Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis




หลังจากที่คอมมิวนิสต์ล่มสลายและนำมาซึ่งการยุติสงครามเย็น นำมาสู่กระแสอย่างหนึ่งในทางการเมืองของโลกคือ การย้อนกลับสู่สมัยอนุรักษ์นิยมฝ่ายขวา ที่ระบบทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ครอบงำโลก พลังการเมืองฝ่ายสังคมนิยมและฝ่ายซ้ายสิ้นสภาพ อดีตประเทศสังคมนิยมทั้งจีนและรัสเซียก็มีแนวโน้มก้าวไปทางขวา พลังอำนาจใหม่ที่ท้าทายประเทศทุนนิยมตะวันตกมากที่สุด กลับกลายเป็นพลังของฝ่ายอิสลามสุดขั้ว ซึ่งก็มีลักษณะในทางอนุรักษ์นิยมแบบจารีตในอีกแบบหนึ่ง แนวโน้มใหม่ที่เกิดขึ้นในยุโรป คือ กระแสต่อต้านผู้ลี้ภัยและเกลียดชังอิสลาม ก็นำยุโรปไปทางอนุรักษ์นิยมฝ่ายขวามากขึ้น หรือ ในสหรัฐอเมริกา กระแสเลี้ยวไปทางขวาสะท้อนจากความเฟื่องฟูคะแนนนิยมของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เสนอนโยบายต่อต้านผู้อพยพแบบสุดขั้วและฟื้นคุณเก่าของอเมริกา แต่ที่น่าสนใจคือ กระแสธารทางการเมืองในไทยระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ก็โน้มไปสู่อนุรักษ์นิยมฝ่ายขวามากขึ้นเช่นกัน

อนุรักษ์นิยมฝ่ายขวานั้น เป็นอุดมการณ์ทางการเมืองแบบหนึ่ง ที่มุ่งจะรักษาระเบียบสังคมและการเมืองแบบเก่า เห็นว่าจารีตประเพณีดิมเป็นสิ่งที่ดีมีคุณค่า การเปลี่ยนแปลงจะทำได้ก็ต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงในกรอบของเดิม การปกครองที่ดีในความเห็นแบบอนุรักษ์นิยม ต้องเป็นการปกครองโดยชนชั้นนำ เพราะเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ หรือเป็นคนดี ขณะที่ประชาชนส่วนมากนั้นโง่เขลา เห็นแก่ตัว ไม่มีระเบียบ จึงจะต้องเป็นผู้ถูกปกครองเท่านั้น อนุรักษ์นิยมจึงเห็นว่า ระบอบประชาธิปไตยไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่ดี เพราะเป็นของใหม่ แต่จารีตประเพณีเป็นสิ่งที่เป็นมาช้านาน

แนวคิดแบบอนุรักษ์นิยมลักษณะนี้ครอบงำสังคมไทยมาเป็นเวลาช้านาน อนุรักษ์นิยมไทยจึงมีแนวโน้มต่อต้านการปฏิวัติ 2475 เพราะเห็นว่า เป็นการทำลายแบบแผนและจารีตประเพณี สังคมไทยอาจจะเป็นประชาธิปไตยได้ แต่จะต้องเป็นประชาธิปไตยที่มาจากการพระราชทาน การยึดอำนาจมาจากพระมหากษัตริย์ถือว่าเป็นการชิงสุกก่อนห่าม ดังนั้น การรัฐประหารเพื่อล้มล้างประชาธิปไตยจึงไม่ใช่เรื่องเสียหาย ถ้าระบอบประชาธิปไตยนั้น นำมาซึ่งนักการเมืองที่มาจากชนชั้นล่าง ซึ่งมักจะเป็นคนโลภและทุจริต แต่อนุรักษ์นิยมไทยจะไม่ต่อต้านนักการเมืองจากชนชั้นสูง เพราะเห็นว่ามีความชอบธรรม ในอดีตที่ผ่านมา อนุรักษ์นิยมไทยจึงอยู่ได้และเติบโตหลังรัฐประหาร 2490 และกลายเป็นพลังค้ำจุนระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

แต่หลังจากกรณี 14 ตุลาคม 2516 อนุรักษ์นิยมไทยถูกท้าทายอย่างหนัก จากการเติบโตของอุดมการณ์สังคมนิยม และการเคลื่อนไหวของพลังฝ่ายซ้าย อนุรักษ์นิยมไทยจึงสนับสนุนการปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนและการรัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 เพราะหวังว่าการรัฐประหารจะนำมาซึ่งระเบียบการเมืองแบบเดิม และสามารถหยุดยั้งการขยายตัวของพลังฝ่ายซ้าย แต่กลับกลายเป็นการสร้างกำลังให้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่ต่อสู้อยู่เขตป่าเขา และทำให้สงครามกลางเมืองในประเทศไทยขยายตัว แต่หลัง พ.ศ.2522 ฝ่ายสังคมนิยมขัดแย้งกันเองอย่างหนัก และนำมาซึ่งการเสื่อมสภาพของพลังฝ่ายซ้าย สังคมไทยกลับมาสู่ยุคปรองดองและเดินหน้าภายใต้ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ ทำให้พลังของฝ่ายอนุรักษ์นิยมมั่นคงมากยิ่งขึ้น

ดังนั้น การเมืองไทยหลัง พ.ศ.2522 จึงมีแนวโน้มคล้ายกับว่า ระบอบประชาธิปไตยจะมีการพัฒนาอย่างมั่นคง การเลือกตั้งกลายเป็นกระบวนการทางการเมืองปกติ สถาบันพรรคการเมืองก็ดูมีความมั่นคง ตั้งแต่สมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อ พ.ศ.2531 เป็นต้นมา นายกรัฐมนตรีที่บริหารประเทศ ก็คือหัวหน้าพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง แม้ว่าจะมีการสลับฉากด้วยการรัฐประหารกุมภาพันธ์ พ.ศ.2534 โดยคณะทหารพยายามรักษาอำนาจด้วยการปราบปราบประชาชนอีกครั้ง แต่ก็ประสบความพ่ายแพ้อย่างยับเยินในกรณีพฤษภาประชาธรรม พ.ศ.2535 ทำให้ระบอบเผด็จการทหารดำรงอยู่ในระยะสั้น

หลังจากนั้น ประเทศไทยก็กลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยรัฐสภาเช่นเดิม และดำเนินต่อมา จนก่อให้เกิดความเข้าใจว่า ระบอบประชาธิปไตยจะมีความมั่นคงและหยั่งรากลึกในสังคมไทย เช่นเดียวกับในประเทศตะวันตกทั้งหลาย ซึ่งแม้ว่าจะมีแนวโน้มไปทางอนุรักษ์นิยมเช่นกัน แต่กติกาประชาธิปไตยในประเทศเหล่านั้นมีความมั่นคง การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะดำเนินการด้วยเสียงของประชาชนเท่านั้น การรัฐประหารโดยกองทัพจะเป็นวิธีการที่เกิดขึ้นไม่ได้เลย นักคิดทางการเมืองของไทยแทบทั้งหมดก่อน พ.ศ.2549 ก็มีความเชื่อในลักษณะที่ว่าการเมืองไทยก้าวไปสู่วิถืแบบอารยประเทศแล้ว แต่ปรากฏว่า แนวคิดเช่นนั้นผิดสำหรับสังคมไทย เพราะอนุรักษ์นิยมไทยมีความล้าหลังที่สุด ย้อนยุคที่สุด และป่าเถื่อนที่สุดเกินความคาดหมาย

ความล้าหลังของชนชั้นนำไทยที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมสุดขั้วอยู่ที่ว่า พวกเขาเห็นว่า ประชาธิปไตยนั้นเป็นเพียงวิธีการ คะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชนจึงเป็นเพียงพิธีการรองรับการเปลี่ยนแปลงในกรอบที่ถูกกำหนดไว้แล้ว ถ้าประชาชนมีพฤติกรรมทางการเมืองนอกกรอบที่ชนชั้นนำต้องการ การรัฐประหารก็เป็นวิธีที่สามารถใช้ได้ และไม่เพียงเท่านั้น แม้กระทั่งการฟื้นระบอบเผด็จการสุดขั้ว ให้อำนาจทั้งหมดอยู่ในมือของผู้นำกองทัพ ริดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ใช้กฎหมายป่าเถื่อนตามใจชอบ โดยไม่ต้องได้รับการรองรับจากประชาชน ใช้วิธีการสองมาตรฐานจนเป็นเรื่องปกติ อนุรักษ์นิยมไทยก็สามารถยินยอมได้ การรัฐประหาร พ.ศ.2557 และความมั่นคงของระบอบเผด็จการภายใต้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา จึงเป็นสิ่งที่อธิบายได้ว่า เผด็จการในไทยสามารถอยู่ได้เป็นระยะเวลานาน ตราบเท่าที่เผด็จการนั้น รองรับอำนาจของฝ่ายอนุรักษ์นิยม

ด้วยแนวโน้มเช่นนี้ สังคมไทยก็จะก้าวไปทางขวา อนุรักษ์นิยมมากขึ้น และแม้กระทั่งหลักการแบบเสรีนิยม ที่เชื่อในแนวคิดปัจเจกชนนิยม ระบบการเมืองที่มีเหตุผล ความเสมอภาคและเสรีภาพของประชาชน ตลอดจนถึงความเป็นนิติรัฐ ก็ยังเป็นเรื่องที่ไกลเกินฝัน ชัยชนะของฝ่ายอนุรักษ์นิยมในการผลักดันร่างรัฐธรรมนูญฉบับเหลวไหล จนผ่านประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ที่ผ่านมา ยิ่งสะท้อนความมืดมนในสังคมไทยมากยิ่งขึ้น แม้กระทั่ง ทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ ก็ยังเป็นสิ่งที่ก้าวหน้าเกินไปสำหรับประเทศไทย เพราะการบริหารโดยกองทัพและระบบราชการถือว่ามีความมั่นคงกว่า และถือว่านี่เป็นเรื่องของสังคมไทยเราเอง คนนอกไม่เกี่ยว

นี่คือสภาพความเป็นจริงของสังคมไทยวันนี้ ในโอกาส 10 แห่งการรัฐประหาร

0000

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 583 วันที่ 24 กันยายน 2559

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net