ในวันที่ฉันได้ไปรับลูกเรือประมงนอกน่านน้ำกลับบ้านที่สนามบิน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ฉันได้นั่งคุยกับแม่ของลูกเรือคนหนึ่ง เธอ...สุภาพสตรีผู้เข้มแข็งคนนี้ เธอรอลูกของเธอมาตลอดสามสิบปี ฉันในฐานะคนที่อยู่กับข้อมูล ทำหน้าที่เป็นผู้แปล เขียนรายงาน และเตรียมข้อมูล ให้กับองค์กรพัฒนาเอกชนแห่งหนึ่ง ชื่อมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ซึ่งให้ที่ซุกหัวนอนฉันในขณะที่ฉันทำงานวิจัยของตัวเอง ฉันคิดว่าจากประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมาของฉันจากการได้พูดคุยกับคนที่หลากหลาย น่าจะช่วยให้ฉันสามารถต้านทานแรงบีบคั้นทางอารมณ์เมื่อต้องทำงานได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเหตุการณ์เช่นนี้ ลูกเรือของสุภาพสตรีท่านนี้เป็นอดีตลูกเรือที่ไปติดเกาะในประเทศอินโดนีเซีย โดยพวกเขาเหล่านี้โดยสารไปกับเรือประมงไทยที่ไปหาปลานอกน่านน้ำไทย บางคนหลบหนีออกจากเรือเนื่องจากไม่สามารถทนสภาพการทำงานและการทำร้ายที่โหดร้ายบนเรือได้ บางคนถูกปล่อยทิ้งไว้บนเกาะที่ประเทศอินโดนีเซียเมื่อรัฐบาลอินโดนีเซียปิดน่านน้ำในปี พ.ศ 2557 ลูกเรือบางคนลงเรือโดยความสมัครใจ แต่ลูกเรืออีกเป็นจำนวนมากได้ลงเรือผ่านกระบวนการการค้ามนุษย์ ลูกเรือบางคนอาจติดเกาะเพียงระยะเวลา 1-2 ปี แต่ลูกเรือบางคนอาจติดเกาะเป็นเวลานานเกือบๆ สามสิบปี เช่น ในกรณีของสุภาพสตรีที่ฉันกำลังคุยด้วยอยู่นี้

ฉันมีโอกาสเริ่มจากการสัมภาษณ์ผู้หญิงท่านนี้ ฉันเรียกแทนเธอว่าแม่ (ฉันขอเรียกเธอว่าแม่ เพราะแม้ว่าเธอไม่ได้เป็นแม่ของฉัน แต่ฉันมีความรู้สึกถึงจิตวิญญาณของความเป็นแม่ผ่านแววตาของเธอ) ฉันต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างยิ่งที่จะไม่ร้องไห้ ขณะที่ฉันรับฟังเรื่องราวของเธอ เธอเล่าให้ฟังว่าเธอเพิ่งทำบุญแจกข้าว (การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย) ให้ลูกเมื่อเร็วๆ นี้ เพราะเธอเข้าใจว่าลูกของเธอเสียชีวิตไปเมื่อครั้งพายุเกย์ถล่มประเทศไทย แล้วลูกของเธอก็หายไป แต่เธอก็ยังคงรอคอย...จนกระทั่งปีนี้ที่เธอเริ่มยอมรับความจริงว่าลูกของเธออาจจะจากไปแล้วจริงๆ ฉันไม่ค่อยแน่ใจนักหรอกว่าเข้าใจความเจ็บปวดของความสูญเสียคนที่เรารัก ซึ่งฉันเข้าใจขึ้นนิดหนึ่งเมื่อครั้งพ่อของฉันเสียชีวิต กับความเจ็บปวดของคนที่รอ รอโดยไม่รู้ว่าเขา/เธอจะได้คนที่รักกลับคืนมาหรือไม่อะไรมันทรมานกว่ากัน

“แต่จนแล้วจนรอสุดท้ายฉันก็ต้องโทรไปหาเพื่อนของฉันเพื่อร้องไห้อยู่ดี”

“แม่ไม่ได้เห็นหน้าเค้ามาสามสิบปี แม่นอนร้องไห้ทุกวัน” ขณะที่เราพูดคุยกัน น้ำเสียงของเธอเริ่มสั่นไม่เป็นจังหวะ เมื่อเธอเริ่มเล่าถึงลูกของเธอ เธอเล่าให้ฟังแกมตลกต่อไปว่า

“เนี่ยถ้าจับตัวได้จะล็อคไม่ให้ออกไปไหนเลย ให้มีเวลาอยู่ด้วยกัน ให้เค้าได้ดูแลแม่ก่อน”

ฉันถามต่อไปว่าพ่อของเขาเสียชีวิตหรือยัง ก็ได้คำตอบง่ายๆ ว่า “เค้ารู้ตัวแต่พูดไม่ได้แล้ว เนื่องจากเขาเป็นอัมพฤกษ์” ฉันไม่แน่ใจ และไม่อยากตีความไปเองว่า พ่อคนนี้เขากำลังรอลูกซึ่งไปลงเรือประมงนอกน่านน้ำคนนี้อยู่รึเปล่า

ฉันมีโอกาสได้คุยกับลูกเรือที่ลงเรือประมงนอกน่านน้ำอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากโอกาสในการทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชนแห่งนี้อำนวยให้ฉันทำเช่นนั้นได้ กระนั้นฉันไม่กล้าเคลมว่ามันเป็นฟิลด์ที่ฉันคุ้นเคยหรือไม่ เพราะฉันรู้ดีว่าฉันไม่อยากเป็นผู้เชี่ยวชาญ และอ้างตัวเป็นผู้เชี่ยวชาญ แบบที่ผู้เชี่ยวชาญในเวทีเสวนาหลายๆ ครั้งอ้างแต่กลับชวนสงสัยว่าเขา/เธอเหล่านั้น เชี่ยวชาญในเรื่องที่เขาอ้างมากน้อย แค่ไหน และอย่างไร

ฉันได้โอกาสไปคลุกคลีกับพี่ๆ เหล่านี้พอดี โดยการทำความรู้จักผ่านทั้งตัวอักษร และการนั่งฟังเรื่องเล่าในการทำงานของพวกเขา และการใช้ชีวิตในอาคารสำนักงานร่วมกัน ทั้งงานเชิงเอกสาร และงานเชิงการบรรยายเรื่องเล่าได้ชวนให้เห็นถึงความโหดร้ายของสภาพการทำงานบนเรือประมงนอกน่านน้ำ การทำร้าย และความตายทั้งจากการทำงาน การกระทำจากผู้อยู่ในความสัมพันธ์เชิงอำนาจสูงกว่าบนเรือทำกับผู้ที่ด้อยอำนาจในการต่อรองบนเรือ และผู้ที่ทำงานร่วมกันบนเรือกระทำต่อกันเอง ผู้อำนวยการองค์กรพัฒนาเอกชนที่ฉันทำงานอยู่ด้วยสรุปสาระสำคัญง่ายๆ ว่า “มันเป็นสภาวะไร้กฎหมาย ซึ่งกฎเดียวที่เราจะอยู่ได้คือ พลกำลัง” แม้กระนั้นผ่านเรื่องเล่าฉันก็ยังได้ยินเรื่องของการช่วยเหลือเกื้อกูลของลูกเรือที่โดดเรือ และต้องช่วยเหลือกันเพื่อให้มีชีวิตขณะที่ติดเกาะ

ในวันหลังจากที่ฉันได้พูดคุยกับแม่ ตัวฉันและทีมของเจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนแห่งนั้น ต้องไปรับลูกเรือที่สนามบิน ลูกเรือเหล่านี้องค์กรพัฒนาได้ลงไปพบในการปฏิบัติการค้นหาลูกเรือที่ติดเกาะในช่วงเดือนกันยายน ซึ่งเป็นปฏิบัติการช่วยเหลือครั้งที่ 12 ของ LPN แม้ว่าฉันจะใช้กับว่าปฏิบัติการช่วยเหลือ ซึ่งเป็นงานดูยิ่งใหญ่ แต่อันที่จริงงานนี้ถูกทำโดยคนเพียง 8 คน พร้อมเงินทุนที่ระดมจากญาติสนิทมิตรสหายทั้งชาวไทยและต่างประเทศ การทำงานครั้งนี้เป็นการเข้าไปค้นหาลูกเรือที่ติดเกาะ และจัดทำข้อมูลเพื่อที่จะทำเอกสารเพื่อพิสูจน์สัญชาติซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญที่ และต้องประสานงานกับครอบครัวของผู้เสียหายเพื่อให้ผู้เสียหายยืนยันว่าพวกเขาเป็นคนในครอบครัวจริงๆ และประสานงานกับหน่วยงานราชการ เพราะทันทีที่พวกเขาลงเรือ สัญชาติและชื่อในเอกสารเดินทางของพวกเขาก็เปลี่ยนไปเสียแล้ว กระบวนการที่ว่านี้เป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา และมีปัญหาอยู่พอสมควร ลูกเรือบางคนเล่าให้ฉันฟังว่า

“ราชการได้ส่งคนเข้าไปดู แต่เค้าก็บันทึกเราแค่ชื่อเล่น ที่เรียกกันบนเรือ แล้วเวลาผ่านไปพวกเขาก็หายไป” เหลือแต่พวกเขาที่รอวันที่จะได้กลับบ้าน

ในวันนั้น ฉันกำลังจะได้เจอลูกเรือที่ฉันเคยรู้จักพวกเขาผ่านตัวหนังสือ ผ่านรายงานที่ฉันต้องแปล พวกเขาอยู่ในรูปของตัวเลข ตัวอักษร และสภาพปัญหาที่เขาเผชิญ และเขาติดเกาะได้อย่างไร การเขียนรายงานฉบับตัวเต็ม จากการสอบปากคำเบื้องต้น ของพี่ที่ฉันรู้จัก ที่ได้ไปสืบเล่ามาจากประเทศอินโดนีเซีย มันเป็นรายงานที่เนื้อหาแห้งแล้ง เพราะมันต้องสกัดออกมาจากข้อเท็จจริง เพื่อให้ข้อมูลที่ได้สามารถนำไปใช้ดำเนินการต่ออย่างรวดเร็ว แต่ฉันรู้จักพวกเขาเป็นการส่วนตัวน้อยมาก ฉันแทบไม่รู้ว่าพวกเขาคิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร และใช้ชีวิตอย่างไร

ทีมงานและฉันตื่นมาแต่เช้า เพื่อไปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพราะการสอบปากคำเพื่อคัดแยกผู้เสียหายว่าเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์หรือไม่ ซึ่งเป็นกระบวนการตามกฎหมาย เราถึงสนามบินตอนเวลาประมาณสองโมงกว่าเพื่อไปรอรับกลุ่มลูกเรือเหล่านั้น ญาติของพี่ลูกเรือคนอื่นๆ ลูกเรือที่ติดเกาะที่ประเทศอินโดนีเซียในครั้งนี้ บางคนอาจติดเกาะเป็นระยะเวลา 2 ปี จนถึง 30 ปี ก็ค่อยๆ ทยอยๆ มา ในครั้งนี้มีพี่ลูกเรือที่ได้กลับบ้าน 10 คน ที่สนามบินฉันได้คุยกับญาติของลูกเรือหลายคน บางคนมารับลูกเรือ เพราะอยากรู้ว่า “ญาติของเขาเป็นตัวจริงรึเปล่า” หลายคนมารับเพราะเหตุผลง่ายๆ “เขาเป็นครอบครัวเดียวกัน และเราไม่ได้เจอกันมาแสนนาน” บางคนเอาพวกมาลัยดอกดาวเรือง บางคนเป็นดอกกล้วยไม้ ฉันเห็นบรรยากาศของความหวัง ความหวังจะเห็นญาติหลังจากที่หายไปจากเมืองไทยเป็นเวลานาน บางคนญาติมารับเพียงคนสองคน ญาติของบางคนมาเป็นครอบครัวขนาดใหญ่ แต่พี่ลูกเรือหลายคนไม่มีครอบครัวไปรับ และที่เลวร้ายกว่านั้นพี่ลูกเรือบางคนไม่แน่ใจแม้กระทั่งพ่อแม่ของเขาชื่ออะไร สิ่งที่พวกเขายืนยันตัวเองได้เพียงอย่างเดียวคือ เขารู้ตัวว่าตั้งแต่เขาอยู่ในแผ่นดินไทยตั้งแต่เขาเกิด และเขาพูดภาษาไทยแบบที่คนไทยพูด

เรารอจนถึงเวลาสี่โมงกว่าๆ ตามกำหนดการเครื่องของพวกเขาควรจะลงในเวลาไม่เกินห้าโมง แต่กระบวนการตรวจคนเข้าเมือง ทำให้ระยะเวลาล่วงเลยมาถึงเวลาหกโมงกว่าๆ ฉันจำได้ถึงวินาทีที่ญาติพี่น้องได้มาพบกัน ก่อนที่ญาติจะได้พบกับพี่ลูกเรือ มีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งเดินเข้าบอกว่า

“ถ้าผู้เสียหายมาก็ทักทายกันพอเป็นพิธีนะ อย่ากอดกันนาน ถ้ามีมาลัยก็รีบให้แล้วรีบๆ ไปกัน เพราะยังต้องไปสอบปากคำ ต้องรีบไปสอบคัดแยกผู้เสียหายค้ามนุษย์ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เราจะได้ทำงานกันเสร็จไวๆ”

ฉันเข้าใจเจตนาของเจ้าหน้าที่ว่าเขาอยากให้งานเสร็จได้โดยไว แต่จากประสบการณ์ ฉันรู้ได้โดยตัวเองว่า มันอาจเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้หรอกที่จะปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด เพราะถ้าเราลองจินตนาการว่าเราไม่ได้พบญาติพี่น้องมาหลายสิบปี ฉันไม่คิดว่ากอดกันแค่หนึ่งถึงสองนาที มันเพียงพอหรอก ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้มันเป็นเรื่องยากที่เราจะตัดสินใจทุกอย่างอย่างเป็นเหตุเป็นผล บางครั้งอารมณ์ก็อาจจะทำงานได้ดีกว่าในสถานการณ์เช่นนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้สึกของการพลัดพราก บางครั้งมันก็มีพลังที่แม้อำนาจรัฐก็ไม่อาจจะกดข่มได้โดยง่ายนัก

ในที่สุดเมื่อเวลาที่รอคอยสิ้นสุด เราเห็นผู้เสียหายเดินออกมาเพื่อพบญาติ ในห้วงขณะนั้น มันเป็นทั้งอารมณ์ที่น่ายินดีสำหรับคนที่มาพบญาติ หลายคนอาจจะบอกว่าเรื่องของลูกเรือเป็นเรื่องโกหก ฉันก็ไม่รู้หรอกว่ามันเป็นเรื่องจริงหรือโกหก แต่วินาทีนั้นน้ำตาของญาติ และน้ำตาของลูกเรือมันคงไม่ใช่สิ่งที่จะโกหกได้ง่ายนัก ขณะเดียวกันมันก็มีวินาทีที่ชวนน่ากระอักกระอ่วนสำหรับคนที่ญาติพี่น้องไม่ได้มารับ ทีมงานและตัวฉันถ่ายรูปกันเล็กน้อยเพื่อจะทำให้ห้วงเวลานั้นไม่ชวนอึดอัดจนเกินไปนัก ก่อนที่ฉันจะเห็นพี่ลูกเรือคนหนึ่ง มองไปซ้ายทีขวาทีขวาที่อย่างไม่รู้ว่าจะเริ่มที่ตรงไหน ฉันจำได้ว่าฉันบอกเขาไปว่า ยินดีตอนรับกลับบ้าน แล้วบอกพี่คนนั้นว่าขอกอดที พร้อมกับที่พี่เขากอดฉันตอบ เป็นสัญญาณว่าเขารับรู้... และฉันก็รู้สึกว่าตาของฉันร้อนผ่าวหลังจากที่พี่ลูกเรือคนนั้นเดินจากไปโดยที่ฉันไม่จำเป็นต้องหาสาเหตุ


บ้านของลูกเรือที่ประเทศอินโดนีเซียที่เกาะอัมบล ระหว่างรอการช่วยเหลือ อาศัยอยู่ประมาณ 30 ชีวิต
(ภาพโดย ปฏิมา ตั้งปรัชญากูล)


ป้ายหลุมฝังศพลูกเรือที่เสียชีวิตที่เกาะเบ็นจิน่า อันที่จริงยังมีหลุมศพเช่นนี้อีก 97 หลุม และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1 คนในหลุม โดยศพในหลุมยังไม่ได้มีการพิสูจน์ว่าเป็นคนสัญชาติอะไร เพราะทุกคนถูกสวมสิทธิ์
(ภาพโดย ปฏิมา ตั้งปรัชญากูล)
 


การปรึกษาระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกาะโดโบ้ เพื่อค้นหาคนไทยที่ติดเกาะที่เกาะอาลู
ซึ่งมีหมู่บ้านเบ็นจิน่า และหมู่บ้านใกล้เคียงรอบๆ เกาะซึ่งคาดว่าจะมีลูกเรือไทยติดอยู่ 

(ภาพโดย ปฏิมา ตั้งปรัชญากูล)

 

*กราบขอบพระคุณมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ที่ทำให้ผู้เขียนได้มีโอกาสพบว่าและพูดคุยกับพี่ลูกเรือตลอดจนถึงอนุญาตให้ใช้ข้อมูลบางส่วนถ่ายทอดออกมาเป็นเรื่องราว และขอบพระคุณพี่ๆ ลูกเรือทุกท่านที่ยินดีถ่ายทอดประสบการณ์ในครั้งนี้
*จากคำบอกเล่าของผู้อำนวยการ มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ที่ได้ไปลงสำรวจลูกเรือที่อินโดนีเซีย พบว่า ยังมีลูกเรือไทย และต่างประเทศติดเกาะอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ตวล เบ็นจิน่า และปาปัวนิวกินี
*บ่อยครั้งเมื่อลงเรืองประมงลูกเรือประมงจะถูกสวมชื่อให้กลายเป็นลูกเรือประมงคนอื่น และเอกสารจะถูกเก็บไว้โดยไตก๋ง ทำให้เมื่อหนีจากเรือเพราะไม่สามารถทนกับสภาพการทำงานได้ ไม่สามารถกลับเข้าประเทศได้โดยง่าย

 

-

ผู้เขียน คำนวร เขื่อนทา เป็นนักศึกษาชั้นปริญญาโทภาควิชา Gender and Development Studies สถาบันเทคโนโลยีเอเชีย (AIT)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท