Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

คนไทยจำนวนมากที่โตมาใต้ระบอบอุปถัมภ์และอำนาจนิยมมักเชื่อในทฤษฎีสมคบคิด ทำให้ชอบหาผู้อยู่เบื้องหลังในเรื่องต่างๆ รวมทั้งเรื่องราคาข้าวที่จริงๆ ใหญ่กว่าผู้นำทุกคนในไทยมาก

ตลาดข้าวเป็นตลาดที่เล็ก (ฝรั่งเรียกว่า ตลาดบาง หรือ Thin Market) ทำให้ประเทศเล็กอย่างไทยที่มีผลผลิตแค่ 5% สามารถยึดตำแหน่งผู้ส่งออกรายใหญที่สุดของโลกมาเป็นเวลาถึง 30 ปี (ก่อนมาเสียตำแหน่งนี้ไปตอนทำโครงการจำนำข้าวปี 2554)

ตลาดที่เล็กทำให้ความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ใหญ่มากสามารถเขย่าตลาดได้ (ราคาผันผวน/หวือหวา) เช่น ในช่วงปี 2551-2552 ราคาข้าวในตลาดโลกขึ้นพรวดพราดดึงราคาข้าวเปลือกขึ้นไปถึง 14,000+ บาท

สถานการณ์ปัจจุบันดูเหมือนจะตรงกันข้าม กล่าวคือราคาข้าวเปลือก รวมทั้งข้าวหอมมะลิ ตกต่ำเป็นประวัติการณ์จนแทบไม่น่าเชื่อ

ถ้าถามว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างกับข้าวในช่วงนี้ คำตอบคือผลผลิตที่ดี การบริโภคและการใช้ที่ลดลง และสต็อกที่สูงมากเป็นประวัติการณ์ ซึ่งทุกปัจจัยชี้ไปในทางเดียวกันคือ ราคาลงในตลาดใหญ่ทุกตลาด (ไม่ใช่แค่ไทย)

ผลผลิตข้าวในปี 2559/60 ประมาณ 483.3 ล้านตัน (น่าจะสูงเป็นประวัติการณ์)
- ผลผลิตข้าวฤดูนี้ในอินเดีย (ที่เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดในสามปีที่ผ่านมา) อาจสูงเป็นอันดับสองในประวัติศาสตร์เพราะได้รับฝนจากลมมรสุมที่ดีกว่าสองปีก่อนมาก
-ผลผลิตของหลายประเทศก็เพิ่มด้วย อินโดนีเซียระบุว่าปีนี้จะไม่นำเข้าข้าว ฟิลิปปินส์อาจนำเข้าลดลง
-ผลผลิตข้าวไทยเพิ่ม ทั้งข้าวขาวและข้าวหอม ข้าวหอมมะลิของไทยน่าเพิ่มขึ้น 1-2 ล้านตันข้าวเปลือกและยังมีข้าวหลุดจำนำโครงการจำนำยุ้งฉางปีก่อนอีกเกือบสามแสนตันด้วย

การบริโภค/ใช้ลดลง
- จีนและไทยใช้ปลายข้าวในการเลี้ยงสัตว์ลดลง (หันไปใช้ข้าวสาลี ซึ่งมีราคาต่ำมากในปัจจุบัน)
- ธนาคารกลางของไนจีเรีย ที่เป็นประเทศผู้นำเข้าข้าวขาวรายใหญ่จากไทย ออกมาตรการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราตั้งแต่กลางปีก่อน ซึ่งกระทบผู้นำเข้าข้าวด้วย การนำเข้าในปีนี้ลดลงหนึ่งแสนตัน และคาดว่าปีหน้าจะลดลงอีกสองแสนตัน

สต็อกข้าวของโลกที่อยู่ในระดับสูงมาก
- กระทรวงเกษตรอเมริกา (USDA) (ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลที่เป็นที่เชื่อถือในเรื่องข้าวมากกว่าองค์กรระหว่างประเทศอย่าง FAO ด้วย) ประมาณการสต็อกข้าวปลายปีนี้ที่ 120 ล้านตัน ซึ่งสูงสุดในรอบ 15 ปี
- สต็อกข้าวของไทยที่ปกติแทบไม่มีในอดีต (เมื่อข้าวฤดูใหม่ออกเรามักส่งออกข้าวส่วนเกินเกือบหมด) ก็ยังมีมรดกจากโครงการจำนำข้าวที่เหลืออยู่ครึ่งหนึ่งคือประมาณ 9 ล้านตัน (ที่แม้ว่าส่วนใหญ่คงเป็นข้าวคุณภาพต่ำหรือเสีย แต่ก็ไม่เป็นที่ประจักษ์ว่าจะมีข้าวที่ยังมีโอกาสออกมาสู่ตลาดโลกได้อีกกี่ล้านตัน ไม่รวมข้าวที่หลุดจำนำโครงการจำนำยุ้งฉางปีที่ผ่านมาอีกเกือบ 3 แสนตัน)

ส่วนต่อไปของบทความนี้ จะกล่าวถึงการวิเคราะห์ตลาดข้าวไทยด้วยทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy Theory) เช่น การกล่าวหาผู้ส่งออกไปทุบ/ตัดราคา โรงสีไม่ยอมซื้อข้าว ฯลฯ ซึ่งตลาดข้าวก็คงเหมือนตลาดอื่นที่นายทุนทุกคนพยายามหากำไร แต่หลายเรื่องอาจถูกสรุป/ฟันธงจากปรากฏการณ์ที่มองเห็นอย่างผิวเผิน

ราคาข้าวถูกกำหนดมาจากไหน

สำหรับประเทศที่ส่งข้าวออกที่สำคัญนั้น ถ้ารัฐบาลไม่ได้มีมาตรการที่มีผลทำให้ราคาในประเทศต่างออกไป (เช่น เข้าไปรับซื้อ รับจำนำข้าว หรือจ่ายเงินอุดหนุน) ราคาในประเทศก็มักถูกกำหนดจากราคาส่งออก หรือที่เรียกกันว่าราคาตลาดโลก (ซึ่งในภาคปฏิบัติจะมีหลายราคา เช่น ข้าวไทยจะแพงกว่าข้าวเวียดนามและอินเดีย แต่ปกติราคาข้าวส่งออกจากสามประเทศนี้มักจะเคลื่อนไหวในขึ้นลงทิศทางเดียวกัน รวมถึงราคาข้าวของสหรัฐอเมริกาด้วย)

ปกติผู้เล่นที่มีความสำคัญและถือได้ว่าเป็น “ผู้สร้าง/กำหนดราคาตลาดโลก” ก็คือกลุ่มผู้ค้าและนายหน้าระหว่างประเทศ (International trader/broker) กลุ่มเหล่านี้มักมีบทบาทเป็นตัวแทนของผู้ซื้อที่จะไปเจรจาซื้อข้าวและเสนอราคาต่อผู้ส่งออกในประเทศต่างๆ โดยเป็นผู้เสนอราคาซื้อ

ถ้าบริษัทผู้ส่งออกตกลงทำสัญญาขาย (ซึ่งมักเป็นสัญญาที่ทำตอนที่ผู้ส่งออกยังไม่มีข้าวอยู่ในมือ หรือที่เรียกว่าเป็น short sale) บริษัทผู้ส่งออกก็มักจะนำราคาดังกล่าวมาทอนเป็นราคาที่จะรับซื้อจากนายหน้า (หยง) และโรงสีในประเทศ ซึ่งมักจะกำหนดตามกันไปเป็นทอดๆ

อย่างไรก็ตาม การที่บริษัทผู้ค้าระหว่างประเทศจะสามารถเสนอราคาที่สามารถตกลงกันได้นั้น บริษัทเหล่านี้ก็ต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับประเทศผู้ขายเป็นอย่างดี ซึ่งส่วนหนึ่งจะได้จากตัวแทนของบริษัทในประเทศผู้ขายด้วย (รวมทั้งข้อมูลจากการเจรจาต่อรองกับบริษัทผู้ส่งออกด้วย)

แต่เนื่องจากกระบวนการหลักคือ บริษัทผู้ส่งออกไปตกลงทำสัญญา “รับออเดอร์” และมากำหนดและแจ้งราคารับซื้อ ก็ทำให้ในกรณีที่บริษัทไปรับออเดอร์มาในราคาที่ต่ำและแจ้งราคารับซื้อที่ต่ำ ก็มักทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่พอใจและกล่าวหาว่าบริษัทเหล่านี้ไป “ขายตัดราคา” และมา “กดราคาซื้อ” ในตลาดในประเทศ บางครั้งก็มีการกล่าวหาว่า บริษัทเหล่านี้ต้องการทุบราคาให้ต่ำๆ เพราะทำให้ “ซื้อง่ายขายคล่อง” และมีกำไรมากขึ้นจากเงินลงทุนที่น้อยลง เพราะรายได้ของบริษัทมาจากการ “กินส่วนต่าง” ซึ่งไม่ได้ลดลงมากเมื่อราคาข้าวต่ำลง

แต่การที่จะสรุปฟันธงเช่นนี้ก็มีข้อควรคำนึงอย่างน้อยสองข้อ คือ
1. ถ้าบริษัทเหล่านี้ไปทำสัญญาขายในราคาต่ำเกินไป แล้วไม่สามารถหาซื้อข้าวในราคาที่ตัวเองจะทำกำไรได้ บ.ผู้ส่งออกก็จะขาดทุน ซึ่งถ้าเราดูรายชื่อผู้ส่งออกรายใหญ่ในช่วงต่างๆ ก็จะเห็นชื่อที่เปลี่ยนไปพอสมควร ซึ่งหลายรายที่หายหน้าหรือลดบทบาทไปก็เกิดจากการขาดทุนในการเก็งราคาข้าว
2. เวลาข้าวขาดตลาด บริษัทเหล่านี้ก็ทำสัญญารับออเดอร์มาได้ในราคาที่สูง และราคาข้าวภายในประเทศก็พุ่งสูงตามด้วยเหมือนกัน ซึ่งบ่งชี้ว่า ในกรณีที่เป็นไปได้ ผู้ส่งออกของไทยก็อยากขายข้าวในราคาแพงมากกว่าราคาถูก

ในกรณีโรงสี ก็มักมีข้อกล่าวหาเรื่องโรงสีกดราคาหรือหยุด/ไม่ยอมซื้อข้าว

ถ้าพิจารณาจากลักษณะของธุรกิจแล้ว โรงสีเป็นผู้รับภาระความเสี่ยงด้านราคามากกว่าผู้ส่งออกเสียอีก เพราะโรงสีที่มีข้าวอยู่ในมือจะขายข้าวได้ง่ายกว่าโรงสีที่ยังไม่มีข้าว
(ถ้าไปไล่ดูโรงสี ก็จะพบว่ามีโรงสีจำนวนมากที่ล้มหายตายจากเพราะการเก็งราคาข้าวผิดพลาด)

โดยทั่วไปแล้วโรงสีก็จะซื้อข้าวโดยทอนจากราคาที่ได้รับแจ้งจากผู้ส่งออกหรือนายหน้า (หยง) แต่ถ้าโรงสีหรือตลาดคาดว่าผลผลิตจะออกมามากแล้วราคาจะต่ำลงอีกในอนาคต โรงสีก็มักต้องปรับตัวด้วยหนึ่งหรือสองวิธีต่อไปนี้คือ
1. หยุดซื้อข้าวไปก่อนแล้วรอไปซื้อในวันหน้าหรือเดือนต่อๆ ไปที่คาดว่าราคาจะต่ำลง
หรือ 2. รับซื้อในราคาที่คาดว่าจะต่ำลงในอนาคต

โดยทั่วไปแล้ว การเปลี่ยนแปลงราคาที่สำคัญมักจะเกิดในช่วงฤดูใหม่ ซึ่งราคาใหม่จะขึ้นกับการคาดการณ์อนาคตของฝ่ายต่างๆ (ซึ่งมักมีผลทำให้ราคาต้นฤดูใหม่ไม่ได้เป็นเส้นที่วิ่งต่อจากกราฟเดิม แต่อาจจะกระโดดขึ้นหรือลงจากเดิมอย่างมากก็เป็นได้)

โดยทั่วไปแล้วอนาคตจะมีทั้งส่วนที่เป็นแนวโน้มที่พอคาดการณ์ได้ล่วงหน้า กับส่วนที่คาดการณ์ได้ยากหรือเกิดขึ้นกะทันหัน (เช่น น้ำท่วมหนักในบางปี)

ในประเทศที่ระบบข้อมูลไม่ดี โอกาสที่คาดการณ์ผิดหรือเกินความจริงย่อมมีมากกว่า และอาจมีผลทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องใช้วิธีตั้งราคาแบบที่ป้องกันตัวเองไว้ก่อน (Play Safe) ทำให้มีความเป็นไปได้มากที่เราจะเห็นราคาขึ้นลงมากกว่าที่ควรจะเป็น (overshoot) (เช่น กรณีราคาข้าวหอมมะลิ) ต่อเมื่อมีข้อมูลที่ชัดเจนขึ้น ราคาก็จะปรับมาสู่จุดที่สมเหตุสมผลมากขึ้น

ซึ่งในกรณีหลัง (ที่ผู้ที่เกี่ยวข้องขาดข้อมูลที่แม่นยำ) บทบาทที่รัฐบาลจะทำได้ดีกว่าคือการลงทุนสร้างระบบติดตามข้อมูลทางภูมิศาสตร์ที่จะช่วยให้ฝ่ายต่างๆ สามารถคาดการณ์อนาคตได้แม่นยำมากขึ้น ไม่ใช่ไปกล่าวหาหรือชี้หน้าด่าใครต่อใครว่าสมคบคิดกันทุบราคาข้าว ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วไม่ว่านักธุรกิจหรือนักการเมืองไทยส่วนใหญ่ไม่ได้มีศักยภาพที่จะทำเช่นนั้นได้ แม้กระทั่งบริษัทธุรกิจเกษตรระดับข้ามชาติของไทยก็เคยคาดการณ์ผิดและเจ็บตัวจากการเก็งตลาดข้าวผิดพลาดในช่วงที่มีการจำนำข้าวมาแล้ว     

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net