สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 29 ก.ย.-5 ต.ค. 2559

กระทรวงแรงงานยื่นมือช่วยลูกจ้างโรงแรมปาร์คนายเลิศ 388 คน ที่ถูกเลิกจ้างเหตุปิดกิจการ/สั่งปิดแพปลา-ล้ง-ห้องเย็น เข้มประมงเถื่อนลุ้นหลุด IUU/กรมสวัสดิการฯ ยันสถานการณ์ธุรกิจโรมแรมยังปกติ/มีผลแล้ว! ผู้ประกันตนรับสิทธิทำฟัน "อุด-ถอน-ขูดหินปูน" เบิกได้ 900 บาทต่อปี/เลิกจ้างพนักงานราชการของกรมพลศึกษาจำนวน 33 คน/เล็งออกระเบียบจ้างงาน โดยเฉพาะอาชีพสงวนผู้สูงอายุที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมเป็นการเฉพาะ/โพลล์ระบุ 48.39% ไม่เห็นด้วยให้ขยายอายุเกษียณไปเป็น 65 ปี
 
กระทรวงแรงงานยื่นมือช่วยลูกจ้างโรงแรมปาร์คนายเลิศ 388 คน ที่ถูกเลิกจ้างเหตุปิดกิจการ
 
เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 59 น.ส.พรรณี ศรียุทธศักดิ์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กรณีบริษัทโรงแรมปาร์คนายเลิศ จำกัด ประกาศแจ้งพนักงานว่าจะปิดกิจการ ในต้นปี 2560 นั้น ทางกระทรวงแรงงานได้ให้เจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเขตพื้นที่ 4 เข้าไปตรวจสอบแล้ว
 
เบื้องต้น ทราบว่าสาเหตุมาจากการประสบปัญหาด้านการแข่งขันทางธุรกิจ จนต้องมีการขายกิจการ โรงแรมแห่งนี้เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ มีพนักงานมากกว่า 388 คน หลังปิดกิจการ จึงน่าเป็นห่วงพนักงานเหล่านี้จะทำอย่างไร เพราะส่วนใหญ่มีอายุงานตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ขณะนี้ได้เตรียมประสานกรมการจัดหางาน สำนักงานประกันสังคม และกรมพัฒนาฝีมือแรงงานให้ช่วยหางานใหม่ หรือพัฒนาทักษะหากต้องการเปลี่ยนสายงาน
 
น.ส.พรรณี กล่าวว่า ในส่วนของเงินค่าชดเชย ผู้บริหารแจ้งว่ายินดีจ่ายสิทธิประโยชน์ให้ตามกฎหมายทุกอย่าง พร้อมกับจ่ายเงินโบนัสประจำปีจำนวน 1 เดือนให้พนักงาน รวมทั้ง จะช่วยหางานจากโรงแรมอื่นให้ด้วย กสร.ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากพนักงานต้องการความช่วยเหลือให้เร่งดำเนินการทันที
 
"การปิดกิจการของโรงแรมปาร์คนายเลิศ ถือเป็นการประกาศปิดตัวที่ค่อนข้างกะทันหัน เพราะไม่มีสัญญาณบ่งชี้ว่าจะมีการเลิกจ้าง ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานทั่วประเทศเฝ้าระวัง หากพบบริษัทไหนมีปัญหา ให้เข้าไปพูดคุยและให้คำแนะนำทันที" น.ส.พรรณี กล่าว
 
 
สั่งปิดแพปลา-ล้ง-ห้องเย็น เข้มประมงเถื่อนลุ้นหลุด IUU
 
กระทรวงแรงงานตรวจเข้ม ค้ามนุษย์-แรงงานเถื่อนประมง IUU ดันเข้าแผนปฏิรูปแรงงานระยะที่ 1 ร่วมบูรณาการ 6 หน่วยงานจัดชุดตรวจห้องเย็น-โรงงานแปรรูปอาหารทะเล พบการกระทำผิด 127 แห่งส่วนใหญ่เป็นห้องเย็นขนาดเล็ก ล้ง และแพปลา มีทั้งสั่งดำเนินคดี สั่งปิด ตาม พ.ร.บ.การประมง-พ.ร.บ.โรงงาน
 
ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือ IIIegal Unreported and Unregulated หรือ IUU Fishing หลังจากที่คณะกรรมาธิการยุโรปได้ให้ "ใบเหลือง" ว่า ประเทศไทยมีความคืบหน้าในการแก้ปัญหา IUU ไปมาก
 
