Skip to main content
sharethis


ภาพโดย Steve Hillebrand/USFWS  (CC BY 2.0)
 

27 ต.ค. 2559 องค์กรกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) เผยแพร่รายงาน Living Planet Report ประจำปี 2559 โดยระบุว่า ภายในปี 2563 ประชากรสัตว์ถึง 2 ใน 3 สายพันธุ์ จะสูญพันธุ์ไปจากโลก ซึ่งรวมถึงสัตว์ในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงด้วย เช่น โลมาอิรวดีและเสือโคร่ง ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญเกิดจากการใช้ทรัพยากรอย่างไร้ความรับผิดชอบของมนุษย์ จากข้อมูลยืนยันว่า นับตั้งแต่ปี 2513 ถึง 2555 มีจำนวนสัตว์ป่าลดลงมากถึง 58% นำมาสู่แนวทางการพัฒนาการใช้พลังงานและการบริโภคอย่างยั่งยืน รวมไปถึงการอนุรักษ์สัตว์ป่า

Stuart Chapman ตัวแทนของกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ประจำภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (WWF-Greater Mekong) กล่าวว่า “อัตราการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่าในโลกขณะนี้น่าเป็นห่วงอย่างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงที่อัตราการสูญพันธุ์เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นรากฐานของป่าไม้ แม่น้ำ และมหาสมุทรที่อุดมสมบูรณ์ แต่สิ่งที่เรากำลังทำในขณะนี้คือ เดินทางไปสู่การล่มสลายของระบบนิเวศ จุดจบของ น้ำ อาหาร และอากาศบริสุทธิ์ที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตของมนุษย์”

ทว่า ในความมืดมิด เราก็ยังสามารถเห็นแสงสว่างแห่งความหวัง จากการเพิ่มมาตรการปราบปรามการลักลอบตัดไม้ การบุกรุกป่า และลักลอบค้าสัตว์ป่าในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง มีส่วนช่วยชะลออัตราเร่งของหายนะที่จะเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ จากข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2563 และเป็นปีเดียวกันกับที่ที่ประชุมฯ กำหนดเส้นตายให้หลายประเทศทั่วโลกต้องดำเนินมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมตามแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของโลกไว้ ซึ่งหากทุกชาติสามารถบรรลุเป้าหมายนี้ร่วมกัน จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ต่อระบบอาหารและระบบพลังงาน รวมไปถึงช่วยชีวิตสัตว์ป่าจำนวนมหาศาล
 

ยุค “แอนโทรโพซีน” (Anthropocene) – “ไม่มีที่ไหนไม่เปื้อนมือมนุษย์”

ในรายงาน Living Planet Report ของกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ใช้ดัชนีชี้วัดจากสมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน (Zoological Society of London - ZSL) เพื่อสำรวจจำนวนประชากรสัตว์ป่าว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร จากเดิมที่เน้นสำรวจจำนวนประชากรสัตว์ป่าที่เพิ่มขึ้นและลดลงแต่เพียงอย่างเดียว

ทั้งนี้ ภัยคุกคามร้ายแรงต่อสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่างๆ ล้วนแล้วแต่เชื่อมโยงกับกิจกรรมของมนุษย์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการบุกรุกพื้นที่ป่า การลักลอบค้าสัตว์ป่าเพื่อการบริโภคหรือเพื่อการนำมาใช้เป็นของประดับตกแต่ง โดยนักวิจัยเรียกยุคนี้ว่า “แอนโทรโพซีน” (Anthropocene) ซึ่งหมายถึง ยุคที่มนุษย์ได้ทิ้งร่องรอยแห่งความหายนะไว้บนระบบนิเวศธรรมชาติซ้ำแล้วซ้ำอีก จนอาจกล่าวได้ว่า “ไม่มีแห่งหนใดบนโลกที่ไม่เคยเปื้อนมือมนุษย์” ดังนั้น การทำความเข้าใจถึงปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก จะช่วยให้เราสามารถค้นพบทางออกที่จะหยุดยั้งหายนะที่จะเกิดขึ้นกับระบบนิเวศทั้งในปัจจุบัน และอนาคต
 

การบริโภคอย่างไร้ขีดจำกัด

รายงาน Living Planet Report ประจำปี 2559 ประกอบไปด้วยข้อมูลและผลการศึกษาจากสถาบันชั้นนำหลายแห่งทั่วโลก ซึ่งทุกแห่งต่างเห็นตรงกันว่า มนุษย์กำลังใช้ทรัพยากรเกิดขีดจำกัดของโลกมากขึ้นเรื่อยๆ ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยจากเครือข่ายรอยเท้าโลก (the Global Footprint Network) แสดงให้เห็นว่า มนุษย์กำลังใช้ทรัพยากรเพื่อผลิตสินค้าและเพื่อการบริโภคในแต่ละปีราวกับว่า เรามีโลกเหลือให้ใช้อยู่ถึง 1.6 ใบ ทั้งที่ในความเป็นจริง เรามีโลกอยู่เพียงใบเดียว

Marco Lambertini ผู้อำนวยการกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wildlife Fund- WWF) กล่าวว่า “ไม่ว่าคุณจะคิดคำนวณอย่างไร ผลลัพธ์ที่ได้ก็ไม่เป็นสิ่งที่ดีเลย ยิ่งเรายังใช้ทรัพยากรเกินขีดจำกัดมากเท่าใด เราก็ยิ่งสร้างความเสียหายให้อนาคตของเรามากขึ้นเท่านั้น ปัจจุบัน เรากำลังอยู่ในช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญซึ่งเราสามารถเลือกได้ที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตอาหาร การใช้พลังงาน และระบบการเงินของโลกไปในทิศทางที่ยั่งยืนกว่าเดิมได้”
 

วาดภาพหนทางข้างหน้า

รายงาน Living Planet Report ประจำปี 2559 ขององค์กรกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ยังได้เสนอร่างทางออกเพื่อการปฏิรูปแนวทางการผลิตและการบริโภคอาหารอย่างยั่งยืน โดยเน้นที่การเปลี่ยนแปลงการจัดการพลังงานและการเงินพื้นฐาน ให้เอื้อต่อการสนับสนุนการทำงานตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนยิ่งขึ้น

สัญญาณบวกอีกหนึ่งสัญญาณ คือ ข้อตกลงระดับโลกเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นการรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 (The 2030 Agenda for Sustainable Development) ให้เป็นแนวทางหลักในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ที่จะสร้างหลักประกันว่าจะดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมควบคู่กับทำงานรักษาผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและสังคม

เราจำเป็นต้องคิดถึงการผลิต การบริโภค การวัดความสำเร็จ และคุณค่าของสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติพร้อมๆ กับการปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนควบคู่กันไป แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมนั้นต้องการการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ โดยเริ่มต้นจากระดับปัจเจก ระดับธุรกิจ และระดับรัฐอย่างเร่งด่วน ทุกๆ ภาคส่วนต้องมีวิสัยทัศน์การทำงานที่กว้างไกลมากขึ้น และคำนึงสิ่งที่เราจะทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลังด้วย

รายงาน Living Planet Report ประจำปี 2559: ความเสี่ยงและความยั่งยืนยุคใหม่ เป็นรายงานฉบับที่ 11 ของสิ่งพิมพ์ในเครือองค์กรกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับ จำนวนประชากรสัตว์ป่ามากกว่า 14,000 ชนิด จาก 3,700 สายพันธุ์ ตั้งแต่ปี 2513 ถึงปี 2555

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net