Skip to main content
sharethis

หนึ่งในกรณีที่อาจจะส่งผลกระทบต่อกรณีการเลือกตั้งสหรัฐฯ คือกรณีที่ถูกทำให้เป็น "เรื่องอื้อฉาว" เกี่ยวกับการใช้อีเมลของ ฮิลลารี คลินตัน ซึ่งมีการนำเสนอผ่านสื่อและถูกสืบสวนมาตั้งแต่ช่วงกลางปีแล้ว แต่ประเด็นนี้ถูกนำมาขยายอีกครั้งในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง บทความของบีบีซีจึงนำเสนอที่มาที่ไปอย่างกระชับว่าเรื่องราวอีเมลอื้อฉาวที่ว่านี้เป็นอย่างไร

แฟ้มภาพฮิลลารี คลินตัน ระหว่างหาเสียงกับผู้สนับสนุนที่ไอโอวา สหรัฐอเมริกา เมื่อ 24 มกราคม 2016 (ที่มา: Gage Skidmore/Wikipedia)

2 พ.ย. 2559 บีบีซีระบุว่ากรณีอีเมลของฮิลลารี คลินตัน ตัวแทนลงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครต ถูกคุ่แข่งอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ นำมาโจมตีว่าเธอเป็น "อาชญากร" และผลการสำรวจความคิดเห็นก็แสดงให้เห็นว่าคลินตันเสียคะแนนนิยมเพราะเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามทีมของคลินตันก็เริ่มโต้กลับด้วยการบอกว่าสำนักงานสอบสวนกลางหรือ 'เอฟบีไอ' อาจจะกำลังทำผิดกฎหมายที่เปิดเผยเรื่องการสืบสวนอีเมลคลินตันในช่วงใกล้เลือกตั้ง

 

แล้วกรณี "อีเมลของคลินตัน" นี่มันคืออะไร ทำไมเหมือนเป็นเรื่องใหญ่?

เรื่องนี้ย้อนกลับไป 7 ปีที่แล้ว ตั้งแต่สมัยฮิลลารี คลินตัน ยังทำงานเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ แทนที่เธอจะใช้อีเมลของทางการในเว็บ state.gov เธอกลับใช้อีเมลแอดเดรส hdr22@clintonemail.com เป็นทั้งอีเมลส่วนตัวและอีเมลใช้ติดต่อเรื่องงานอีกทั้งยังใช้เซิร์ฟเวอร์ส่วนตัวจากที่บ้านของเธอในนิวยอร์ก

 

อะไรที่ทำให้เรื่องนี้กลายเป็น "เรื่องอื้อฉาว"?

คลินตันพยายามจะบอกกับประชาชนชาวอเมริกันว่าเธอไม่ได้มีข้อมูลแปลกๆ ที่ซ่อนอยู่ในเมลที่เธอสื่อสารกับรัฐบาลหรือสื่อสารกับคนรอบข้าง แต่ก็มีนักวิจารณ์ชี้ว่าการที่เธอส่งเมลด้วยเซิร์ฟเวอร์และอีเมลส่วนตัวของเธอเองทำให้เธอมีความสามารถควบคุมข้อความของเธอได้ทั้งหมด นั่นหมายความว่าเธอจะมีอำนาจควบคมว่าจะส่งข้อมูลหรือไม่ส่งข้อมูลใดให้กับคนในรัฐบาลได้บ้าง

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของความปลอดภัยทางไซเบอร์ มีบางคนวิจารณ์ว่าการที่เธออาศัยเซิร์ฟเวอร์ของัตวเองอาจจะทำให้แฮกเกอร์หรือสายลับจากต่างชาติเจาะเข้าไปได้ง่ายขึ้น แต่ก็เป็นข้อวิจารณ์ที่ไม่มีการพิสูจน์ว่าเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ทั้งนี้แม้แต่เซิร์ฟเวอร์รัฐบาลสหรัฐฯ เองก็ใช่ว่าจะปลอดภัยอย่างเต็มที่ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เองก็เคยถูกแฮกเมื่อปี 2557

 

แล้วเรื่องนี้ถือว่าผิดกฎหมายหรือเปล่า?

บีบีซีระบุว่าเรื่องนี้มีความก้ำกึ่ง แต่อาจจะไม่ถือว่าผิดกฎหมาย กฎมายในตอนนั้นระบุว่าเจ้าหน้าที่รัฐบาลที่ใช้อีเมลส่วนตัวจะต้องส่งอีเมลที่โต้ตบเกี่ยวกับเรื่องที่เป็นทางการให้กับรัฐบาลด้วย ซึ่งคลินตันบอกว่าเธอทำตามกฎหมายนี้จากการที่อีเมลเรื่องงานส่วนใหญ่ส่งไปหาอีเมลของผู้ใช้ที่ใช้บัญชีอีเมลของรัฐบาลทำให้อีเมลเหล่านี้ถูกเก็บเป็นแฟ้มถาวรไว้โดยอัตโนมัติ ถึงแม้ว่าเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมากระทรวงการต่างประเทศในสมัยปัจจุบันจะบอกว่าการที่เธอใช้อีเมลส่วนตัวในเรื่องงานโดยไม่ได้ขออนุญาตถือเป็นการขัดกับนโยบายของรัฐบาลแต่ก็ไม่ได้ถือว่าเป็นอาชญากรรม

 

ทำไมเอฟบีไอถึงพิจารณาเรื่องอีเมลนี้อีกครั้ง?

เจมส์ คอร์นีย์ ผู้อำนวยการเอฟบีไอเขียนถึงสภาคองเกรสอ้างว่าเอฟบีไอพบอีเมลใหม่ที่อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกันกับเรื่องนี้แต่เขาเองก็ยังไม่ได้อ่านอีเมลที่อ้างถึงและยังต้องรอหมายศาล พวกเขาต้องการดูอีเมลคลินตันว่ามีข้อมูลลับของรัฐบาลอยู่ด้วยหรือไม่ แต่มีอีเมลที่พวกเขาต้องพิจารณาอยู่ถึง 650,000 ฉบับ ซึ่งไม่ทันก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นนี้แน่ๆ เรื่องนี้จึงถูกมองว่าเป็นการพยายามทำลายชื่อเสียงของคลินตันรือไม่ในช่วงเหลืออีกไม่นานก็จะมีการเลือกตั้งแล้ว คือในวันที่ 8 พ.ย.

มีการพบอีเมลเหล่านี้ในการสืบสวนอีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับนักการเมืองเดโมแครตอีกคนที่ชื่อ แอนโธนี วีนเนอร์ ด้วย โดยที่วีนเนอร์เป็นที่รู้จักส่วนมากในเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการแสดงออกทางเพศสัมพันธ์ผ่านการส่งข้อความ (Sexting) และรูปที่น่าอายโดยที่เขาแต่งงานแล้ว การถูกเผยแพร่เรื่องนี้ทำให้แยกกันอยู่กับภรรยา ฮูมา อเบดีน ผู้เป็นผู้ช่วยที่ใกล้ชิดกับฮิลลารี คลินตัน แทบจะเหมือนลูกสาวคนหนึ่ง

 

เรื่องแบบนี้โดนัลด์ ทรัมป์ คงดีใจ?

บีบีซีสงสัยว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคลินตันในช่วงนี้อาจทำให้ทรัมป์ฉวยโอกาสชักนำสื่อออกจากเรื่องอื้อฉาวของตัวเขาเองที่เคยพูดล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิง  ด้วยการบอกว่ามันเป็น "เรื่องอื้อฉาวทางการเมืองที่ใหญ่ที่สุด" ในรอบ 40 ปี และอ้างว่าเอฟบีไอคงไม่รื้อคดีนี้อีกครั้งในช่วงนี้ถ้าหากมันไม่เป็น "อาชญากรรมที่ชั่วร้ายสุดๆ"

 

แล้วฮิลลารี คลินตัน โต้ตอบอย่างไร?

ทีมของคลินตันต้องการให้เอฟบีไอเปิดเผยข้อมูลมากกว่านี้โดยเร็วที่สุด คลินตันเองบอกว่าเธอมั่นใจว่าการเปิดเผยอีเมลจะไม่ทำให้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากการสืบสวนเมื่อช่วงเดือน ก.ค. เธอยังกล่าวโจมตีการกระทำของเอฟบีไอด้วยว่า "ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน" และ "มีปัญหาอยู่อย่างลึกซึ้ง"

 

มีการขยายประเด็นในช่วงนี้น่าสงสัยไปไหม?

ทีมของคลินตันคิดวว่าน่าสงสัย กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯก็เสนอแนะให้ เจมส์ โคมี ผู้อำนวยการเอฟบีไออย่าส่งจดหมายนี้ไปที่สภาคองเกรสช่วงใกล้เลือกตั้ง อีกทั้งยังมีการเตือนว่าเอฟบีไออาจจะทำผิดกฎหมาย โคมีเองก็เคยมีประวัติเป็นสมาชิกพรรครีพับลิกันมายาวนานแม้ว่าในปัจจุบันจะไม่ได้เป็นแล้ว

แฮร์รี รีด วุฒิสมาชิกพรรคเดโมแครตวิจารณ์ท่าทีของเอฟบีไอในช่วงที่ผ่านมาว่ามีการเลือกปฏิบัติแบบสองมาตรฐานกับประเด็นข้อมูลที่อ่อนไหวทำให้เอื้อประโยชน์ต่อพรรคการเมืองเพียงพรรคใดพรรคหนึ่ง

 

แล้วมันส่งผลกระทบมากไหม?

บีบีซีระบุว่าคงตอบได้จริงๆ ก็ตอนที่ผ่านพ้นการเลือกตั้งในครั้งนี้ไปแล้ว แต่จากผลการสำรวจโพลก็สะท้อนว่ามีผลแท้จริง เพราะเมื่อสัปดาห์ก่อนฮิลลารี คลินตัน มีคะแนนนำห่างอยู่ 12 จุด แต่ขณะนี้คลินตันมีคะแนนนำโดนัลด์ ทรัมป์เพียง 1 จุดเท่านั้น

เช่นกัน ในท้ายที่สุด เรื่องที่ว่าโค้งสุดท้ายจนถึงวันเลือกตั้งจะมีแต่เรื่องราวที่โดดเด่นของฮิลลารี คลินตัน ตามที่เธอหวังเอาไว้ ได้จบลงแล้วเมื่อหลายเดือนก่อน

และถึงแม้ว่าคลินตันจะชนะเลือกตั้ง แต่ก็หมายความว่าเธอจะเริ่มต้นตำแหน่งประธานาธิบดีด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับอีเมลพวกนี้

 

เรียบเรียงจาก

The most simple explanation of Hillary’s email problem you'll find, we promise, BBC, 31-10-2016 http://www.bbc.co.uk/newsbeat/article/37824415/the-most-simple-explanation-of-hillarys-email-problem-youll-find-we-promise

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net