ในส่วนของกระทรวงแรงงาน ซึ่งได้รับมอบหมายให้แก้ปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์ แรงงานเด็ก และแรงงานทาส ได้ร่วมบูรณาการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมประมง กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ และศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ต่อเนื่อง มีการส่งทีมเจ้าหน้าที่ร่วมตรวจสอบติดตามการออกทำประมงและในโรงงานแปรรูป
 
โดยเฉพาะการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานและแรงงานผิดกฎหมายถือเป็น 1 ในวาระปฏิรูปหลักเร่งด่วนของกระทรวงแรงงาน ได้ถูกบรรจุไว้ในแผนปฏิรูปแรงงานระยะที่ 1 ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2559-ธันวาคม 2560 เพื่อแก้ไขปัญหาด้านแรงงานและจัดระบบแรงงานต่างด้าวในหลายมาตรการ อาทิ
 
การจดทะเบียน OSS ประมง/โรงงานแปรรูปสัตว์น้ำกว่า 1.2 ล้านคน, การปรับปรุงบันทึกความเข้าใจ (MOU) ด้านแรงงานกับประเทศเมียนมา-สปป.ลาว, การป้องกันแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์, การตรวจคุ้มครองแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบกว่า 3 ล้านคน, การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ภายใต้ พ.ร.ก.การนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ. 2559, การจัดตั้งศูนย์บัญชาการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (ศปคร.), การจัดตั้งเขตปลอดการหลอกลวงคนหางานในทุกจังหวัด รวมทั้งการยื่นสัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเลฯ กับอนุสัญญาฉบับที่ 187 ด้านการส่งเสริมความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยในการทำงาน ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization-ILO) ด้วย
 
ม.ล.ปุณฑริกกล่าวถึงการดำเนินการในส่วนของปัญหาการค้ามนุษย์กับการทำประมงผิดกฎหมาย รัฐบาลชุดนี้แก้ปัญหาได้ตรงจุด โดยปลายเดือนกันยายน 2559 นี้ ฝ่ายไทยจะต้องรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการให้ EU ทราบอีกครั้ง
 
แหล่งข่าวในศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) เปิดเผยว่า จากการบูรณาการหน่วยงานจัดชุดออกตรวจโรงงานแปรรูปอาหารทะเลและผลิตภัณฑ์ตามข้อแนะนำของสหภาพยุโรป ระหว่างวันที่ 16 พฤศจิกายน 2558-มิถุนายน 2559 ออกตรวจสอบโรงงาน 281 แห่ง พบการกระทำผิดตาม พ.ร.บ. 6 ฉบับ (พ.ร.บ.การประมง-พ.ร.บ.คนเข้าเมือง-พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว-พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน-พ.ร.บ.ประกันสังคม-พ.ร.บ.โรงงาน)พบการกระทำผิดรวม 127 แห่ง ซึ่งมีทั้งเปรียบเทียบปรับ-สั่งหยุดการดำเนินกิจการ และดำเนินคดีความ 31 คดี
 
ในจำนวนโรงงานทั้ง 127 แห่งที่พบการกระทำผิด แบ่งเป็น กระทำผิดตาม พ.ร.บ.การประมง สั่งให้หยุดกิจการ 10 วัน ประกอบไปด้วย บริษัททิพย์วันชัยซีฟู้ด (ชลบุรี), บริษัทเทคนิคฟู้ด มารีนโปรดักส์ (ระยอง), หจก.วิชัยการประมง (ระนอง), บริษัท วี.ไอ.อินเตอร์เนชั่นแนล (ระนอง), บริษัทฉางหลอง โอเชี่ยนนิค (ภูเก็ต), บริษัทแฮนดี้ อินเตอร์เนชั่นนอล (ระนอง), บริษัทซี เอ็ม อินเตอร์ฟู้ดส์ (สมุทรสาคร)
 
บริษัทที่เข้าข่ายประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.โรงงาน ได้แก่ บริษัทลูกยอด ซีฟู้ดส์ (ระยอง), บริษัทอ่าวไทย เจลลี่ฟิช (ชลบุรี), บริษัทหมื่นสวัสดิ (สมุทรสงคราม), บริษัทโรงน้ำปลาตั้งไฮ้ลิ้ม (ชุมพร), บริษัทเซาท์อีสเอเซียซีฟู้ด (นครศรีธรรมราช), บริษัทเจ๊เปี๊ยก หมึกกรอบ (สมุทรสงคราม), บริษัทนันทกมล หมึกกรอบ (สมุทรสงคราม), นายชะออม ศรเดช (สมุทรสงคราม), คณะบุคคลแม่กลองอาหารทะเล (สมุทรสงคราม, นายเติมเยาวราชอาหารทะเลแปรรูป (สมุทรสงคราม) และบริษัทหยวนอี้ (พังงา)
 
บริษัทที่เข้าข่ายผิด พ.ร.บ.การประมง สั่งให้หยุด 10 วัน และรอคำสั่งให้หยุด ได้แก่ แพปูวาสนา (นครศรีธรรมราช), แพแมนระนอง (ระนอง), หจก. ส.เฮียทัศน์ (สมุทรสาคร), ล้งหมวยแข (สมุทรสาคร), ล้งวิไลพร (ตราด), บริษัทสุภาภรณ์แคนนิ่ง (สมุทรสงคราม) และแพสมชาติ (ระนอง)
 
 
สศค.เผยเศรษฐกิจภูมิภาคส.ค.มีสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อง ตามแรงขับเคลื่อนการบริโภค-ความเชื่อมั่นที่ปรับตัวดีขึ้น
 
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือน ส.ค.59 เศรษฐกิจภูมิภาคยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง นำโดย ภาคเหนือ และภาคใต้ ตามแรงขับเคลื่อนของการบริโภคสินค้าคงทน และความเชื่อมั่นปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับการลงทุนภาครัฐที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ รายได้จากการเยี่ยมเยือนของนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีเกือบทุกภูมิภาค ช่วยให้เศรษฐกิจภูมิภาคยังขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่เสถียรภาพยังอยู่ในเกณฑ์ดีทุกภูมิภาค
 
โดยภาคเหนือ เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนมาก จากการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาครัฐ สะท้อนจากเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนทั้งการบริโภคสินค้าและบริการ จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ เฉพาะส่วนที่เก็บบนฐานการใช้จ่าย ขยายตัวที่ 5.7% ต่อปี และการบริโภคสินค้าคงทนยังขยายตัวได้ดีจากยอดรถยนต์นั่งและยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวที่ 5.3% และ 27.1% ต่อปี ตามลำดับ ตามความเชื่อมั่นผู้บริโภคในภูมิภาคที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลในภูมิภาคยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องที่ 43.2% ต่อปี เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนเริ่มปรับตัวดีขึ้น จากยอดรถปิคอัพจดทะเบียนจดทะเบียนใหม่ และเม็ดเงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบการ ขยายตัว 3.2% และ 229.1% ต่อปีตามลำดับ สำหรับด้านอุปทาน การท่องเที่ยวในภูมิภาคยังขยายตัวได้ดีทั้งจำนวนและรายได้ที่ 18.2% และ 18.2% ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่ภาคเกษตรกรรมปรับตัวลดลงอีกครั้ง ตามการหดตัวของผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรในภูมิภาค ส่งผลให้รายได้เกษตรกรลดลง ขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับต่ำที่ 1.1% ต่อปี และอัตราการว่างงาน (ข้อมูลเดือนกรกฎาคม) อยู่ที่ 0.8% ของกำลังแรงงานรวม
 
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น จากการบริโภคสินค้าคงทนและการลงทุนภาคเอกชนเริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวที่ 12.5% และ 12.5% ต่อปีตามลำดับ ตามความเชื่อมั่นผู้บริโภคในภูมิภาคที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลในภูมิภาคยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องที่ 31.8% ต่อปี การลงทุนภาคเอกชนเริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น จากยอดรถปิคอัพและยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ และเม็ดเงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบการ ขยายตัวที่ 7.5% 15.9% และ 83.5% ต่อปี ตามลำดับ สำหรับด้านอุปทาน การท่องเที่ยวในภูมิภาคยังขยายตัวได้ดีทั้งจำนวนและรายได้ที่ 7.5% และ 6.9% ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ภาคเกษตรกรรมปรับตัวลดลงอีกครั้ง ตามการหดตัวของผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรในภูมิภาค ส่งผลให้รายได้เกษตรกรลดลง อย่างไรก็ตาม เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในจังหวัดยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.8 ต่อปี และอัตราการว่างงาน (ข้อมูลเดือนกรกฎาคม) อยู่ที่ 1.1% ของกำลังแรงงานรวม
 
ภาคกลาง เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาครัฐเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนทั้งการบริโภคสินค้าและบริการ จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ เฉพาะส่วนที่เก็บบนฐานการใช้จ่ายขยายตัวที่ 0.8% ต่อปี และการบริโภคสินค้าคงทนยังขยายตัวได้ดี จากยอดรถยนต์นั่งและยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัว 20.3% และ 17.2% ต่อปี ตามลำดับ ตามความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น การลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรเริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น จากยอดรถปิคอัพและยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 6.9% และ 21.1% ต่อปี ตามลำดับ ประกอบกับรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลในภูมิภาคยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องที่ 84.5% ต่อปี สำหรับด้านอุปทานขยายตัวดี โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวจากทั้งจำนวนและรายได้ขยายตัวที่ 7.2% และ 15.2% ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ภาคเกษตรกรรมปรับตัวลดลงอีกครั้ง ตามการหดตัวของผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรในภูมิภาค ส่งผลให้รายได้เกษตรกรลดลง ขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับต่ำที่ 0.7% ต่อปี และอัตราการว่างงาน (ข้อมูลเดือนกรกฏาคม) อยู่ที่ 1.6% ของกำลังแรงงานรวม
 
ภาคตะวันออก เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อง จากบริโภคสินค้าคงทนและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดี สะท้อนจากการบริโภคสินค้าคงทนยังขยายตัวได้ดี จากยอดรถยนต์นั่งและยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัว 7.3% และ 22.6% ต่อปี ตามลำดับ ตามความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีทิศทางดีขึ้น สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น จากยอดรถปิคอัพและยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ขยายตัว 0.2% และ 30.6% ต่อปี ตามลำดับ สำหรับด้านอุปทานขยายตัวดี โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวจากทั้งจำนวนและรายได้ขยายตัวที่ 40.9% และ 67.2% ต่อปี ตามลำดับ และภาคเกษตรกรรมขยายตัวได้ โดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตรในภูมิภาคขยายตัวได้ดี ส่งผลให้รายได้เกษตรกรขยายตัวที่ 2.5% ต่อปี ขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับต่ำที่ 0.2% ต่อปี และอัตราการว่างงาน (ข้อมูลเดือนกรกฏาคม) อยู่ที่ 0.9% ของกำลังแรงงานรวม
 
ภาคตะวันตก เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัว จากการบริโภคสินค้าคงทน แต่การลงทุนภาคเอกชนยังเปราะบาง สะท้อนจากเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนทั้งการบริโภคสินค้าและบริการ จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ เฉพาะส่วนที่เก็บบนฐานการใช้จ่าย ขยายตัวที่ 6.2% ต่อปี และการบริโภคสินค้าคงทนยังขยายตัวได้ดี จากยอดรถยนต์นั่งและยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัว 42.3% และ 21.9% ต่อปี ตามลำดับ ตามความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลในภูมิภาคยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องที่ 51.4% ต่อปี สำหรับด้านอุปทานขยายตัวดี โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวจากทั้งจำนวนและรายได้ขยายตัวที่ 3.3% และ 4.8% ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ภาคเกษตรกรรมปรับตัวลดลงอีกครั้ง ตามการหดตัวของผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรในภูมิภาค ส่งผลให้รายได้เกษตรกรลดลง ขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับต่ำที่ 1.1% ต่อปี และอัตราการว่างงาน (ข้อมูลเดือนกรกฏาคม) อยู่ที่ 0.7% ของกำลังแรงงานรวม
 
ภาคใต้ เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนมาก โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากการบริโภค การลงทุน การท่องเที่ยว และภาคเกษตร สะท้อนจากเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนทั้งการบริโภคสินค้าและบริการ จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ เฉพาะส่วนที่เก็บบนฐานการใช้จ่าย ขยายตัวที่ 7.9% ต่อปี และการบริโภคสินค้าคงทนยังขยายตัวได้ดี จากยอดรถยนต์นั่งและยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัว 14.8% และ 27.9% ต่อปี ตามลำดับ ตามความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น อีกทั้งการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรเริ่มปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 0.1% และ 27.9% ต่อปี ตามลำดับ ประกอบกับรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลในภูมิภาคยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องที่ 38.1% ต่อปี สำหรับด้านอุปทานขยายตัวดี โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวจากทั้งจำนวนและรายได้ขยายตัวที่ 13.4% และ 19.9% ต่อปี ตามลำดับ นอกจากนี้ภาคเกษตรกรรมขยายตัวดีเช่นกัน ตามผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรในภูมิภาคที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้รายได้เกษตรกรขยายตัว 24.7% ต่อปี ขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับต่ำที่ 0.3% ต่อปี และอัตราการว่างงาน (ข้อมูลเดือนกรกฏาคม) อยู่ที่ 1.2% ของกำลังแรงงานรวม
 
ส่วน กทม.และปริมณฑล เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยได้รับขับเคลื่อนจากการบริโภคและการลงทุนภาครัฐ แม้ว่าการลงทุนภาคเอกชนและการท่องเที่ยวยังเปราะบาง สะท้อนจากการบริโภคสินค้าคงทนยังขยายตัวได้ดี จากยอดรถยนต์นั่งและยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัว 1.2% และ 22.6% ต่อปี ตามลำดับ ตามความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น การลงทุนภาคเอกชนยังคงมีความเปราะบาง จากยอดรถปิคอัพ จดทะเบียนใหม่ขยายตัวแต่ในอัตราชะลอลง 2.3% ต่อปี ประกอบกับเม็ดเงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับการประกอบการหดตัว 85.4% ต่อปี อย่างไรก็ดี ยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวดีที่ 11.9% ต่อปี สอดคล้องกับรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลในภูมิภาคยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องที่ 73.1% ต่อปี สำหรับด้านอุปทานยังคงเปราะบาง จากภาคการท่องเที่ยวและภาคเกษตรกรรมที่ปรับตัวลดลง ขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับต่ำที่ 0.3% ต่อปี และอัตราการว่างงาน (ข้อมูลเดือนกรกฏาคม) อยู่ที่ 0.8% ของกำลังแรงงานรวม
 
 
เล็งออกกฎกระทรวงคุมต่างด้าว จัดระเบียบนายจ้างอยู่ในกรอบ
 
กรมการจัดหางานพร้อม เตรียมออกประกาศกระทรวงแรงงาน รับพ.ร.ก.ใหม่ นำคนต่างด้าวมาทำงานต้องวางเงินประกัน 5 ล้านบาท “อารักษ์”ชี้วางกติกาเพื่อจัดระเบียบ ป้องกันลอบขนแรงงานผิดกฎหมายเข้าเมือง ย้ำหัวใจอยู่ที่นายจ้างต้องอยู่ในกรอบ
 
ตามที่พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ.2559 ได้ลงประกาศในราชกิจจามีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเข้าแรงงานต่างด้าวสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้อีกเป็นเวลา 60 วัน ระหว่างการปรับตัวให้เข้าหลักเกณฑ์ตามกฎหมายใหม่นี้ นั้น
 
นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผย”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ช่วงระยะเวลาผ่อนผัน 60 วันจะครบกำหนดในราวกลางเดือนตุลาคม โดยระหว่างนี้อยู่ระหว่างยกร่างประกาศกระทรวง เพื่อกำหนดรายละเอียดวิธีปฏิบัติขึ้นมารองรับบทบัญญัติตามพ.ร.ก.ดังกล่าวข้างต้นแล้ว และจะเสนอให้ทางกระทรวงพิจารณาเพื่อดำเนินการต่อไปได้ในเร็ว ๆ นี้
 
ทั้งนี้ พ.ร.ก.ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศให้เหมาะสม และป้องกันไม่ให้มีการลักลอบนำลูกจ้างที่เป็นคนต่างด้าว มาทำงานกับนายจ้างในประเทศโดยผิดกฎหมาย รวมทั้งเสริมสร้างการให้ความคุ้มครองผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้ได้รับความเป็นธรรมตามกฎเกณฑ์และมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติ
 
สาระสำคัญคือ กำหนดให้การนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศ ทำได้ 2 กรณี 1.นายจ้างเป็นคนนำคนต่างด้าวมาทำงานด้วยตนเอง ซึ่งจะต้องวางเงินประกันกับทางราชการตามอัตราที่กำหนด 2.ผู้ประกอบกิจการที่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.ก.นี้ เป็นคนนำคนต่างด้าวมาทำงาน ซึ่งจะต้องมีการวางเงินประกันการประกอบธุรกิจเป็นเงินไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท โดยกระบวนการขั้นตอนการนำคนต่างด้าวมาทำงาน ต้องเป็นไปตามที่ทางราชการกำหนด
 
นายอารักษ์กล่าวด้วยว่า กฎหมายนี้ยังกำหนดมาตรการให้ผู้ประกอบกิจการ เรียกค่าตอบแทนซึ่งเป็นค่าบริการและค่าใช้จ่ายจากนายจ้างเท่านั้น ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการกระทำผิดสัญญาในการนำเข้าคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ สามารถหักเงินจากหลักประกัน ที่ผู้ประกอบกิจการวางไว้กับอธิบดีกรมการจัดหางาน คืนนายจ้างได้ นอกจากนี้ยังกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการและนายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบคนต่างด้าวที่นำเข้ามาทำงานในประเทศร่วมกัน โดยมีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างชัดเจน ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะช่วยให้เกิดความเป็นธรรมแก่คนต่างด้าว นายจ้าง รวมถึงจัดระเบียบผู้ประกอบกิจการในประเทศไทยอีกด้วย
 
“ที่ผ่านมาคนต่างด้าวเข้ามาทำงานโดยไม่ถูกต้องมีปัญหามาก ทั้งปัญหาการได้รับผลตอบแทนหรือสวัสดิการต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด เพราะอยู่นอกระบบ หรือเมื่อถูกจับกุมบังคับคดีทั้งตัวแรงงานต่างด้าว และนายจ้างหรือผู้ประกอบการ กว่าคดีจะเสร็จสิ้นหรือยุติ แรงงานต่างด้าวเองไม่มีหลักประกันอะไรเลย เมื่อมีกองทุนขึ้นมาหากมีปัญหาก็สามารถใช้เงินจากกองทุนไปชดเชยหรือเยียวยาได้”
 
ทั้งนี้ อธิบดีกรมการจัดหางานย้ำว่า หัวใจสำคัญอยู่ที่นายจ้างที่ว่าจ้างแรงงานคนต่างด้าว หากร่วมมือกันทำตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ ทุกอย่างก็จะไม่มีปัญหา
 
 
กรมสวัสดิการฯ ยันสถานการณ์ธุรกิจโรมแรมยังปกติ
 
น.ส.พรรณี ศรียุทธศักดิ์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ยืนยืนว่า สถานการณ์ธุรกิจโรงแรมในประเทศไทยขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบกระเทือน เห็นได้จากยอดและรายได้จากนักท่องเที่ยวที่เข้าประเทศยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งที่ตนเดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ และลำปางก็พบว่าห้องพักโรงแรมส่วนใหญ่เต็ม และมีจำนวนนักท่องเที่ยวมาก ส่วนกรณีของโรงแรมปาร์คนายเลิศ ที่ประกาศจะปิดตัวลงวันที่ 31ธ.ค.นี้อาจเป็นเพราะผู้บริหารมีเหตุผลบางประการจึงทำให้ขายกิจการ
 
ส่วนที่ในปัจจุบันมีโรงแรมที่พักขนาดเล็กเกิดขึ้นมาก จะกระทบกับโรงแรมขนาดใหญ่หรือไม่ มองว่า ถึงแม้ขณะนี้โรงแรมขนาดเล็กจะเปิดตัวเพิ่มขึ้นมาก แต่ไม่ได้มีผลกระทบกับธุรกิจโรงแรมอย่างไร เพราะจากการติดตามยังพบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
 
"ส่วนกรณีของโรงแรมปาร์คนายเลิศ ต้องชื่นชมผู้บริหาร ว่ามีความรับผิดชอบ ที่เตรียมหางานของบริษัทในเครือข่ายธุรกิจโรงแรมรองรับให้พนักงาน 388 คนแล้ว ซึ่งขณะนี้นำประกาศตำแหน่งว่างงานของโรมแรมเครือข่ายไปปิดประกาศให้พนักงานได้เลือก เพื่อเตรียมที่จะหางานใหม่ก่อนที่โรงแรมจะปิดตัว รวมถึงถ้าพนักงานคนใดของโรงแรมพร้อมที่จะไปทางผู้บริหารก็ยินดี ส่วนภาระกิจหน้าที่ของทางกรมสวัสดิการฯ ก็เตรียมจัดหางานรองรับไว้เช่นกัน" น.ส.พรรณี ระบุ
 
