กลุ่มคนที่ไม่ถูกมองเห็นในการแก้ไขปัญหาที่ชาวมุสลิม-โรฮิงญาต้องเผชิญในรัฐยะไข่

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ชาวมุสลิม-โรฮิงญามีความเป็นอยู่ยากลำบากในรัฐยะไข่และมีความเสี่ยงในการย้ายถิ่นข้ามชาติอย่างผิดกฎหมายมายาวนาน แต่ความสนใจของประชาชมคมโลกในนามนักสิทธิมนุษยชนและผู้รักษาความสงบมั่นคงแห่งชาติเพิ่งเกิดกว้างขวางหลังเกิดเหตุความรุนแรงในรัฐยะไข่เมื่อปี 2012 และการเติบใหญ่ของขบวนการค้ามนุษย์ที่มีศูนย์กลางในประเทศไทยนับตั้งแต่ปี 2013 บทความนี้สำรวจชีวิตคนหลายกลุ่มที่มีลมหายใจแต่ไม่ถูกมองเห็นในกระแสแก้ไขปัญหาที่ชาวมุสลิม-โรฮิงญากำลังเผชิญในยะไข่และตลอดเส้นทางการย้ายถิ่นทางทะเล

 

จุดตรวจก่อนเข้าชุมชนโรฮิงญา ที่รัฐยะไข่ ประเทศพม่า

มุสลิม-โรฮิงญาในรัฐยะไข่ ประเทศพม่า

ทำไมผู้เขียนจึงใช้คำว่า ‘มุสลิม-โรฮิงญา’ ประเด็นแรก ต้องการนำเสนอข้อถกเถียงเชิงประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ดังได้อภิปรายไว้ในหนังสือเรื่อง มุสลิม-โรฮิงญา คนไร้รัฐ ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์และความขัดแย้ง ประเด็นที่สอง ผู้นับถือศาสนาอิสลามในยะไข่ไม่ได้มีเพียงกลุ่มชนที่ประชาคมโลกรับรู้ในนาม ‘โรฮิงญา’

การสัมภาษณ์ผู้คนที่อาศัยอยู่ในค่าย IDP (Internal Displaced Person) หรือ ค่ายอพยพสำหรับผู้ลี้ภัยภายในประเทศในยะไข่เมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2015 ที่ผ่านมา มีผู้นับถือศาสนาอิสลามที่เรียกตัวเองแตกต่างกันไปอย่างน้อย 3 กลุ่ม (1) คามาน (2) อาระกัน (3)โรฮิงญา แม้ชนสองกลุ่มแรกบางส่วนมีบัตรประจำตัวบางชนิดที่รัฐบาลออกให้ บางส่วนมีบัตรประจำตัวประชาชน ทว่าผู้นับถือศาสนาอิสลามไม่ว่ากลุ่มใด ได้รับสิทธิทางกฎหมายในระดับไม่ต่างจากกลุ่มชนที่รับรู้ในนามโรฮิงญา ทั้งหมดต้องอาศัยอยู่ใน IDP หรือชุมชนซึ่งถูกควบคุมเส้นทางเข้าออกที่เชื่อมติดกับแผ่นดินรัฐยะไข่โดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเข้มงวดจนแทบไม่ต่างจากค่ายกักกัน

ภาวะไร้รัฐและการถูกจำกัดสิทธิของผู้นับถือศาสนาอิสลามในยะไข่ได้ผลักดันให้คนกลุ่มนี้ที่จำนวนมากเป็นกลุ่มชนที่รับรู้ในนาม ‘โรฮิงญา’ ต้องพึ่งพาการย้ายถิ่นผิดกฎหมายเพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ในต่างแดน ส่วนชาวคามานและชาวอาระกันที่นับถือศาสนาอิสลามกลับแทบไม่อยู่ในการรับรู้ ไม่ถูกพูดถึง และไม่ได้รับความสนใจจากประชาคมโลกมากนัก

ผู้นับถือศาสนาพุทธในยะไข่หรือที่รับรู้โดยทั่วไปในนามชาวยะไข่

นอกจากความสนใจของประชาคมโลกต่อกลุ่มชนที่รับรู้ในนามโรฮิงญาได้บดบังความทุกข์ยากของผู้นับถือศาสนาอิสลามกลุ่มอื่นๆ ยังกดทับปัญหาปากท้องและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้นับถือศาสนาพุทธในยะไข่ด้วย เรื่องราวของชาวพุทธมิเพียงแทบไม่ปรากฏในพื้นสื่อสารมวลชนต่างประเทศ ทว่าบางกรณียังฉายภาพชาวพุทธในฐานะผู้กระทำ ผู้ใช้ความรุนแรง แม้มีข้อเท็จจริงเชิงปรากฏการณ์อยู่บ้าง แต่รากเหง้าซึ่งเป็นที่มาของพฤติกรรมกลับมีอย่างจำกัด

การสัมภาษณ์นักพัฒนาเอกชน สัญชาติพม่า ผู้เคยทำงานในยะไข่ช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 (ปัจจุบันทำงานพัฒนากับสถานทูตแห่งหนึ่งประจำย่างกุ้ง) สะท้อนว่า การทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชนต่างประเทศ (INGO) ที่เขาเคยทำงานในขณะนั้น เน้นความสำคัญเฉพาะกลุ่มมุสลิม-โรฮิงญา เพราะถูกกำหนดจากแหล่งทุนต่างประเทศว่ายากจนและเปราะบางที่สุด การทำงานลักษณะนี้มีส่วนสร้างความไม่พอใจในกลุ่มชาวพุทธที่มองว่าตัวเองไม่ได้รับโอกาสและความช่วยเหลือที่เท่าเทียมกับผู้นับถือศาสนาอิสลาม แม้ว่าชาวพุทธในยะไข่มีสิทธิพลเมือง ทว่ารัฐยะไข่แทบไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาลพม่า ความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่โดยภาพรวมจึงมีสภาพด้อยพัฒนาไม่ต่างกัน ในเวลาต่อมานักพัฒนาเอกชนที่ทำงานในพื้นที่และแหล่งทุนเริ่มสัมผัสถึงความขุ่นเคืองที่เกิดจากความไม่เท่าเทียมของการกระจายทรัพยากรผ่านโครงการพัฒนา จึงปรับทิศทำงานโดยใช้หลัก Do No Harm หรือหลักการไม่สร้างความขัดแย้ง ทว่าภาพที่ปรากฏในหน้าสื่อปัจจุบันแทบไม่ต่างจากเดิม ชาวพุทธในยะไข่ยังคงได้รับความสนใจจากประชาคมโลกอย่างจำกัด การปรากฏตัวของบุคคลระดับโลกต่อปัญหาในรัฐยะไข่มักแสดงเจตนาที่ต้องการตอบสนองต่อปัญหาที่ชาวมุสลิม-โรฮิงญาเผชิญ การสร้างสันติภาพและการยุติความขัดแย้งภายในสังคมท้องถิ่นแทบไม่ถูกพูดถึง ผลที่ตามมาคือ ความขุ่นเคืองของผู้นับถือศาสนาต่างกัน อันมีปัจจัยหนึ่งจากการกระจายทรัพยากรและความสนใจของประชาคมโลกยังคงดำเนินต่อไป การต่อต้านความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อปี 2012 ของผู้นับถือศาสนาพุทธในยะไข่ เพราะมองว่าองค์กรเหล่านั้นให้ความช่วยเหลือเฉพาะชาวมุสลิม-โรฮิงญา และยังส่งผลต่อความยากลำบากในการทำงานพัฒนาในรัฐยะไข่ปัจจุบันสะท้อนบรรยากาศเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี

การย้ายถิ่นข้ามชาติโดยผิดกฎหมายและการปราบปรามการค้ามนุษย์ในประเทศไทย

ภาวะไร้รัฐและการถูกจำกัดสิทธิการเดินทางผลักดันให้ชาวมุสลิม-โรฮิงญาต้องพึ่งพาการย้ายถิ่นข้ามชาติอย่างผิดกฎหมายในเส้นทางทะเลตลอดมา ผู้เขียนมีโอกาสพูดคุยกับแรงงานข้ามชาติหลายกลุ่มที่พึ่งพาขบวนการนำพาในการย้ายถิ่นโดยผิดกฎหมายผ่าน และบางส่วนตกเป็นผู้เสียหายจากขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติ พบว่าการทำงานของสองขบวนการนี้มีเส้นแบ่งที่บางเบามาก หากมองจากมุมคนนอกอาจเหมารวมว่าทั้งหมดเป็นการค้ามนุษย์หรือการแสวงประโยชน์ ส่วนผู้อพยพเองอาจมองเป็นเพียงหนึ่งในช่องทางการย้ายถิ่น แม้ว่าพวกเขาตระหนักถึงความเสี่ยงและค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าการย้ายถิ่นอย่างถูกกฎหมาย แต่ด้วยทางเลือกที่มีจำกัด จึงจำต้องย้ายถิ่นผ่านช่องทางนี้ควบคู่กับมองหาทางเลือกใหม่ที่ปลอดภัยและประหยัดยิ่งขึ้น แต่ชาวมุสลิม-โรฮิงญาซึ่งถูกปฏิเสธความเป็นพลเรือนจากรัฐบาลพม่า การเดินทางข้ามชาติในเส้นทางรัฐยะไข่/ประเทศพม่าอย่างถูกกฎหมายเป็นฝันเกินเอื้อม การย้ายถิ่นผิดกฎหมายทางทะเลจึงแทบเป็นทางเลือกหนึ่งเดียวที่มีและเข้าถึง

การปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ของรัฐบาลไทย อันเป็นผลมาจากการสอดผสานระหว่างความสนใจของประชาคมโลกต่อความรุนแรงในยะไข่ในปี 2012 กับแรงกดกันจากหลายฝ่ายต่อปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศไทยที่ผู้เสียหายส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม-โรฮิงญาในช่วงปี 2013 – 2015 รัฐบาลทหารไทยต้องแสดงออกถึงความพยายามแก้ไขปัญหา มีการจับกุมผู้ต้องสงสัยว่าค้ามนุษย์กว่าร้อยคนซึ่งในจำนวนนี้ไม่น้อยเป็นข้าราชการระดับสูงและนักการเมืองท้องถิ่น จัดตั้งศาลอาญาแผนกคดีค้ามนุษย์โดยมีวัตถุประสงค์หนึ่งเพื่อพิจารณาคดีเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้

กระแสปราบปรามการค้ามนุษย์และความเชื่อว่าประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลไทยเกิดขึ้นภายใต้แรงกดดันของภาคประชาคม ดังเห็นว่ามีการดำเนินคดีกับเครือข่ายขบวนการค้ามนุษย์ ประเทศสหรัฐอเมริกาเลื่อนอันดับจากกลุ่มที่ 3 ขึ้นมาในกลุ่มที่ 2 เฝ้าระวังเป็นพิเศษ (Tier 2 Watch List) การเลือนหายไปของกระแสข่าวการค้ามนุษย์ ท่ามกลางความปรีดาเหล่านี้ มีใครบ้างที่อาจถูกหลงลืมไปแล้ว บทความนี้ชี้ชวนพิจารณาคนสามกลุ่มที่ไม่ถูกมองเห็นในนามการปราบปรามการค้ามนุษย์ ดังต่อไปนี้

คนกลุ่มแรก ชาวมุสลิม-โรฮิงญาหลายร้อยคนที่ถูกกุมขังโดยทางการไทย สังคมอาจไม่ได้ยินหรือลืมไปแล้วว่ายังมีผู้ถูกคุมขังอยู่จนทุกวันนี้ เมื่อเครือข่ายการค้ามนุษย์ถูกปราบปรามทั้งการขนคนทางทะเล ทางบก และค่ายกักตัวเรียกค่าไถ่ ชาวมุสลิม-โรฮิงญาที่ถูกค้นพบได้ถูกคัดแยกโดยทางการไทยเป็น 2 กลุ่มหลัก (1) ผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย (2) ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์

การพูดคุยกับชาวมุสลิม-โรฮิงญาที่อพยพเข้าสู่ประเทศไทยช่วงปี 2013 – 2015 และในค่ายผู้ลี้ภัยภายในรัฐยะไข่ พบว่าผู้อพยพจำนวนไม่น้อยย้ายถิ่นด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจและติดตามครอบครัว อีกจำนวนหนึ่งถูกล่อลวงและ/หรือถูกบังคับโดยใช้ความรุนแรง แต่ทุกคนกลายเป็นสินค้าที่มีความทุกข์ทรมานตลอดเส้นทางอพยพ หากไม่มีเงินค่าไถ่ตัวต้องทนทุกข์ต่อระหว่างถูกคุมขังอยู่ในค่ายกักตัวหรือที่รับรู้กันว่าแคมป์ค้ามนุษย์ มีคนถูกทุบตี ถูกฆ่า ได้รับบาดเจ็บ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ ล้มตาย แต่ข้อจำกัดของกระบวนการคัดแยกทำให้มีผู้ที่ถูกค้นพบบางส่วนไม่ถูกรับรองว่าเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ถูกดำเนินคดีในฐานะผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 นอกจากนี้ความคับแคบในบังคับกฎหมายนี้ยังทำให้คนกลุ่มนี้ถูกคุมขังเรื่อยมาจนปัจจุบัน

ทั้งนี้ ส่วนใหญ่คนจากประเทศพม่าที่ทำงานและเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายมักถูกผลักดันออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ถูกดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง หรืออาจถูกดำเนินคดี ถูกเปรียบเทียบปรับ และถูกผลักดันต่อไป ทว่าชาวมุสลิม-โรฮิงญาได้ถูกปฏิเสธความเป็นพลเรือนจากรัฐบาลพม่า อีกทั้งสายตาของสังคมที่จับจ้องปัญหาการค้ามนุษย์จนอาจละเลยความสำคัญของการย้ายถิ่นโดยผิดกฎหมายของคนไร้รัฐ ผนวกกับความคับแคบในการตีความและบังคับใช้พระราชบัญญัติคนเข้าเมืองของรัฐบาลไทย คนกลุ่มนี้จึงถูกคุมขังโดยไม่มีความชัดเจนถึงแนวทางปล่อยตัวหรือทางเลือกในการควบคุมตัวแทนการคุมขัง ไม่ได้รับการพิจารณาสถานะบุคคลอื่นๆ ในกรณีที่ไม่สามารถกลับประเทศต้นทางได้

ผู้เขียนมีโอกาสทำงานใกล้ชิดและพูดคุยกับผู้ถูกคุมขังในสถานีตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ต.ม.) แห่งหนึ่งเมื่อปี 2015 พบว่าห้องกักบุคคลของ ต.ม. มีพื้นที่เพื่อนันทนาการ ระบบสุขอนานัย และระบบการซักล้างที่จำกัด ฯลฯ ไม่เหมาะใช้คุมขังบุคคลเป็นระยะเวลานาน ชาวมุสลิม-โรฮิงญาที่ถูกกักหลายคนจึงมีและเริ่มมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง มีปัญหาระบบหายใจและทางเดินอาหารจากหลายปัจจัย มีความเครียดจากการไม่ได้ติดต่อกับครอบครัวและการถูกคุมขังโดยไม่มีกำหนดการปล่อยตัวรวมที่ชัดเจน บางคนถูกกักตัวนานร่วม 2 ปี นอกจากนี้ ยังมีการกักขังเด็กและเยาวชนอายุ 4-18 ปี โดยไม่ได้รับการพัฒนาทักษะที่สมกับวัย (ข้อมูล ณ ช่วงสังเกตการณ์)

กลุ่มที่สอง ชาวมุสลิม-โรฮิงญาที่มีความจำเป็นและต้องการย้ายถิ่นผิดกฎหมายทางทะเลผ่าน ‘ขบวนการนำพา’ ผู้เขียนไม่ชัดเจนว่าขบวนการนำพาได้กลายเป็นขบวนการค้ามนุษย์ที่เติบใหญ่ในประเทศไทยตั้งแต่เมื่อใด แต่การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของรัฐบาลไทย ที่เป็นความพยายามแสดงออกเพื่อตอบสนองต่อแรงกดดันจากการจัดลำดับสถานการณ์ค้ามนุษย์ที่ถูกจัดทำโดยประเทศสหรัฐอเมริกา (Trafficking in Person Report - TIP) การสนับสนุนอย่างดีจากภาคประชาสังคมไทยและนานาชาติ ที่ตระหนกต่อความรุนแรงในยะไข่ และการย้ายถิ่นในสถานการณ์ไม่ปกติ รวมถึงการพบหลุมศพบริเวณเทือกเขาแก้วซึ่งนำไปสู่การจับกุมดำเนินคดีผู้ต้องสงสัยในเวลาต่อมา การดำเนินมาตรการต่างๆ ภายใต้เงื่อนไขข้างต้น แม้ได้ยับยั้งขบวนการค้ามนุษย์ แต่หากพิจารณาถึงความจำเป็นของผู้ที่ต้องการอพยพหนีหลบการเลือกปฏิบัติและต้องการโอกาสใหม่ในชีวิตที่ไม่มีในประเทศบ้านเกิด การเน้นแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่ละเลยมิติด้านสิทธิการย้ายถิ่นอันเครื่องมือการอยู่รอดตามธรรมชาติของมวลมนุษยชาติ ขาดการส่งเสริมหรือสร้างทางเลือกให้ชาวมุสลิม-โรฮิงญาเข้าถึงการย้ายถิ่นที่ปลอดภัย โดยเฉพาะในเงื่อนไขที่สิทธิพลเมืองของชนกลุ่มนี้ไม่ได้รับการแก้ไขจากรัฐบาลพม่า อีกทั้งสถานการณ์ความรุนแรงภายในยะไข่ยังคงมีความคุกรุ่นสามารถปะทุได้ตลอดเวลา การเถลิงความสำเร็จในการปราบปรามการค้ามนุษย์จึงสะท้อนนัยยะการปฏิเสธสิทธิในการย้ายถิ่นของคนที่แม้เกิดขึ้นอย่างผิดกฎหมาย ทว่าเป็นเสมือนทางรอดและโอกาสในชีวิตที่ชนกลุ่มนี้มีอย่างจำกัดจำเขี่ย

คนกลุ่มที่สาม ผู้ต้องสงสัยและจำเลยในฐานะความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ ตามประสบการณ์ของผู้เขียนซึ่งเคยสังเกตการณ์คดีสลายชุมนุมทางการเมืองปี 2010 ในจังหวัดหนึ่ง การพิจารณาความคดีอาญาภายใต้แรงกดดันทางการเมืองมีส่วนทำให้จำเลยส่วนใหญ่ถูกละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรมที่เริ่มต้นนับแต่ชั้นตำรวจจนถึงชั้นศาล การออกหมายจับขาดการพิจารณาหลักฐานประกอบที่รัดกุม ถูกตั้งข้อกล่าวหารุนแรง จำเลยในคดีเดียวกันหลายคนไม่ได้รับสิทธิปล่อยตัวชั่วคราวภายใต้เหตุผลเดียวกัน ทั้งที่จำเลยแต่ละคนมีต้นทุนชีวิตและความจำเป็นที่แตกต่างกัน แม้กรณีการเมืองปี 2010 นักสิทธิมนุษยชนและนักวิชาการไทยรวมถึงนานาชาติจำนวนหนึ่งพยายามตั้งกระทู้ถามถึงสิทธิของจำเลยในกระบวนการยุติธรรม แต่แทบไม่ได้รับการตอบสนองใดๆ จำเลยจำนวนไม่น้อยได้รับการพิสูจน์ทางศาลว่าเป็นผู้บริสุทธิ์หรือถูกจองจำเกินกว่าความผิดที่ก่อ ส่วนจำเลยในคดีค้ามนุษย์นี้ จำนวนและตัวบุคคลที่ถูกออกหมายจับรวมถึงผู้ที่ถูกจับกุมตัวได้ และผลลัพธ์ของการพิจารณาคดีดูเหมือนอยู่ในความสนใจของสังคมมากกว่าประเด็นสิทธิของจำเลยในกระบวนการยุติธรรม

ความเป็นอยู่ของชาวมุสลิม-โรฮิงญาในรัฐยะไข่

ความสนใจของสังคมไทยเกี่ยวกับสถานการณ์และผู้คนในรัฐยะไข่หดหายไปพร้อมกับข่าวการอพยพทางทะเลและการค้ามนุษย์ที่เงียบลงจากการปราบปรามขบวนการค้าชาวมุสลิม-โรฮิงญา เช่นเดียวกันกับความสนใจของประชาคมโลก แม้องค์กรระหว่างประเทศและรัฐบาลประเทศต่างๆ ยังคงทำงานและกระทุ้งถึงสิทธิพลเมืองของชาวมุสลิม-โรฮิงญา การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในยะไข่ ทว่าความสนใจต่อสภาพความเป็นอยู่ของผู้คนในยะไข่โดยภาพรวมยังคงมีไม่มากนัก ส่วนหนึ่งเพราะข้อกำหนดของรัฐบาลพม่าในการอนุญาตให้ INGO ทำงานในรัฐยะไข่ มาตรการหรือความกังวลด้านความปลอดภัยในการทำงานพื้นที่เสี่ยงของ INGO และความยากลำบากของ INGO ในการทำงานในพื้นที่รัฐยะไข่ อันเป็นผลมาจากกระแสต่อต้านองค์กรเหล่านี้ อีกทั้งความสนใจของ INGO ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ที่ชาวมุสลิม-โรฮิงญา

ในเดือนตุลาคมปี 2016 เริ่มมีสัญญาณความรุนแรงที่อาจปะทุจากเหตุปะทะระหว่างกลุ่มติดอาวุธกับกองกำลังทหารพม่าในยะไข่ที่บางส่วนเชื่อว่าเป็นชาวมุสลิม-โรฮิงญา เกี่ยวข้องกับขบวนการก่อการร้าย เจ้าหน้าที่รัฐเริ่มมีปฏิบัติการในชุมชนมุสลิม ฯลฯ สถานการณ์นี้ใกล้เคียงกับปี 2012 ที่ความรุนแรงเกิดขึ้นหลังมีข่าวว่าชาวมุสลิม-โรฮิงญาข่มขืนและฆ่าหญิงชาวยะไข่ แม้ยังไม่มีผลการสอบสวน แต่ข่าวลือและการปลุกระดมถูกส่งต่อผ่านสื่อ เช่น โทรศัพท์มือและอินเทอร์เน็ต และความโกรธแค้นได้ปะทุขึ้นอย่างรวดเร็ว ประเด็นต่อเนื่องกันคือความจำเป็นในการอพยพ และเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายนซึ่งลมมรสุมในทะเลอันดาสงบ หรือเคยเป็นฤดูกาลย้ายถิ่นตามปกติ หากเกิดเหตุรุนแรง การอพยพหลีภัยภายใต้มาตรการควบคุมอาณาเขตเข้มงวดของรัฐบาลไทย บังคลาเทศ รวมถึงมาเลเซียจะเกิดขึ้นได้หรือไม่และมีเงื่อนไขใด หากอพยพไม่ได้หรือทำได้ยาก การดิ้นรนในสภาวะจำกัดมากขึ้นของชนกลุ่มนี้จะเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตาม การย้ายถิ่นทางทะเลตามฤดูกาล/ในสภาวะปกติของชนกลุ่มนี้ปัจจุบันเป็นวิถีที่ผู้เขียนสนใจใคร่รู้และพยายามติดตาม

การตั้งข้อสังเกตต่อแนวโน้มสถานการณ์ระลอกใหม่ ผู้เขียนไม่ต้องการเห็นความรุนแรง เพียงเสนอข้อพิจารณาผ่านข้อมูลปัจจุบันและประสบการณ์ที่ผ่านมา ส่วนประเด็นซึ่งบทความนี้ต้องการเสนอดังอภิปรายไปแล้ว คือ มีคนหลายกลุ่ม รวมถึงกลุ่มชนที่รับรู้ในนามโรฮิงญา ที่อาจถูกหลงลืมไปท่ามกลางความพยายามแก้ไขปัญหาที่ดำเนินการในนามผู้รักษาสงบมั่นคงแห่งชาติ นักสิทธิมนุษยชน นักพัฒนาเอกชน ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ผู้เขียนเห็นว่าการทำงานภายใต้หลักการสำคัญเหล่านี้ไม่ควรมีคนกลุ่มใดถูกมองข้ามหรือถูกทอดทิ้งไว้ด้านหลัง อีกทั้งการย้ายถิ่นอย่างปลอดภัยที่แม้เกิดขึ้นอย่างผิดกฎหมาย โดยเฉพาะสำหรับผู้มีความเสี่ยงต่อการถูกประหัตประหารในประเทศบ้านเกิด เป็นสิทธิที่ต้องไม่ถูกลิดรอน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท