Skip to main content
sharethis

จากบทความวิชาการในวารสารฟ้าเดียวกัน ฉบับ 40 ปี 6 ตุลา สู่เวทีวิชาการถอดรหัสความรุนแรงและวัฒนธรรมลอยนวล (2) ประจักษ์ ก้องกีรติ นำเสนอเรื่องการลดทอนความเป็นมนุษย์ พื้นที่ทางศีลธรรมและความรุนแรง: จาก “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” ถึง “กำจัดเสี้ยนหนามแผ่นดิน” วิเคราะห์ภาษาและการเคลื่อนไหวช่วง กปปส.

ประจักษ์ ก้องกีรติ นำเสนอหัวข้อ “การลดทอนความเป็นมนุษย์ พื้นที่ทางศีลธรรม และความรุนแรง: จาก “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” ถึง “กำจัดเสี้ยนหนามแผ่นดิน” โดยเป็นส่วนหนึ่งของ การสัมมนาวิชาการเนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปี 6 ตุลาคม 2519 “ความขัดแย้งและวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด (Impunity) ในสังคมไทย" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ 8 ตุลาคม 2559

<--break- />

8 ต.ค. 2559 ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) มีการจัดเสวนาวิชาการในโอกาสครบรอบ 40 ปี 6 ตุลาคม 2519 ในหัวข้อ ความขัดแย้งและวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด (impunity) ในสังคมไทย จัดโดย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ. ร่วมกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะกรรมการจัดงาน 40 ปี 6 ตุลาคม 2519

ในงานดังกล่าวมีการนำเสนองานวิชาการหลายเรื่อง ในช่วงเช้าแบ่งเป็น 1.ความขัดแย้งทางชนชั้นกับการเมืองมวลชนรอยัลลิสต์: ความย้อนแย้งของกระบวนการสร้างประชาธิปไตยกับพระราชอำนาจนำในสังคมไทย โดย เกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มธ. 2.การลดทอนความเป็นมนุษย์ พื้นที่ทางศีลธรรม และความรุนแรง: จาก “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” ถึง “กำจัดเสี้ยนหนามแผ่นดิน” โดย ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มธ. 3. การละเมิดแบบเดิมแต่การปิดกั้นแบบใหม่: รัฐและสิทธิมนุษยชนหลังการสังหารหมู่ 6 ตุลาคม โดย ไทเรล ฮาร์เบอร์คอร์น อาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งชาติอสเตรเลีย

ประชาไทสรุปเวทีเสวนาแยกตามหัวข้อ สำหรับตอนนี้เตรียมพบกับคลิปวิดีโอเร็วๆ นี้

จากกิตติวุฑโฒ ถึง สุเทพ เทือกสุบรรณ

ประจักษ์ ก้องกีรติ กล่าวว่า สิ่งที่นำเสนอปรับปรุงมาจากงานวิจัยที่เพิ่งทำเสร็จเรื่อง “ธรรมาธรรมะสงคราม ความรุนแรงเชิงศีลธรรมและอนารยะขัดขืน: การเมืองอัตลักษณ์ของ ‘คนดี’ ในวิกฤตการเมืองไทย (2556-2557)”  ที่นำเสนอวันนี้เพียงแค่หัวข้อย่อยที่พยายามเชื่อมกับ 6 ตุลา ซึ่งตอนเรียนต่อปริญญาเอกนั้นเรียนเรื่องความรุนแรงทางการเมืองและพบว่าโลกตะวันตกพูดเยอะเรื่อง dehumanization หรือการลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนอื่นและพบว่าแนวคิดนี้นำมาใช้ในไทยได้ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

ขอเริ่มต้นด้วยคำให้สัมภาษณ์ของพระกิตติวุฑโฒซึ่งนำมาสู่คำขวัญว่า ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป ให้สัมภาษณ์ในนิตยสารจัตุรัส เมื่อเดือนมิถุนายน 2519 เป็นคำให้สัมภาษณ์ที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ผ่านคำอธิบายทางศีลธรรม ทำให้สอดคล้องกับพุทธศาสนา เพราะคุณเป็นคนดี ปกป้องพุทธศาสนาจึงต้องใช้ความรุนแรงกำจัดสิ่งชั่วร้ายออกไป

“อันนั้นอาตมาก็เห็นว่าควรทำได้ คนไทยแม้จะนับถือพุทธก็ควรจะทำ แต่ก็ไม่ใช่ถือว่าเป็นการฆ่าคน เพราะว่าใครก็ตามที่ทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มันไม่ใช่คนสมบูรณ์ คือ ความตั้งใจเราไม่ได้ฆ่าคนแต่ฆ่ามาร ซึ่งเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน...ถึงแม้จะฆ่าคนก็บาปเล็กน้อย แต่บุญกุศลได้มากกว่าเหมือนเราฆ่าปลาแกงใส่บาตรพระ ไอ้บาปมันก็มีหรอกที่ฆ่าปลา แต่เราใส่บาตรพระได้บุญกว่า”

