สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: กบฏบวรเดช

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในเดือนตุลาคม ที่ผ่านมานี้ ได้มีการโพสต์ภาพเรื่องการย้ายอีกครั้งของอนุสาวรีย์หลักสี่ ซึ่งเคยเป็นอนุสาวรีย์สำคัญหลังการปฏิวัติ 2475 และปัจจุบัน เสื่อมความสำคัญลง อนุสาวรีย์แห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกถึงสงครามกลางเมืองครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของไทย นั่นคือเหตุการณ์ที่เรียกว่า กบฏคณะกู้บ้านกู้เมือง หรือ กบฏบวรเดช ซึ่งเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม พ.ศ.2476  เหตุการณ์นี้ ถือเป็นการประลองกำลังครั้งใหญ่ระหว่างคณะราษฎรที่เปลี่ยนแปลงการปกครองให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย กับคณะเจ้า หรือฝ่ายนิยมเจ้า ที่มุ่งหวังให้ประเทศไทยย้อนกลับไปสู่ยุคกษัตริย์มีพระราชอำนาจสมบูรณ์ และเป็นการพอดีที่หนังสือเล่มใหม่ของ ณัฐพล ใจจริง ในชื่อว่า “เบื้องแรกปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม กบฏบวรเดช” ได้พิมพ์ออกเผยแพร่ จึงน่าจะเป็นโอกาสดีในการนำเหตุการณ์นี้มาสู่การพิจารณาอีกครั้ง

กบฏบวรเดชเป็นผลโดยตรงจากการปฏิวัติของคณะราษฎร ที่ทำการปฏิวัติเพื่อล้มล้างระบอบสมบูรณาญาธิราชย์ แล้วนำประเทศสู่ประชาธิปไตย แต่เป็นที่ทราบกันดีว่า มีกลุ่มขุนนางข้าราชการจำนวนไม่น้อยที่ไม่เห็นด้วย และนำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างฝ่ายคณะราษฎรและฝ่ายระบอบเก่านับตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา เหตุการณ์นำมาสู่การรัฐประหารครั้งแรกของพระยามโนปกรณ์ฯ เพื่อยุติการใช้รัฐธรรมนูญและปิดสภาผู้แทนราษฎร แต่ในที่สุด ฝ่ายพระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้นำคณะราษฎร ต้องยึดอำนาจ 20 มิถุนายน พ.ศ.2476 เพื่อกลับมาใช้รัฐธรรมนูญ และให้มีการประชุมรัฐสภาตามเดิม แต่เหตุการณ์นี้ยิ่งเพิ่มความไม่พอใจให้กับกลุ่มนิยมเจ้า จึงนำมาสู่การคบคิดและการตระเตรียมกำลัง โดยเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2476 จนกระทั่งถึงเดือนตุลาคม คณะปฏิปักษ์ปฏิวัติก็ลงมือกระทำการ

วันที่ 9 ตุลาคม คณะทหารที่เตรียมการก่อการกบฏได้ประชุมกันที่เมืองนครราชสีมา ตั้งเป็นคณะกู้บ้านกู้เมือง และได้เลือกให้นายพลเอก พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นหัวหน้า และให้ พ.อ.พระยาศรีสิทธิสงคราม(ดิ่น ท่าราบ)เป็นแม่ทัพหน้า เพื่อกู้บ้านเมือง ข้ออ้างของในการก่อการ คือ การที่คณะรัฐบาลมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ที่สนับสนุนให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) กลับมามีบทบาทในบ้านเมือง และยังปล่อยให้นายถวัติ ฤทธิเดช ได้ฟ้องร้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมือง ที่ประกอบด้วย หน่วยทหารนครราชสีมา สระบุรี และ อยุธยา เคลื่อนกำลังพลเข้าประชิดพระนครในวันที่ 11 ตุลาคม โดยยึดกรมอากาศยานดอนเมืองเป็นกองบัญชาการ และหวังว่า จะประสานกับหน่วยทหารเพชรบุรี และทหารในพระนครจะเข้าร่วม แล้วทำให้รัฐบาลคณะราษฎรต้องยอมแพ้

แต่ปรากฏว่าแผนการไม่เป็นไปตามที่คาดหมาย เพราะรัฐบาลคณะราษฎรตัดสินใจต่อสู้ ยิ่งกว่านั้น ทหารในพระนครแทนที่จะร่วมกับฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมือง กลับร่วมกับฝ่ายรัฐบาลในการปราบปราม การสู้รบกันระหว่างสองฝ่ายดำเนินไป จนถึงวันที่ 16 ตุลาคม ฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองไม่ได้กำลังเสริม เพราะทหารเพชรบุรีที่เข้าร่วมก่อการ ถูกหน่วยทหารราชบุรีตรึงกำลังไว้ และทหารจากนครสวรรค์และพิษณุโลก ก็ถูกขัดขวางจากหน่วยทหารลพบุรี และหน่วยทหารปราจีนบุรีประกาศสนับสนุนฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายพระองค์เจ้าบวรเดชจึงสั่งให้ถอนกำลังกลับไปนครราชสีมา โดยมีคำอธิบายด้วยว่า มีพระราชหัตถเลขาจากรัชกาลที่ 7 ขอให้ “ถอนทหารออกไปจากแหล่งที่ปฏิบัติการ”

การถอนทหารได้นำมาสู่ความพ่ายแพ้ เพราะทหารฝ่ายรัฐบาลได้โอกาสในการรุกไล่ การรบครั้งสำคัญเกิดขึ้นที่หิบลับ ในวันที่ 23 ตุลาคม พ.อ.พระยาศรีสิทธิสงคราม เสียชีวิตในการสู้รบ เมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์เจ้าบวรเดชและพระชายา จึงขึ้นเครื่องบินเดินทางหนีไปยังเมืองไซ่ง่อน เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม และนายทหารฝ่ายกบฏจำนวนหนึ่งก็หนีออกนอกประเทศไปยังอินโดจีนฝรั่งเศสด้วย คณะกู้บ้านกู้เมืองจึงประสบความพ่ายแพ้

ฝ่ายรัฐบาลเสียชิวิตทหาร 17 คน ซึ่งได้มีการจัดเป็นงานรัฐพิธีที่ท้องสนาม และได้สร้างอนุสาวรีย์จารึกชื่อของวีรชนเหล่านี้ ที่หลักสี่ เรียกว่า อนุสาวรีย์ปราบกบฏ หรืออนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นอนุสาวรีย์ที่มีพานรัฐธรรมนูญเป็นแห่งแรกสำหรับนายทหารฝ่ายที่ร่วมการกบฎ และถูกจับกุมซึ่งมีมากกว่า 600 คน รัฐบาลได้ตั้งศาลพิเศษขึ้นพิจารณาคดี และถูกตัดสินลงโทษ 230 คน ถูกปลดจากราชการ 117 คน ในจำนวนนี้ถูกลงโทษขั้นประหารชีวิต 5 คน แต่ต่อมาได้รับการลดโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิต

ความสำคัญของหนังสือเรื่อง”กบฏบวรเดช”ของ ณัฐพล ใจจริง ได้เล่าเรื่องด้วยว่า ประชาชนจำนวนมากมีปฏิสัมพันธ์กับเหตุการณ์ โดยการแสดงการสนับสนุนฝ่ายรัฐบาล มีการตั้งพลเมืองอาสาสมัครปราบกบฏ และมีการบริจาคเงิน อาหาร และวัสดุอุปกรณ์จำนวนมาก เพื่อช่วยเหลือฝ่ายรัฐบาลในการรักษาระบอบใหม่ โรงพิมพ์หลายแห่งก็ช่วยพิมพ์คำแถลงฝ่ายรัฐบาลโดยไม่คิดมูลค่า แต่ก็แน่นอนว่าคงจะมีประชาชนอีกจำนวนหนึ่งที่มีจิตใจสนับสนุนฝ่ายกบฎ แต่หลักฐานเหล่านี้ ก็เป็นสิ่งแสดงให้เห็นว่า ประชาชนไทยสมัยนั้นไม่ได้นิ่งเฉย

บทเรียนสำคัญสำหรับฝ่ายอนุรักษ์นิยมเจ้าจากกรณีกบฏบวรเดช อาจเป็นว่า ความพยายามในการใช้กำลังทหารในการโค่นล้มระบอบใหม่และรื้อฟื้นระบอบเก่า กลับสร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับฝ่ายนิยมเจ้าเอง และเปิดทางให้ฝ่ายคณะราษฎรบริหารประเทศโดยสะดวก ตามหลักนโยบายของตนไปอีก 15 ปี

ฝ่ายอนุรักษ์นิยมยุคหลัง พ.ศ.2490 จึงใช้วิธีต่อสู้ทางความคิด ครอบงำการศึกษา และใช้เวลาระยะยาวในการดำเนินการให้สังคมไทยเป็นสังคมอนุรักษ์นิยม ที่มีลักษณะต่อต้านประชาธิปไตย ต่อต้านสิทธิมนุษยชน และความเป็นนิติรัฐ อนุรักษ์นิยมยุคใหม่จึงประสบความสำเร็จมากกว่า ส่งผลให้เกิดขบวนการประชาชนฝ่ายขวารักษาอำนาจกระแสหลัก และทำให้กองทัพกลายเป็นเครื่องมือรักษาอำนาจกระแสหลัก ไม่มีลักษณะเป็นกองทัพพิทักษ์ประชาธิปไตย เช่นเมื่อ พ.ศ.2476

นี่จึงเป็นปัญหาทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ

0000

เผยแพร่ครั้งแรกใน: โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 588 วันที่ 29 ตุลาคม 2559

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท