พาณิชย์ชี้ส่งออกไทยเสี่ยงหลังทรัมป์ชนะ TDRI มอง Set zero ข้อตกลง TPP เป็นผลดี

หลังโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐ รมว.พาณิชย์ คาดผลกระทบระยะสั้นไม่น่าเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ระยะยาวมีแนวโน้มคัดค้าน TPP อย่างชัดเจน ด้านนักวิชาการทีดีอาร์ไอมองทรัมป์ไม่เอาTPP นั้นเป็นผลดีกับไทย 

9 พ.ย. 2559 สำนักข่าวไทย รายงานว่า อภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า หลังจากทั่วโลกต่างจับตามองผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา 2016 นั้น ล่าสุดปรากฏว่าสหรัฐจะมีประธานาธิบดีคนใหม่เป็น โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน กระทรวงพาณิชย์ขอแสดงความยินดีต่อว่าที่ประธานาธิบดีของสหรัฐ ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย

ทั้งนี้ นโยบายของ ทรัมป์ มีแนวโน้มเน้นการปฏิรูปและไม่สนับสนุนการเปิดเสรีทางการค้า ซึ่งจะทำให้ทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐมีความแตกต่างจากรัฐบาลชุดก่อนค่อนข้างชัดเจน โดยเน้นให้ความสำคัญกับการเพิ่มอุปสงค์ภายในประเทศ  เน้นนโยบายปกป้องการค้าของสหรัฐ มีความชัดเจนที่จะปฏิเสธผู้ลี้ภัยต่างชาติและแรงงานต่างชาติ และลดความสำคัญลงสำหรับประเด็นสิ่งแวดล้อม สำหรับนโยบายต่างประเทศ มีแนวโน้มที่จะทบทวนความสัมพันธ์และการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศพันธมิตรใหม่ อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นความเป็นไปได้ของนโยบายเหล่านี้ว่าจะสามารถปฏิบัติได้จริงหรือไม่ ซึ่งอาจนำไปสู่ความไม่เชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจและเกิดความผันผวนในระยะสั้น

ระยะสั้นไม่น่าเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับผลกระทบระยะสั้น อภิรดี คาดว่าจะมีผลกระทบตลาดเงินตลาดทุนอย่างชัดเจน แต่ภาคเศรษฐกิจจริงคงไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยตลาดเงินตลาดทุนคงได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน เช่นเดียวกันกับผลกระทบจากกรณี Brexit ที่ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกผันผวน ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่า ตลาดหุ้นตกอย่างมาก อย่างไรก็ตาม คาดว่าในช่วงที่เหลือของปีสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลกโดยรวมน่าจะยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ดังนั้น การส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือยังคงมีแนวโน้มขยายตัวได้ตามการคาดการณ์

ส่วนปีต่อไปไทยคงต้องจับตาการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านต่าง ๆ ของสหรัฐที่อาจจะเริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะความเสี่ยงและไม่แน่นอนที่อาจมีขึ้นในเศรษฐกิจโลก ที่อาจส่งผลด้านต่าง ๆ เช่น การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐจะมีขึ้นหรือไม่ ราคาน้ำมันจะขึ้นตามที่คาดไว้หรืออาจจะเกิดการผันผวนอย่างมาก ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)  จะปรับดอกเบี้ยขึ้นตามที่คาดหรือไม่ ซึ่งความผันผวนเหล่านี้จะส่งผลต่อการส่งออกและการค้าระหว่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญ โดยจะส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีความผันผวน และราคาสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ทองคำ ปรับตัวสูงขึ้น ในขณะ ที่ผลกระทบจากนโยบายลดภาษียังต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง โดยคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯและเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวต่ำกว่าการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ภาพรวมจะทำให้การส่งออกของไทยปี  2560 มีความเสี่ยงและท้าทายมากขึ้น เพื่อที่จะกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ   5 ปี

ระยะยาวมีแนวโน้มคัดค้าน TPP อย่างชัดเจน 

ขณะที่ผลกระทบระยะยาว อภิรดี ระบุว่า ด้านนโยบายการค้าระหว่างประเทศ โดนัลด์ ทรัมป์ มีแนวโน้มคัดค้าน TPP อย่างชัดเจน แต่คาดว่าจะมีการเจรจาการค้าฉบับใหม่ที่มีลักษณะปกป้องผลประโยชน์พลเรือนอเมริกันมากขึ้น ซึ่งอาจนำมาสู่การขยายแนวความคิดด้านชาตินิยมและไม่ให้ความสำคัญกับการค้าเสรีไปสู่ประเทศต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการขยายตัวปริมาณการค้าโลก ซึ่งประเด็นนี้ไทยก็พร้อมจะพิจารณาสานความสัมพันธ์ทางการค้าผ่านเวทีอื่น ๆ เพื่อเป็นทางเลือก

ด้านนโยบายการคลัง ความไม่สอดคล้องกันระหว่างการลดภาษีภายในประเทศเพื่อกระตุ้นการลงทุน ผนวกกับแนวโน้มการกีดกันการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ เมื่อรวมกับผลกระทบจากต้นทุนทางการเงิน และหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นอาจนำไปสู่ความยุ่งยากในการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจ  ซึ่งในระยะยาวอาจส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจสหรัฐอย่างมีนัยสำคัญได้ นอกจากนั้น นโยบายปรับลดภาษีนิติบุคคล เพื่อส่งเสริมการลงทุนและการจ้างงานในประเทศ ขณะที่มีการปกป้องการค้าจากประเทศอื่น ๆ เพิ่มขึ้น น่าจะทำให้การลงทุนของสหรัฐฯ ในต่างประเทศยังอยู่ในระดับปกติ (เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดไว้) โดยเฉพาะประเทศ/กลุ่มคู่ค้าที่มีศักยภาพสูง  ส่วนเศรษฐกิจโลก ความผันผวนและนโยบายกีดกัน อาจทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้ากว่าคาดการณ์เดิม ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และอัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวน และจะมีความซับซ้อนจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่ทรัมป์อาจจะประกาศต่อไป

อภิรดี  กล่าวเพิ่มเติมถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการส่งออกไทย ว่าการส่งออกจะมีความเสี่ยงมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันสหรัฐฯเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย (ถ้าไม่นับอาเซียน 10 ประเทศรวมกัน) โดยในปี 2558 ไทยมีมูลค่าส่งออกไปสหรัฐฯ  24,055 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.2 ของมูลค่าการส่งออกของไทยทั้งหมด โดยมีสินค้าสำคัญ อาทิ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์และส่วนประกอบ และเครื่องนุ่มห่ม รวมทั้งอาหารทะเลและผลไม้กระป๋องแปรรูป ซึ่งสินค้าเหล่านี้มีสัดส่วนรวมกันถึงร้อยละ 51.4 ของการส่งออกไทยไปสหรัฐฯทั้งหมด  ดังนั้น หากสหรัฐมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าในทิศทางที่มีการกีดกันมากขึ้น ประกอบกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจของสหรัฐที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกโดยรวม จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการส่งออกของไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  แต่เศรษฐกิจไทยขณะนี้ค่อนข้างมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง จึงมั่นใจว่าผลกระทบจะไม่รุนแรงมากนัก แต่อยากให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายเล็กเตรียมปรับตัวเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงและความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นไว้ โดยเฉพาะที่เกิดจากอัตราแลกเปลี่ยน

นักวิชาการทีดีอาร์ไอมอง Set zero ข้อตกลง TPP เป็นผลดี

ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา รายงานวาา เสาวรัจ รัตนคำฟู นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ภายหลังทราบผลการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ โดย โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง โดยเฉพาะนโยบายการค้าระหว่างประเทศ ที่มีผลต่อประเทศไทยชัดเจนที่สุด คือ ทรัมป์ประกาศตั้งแต่เริ่มหาเสียงแล้วว่า ไม่เอาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ ภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) นั้นเป็นผลดีกับไทย 
 
“เหมือนกับ Set zero ล้างไพ่ใหม่ TPP และจากที่เราคิดว่า เวียดนามได้ประโยชน์จากการเข้าร่วม TPP ไปก่อนหน้านี้ ซึ่งอุตสาหกรรมสิ่งทอที่ย้ายฐานการผลิตไปเวียดนาม แม้ TPP ไม่ได้เป็นนโยบายของผู้นำสหรัฐฯคนใหม่ แต่เงินทุนที่ไหลเข้าเวียดนาม ก็ไหลเข้าไปแล้ว มีตัวเลข 8 เดือนแรก เงินทุนไหลเข้าไปกว่า 14.4 พันล้านสหรัฐ จะเห็นว่า ทีพีพีจะไม่เกิดแต่เวียดนามก็แจ๊กพ็อตไปแล้ว” 
 
เสาวรัจ กล่าวอีกว่า ส่วนประเทศไทย  หากไม่ได้มีอะไรมาตื่นเต้น หรือกระตุ้นการลงทุนในประเทศ และหากรัฐบาลไม่ได้มีมาตรการที่เป็นมัดเด็ดจริงๆ เชื่อว่า ก็จะไม่มีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้า ซึงต่างจากเวียดนามที่มีนโยบายชัดเจนเปิดเสรี ขณะที่ไทยมีการส่งออกมาก แต่นโยบายกับการค้าเรากลับไม่ชัดเจน เช่น FTA อียู เราเจรจามานานแล้ว ก็ไม่มีอะไร หรือแม้แต่เรื่อง TPP เราก็รีๆ รอๆ สุดท้ายก็ถือว่าเราโชคดีที่ TPP ไม่เกิด" 
 
เสาวรัจ กล่าวถึงนโยบาย โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ได้เน้นการเปิดเสรีการค้า ส่วนหนึ่งเป็นกระแสที่น่าสนใจ ตั้งแต่ผลการทำประชาติมติครั้งประวัติศาสตร์ของอังกฤษ  กรณี Brexit มีการมองกันว่า โลกาภิวัฒน์  (Globalization)ทำให้คนตกงาน หางานทำยาก ขณะเดียวกันคนที่เลือกทรัมป์ ส่วนใหญ่อายุมาก สะท้อนถึงกระแสอารมณ์ต่อต้าน โลกาภิวัฒน์   หรือไม่ เพราะทรัมป์พูดถึงคนตกงาน คนอพยพเข้าไปในสหรัฐฯมาก ก็ไปโดนคนกลุ่มนี้ ซึ่งโพลก็ออกมาระบุว่า คนที่สนับสนุนเลือกทรัมป์นั้นส่วนใหญ่อายุมาก ส่วนคนเลือกนางฮิลลาลี คลินตัน เป็นคนอายุน้อย 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท