรงไทยพอจะขยับได้บ้างก็หลังทศวรรษ 1970 เมื่ออำนาจต่อรองทางการเมืองขององค์กรแรงงานนอกรัฐวิสาหกิจพอจะมีมากขึ้นบ้างหลัง 14 ตุลา แต่เราก็ยังพยายามกดเอาไว้เท่าที่จะทำได้จนถึงทุกวันนี้ ในขณะเดียวกันเราก็เอาจริงเอาจังกับเรื่องพัฒนาฝีมือแรงงานไม่มากเท่าไรนัก แม้ลงทุนเป็นตัวเงินไปในการศึกษาสูงมากก็ตาม

ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพราะนักการเมืองไทย (รวมทหารที่ยึดอำนาจเป็นนักการเมืองด้วย) โง่กว่า ลี กวน ยิว นะครับ แต่เพราะกลุ่มชนชั้นนำไทยพัวพันกันแนบแน่นเกินไป ลองคิดถึงชนชั้นนำด้านธุรกิจ, ด้านการเมือง และด้านวัฒนธรรมของไทยสิครับ ก็คือคนเดียวกัน หรือกลุ่มคนที่เกี่ยวพันกันนัวเนียไปหมด ปัญญาชนสมัยใหม่ที่เด่นที่สุดของเราเป็นเจ้าของธนาคาร และในภายหลังก็ดำรงตำแหน่งสูงสุดทางการเมือง ทั้งในฐานะหัวหน้าพรรคและในฐานะนายกรัฐมนตรี ใกล้ชิดกับศูนย์อำนาจทางวัฒนธรรม และเป็นเสาหลักด้านวัฒนธรรมตามประเพณีของชาติ ไม่พูดถึงเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงและเป็นศิลปินแห่งชาติ และมีอิทธิพลเหนืออาจารย์มหาวิทยาลัย

ยังไม่พูดถึงนักการเมืองที่ยึดอำนาจ และเลือกตั้ง ต่างเก็บค่าต๋ง และได้เงินสนับสนุนจากกลุ่มชนชั้นนำสายธุรกิจ และได้รับความเห็นชอบจากชนชั้นนำสายอื่น (คนเดียวกันหรือกลุ่มเดียวกันเสียด้วย) จะหวังให้คนเหล่านี้ตัดสินใจผลักดันการเพิ่มค่าแรงโดยชนชั้นนำทางธุรกิจยังไม่พร้อม หรือยังไม่อยาก ย่อมเป็นไปไม่ได้

มีความบังเอิญอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้ เมื่อตอนที่สิงคโปร์และไทยเริ่มพัฒนาเศรษฐกิจนั้น กองทัพสิงคโปร์ยังเป็นวุ้นอยู่เลย แต่กองทัพไทยได้กลายเป็นองค์กรสมัยใหม่ที่เข้มแข็งที่สุดในสังคมไปแล้ว เงื่อนไขที่ต่างกันอย่างนี้ เปิดโอกาสให้ ลี กวน ยิว สามารถวางนโยบายทางเศรษฐกิจในแนวทางที่นายกฯ ไทยทำไม่ได้มากพอดูเลยทีเดียว

คิดเอาเองก็แล้วกันนะครับ

กล่าวโดยสรุปก็คือ เราจะบรรลุ Thailand 4.0 ทางทีวีไม่ได้ แต่ต้องทำให้ Thailand 2.0 ไม่ให้ผลกำไรที่แน่นอนและปลอดภัยอีกต่อไป และเพื่อจะทำอย่างนั้น ต้องไม่ลูบหน้าปะจมูก แต่หน้าของรัฐไทย ไม่ว่าจะผ่านการเลือกตั้งหรือรัฐประหาร ล้วนมีจมูกใหญ่เกินกว่าจะลูบเกลี้ยงๆ ได้

ที่กล่าวข้างบนนั้นเป็นเหตุผลลึกๆ ทางการเมืองของไทย แต่มีเหตุผลทางสังคมลึกๆ เหมือนกัน ที่ผมอยากยกให้ดูเป็นตัวอย่าง

ใครๆ ก็พูดว่า มาตรการหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการดิ้นให้พ้นกับดักรายได้ปานกลางก็คือการปฏิรูปการศึกษา ทั้งเพื่อกระจายการศึกษาระดับมัธยมและอุดมที่มีคุณภาพให้ผู้คนเข้าถึงได้กว้างขวางทั่วกัน และพัฒนาคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ

การศึกษาไทยแพร่หลายไม่ทั่วถึงประชาชนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน ซ้ำส่วนที่แพร่หลายได้กว้างหน่อยในทุกระดับ (ตั้งแต่ประถมถึงมหาวิทยาลัย) ก็มีคุณภาพที่เหลื่อมล้ำกันมาก

ทั้งนี้ ไม่ใช่เพราะระบบการศึกษาไทยขาดแคลนงบประมาณนะครับ ไทยลงทุนด้านการศึกษาเป็นสัดส่วนของจีดีพีสูงกว่าประเทศเอเชียส่วนใหญ่ รวมทั้งสูงกว่าญี่ปุ่น, เกาหลี, ไต้หวัน, ฮ่องกง และสิงคโปร์ด้วย แต่ประเมินกันกี่ครั้ง โดยผู้ประเมินกี่คนกี่องค์กร การศึกษาของเราก็ห่วย โดยเฉพาะห่วยกว่าประเทศเหล่านั้นหลายขุม

นักวิจัยกลุ่มหนึ่งเชื่อว่า ที่การศึกษาไทยห่วยเพราะมันไม่มีระบบรับผิดในการศึกษาไทย ไม่มีใครสักคน นับตั้งแต่รัฐมนตรีศึกษาลงมาจนถึงครูประจำชั้น ที่ต้องรับผิดกับผลการเรียนของนักเรียนหรือผลการศึกษาของประเทศเป็นต้น การจะทำให้เกิดระบบรับผิดขึ้นได้ ก็ต้องกระจายอำนาจจัดการศึกษาออกไปให้ผู้มีเดิมพันโดยตรง (เช่น ตัวนักเรียนและผู้ปกครอง) มีส่วนในการเรียกความรับผิดจากผู้จัดการศึกษาได้มากขึ้น

แต่จัดการศึกษาแบบรวมศูนย์นั้น เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของการกระจายทรัพยากรที่เราใช้มานาน นับตั้งแต่นักการเมืองส่วนกลางและข้าราชการส่วนกลาง แม้แต่เส้นสายของคนสองกลุ่มนี้ (ซึ่งล้วนเป็นคนที่มีเสียงดังทั้งสิ้น และมีจำนวนมากทีเดียว) ก็ได้ประโยชน์จากการรวมศูนย์จัดการศึกษาด้วย ไล่ลงไปถึงผู้บริหารในหัวเมือง คนที่ได้เป็นกรรมการการศึกษาเขต ฯลฯ ไปจนถึงผู้ปกครองอีกส่วนหนึ่ง ในขณะที่คนส่วนใหญ่ก็ไม่เคยมีประสบการณ์การกำกับควบคุมการศึกษาเอง จึงมองไม่เห็นประโยชน์ที่จะทำให้โรงเรียนของลูกหลุดจากระบบรวมศูนย์

ดังนั้น ถ้าเราเป็นนักการเมือง (ไม่ว่าผ่านการเลือกตั้งหรือขโมยอำนาจคนอื่นเขามา) จะอยากไปกวนน้ำที่ใสอยู่แล้วให้ขุ่นหรือ จู่ๆ จะมานั่งโยกเรือเล่นทำไม

แต่ยังมีเหตุผลที่ลึกไปกว่านั้นอีก ก็คือความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย (หรือสังคมอื่นๆ อีกหลายสังคม) ตั้งอยู่ได้บนความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา หากโรงเรียนวัดทำให้เด็กท้องนาได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพเท่ากับเด็กสวนกุหลาบฯ และหากเด็กท้องนามีโอกาสที่จะไต่เต้าทางการศึกษาไปได้ไกลเท่าที่ใจเขาต้องการเหมือนเด็กสวนกุหลาบฯ คุณคิดว่าใครคือคนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี, ประธานศาลฎีกา, อธิการบดีมหาวิทยาลัย, ซีอีโอที่บริษัทแย่งตัวกัน, เจ้าของรางวัลโนเบลคนแรกของไทย ฯลฯ

ผมก็ไม่ทราบหรอกครับว่าคือใคร แต่แน่ใจว่าไม่ใช่คนที่เคยเป็นมาแล้ว หรือมีหวังจะได้เป็นอย่างแน่นอน ไม่ใช่เพราะเด็กท้องนาเก่งกว่านะครับ แต่เพราะประชาชนไทยโดยรวมย่อมเก่งกว่าประชาชนไทยโดยรวมในปัจจุบันต่างหาก

และนี่คือสังคมเท่าเทียมไงครับ สังคมเท่าเทียมไม่ได้ทำให้มีความเป็นธรรมเท่านั้น แต่เป็นสังคมที่เปิดโอกาสให้อัจฉริยภาพของคนทุกคนได้พัฒนาขึ้นไปถึงจุดสูงสุดของมัน

แล้วคิดว่าคนมีอำนาจในเมืองไทย (ชนชั้นนำและคนชั้นกลางระดับสูง) จะยอมให้สังคมไทยเป็นสังคมเท่าเทียมหรือครับ

ผมคิดว่า กลวิธีที่จะหลุดจากกับดักรายได้ปานกลางนั้น ไม่ได้มีแต่มิติทางเทคนิค โดยเฉพาะเทคนิคเศรษฐศาสตร์อย่างเดียว แท้จริงแล้วเทคนิคเหล่านั้นจะทำงานได้จริง ก็ต้องมีเงื่อนไขทางการเมือง, สังคม และวัฒนธรรมเอื้ออยู่ด้วย

ในกับดักรายได้ปานกลางนั้น อาจมีคนจำนวนมากที่ทุกข์ทนหม่นไหม้อยู่ในกับดักนั้น แต่ก็มีคนอีกจำนวนหนึ่งซึ่งถึงแม้มีไม่มากเท่า แต่ก็รวบอำนาจทั้งทางการเมือง, เศรษฐกิจ, สังคม และวัฒนธรรมไว้ในมืออย่างไม่สมดุล มีความสุข, ความมั่นคงในชีวิต และสามารถสืบทอดสถานะได้เปรียบนี้ให้แก่ลูกหลานอย่างปลอดภัยด้วย

ดังนั้น ยิ่งกับดักรายได้ปานกลางดำรงอยู่อย่างยาวนานในสังคมใด ก็ยิ่งเป็นไปได้ที่คนส่วนน้อยดังกล่าวจะสั่งสมความได้เปรียบทางการเมือง, เศรษฐกิจ, สังคม และวัฒนธรรมในมือตนให้แข็งแกร่งมั่นคงขึ้น จนกระทั่งกลวิธีที่จะหลุดจากกับดักในมิติที่เป็นเทคนิค ทำไม่ได้เลย หรือถึงทำ ก็ทำแบบไม่ให้เกิดผล สังคมที่ติดอยู่ในกับดักนั้นจึงยิ่งดิ้นไม่หลุดตลอดไป

จนกว่า…

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน  matichonweekly.com

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท