รอบโลกแรงงานตุลาคม 2016

เกิดกระแส 'นายจ้างชาตินิยม' ในจีนห้ามพนักงานใช้ 'iPhone 7' 
 
 
มีรายงานข่าวว่าบริษัทเวชภัณฑ์แห่งหนึ่งในมณฑลเหอหนาน (Henan) ได้ติดป้ายประกาศถึงพนักงานทุกคนห้ามไม่ให้พนักงานซื้อ iPhone 7 และ iPhone 7 Plus มาใช้ หากพนักงานคนไหนฝ่าฝืนก็ให้มายื่นใบลาออกได้ ส่วนโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมืองฉงชิ่ง (Chongqing) ประกาศห้ามพนักงานทุกคนไม่ให้ซื้อ iPhone 7 มาใช้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากผู้บริหารมองว่ามีราคาสูงเกินไป และไม่ต้องการให้พนักงานหมดเงินไปกับสิ่งของฟุ่มเฟือยเช่นนี้หากใครฝ่าฝืนก็จะส่งผลต่อการประเมินผลการทำงานในรอบปี 
 
สถานประกอบการหลายแห่งในจีนที่มีนโยบายเช่นนี้ โดยมักให้เหตุผลว่าเพื่อป้องกันไม่ให้พนักงานใช้เงินฟุ้งเฟ้อ รวมถึงเพื่อปลูกจิตสำนึกรักประเทศชาติให้กับพนักงาน แต่มาตรการที่เป็นข่าวนี้ได้รับการถกเถียงในโลกออนไลน์อย่างบนเครือข่าย Weibo มีการให้เหตุผลอาทิเช่นว่าการต่อต้าน iPhone 7 อาจจะส่งผลเสียกับเศรษฐกิจจีน เนื่องจากโรงงาน Foxconn ที่ผลิตชิ้นส่วนให้กับ iPhone ตั้งอยู่ในจีน หากชาวจีนที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลกต่อต้านไม่ใช้ iPhone อาจทำให้โรงงาน Foxconn ต้องปิดตัวลงจนทำให้มีคนตกงานจำนวนมาก ขณะที่บางคนก็มองว่ามาตรการดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งนายจ้างไม่มีมีสิทธิ์ที่จะบังคับพนักงานควรใช้หรือไม่ควรใช้ และการอ้างความรักชาตินั้นอาจจะฟังดูไม่สมเหตุสมผล
 
 
ญี่ปุ่นขาดแรงงานภาคเกษตร
 
ญี่ปุ่นประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานหลายสาขา รวมทั้งภาคการเกษตรในชนบท สาเหตุจากชาวญี่ปุ่นรุ่นใหม่หันไปทำอาชีพอื่น อัตราประชากรเกิดใหม่ลดลง ขณะผู้สูงวัยมีมากขึ้น ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มโควตาแรงงานต่างชาติ ปัจจุบันญี่ปุ่นมีเกษตรกร 3.17 ล้านราย ลดลงจาก 10 ปีก่อน 2 ล้านราย
 
 
ธุรกิจรายย่อยญี่ปุ่นแห่ปิดกิจการเหตุไร้ทายาทสืบทอด
 
ธุรกิจรายย่อยของญี่ปุ่นปิดตัวลงจำนวนมากโดยในปีที่ผ่านมา (ข้อมูล ณ มี.ค. 2016) ธุรกิจรายย่อยปิดตัวโดยสมัครใจไปทั้งหมด 26,700 แห่ง ซึ่งมากกว่าตัวเลขกิจการล้มละลายนับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 ที่มีเพียง 25,000 แห่ง ขณะที่จำนวนสตาร์ทอัพก็ยังเกิดขึ้นน้อย แม้รัฐบาลนายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ (Shinzo Abe) จะตั้งเป้าเพิ่มธุรกิจสตาร์ทอัพในแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ตาม
 
 
สื่อสวีเดนเผย 'Ericsson' ประกาศปลดพนักงาน 4,000 คน เพื่อปรับโครงสร้าง
 
สื่อสวีเดนรายงานอ้างแหล่งข่าวว่า Ericsson บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมชื่อดังของประเทศแจ้งรัฐบาลว่าเตรียมลดจำนวนพนักงาน 4,000 ตำแหน่ง ทั้งนี้เมื่อเดือน เม.ย. Ericsson เคยประกาศตั้งเป้าปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อลดค่าใช้จ่าย และหนึ่งในมาตรการสำคัญที่ Ericsson ใช้คือการปรับลดจำนวนพนักงานลงประมาณ 1 ใน 5 ทั้งนี้ปัจจุบัน Ericsson มีพนักงานอยู่ทั่วโลกประมาณ 116,000 คนซึ่งรวมถึงพนักงาน 15,000 คนในสวีเดน
 
 
Ford ยุติผลิตรถในออสเตรเลียหลังผลิตมากว่า 90 ปี
 
ผู้บริหาร Ford ออสเตรเลียแถลงยุติผลิตรถในออสเตรเลียหลังผลิตมากว่า 90 ปี ทั้งนี้ในช่วง 3 ปีที่มาบริษัทพยายามช่วยเหลือพนักงาน 1,200 คน ได้พบกับโอกาสอื่น ๆ ขณะนี้ Ford กำลังปิดโรงงานหลายแห่งในเมืองบรอดมีโดวส์ (Broadmeadows) และจีลอง (Geelong) ในรัฐวิกตอเรีย พร้อมกับหยุดการผลิต แต่ Ford ออสเตรเลียยังคงทำหน้าที่เป็นผู้นำเข้าและตัวแทนจำหน่าย โดยว่าจ้างพนักงานราว 1,500 คน
 
 
หมอซูดานผละงานประท้วง ไม่พอใจค่าตอบแทนต่ำ
 
กลุ่มแพทย์ในซูดานรวมตัวผละงานประท้วงเพื่อแสดงความไม่พอใจต่อค่าตอบแทนที่ต่ำรวมถึงสภาพของการทำงานที่เลวร้าย และการถูกข่มขู่คุกคามจากเจ้าหน้าที่กองกำลังความมั่นคงของรัฐบาล รายงานข่าวซึ่งอ้างคำแถลงของคณะกรรมการกลางแห่งชมรมวิชาชีพแพทย์แห่งซูดาน (Central Committee of Doctors) ระบุว่าแพทย์ทุกคนที่ทำงานในโรงพยาบาลของรัฐมากกว่า 350 แห่งได้เข้าร่วมการผละงานประท้วงในครั้งนี้ แต่ถึงกระนั้นยังคงมีแพทย์อีกส่วนหนึ่งที่อาสาเข้าเวรตามโรงพยาบาล เพื่อเตรียมรับมือกับเคสผู้ป่วยฉุกเฉิน
 
ทั้งนี้ซูดานถือว่าเป็นประเทศที่มีระบบสาธารณสุขย่ำแย่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง อันเป็นผลมาจากสงครามกลางเมืองที่ปะทุขึ้นตั้งแต่ปี 2003 นอกจากนี้แพทย์ซูดานได้ยังมีค่าตอบแทนต่ำที่สุด และมักถูกคุมคามโดยกองกำลังของรัฐบาลโดยเฉพาะแพทย์ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลของรัฐ
 
 
กลุ่มสหภาพแรงงานแท็กซี่โปรตุเกสประท้วง Uber
 
สหภาพแรงงานคนขับแท็กซี่โปรตุเกส (ANTRAL) ได้รวมตัวกันปิดถนนทางเข้าสนามบินานาชาติลิสบอน เพื่อประท้วงกรณีที่รัฐบาลโปรตุเกสพยายามผ่านกฎหมายรับรองบริการแอพเรียกรถอย่าง Uber โดยทางการโปรตุเกสเผยว่ากลุ่มสหภาพแท็กซี่เรียกร้องให้รัฐบาลจำกัดจำนวนของรถในกลุ่มที่ถูกเรียกผ่านแอพ และจะไม่ยกเลิกประท้วงหากรัฐบาลไม่ยอมทำตามสิ่งที่พวกเขาเรียกร้อง ก่อนหน้านี้ Uber เคยถูกแบนในโปรตุเกสมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา แต่ศาลได้มีคำสั่งให้ยกเลิกการแบน ก่อนที่รัฐบาลจะพยายามออกกฎหมายรับรองกลุ่มแอพเรียกรถมาอีกครั้ง
 
 
ทาสยุคใหม่เอเชียในบริษัทข้ามชาติตากเกาหลีใต้
 
เจ้าหน้าที่จากองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการย้ายถิ่น (IOM) สาขาเวียดนามเปิดเผยกับ The Korea Herald ว่า บริษัทเกาหลีใต้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกดขี่แรงงาน เนื่องจากบริษัทเหล่านี้ไม่ได้ตระหนักถึงหลักสิทธิมนุษยชน บางครั้งยังมีช่องว่างระหว่างสิ่งที่บรรดาแรงงานทราบกับสิ่งที่ปฏิบัติ เนื่องจากห่วงโซ่อุปทานมีขั้นตอนที่ซับซ้อนหลายชั้นตั้งแต่จัดหาวัตถุดิบไปจนถึงสร้างผลิตภัณฑ์จนแล้วเสร็จ ทำให้การสอดส่องการเอารัดเอาเปรียบ และการละเมิดของผู้รับเหมาจำนวนมาก มีความยุ่งยากมากขึ้น
 
ด้านข้อมูลจากสหพันธ์แรงงานเวียดนาม (Vietnam General Confederation of Labor) ระบุว่าบรรดาแรงงานในเวียดนามประท้วงนายจ้างชาวเกาหลีราว 800 ครั้งตั้งแต่ปี 2009-2014 เช่นเดียวกับรายงานจากองค์กรสอดส่องบรรษัทข้ามชาติเกาหลี เมื่อปี 2015 โดยได้จากการสัมภาษณ์แรงงานในท้องถิ่น สหภาพแรงงาน บริษัทต่าง ๆ และภาคประชาสังคม ซึ่งเผยว่าบริษัทเกาหลีกดค่าจ้างพวกเขาให้ต่ำมีการละเมิดทั้งทางร่างกายและวาจา รวมถึงบังคับให้ทำงานเป็นเวลานานและลงโทษพวกเขาเนื่องจากเข้าห้องน้ำบ่อยเกินไป
 
 
Samsung เวียดนาม ยืนยันไม่ปลดพนักงาน แม้ต้องหยุดการผลิต Galaxy Note 7
 
Samsung Electronics ได้ประกาศหยุดการผลิตสมาร์ทโฟน Galaxy Note 7 หลังเปิดตัวได้ไม่ถึง 2 เดือน และไม่สามารถแก้ปัญหาด้านความปลอดภัยที่ยืดเยื้อมานานได้ ส่งผลให้ธุรกิจของบริษัทได้รับผลกระทบรุนแรง อย่างไรก็ตาม บริษัท Samsung เวียดนาม ที่มีพนักงานประมาณ 110,000 คน ได้ออกมายืนยันว่าบริษัทไม่มีแผนปลดพนักงานในปีนี้ 
 
 
Bombardier เตรียมปลดพนักงาน 7,500 ราย
 
บริษัท Bombardier ผู้ผลิตรถไฟและเครื่องบินระดับชั้นนำของฝรั่งเศส เตรียมลดจำนวนพนักงานลง 7,500 ราย เพื่อลดต้นทุนลงตามแผนการปรับโครงสร้างและฟื้นฟูความสามารถในการทำกำไร ซึ่งการปรับลดจำนวนพนักงานดังกล่าวจะใช้เวลากว่า 2 ปี และคิดเป็นสัดส่วนกว่า 10% ของแรงงาน การปรับลดพนักงานครั้งนี้ถือเป็นการปรับลดครั้งที่ 2 ภายในรอบ 8 เดือน ซึ่งคาดว่าจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี 
 
 
แฉโรงงานในตุรกีใช้แรงงานเด็กเย็บเสื้อผ้าให้แบรนด์ดัง
 
รายการพิเศษของของสำนักข่าว BBC ได้เปิดเผยเรื่องการสืบค้นโรงงานเย็บเสื้อผ้าในตุรกีที่ใช้แรงงานเด็กอพยพชาวซีเรียทำการตัดเย็บแล้วส่งไปขายที่อังกฤษในห้าง Marks and Spencer และร้านเสื้อผ้าออนไลน์ Asos โดยในปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยชาวซีเรียจำนวนประมาณ 3 ล้านคนหลบหนีมาพักพิงอยู่ในตุรกี ทั้งนี้ยังมีการเปิดเผยอีกว่า มีผู้ใหญ่ที่หลบหนีอยู่ในตุรกีอย่างผิดกฎหมายทำงานในโรงงานตัดเย็บยีนส์ส่งให้กับห้างเสื้อผ้าชื่อดังเช่น Zara และ Mango ร้านเสื้อผ้าชื่อดังเหล่านี้ล้วนทำเหมือนกับว่า ได้มีการตรวจสอบเครือข่ายผู้ผลิตสินค้าให้ตนอย่างละเอียด และหากพบว่ามีการใช้แรงงานเด็กหรือแรงงานผู้อพยพก็จะยกเลิกการสั่งซื้อสินค้าทันที
 
 
Twitter ประกาศลดพนักงาน 9% ทั่วโลกหลังยังหาผู้ซื้อกิจการไม่ได้
 
Twitter ตัดลดจำนวนพนักงานลงทั่วโลกราว 9 เปอร์เซ็นต์หลังจากสูญเสียรายได้และยังหาคนซื้อกิจการไม่ได้ นอกจากนี้ Twitter ยังลกเลิกการใช้แอพโทรศัพท์มือถือที่ใช้ถ่ายวิดีโอที่เรียกว่า Vine ที่เปิดตัวเมื่อปี 2013 แต่กลับมีคนนิยมใช้น้อย และ Twitter ล้มเหลวในการแข่งขันกับคู่แข่งอย่าง Facebook Snapchat และ Instagram และในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มีข่าวลือออกมาว่า Twitter อาจจะขายกิจการ
 
เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา Jack Dorsey CEO ของ Twitter ปฏิเสธข่าวลือการขายกิจการกับบรรดานักวิเคราะห์ โดยบอกว่าทางบริษัทยึดมั่นในการเสริมสร้างคุณค่าความเป็นผู้ถือหุ้นระยะยาว และตนเองไม่มีแผนที่จะแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมต่อเรื่องนี้อีก หุ้นของ Twitter ได้ตกลงมารวมแล้ว 27 เปอร์เซ็นต์ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาหลังจากผู้สนใจซื้อหลายรายเปลี่ยนใจ แต่ได้เพิ่มขึ้น 34 เซ็นต์หรือ 2 เปอร์เซ็นต์ ไปอยู่ที่ 17 ดอลล่าร์สหรัฐฯ กับ 63 เซ็นต์ในการซื้อขายเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บริษัทแห่งนี้เปิดเผยว่าจะต้องใช้เงิน 10 – 20 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ เป็นค่าใช้จ่ายในการเลิกจ้างพนักงานมากกว่า 300 คน จากจำนวนพนักงานทั้งหมด 3,860 คน
 
 
เกาหลีใต้พิจารณาออกกฏห้ามผู้บังคับบัญชา 'โทรศัพท์-แมสเซจ-โซเชียลเน็ตเวิร์ก' ถึงคนทำงานภาครัฐหลังเลิกงาน 
 
หน่วยงาน Seoul Metropolitan Council (SMG) เตรียมออกกฎใหม่ห้ามไม่ให้หน่วยงานราชการของกรุงโซล ติดต่อด้วยการการโทรศัพท์, ส่งข้อความ หรือใช้สื่อโซเชียลเน็ตเวิร์ก สั่งงานคนทำงานภาครัฐหลังเลิกงาน โดยให้เหตุผลว่าเพื่อปกป้องสิทธิในการพักผ่อนของคนทำงานและป้องกันไม่ให้พนักงานเครียดจากการทำงานมากเกินไป 
 
 
สหรัฐฯ เตรียมอบรมคนงานเหมืองถ่านหินทำงานในทศวรรษหน้า 
       
รัฐบาลสหรัฐอเมริกาประกาศให้เงินทุนมูลค่า 28 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กับแรงงานในอุตสาหกรรมเหมืองจำนวน 42 แห่งทั่วประเทศ เพื่ออบรมพัฒนาความรู้เพิ่ม เพื่อขยับขยายเข้าสู่ตลาดงานใหม่เช่นการบังคบโดรน หรืองานด้านไซเบอร์ซีเคียวริตีรับการเติบโตของตลาดในอนาคต ตัวอย่างที่รัฐเวอร์จิเนีย ได้มีการจัดอบรมการบังคับบโดรนขึ้นที่ Mountain Empire Community College ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณ 2.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนั้น ยังมีงบประมาณอีก 1.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ในการฝึกคนงานเหมืองถ่านหินไปสู่งานด้านไซเบอร์ซีเคียวริตีโดยหวังให้พวกเขาเป็นผู้ประกอบการในธุรกิจนี้ด้วย
 
       
   
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท