Skip to main content
sharethis

รองนายกรัฐมนตรี ระบุรัฐบาลกำลังเร่งตรวจสอบความถูกต้องร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนนำขึ้นทูลเกล้า ชี้ตามขั้นตอนมีเวลา 30 วัน ส่วนจะนำขึ้นถวายเมื่อไหร่ จะต้องปรึกษาสำนักราชเลขาธิการอีกครั้ง เชื่อทุกอย่างเดินตามโรดแมป ยืนยันเลือกตั้งปี 60

12 ต.ค. 2559 เว็บข่าวรัฐสภา และกรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า วิษณุ เครืองาม  รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงกรณีที่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ส่งมอบร่างรัฐธรรมนูญให้นายกรัฐมนตรี วานนี้(11 ต.ค.) ว่า   ตามกระบวนการหลังได้รับร่างรัฐธรรมนูญแล้ว รัฐบาลจะต้องเขียนคำปรารภและบทเฉพาะกาล รวมถึงตรวจทานความถูกต้องของร่างรัฐธรรมนูญด้วย แต่จะไม่มีการแก้ไขเนื้อหา โดยจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 9 พ.ย.   ซึ่งตามขั้นตอนรัฐบาลมีเวลา 30 วัน ที่นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ   ส่วนจะนำขึ้นถวายเมื่อใดนั้น จะต้องปรึกษากับสำนักราชเลขาธิการอีกครั้ง 

“รัฐบาลมีเวลา 30 วันที่นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้า แต่เข้าใจว่าคงเสร็จภายในวันที่กำหนดไว้คือวันที่ 9 พฤศจิกายน ส่วนจะนำขึ้นถวายเมื่อไรต้องปรึกษากับสำนักพระราชเลขาธิการอีกครั้ง และเมื่อนำขึ้นทูลถวายไปแล้วก็ตามพระราชอำนาจก็ทรงมีเวลาพิจารณา 90 วัน แล้วแต่จะโปรดลงมาเมื่อไร” วิษณุ กล่าว 

เมื่อถามว่า ตามโรดแม็พยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงใช่หรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า “ไม่มีๆ อย่าไปคาดหมายอะไรล่วงหน้าในทางร้าย ทุกอย่างมันเดินตามของมัน แต่ถ้ามันติดตรงไหนทุกอย่างมันมีทางออกของมันหมด”

วิษณุ กล่าวต่อว่า ตนคิดว่าเอาไว้ถึงเวลาจะนำวิธีการเขียนรัฐธรรมนูญมาแสดงให้สื่อมวลชนได้เห็น โดยวิธีการตอนนี้จะเขียนลงใบลาน 3 เล่ม ข้อความต้องตรงกัน แล้วฝ่ายธุรการได้เตรียมกระดาษ ปิดทอง ปิดตราครุฑ ไว้เรียบร้อยแล้ว เพราะถือเป็นงานละเอียดอ่อนมาก เมื่อเขียนเสร็จหน้าปกจะมีเขียนว่าข้าพระพุทธเจ้าทาน 3 ครั้ง ขอเดชะ ซึ่งถือเป็นแบบฟอร์ม และต้องเซ็นชื่อ 3 คน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สำนักอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเลขาธิการคณะรัฐมนตรี 

นายวิษณุ กล่าวต่อว่า มีอยู่ครั้งหนึ่งตนนำไปถวายพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านก็เปิดแล้วถามว่าทาน 3 ครั้งจริงหรือเปล่า ตนก็ตอบว่าจริง พระองค์ท่านบอกฉันเปิดอ่านแล้วเจอที่ผิด แต่ที่จริงไม่เชิงผิด แต่พระสัพยอกว่าไม่สมควรที่จะขึ้นบรรทัดใหม่ เหมือนคำว่าอีก ก็มีแค่อ.อ่างกับสระอี ตัวก.ไก่หายไปขึ้นบรรทัดใหม่ การพิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์มันตั้งได้ แต่การเขียนด้วยอาลักษณ์ก็ควบคุมได้ ไม่ควรเขียนไปแบบนั้น แต่เป็นเพราะเขาเขียนตรงตามต้นฉบับที่เขียนมา 

“ปัญหาจะมีก็เพียงว่า ปกติกฎหมายต่างๆเมื่อนำขึ้นทูลเกล้าถวายพระองค์ท่านจะทอดพระเนตรอย่างไรก็แล้วแต่จะโปรด แต่ในที่สุดก็จะทรงพระปรมาภิไธย บางทีการลงรายชื่อหรือที่เรียกกันว่าลงพระปรมาภิไธย อาจจะไม่ยุ่งยาก แต่บางทีพระองค์ท่านต้องอ่านก่อนถึงจะลงพระปรมาภิไธย จึงเป็นเรื่องภายในที่เขาต้องเตรียมการกัน แต่ความเป็นจริงเราได้ส่งร่างรัฐธรรมนูญให้องคมนตรีได้ดูล่วงหน้าก่อนแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องดูว่าที่เขียนมาตรงหรือไม่ตรง มันเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล”

ขณะที่ร้อยเอกทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.)  เปิดเผยภายหลังจาก วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าพบที่รัฐสภา ว่า การพบกันในวันนี้ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ  เป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงการผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปที่จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จตามรัฐธรรมนูญ  หลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ซึ่ง สปท.ได้พิจารณาและมีข้อเสนอถึงแผนปฏิรูปให้กับรัฐบาลไปแล้วกว่า 100 เรื่อง  พร้อมเชื่อมั่นว่า รัฐบาลชุดนี้จะสามารถปฏิรูปได้สำเร็จตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ตามกรอบเวลา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net