ส่องค่าจ้างในวันลาป่วย ของคนทำงานในประเทศยุโรป

การ ‘ลาป่วย’ และ ‘การจ่ายค่าจ้างในวันลาป่วย’ ของนายจ้างนั้น ถือว่าสิทธิและเป็นสวัสดิการที่คนทำงานควรได้รับ บ้านเราหากลาป่วยอย่างถูกต้องนายจ้างต้องค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลาป่วย เช่นเดียวกับที่ยุโรปแต่มีอัตราจ่ายมาก-น้อยต่างกัน ยกเว้น ‘ไอร์แลนด์-ฟินแลนด์’ ที่ไม่จ่ายเลย ส่วน ‘อังกฤษ’ รั้งท้ายประเทศที่จ่ายน้อยที่สุดแต่คนทำงานกลับลาป่วยบ่อยที่สุดเช่นกัน

ที่มาภาพประกอบ mrsc.org

15 ต.ค. 2559 การลาป่วยและการจ่ายค่าจ้างในวันลาป่วยนั้น ถือว่าสิทธิและเป็นสวัสดิการที่คนทำงานควรได้รับ สำหรับประไทยนั้นข้อมูลจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานระบุว่าสิทธิ 'การลาป่วย' ของลูกจ้าง ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง หากลูกจ้างป่วยจริงและลาป่วยตั้งแต่ 3 วันทำงานขึ้นไปนายจ้างอาจให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง หรือของสถานพยาบาลของทางราชการ หากลูกจ้างไม่อาจแสดงใบรับรองแพทย์ได้ ให้ลูกจ้างชี้แจงให้นายจ้างทราบ ค่าจ้างระหว่างการลาป่วย กฎหมายกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง ในวันลาป่วยตามวรรคหนึ่งเท่ากับอัตราค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลาป่วย ปีหนึ่งไม่เกิน 30 วันทำงาน

ส่วน 'วันลากิจ' นั้นกฎหมายคุ้มครองแรงงานมิได้กำหนดไว้ว่านายจ้างจะจัดวันลากิจให้ลูกจ้าง กี่วันและจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างหรือไม่ เพียงแต่กำหนดไว้ตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ความว่า ให้ลูกจ้างมีสิทธิลา เพื่อกิจธุระอันจำเป็นได้ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน โดยเงินค่าจ้าง เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายค่าตอบแทนสำหรับการทำงานของลูกจ้าง แต่ในกรณีที่ลูกจ้าง ไม่มาทำงาน (ขาดงาน) นายจ้างไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้เท่าที่ลูกจ้างไม่มาทำงาน

วันนี้ประชาไทจะขอชวนไปดูสิทธิวันลาป่วย และการจ่ายเงินค่าจ้างในวันลาป่วยของกลุ่มประเทศในยุโรปกัน

 

ส่อง ‘ค่าจ้างวันลาป่วย’ ของคนทำงานในประเทศยุโรป

เว็บไซต์ vouchercloud.com นำเสนอรายงาน How Sick Leave Varies Across Europe เมื่อเดือน ก.ย. 2559 ที่ผ่านมา ระบุว่าพบว่าประเทศที่มีอัตราการจ่ายค่าจ้างให้กับพนักงานที่ลาป่วยสูงสุด 5 อันดับแรกได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ เฉลี่ยแล้วจ่ายค่าแรงให้พนักงานที่ลาป่วย 802.47 ปอนด์ต่อสัปดาห์ (คิดเป็น 100% ของค่าจ้างปกติ) ตามมาด้วย ลิกเตนสไตน์ เฉลี่ยแล้วจ่ายค่าแรงให้พนักงานที่ลาป่วย 757.5 ปอนด์ต่อสัปดาห์ (คิดเป็น 64% ของค่าจ้างปกติ) นอร์เวย์ เฉลี่ยแล้วจ่ายค่าแรงให้พนักงานที่ลาป่วย 667.32 ปอนด์ต่อสัปดาห์ (คิดเป็น 100% ของค่าจ้างปกติ) ลักเซมเบิร์ก เฉลี่ยแล้วจ่ายค่าแรงให้พนักงานที่ลาป่วย 617.69 ปอนด์ต่อสัปดาห์ (คิดเป็น 100% ของค่าจ้างปกติ) และเดนมาร์ก เฉลี่ยแล้วจ่ายค่าแรงให้พนักงานที่ลาป่วย 465.53 ปอนด์ต่อสัปดาห์ (คิดเป็น 76.56% ของค่าจ้างปกติ)

ส่วน 5 อันดับรั้งท้ายได้แก่ สโลวาเกีย เฉลี่ยแล้วจ่ายค่าแรงให้พนักงานที่ลาป่วย 51.38 ปอนด์ต่อสัปดาห์ (คิดเป็น 37% ของค่าจ้างปกติ) เอสโตเนีย เฉลี่ยแล้วจ่ายค่าแรงให้พนักงานที่ลาป่วย 49.6 ปอนด์ต่อสัปดาห์ (คิดเป็น 28% ของค่าจ้างปกติ) สหราชอาณาจักร เฉลี่ยแล้วจ่ายค่าแรงให้พนักงานที่ลาป่วย 35.96 ปอนด์ต่อสัปดาห์ (คิดเป็น 8.68% ของค่าจ้างปกติ) ส่วนฟินแลนด์และไอร์แลนด์ไม่มีการจ่ายค่าแรงให้พนักงานที่ลาป่วย

ที่มาภาพ vouchercloud.com

 

คนทำงานอังกฤษมีสถิติในการลาป่วยบ่อยที่สุดเฉลี่ยประมาณ 9.1 ครั้งต่อปี

อังกฤษ (สหราชอาณาจักร) เป็นหนึ่งในประเทศที่จ่ายค่าแรงวันลาป่วยน้อยที่สุดในยุโรป แต่กระนั้นก็เป็นประเทศที่คนทำงานลาป่วยบ่อยที่สุดประเทศหนึ่ง เมื่อปี 2556 PwC บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำของอังกฤษเปิดเผยรายงาน The rising cost of absence ที่เป็นการสำรวจกว่า 2,500 องค์กรทั่วโลก พบว่าคนทำงานชาวอังกฤษมีสถิติในการลาป่วยบ่อยที่สุดเฉลี่ยประมาณ 9.1 วันต่อปี ขณะที่พนักงานชาวอเมริกันมีสถิติลาป่วยประมาณ 4.9 ครั้งต่อปี และพนักงานในองค์กรแถบเอเชียแปซิฟิกมีสถิติลาป่วยเพียง 2.2 ครั้งต่อปีเท่านั้น โดยการเปิดเผยรายงานครั้งนั้นของพีดับบลิวซี ได้เน้นเรื่องความเสียหายจากการลาป่วย 9.1 วันต่อปีของคนทำงานอังกฤษว่าคิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจประมาณ 29 พันล้านปอนด์ต่อปีเลยทีเดียว จากรายงานชิ้นนี้ เมื่อเจาะจงไปที่อาชีพต่าง ๆ ว่าอาชีพใดมีวันลาเฉลี่ยเท่าใด พบว่าคนทำงานภาครัฐของอังกฤษมีวันลาเฉลี่ยสูงสุดถึง 11.1 วันต่อปี ตามมาด้วยภาคการค้าปลีก 9 วันต่อปี ภาควิศวกรรมและโรงงาน 8.7 วันต่อปี ภาคโทรคมนาคมและสื่อ 8.3 วันต่อปี ภาคบริการ 8.1 ต่อปี ภาคการประกันชีวิต-ประกันภัย 7.4 วันต่อปี เท่ากับภาคธนาคารและการเงินที่ 7.4 วันต่อปี โดยคนทำงานในภาคเทคโนโลยีในอังกฤษลางานต่อปีน้อยที่สุดคือ 3.4 วันต่อปี

แต่ก่อนหน้านั้นการสำรวจของ PwC ในปี 2556 นั้น พบว่าวันลาป่วยโดยเฉลี่ยของลูกจ้างในอังกฤษลดลงทุกปีหลังวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2550 สถิติจากสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่าวันลาป่วยโดยเฉลี่ยของลูกจ้างในอังกฤษลดลงจาก 5.6 วันในปี 2550 มาเป็น 4.5 วันในปี 2554 และเหลือเพียง 4.1 วันในปี 2555 โดย ส.ส. จากพรรคแรงงานของอังกฤษ เคยระบุกับ theguardian.com ว่าอัตราว่างงานที่สูงเป็นสาเหตุที่ทำให้พนักงานไม่กล้าลาป่วยเพราะกลัวจะโดนไล่ออก นอกจากนี้พนักงานที่มีอาการเจ็บป่วยทางจิตอย่างอาการซึมเศร้าเป็นกลุ่มพนักงานที่นายจ้างเห็นอกเห็นใจน้อยกว่ากลุ่มที่เจ็บป่วยทางร่างกาย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท