Skip to main content
sharethis

ประเทศไทยมีสัดส่วนผู้ต้องขังหญิงมากที่สุดในโลก 14 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ทั่วโลกไม่มีที่ไหนเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ เรื่องเล่าจากอดีตคนคุก เมื่อชีวิตที่ถูกกระทำซ้ำซ้อนจากอำนาจและความรุนแรงในโลกหลังกำแพง การกดบังคับด้วยระเบียบวินัย กับการดิ้นรนอยู่ให้รอด

  ภาพโดย Adam Jones (CC BY-SA 2.0)

“ระดับของอารยะธรรมในสังคมสามารถวัดได้จากจำนวนนักโทษในคุก” ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟกี นักเขียนชาวรัสเซีย

ตัวเลขผู้ต้องขังหญิง ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2558 มีจำนวน 47,623 คน สูงเป็นอันดับ 4 ของโลก แต่เมื่อนำจำนวนผู้ต้องขังหญิงหารด้วยจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด ประเทศไทยกลับมีสัดส่วนผู้ต้องขังหญิงสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก หรือประมาณร้อยละ 14 ขณะที่ไม่มีประเทศใดในโลกที่มีตัวเลขนี้ถึงร้อยละ 10

และเมื่อคิดเป็นอัตราผู้ต้องขังหญิงต่อประชากร 100,000 คน ตัวเลขของไทยจะอยู่ที่ร้อยละ 71.2 ซึ่งก็เป็นอัตราที่สูงที่สุดในโลกอีกเช่นกัน นี่คือตัวเลขที่กฤตยา อาชวนิจกุล จากโครงการขับเคลื่อนนโยบายการปฏิรูประบบเรือนจำผู้ต้องขังหญิงและกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้อง สมาคมนักวิจัยประชากรและสังคม และสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ให้กับเรา

ตัวเลขที่ปรากฏในเว็บไซต์ของกรมราชทัณฑ์ ข้อมูล ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2559 พบว่า มีต้องราชทัณฑ์ที่เป็นหญิงทั้งหมด 43,675 คน แบ่งเป็น

-นักโทษเด็ดขาด 35,768 คน

-ผู้ต้องขังระหว่าง 7,604 คน

-เยาวชนที่ฝากขัง 4 คน

-ผู้ถูกกักกัน 3 คน และ

-ผู้ต้องกักขัง 296 คน

“ระดับของอารยะธรรมในสังคมสามารถวัดได้จากจำนวนนักโทษในคุก”

พวกเธอเหล่านี้กระจายอยู่ในทัณฑสถานหญิง, ทัณฑสถานบำบัดพิเศษ และแดนหญิงในเรือนจำชาย 143 แห่งทั่วประเทศ โดย 2 ใน 5 หรือประมาณร้อยละ 38 ใช้ชีวิตอยู่ในแดนหญิงซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของเรือนจำชาย ซึ่งหมายความการใช้ชีวิตประจำวันของพวกเธอต้องเผชิญข้อจำกัดมากกว่าผู้ต้องขังหญิงที่อยู่ในทัณฑสถานหญิงโดยเฉพาะ

...............

“วันแรกที่โดนล็อกตัวเขาสถานีตำรวจ ไม่เคยร้องไห้เลย มีลูกติดในท้องด้วยสามเดือน ที่เสียใจและร้องไห้คือเราจับมือลูกชายคนโตไม่ได้ ตอนนั้นลูกชาย ป.3 แล้ว เราคลอดในนั้นแน่นอน ตอนนั้นรู้อยู่แล้วว่าต้องติด แต่คิดว่าน่าจะแค่ปีครึ่ง ไม่คิดว่าจะโดนถึงสามปี ตอนนั้นโกรธคนที่เจรจาด้วย สมมติคุณเป็นเจ้าหนี้หนู ก่อนไปเจอคุยกันแล้วจะทำเรื่องสัญญากัน แต่ขออย่าติดคุกได้มั้ย ติดไปลูกจะอยู่กับใคร เขาบอกมาเลย ขอแค่ทำสัญญา แต่ไปจริงๆ เขาล็อกตัวเราเลย แล้วตำรวจพูดกับเราคำหนึ่ง เกลียดมากเลย ผู้หญิงคนที่แจ้งจับเรา เหมือนเขาเป็นกิ๊กกัน ตำรวจบอกว่ามึงจะเอาคดียาหรือคดีทั่วไป ถ้าคดียากูจัดให้ได้นะ ตอนนั้นรู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรมเลย เราถามว่าทำได้เหรอ กูไม่เคยมีประวัติ แต่พ่อของลูกน่ะเล่น เขาบอกว่ากูจะเอาทั้งผัวทั้งเมียเลย เราบอกงั้นก็เอาเข้าคุกเลย”

เรื่องราวของติ๊ก (นามสมมติ) อดีตผู้ต้องขัง เล่าถึงช่วงก่อนที่เธอจะถูกพิพากษาจำคุกและต้องเข้าไปใช้ชีวิตในแดนหญิงของเรือนจำรวมแห่งหนึ่งในภาคตะวันออก ปัจจุบันมีคำบอกเล่าจากภายในคุกออกสู่ภายนอกมากกว่าแต่ก่อน เรื่องของติ๊กเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เส้นเรื่องไม่น่าจะแตกต่างจากเรื่องเล่าอื่นๆ ซึ่งตอกย้ำว่าสภาพความเป็นอยู่ในคุกเป็นอย่างไร

ติ๊กเล่าว่า ตอนเข้าไปถูกสั่งให้แก้ผ้า นุ่งผ้าถุงเพื่อตรวจตัว ทางเจ้าหน้าที่สั่งให้กระโดดและนั่งยองๆ เพราะกลัวว่าเธอจะยัดยาเข้าไปในช่องคลอด

“เราบอกว่านาย หนูท้องอยู่ เขาไม่เชื่อ เขาเอามือมาคลำ แต่ท้องเราโตจริงๆ งั้นไม่ต้องกระโดด นั่งยองๆ สามรอบ แต่ถ้ามึงไม่ท้อง มึงโดนดีแน่ๆ เพราะเคยมีนักโทษบางคนยัดยาเข้าไป แล้วโกหกว่าท้อง”

เด็กในท้องของติ๊กเติบโตขึ้นทุกวัน แต่กว่าเธอจะได้ออกไปตรวจครรภ์ในโรงพยาบาล เธอก็ต้องใช้ชีวิตในคุกถึง 3 เดือน เธอได้รับการตรวจครรภ์ประมาณ 3 ครั้ง จะว่าไปลูกในท้องช่วยให้ชีวิตช่วงแรกในเรือนจำของติ๊กไม่ยากลำบากจนเกินไป เนื่องจากผู้ต้องขังหญิงที่ตั้งครรภ์จะได้รับสิทธิพิเศษเล็กๆ น้อยๆ เช่นได้รับอนุญาตให้อาบน้ำก่อน เนื่องจากทางเรือนจำเกรงว่าจะหกล้มหากต้องแย่งกันอาบน้ำกับผู้ต้องขังหญิงรายอื่นๆ

“ตอนไปถึง เราไม่คุยกับใคร เรากลัว คนเก่าๆ ก็มาบอกว่าทำตัวแบบนี้นะ อย่าไปยุ่งกับใคร ไม่ใช่เรื่องของเราก็อย่าไปยุ่ง จะอยู่ได้ ถ้าเราไปยุ่งเรื่องของเขา รุนแรงแน่ อย่างที่เห็นนะ คุกเล็ก (เธอหมายถึงเรือนจำที่เธอเข้าไปอยู่ช่วงแรกก่อนจะย้ายไปยังทัณฑสถานหญิงแห่งหนึ่งในเวลาต่อมา) น้ำก๋วยเตี๋ยวร้อนๆ น้ำตักออกมาเอาคว่ำบนหัวเลย แล้วคนที่โดนคว่ำ รุ่นยายแล้วด้วย เห็นแล้วก็สงสารนะ เด็กคนนั้นก็ทำเกินไป แต่ยายก็ไม่สมควรเรื่องของเขา คนที่ทำบอกว่าเป็นอุบัติเหตุ แต่อีกอาทิตย์หนึ่งแกก็ไม่หยุดนะ ก็ยังไปยุ่งเรื่องของเขาอีก ตกกะไดจากชั้นสองกลิ้งลงมาเลย”

...............

‘อย่ายุ่งกับใคร’ เหมือนจะเป็นกฎเหล็กในการใช้ชีวิตในเรือนจำ ถ้าผู้ต้องขังยึดกฎนี้อย่างเคร่งครัด ก็จะหลีกเลี่ยงการเจ็บตัวหรือการลงโทษจากเจ้าหน้าที่ได้ ต่อให้รู้เห็นการกระทำผิดกฎเรือนจำร้ายแรงอย่างไร การ ‘ไม่รู้ไม่เห็น’ เป็นการกระทำที่ดีที่สุดในการเอาตัวรอด

“คุกเล็กมียา สมมติพี่เป็นเอเย่นต์ใหญ่ หนูเป็นลูกน้องพี่ หนูมาเยี่ยมพี่ พี่ก็สั่งเลยว่าพรุ่งนี้มึงวางของตรงนี้ๆ นะ คือมีรหัสของแต่ละบุคคลนะ มึงไปไอ้นี่นะ ตรงนี้ๆ แต่ส่วนใหญ่ อันนี้คิดเองนะ ยาต้องผ่านแดนชายเข้ามาถึงจะผ่านแดนหญิงได้ แกงที่แดนชายทำให้กิน บางทีมีมีดโกนหนวด มีดโกนอยู่ในช้อน ข้างนอกไม่กินแล้ว แต่ข้างในเราต้องกิน บางทีมีต้นหญ้า มีสารพัดจะมี วันนั้นที่เห็นเขามัดเหมือนกระดาษข้อเล็กๆ พันด้วยสก็อตเทปใส มันจะมีข้าวที่แข็งๆ ติดก้นหม้อ เราเห็น เราต้องนิ่ง ทำเป็นไม่เห็น ไม่อย่างนั้นภัยจะถึงตัวเรา เขาส่งซิกกันมาว่ามีของอยู่ในหม้อ มาชี้ตัวเลย มึงเห็นมั้ยเนี่ย ไม่เห็น ล้างหม้อไม่เห็นมีอะไรเลย หนูไม่รู้ เอาสายยางฉีด แล้วคว่ำเลย ไม่ใช่อยากได้หน้า ถ้านายรู้เราก็เกม แต่เราจะโดนเยอะกว่า โดนทั้งนาย โดนทั้งมัน ต้องทำเป็นแบบไม่รู้ไม่เห็น ที่แน่ใจเลยคือหลุดจากแดนชายมากกว่า”

ติ๊กยังเล่าถึงการปรับตัวเพื่อมีชีวิตให้รอดภายใน ‘คุกเล็ก’ อีกว่า

“แต่ก่อนเข้าไปใหม่ๆ ตักข้าวไม่เคยทันเขาเลย แกงส้มก็ก้นหม้อแล้ว เจอแต่น้ำ เขาไม่ได้เอามาให้คนท้อง ไปใหม่ๆ ตัวใครตัวมัน แต่พออยู่ไปนานๆ เราก็เรียนรู้เอง ต้องใส่ชุดหลวงก่อนถึงจะเอาข้าวได้ หมายถึงใส่เสื้อ ใส่ผ้าถุง แต่เขาห้ามไปแปรงฟันก่อนนะ เขาห้ามใช้น้ำ ต้องตักข้าวก่อน เขามีเวลาตักข้าวแค่สิบนาที คุณต้องตักข้าวให้ได้ เราก็เรียนรู้เอา ต้องศึกษาเองว่าทำยังไงถึงจะได้ข้าวกิน ตอนเย็นก่อนเราขึ้นห้องนอน จะเตรียมชุดหลวงไว้เลย เขาจะปล่อยคนท้องก่อนอยู่แล้ว คว้าผ้าถุง คว้าเสื้อ เอาแวร์ข้าวหมายถึงกล่องไอติมวอลล์วางไว้กับเสื้อ เอาเสื้อกับผ้าถุงยัดเข้าไปในกล่องข้าว แล้วก็คว้ากล่องข้าวไปเข้าแถว ไปแต่งตัวหน้าหม้อข้าวเลย ใส่ทับชุดนอนเลย

“คุกเล็กแดนหญิงมี 267 คน ห้องหนึ่งนอนกัน 50 คน ห้องแคบมากเลย ถ้าคุกเล็ก นอนตรงก็นอนตรงเลย จะนอนเอียง อ้าขาไม่ได้ งอเข่าไม่ได้ ไม่มีพื้นที่ มีแย่งที่นอนกัน ตีกัน ถ้าจะพลิกตัวโดนเขาอยู่แล้ว เราจะบอกเขาว่าขอพลิกตัวนะ ไม่ใช่พลิกไปแล้วพลิกอีก โดนแน่ๆ คือนอนจนเมื่อยจริงๆ แล้วถึงขอเขาอีก ห้องที่นอนมีคนท้อง คนป่วย คนแก่ นอนด้วยกัน 50 คน พอท้องแก่ก็ต้องขอแม่ห้องว่าขอนอนติดกับห้องน้ำ เขาจะให้ เพราะต้องลุกไปห้องน้ำบ่อย กฎเหล็กของห้องนอนเลยคือห้ามราดน้ำดัง แล้วส้วมข้างบนไม่ใช่ส้วมแบบปูน เป็นแบบสแตนเลส ราดนิดก็ดังแล้ว ไม่เป็นปูนเขากลัวลื่น พื้นเป็นปูน โถส้วมเป็นสแตนเลส”

...............

แล้ววันที่ลูกเธอจะถือกำเนิดก็มาถึง...

“วันที่เจ็บท้อง เลือดออกมาหน่อยแล้ว แต่นายเขาไม่อยากไปเฝ้า คือกลัวเราเจ็บแล้วค้างคืน เจ็บตอนนี้ แต่ยังไม่คลอด ไปคลอดอีกวัน เขาก็จะไม่มีคนเฝ้าเรา ก็ให้เราเจ็บสุดๆ เลือดไหลสุดๆ จนเราไม่ไหวแล้ว เราออกไปตอนสองทุ่มครึ่ง มดลูกเปิด แต่ยังไม่เปิดแบบสุด ก็นอนอยู่โรงพยาบาล เขาก็ไปนั่งเฝ้าข้างหน้า

"เขามีเวลาตักข้าวแค่สิบนาที คุณต้องตักข้าวให้ได้ เราก็เรียนรู้เอา ต้องศึกษาเองว่าทำยังไงถึงจะได้ข้าวกิน ตอนเย็นก่อนเราขึ้นห้องนอน จะเตรียมชุดหลวงไว้เลย เขาจะปล่อยคนท้องก่อนอยู่แล้ว คว้าผ้าถุง คว้าเสื้อ เอาแวร์ข้าวหมายถึงกล่องไอติมวอลล์วางไว้กับเสื้อ เอาเสื้อกับผ้าถุงยัดเข้าไปในกล่องข้าว แล้วก็คว้ากล่องข้าวไปเข้าแถว ไปแต่งตัวหน้าหม้อข้าวเลย ใส่ทับชุดนอนเลย"

“ตอนคลอดปกติ มีหมอเฝ้า เอาลูกเราไปอยู่ตู้อบ แล้วเอาโซ่เส้นไม่ยาวหรอกมาล่ามขาเราข้างหนึ่งไว้กับเตียง ให้เราไว้หยิบกะโถน เปลี่ยนผ้าอนามัย หยิบน้ำกิน ไว้ขยับตัว จะถ่ายหนักถ่ายเบาก็บนเตียงเลย ผ้าม่านไม่ต้องปิด เพราะเราขยับไปไหนไม่ได้ คนอื่นก็รู้ว่าเราเป็นนักโทษ เขาก็มายืนมอง เราใส่ชุดสีน้ำตาลเขาก็รู้แล้วล่ะ บางทีมาถามโดนคดีอะไร รำคาญ เราก็ตอบคดีฆ่าคนปากไม่ค่อยดี หนีไปเลย เราก็อยากมีโลกส่วนตัว เราอยากคุยกับลูกเราก็มายืนมอง เหมือนกับอยากใส่โซ่บ้าง แต่เวลานั้นไม่อายนะ 3 วันที่ได้อยู่กับลูกมันน้อย เราไม่ใส่ใจใคร ใส่ใจแต่ลูก แค่ตั้งชื่อลูกก็ 3 วัน”

ติ๊กไม่ได้รับอนุญาตให้เลี้ยงลูกในคุก เนื่องจากคุกเล็กที่เธออยู่ไม่มีระเบียบรองรับ ต่างจากคุกบางแห่งที่อนุญาตให้เลี้ยงดูลูกได้ 1 ปี ในช่วงเวลาที่เธอต้องเปลี่ยนสถานะตนเองเป็นผู้ต้องขัง เธอไม่เคยติดต่อญาติพี่น้อง ไม่เคยร้องขอความช่วยเหลือ กระทั่งช่วงใกล้คลอดที่น้องสาวเธอมาเยี่ยม เกิดบทสนทนาถึงเด็กที่อยู่ในท้องที่กำลังจะออกมาลืมตาดูโลก ติ๊กพูดกับน้องสาวไปว่า ทำเรื่องส่งสถานสงเคราะห์ไปแล้ว ออกจากคุกแล้วจะไปรับเอง

“น้องสาวไม่ยอม เลยกลับไปบ้านบอกให้อาขึ้นมารับ แต่วันคลอดนายจะโทรศัพท์หาญาติให้ คลอดแล้วนะ ให้มารับเด็ก เขาไม่ให้เอาเด็กเข้าเรือนจำ เขาให้เราอุ้มกลับมาแค่หน้าแดน แล้วเขาจะทำหนังสือมอบ พอเราเซ็นชื่อปุ๊บ เราไม่มีสิทธิ์อุ้มลูกเราแล้ว ได้แต่ยืนมองตรงประตู มีช่องนิดๆ เราก็ชะเง้อมอง

“เย็บแผลกลับมา ที่มันสูง เราต้องก้าว แผลมันแตก เป็นหนอง เราบอกหมอผู้ชายในเรือนจำ เขาไม่เปิดแผลดูหรอก เขาบอกเดี๋ยวก็หาย ให้พารามากิน เป็นหมอที่ประจำอยู่ที่นั่น วันหนึ่งก็แค่ไม่กี่คน พูดง่ายๆ หยาบๆ หมอแดกหมาในปาก พูดจาหมาไม่แดก ด่าเลยวันนั้นต่อหน้านาย ยอมโดนลงโทษ มันถามประวัติ ท้องได้ไง ตาก็เหร่ อ้าว พูดยังงี้ได้ไง ทำไมหมอพูดแบบนี้ ท้องมีพ่อหรือเปล่าก็ไม่รู้ หรือว่าไปนอน ไปเมา ให้ใครเอา เอาไปทั่วหรือเปล่าไม่รู้ โห ขึ้นสิ ด่าเลย นี่หมอเป็นหมอหรือหมอเป็นหมา พูดจาไม่ได้เรื่องเลย โดนลงโทษเลย”

...............

น่าจะเป็นความเข้าใจผิดอย่างหนึ่ง คนภายนอกส่วนใหญ่คิดว่า ผู้ต้องขัง วันๆ คงไม่ต้องทำอะไร มีที่อยู่ฟรี ข้าวฟรี เสื้อผ้าฟรี หลวงให้ทุกอย่าง ความเข้าใจที่ว่าผู้ต้องขังอยู่สุขสบายนี่เองที่ทำให้ผู้คนในสังคมจำนวนหนึ่งรับไม่ได้ที่นักโทษคดีอุกฉกรรจ์จะมีชีวิตสุขสบายในเรือนจำ และเรียกร้องให้ประหารเสียให้ตายตกตามกัน ‘จะได้ไม่เปลืองข้าวหลวง’

ไม่มีใครรู้ว่าเป็นการเปรียบเปรยหรือเป็นความจริงอยู่กี่มากน้อย แต่พูดกันว่าคุณสามารถหาทุกอย่างได้ในคุกไม่ต่างจากโลกภายนอก ถ้าคุณมีเงินมากพอ ชีวิตของติ๊กในเรือนจำจึงต้องปากกัดตีนถีบไม่น้อย เพื่อให้ได้สิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต เพราะ ‘หลวง’ ไม่มีให้ หรือมีให้คุณภาพก็ต่ำเตี้ย

“เราก็ทำงานกิจกรรมของเรา แล้วแต่เขาเลือกให้เราทำ คุกเล็กที่เราอยู่มีทำหัวไฟแช็ก ประกอบร่ม เย็บอวน แล้วแต่พื้นที่ของแต่ละจังหวัดว่าทำอะไร ใครมาจ้างงานก็มีกองงานให้ผู้ต้องขังทำ ได้แล้วแต่เปอร์เซ็นต์

“ไฟแช็คคิดร้อยละเท่าไหร่ แล้วแต่เขาตกลงกับนายเอง แล้วมาหารเฉลี่ย อย่างถ้าชั้นดีจะได้น้อยกว่าชั้นดีมาก ชั้นเยี่ยมก็จะได้เยอะ ได้ 90 บาทต่อ 6 เดือน ทำจันทร์ถึงศุกร์ เข้างาน 9 โมง บ่ายสองครึ่งเก็บของ บ่ายสามเตรียมตัวอาบน้ำ เข้าแถว บ่ายสี่ขึ้นเรือนนอน มีเวลาอาบน้ำกินข้าวแค่ชั่วโมงเดียว

“คุกใหญ่ที่ไปอยู่ เขาจะแจกแฟ้บ สบู่ แจกอะไรเฉพาะคนที่ไม่มีญาติ จะได้ทุกเดือน แต่คุกเล็ก หกเดือน ปีหนึ่งเห็นสักครั้งหนึ่ง อยากแจกเสื้อในแย่งกันเป็นพัลวันเลย เขาแจกเป็นห้องห้องที่เรานอน แต่มีเรื่องเส้น สมมติถ้าเราไม่ถูกกับหัวหน้าห้อง เราก็จะได้ทีหลัง ไม่มีสิทธิเลือก เขาจะให้คนของเขาก่อน แต่ได้เหมือนกัน บางทีได้มาไซส์ 40 เราไม่มีนมจะเอามาใส่อะไร เราก็ต้องให้เขาไป กางเกงในตัวเท่าหม้อแกง เราก็ใส่ไม่ได้ เอาหนังยางมามัดกางเกงในเหรอ เราก็ต้องให้เขาไป สรุปแล้วเราก็ไม่ได้อยู่ดี

“รับจ้างทุกอย่าง เสาร์อาทิตย์เป็นวันว่างของเรา รับจ้างคือหาวิธีทำเอง ถ้าเก้าโมงเดินลงมาข้างล่างไม่ได้แล้ว ตั้งแต่เข้าปล่อยออกจากห้องจนถึงแปดโมงเช้า เราต้องทำภารกิจของเราให้เสร็จ ทั้งกินข้าว ซักผ้า ทั้งรับจ้างซักผ้าให้เสร็จภายในเวลานี้ เสาร์อาทิตย์เวลาเยอะ แต่เขามีกฎห้ามเข้าราวตากผ้า นายมาต้องมุดแอบ จริงๆ เขาไม่ให้รับจ้างทุกอย่างเลย ยกเว้นนวด ถอนหงอก

“มีพวกคนรวย คนดื้อที่เขาทำผิดกฎ พอจับได้จะโดนลงโทษ ขัดพื้นอาทิตย์หนึ่ง จ้างวันละร้อย ทำมั้ย ทำสิ แล้วก็จะมีตักขี้ในหลุมส้วมใหญ่ ขัดห้องน้ำ ทำทุกอย่างแล้วแต่เขาจะจ้าง อย่างตักเศษอาหารที่หมักหมมในท่อ งานหนัก เหม็นด้วย เราต้องเอาถังไปโกยออก แต่ห้ามให้นายรู้ ถ้ารู้โดนทั้งคนจ้างและคนรับจ้าง รับเป็นตังค์ไม่ได้ ใช้จดเอา อย่างเราอยากได้อะไร ร้อยหนึ่งเหรอ ขอสบู่ ยาสระผม ขนม มาให้เราพอดีร้อยหนึ่ง

"หมอแดกหมาในปาก พูดจาหมาไม่แดก ด่าเลยวันนั้นต่อหน้านาย ยอมโดนลงโทษ มันถามประวัติ ท้องได้ไง ตาก็เหร่ อ้าว พูดยังงี้ได้ไง ทำไมหมอพูดแบบนี้ ท้องมีพ่อหรือเปล่าก็ไม่รู้ หรือว่าไปนอน ไปเมา ให้ใครเอา เอาไปทั่วหรือเปล่าไม่รู้ โห ขึ้นสิ ด่าเลย นี่หมอเป็นหมอหรือหมอเป็นหมา พูดจาไม่ได้เรื่องเลย โดนลงโทษเลย”

“ผ้าอนามัยขอที่หน้าแดนด้วย ให้เซ็นชื่อ ให้ห่อหนึ่ง ถ้าเป็นเยอะก็ขออีก คุกใหญ่แจกเป็นประจำเดือนอยู่แล้ว นานๆ แจกที แล้วของที่ได้ก็คุณภาพไม่ดี ผ้าอนามัยเป็นของหลวงจริงๆ เฉพาะคุกอย่างเดียว เอาแปะใส่กางเกงในปุ๊บ พอถกนั่งเยี่ยว ถ้าไม่จับไว้ร่วงเลย ถ้าจะใส่ผ้าอนามัยต้องหากางเกงในแน่นๆ หรือมัดยางให้แน่น เพราะเวลาวิ่งมันหลุดลงมาจากผ้าถุงเลย เคยมีคนวิ่งหลุดกองกลางสนามเลย เพราะผ้าอนามัยมันไม่มีกาว เราแปะเพื่อไม่ให้ผ้าถุงเราเลอะแค่นั้นเอง ถ้าเรามีตังค์เราก็ซื้อลอริเอะ โซฟีใช้

“มีนายทุนปล่อยกู้ หนูก็ปล่อย ตอนหนูรับจ้างเยอะๆ หนูก็ปล่อย ร้อยละ 20 ถ้าไม่จ่าย ในนั้นเขาตบเลยนะคะแล้วก็มีขายหวย เป็นกระดาษฉีกคู่หนึ่งทางเป็นตาราง 00 ถึง 99 ใครซื้อเลขอะไรก็เขียนไว้ แล้วก็รอฟังหวยออก คือถามนาย เขาก็ปล่อยๆ ไม่อยากให้เครียด ตัวละ 20 ถูกก็ได้ร้อยหนึ่ง

“แต่ละทีมีลิมิตในการใช้เงิน คุกเล็กเบิกได้วันละ 200 เท่านั้น คุกใหญ่ 300 คุกเล็กเป็นคูปองฉีกมา เอาไปซื้อของ คุกใหญ่สแกนลายนิ้วมือ สแกนปุ๊บ ยอดเงินเราโชว์ ลายมือลอกก็ไม่ได้นะ เครื่องไม่อ่าน ก็ยืมนิ้วพี่หน่อย แปะ ยืมตังค์ พอมาอีกวันเราก็ไปซื้อใช้คืน”

...............

และอื่นๆ

“คุกเล็กไม่มีอบรมหรือฝึกอาชีพเลย คุกใหญ่มี ตั้งแต่ไปอยู่คุกใหญ่ เรียนทุกอย่างเลยนะ ที่คนไปเรียนกันนะส่วนใหญ่เพื่อให้จิตไม่ว่าง พอไม่มีอะไรทำ มันจะฟุ้งซ่าน เอาจดหมายเก่ามาอ่าน เอารูปลูกมาดู นั่งร้องไห้ แต่ถ้ามีกิจกรรมมันช่วยได้ ไม่มีเวลาคิดฟุ้งซ่าน”

“รับจ้างทุกอย่าง เสาร์อาทิตย์เป็นวันว่างของเรา รับจ้างคือหาวิธีทำเอง ถ้าเก้าโมงเดินลงมาข้างล่างไม่ได้แล้ว ตั้งแต่เข้าปล่อยออกจากห้องจนถึงแปดโมงเช้า เราต้องทำภารกิจของเราให้เสร็จ ทั้งกินข้าว ซักผ้า ทั้งรับจ้างซักผ้าให้เสร็จภายในเวลานี้ เสาร์อาทิตย์เวลาเยอะ แต่เขามีกฎห้ามเข้าราวตากผ้า นายมาต้องมุดแอบ จริงๆ เขาไม่ให้รับจ้างทุกอย่างเลย"

“คุกเล็กมีหนังสือให้อ่าน เป็นหนังสือเก่าๆ โบราณๆ ต่างจากคุกใหญ่ มีห้องสมุดใหญ่ๆ เลย อยากเข้าก็เข้า ยืมหนังสือได้ วันหนึ่งยืมได้สองเล่ม ยืมได้สามวัน เราก็แลกกับเพื่อนในห้อง กฎห้องนอนให้ถือหนังสือขึ้นได้หนึ่งเล่ม น้ำหนึ่งขวด ปากกาหนึ่งแท่ง วันไหนเขียนจดหมาย กระดาษกับซองอย่างละชุด คุกเล็กจะมีกำหนดวันเขียนจดหมาย จันทร์ พุธ ศุกร์ เขาอนุญาตให้เขียนจดหมายหาแดนชายได้ ไม่ต้องใส่ซอง ติดแสตมป์ เขียนชื่อ นช. ห้องอะไร แดนอะไร อันนี้เรียกจดหมายใน จดหมายนอกคือเขียนหาญาติ เราเขียนใส่ซอง นายจะไปอ่านที่ห้องของเขา ถ้าคำไหนหยาบหรือดูมีอะไรแปลกๆ เขาจะเอาปากกาแดงขีด เรียกชื่อ แล้วจดหมายฉบับนั้นไม่ได้ออก เผลอๆ โดนงดไม่ให้เขียนจดหมายเดือนหนึ่ง คุกใหญ่ให้เขียนวันละฉบับ แต่ก่อนนะ หลังๆ อาทิตย์ละฉบับ เราก็ต้องดูความสำคัญของจดหมายเราด้วย เราจะส่งไปไหน เพราะไม่ใช่ว่าเขียนวันพุธ วันพฤหัสส่งนะ เผลอๆ นายยังอ่านไม่หมดก็ดองไว้ จดหมายฉบับหลังถึงก่อนฉบับแรกก็มี คุกเล็กห้ามเกิน 15 บรรทัด คุกใหญ่ 10 บรรทัด ตอนหลังๆ ไม่ได้ประท้วงนะ เรียกว่าขอความกรุณานายแม่ว่า สิบบรรทัดจะเขียนอะไรได้ เลยขอนายเขาเป็นสิบห้าบรรทัด”

“เวลาผู้คุมเดินผ่านต้องนั่งลง คุกเล็กถ้านายเดินผ่าน ต้องหยุด ถ้ายืนก็ยืน ห้ามเดินสวน แต่คุกใหญ่เขาให้นั่งลง ไม่รู้ว่าทำไมต้องนั่ง เห็นเขานั่งก็นั่ง เขาทำอะไรก็ทำ อย่าไปฝืน ที่เหนือเรียกแม่ มีแม่เล็ก แม่ใหญ่ แม่อ้วน ถ้าคุกเล็กเรียกนาย แต่นายบางคนไม่ชอบก็จะเรียกหัวหน้า”

...............

ปัจจุบัน ติ๊กเป็นอดีตผู้ต้องขัง ได้รับใบบริสุทธิ์เรียบร้อย เธอเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ต้องทำงาน 2 กะเพื่อเลี้ยงดูลูก 2 คน

“วันที่ออกดีใจ เขาเรียกชื่อไป น้ำตาไหลเลย ยืนร้องไห้ เขาประกาศวันนี้ พรุ่งนี้ได้กลับบ้านเลยนะ เตรียมตัวตั้งแต่แปดโมง เขาให้ไปเก็บล็อกเกอร์เลยนะ เก็บกระเป๋ามาไว้หน้าแดน เข้าไปในแดนตรวจเสื้อผ้า ต้องแก้ผ้าหมด ตรวจกระเป๋า ครึ่งวันไม่เสร็จ”

นี่คือเรื่องราวของติ๊ก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ต้องขังหญิงยังไม่จบ ผู้คนทั่วไปในสังคมมีความคิดและทัศนคติว่า ผู้ทำผิดกฎหมายความได้รับโทษและไม่ควรต้องมีชีวิตที่สุขสบายเกินไป มิเช่นนั้นคงมิใช่การลงโทษ คนผิดจะไม่หลาบจำ ทั้งการใช้อำนาจควบคุมอย่างเข้มข้นเพื่อให้ผู้ต้องขังอยู่ใน ‘ระเบียบ’ ที่หลายข้อไม่อาจอธิบายได้ถึงเหตุผล ยิ่งทำให้ชีวิตผู้ต้องขังถูกกดทับและถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ลง

ชีวิตในเรือนจำว่ายากลำบากแล้ว แต่ภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ความเข้มงวดอย่างที่เข้าใจไม่ได้จากคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยิ่งทำให้ชีวิตผู้ต้องขังหญิงยากลำบากกว่าเดิม...

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net