Skip to main content
sharethis

ศาลปัตตานีนัดไต่สวนการตายอับดุลลายิบ ฝ่ายผู้ร้องซักถามตัวแทนคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ระบุไม่ทราบสาเหตุและเชื่อว่าการเสียชีวิตไม่ได้เกิดจากกระทำของบุคคลอื่นแต่อย่างใด คดีแพ่งกรณีปุโละปุโย ผอ.ศูนย์สุขภาพจิตระบุโจทก์ทั้ง 5 เป็นโรคเครียดหลังประสบเหตุสะเทือนขวัญ

13 ต.ค. 2559 รายงานข่าว มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งว่า เมื่อวันที่ 11 ต.ค. ที่ผ่านมา เวลา 09.00 -16.00 น. ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 2 ชั้นสอง ศาลจังหวัดปัตตานีกำหนดเป็นวันนัดไต่สวนการตายคดีหมายเลขดำที่ ช.6/2559  ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี ผู้ร้อง อับดุลลายิบ ดอเลาะ ผู้ตาย  และกูรอสเมาะ ตูแวบือซา ผู้ร้องซักถาม ซึ่งเป็นภรรยาของผู้ตาย

ในช่วงเช้า ศาลได้ไต่สวนพยาน ปากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการเสียชีวิตของ อับดุลลายิบ คือ สัณฐาน  รัตนะ ได้เบิกความต่อศาล สรุปได้ความว่า ตนเป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานยุติธรรมจังหวัดปัตตานี ได้รับแต่งตั้งเป็นเลขานุการของคณะกรรมการฯ ตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี  โดยคณะกรรมการฯ ได้ทำการสอบสวนพยานบุคคลหลายปาก ทั้งเจ้าหน้าที่ศูนย์ซักถาม เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน แพทย์ชันสูตรพลิกศพ และผู้ถูกควบคุมตัวที่อยู่ห้องข้างเคียงกับห้องที่อับดุลลายิบถูกกควบคุม ผู้ถูกควบคุมตัวห้องข้างเคียงให้ถ้อยคำว่าก่อนเข้านอนในคืนวันที่ 3 ธ.ค. 2558 เห็นผู้ตายปกติ และช่วงตอนใกล้รุ่งของวันที่ 4 ธ.ค. 2558 ตื่นทำละหมาด ก็ได้ยินเสียงก็อก ๆ แก็ก ๆ จากห้องผู้ตาย คาดว่าผู้ตายน่าจะทำการละหมาดเช่นเดียวกัน ไม่มีอะไรผิดปกติ จนกระทั่งเวลาประมาณ 06.00 น. มีเจ้าหน้าที่มาสอบถามจึงได้ทราบว่า อับดุลลายิบ เสียชีวิต รายงานการสอบสวนของคณะกรรมการฯ สรุปว่า ไม่ทราบสาเหตุการตาย และเชื่อว่าการเสียชีวิตของ อับดุลลายิบ ไมได้เกิดจากกระทำของบุคคลอื่นแต่อย่างใด

ในช่วงบ่าย ศาลได้ไต่สวนเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยซักถาม จำนวน 3 นาย ซึ่งเป็นผู้ทำการซักถาม อับดุลลายิบ ขณะถูกควบคุมอยู่ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ได้แก่ ร.ท.ธีรวัฒน์ แก้วบุญ  สิบเอกสรศักดิ์  สนั่นทุ่ง  และจ่าสิบเอกสงคราม  นวลศรี  โดยพยานทั้งสามได้เบิกความต่อศาลทำนองเดียวกันว่า มีเจ้าหน้าที่ซักถามจำนวน 3 ชุด  ซึ่งพยานทั้งสามปากดังกล่าว เป็นผู้ซักถามคนละชุดกัน ร.ท.ธีรวัฒน์เป็นผู้ซักถามชุดแรกรับผิดชอบช่วง 14 วันคือตั้งแต่วันแรกที่ควบคุม อับดุลลายิบ ตามกฎอัยการศึก 7 วันและตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก 7 วัน  สิบเอกสรศักดิ์เป็นผู้ซักถามชุดที่  2  ในช่วงวันที่ 24 – 30 พ.ย. 2558 และจ่าสิบเอกสงครามเป็นชุดที่ 3 ช่วงเจ็ดวันสุดท้ายที่ขยายการควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

เจ้าหน้าที่ซักถามทั้งสามปากเบิกความต่อศาล สรุปได้ความว่า อับดุลลายิบถูกส่งตัวมาควบคุมที่หน่วยซักถามในวันที่ 11 พ.ย. 2558 ได้ตรวจร่างกายโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร อับดุลลายิบ สุขภาพแข็งแรงดี  ได้เริ่มทำการเบิกตัว อับดุลลายิบ ไปซักถามในวันที่ 12 พ.ย. 2558 ต่อเนื่องไปทุกวัน เมื่อครบช่วงเวลาซักถามของแต่ละชุด ผู้ซักถามจึงจะทำบันทึกสรุปผลการซักถามทั้งหมดในส่วนของตนเป็นเอกสารให้ อับดุลลายิบ ลงลายมือชื่อ ซึ่งเป็นการรับสารภาพว่า อับดุลลายิบ มีส่วนในการเป็นผู้ร่วมก่อการร้ายที่ไหนเมื่อไหร่อย่างไรกับใครบ้าง  พยานทั้งสามปากระบุว่า อับดุลลายิบ ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี พยานคนหนึ่งเบิกความว่า อับดุลลายิบ เป็นคนพูดน้อย การซักถามใช้เวลานานกว่าจะได้คำตอบเพราะ อับดุลลายิบ ใช้เวลาคิดนาน บางวันจำเป็นต้องซักถามในเวลากลางคืนโดยพยานอ้างว่าช่วงเวลากลางคืนเงียบสงบเหมาะแก่การซักถาม

เจ้าหน้าที่ทหารทั้งสามปากเบิกความตรงกันว่า ห้องซักถามเป็นห้องที่จัดไว้เฉพาะที่อาคารหนึ่งในค่ายอิงคยุทธบริหาร อยู่ห่างจากส่วนที่เป็นห้องควบคุมประมาณ 500 เมตร  เมื่อเจ้าหน้าที่ซักถามขอรเบิกตัว อับดุลลายิบ ไปซักถาม จะมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยซึ่งดูแลในส่วนห้องควบคุมนำตัว อับดุลลายิบ ไปส่งยังอาคารซักถาม ห้องซักถามอยู่บริเวณชั้นสองของอาคารซักถาม มีทั้งหมด 7 ห้อง แต่ละห้อง ผนังบุด้วยวัสดุหนาในลักษณะเก็บเสียงได้  ติดเครื่องปรับอากาศ บานประตูทำด้วยไม้อัดติดลูกบิดสำหรับปิดเปิดประตู ไม่มีหน้าต่าง  ซึ่งห้องซักถามดังกล่าวมีความแตกต่างจากห้องควบคุมตัว(ห้องพักผู้ถูกควบคุม) โดยห้องควบคุมตัวไม่มีการบุผนัง มีหน้าต่างซึ่งติดลูกกรงเหล็กดัด  ไม่มีเครื่องปรับอากาศ  ประตูทำด้วยเหล็กหนาไม่มีลูกบิดไม่สามารถปิดประตูจากภายในห้องได้ แต่มีห่วงเหล็กสำหรับอุปกรณ์คล้องปิดล็อกประตูจากภายนอก  

จ่าสิบเอกสงครามระบุว่าได้เบิกตัว อับดุลลายิบ ไปซักถามในช่วงวันที่ 1-3 ธ.ค. 2558 เป็นช่วงท้ายของการซักถาม เนื่องจากเห็นว่าได้ข้อมูลคำรับสารภาพของอับดุลลายิบครบถ้วนแล้ว ในช่วงการซักถามของตนเป็นการปรับทัศนะคติก่อนจะปล่อยตัวกลับบ้าน  ได้ทำการสรุปผลการซักถามทั้งหมด แล้วนำไปให้อับดุลลายิบลงลายมือชื่อในช่วงค่ำของวันที่ 3 ธ.ค. 2558 ก่อน และกำหนดจะปล่อยตัวกลับบ้านในวันต่อมา เนื่องจากต้องทำการตรวจร่างกายอับดุลลายิบก่อนออกจากหน่วยซักถาม แต่ในเช้าวันที่ 4 ธ.ค. 2558 กลับพบว่าอับดุลลายิบเสียชีวิตแล้ว

ศาลนัดไต่สวนพยานฝ่ายผู้ร้องซักถามครั้งต่อไปในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2559 เวลา 13.00-16.00 น.ซึ่งเป็นนัดสุดท้ายของการไต่สวนพยานคดีนี้

คดีแพ่งปุโละปุโย ผอ.ศูนย์สุขภาพจิตระบุทั้ง 5 เป็นโรคเครียดหลังประสบเหตุสะเทือนขวัญ

นอกจากนี้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ยังรายงานด้วยว่า  เมื่อวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดปัตตานีพิจารณาคดีแพ่ง หมายเลขดำที่ 519 / 2558  ระหว่าง ยา ดือราแม กับพวกรวม 5 คน โจทก์ กองทัพบก ที่ 1 และสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 2  จำเลย  ได้สืบพยานโจทก์ 1 ปาก คือ แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 สำนักงานตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี  สังกัดกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข  ทำงานด้านการส่งเสริม ป้องกัน และเยียวยาปัญหาสุขภาพจิตของประชาชน ในเขตพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง  โดยส่วนใหญ่ภาระหน้าที่จะอยู่ในเขตพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา เป็นการเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ 
 
แพทย์หญิงเพชรดาว เบิกความว่า ในทางทฤษฎี ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรง อาจเกิดปัญหาทางสุขภาพจิตและโรคทางจิตเวช ซึ่งส่วนใหญ่เป็น โรคเครียดเฉียบพลัน  โรคซึมเศร้า  โรคเครียดภายหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ (Post Traumatic Stress Disorder : PTSD)
 
สำหรับกรณีโจทก์ทั้งห้า ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นโรคเป็นโรคเครียดหลังประสบเหตุการณ์ร้ายแรง (Post Traumatic Stress Disorder / PTSD) ถือว่าเป็นโรคทางจิตเวช  ในทางการแพทย์โจทก์ทั้งห้าต้องได้รับการบำบัดรักษาอย่างต่อเนื่อง การพยากรณ์โรค (Prognosis) สำหรับผู้ป่วยแต่ละราย จะแตกต่างกันไป ผู้ป่วยบางรายอาจจะยังไม่อาการโรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ(PTSD) แต่เวลาผ่านหลายปีอาจเกิดอาการดังกล่าวได้  บางกรณีมีอาการ PTSD ทันทีหลังประสบเหตุการณ์   เรื่องระยะเวลาในการรักษาไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าจะหายเป็นปกติเมื่อไร ขึ้นอยู่กับปัจจัยก่อนเกิดเหตุการณ์ ขณะเกิดเหตุการณ์  หลังเกิดเหตุการณ์ และสิ่งเร้าต่าง ๆ ที่ผู้ป่วยประสบด้วย  เนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงดำเนินอยู่จนถึงปัจจุบัน  การรับรู้หรือเห็นเหตุการณ์คล้าย ๆ กัน กับเหตุการณ์ที่ตนเองเคยประสบมา มีผลต่อสภาวะทางจิตใจที่อาจทำให้ระยะเวลาในการรักษายาวนานขึ้น  ซึ่งถ้าผู้ป่วยได้รับการรักษาเยียวยาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างต่อเนื่องก็จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นตามลำดับ โดยวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายจะมีรายละเอียดมากน้อยแตกต่างกัน อาจมีทั้งการรับประทานยา การบำบัดทางพฤติกรรมและความคิด การรักษาด้วยการให้ผู้ป่วยเข้าหาและเผชิญหน้ากับเหตุร้ายและสิ่งกระตุ้นนั้นซ้ำแล้วซ้ำอีก (Exposure Therapy) และอื่น ๆ
 
ศาลนัดสืบพยานโจทก์อีกครั้งในวันที่ 28 พ.ย. 2559 เวลา 09.00 -16.00 น.
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net