เครือข่ายแรงงาน ร้องรัฐขึ้นค่าจ้างต้องเท่ากันทั่วประเทศ คุมราคาสินค้า

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและเครือข่าย ค้านมติบอร์ดค่าจ้าง ย้ำการขึ้นค่าแรงต้องเท่ากันทั่วประเทศ ควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ด้าน ก.แรงงาน  แจง ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ลูกจ้าง - นายจ้างอยู่ได้ เน้นไม่กระทบเศรษฐกิจสังคม

ที่มาภาพจาก Sriprai Nonsee 

26 ต.ค. 2559 จากกรณีมื่อวันที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 19 ครั้งที่ 9/2559 ว่า คณะกรรมการค่าจ้างได้ประชุมพิจารณาการขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ประจำปี 2560 โดยใช้สูตรการคำนวณใหม่ ซึ่งเพิ่มปัจจัยชี้วัดทางเศรษฐกิจให้ครอบคลุมมากขึ้น รวมกว่า 10 รายการ โดยได้แบ่งค่าจ้างเป็น 4 กลุ่ม ตั้งแต่กลุ่มที่ไม่ขึ้นเลย จนถึงขึ้น 10 บาท ซึ่งจะนำผลสรุปของคณะกรรมการค่าจ้างเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานก่อนนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนจะประกาศบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2560 ต่อไป (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) นั้น

ล่าสุดวันนี้ เว็บไซต์ voicelabour.org รายงานว่า คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) พร้อมองค์กรสมาชิกกลุ่มต่างๆในพื้นที่ย่าน สระบุรี ชลบุรี รังสิต ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ได้เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่อง “ขอให้ทบทวนและพิจารณาเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2560 ให้เท่ากันทั่วประเทศ” ผ่านทาง พีระ ทองโพธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)

สำหรับข้อเสนอของกลุ่มแรงงานกลุ่มนี้มี 3 ข้อ ประกอบด้วย 1. ค่าจ้างต้องเท่ากันทั่วประเทศ ซึ่งประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีค่าจ้างขั้นต่ำ และเท่ากันทั่วประเทศถือว่าทำดีแล้วก็อยากให้ใช้มาตรฐานที่ดีนี้ต่อไปคือเน้นความเป็นธรรม และเท่าเทียม

2. ให้รัฐบาลมีนโยบายโครงสร้างค่าจ้างที่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่ต้องมีการปรับขึ้นค่าจ้างประจำปีทุกสถานประกอบการ ซึ่งอาจต้องมีการปรับแก้กฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับปัจจุบันให้สถานประกอบการทุกที่มีการจัดทำโครงสร้างค่าจ้างให้กับลูกจ้าง เนื่องจากมีสถานประกอบการจำนวนมากที่ยึดโยงกับการประกาศปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ คือหากมีการปรับขึ้นค่าจ้างก็จะปรับตามหากไม่มีการปรับก็ไม่ปรับค่าจ้างเลยส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน

3. คือรัฐบาลต้องมีมาตรการควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของประชาชนอันนำไปสู่การสร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเป้าหมายในการพัฒนาที่สำคัญของประเทศให้บรรลุความเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนด้วย เพราะว่าทุกวันนี้พอมีกระแสปรับขึ้นค่าจ้างแต่ละครั้งไม่ว่าจะเป็นรัฐวิสาหกิจ ข้าราชการ ราคาค่าครองชีพก็ปรับตัวขึ้นทุกครั้งซึ่งทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำปรับอย่างไรก็ตามทันค่าครองชีพ เป็นต้น

จดหมายขอให้ทบทวนและพิจารณาเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2560 ให้เท่ากันทั่วประเทศ ของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

ก.แรงงาน แจง ปรับอันตรานี้เพื่อ ลูกจ้าง - นายจ้างอยู่ได้ เน้นไม่กระทบเศรษฐกิจ

ด้าน สุทธิ สุโกศล ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะรองโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงผลการพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2560 ที่คณะกรรมการค่าจ้างมีมติเมื่อ 19 ต.ค.ที่ผ่านมานั้นว่า หลักการสำคัญในการพิจารณา คือ อัตราค่าจ้างที่เหมาะสมและเป็นธรรม สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดที่ลูกจ้างอยู่ได้และนายจ้างอยู่ได้ด้วย ไม่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และเพื่อไม่ให้ราคาสินค้าและอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น จนส่งผลกระทบต่อภาวะครองชีพของประชาชนโดยทั่วไป นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ อัตราการว่างงาน ผลกระทบในภาพรวมที่มีต่อด้านแรงงาน ด้านผู้ประกอบการ ด้านเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศ ภาวะเศรษฐกิจและการเมืองโลก ปัจจัยเสี่ยงจากโรคและภัยพิบัติ เป็นต้น
 
สุทธิ กล่าวต่อว่า ผลการดำเนินงานของคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 19 นั้น มีคณะอนุกรรมการฯ  3 ชุด คือ อนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดและกรุงเทพมหานครมีหน้าที่ประชุมพิจารณาทบทวนความเหมาะสมอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด คณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองมีหน้าที่พิจารณากลั่นกรอง และคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจมีหน้าที่ศึกษาและเสนอแนวทางการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าวสอดคล้องกับสูตรคำนวณฯ ของประเทศอินโดนีเซียและบราซิล โดยนำอัตราการเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาผู้บริโภคและผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดมากำหนดเป็นสูตรคำนวณ
 
ขณะที่ อดิสร ตันประเสริฐ ประธานสหภาพแรงงานโทเร ไทยแลนด์ ลูกจ้างของบริษัท ไทยโทเรซินเทติคส์ จำกัด (โรงงานกรุงเทพ) กล่าวถึงผลการปรับค่าจ้างขั้นต่ำปี 2560 ว่า โดยภาพรวมเป็นที่พอใจ แม้ว่าจะปรับขึ้นเล็กน้อยแต่ดีกว่าไม่ปรับขึ้นเลย เพราะถ้าปรับขึ้นสูงมากจะทำให้นายจ้างอยู่ไม่ได้ เมื่อนายจ้างอยู่ไม่ได้ สถานประกอบการจะปิดกิจการลง ลูกจ้างก็อยู่ไม่ได้ จึงต้องหาจุดกึ่งกลางเพื่อให้สมดุลกับทั้งสองฝ่าย ค่าจ้างขั้นต่ำจึงมีความสำคัญต่อลูกจ้างและนายจ้างในสถานประกอบการมาก เนื่องจากเป็นแหล่งเงินแหล่งเดียวของคนใช้แรงงานและภาคธุรกิจ ทั้งนี้ รายได้เท่าไหร่ไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่ว่ามีเงินเหลือเท่าไหร่ การใช้จ่ายในปัจจุบันจึงต้องจัดทำบัญชี เพื่อรู้ว่าใช้จ่ายเกินความจำเป็นหรือไม่ ขณะเดียวกันหากมีรายได้น้อยก็ต้องใช้จ่ายแต่พอควร สมฐานะ ทั้งนี้ อยากให้ภาครัฐมีการจ่ายค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือมากขึ้น เพื่อเป็นแรงจูงใจช่วยกระตุ้นให้ลูกจ้างได้พัฒนาฝีมือให้สูงขึ้น จะได้ค่าตอบแทนที่สูงกว่า ซึ่งจะเป็นผลดีกับทั้งนายจ้างและลูกจ้างที่จะทำให้งานมีประสิทธิภาพ
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท