Skip to main content
sharethis
กรมการจัดหางานตั้งเป้า 5 ปี ลดพึ่งพาแรงงานต่างชาติไม่ขยายจดทะเบียนต่างด้าว 3 สัญชาติยกเว้นประมงทะเล-แปรรูปสัตว์น้ำ/ก.แรงงานร่วมกับกลาโหมทำบันทึกข้อตกลงส่งเสริมอาชีพทหารกองประจำการ/ครม.อนุมัติหลักการขึ้นเพดานเงินเดือน กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ขั้นละ 200 บาท 25 ขั้น/เผยขาดแคลนพนักงานขับรถบรรทุกแอลพีจี/สปส.เผยชดเชย 2 เดือนแรกสูงกว่าทั้งปี 2558 'ประกอบรถยนต์-สิ่งทอ' อ่วม อยู่ในสถานการณ์เฝ้าระวัง-เน้น 4 จังหวัดอุตสาหกรรม
 
ตำรวจสหรัฐจับกุมผู้ต้องสงสัย 17 คน ในปฏิบัติการทลายชบวนการค้าประเวณีที่ล่อลวงผู้หญิงหลายร้อยคนจากประเทศไทย
 
เว็บไซต์ซีบีเอสนิวส์ รายงานว่า มีผู้ถูกจับกุม 17 คน ในหลายเมืองทั่วประเทศสหรัฐ เมื่อเช้าวันอังคารที่ผ่านมา ที่ทางการเรียกว่า เป็นขบวนการค้าประเวณีที่มีความช่ำชองที่ผู้หญิงหลายร้อยคนถูกล่อลวงมาจากประเทศไทยไปยังสหรัฐ โดยใช้การปลอมแปลงวีซาและบังคับให้ทำงานขายบริการทางเพศ เพื่อชดใช้หนี้ที่จำนวนหลายหมื่นดอลลาร์
 
ในจำนวนนี้ รวมทั้งผู้หญิงคนหนึ่งที่ถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์กับชายแปลกหน้าวันละ 12 ชั่วโมง หรือ 6 หรือ 7 วันต่อสัปดาห์ โดยไม่ได้รับอนุญาตให้ไปไหนมาไหนได้อย่างเสรี ที่เป็นการใช้แรงงานทาสบริการทางเพศยุคใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ
 
การกวาดล้างครั้งนี้ มีขึ้นหลังการจับกุมหัวหน้าขบวนการในเบลเยียม เมื่อเร็วๆ นี้ และสหรัฐ กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการเรียกร้องให้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ขณะที่ผู้ต้องสงสัย 17 คน ถูกตั้งข้อหลายข้อหา ที่รวมทั้งการสมรู้ร่วมคิดกระทำการค้าประเวณี สมรู้ร่วมคิดบังคับใช้แรงงาน สมรู้ร่วมคิดในการฟอกเงิน และสมรู้ร่วมคิดกันปลอมแปลงวีซ่า ซึ่งคนเหล่าานี้ถูกจับได้ที่เมืองมินนีแอโพลิส, ชิคาโก, แอตแลนตาและลอสแองเจลิส
 
ทางการสหรัฐ เริ่มต้นจากการสืบสวนคดีค้าประเวณีใน ทวิน ซิตี้ส์ เมื่อเดือนมกราคม ปี 2557 และพบว่า เป็นส่วนหนึ่งของขยวนการค้าประเวณีข้ามชาติและยังเป็นเครือข่ายที่ซับซ้อนและเป็นระบบอยู่ทั่วประเทศ มีผู้ทำหน้าที่จัดหาหญิงสาว, จัดการวีซา, การเดินทาง, การโฆษณาและหาลูกค้า มีคนตามประกบเหยื่อเวลาไปพบลูกค้า
 
จากเอกสารคำฟ้อง ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2552 มีผู้หญิงหลายร้อยคนถูกพามาจากกรุงเทพฯ ไปยังหลายเมืองในสหรัฐ รวมทั้ง ลอส แองเจลิส, ลาส เวกัส, ฟีนิกซ์, มินนีแอโพลิส, วอชิงตันและดัลลัส พวกเธอมีพื้นฐานครอบครัวยากจน สื่อสารภาษาอังกฤษได้เล็กน้อย และถูกล่อลวงด้วยคำสัญญาว่าจะมีชีวิตที่ดีขึ้น
 
พวกหัวหน้าขบวนการ หรืออีกนัยหนึ่งคือ นายหน้าค้ามนุษย์ในประเทศไทย ได้หลอกล่อผู้หญิงเหล่านี้ด้วยสัญญาทาส เพื่อแลกกับวีซาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปยังสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้พวกเธอเป็นหนี้จำนวนเงินระหว่าง 40,000-60,000 ดอลล่าร์ หรือราว 1 ล้าน 4 แสนบาท ถึง 2 ล้านบาท และต้องกลายเป็นคนของ “องค์กร” จนกว่าจะใช้หนี้หมด
 
นอกจากนี้ พวกเธอยังถูกชักชวนให้ไปทำศัลยกรรมเพิ่มขนาดหน้าอก เพื่อให้เป็นที่ดึงดูดใจของลูกค้า แต่มันก็ทำให้หนี้ของพวกเธอเพิ่มขึ้นด้วย แต่เมื่อเดินทางไปถึงสหรัฐฯ พวกเธอก็ถูกบังคับให้ค้าประเวณีในสถานที่หลายหลาย รวมทั้ง โรงแรม, ร้านนวดและอพาทเม้นท์ เวลาจะออกไปข้างนอกก็ต้องมีผู้คุม ที่จะหลับนอนกับเหยื่อด้วย นอกจากนี้ พวกเธอยังได้รับส่วนแบ่งเพียงเล็กน้อยจากการค้าประเวณี ที่แทบไม่พอจ่ายค่าห้องเช่า, อาหารและของใช้ส่วนตัว จึงเป็นไปไม่ได้ที่พวกเธอจะมีเงินเก็บเพื่อใช้หนี้
 
ขบวนการนี้ ควบคุมผู้หญิงด้วยการแยกพวกเธอออกจากกัน และขู่ว่าถ้าหลบนีจะทำร้ายครอบครัวของพวกเธอที่ประเทศไทย มีอยู่ครั้งหนึ่ง ผู้หญิงคนหนึ่งพยายามหลบหนี และสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัวของเธอก็ถูกทำร้ายจนกระดูกหัก
 
มีผู้หญิงอีกคนหนึ่ง ที่ถูกล่อลวงเมื่อปี 2553 และต้องทำสัญญาทาสจำนวน 40,000 ดอลล่าร์ และเมื่อไปสหรัฐฯ เธอต้องทำงานในซ่องโสเภณี 2 แห่ง วันละ 12 ชั่วโมง หรือ 6-7 วันต่อสัปดาห์
 
หลังจากนั้นมีการเปลี่ยนเงื่อนไขในสัญญา ที่ทำให้เธอถูกบังคับให้ทำงานในสปาในเมืองฮุสตัน ที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมง เธอกับเหยื่ออีกคนหนึ่งต้องถูกบังคับขายบริการทางเพศตลอดทุกชั่วโมง จนกระทั่งหาทางหลบหนีได้ในคืนหนึ่ง แต่หลังจากนั้นเธอก็ได้รับอีเมลข่มขู่ทำร้ายครอบครัวที่เมืองไทย และยกเลิกวีซา
 
 
เผย 10 อันดับบริษัทที่คนอยากทำงานมากที่สุด ปตท.ครองแชมป์
 
จ๊อบส์ ดีบี เผย 10 อันดับบริษัทที่คนอยากเข้าทำงานมากที่สุดในประเทศไทย ปตท.ครองอันดับ 1 รองมาก คือปูนใหญ่ ระบุปัจจัยสำคัญที่ส่งผลในการเลือกงานในฝัน คือสวัสดิการและความมั่นคงในอาชีพในสัดส่วนที่เท่าๆ กัน ส่วนการหางานผ่านอินเทอร์เน็ตยังเป็นช่องทางที่ได้รับความนิยม
 
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นองค์กรที่คนอยากร่วมงานมากที่สุด ตามมาด้วย บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG โดยทั้ง 2 องค์กรนี้ยังเป็นเป็นองค์กรขนาดใหญ่ในประเทศไทยด้วย ทั้งนี้บริษัทปูนซิเมนต์ไทยได้ขยายธุรกิจไปยังภูมิภาคอาเซียนนอกเหนือจากขยายขอบเขตธุรกิจไปสู่ธุรกิจประเภทอื่นๆ และยังเป็นหนึ่งในองค์กรธุรกิจแบบยั่งยืนในภูมิภาคอีกด้วย
 
ผลสำรวจนี้ไม่ใช่เพียงแค่ให้ข้อมูลตลาดแรงงานที่ทันสมัยให้กับองค์กรที่หาคนไปทำงานเท่านั้น แต่มีจุดประสงค์เพื่อนำเสนอคุณค่า เพื่อรักษาพนักงานปัจจุบันและดึงดูดคนเก่งเข้ามาร่วมงาน จ๊อบส์ดีบีได้รวบรวมผลสำรวจจากสมาชิกรวม 446 คน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2559 จากจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามจากหลายๆ ตำแหน่ง (ส่วนใหญ่เป็นพนักงานระดับหัวหน้างานและฝ่ายบริหารจัดการ) และยังมีความชำนาญเฉพาะด้านที่หลากหลายอีกด้วย
 
บริษัทโตโยต้าได้รับการโหวตเป็นบริษัทที่น่าทำงานด้วยมากที่สุดเป็นลำดับที่ 3 องค์กรนี้ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมาตั้งแต่พ.ศ. 2505 ปัจจุบันมีโรงงานในประเทศไทยถึง 3 แห่งด้วยกันในจังหวัดฉะเชิงเทราและสมุทรปราการ โดยมีกำลังการผลิตต่อปีสูงสุดอยู่ที่เกือบ 800,000 คัน
 
ในขณะที่บริษัทเสิร์ชเอ็นจิ้นระดับโลก Google ได้รับการโหวตให้เป็นบริษัทที่น่าทำงานด้วยที่สุดเป็นลำดับที่ 4 ตามมาด้วยฮอนด้าเป็นอันดับที่ 5 โดยฮอนด้าเปิดธุรกิจในประเทศไทยมาตั้งแต่พ.ศ. 2507 บริษัทตั้งเป้าให้ธุรกิจเข้าใกล้ชิดกับลูกค้ามากยิ่งขึ้นด้วยการเปิดบริษัทเอเชี่ยนฮอนด้ามอเตอร์ จำกัด ทำหน้าที่เป็นสำนักงานระดับภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนียในพ.ศ. 2547 โดยรับผิดชอบในการประสานงานกับของฮอนด้าใน 12 ประเทศและสนับสนุนการปฏิบัติงานกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอีกด้วย
 
บริษัทที่ได้รับการโหวตเป็นลำดับที่ 6 ได้แก่ บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์และดิจิทัลไลฟ์สไตล์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ เอไอเอสไม่เคยหยุดคิดค้นและขยายบริการด้วยเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ในยุคปัจจุบัน และยังให้บริการโซลูชั่นด้านดิจิทัลที่ดีที่สุดเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกความฝันและทุกชีวิต บริษัทโทรคมนาคมแห่งนี้มีพนักงานรวมทั้งสิ้นมากกว่า 10,000 คน
 
ส่วนผู้นำในอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภคอย่าง ยูนิลีเวอร์ ได้รับการโหวตเป็นลำดับที่ 7 โดยยูนิลีเวอร์มีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนานในประเทศไทยและมีสำนักงานใหญ่แห่งล่าสุดอยู่บนถนนพระราม 9 และยูนิลีเวอร์ยังเป็นผู้นำองค์กรที่มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนระดับโลก
 
เชฟรอน บริษัทผู้นำธุรกิจด้านพลังงานระดับโลกได้รับการโหวตอยู่ในอันดับที่ 8 เชฟรอนเป็นองค์กรที่ประกอบไปด้วยความสามารถที่เหนือกว่าโดยความสำเร็จขององค์กรเกิดจากพนักงานที่มีความมุ่งมั่นเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ด้วยวิธีที่ถูกต้อง ซึ่งตรงกับวิสัยทัศน์ขององค์กรที่เป็นบริษัทพลังงานที่ได้รับความชื่นชอบสูงสุดอันเกิดจากพนักงาน พันธมิตรและประสิทธิภาพ ด้วยธุรกิจหลักด้านพลังงานประกอบกับธุรกิจในประเทศไทยที่แผ่กว้างไปตั้งแต่การสำรวจ การผลิต การกลั่น และอุตสาหกรรมไปยังธุรกิจค้าปลีกทำให้เชฟรอนในประเทศไทยได้เป็นองค์กรระดับประเทศที่ประกอบไปด้วยคนทำงานคุณภาพสูงและยังคงพัฒนาคุณภาพบุคลากรขององค์กรอย่างต่อเนื่อง
 
ในส่วนของธุรกิจด้านโทรคมนาคมที่มีผู้ใช้งานเครือข่ายมากถึง 25 ล้านเบอร์ และพนักงานมากกว่า 4,500 คนอย่าง DTAC หรือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) อยู่ในอันดับที่ 9
 
และอันดับที่ 10 ขององค์กรในฝันเป็นของบริษัทที่ทำธุรกิจด้านโภชนาการและสุขภาพอย่าง Nestlé ที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทยตั้งแต่ปีพ.ศ. 2436 โดยปัจจุบันมีโรงงานในประเทศ 7 แห่ง และมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในกรงเทพฯ พร้อมกับพนักงานกว่า 2,500 คน
 
ผู้ตอบแบบสอบถามคนไทยระบุปัจจัยสำคัญที่ส่งผลในการเลือกงานในฝัน คือสวัสดิการและความมั่นคงในอาชีพในสัดส่วนที่เท่าๆ กัน สำหรับเรื่องของสวัสดิการนั้นถือเป็นคำตอบหนึ่งที่ผู้ตอบแบบสอบถามในหลายๆ ประเทศระบุเหมือนกัน ขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยโดดเด่นกว่าประเทศอื่นโดยระบุว่าความมั่นคงในอาชีพเป็นปัจจัยแรกๆ ในการเลือกเข้าทำงานในองค์กรหนึ่งๆ ทั้งนี้ชื่อเสียงของบริษัทเป็นอันดับที่ 3 ที่ผู้หางานไทยระบุถึงองค์กรในฝัน
 
ความต้องการเหล่านี้ยังแตกต่างกันออกไปวัดได้จากตำแหน่งของผู้สมัครงาน โดยผู้สมัครที่มีประสบการณ์มักคำนึงถึงภาพลักษณ์และแบรนด์ขององค์กรมากกว่า ขณะที่ผู้สมัครงานที่จบใหม่มักให้ความสำคัญกับโอกาสในการพัฒนาตนเองในหน้าที่การงาน
 
นอกจากนี้การหางานผ่านอินเทอร์เน็ตยังเป็นช่องทางที่ได้รับความนิยม รายงาน jobsDB’s 2016 Top Companies ชี้ให้เห็นว่าผู้หางานส่วนใหญ่มักค้นคว้าและศึกษาข้อมูลขององค์กรที่สนใจผ่าน 3 ช่องทางดังนี้ การได้ยินคนอื่นพูดต่อๆ กันมา เครือข่ายเพื่อนฝูงหรือครอบครัว และอินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านโซเชียลมีเดีย ข่าวออนไลน์ และเว็บไซต์ของบริษัท ขณะที่การได้ยินคนอื่นพูดต่อๆ กันมาและได้ยินจากข่าวและโซเชียลมีเดียเป็นช่องทางที่ผู้หางานไทยให้ความสำคัญกับการหาข้อมูลขององค์กรนั้นๆ โดยคิดเป็น 20% ขณะที่การนำแนะจากครอบครัวหรือเพื่อนมาเป็นอันดับที่สอง (16%) และจากการเข้าไปชมเว็บไซต์ของบริษัทหรือเว็บไซต์รับสมัครงานอยู่ในอันดับที่ 3 (15%)
 
นางสาวนพวรรณ จุลกนิษฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การค้นหาไม่ได้เป็นเพียงแค่โอกาส แต่ยังเป็นข้อมูลองค์กรที่มากขึ้นที่มีอยู่ในไซต์หางาน นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งข้อมูลพื้นฐานให้กับคนที่ตั้งใจหางานจริงๆ ดังนั้นความสำคัญของไซต์หางานจึงเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์ขององค์กร
 
 
ไทยร่วมมือ IOM เดินหน้าแก้ปัญหาค้ามนุษย์อย่างเข้มข้น
 
พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ให้การต้อนรับ นางเดน่า เกรเบอร์ ลาเด็ก (Mrs. Dana Graber Ladek) หัวหน้าสำนักงานองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ประจำประเทศไทย ที่เข้าเยี่ยมคารวะแนะนำตัว เนื่องในโอกาสที่เข้ารับตำแหน่ง พร้อมหารือข้อราชการในประเด็นเกี่ยวกับปัญหาค้ามนุษย์ โดยเฉพาะความร่วมมือ ระหว่าง พม. และ IOM ประจำประเทศไทย ในเรื่องการช่วยเหลือคุ้มครองเหยื่อ
 
พลตำรวจเอก อดุลย์ เปิดเผยภายหลังการหารือว่า หัวหน้า IOM ได้แสดงความชื่นชมยินดีที่ไทยสามารถเลื่อนอันดับจากเทียร์ 3 เป็นเทียร์ 2 เฝ้าระวังได้สำเร็จ โดยวันนี้ได้หารือถึงแนวทางเพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ร่วมกันด้วย ทั้งเรื่องการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ และล่ามให้มีความพร้อมและเพียงพอ ซึ่งทาง IOM ช่วยทำงานในเรื่องการช่วยเหลือคุ้มครองเหยื่ออย่างเต็มที่มาตลอด และนับว่าเรามาถูกทางที่ได้กำหนดปัญหาค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติ ที่ต้องเร่งดำเนินการให้มีความชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องการปราบปรามการค้ามนุษย์ด้านแรงงานประมง สตรีและเด็ก โดยปีนี้ไทยจะต้องเข้มงวดมากขึ้น โดยจะเน้นย้ำให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่ ทั้ง รายงานทริปรีพอร์ต ประเทศต้นทาง พื้นที่เสี่ยง มาตรการการปราบปราม ทีมวิชาชีพ การคัดแยกเหยื่อ และการจัดเตรียมหน่วยงานคุ้มครองเหยื่อด้วย ตั้งเป้าจะต้องทำให้ดีกว่าเดิม
 
ขณะที่นางเดน่า เกรเบอร์ ลาเด็ก กล่าวว่า ยินดีที่ได้ประสานความร่วมมือด้านปัญหาค้ามนุษย์กับไทย ซึ่งส่วนตัวมองว่า ประเด็นนี้สำหรับไทยถือว่าเป็นเรื่องท้าทายมาก โดยเฉพาะด้าน การทุจริต ความร่วมมือระหว่างประเทศต้นทาง ประเทศเพื่อนบ้าน และการคุ้มครองผู้เสียหายอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การแก้ปัญหาค้ามนุษย์ด้านแรงงานประมงของไทย ยังถือเป็นเรื่องยากที่ไทยต้องให้ความสำคัญอย่างมาก ดังนั้นหากต้องการความช่วยเหลืออะไร IOM พร้อมเสมอ โดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้เสียหาย ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของ IOM
 
 
รมว.แรงงานย้ำให้สสปท.ลดอุบัติเหตุและโรคจากการทำงาน 5% ต่อปี
 
พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ให้กรอบแนวทางการดำเนินงานเพื่อเชื่อมต่อภารกิจและนโยบายของกระทรวงแรงงาน ในวาระที่คณะกรรมการบริหารสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) หรื สสปท. เข้าเยี่ยมคารวะ โดยให้ สสปท. จัดทำกรอบยุทธศาสตร์ 5 ปี ให้แล้วเสร็จ ตามกรอบระยะเวลา โดยให้แผนยุทธศาสตร์มีความสอดคล้อง นโยบายของรัฐบาล เรื่อง Safety Thailand โดยมุ่งเน้นการลดอุบัติเหตุและโรคจากการทำงานให้ลดลง อย่างน้อย 5% ต่อปี เน้นให้ความสำคัญในการลดอุบัติเหตุจากการทำงาน ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมเคมี การป้องกันอัคคีภัย อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่รัฐบาลสนับสนุนในอนาคตตามนโยบาย Thailand 4.0
 
สสปท. เป็นองค์การมหาชนที่จัดตั้งขึ้นใหม่ มีบทบาทสำคัญในการให้บริการทางด้านวิชาการ งานวิจัย และสถิติ จัดทำคู่มือปฏิบัติงานพัฒนาบุคลากรด้านความปลอดภัย และพัฒนาส่งเสริมพฤติกรรมด้านความปลอดภัยให้กับแรงงาน ทั้งแรงงานไทยและต่างด้าว ซึ่ง สสปท. จะต้องทำงานควบคู่กับกระทรวงแรงงาน และกระทรวงอื่นๆ ตามนโยบาย Safety Thailand โดย สสปท. จะมีส่วนสำคัญในการสนับสนุน ให้บริการที่สอดคล้องและส่งเสริมกับการออกกฎหมายใหม่ และการประสานงาน เพื่อให้มีการทำงานอย่างบูรณาการร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง โดยมีเป้าหมายเดียวกัน คือ การป้องกันอุบัติเหตุจากการทำงาน และโรคจากการทำงานของลูกจ้าง ตลอดจนลดการสูญเสียต่อธุรกิจและภาพลักษณ์ของประเทศ เพื่อการส่งเสริมวัฒนธรรมในการป้องกันอุบัติเหตุ แทนการมุ่งเน้นการเยียวยาและฟื้นฟูหลังจากการเกิดอุบัติเหตุ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับสำนักงานกองทุนเงินทดแทน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และกองทุนความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน วางแผนและทำงานร่วมกันเพื่อกำหนดกรอบงบประมาณที่ชัดเจนต่อไป
 
 
ผู้ใช้แรงงานเดินรณรงค์ 'Decent Work Day' ร้องค่าจ้างต่ำ ทำงานหนัก เสนอรัฐ 3 ข้อ ขอปรับขั้นต่ำ 360 บาทเท่ากันทั่วประเทศ
 
เมื่อวันที่ 7 ต.ค.59 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ และองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ร่วมกันจัดกิจกรรมวันงานที่มีคุณค่า หรือ Decent Work Day ซึ่งตรงกับวันที่ 7 ต.ค.ของทุกปี
 
ทั้งนี้ เครือข่ายแรงงานหลายร้อยคน นำโดยนายชาลี ลอยสูง รักษาการประธาน คสรท. และนายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการ สรส. ได้ตั้งขบวนถือป้ายเรียกร้อง อาทิ สิทธิความเท่าเทียม สวัสดิการที่เหมาะสม ค่าจ้างที่เป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ หยุดเอาเปรียบแรงงานหญิงตั้งครรภ์ ออกเดินไปตามถนนราชดำเนินไปหยุดประกาศเจตนารมณ์ และข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล 3 ข้อ ที่หน้าองค์การสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย โดยมีนายมอริซิโอ้ บุซซี ผู้อำนวยการองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) เข้าร่วมกิจกรรมด้วย จากนั้นได้ช่วยกันยกตาชั่งจำลอง ที่ชั่งถุงเงินถุงทองของนายทุน และชั่งถุงยังชีพของผู้ใช้แรงงาน ให้น้ำหนักมีความเท่าเทียมกัน
 
นายชาลี กล่าวว่า รัฐบาลแต่ละยุคสมัยไม่ได้ให้ความสำคัญกับผู้ใช้แรงงานที่เป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุดของสังคม แต่กลับสนับสนุนให้นายทุนนักธุรกิจทั้งในชาติและต่างชาติเอารัดเอาเปรียบคนไทย กดขี่ ขูดรีด ทั้งทางตรงและทางอ้อม แลกกับการให้กลุ่มทุนมาลงทุนในประเทศ เห็นได้จากรูปธรรมที่แสดงออกทางกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการสนับสนุนการลงทุน
 
ทั้งนี้ ทำให้คนงานอยู่ในสภาพย่ำแย่ ค่าจ้างต่ำ ทำงานหนัก ไม่ปลอดภัยในการทำงาน ชั่วโมงการทำงานยาวนานทั้งแรงงานในระบบ นอกระบบ แรงงานข้ามชาติ สิทธิการรวมตัวเจรจาต่อรองทำได้ยากเนื่องจากกฎหมายและนโยบายไม่เอื้ออำนวย จึงก่อให้เกิดปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ละเมิดสิทธิแรงงาน ซึ่งเป็นปัญหาที่ทำให้ประเทศถูกโจมตีจากนานาชาติ
 
นายชาลี กล่าวอีกว่า เพื่อขจัดปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างสังคมที่สงบสุข ขอให้รัฐบาลดำเนินการ 3 ข้อ คือ 1. ให้รับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยสิทธิ เสรีภาพ การรวมตัวและเจรจาต่อรอง 2. ให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 360 บาทเท่ากันทั่วประเทศ โดยยกเลิกระบบค่าจ้างแบบลอยตัว
 
3. ให้รัฐบาลยกเลิกนโยบายและการออกกฎหมายที่นำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ด้วยการให้ความสำคัญกับการพัฒนารัฐวิสาหกิจให้มีศักยภาพ รวมทั้งส่งเสริมให้สหภาพแรงงานและภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ แต่หากข้อเสนอทั้ง 3 ข้อ ไม่ได้รับการตอบสนอง เครือข่ายภาคประชาชน ทั้งจากส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค จะร่วมมือกันผลักดันข้อเสนอให้เกิดผลเป็นจริง
 
 
ปลัด.แรงงาน ยืนยันสรุปผลอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ได้ปลาย ต.ค.แน่นอน ก่อนเริ่มประกาศใช้ 1 ม.ค. 2560
 
ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 19 ได้ประชุมพิจารณาการขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ประจำปี 2560 โดยที่ประชุมมีมติให้คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อศึกษาแนวทางการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ไปศึกษาสูตรคำนวณใหม่ เพื่อเพิ่มปัจจัยชี้วัดทางเศรษฐกิจให้ครอบคลุมอย่างรอบด้านยิ่งขึ้น โดยใช้ข้อมูลกว่า 10 รายการประกอบการพิจารณา ทั้งด้านดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาสินค้าและบริการ ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งให้มีการศึกษาเทียบเคียงกับประเทศเพื่อนบ้านด้วยนั้น
 
ขณะนี้ทางคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ อยู่ระหว่างการเร่งรัดพิจารณาจากข้อมูลข้างต้นอย่างละเอียดและรอบคอบเพื่อให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย โดยให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศพร้อมไปกับการครองชีพอย่างคุณภาพของคนทำงาน จึงยืนยันว่าจะสามารถสรุปอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ได้ราวปลายเดือนตุลาคมนี้แน่นอน และเมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) และประกาศใช้พร้อมกันทั่วประเทศ 1 มกราคม 2560 ต่อไป
 
"คณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนภาครัฐ ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง และผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ต่างคำนึงถึงประโยชน์ของคนทำงานที่จะได้รับพร้อมไปกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศชาติ ซึ่งต้องดำเนินไปด้วยกัน การพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจึงต้องดำเนินการด้วยความละเอียด รอบคอบ และรอบด้านแต่อย่างไรก็ตาม หวังให้คนทำงานให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะอาชีพที่ได้มาตรฐานกันมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ได้รับค่าจ้างสูงขึ้นมากกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ โดยขณะนี้ได้กำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแล้วถึง 55 สาขาอาชีพ สามารถไปรับการทดสอบมาตรฐานฝีมือได้จากสถาบัน/ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ หากคนทำงานพัฒนาตนเองขึ้นจะได้รับประโยชน์เป็นอย่างมาก" ม.ล.ปุณฑริก ระบุ
 
 
กสร.เผย ฟาร์มไก่ทั่วประเทศกว่า 3 พันแห่ง จับมือกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ร่วมยกระดับแรงงานเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมสัตว์ปีกในอนาคต
 
เมื่อวันที่ 10 ต.ค.59 นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า กสร. ได้ส่งเสริมให้สถานประกอบการในอุตสาหกรรมแปรรูปเนื้อไก่เพื่อส่งออกนำหลักปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดีสำหรับอุตสาหกรรมฟาร์มและสถานที่ฟักไข่สัตว์ปีกในประเทศไทย (GLP-Poultry Thailand) ไปใช้เป็นแนวทางบริหารจัดการด้านแรงงาน โดยกำหนดแผนการดำเนินงานเพื่อยกระดับการบริหารจัดการด้านแรงงานในอุตสาหกรรมสัตว์ปีก 4 ระยะ
 
นายสุเมธ กล่าวว่า แผนระยะที่ 1 กสร. ได้ร่วมกับกรมปศุสัตว์ สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อการส่งออกไทยจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา และอยู่ระหว่างการดำเนินงานในระยะที่ 2 - 3 ที่เน้นสร้างองค์ความรู้ให้บุคลากรภาครัฐและเอกชนตลอดจนพัฒนาระบบบริหารจัดการด้านแรงงานในสถานประกอบการ โดยมีฟาร์มเลี้ยงไก่แสดงความมุ่งมั่นในการนำ GLP ไปใช้ในการบริหารจัดการ 3,208 แห่ง และจะให้ฟาร์มเลี้ยงไก่ซึ่งมีอยู่ประมาณ 6,200 แห่ง นำ GLP ไปใช้ให้แล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค.59
 
ทั้งนี้ กสร. ได้มีหนังสือไปยังทุกจังหวัดให้เร่งจัดประชุมชี้แจงปัญหาการใช้แรงงานและการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในอุตสาหกรรมสัตว์ปีก และประสานความร่วมมือในการส่งเสริม สนับสนุนให้สถานประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องนำ GLP ไปเป็นแนวทางเบื้องต้นในการปรับปรุงสภาพการจ้างและสภาพการทำงาน ตลอดจนสนับสนุนสถานประกอบกิจการที่มีความพร้อมให้สามารถพัฒนาการบริหารจัดการแรงงานเพื่อเข้าสู่ระบบมาตรฐานแรงงานไทยต่อไป
 
 
ภาวะการทำงานของประชากร เดือนกันยายน 2559
 
ผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร เดือนกันยายน พ.ศ. 2559 พบว่า จำนวนผู้มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป 55.69 ล้านคน โดยเป็นผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานหรือผู้ที่พร้อมที่จะทำงาน 38.28 ล้านคน ซึ่งประกอบด้วย ผู้มีงานทำ 37.87 ล้านคน ผู้ว่างงาน 3.34 แสนคน และผู้ที่รอฤดูกาล 7.32 หมื่นคน ส่วนผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงานหรือผู้ที่ไม่พร้อมทำงาน 17.41 ล้านคน ได้แก่ แม่บ้าน นักเรียน คนชรา เป็นต้นภาวะการทำงาน
 
- การทำงาน
 
สำหรับจำนวนผู้มีงานทำ 37.87 ล้านคน ประกอบด้วยผู้ทำงานในภาคเกษตรกรรม 12.52 ล้านคน และนอกภาคเกษตรกรรม 25.35 ล้านคน เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกันยายน พ.ศ. 2558 พบว่า จำนวนผู้ทำงานในภาคเกษตรกรรมลดลง 6.1 แสนคน (จาก 13.13 ล้านคน เป็น 12.52 ล้านคน) ส่วนใหญ่เป็นการลดลงในการปลูกข้าวจ้าว การปลูกข้าวเหนียว การปลูกอ้อย และการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในขณะที่ นอกภาคเกษตรกรรมมีจำนวนผู้ทำงานเพิ่มขึ้น 1.6 แสนคน (จาก 25.19 ล้านคน เป็น 25.35 ล้านคน) ในจำนวนนี้เป็นการเพิ่มขึ้นในสาขาการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และร5จักรยานยนต์ 1.1 แสนคน สาขากิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย และสาขากิจกรรมด้านสุขภาพและ งานสังคมสงเคราะห์เพิ่มขึ้นเท่ากันประมาณ 9.0 หมื่นคน สาขาการผลิต และสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารเพิ่มขึ้นเท่ากันประมาณ 3.0 หมื่นคน ส่วนสาขาที่ลดลงคือ สาขาการก่อสร้าง 9.0 หมื่นคน สาขาการบริหารราชการการป้องกันประเทศ และการประกันสังคมภาคบังคับ 7.0 หมื่นคน สาขาการศึกษา 3.0 หมื่นคน สาขากิจกรรมอสังหาริมทรัพย์ 1.0 หมื่นคน และที่เหลือกระจายอยู่ในสาขาอื่นๆ
 
- การทำงานต่ำกว่าระดับ
 
หากพิจารณาถึงจำนวนผู้ที่ทำงานแต่ยังทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นผู้ทำงานแต่ยังมีเวลาและต้องการที่จะทำงานเพิ่ม หรือเรียกคนทำงานในกลุ่มนี้ว่า ผู้ทำงานต่ำกว่าระดับ (Underemployment workers) จากผลการสำรวจพบว่า มีผู้ที่ทำงานต่ำกว่าระดับ 2.20 แสนคน หรือร้อยละ 0.6 ของจำนวนผู้ทำงานทั้งหมด ซึ่งคนกลุ่มนี้แม้ว่าจะมีงานทำแล้วก็ตาม แต่ยังมีเวลาว่างที่มากพอและต้องการที่จะทำงานเพิ่มขึ้น เพื่อต้องการเพิ่มรายได้ให้กับตนเอง
 
เมื่อพิจารณาจำนวนผู้ทำงานต่ำกว่าระดับ จำแนกตามเพศ พบว่าโดยปกติแล้วเพศชายมากกว่าเพศหญิง สำหรับเดือนกันยายน 2559 เพศชายมีจำนวนผู้ทำงาน ต่ำกว่าระดับ 1.55 แสนคน (ร้อยละ0.8) และเพศหญิง 6.5 หมื่นคน (ร้อยละ 0.4) ตามลำดับภาวะ
การว่างงาน
 
- จำนวนผู้ว่างงาน
 
สำหรับจำนวนผู้ว่างงานในเดือนกันยายน พ.ศ. 2559 มีทั้งสิ้น 3.34 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน ร้อยละ 0.9 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2558 จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 3.4 หมื่นคน (จาก 3.00 แสนคน เป็น 3.34 แสนคน) แต่เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนสิงหาคม พ.ศ.2559 จำนวนผู้ว่างงานลดลง2.6 หมื่นคน (จาก 3.60 แสนคน เป็น 3.34 แสนคน)
เมื่อเปรียบเทียบอัตราการว่างงานกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา พบว่าอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น (จากร้อยละ 0.8 เป็นร้อยละ 0.9) หากเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมาอัตราการว่างงานไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คือร้อยละ 0.9
 
- การว่างงานตามเพศ
 
เมื่อพิจารณาอัตราการว่างงาน ตามเพศในเดือนกันยายน พ.ศ. 2559 พบว่า เพศชายมีอัตราการว่างงานร้อยละ 0.9 และเพศหญิงมีอัตราการว่างงานร้อยละ 0.8
หากเปรียบเทียบอัตราการว่างงานกับเดือนกันยายน 2558 จะเห็นว่าอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นทั้งเพศชายและหญิง
 
- การว่างงานตามกลุ่มอายุ
 
สำหรับการว่างงานตามกลุ่มอายุ พบว่า กลุ่ม วัยเยาวชน หรือผู้มีอายุ 15-24 ปี มีอัตราการว่างงานร้อยละ 4.1 ซึ่งปกติในกลุ่มนี้อัตราการว่างงานจะสูง ส่วนกลุ่มวัยผู้ใหญ่ (อายุ 25 ปีขึ้นไป) มีอัตราการว่างงานร้อยละ 0.5 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2558 กลุ่มวัยเยาวชนมีอัตราการว่างงานลดลงคือจากร้อยละ 4.3 เป็นร้อยละ 4.1 และ เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2559 กลุ่มวัยเยาวชน มีอัตราการว่างงานลดลงจากร้อยละ 5.3 เป็นร้อยละ 4.1 สำหรับในกลุ่มวัยผู้ใหญ่อัตราการว่างงาน เพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 0.3 เป็นร้อยละ 0.5 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
- การว่างงานตามระดับการศึกษาที่สำเร็จ
 
สำหรับระดับการศึกษาที่สำเร็จของผู้ว่างงานในเดือนกันยายน พ.ศ. 2559 พบว่า ผู้ว่างงานที่สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา 1.37 แสนคน (อัตราการว่างงานร้อยละ 1.7)รองลงมาเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 6.5 หมื่นคน (ร้อยละ 1.1) ระดับมัธยมศึกษาปลายหรือเทียบเท่า 5.6 หมื่นคน (ร้อยละ 0.9) ระดับประถมศึกษา 4.6 หมื่นคน (ร้อยละ 0.5) และ ผู้ที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา 2.9 หมื่นคน (ร้อยละ 0.3) และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2558 พบว่า จำนวนผู้ว่างงานในระดับอุดมศึกษาเพิ่มขึ้น 1.8 หมื่นคน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นเพิ่มขึ้น 1.3 หมื่นคน ผู้ที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษาเพิ่มขึ้น 5.0 พันคน และระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าเพิ่มขึ้น 3.0 พันคน ส่วนจำนวนผู้ว่างงานระดับประถมศึกษาลดลง 6.0 พันคน
 
- การว่างงานตามประสบการณ์
 
เมื่อพิจารณาถึงจำนวนผู้ว่างงาน พบว่า เป็นผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน 1.66 แสนคน และผู้ว่างงานที่เคยทำงาน มาก่อน 1.68 แสนคน ซึ่งในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น 6.0 พันคน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว(จาก 1.62 แสนคน เป็น 1.68 แสนคน) โดยเป็นผู้ว่างงานจากภาคการบริการและการค้า 7.9 หมื่นคน ภาคการผลิต 6.7 หมื่นคน และภาคเกษตรกรรม 2.2 หมื่นคน ตามลำดับ
ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนจำนวน 1.66 แสนคน
 
สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษา 1.01 แสนคน ในจำนวนนี้เป็นผู้สำเร็จสายวิชาการ 7.0 หมื่นคน สายอาชีวศึกษา 2.3 หมื่นคน และสายวิชาการศึกษา 8.0 พันคน รองลงมาเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 3.0 หมื่นคน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า 2.8 หมื่นคน ระดับประถมศึกษา 4.0 พันคน และไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา 3.0 พันคน
ผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนจำนวน 1.68 แสนคน
 
สำเร็จการศึกษาระดับประ5มศึกษา 4.2 หมื่นคน ระดับอุดมศึกษา 3.6 หมื่นคน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 3.5 หมื่นคน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า 2.8 หมื่นคน และผู้ที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา 2.6 หมื่นคน
 
- การว่างงานแต่ละภูมิภาค
 
เมื่อพิจารณาจำนวนผู้ว่างงาน เป็นรายภาค พบว่า ภาคกลางมีจำนวนผู้ว่างงาน 9.6 หมื่นคน(ร้อยละ 0.8) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7.9 หมื่นคน(ร้อยละ 0.8) กรุงเทพมหานคร 5.6 หมื่นคน (ร้อยละ 1.1) ภาคเหนือ 5.2 หมื่นคน(ร้อยละ 0.8) และภาคใต้ 5.1 หมื่นคน(ร้อยละ 1.0)
 
เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกันยายน พ.ศ. 2558 จะเห็นได้ว่าจำนวนผู้ว่างงานทั่วประเทศเพิ่มขึ้น 3.4 หมื่นคน(จาก 3.00 แสนคน เป็น 3.34 แสนคน) เมื่อพิจารณาเป็น รายภาค พบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 3.2 หมื่นคน กรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้น 7.0 พันคน ภาคเหนือเพิ่มขึ้น 5.0 พันคน และภาคใต้เพิ่มขึ้น 3.0 พันคน ส่วนภาคกลางมีจำนวนผู้ว่างงานลดลง 1.3 หมื่นคน
 
 
เทรนด์ใหม่นิยมจ้างช่างเหมา สมาคมไทยรับสร้างบ้านคาดแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น
 
นายมานิตย์ บุญประเสริฐ ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจค้าปลีก เครือข่ายผู้แทนจำหน่าย บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด เปิดเผยว่า จากการสำรวจพฤติกรรมของเจ้าของบ้านในกลุ่มบ้านเดี่ยวสร้างเองที่เป็นลูกค้าของเอสซีจี โฮมโซลูชั่น จำนวน 1,700 หลังทั่วประเทศ พบว่าเจ้าของบ้านกว่า 70% มีข้อตกลงการสร้างบ้านแบบจ้างช่างเบ็ดเสร็จ คือให้ช่างเหมาทั้งค่าแรงและค่าวัสดุ อย่างไรก็ดี เจ้าของบ้านและช่างต่างมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าร่วมกัน ขณะเดียวกันยังพบว่าลูกค้าต้องการช่องทางการจัดจำหน่ายที่มีบริการครบวงจร มีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิดตั้งแต่เริ่มก่อสร้างจนส่งมอบบ้านที่เสร็จสมบูรณ์ ภายใต้งบประมาณที่ไม่บานปลาย ดังนั้นเอสซีจี โฮมโซลูชั่น จึงพัฒนากลยุทธ์การให้บริการแบบ “VIP Approach ดูแลบ้านของลูกค้าเสมือนบ้านของเรา” ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ทั้งเจ้าของบ้านและช่างได้ตั้งแต่ต้นจนจบ
 
สำหรับแนวทางในการสร้างการรับรู้ถึงกลยุทธ์การให้บริการในครั้งนี้ จะมุ่งสร้างการรับรู้ไปยังกลุ่มเป้าหมายหลักที่เป็นกลุ่มเจ้าของบ้านและกลุ่มช่างรับเหมา โดยเน้นสื่อสารถึงจุดเด่นในการเป็นนวัตกรรมร้านค้าวัสดุก่อสร้างรูปแบบใหม่ ที่มีสินค้าและบริการที่ครบวงจร มีคุณภาพ และมั่นใจได้ในมาตรฐานบริการ เพื่อกระตุ้นให้เจ้าของบ้านและช่างนำแบบบ้านพิมพ์เขียวมารับบริการที่ร้านมากขึ้น นอกจากนี้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายปี 2559 ยังเตรียมมอบประสบการณ์เสมือนจริงและสร้างความประทับใจในบริการขั้นสูงสุด ที่บูธเอสซีจี ในงานบ้านและสวนแฟร์ 2016 ซึ่งจัดขึ้นภายใต้ธีม “เริ่มที่นี่…NO WORRY เรื่องบ้าน” โดยจะจำลองศูนย์บริการและจำหน่ายสินค้าวัสดุก่อสร้างครบวงจรมาให้ลูกค้าได้สัมผัสประสบการณ์ตรงอย่างใกล้ชิด พร้อมมีบริการให้คำปรึกษาฟรีโดยทีมผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพที่มาตอบทุกคำถามเรื่องบ้าน
 
ขณะที่นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน เผยว่า สมาคมฯ ประเมินตลาดบ้านสร้างเองไตรมาสสุดท้ายปีนี้ คาดว่ากำลังซื้อและความต้องการสร้างบ้านของผู้บริโภคมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผ่านช่วงฤดูฝนและเข้าสู่ช่วงที่ประชาชนนิยมสร้างบ้านหลังใหม่ เนื่องจากสภาพอากาศตามฤดูกาลซึ่งเข้าสู่ฤดูหนาวและต่อเนื่องฤดูร้อน ซึ่งมีช่วงระยะเวลานาน 6-7 เดือน เหมาะแก่การเตรียมตัวและปลูกสร้างบ้านหลังใหม่ ขณะเดียวกับภาพรวมเศรษฐกิจประเทศที่แม้จะฟื้นตัวไม่ชัดเจน แต่ก็ถือว่าค่อยๆ ฟื้นตัวดีขึ้น โดยพิจารณาจากจีดีพีไตรมาสแรกและไตรมาสสองที่เติบโตเฉลี่ย 3.2% ใกล้เคียงกับที่ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ไว้ รวมทั้งจีดีพีไตรมาส 3 ก็มีแนวโน้มยังเติบโตได้ดีต่อเนื่อง ปัจจัยดังกล่าวส่งผลด้านจิตวิทยาและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคดีขึ้น อย่างไรก็ดี แม้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะมีแนวโน้มดีขึ้น แต่สมาคมฯ ประเมินว่าผู้บริโภคยังมีความระมัดระวังสูง
 
ทั้งนี้ สมาคม เคยคาดการณ์ปริมาณและมูลค่าตลาดบ้านสร้างเองทั่วประเทศปี 2559 นี้ไว้ประมาณ 8 หมื่นล้านบาทเศษ โดยประเมินว่ากลุ่มธุรกิจ “รับสร้างบ้าน” ที่ให้บริการแบบครบวงจร มีแชร์ส่วนแบ่งประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท แต่ตลอดระยะเวลา 9 เดือนเศษที่ผ่านมา พบว่ากำลังซื้อและความต้องการสร้างบ้านคึกคักเฉพาะช่วงไตรมาสแรก แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงไตรมาส 2-3 กำลังซื้อกลับมาชะลอตัวอีกครั้ง นายสิทธิพร กล่าวถึงภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านในช่วงไตรมาสสุดท้ายปี 2559 นี้ มีโอกาสขยายตัวได้ดีกว่าไตรมาสที่ผ่านมา ประเมินจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคและแนวโน้มเศรษฐกิจประเทศ ที่ปรับตัวดีขึ้นจากการลงทุนโครงการของภาครัฐ รวมถึงการรุกตลาดของผู้ประกอบการที่แข่งขันอยู่ในธุรกิจนี้
 
 
สปส.เผยชดเชย 2 เดือนแรกสูงกว่าทั้งปี 2558 'ประกอบรถยนต์-สิ่งทอ' อ่วม อยู่ในสถานการณ์เฝ้าระวัง-เน้น 4 จังหวัดอุตสาหกรรม
 
จากสถานการณ์การเลิกจ้างงานและปิดกิจการของนายจ้างที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในปี 2559 ข้อมูลการขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน พบว่าจำนวนผู้ขอรับเงินเพียงแค่ 2 เดือนแรกในปี 2559 มีจำนวนถึง 123,087 คน ใกล้เคียงกับจำนวนผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนในปี 2558 ตลอดทั้งปี ที่ 123,536 คน และการสำรวจล่าสุดในปลายเดือน ส.ค.2559 มีผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนแล้ว 161,012 ราย
 
แหล่งข่าวสำนักงานประกันสังคม ระบุว่าสาเหตุที่ตัวเลขผู้ขอรับเงินชดเชยมีจำนวนสูง เพราะในช่วงปลายปีต่อเนื่องต้นปี มีบริษัทขนาดใหญ่ปิดกิจการหลายราย ทั้งจากการย้ายฐานการผลิต ประสบภาวะขาดทุน และมีปัจจัยของการนำเทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาใช้อีกบางส่วน
 
อย่างไรก็ตามแม้ว่าตัวเลขดังกล่าวจะยังไม่ถึงขั้นวิกฤติ แต่ก็อยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วง ที่กระทรวงแรงงานต้องมีการจับตาอย่างใกล้ชิด และมีแนวโน้มเป็นไปได้ว่า ตัวเลขผู้ขอรับเงินชดเชย ซึ่งสะท้อนถึงการว่างงานของลูกจ้างในระบบ ในสิ้นปีนี้อาจสูงกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2558 รวมทั้งพบว่าการจ้างงานหลายประเภทมีจำนวนผู้ขอรับเงินชดเชยเพิ่มสูงขึ้นมาก อย่างเช่นการปรกอบยานำพาหนะจาก 4 พันกว่าคนในปี 2558 พบว่าในปี 2559 มีผู้ขอรับเงินแล้วกว่า 7 พันคน
 
สำหรับการรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในปี 2558 มีทั้งหมด 123,536 ราย แบ่งเป็น เลิกจ้าง 26,972 คน สมัครใจลาออก 91,807 คน และสิ้นสุดสัญญาจ้าง 4,757 คน จำแนกตามประเภทกิจการ 1.การค้า 24,341 คน 2.ผลิตภัณฑ์จากโลหะ 14,852 คน 3.การก่อสร้าง 8,994 คน 4.การผลิตอาหารและเครื่องดื่ม 7,843 คน
 
5.การผลิตสิ่งทอถัก เครื่องประดับ 6,609 คน 6.ผลิตภัณฑ์เคมี น้ำมันปิโตเลียม 6,366 คน 7.การขนส่ง การคมนาคม 5,537 คน 8.ผลิต-ประกอบยานพาหนะ 4,914 คน 9.ผลิตภัณฑ์จากกระดาษ การพิมพ์ 2,094 คน 10.อุตสาหกรรมการผลิตอื่นๆ 1,750 คน11.การทำป่าไม้ ผลิตภัณฑ์จากไม้ 1,714 คน
 
12.ผลิตภัณฑ์จากแร่อโลหะ 1,572 คน 13.การผลิตโลหะขั้นมูลฐาน 1,447 คน 14.การสำรวจ การทำเหมืองแร่ 1,144 คน 15.สาธารณูปโภค 361 คน 16.ประเภทกิจการอื่นๆ28,759 คน 17.ไม่สามารถแยกประเภทกิจการได้ 5,239 คน
 
ในขณะที่จำนวนผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานปี 2559 ถึงเดือนส.ค. รวมทั้งหมด 161,012 คน แบ่งเป็น เลิกจ้าง 29,068 คน สมัครใจลาออก 125,427 คน และสิ้นสุดสัญญาจ้าง 6,517 คน จำแนกเป็น 1.การค้า 31,853 คน 2.ผลิตภัณฑ์จากโลหะ 18,593 คน 3.การผลิตอาหารและเครื่องดื่ม 12,150 คน 4.การก่อสร้าง 9,390 คน
 
5.ผลิตภัณฑ์เคมี น้ำมันปิโตเลียม 8,616 คน 6.การขนส่ง การคมนาคม 7,682 คน 7.ผลิต-ประกอบยานพาหนะ 7,042 คน 8.การผลิตสิ่งทอถัก เครื่องประดับ 6,813 คน 9.อุตสาหกรรมการผลิตอื่นๆ 2,831 คน 10.ผลิตภัณฑ์จากกระดาษ การพิมพ์ 2,699 คน 11.การสำรวจ การทำเหมืองแร่ 2,591 คน 12.ผลิตภัณฑ์จากแร่อโลหะ 2,008 คน 13.การผลิตโลหะขั้นมูลฐาน 1,865 คน 14.การทำป่าไม้ ผลิตภัณฑ์จากไม้ 1,675 คน 15.สาธารณูปโภค 533 คน 16.ประเภทกิจการอื่นๆ 38,494 คน 17.ไม่สามารถแยกประเภทกิจการได้ 6,177 คน
 
ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่าในส่วนของสถานการณ์การจ้างงาน ว่างงาน และเลิกจ้าง กระทรวงแรงงานมีการติดตามและเฝ้าระวังเป็นประจำทุกเดือน โดยข้อมูลเดือน ส.ค.2559 อัตราการจ้างงานขยายตัวอยู่ที่ 1.93% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2558 มีผู้ประกันตนตามมาตรา 33 เพิ่มขึ้น 196,441 คน รวมทั้งหมด 10,385,238 คน โดยประเภทกิจการที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ได้แก่ สถาบันการเงินและบริการด้านธุรกิจ ที่พักและบริการด้านอาหาร การค้าเครื่องไฟฟ้า ยานพาหนะ การผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก และบริการสุขภาพ
 
ส่วนประเภทกิจการที่มีการจ้างงานลดลง ได้แก่ การก่อสร้าง การผลิตซ่อมวิทยุ โทรทัศน์ชิ้นส่วน สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และการผลิตท่อโลหะที่ใช้ในการก่อสร้าง
 
สำหรับสาเหตุที่ขณะนี้มีสถานประกอบการหลายแห่งต้องเลิกจ้างงาน เนื่องจากประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ขาดทุนหรือยอดการสั่งซื้อของลูกค้าลดลง โดยกระทรวงแรงงานก็ได้มีการเฝ้าระวังใน 4 จังหวัด คือ จ.ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา(เป็นจังหวัดที่เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือน ม.ค.2559) สมุทรปราการ และชลบุรี ขณะที่อุตสาหกรรมที่เฝ้าระวัง ได้แก่ การผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน การผลิตสิ่งทอ เป็นต้น
 
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการจ้างงานในภาพรวมของตลาดแรงงานอีก 12 เดือนข้างหน้าตั้งแต่เดือน ก.ค.2559 – มิ.ย.2560 ตนเห็นว่า ยังอยู่ในภาวะปกติ โดยดัชนีผสมส่งสัญญาณเตือน 2 ตัว คือ การใช้กระแสไฟฟ้าชะลอตัว เป็นการปรับลดในกิจการขนาดกลางและขนาดเล็ก และดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวในหลายภาคการผลิต อาทิ การผลิตยานยนต์ การผลิตยาง การผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น ขณะที่แนวโน้มการว่างงานอยู่ในสัญญาณปกติ ส่วนแนวโน้มการเลิกจ้าง อยู่ในสถานะเฝ้าระวัง
 
สำหรับการเฝ้าระวังสถานการณ์การเลิกจ้างนั้น กระทรวงแรงงาน ได้กำหนดแนวปฏิบัติในการเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับสถานการณ์เลิกจ้าง โดยแบ่งการทำงานเป็น 4 ระยะ ได้แก่ 1.ระยะเฝ้าระวัง เช่น การหาข่าวติดตามสถานการณ์ ประเมินสถานการณ์และแนวโน้มการเลิกจ้าง โดยการแต่งตั้งชุดปฏิบัติการระดับจังหวัด 2.การดำเนินการ โดยการให้บริการด้านแรงงาน การหาตำแหน่งงานที่ตรงกับความต้องการ และการให้ข้อมูลสิทธิประโยชน์ต่างๆ เป็นต้น
 
3.การรายงานสถานการณ์ ใช้กลไกขับเคลื่อนในระดับพื้นที่เป็นหลัก โดยให้หน่วยปฏิบัติรายงานต่อผู้บังคับบัญชาหน่วยขึ้นตรง และสำนักงานแรงงานจังหวัดรายงานสถานการณ์ในภาพรวม และ 4.การติดตามผล มอบหมายผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานที่รับผิดชอบเขตตรวจราชการ ติดตามสถานการณ์ ลงพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นและรายงานปลัดปลัดกระทรวงแรงงานทราบ
 
“ขณะนี้ที่กระทรวงแรงงานทำเชิงรุก อย่างในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่เริ่มมีการปิดกิจการเยอะ ทางกระทรวงแรงงานก็จับมือกับกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เข้าไปจัดโครงการพัฒนาบุคลากรร่วมกัน ในลักษณะการปรับเปลี่ยนบุคลากร(Re-training) ให้ไปอยู่งานในด้านอื่นๆ
 
หรือหากอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีการปิดกิจการมาก ก็จะไปจับกลุ่มทำแผนงานร่วมกัน เพราะถ้าจะเลิกจ้างจริงๆ ก็ต้องมีการเตรียมคนให้มีความพร้อม หรือปรับทักษะให้เขาใหม่ เพื่อเปลี่ยนงานได้ ซึ่งก็จะทำให้แรงงานได้รับผลกระทบน้อยลง”
 
ทั้งนี้ อาจจะมีการเลิกจ้างในบางไลน์การผลิต แต่ก็มีเพิ่มการจ้างงานในบางสาขา ซึ่งสถานการณ์การเลิกจ้างขณะนี้ ยังมองว่า ไม่รุนแรงมาก ซึ่งกระทรวงแรงงานก็ได้มีการติดตามสถานการณ์การเลิกจ้างอย่างใกล้ชิด เชื่อว่า ตำแหน่งงานว่างในตลาดแรงงานยังมีเพียงพอที่จะสามารถรองรับได้
 
ด้านนายสิงหเดช ชูอำนาจ อธิบดีกรมการจัดหางาน(กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงสถานการณ์การว่างงาน ว่าประเทศไทยไม่ได้มีปัญหากับการว่างงาน แต่เรามีปัญหากับการขาดแคลนแรงงาน ตนไม่เชื่อว่า ประเทศไทยคนจะว่างงาน แต่มองว่าไม่ทำงานมากกว่า จากตัวเลขการว่างงาน น่าจะมาจากคนที่จบการศึกษาแล้ว อยากจะเรียนต่อต่างประเทศ แล้วกลับมาทำงานไม่มีคุณภาพ หรือเรียนตามพ่อแม่ เพื่อน ต้องการ ทำให้ออกมาทำงานจริงก็ทำงานไม่ได้
 
ที่ผ่านมา กกจ. มีการทำระบบทวิภาคีร่วมกับอาชีวศึกษา เพื่อทำให้เด็กที่จบปวช. ปวส. สามารถทำงานได้เลยและมีใบประกาศรับรอง เมื่อเด็กพวกนี้ทำงานก็จะทำได้รับค่าจ้าง 15,000 บาท เท่ากับเด็กจบปริญญาตรี ดังนั้น ระบบการศึกษาทุกวันนี้ทำให้คนมีโอกาสการทำงานลดน้อยลง แต่เชื่อว่าระบบทวิภาคีของ กกจ. จะสามารถเตรียมความพร้อมของผู้เรียน ผู้สอนได้
 
“ถ้ามีโอกาสไปดูการศึกษาอาชีวะในประเทศสิงคโปร์ บางคณะเป็น Polytechnic University เรียนแค่ 3 ปี สามารถมีความถนัดเท่ากับเรียนสถาปัตย์ มหาวิทยาลัยดีๆ ในบ้านเรา เรียนแค่ 3 ปี ก็ได้งานแล้ว”
 
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 13 ต.ค. กระทรวงแรงงาน จะลงนามความร่วมมือกับกระทรวงกลาโหม เพื่อนำทหารที่จะปลดประจำการ ทหารกองหนุน ทหารผ่านศึก ที่จะเข้าไปช่วยฝึกงานฝึกอาชีพให้ เพื่อจะได้มีทักษะติดตัวไปประกอบอาชีพได้ ซึ่งเรื่องที่ทาง กกจ. กับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน(กพร.) จะทำร่วมกัน
 
“ตัวเราเองต้องมีสิ่งที่มุ่งมั่น ทุกคนต้องหาสิ่งที่ดีกว่า เราต้องสร้างทัศนคติของเด็กให้คิดสิ่งที่ดีกว่า แต่โรงเรียนนั้นไม่สร้างทัศนคติตรงนี้ วินัยในองค์กร ต้องเป็นความชอบในงาน ทัศนคติกับงาน เราต้องจึงมีการกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน เพื่อให้เราทุกคนไปทดสอบฝีมือ ถ้าสอบได้ก็ควรได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้น และผมก็เชื่อว่า นายจ้างก็สามารถยอมรับอัตราค่าจ้างตรงนี้ได้” นายสิงหเดช กล่าว
 
 
"บิ๊กซี" แจงค่าอบรมพีซีไม่ได้เรียกเก็บจากพนักงานโดยตรง แต่เก็บจากเจ้าของผลิตภัณฑ์
 
สืบเนื่องจากกรณีที่มีการนำเ เรื่องการเก็บค่าอบรมพนักงานพีซี แผนกองค์กรสัมพันธ์ บมจ. บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ได้ทำการตรวจสอบหลังจากรับรายงานโดยทันที มีความประสงค์จะชี้แจงเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการรายงานข่าวของท่านดังนี้ สำหรับค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บรายละ 350 บาทนั้น บิ๊กซีเราเรียกเก็บจากเจ้าของผลิตภัณฑ์ ไม่ได้เรียกเก็บจากพนักงานโดยตรง ซึ่งในค่าใช้จ่ายการฝึกอบรมนั้น มีค่าใช้จ่ายที่มากกว่า ซึ่งส่วนต่างนั้น ทางบิ๊กซีเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในสัดส่วนจำนวนเงินที่มากกว่า ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวนี้ ถือว่าเป็นการลงทุนร่วมกันในด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคล เพราะบุคลากรเหล่านี้จะเป็นตัวแทนขอบทั้งบิ๊กซีและแบรนด์ต่างๆที่พวกเขาสังกัด ดังนั้นการที่บิ๊กซีร่วมกับเจ้าของผลิตภัณฑ์ร่วมกันพัฒนาบุคลากรโดยการฝึกอบรมนี้ นับว่าเป็นบวกกับทั้งสองฝ่าย และเป็นการร่วมลงทุนที่ใหัผลตอบแทนที่คุ้มค่าต่อองค์กรทั้งของบิ๊กซีและเจ้าของผลิตภัณฑ์ได้เป็นอย่างดีในที่สุด
 
ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวนี้ ถือว่าเป็นการลงทุนร่วมกันในด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคล เพราะบุคลากรเหล่านี้จะเป็นตัวแทนขอบทั้งบิ๊กซีและแบรนด์ต่างๆที่พวกเขาสังกัด ดังนั้นการที่บิ๊กซีร่วมกับเจ้าของผลิตภัณฑ์ร่วมกันพัฒนาบุคลากรโดยการฝึกอบรมนี้ นับว่าเป็นบวกกับทั้งสองฝ่าย และเป็นการร่วมลงทุนที่ใหัผลตอบแทนที่คุ้มค่าต่อองค์กรทั้งของบิ๊กซีและเจ้าของผลิตภัณฑ์ได้เป็นอย่างดีในที่สุด
 
แหล่งข่าวจากห้างบิ๊กซี กล่าวว่า การเรียกเก็บค่าอบรม 350 บาทนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการเรียกเก็บค่าอบรม ถึงแม้จะผลักภาระมายังเจ้าของผลิตภัณฑ์สินค้าโดยตรง แต่ในที่สุดเจ้าของสินค้าก็จะไปเรียกเก็บจากพนักงานพีซีที่เข้าอบรม เพราะไม่มั่นใจว่าเมื่ออบรมเสร็จแล้วจะเป็นพนักงานพีซีของบริษัทต่อไปหรือไม่ ซึ่งการกระทำแบบนี้เท่ากับเป็นการขูดรีดกับพนักงานพีซี ถึงแม้ไม่ได้เป็นการเรียกเก็บโดยตรง แต่โยนภาระค่าใชัจ่ายให้กับเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นต้องใช้พีซีเป็นพนักงานขาย ซึ่งคาดว่าจะมีพนักงานหลายหมื่นคนจากทั่วประเทศที่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ที่ต้องเดินทางเข้ามาอบรมที่รังสิตและยังต้องแบกภาระค่าเดินทางและที่พักอีก ซึ่งอยากจะให้ทางบิ๊กซีทบทวนนโยบายดังกล่าว ซึ่งหากจะหากได้รายอื่น ๆ ที่เพิ่มเติมก็ไม่ควรจะมารีดรายได้จากพนักงานพีซีซึ่งมีรายได้ต่ำอยู่แล้ว
 
 
เผยขาดแคลนพนักงานขับรถบรรทุกแอลพีจี
 
นายสุรพล รักษาธรรมเจริญ นายกสมาคมผู้ค้าผู้ประกอบการธุรกิจโรงบรรจุก๊าซแอลพีจี กล่าวภายหลังเข้าพบนายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน ว่า สมาคมฯหารือกับกรมฯ เพื่อรับทราบนโยบายของกระทรวงพลังงาน พร้อมทั้งร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหากรณีการขาดแคลนพนักงานขับรถบรรทุกแอลพีจีที่กรมขนส่งทางบกบังคับว่าจะต้องมีใบอนุญาตขับขี่ประเภทที่ 4 แต่พนักงานกลุ่มนี้หันไปขับรถบรรทุกขนาดใหญ่ในบริษัทขนาดใหญ่แทน เพราะมีรายได้มากกว่า ทำให้โรงบรรจุประสบปัญหาในการหาพนักงานขับรถยากมาก
 
นอกจากนี้ ยังประสบปัญหาขาดแคลนพนักงานที่มีบัตรเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในโรงบรรจุก๊าซตามกฎหมายขั้นต่ำโรงละ 1 คน เมื่อพนักงานคนดังกล่าวออกจากงานก็เกิดการขาดแคลน ดังนั้น อาจต้องมีโรงละมากกว่า 1 คน หรืออาจหาแนวทางเพื่ออกบัตรพนักงานให้ง่ายขึ้น อาทิ การอบรมและสอบผ่านระบบออนไลน์ เพื่อสร้างความสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น ขณะเดียวกันยังประสบปัญหาถังก๊าซแอลพีจีที่ได้มาตรฐานขาดแคลนด้วย
 
นางจงภค โยธาทิพย์ อุปนายกสมาคมฯผู้ค้าผู้ประกอบการธุรกิจโรงบรรจุก๊าซแอลพีจี กล่าวว่า ปัจจุบันยอดขายแอลพีจีลดลง โดยเฉพาะแอลพีจีขนส่งลดลง 50% ขณะที่แอลพีจีครัวเรือนลดลง 10% สาเหตุมาจากปัจจัยจำนวนโรงบรรจุมากขึ้นและอีกส่วนการใช้ลดลงโดยเฉพาะจากภาคขนส่ง
 
นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า กรมฯอยู่ระหว่างออกกฎหมายใหม่เพื่อเข้มงวดรถขนส่งก๊าซแอลพีจีให้มีมาตรฐานมากขึ้น โดยจะต้องมีรั้วปิดมิดชิดเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ โดยจะให้โรงบรรจุก๊าซเป็นผู้ตรวจสอบ หากพบว่ารถขนส่งไม่ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ห้ามจำหน่ายเด็ดขาด หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือจำคุก 1 ปี โดยกฎหมายฉบับใหม่ กรมฯอยู่ระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ต่อไป
 
ส่วนปัญหาขาดแคลนพนักงานที่มีใบอนุญาตขับขี่ประเภทที่ 4 กรมฯเตรียมหารือกับทางกรมขนส่งทางบกเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
 
 
บุกทลาย รง.แกะกุ้งสดเถื่อน ส่งขายประเทศจีน ลักลอบจ้างแรงงานเขมรราคาถูก 21 คน รวบเจ้าของเป็นชาวไต้หวัน
 
พ.ต.อ.ประพันธ์ศักดิ์ ประสานสุข ผกก.ตม.จว.สระแก้ว และ พ.ต.อ.เสกสรร วัฒนพงษ์ ผกก.สภ.คลองลึก จ.สระแก้ว ร่วมกันสืบทราบว่าที่โกดังเก็บสินค้าชื่อโกดังไพลิน ตั้งอยู่ริมถนนศรีเพ็ญ ซึ่งเป็นถนนเลียบแนวชายแดน บ้านดงงู หมู่ที่7ต.ป่าไร่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เลยตลาดโรงเกลือ ซึ่งเป็นตลาดการค้าชายแดน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ไปทาง ต.ป่าไร่ฯประมาณ800เมตร มีการลักลอบเปิดเป็นโรงงานเถื่อนและมีการลักลอบว่าจ้างแรงงานชาวกัมพูชาให้ทำงานอย่างผิดกฎหมาย จึงสั่งการให้ พ.ต.ท.เบญจพล รอดสวาสดิ์ รอง ผกก.ตม.จว.สระแก้ว ประสานความร่วมมือกับ พ.ต.ชาญ ว่องไวเมธี ผบ.ร้อย ทพ.1201ฉก.กรม.ทพ.12กกล.บูรพา และ พ.ต.ท.จตุรภัทร สิงหัษฐิต รอง ผกก.(สส)สภ.คลองลึกฯพร้อมด้วย ตร.ท่องเที่ยวสระแก้ว สนธิกำลังร่วมกันบุกเข้าตรวจสอบโกดังดังกล่าว
 
ซึ่งเมื่อ จนท.ไปถึงพบโกดังไพลินซึ่งเป็นเก็บสินค้า เลขที่ 270 ถนนศรีเพ็ญ ม.7บ้านดงงู ต.ป่าไร่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ได้มีการดัดแปลงจากโกดังเก็บสินค้ามาเป็นโรงงานฯภายในเป็นห้องเย็นขนาดใหญ่ ด้านหน้ามีประตูเหล็กปิดไว้ อย่างมิดชิด จนท.จึงได้แสดงตัวพร้อมแจ้งให้พนักงานภายในโรงงานฯเปิดประตู จากนั้น จนท.ได้นำกำลังบุกเข้าไปตรวจสอบพบภายในดัดแปลงเป็นโรงงานแกะกุ้งสดขนาดย่อม มีแรงงานชาวกัมพูชาทั้งชาย-หญิง กำลังแกะกุ้งสดกันอยู่จำนวน21คน เป็นชาย5คน หญิง16คน ตรวจสอบพบมีบอเดอร์พาส(หนังสือผ่านแดนท้องถิ่นกัมพูชา) จำนวน5คน ถือบัตรผ่านแดนชั่วคราว จำนวน10คน นอกนั้นไม่มีเอกสารการเดินทาง และทุกคนไม่มีเอกสารการขออนุญาตทำงานแต่อย่างใด จากนั้น จนท.ได้ตรวจสอบเอกสารการขออนุญาตตั้งโรงงานฯพบว่ายังไม่มีการขออนุญาติใดๆ
 
จากนั้น จนท.ได้ทำการควบคุมตัวนายHU CHE WEI (วู เจอ เว่ย) อายุ46ปี ชาวไต้หวัน เจ้าของโรงงานเถื่อนดังกล่าว ที่กำลังควบคุมการทำงานอยู่ภายในโรงงานด้วย มาทำการสอบสวนเบื้องต้นนายวู เจอ เว่ย รับสารภาพว่าเป็นชาวใต้หวัน เดินทางมาเปิดโรงงานแกะกุ้งสด ส่งขายประเทศจีน และยังไม่ได้ขออนุญาตประกอบการ ส่วนสาเหตุที่มาเช่าโกดังเก็บสินค้า ที่นี่เนื่องจากอยู่ใกล้ตลาดโรงเกลือ สามารถจ้างแรงงานชาวกัมพูชามาทำงานได้ง่ายและสะดวกอีกทั้งค่าจ้างก็ถูกด้วย
 
จากนั้น จนท.จึงแจ้งขอหานายวู เจอ เว่ย ว่าเป็นบุคคลต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต – ใช้แรงงานต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต- ให้ที่พักอาศัยแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และ เปิดสถานประกอบการโดยไม่ได้รับอนุญาต ควบคุมตัวส่ง สว.(สอบสวน)สภ.คลองลึก จ.สระแก้ว ดำเนินคดี
 
ส่วนแรงงานชาวกัมพูชาทั้ง21คน รับสารภาพว่ามาทำงานแกะกุ้งให้กับโรงงานดังกล่าวได้ค่าแรงวันละ200บาท โดยไม่มีบัตรแรงงาน จนท.จึงแจ้งข้อหาแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชาลักลอบทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาติและบางคนพ่วงข้อหาหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายด้วย ควบคุมตัวทั้งหมดส่ง สว.(สอบสวน)สภ.คลองลึก ดำเนินคดี ด้วย และขณะจับกุมได้มีแรงงานชาวกัมพูชาเป็นหญิงเกิดตกใจกลัวถึงกับเป็นลม จนท.ต้องช่วยปฐมพยาบาลจนฟื้นและพูดปลอบใจว่าไม่ต้องกลัวเพราะมีความผิดแค่เล็กน้อยเดี๋ยวก็นำไปผลักดันกลับประเทศทำให้แรงงานชาวเขมรสบายใจขึ้นยอมขึ้นรถยนต์ของ จนท.ไปที่ สภ.คลองลึก จ.สระแก้ว
 
 
ครม.อนุมัติหลักการขึ้นเพดานเงินเดือน กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ขั้นละ 200 บาท 25 ขั้น
 
เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 59 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม.เห็นชอบให้เพิ่มอัตราค่าตอบแทนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านทั้งฝ่ายปกครองและฝ่ายรักษาความสงบ ดังนี้ เดิมกำนันได้รับเงินเดือน 10,000 บาท เพิ่มเป็น 15,000 บาท ผู้ใหญ่บ้านเดือนละ 8,000 บาท เพิ่มเป็น 13,000 บาท ขณะที่ แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ทั้งฝ่ายปกครองและฝ่ายรักษาความสงบ เดิมเดือนละ 5,000 บาท เพิ่มเป็น 10,000 บาท โดยรัฐบาลได้เพิ่มเพดานขึ้น 25 ขั้น ทุกระดับ ขั้นละ 200 บาท ซึ่งการเพิ่มค่าตอบแทนครั้งนี้ ทำให้งบประมาณเพิ่มขึ้นปีละกว่า 800 ล้านบาท
 
"ไม่ได้หมายความว่าจะได้รับเงิน 15,000 บาททันที แต่จะขึ้นทีละ 1 ขั้นต่อปี ตกปีละ 200 บาท ทำให้ได้รับเงิน 10,200 บาทในปีหน้า แต่หากเป็นคนทำงานมีประสิทธิภาพ โดดเด่นกว่าคนอื่น จะได้รับ 2 ขั้น คือ 400 บาท โดยผู้ได้รับ 2 ขั้นจะต้องไม่ติดกันเกิน 2 ปี ทำแบบนี้ไปจนกว่าจะถึงเพดานสูงสุดของตำแหน่งนั้นๆ ทั้งนี้ ไม่ต้องการให้หลายคนมองว่าเป็นการสร้างคะแนนเสียงของรัฐบาลหรือเรื่องการเมือง เพราะที่ผ่านมารัฐบาลได้เพิ่มเงินเดือนให้ข้าราชการในระดับชั้นผู้น้อยและผู้ที่มีรายได้ไม่มาก ทั้งพนักงาน ลูกจ้าง รัฐวิสาหกิจตามลำดับ" พล.ท.สรรเสริญ กล่าว
 
 
รวบ 130 แรงงานต่างด้าวผิด กม.ลอบทำงานใน รง.ประกอบสายไฟที่ระยอง
 
(11 ต.ค.) นายจิรศักดิ์ ตะปะโจทย์ นายอำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง พร้อมด้วย นางวริศนันท์ ยศกิมานันโท ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคง ร.อ.ประโยชน์ ประสมพงษ์ ผบ.ร้อย.รปภ.ที่ 4 กอง ร้อย รปภ.ฐท.สส. นายเทพบัญชา เกตุวิเศษกุล จัดหางานจังหวัดระยอง พร้อมกำลังทหาร และเจ้าหน้าที่จัดหางานจังหวัดระยอง กว่า 30 นาย ได้สนธิกำลังเข้าปิดล้อม บริษัท โจโฮคุ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานประกอบสายไฟ ตั้งอยู่ในพื้นที่ หมู่ 5 ต.บ้านฉาง จ.ระยอง พบแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า จำนวน 186 คน
 
เจ้าหน้าที่จึงนำตัวแรงงานต่างด้าวทั้งหมดไปตรวจสอบเอกสารที่หอประชุมอำเภอบ้านฉาง พบเป็นแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และไม่มีใบอนุญาตทำงานรวม 130 ราย จึงส่งตัวไปสอบสวน สภ.บ้านฉาง ดำเนินคดีตามกฎหมาย
 
นายจิรศักดิ์ ตะปะโจทย์ นายอำเภอบ้านฉาง กล่าวว่า การตรวจค้นจับกุมแรงงานต่างด้าวในครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ให้กวดขันจับกุมแรงงานผิดกฎหมาย เพื่อป้องกันการก่ออาชญากรรม มั่วสุมยาเสพติด รวมทั้งแรงงานที่เข้ามาผิดกฎหมาย และมีการแย่งอาชีพคนไทย จนมีการร้องเรียนมาที่ศูนย์ดำรงธรรม
 
 
ก.แรงงานร่วมกับกลาโหมทำบันทึกข้อตกลงส่งเสริมอาชีพทหารกองประจำการ
 
พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายก รัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพลเอกศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงแรงงาน เป็นสักขีพยานในการ ลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการส่งเสริม การมีงานทำให้กับทหารกองประจำการ โดยมี ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหาร อากาศ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ปลัดกระทรวง แรงงาน อธิบดีกรมการจัดหางาน และอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงฯ ในครั้งนี้
 
สำหรับสาระสำคัญภายใต้กรอบการดำเนินงานบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ เป็นการ บูรณาการทำงานในระดับกระทรวงระหว่างกระทรวงกลาโหมและกระทรวงแรงงานเป็นครั้งแรก ซึ่งสอดรับกับนโยบายรัฐบาลที่เน้น ให้หน่วยงานภาครัฐทำงานเชิงบูรณาการ ร่วมกันมากขึ้น โดยกระทรวงแรงงานจะดำเนินการจัดทำแบบสำรวจความต้องการฝึกพัฒนาฝีมือ ฝึกอาชีพ และความต้องการทำงานของทหารกองประจำการ เพื่อให้กระทรวงกลาโหมดำเนินการสำรวจ จัดการ ฝึกอบรมเพื่อเพิ่ม/พัฒนาทักษะฝีมือ ฝึกอาชีพ ให้แก่ทหารกองประจำการก่อนปลดประจำการในหลักสูตรที่ตรงตามความต้องการตามแบบสำรวจ รวมทั้งทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานตามคุณสมบัติและหลักเกณฑ์ที่กำหนด พร้อมทั้งให้การแนะแนวอาชีพ ทดสอบความถนัดทางอาชีพ ลงทะเบียน สมัครงาน นำนายจ้าง/เจ้าของสถานประกอบการ เข้าไปประชาสัมพันธ์ตำแหน่งงานและความก้าวหน้าในอาชีพที่สอดคล้องกับความ ต้องการของทหารกองประจำการที่ได้ ลงทะเบียนไว้ รวมทั้งจัดหางานให้แก่ทหารกอง ประจำการที่แจ้งความประสงค์จะทำงาน ภายหลังจากปลดประจำการ
 
ส่วนกระทรวงกลาโหม จะดำเนินการ สำรวจความต้องการฝึกพัฒนาฝีมือแรงงาน ฝึกอาชีพและความต้องการทำงานของทหารกองประจำการตามแบบสำรวจของกระทรวงแรงงาน จัดเตรียมและประสานกับทหารกองประจำการที่ประสงค์จะเข้าร่วม ตลอดจนติดตามผลและจัดเก็บข้อมูลการมีงานทำของทหารภายหลังจากปลดประจำการ โดยทั้ง สองฝ่ายจะจัดตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการประจำปี เพื่อให้เกิดการ ทำงานเชิงบูรณาการตามแผน ติดตาม ผลการปฏิบัติงาน และรายงานผล ตลอดจน ข้อเสนอเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน โดยจะมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2559-30 กันยายน 2562
 
 
กรมการจัดหางาน ตั้งเป้า 5 ปี ลดพึ่งพาแรงงานต่างชาติ ไม่ขยายจดทะเบียนต่างด้าว 3 สัญชาติ ยกเว้นประมงทะเล-แปรรูปสัตว์น้ำ
 
เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 59 นายสิงหเดช ชูอำนาจ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (กนร.) ครั้งที่ 4 โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบแนวทางการยุติการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา
 
นายสิงหเดช กล่าวว่า จากนี้จะเน้นนำเข้าผ่านระบบเอ็มโอยู (MOU) เท่านั้น ยกเว้นในกิจการประมงทะเลและแปรรูปสัตว์น้ำ ที่จะเปิดจดทะเบียนอีกครั้งในวันที่ 1 พ.ย.59 ระยะเวลา 60 วัน ตั้งเป้า 26,000 คน เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการการตรวจสัญชาติ ส่วนกลุ่มแรงงานดังกล่าวที่ใบอนุญาตจะหมดอายุหลังวันที่ 1 พ.ย.59 ต้องเข้าสู่การพิสูจน์สัญชาติ หากพบไม่สามารถดำเนินการได้ตามกำหนด จะถูกส่งกลับประเทศต้นทางทันที
 
ทั้งนี้ ในที่ประชุมยังได้พูดถึงแนวทางการนำเข้าแรงงานต่างด้าวตามยุทธศาสตร์ บริหารจัดการแรงงานต่างด้าว 5 ปี (พ.ศ.2560-2565) โดยไทยมีแนวทางที่จะลดการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวภายใน 5 ปี โดยจะนำเข้าในอุตสาหกรรมที่จำเป็นเท่านั้น เช่น กรรมกร และแม่บ้าน
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net