 
กอช. เผยยอดสมาชิกทะลุ 5 แสน
 
กองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. รายงานผลการรับสมัครสมาชิกวัยใกล้เกษียณอายุ 50 ปีขึ้นไป และผู้สูงอายุ หลังครบกำหนดระยะเวลาตามพระราชบัญญัติการให้สิทธิแก่ผู้สมัครสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติบางกรณีฯ มีสมาชิกเพิ่มขึ้นกว่า 72,000 ราย นับจากต้นเดือนกันยายนจนถึงวันที่ 25 กันยายน 2559 ยอดรวมสมาชิกทะลุ 512,000 ราย คิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 16.6
 
นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุน การออมแห่งชาติ หรือ กอช. กล่าวว่า หลังจากที่พระราชบัญญัติการให้สิทธิแก่ผู้สมัครเป็นสมาชิกกองทุน การออมแห่งชาติบางกรณีฯ ได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2558 และให้มีผลภายใน 1 ปีนับจากวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลบังคับใช้ (สิ้นสุดวันที่ 25 กันยายน 2559) หลังจากนั้นเป็นต้นมา กอช. ได้มีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลสิทธิประโยชน์ของประชาชนตามข้อกำหนดเงื่อนไขของกฎหมายฉบับดังกล่าว ผ่านสื่อมวลชนและช่องทางการสื่อสารต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ การประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกันตนตามกฎหมายประกันสังคม มาตรา 40 (3) ที่ยกเลิกดำเนินการ สามารถแจ้งโอนย้ายมาเป็นสมาชิก กอช. ได้ ซึ่งหมดเขตให้แจ้งความประสงค์ไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ต่อเนื่อง มาจนถึงการประชาสัมพันธ์ทุกช่องทางให้ผู้มีอายุ 50 ปีขึ้นไป และผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป สมัครเป็นสมาชิก กอช. แล้วได้รับสิทธิออม 10 ปี ซึ่งหมดเขตรับสมัครตามเงื่อนไขนี้ไปเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2559 โดยจากรายงานผลการรับสมัครสมาชิก นับจากต้นเดือนกันยายนจนถึงวันที่ 25 กันยายน 2559 กองทุนมีสมาชิกเพิ่มขึ้น 72,185 ราย จำนวนเงินสะสมเพิ่มขึ้น 111.4 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตของจำนวนสมาชิก ร้อยละ16.6 นับว่าเป็นยอดการสมัครสมาชิกเพียงเดือนเดียวที่ทำให้กองทุนมีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น ตัวเลขที่น่าพอใจ อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ ยังได้รับรายงานผลตอบรับจากประชาชนที่ใช้บริการสมัครสมาชิก กอช. อย่างเนืองแน่นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งทุกข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะที่ได้รับนั้นเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ต่อการบริหารงานกองทุนและการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ของผู้เป็นสมาชิกได้ต่อไปในอนาคต
 
นายสมพร จิตเป็นธม เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ เปิดเผยว่า อัตราการเติบโตของจำนวนสมาชิกในเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีการเติบโตในอัตราที่ก้าวกระโดดจากค่าเฉลี่ยปกติย้อนหลัง 8 เดือนที่กองทุนมีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นเดือนละ 6,000 รายโดยประมาณ
 
ทั้งนี้ สมาชิกที่สมัครเพิ่มในเดือนกันยายนนี้ มีผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปจำนวน 53,360 ราย อายุ 50-60 ปี จำนวน 13,216ราย รวมจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้นในเดือนกันยายนซึ่งเป็นผู้มีสิทธิตามพระราชบัญญัติการให้สิทธิฯ ทั้งสิ้น 66,576 ราย คิดเป็นร้อยละ 92 ของจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้นทั้งหมด จึงทำให้กองทุนมีสมาชิกในกลุ่มผู้มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป เป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 46 เป็นร้อยละ 53
 
ซึ่งหลังจากที่ กอช. ทำการประชาสัมพันธ์อย่างเข้มข้นในช่วงโค้งสุดท้ายตั้งแต่เดือนสิงหาคม ต่อเนื่องจนถึงกำหนดหมดเขตรับสมัครผู้สูงอายุเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2559 ในทุกช่องทางการสื่อสาร ผ่านสื่อมวลชนทุกแขนง ทั้งหนังสือพิมพ์ สื่อวิทยุและโทรทัศน์ ตลอดจนการผนึกกำลังความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่ช่วยกันประชาสัมพันธ์แจ้งข่าวสารไปยังประชาชน อาทิ ธนาคารหน่วยรับสมัครทั้ง 3 แห่ง สำนักงานคลังเขตและคลังจังหวัดทั่วประเทศ กรมประชาสัมพันธ์ กรมกิจการผู้สูงอายุ กรมการพัฒนาชุมชน สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง และที่สำคัญคือรัฐบาลได้ให้การสนับสนุนเต็มที่ จึงทำให้การประชาสัมพันธ์ในช่วงโค้งสุดท้ายนี้ได้ผลตอบรับที่ดีเกินคาด
 
