ตัวฉันกับลูกเรือ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

“พี่ยังจำได้รึเปล่า ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนเรือ”

ฉันจ้องมองไปยังคนที่กำลังสัมภาษณ์เพื่อเตรียมตัวเขา ก่อนที่เขาจะเข้าสู่กระบวนการทางศาล คนที่ฉันกำลังคุยอยู่ด้วยนี้เป็นอดีตลูกเรือประมงนอกน่านน้ำ เขาผ่านเรื่องราวอันเลวร้ายแบบที่ฉันไม่เคยคิดว่ามนุษย์จะพึงกระทำต่อกัน ฉันมีโอกาสได้คุยกับเขาในครั้งนี้ เพราะมูลนิธิส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) หิ้วฉันไปทำงานด้วย ขณะเยี่ยมบ้าน

“พี่จำได้ว่าพี่ถูกตี ไม่ใช่ตีแบบตบหัวตบหน้าแบบล้อเล่นนะ แต่เขาทุบจนเราล้ม แล้วก็ทุบเราซ้ำ เสร็จแล้วก็เรียกเรามาทำงานต่อ” เขาพูดออกมาเหมือนเรื่องที่เขากำลังเล่าอยู่นั้นเป็นเรื่องปกติที่เขาเผชิญในการทำงาน

แม้ว่าขณะนั้นหน้าที่ของฉันคือการเตรียมเคส แต่บางโอกาสฉันยอมรับว่าด้วยความอยากรู้อยากเห็นในฐานะคนเคยทำงานวิจัย ฉันจึงได้ทราบว่าในชุมชนที่ชายที่ฉันกำลังคุยด้วยเป็นหมู่บ้านที่มีเด็กผู้ชายจำนวนมากได้ตัดสินใจลงเรือ ไปพร้อมความหวัง มันเป็นความหวังเล็กๆ ที่หวังว่าเมื่อเขาออกจากบ้านไปแล้วเขาจะประสบความสำเร็จในชีวิต เรื่องราวเล็กๆ นี้ชวนให้ฉันคิดถึงเหตุการณ์ที่นักวิชาการ เช่น ยศ (2535) และ นิวัติ (2541) นำเสนอภาพผู้หญิงเหนือที่ไปตกเขียวที่ภาคใต้ ว่ามีความสลับซับซ้อน และไม่ได้มีเพียงมิติปัจจัยทางเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง หากแต่สัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับมิติทางสังคมวัฒนธรรม ภายใต้มิติดังกล่าว “ความสำเร็จ”  ของ “ลูกสาวที่ดี” มีส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงกลุ่มดังกล่าวตัดสินใจเข้ามีส่วนในขบวนการตกเขียว [1]

ดังนั้นการพิจารณาสาเหตุที่เด็กชายเข้าไปทำงานบนเรือประมง เราไม่อาจที่จะมองแต่เพียงมิติทางเศรษฐกิจเท่านั้น เพราะแน่นอนที่สุดว่าปัจเจกไม่ได้ประกอบแต่เพียงด้านที่เราตัดสินใจด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจเท่านั้น หากแต่ปัจเจกยังมีมิติทางด้านอารมณ์ (emotional being) ที่ต้องการประสบความสำเร็จ การได้รับการยอมรับ แม้ว่าจะตระหนักถึงความเสี่ยงในการตัดสินใจไปทำงานดังกล่าว [2]

แม้ว่าฉันจะไม่แน่ใจนักว่าการเปรียบเทียบแรงงานสองกลุ่มนี้จะเป็นการเปรียบเทียบที่ผิดฝาผิดตัวหรือไม่  แต่สำหรับฉันแล้วทั้งสองกลุ่มแสดงให้เห็นถึงเงื่อนไขที่ต่างในชีวิตที่นำไปสู่การเลือกวิธีการใช้ชีวิตที่ต่างกัน เพื่อจะนำไปสู่การประสบความสำเร็จที่แตกต่างกัน หากนาผืนน้อยของผู้หญิงมีค่าบริการเป็นพื้นที่ในการแสวงหาความมั่งคั่งและสร้างชีวิตของตัวเธอ ร่างกายของลูกเรือประมงก็ทำหน้าที่ในลักษณะเดียวกัน หากแต่ต่างกรรมต่างวาระ และนำไปสู่ความเสี่ยงในชีวิตอันเนื่องมาจากสภาพการทำงานที่ต่างกัน

แต่คำถามที่น่าสนใจ คือ บนข้อเท็จจริงที่ว่าในการทำงานแรงงานต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการทำงานไม่ว่างานแบบใด เช่น ความเจ็บป่วย อุบัติเหตุจากการทำงาน หรือแม้กระทั่งการโกงแรงงานโดยนายจ้าง  แรงงานเหล่านั้นจะสามารถต้านทานและรับมือกับความเสี่ยงดังกล่าวได้หรือไม่?

ในการตอบคำถามในมิติดังกล่าวฉันคิดว่าเราต้องทำความเข้าใจกรอบคิดเกี่ยวกับเรื่องต้นทุนในชีวิต (Capitals) ทั้งในแบบที่เป็นตัวเงิน และต้นทุนที่ไม่เป็นตัวเงิน นับตั้งแต่ แรงงานซึ่งเป็นทุนอย่างแรกที่สุดในชีวิตนุษย์, ทุนทางสังคม วัฒนธรรม การเมือง, ทุนทางความรู้ในแบบที่ถูกจัดว่าเป็นความรู้ที่ถูกยอมรับในโลกสมัยใหม่ ซึ่งจะทำให้ปัจเจกเข้าสู่โอกาสทางอาชีพ, เครือข่ายทางสังคมเช่น เครือญาติ ชุมชน ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ปัจเจกเข้าถึงโอกาสโดยอาศัยทุนเหล่านี้, หรือแม้กระทั่งการเข้าถึงระบบคุ้มครองทางสังคมทั้งในความหมายอย่างแคบคือระบบคุ้มครองโดยภาครัฐเช่นการรักษาพยาบาล และความคุ้มครองในทางสังคมอย่างกว้างซึ่งหมายถึงการดูแลคุ้มครองในระบบเครือญาติอย่างไม่เป็นทางการ การเข้าถึงทุนต่างๆ ที่ได้กล่าวไปเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ปัจเจกเลือกหยิบใช้เพื่อกำหนดรูปแบบการดำรงชีวิต (Livelihood) [3] แบบหนึ่ง และกำหนดความสามารถ (Capacity) ในการจัดการและต่อรองกับความเสี่ยงในชีวิตในระดับที่แตกต่างกัน (Alison & Ellis, 2001; Chamber & Conway, 1991) เมื่อใช้แนวคิดเรื่องทุนเหล่านั้นเป็นกรอบในการวิเคราะห์หน่วยทางสังคมตั้งแต่ปัจเจกจนถึงชุมชนในบริบทของความเสี่ยงในชีวิต หรือต่อชุมชน จะทำให้เห็นระดับของความเปราะบางทางสังคมที่หน่วยวิเคราะห์กำลังเผชิญต่อความเสี่ยงและความไม่แน่นอนในชีวิต (Allison & Horemans, 2006)

แน่นอนที่สุดเมื่อฉันถามคนที่อยู่ตรงหน้าฉัน มันไม่ง่ายนักที่จะถามว่าเขามีทุนอะไรบ้างในชีวิตและตอนนี้เขาเหลืออะไรบ้าง เพราะการนั่งคุยกับคนจริงที่มีเลือดเนื้อ แน่นอนว่ามันต่างจากการอ่านข้อถกเถียงเชิงทฤษฎี เพราะการถกเถียงกับทฤษฎีเราจะวิพากษ์ (Criticize) รื้อสร้าง (deconstruct) ประกอบสร้างใหม่ (re-construct) กี่ครั้งก็ได้อย่างที่เราไม่ต้องกลัวว่าตัวทฤษฎีพวกนั้นจะเจ็บปวด แต่เมื่อเราต้องอยู่กับคนที่เจ็บได้ ร้องไห้เป็น การถามคำถามจำเป็นที่จะต้องทำอย่างระมัดระวังอย่างยิ่ง และบางครั้งก็เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องใช้ข้อมูลจากหลายๆ แหล่งเพื่อประกอบเป็นภาพของชีวิตคนหนึ่งคน ยิ่งไปกว่านั้นฉันต้องตระหนักในฐานะของตัวเอง ณ ขณะที่ถามอยู่ตลอดเวลาว่าฉันกำลังถามเขาในฐานะอะไร บางครั้งฉันต้องถามในบทบาทที่ฉันเข้ามาเพื่อเตรียมเคสที่กำลังจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่ในบางขณะฉันก็จำเป็นที่จะต้องสลับตัวเองเป็นนักวิจัยที่เก็บข้อมูลจากลูกเรือ เพื่อนำมาเขียนเป็นรายงานเพื่อป้อนเข้าสู่กระบวนการทำให้กลายเป็นวิชาการ อันจะทำให้ข้อมูลเหล่านี้กลายเป็นความรู้ในแบบที่ถูกจัดว่าเป็นความรู้โดยสถาบัน (institutionalized knowledge) ที่จะสามารถถูกใช้เพื่อคัดง้างกับชุดความรู้อื่นๆ ที่มุ่งอธิบายสภาวะของตัวผู้ที่ฉันสัมภาษณ์ด้วยความรู้ชุดอื่นๆ ได้ (Escobar, 1995)  หากสองบทบาทนี้สามารถแยกออกจากกันได้อย่างเด็ดขาดก็คงจะไม่ได้มีปัญหามากนัก แต่บ่อยครั้งสองบทบาทนี้ก็ดำเนินไปด้วยกัน อย่างซับซ้อนย้อนแย้ง  ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของฉันเองที่จะต้องวางน้ำหนักทั้งสองบทบาทให้ไม่ขัดหรือแย้งกันจนมากเกินไปนักเพื่อให้งานของฉันดำเนินต่อไปได้ ภายใต้หน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมาย

“ในชุมชนนี้ เราไม่มีอะไรที่จะทำได้มากนักหรอก นาก็โดนเปลี่ยนเป็นสวนยางไปแล้ว แล้วราคายางก็ตก มันก็คงจะเป็นเรื่องปกติแหละที่พอเป็นวัยรุ่นก็จะย้ายเข้าไปทำงานในเมืองกัน”

เคสอีกท่านเล่าให้ฉันฟังภายหลัง ซึ่งก็ช่วยให้ฉันเห็นสภาพของการเปลี่ยนแปลงและแรงดึงดูดที่ทำให้คนหนุ่มสาวออกจากบ้านเกิดเพื่อไปทำงานในเมืองในพื้นที่เมืองซึ่งเป็นพื้นซึ่งถูกเชื่อว่านำมาซึ่งโอกาสในชีวิตแก่พวกเขาและเธอได้ แม้ว่าการย้ายถิ่นฐานเพื่อออกไปทำงานจะเป็นกิจกรรมที่อาจจะนำรายได้ที่มากขึ้นเข้ามาสู่ครัวเรือน แต่ในขณะเดียวกันการย้ายถิ่นฐานก็ตัดพรากเอาความคุ้มครองทางสังคมในแบบที่ไม่เป็นทางการ เช่น ระบบเครือญาติ ระบบชุมชน เพื่อไปพึ่งพาระบบความคุ้มครองทางสังคมที่เป็นทางการของภาครัฐ โดยอาศัยกฎหมาย และกลไกช่วยเหลือที่ถูกวางระบบอย่างสลับซับซ้อน เช่น โรงพยาบาล ประกันสังคม แต่ฉันไม่ค่อยแน่ใจนักว่าแรงงานข้ามถิ่น (Internal migrant) เหล่านี้แม้จะอยู่ในประเทศของตัวเอง จะสามารถเข้าถึงระบบความคุ้มครองที่เป็นทางการเหล่านั้นได้อย่างง่ายดายและเสรี อันเนื่องจากทุนที่มีอยู่อย่างจำกัดในชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้ย้ายถิ่นเหล่านั้นพบว่าตัวเองอยู่ในสถานะของลูกเรือประมงนอกน่านน้ำ ซึ่งสภาพการทำงานที่เต็มไปด้วยการขูดรีดแรงงาน

เมื่อแรงงานเข้าไปทำงานบนเรือ ดังเช่นงานศึกษาของสุปรางค์ จันทวานิช และคณะ (2016) ได้นำเสนอให้เห็นสภาพการทำงานบนเรือ โดยเฉพาะในส่วนของประมงนอกน่านน้ำ แรงงานจำนวนมากมักจะต้องทำงานเป็นระยะเวลาที่ต่อเนื่องยาวนาน ปราศจากอุปกรณ์คุ้มครองการทำงาน และความช่วยเหลือจากเครือข่ายทางสังคมแบบใดๆ ก็ตามเท่าที่จะจินตนาการได้ขณะที่อยู่บนเรือ แรงงานจำนวนมากก็มีแนวโน้มว่าจะถูกทำร้ายร่างกาย (Battered) ข่มเหงรังแก (Abused) ในขณะที่มีอำนาจในการต่อรองน้อยเหลือเกิน ซึ่งก็สอดคล้องกับเรื่องเล่าของลุงลูกเรือที่ฉันได้คุยเพื่อทำความเข้าใจก่อนขึ้นศาลที่ว่า

“โดนตีบนเรือเป็นเรื่องปกติ เขาสั่งให้ทำอะไรก็ต้องทำ เพราะเราอยู่กลางทะเล เกาะก็ไม่มี แล้วเราจะหนีไปไหน”

สำหรับฉันแล้วสภาพเช่นนี้ ดูเป็นสภาพที่หดหู่เพราะมันดูราวกับว่าตัวแรงงานถูกปลดเปลื้องทุนในชีวิต และการช่วยเหลือทางสังคมทั้งหมดอย่างสูญสิ้น สิ่งที่ลูกเรือมีเหลือเพียงแค่ “ร่างกาย” ซึ่งเป็นทุนเพียงอย่างเดียวที่ติดตัวมาเมื่อเกิดและจะหมดไปเสื่อมราคาไปพร้อมกับชีวิตของตัวลูกเรือ โดยในบริบทนี้ทุนที่ลูกเรือมีจะถูกใช้เพื่อเพียงทำงานเพื่อประโยชน์ของนายจ้าง โดยการต่อต้านขัดขืนอาจแลกมาด้วยชีวิตของลูกเรือเอง เรื่องราวเหล่านี้ชวนให้ฉันคิดถึงพื้นที่ยกเว้น (exceptional space) ที่มนุษย์ผู้ปราศจากการคุ้มครองจากกฎหมายของรัฐ พวกเขาและเธอกลายเป็นเพียงร่างกายที่เปล่าเปลือย (Naked Body) และพร้อมจะถูกทำร้ายและขูดรีด (Argumben, 2005 cited in Kusakabe & Pearson, 2016) บนเรือประมงนี้ก็เช่นกัน ที่แรงงานเหล่านี้ถูกลดทอนจากมนุษย์ผู้มีศักดิ์ศรี กลายเป็นเพียงร่างกายที่ปราศจากอาภรณ์ที่พร้อมจะถูกทิ่มแทง

แม้ลูกเรือสามารถกลับขึ้นมาบนฝั่ง การเรียกร้องสิทธิของตัวแรงงานเองก็อาจไม่ง่ายนักภายใต้ทุนในชีวิตที่จำกัด เราอาจลองจินตนาการว่าหากเราเป็นชายคนหนึ่งผ่านการถูกทำร้าย ตัวเขาถูกสังคมที่เขาอยู่บอกเขาว่าเขาเป็นคนไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต เมื่อเขากลับมาชุมชนเขาใช้ชีวิตอยู่กับพี่ชายที่อยู่ในสภาพเงื่อนไขในชีวิตไม่ต่างจากเขา ซ้ำร้ายเขายังปราศจากเครือญาติซึ่งจะเป็นความคุ้มครองทางสังคมยามที่เขาเผชิญกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันในชีวิต ตัวเขาปราศจากคุณวุฒิจากการศึกษาในระบบการศึกษาภาคบังคับ สิ่งที่เขามีคือร่างกายที่ใช้มันทำงานเพื่อแลกเงินในการดำรงชีวิตให้พอยังชีพในแต่ละวัน

คำถามที่ชวนพิจารณา คือ ระบบกระบวนการยุติธรรมของภาครัฐซึ่งควรจะเป็นที่พึ่งให้กับผู้ประสบปัญหาในปัจจุบัน ได้พิจารณาหรือไม่ว่าทุนในชีวิตที่พวกเขามีเอื้อให้เขาเหล่านั้นสามารถใช้สิทธิในฐานะผู้เสียหายอย่างเต็มประสิทธิภาพหรือไม่  และหน่วยงานเหล่านั้นพิจารณาหรือไม่ถึงความต้องการของพวกเขาในการที่จะเยียวยาตัวเอง ทั้งทางร่างกายและจิตใจ การคุ้มครองตัวพวกเขาเองจากการคุกคามจากฝ่ายนายจ้าง ก่อนที่จะต้องไปต่อสู้ในชั้นศาล ตลอดจนถึงการเตรียมตัวเขาให้คุ้นชินกับบรรยากาศในศาลซึ่งเต็มไปด้วยความเคร่งขรึมที่ถูกสถาปนา อบอวลไปด้วยบรรยากาศที่ไม่เป็นมิตรต่อผู้ด้อยอำนาจ ภาษาที่แม้จะเข้าใจภาษาไทยได้เป็นอย่างดีก็ไม่อาจที่จะทำความเข้าใจได้ง่ายๆ และแน่นอนที่สุดการทิ่มแทงและหว่านล้อมด้วยถ้อยคำจากทนายฝ่ายนายจ้างที่จะมุ่งแต่คอยจะตอกย้ำให้ตัวลูกเรือเอง หรือศาลผู้ตัดสินคดีเชื่อว่า ความเสี่ยงในชีวิตของลูกเรือเป็นเรื่องที่ลูกเรือต้องรับผิดชอบ หรืออย่างเลวร้ายที่สุดคือการทำให้เรื่องราวที่เกิดขึ้นกับลูกเรือกลายความผิดของลูกเรือเอง เพื่อเป้าหมายเพียงอย่างเดียวคือชัยชนะของผู้ที่จ้างพวกเขา/เธอ

คำถามเหล่านี้ยังคงเป็นคำถามที่ยังคาใจฉันในฐานะอดีตนักศึกษากฎหมายคนหนึ่งเหลือเกินว่า หน่วยงานรัฐที่เราเชื่อว่า(อาจ)ช่วยดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมได้พิจารณามิติที่ฉันได้กล่าวไปหรือไม่ หากไม่ ฉันยังสงสัยว่าเราสามารถนับหน่วยงานเหล่านั้นว่าเป็นหน่วยงานที่จะอำนวยความยุติธรรมให้กับคนในเขตพื้นที่รัฐไทยได้หรือไม่ และบนเงื่อนไขแบบใด

ในท้ายที่สุดก่อนที่ฉันจะออกมาจากที่นั่นเพื่อเผชิญกับเรื่องราวชีวิตของตัวฉันเอง เรื่องราวของลูกเรือก็ยังทิ้งคำถามให้ฉันลองจินตนาการว่าหากชายที่ฉันพูดคุยชนะและได้เงินทุนก้อนหนึ่งมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ ภายใต้ความขัดสนของทุนชนิดอื่นๆ ที่ได้กล่าวมาข้างต้น ประกอบกับการถูกกดทับ และการตีตราว่าเป็นพวกไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ลูกเรือที่ฉันมีโอกาสพูดคุยด้วยต้องเผชิญมาตลอดชีวิต น่าคิดเหลือเกินว่าโดยปราศจากการให้ความช่วยเหลือ และกระบวนการเสริมพลังอำนาจ (Empowerment) แก่ตัวเขา เขาจะเดินต่อไปอย่างไร พวกเขาจะมีสามารถใช้ทุนที่พวกเขามีให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ตัวเองโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะยาวได้หรือไม่และหากได้ เขาทำได้อย่างไร

ฉันก็คงได้แต่หวังว่าหากฉันเจอเขาอีกครั้ง ฉันจะได้เห็นชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น อย่างน้อยที่สุดในแบบที่พวกเขาเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีสำหรับตัวเขาเอง โดยอย่างน้อยที่สุดฉันก็หวังว่าเมื่อเราเจอกันอีกครั้ง เราสามารถพูดคุยกันโดยที่ฐานะของฉันไม่ใช่คนเตรียมเคส และเขาไม่ใช่ผู้เสียหาย

 

*กราบขอบพระคุณมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน
*แด่พี่ลูกเรือที่ยังคงติดค้างอยู่ที่ประเทศอินโดนีเซียทั้งที่มีลมหายและลมหายใจและรอวันกลับบ้าน

เอกสารอ้างอิง
Allison, E. H., & Ellis, F. (2001). The livelihood Approach and Management of Smaill-scale Fisheries. Marine Policy, 25, 377-388
Allison, E. H., & Horemans, B. (2006). Putting the Principles of the Sustainable Livelihoods Approach into Fisheries. Development Policy and Practice. Marine Policy, 30, 757-776.
Chantavanich .S, et al (2016). Under The Shadow: Forced Labour Among Sea fishers in Thailand. Marine policy, 68, 1-7
Escobar. A (1995). “The Problematization of  Poverty: The Tales of Three worlds and Development” In Encountering Development: The Making and Unmaking the Third world (Princeton, NJ: Princeton University Press), 21-54
Kusakabe, K., & Pearson, R. (2016). Working through Exceptional Space: The Case of Women Migrant Workers in Mae Sot, Thailand. International Sociology, 1-18.
นิวัตร รมิตานนท์ (2541). “ชุมชนค้าประเวณี”, เชียงใหม่ : ศูนย์สตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
ยศ สันตสมบัติ (2535). “แม่หญิงสิขายตัว : ชุมชนการค้าประเวณีในสังคมไทย”, พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : สถาบันชุมชน- ท้องถิ่นพัฒนา.

 

[1] ตกเขียวเป็นคำที่ใช้เรียกผู้หญิงภาคเหนือโดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดพะเยาที่ไปขายบริการทางเพศในพื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทย และต่างประเทศในช่วงประมาณปี 2529 เป็นต้นมา
 
[2] อันที่จริงแล้วฉันคิดว่าประเด็นนี้มีมิติของเพศสภาพเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างเข้มข้นในแง่ที่ความคาดหวังทางเพศ (gender expectation) อาจนำไปสู่การตัดสินใจเข้าไปสู่พื้นที่งานที่แตกต่างกัน และนำผู้ชายเข้าไปสู่งานบนเรือที่ถูกคุณค่าว่าเป็นพื้นที่งานของผู้ชาย อย่างไรก็ตามข้อสันนิษฐานนี้จำเป็นที่จะต้องมีการเก็บข้อมูลโดยละเอียด เพื่อยืนยันข้อพิสูจน์ โดยงานวิจัยในอนาคต
 
[3] กระบวนทัศน์ของการใช้ชีวิต (Livelihood) ถูกประดิษฐ์โดย Chamber & Conway (1991) เพื่ออธิบายเงื่อนไขของการเลือกใช้ชีวิต ความยากจน และการรับมือกับความยากจนในสังคมชนบทโดยมุ่งหมายที่จะใช้มุนษย์เป็นศูนย์กลาง ซึ่งแตกต่างจากทฤษฎีก่อนหน้าซึ่งเน้นไปยังโครงสร้างสังคมแต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่ได้พิจารณาปัจเจกในฐานะผู้เลือกการใช้ชีวิต กระบวนทัศน์การใช้ชีวิตมิได้อธิบายอย่างแคบๆ เพียงแค่อาชีพที่ปัจเจกทำ แต่กระบวนทัศน์การใช้ชีวิตมุ่งเน้นอธิบายการใช้ทุนต่างๆ ที่ปัจเจก หรือครัวเรือน (Household) ถือครองและเข้าถึงเพื่อดำเนินชีวิต ตลอดจนถึงเมื่อปัจเจกหรือครัวเรือนต้องเผชิญกับความเครียด (Stress) และผลกระทบฉับพลัน (Shock) ทุนเหล่านั้นจะกำหนดกลยุทธ์ในการรับมือกับความเครียด และผลกระทบฉับพลันดังกล่าว เพื่อดำรงไว้ซึ่งกระบวนทัศน์การใช้ชีวิตแบบหนึ่ง ซึ่งการเข้าถึงทุนนั้นก็ถูกจำกัด ทั้งปัจจัยเชิงสถาบัน เช่น กฎหมาย กติกาสังคมและวัฒนธรรม เพศสภาพ ที่ทำให้การเข้าถึงทุนต่างๆ มีข้อจำกัด

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท