Skip to main content
sharethis

มีความสงสัยในความลำเอียงของโซเชียลเน็ตเวิร์กเกิดขึ้น เมื่อนักกิจกรรมปาเลสไตน์เผยว่าเพจและบัญชีของแอดมินปาเลสไตน์หลายคนถูกปิดด้วยข้ออ้างขัด "มาตรฐานชุมชนเฟซบุ๊ก" กรณีนี้ถูกวิจารณ์ว่าเซ็นเซอร์ตามอำเภอใจแบบไม่มีมาตรฐาน แม้กระทั่งวิดีโอคนขายดอกไม้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจก็ยังโดนปิดกั้น

เมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2559 นักกิจกรรมชาวปาเลสไตน์เปิดเผยว่าเฟซบุ๊กยังคงคอยไล่ปลดเพจของชาวปาเลสไตน์ มีบัญชีผู้ใช้ของผู้ดูแลเพจหลายคนรวมถึงแฟนเพจ 2 แห่งถูกลบทิ้ง

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาศูนย์ข้อมูลชาวปาเลสไตน์ (PIC) ซึ่งเป็นภาษาอาหรับและมีผู้ติดตามมากกว่า 2 ล้านคนเปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้มีบัญชีเฟซบุ๊กของแอดมินชาวปาเลสไตน์ถูกระงับการใช้งานอย่างน้อย 10 รายการ มีจำนวน 7 รายการที่ถูกระงับการใช้งานถาวรขณะที่อีก 3 รายการถูกสั่งระงับการใช้งานชั่วคราว และเมื่อพวกเขาขอคำอธิบายจากเฟซบุ๊ก เฟซบุ๊กก็โต้ตอบกลับมาว่า "บัญชีของคุณถูกระงับการใช้งานโดยถาวรเพราะไม่เป็นไปตามมาตรฐานชุมชนเฟซบุ๊ก พวกเราจะไม่นำบัญชีของพวกคุณกลับคืนมาอีกไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม"

ยาห์ยา อะบู ฮัสซัน ผู้อำนวยการของ PIC กล่าวว่า "มาตรฐานชุมชนเฟซบุ๊ก" ที่ว่าเป็นแค่ข้อแก้ตัว ไม่ว่าเฟซบุ๊กจะมีมาตรฐานอะไรก็ตาม มันเป็นมาตรฐานที่หละหลวม เจ้าอารมณ์ และทำตามอำเภอใจ อย่างไรก็ตามเฟซบุ๊กก็ยังใช้มาตรฐานที่ว่ามาอ้างความชอบธรรมในการลบเนื้อหาใดก็ตามที่บรรดาชาวอิสราเอลเป็นคนรายงาน มันจึงชวนให้นึกถึงการเซ็นเซอร์เลวร้ายที่สุดโดยเผด็จการทั่วทุกเวลาและสถานที่

นอกจากนี้ในวันที่ 17 ต.ค. ที่ผ่านมาเพจของ PIC ภาคภาษาอังกฤษที่มีจำนวนไลค์มากกว่า 200,000 ไลค์ มีวิดีโอทีพวกเขาอัพโหลดถูกนำออกจากเฟซบุ๊กโดยอ้างว่ามี "ภาพเปลือย"

รามี ซาลาม แอดมินเพจดังกล่าวบอกว่า เพจของพวกเขาโพสต์รายงานข่าวและเนื้อหาต่างๆ รวมถึงรูปภาพการ์ตูน และวิดีโอที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับปาเลสไตน์และชาวปาเลสไตน์เท่านั้น ซาลามบอกอีกว่าวิดีโอที่ถูกลบเป็นวิดีโอแนวเสริมสร้างกำลังใจเกี่ยวกับบัณฑิตชาวปาเลสไตน์ผู้ที่ฝ่าฝืนการปิดล้อมของอิสราเอลและต่อสู้กับการว่างงานด้วยการขายดอกไม้

"มันเป็นการส่งสารให้กับชาวปาเลสไตน์ที่ถูกปิดล้อมและยึดครองพื้นที่เพื่อให้เห็นว่ายังมีแสงแห่งความหวัง" ซาลามกล่าว เขาบอกอีกว่าบัญชีของเขาถูกเฟซบุ๊กสั่งปิดชั่วคราวโดยไม่มีเหตุผลมาหลายครั้งแล้ว

อัลจาซีรารายงานว่าเฟซบุ๊กเริ่มทำการระงับการใช้งานบัญชีของชาวปาเลสไตน์หลายคนตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมาโดยอ้างข้ออ้างเดียวกันว่า "ฝ่าฝืนมาตรฐานชุมชน" ผู้ที่ถูกเฟซบุ๊กสั่งระงับในช่วงนั้นล้วนเป็นสื่อมวลชน ได้แก่ บรรณาธิการ 4 คน จากสำนักข่าวเชฮับที่มียอดไลค์ 6.3 ล้านไลค์ และผู้บริหาร 3 คน จากคัดส์นิวเน็ตเวิร์กที่มียอดไลค์ 5.1 ล้านไลค์ ซึ่งทั้งสองสื่อนี้ต่างก็รายงานข่าวแบบรายวันเกี่ยวกับพื้นที่ปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครอง

ชาวปาเลสไตน์และนักกิจกรรมที่สนับสนุนชาวปาเลสไตน์พยายามตอบโต้การเซ็นเซอร์ของเฟซบุ๊กด้วยการใช้แฮ็ชแท็ก #FBcensorsPalestine มีผู้คนจำนวนมากเข้าร่วมการเรียกร้องตอบโต้เฟซบุ๊ก โดยมีผู้โพสต์ข้อความและแฮ็ชแท็กนี้เกินหมื่นคน

หลังจากที่ถูกกดดดันอย่างหนัก เฟซบุ๊กก็ขอโทษและนำบัญชีชื่อที่ถูกปิดไปกลับมา แต่ทว่าเฟซบุ๊กก็ยังคอยกำจัดเพจปาเลสไตน์ไปที่ละเพจซึ่งนักกิจกรรมประเมินว่ามีความเป็นไปได้ที่การคอยเซ็นเซอร์เพจเหล่านี้เป็นเพราะเฟซบุ๊กมีข้อตกลงกับอิสราเอล จากกรณีที่ช่วงเดือนกันยายน 2558 ตัวแทนของเฟซบุ๊กเข้าพบปะกับรัฐมนตรีของอิสราเอลโดยทางการอิสราเอลอ้างว่าเพื่อเป็นการ "ส่งเสริมความร่วมมือในการต่อต้านการยุยงให้เกิดการก่อการร้ายและการฆาตรกรรม" โดยที่รัฐมนตรีจากพรรคการเมืองฝ่ายขวาของอิสราเอลบอกว่าการพบปะประสบความสำเร็จ

สื่ออิสราเอลหลายแห่งยังรายงานด้วยว่า เฟซบุ๊กกับรัฐบาลอิสราเอลจัดทีมร่วมกันในการต่อต้านการยุยงปลุกปั่นในโลกออนไลน์แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดมากกว่านี้ ขณะที่ทางโฆษกของเฟซบุ๊กให้สัมภาษณ์ต่ออัลจาซีราในเรื่องนี้ว่า ในช่วงที่มีการพบปะกับรัฐมนตรีอิสราเอลนั้นเป็น "ส่วนหนึ่งของการเจรจาหารือที่กำลังดำเนินอยู่กับผู้กำหนดนโยบายและผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกในการนำเอาเนื้อหาการก่อการร้ายออกจากพื้นที่และส่งเสริมการริเริ่มใช้วาจาโต้กลับ (counter speech)"

อย่างไรก็ตามนักกิจกรรมปาเลสไตน์ก็ดูจะมีทางเลือกไม่มากนัก บายัน โมฮัมเหม็ด แอดมิน PIC ภาษาอาหรับยอมรับว่าเฟซบุ๊กยังเป็นพื้นที่นำเสนอที่สำคัญ พวกเขาไม่ยอมออกจากเฟซบุ๊กเพียงเพราะถูกนโยบายกดขี่ข่มเหง พวกเขาจะสร้างเพจและบัญชีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้แน่ใจว่าเสียงของชาวปาเลสไตน์จะมีคนรับฟัง แต่ก็มีนักกิจกรรมอีกบางส่วนที่กำลังเริ่มมองหาพื้นที่ใหม่ที่จะการันตีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเพื่อทำลายสิ่งที่นักเขียนนิยายชาวปาเลสไตน์ ซูซาน อะบูลฮาวา เรียกว่า "เผด็จการดิจิตอล"

 

เรียบเรียงจาก

Why is Facebook targeting Palestinian accounts again?, Aljazeera, 22-10-2016

http://www.aljazeera.com/news/2016/10/facebook-targeting-palestinian-accounts-161019063930119.html

 

 

Tags : ข่าว, ต่างประเทศ, สิทธิมนุษยชน, ปาเลสไตน์, อิสราเอล, เสรีภาพสื่อ, เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น, การเซนเซอร์, เฟซบุ๊ก, #FBcensorsPalestine

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net