ต่อมาเมื่อพิจารณาคำปราศรัยของสุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อพฤศจิกายน 2556 ก็จะพบว่ามีการผลิตซ้ำวาทกรรมหลายอย่างที่คล้ายกับขบวนการฝ่ายขวาสมัยก่อน โดยเฉพาะเรื่อง “หนักแผ่นดิน” มีความต่อเนื่องค่อนข้างมากกับชุดภาษาที่ใช้ในกลุ่มนวพล กระทิงแดง ที่ถูกรื้อฟื้นกลับขึ้นมาในช่วงการชุมนุมของ กปปส.

ในช่วง 6 ตุลา กลุ่มนวพล กระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน สิ่งที่พวกนี้ทำก่อนเกิดความรุนแรงในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 คือการปูพื้นฐานนั่นคือ การยัดเยียดอัตลักษณ์ความเป็นอื่นและการลดทอนความเป็นมนุษย์กับนักศึกษา ชาวนา กรรมการ ว่าเป็นพวก หนักแผ่นดิน มารศาสนา ปีศาจยักษ์มาร ไม่ใช่คนไทย เป็นสมุนคอมมิวนิสต์ ทาสต่างชาติ ทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ฯลฯ พูดง่ายๆ ว่า นักศึกษากำลังเป็นภัยคุกคามต่อศูนย์กลางของความเป็นไทย

แล้วการลดทอนความเป็นมนุษย์คืออะไร ผู้ที่ทำการศึกษาเรื่องนี้พบว่า ก่อนเกิดความรุนแรงขนานใหญ่มักจะเกิดกระบวนการ 2 อย่าง คือ dehumanization (การลดทอนความเป็นมนุษย์) กับ demonization (ทำให้ฝ่ายตรงข้ามดูเป็นปีศาจ) การกล่าวในวันนี้จะขอเน้นส่วนแรก

ความรุนแรงทางกายภาพ เริ่มต้นจากความคิดในหัว

การลดทอนความเป็นมนุษย์เป็นการปฏิเสธคุณค่าพื้นฐานของปัจเจกบุคคลหนึ่งๆ ว่าไม่อยู่ในข่ายที่ต้องปฏิบัติกับพวกเขาอย่างเท่าเทียมในฐานะมนุษย์ด้วยกัน อยู่นอกเหนือกฎเกณฑ์ความสัมพันธ์ทางสังคมปกติที่กระทำกับมนุษย์ด้วยกัน ถ้ามีใครเป็นภัยคุกคามต่อเราเส้นกำกับความสัมพันธ์มันจะหายไปและง่ายที่เราจะใช้ความรุนแรงกับเขา มันเป็นกระบวนการทางสัญลักษณ์และจิตวิทยาที่สร้างความแปลกแยกและความเป็นอื่น

“มันเกิดขึ้นในหัวของเราก่อน ก่อนถึงวันที่เราจะไปลงมือใช้ความรุนแรงกับคนอื่น” ประจักษ์กล่าว

ประจักษ์ กล่าวอีกว่า อคติ ความเกลียดชัง การแบ่งแยกพวกเรา-พวกเขา เป็นเงื่อนไขสำคัญสู่ความรุนแรงทางการเมือง แม้มันไม่ใช่สาเหตุโดยตรงที่นำไปสู่ความรุนแรงทางการเมืองทันที ไม่ใช่มองเป็นแมลงสาบ เป็นควายแดง แล้วต้องฆ่าทันที มันมีกระบวนการจากการลดทอนความเป็นมนุษย์ไปสู่ความรุนแรงทางกายภาพ แต่อย่างไรก็ตาม มันก็อันตรายเพราะได้สร้างสภาพแวดล้อม เนื้อนาดินที่ปูทางไปสู่ความรุนแรง การป้องกันความรุนแรงจึงต้องทำตั้งแต่กระบวนการนี้

ผู้ที่ถูกลดทอนความเป็นมนุษย์จะถูกมองเป็นสิ่งของ เป็นสัตว์ ไร้ศีลธรรม ไร้คุณธรรม มีวัฒนธรรมที่ต่ำต้อยกว่า ไม่เพียงน่ากลัวแต่น่ารังเกียจไปพร้อมกัน ประวัติศาสตร์โลกพบว่าความรุนแรงครั้งใหญ่ๆ เกิดกระบวนการเหล่านี้ เราพบว่าโศกนาฏกรรมหลายครั้งคนก่อความรุนแรงไม่ใช่เฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เป็นคนปกติธรรมดา ยามปกติอาจเป็นสามีที่น่ารัก อาจารย์ที่ดี แต่เมื่อเข้าสู่กระบวนการมองคนอื่นเป็นศัตรู เขาจะมองเป็นหน้าที่ศักดิ์สิทธิ์ต้องพิทักษ์ความถูกต้องดีงาม มีการวิจัยคนที่ติดคุกซึ่งเป็นคนใช้ความรุนแรงในเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา พบว่า ส่วนใหญ่เป็นคนธรรมดาทั่วไป ไม่เคยก่ออาชญากรรมมาก่อน

อันตรายอีกอย่างของการลดทอนความเป็นมนุษย์ นอกจากทำให้คนธรรมดาสามารถใช้ความรุนแรงต่อผู้อื่นได้แล้ว บางครั้งแม้ไม่ใช้ความรุนแรงโดยตรง แต่การที่เรานิ่งดูดายต่อความรุนแรงที่เกิดกับ “คนอื่น” เหล่านี้ ในแง่นี้ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ความรุนแรงนั้นเกิดขึ้น เป็นคนที่สร้างให้เกิดวัฒนธรรมความรุนแรงและการลอยนวลพ้นผิด

ศีลธรรม (บางกรณี) ผลักดันให้คนกระทำความรุนแรงต่อผู้อื่น

แล้วความสัมพันธ์ระหว่างศีลธรรมและความรุนแรงเป็นอย่างไร คนมักคิดว่าความรุนแรงเกิดขึ้นเนื่องจากภาวะไร้ศีลธรรม คำอธิบายโดยทั่วไปคือ ศีลธรรมอยู่ตรงข้ามกับความรุนแรง แต่ปรากฏว่างานวิจัยในระยะหลังค้นพบว่า ศีลธรรมอาจไม่ใช่กลไกยับยั้งความรุนแรงเสมอไป บางเงื่อนไขศีลธรรมนั่นเองที่ผลักดันให้มนุษย์ใช้ความรุนแรงกับผู้อื่น เห็นโลกเป็นขาวดำ ความดีความชั่ว เราดีโดยสมบูรณ์ คนอื่นชั่วโดยสมบูรณ์ แบ่งแบบนี้กลับนำไปสู่ความรุนแรง พูดง่ายๆ ศีลธรรมแบบคับแคบเช่นนี้เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความรุนแรง หลายสังคมความรุนแรงถูกกระตุ้นและให้ความหมายว่า เป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อปกป้องและรื้อฟื้นระบบศีลธรรมที่ถูกคุมคาม ถูกสั่นคลอนความเชื่อความศักดิ์สิทธิ์ที่เคยเป็นมา

ก่อน 6 ตุลาก็เช่นกัน คนฝ่ายขวาถูกกล่อมเกลาให้ปกป้องระบบสังคมการเมืองที่ถูกต้อง เขาทำความรุนแรงในนามของศีลธรรม ความรุนแรงเช่นนี้เกิดในหลายประเทศ

ในส่วนของการเมืองของ กปปส. เขานิยามว่า เป็นการเมืองของคนดี เป็นการเมืองเชิงอัตลักษณ์ ระหว่างมวลมหาประชาชนที่เป็นคนดีมีความรู้ กับพวกโง่เขลาของนักการเมืองและพวกสนับสนุน เราพบว่ามันเป็นการเมืองที่ไม่ได้ปฏิเสธความรุนแรงโดยสิ้นเชิง มียุทธวิธีจำนวนมากที่รุนแรงและสร้างสภาวะอนาธิปไตย กปปส.ไม่เคยเข้าใจตัวเองว่าพวกเขาเป็นขบวนการสันติอหิงสา เขามองว่าในการสู้กับฝ่ายทรราชย์การใช้ความรุนแรงต่อรัฐบาลทรราชย์จำเป็น เป็นความเข้าใจผิดของนักสันติวิธีที่แก้ตัวแก้ต่างให้ กปปส.เองแล้วไปบอกว่าออกนอกลู่นอกทางรีบเข้าลู่เข้าทางเสีย จริงๆ แล้วเขาไม่เคยมองตัวเองแบบนั้น

วาทกรรมในการลดทอนความเป็นมนุษย์ การสร้างภาพระหว่างธรรมะและอธรรมถูกผลิตซ้ำกว้างขวางและนำสู่เยาวชน ยกตัวอย่าง น้องแป้งซึ่งถูกผลักให้ขึ้นเวทีปราศรัย ส่วนหนึ่งของเนื้อหาคำปราศรัย คือ วันนี้มาขับไล่รัฐบาลความแดง เพราะรัฐบาลควายแดงมันโง่สุดๆ เหมือนพ่อมันด้วย ... เราเป็นคนดีเราต้องขึ้นสวรรค์ เสื้อแดงเป็นคนโง่ต้องตกนรก

“กปปส. แปรเปลี่ยนการต่อสู้ทางการเมืองเป็นศีลธรรมซึ่งไม่อาจประนีประนอมได้ การกดคนอื่นให้ต่ำช่วยขับเน้นให้ผู้ชุมนุม กปปส.ให้สูงขึ้น อัตลักษณ์คนดีจึงไม่ได้อยู่ในสุญญากาศ แต่อยู่บนการกดความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น ชุดภาษาของกปปส.มีการสร้างขั้วตรงข้าม”

มีนักวิชาการต่างประเทศที่เคยเสนอเรื่องการหดแคบของพื้นที่ความรับผิดชอบในทางศีลธรรม เขาเสนอว่ามนุษย์มีวงกลมศีลธรรมของตัวเอง ที่ใกล้วงกลมคือคนที่เรารักและต้องการปกป้องขณะที่ห่างออกไปเรื่อยๆ คือ คนอื่น อุดมการณ์ต่างๆ ทำให้วงกลมทางศีลธรรมหดแคบลง เช่น อุดมการณ์ชาตินิยมสุดโต่งทำให้เรามีพันธะทางจิตใจกับคนในชาติเท่านั้น ไม่มีกับคนที่อยู่นอกชาติ มันทำให้แคบลงเรื่อยๆ นอกจากครอบครัวญาติพี่น้องและพวกเดียวกันเรา เราไม่มีพันธะอะไรด้วยหรือไม่จำเป็นต้องปฏิบัติต่อเขาอย่างดี

ต้องกล่าวด้วยความเป็นธรรมด้วยว่า เกิดความรุนแรงกับผู้ชุมนุม กปสส. ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนไม่น้อย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อความรุนแรงเกิดกับผู้ชุมนุมกปปส.เท่านั้นจึงมีการจัดรำลึกและทวงความยุติธรรม เมื่อความรุนแรงเกิดกับฝ่ายตรงกันข้าม สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ถูกขยายครอบคลุมไปถึง สิ่งที่เกิดขึ้นคือการเยาะเย้ายถากถางสะใจ

ขอยกตัวอย่าง กรณีมือปืนป็อบปคอร์น ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธที่มาปะทะในวันนั้น มีเหยื่อชื่อนายอะแกว ถูกยิงบาดเจ็บสาหัส รักษาตัวอยู่พักหนึ่งแล้วเสียชีวิต เมื่อเกิดความรุนแรงเกิดขึ้นผู้ชุมนุมกล่าวหาว่านายอะแกวเป็นควายแดง คุณตั๊น จิตภัสร์ เขียนข้อความในเฟซบุ๊กบอกว่า “คนที่ทำร้ายอะแกวคือพวกเสื้อแดงกันเอง จิตใจทำด้วยอะไร พวกนี้คือสัตว์นรก...” ตอนหลังพอรู้ว่าเป็นมือปืนป๊อบคอร์นก็ลบสเตตัสออกแต่มีคนจับภาพไว้ได้ นอกจากนี้ยังมีดาราพูดบนเวทีว่า สะใจที่กลุ่มติดอาวุธในขบวนได้ใช้อาวุธยิงผู้อื่น เช่น ท็อป ดารณีนุช เหมี่ยว ปวันรัตน์ นอกจากนี้ยังมีการยกย่องให้มือปืนป๊อบคอร์นเป็นฮีโร่ของประชาชน และขั้นสุดยอดคือ การนำไปเป็นสัญลักษณ์ทำสินค้า สามารถผลิตสินค้าที่เกี่ยวกับความรุนแรงได้ด้วย 

“ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากมือปืนป๊อบคอร์นและความรุนแรงอื่นๆ ถูกยกย่องและให้ความหมายว่าเป็นการปกป้องคนดี ปราบคนชั่ว และถูกยกระดับเป็นความรุนแรงเชิงศีลธรรม มีคุณค่าและความหมายในจิตใจของมวลมหาประชาชน นี่คืออุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดในการต่อสู้กับวัฒธรรมลอยนวล วาทกรรมศีลธรรมนี่แหละที่อาจจะเป็นปัญหา ฝ่ายที่ตกเป็นเหยื่อถูกกล่าวหาว่าเป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดชอบ สมควรแล้ว ฝ่ายคนก่อความรุนแรงกลับถูกยกย่องมีหน้ามีตาในสังคม ความรุนแรงที่ใช้ถูกอธิบายทางศีลธรรมว่า เป็นความรุนแรงคุณธรรมที่ทำให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง” ประจักษ์กล่าว  

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net