ในแต่ละวันมีประชาชนให้ความสนใจสอบถามเข้ามาที่สายด่วนเงินออม กอช. และทาง facebook, Line@ของกองทุนเป็นจำนวนมาก ไม่เพียงแต่ผู้สูงอายุและผู้ที่อยู่ในวัยใกล้เกษียณ แต่รวมถึงผู้ที่อายุยังน้อยก็สนใจติดตามข่าวสาร และสอบถามถึงสิทธิประโยชน์ของการเป็นสมาชิก กอช. มี บางรายเข้าใจผิดว่าหมดเขตสมัครสมาชิกพร้อมกันกับกลุ่มผู้สูงอายุ
 
ซึ่งหลังจากนี้ไป กอช. จะเร่งเดินหน้าประชาสัมพันธ์การรับสมัครสมาชิก อายุ 15-60 ปี ที่ยังคงเปิดรับสมัครทุกวันต่อเนื่องไป รวมถึงการพัฒนาปรับปรุงการบริการให้ประชาชนและสมาชิกได้รับความสะดวกในการออมเงินกับ กอช. มากขึ้นต่อไป
 
สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนการออมแห่งชาติได้ที่ กอช. สายด่วนเงินออม 02-017-0789 ในวันและเวลาทำการ และติดต่อสมัครสมาชิกได้ที่ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ ... เกษียณสุขใจ มีบำนาญใช้ กับ กอช. www.nsf.or.th
 
 
เผยที่ประชุม ครส. มีมติปรับขึ้นเงินเดือนรัฐวิสาหกิจ ย้อนหลังถึงวันที่ 1 ธ.ค. 57 เตรียมเสนอ ครม.พิจารณาเห็นชอบ ก่อนออกประกาศ
 
ที่กระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงาน การประชุมร่วมคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ครส.) ครั้งที่ 8/2559 ตัวแทนฝ่ายภาครัฐ ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และลูกจ้าง ได้เข้าประชุมอย่างพร้อมเพียง มี พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน เป็นประธาน โดยในที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่วมกันให้ปรับขึ้นเงินเดือนรัฐวิสาหกิจ ตามที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเห็นชอบ ขั้นตอนต่อไปให้ส่ง ครม.พิจารณา หาก ครม.มีมติเห็นชอบ จะมีการออกประกาศ และการปรับขึ้นเงินเดือนจะมีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ 1 ธ.ค. 57
 
ส่วนการให้ปรับขึ้นเงินเดือนรัฐวิสาหกิจในครั้งนี้ สืบเนื่องจาก ครม.มีมติให้ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ เมื่อเดือน ธ.ค.57 โดยให้ข้าราชการที่มีเงินเดือนต่ำกว่า 43,600 บาท ได้ปรับขึ้นเงินเดือน 4% รัฐวิสาหกิจจึงร้องขอให้ปรับขึ้นเท่าเทียมกัน ที่ผ่านมา ครส. ได้ศึกษาพิจารณามาโดยตลอด และวันนี้ที่ประชุม ครส.ได้พิจารณาเป็นครั้งสุดท้าย และมีมติให้ปรับขึ้นตามที่เรียกร้อง ส่วนจะขึ้นตามที่เคยมีมติเมื่อวันที่ 25 ก.พ.หรือไม่นั้น ไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่ยืนยันว่าที่ประชุมวันนี้มีมติให้ขึ้นเงินเดือนรัฐวิสาหกิจแล้ว
 
ด้าน นายมานพ เกื้อรัตน์ รองเลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ (สรส.) กล่าวว่าก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 59 ครส.เคยมีมติเรื่องการให้ปรับขึ้นเงินเดือนไปแล้วครั้งหนึ่ง โดยมติในครั้งนั้นให้พนักงานที่ค่าจ้างไม่เกิน 43,890 บาท ได้รับการปรับขึ้น 4% หรือเพิ่ม 1 ขั้น และค่าจ้างตั้งแต่ 43,891-113,520 บาท ให้ปรับขึ้น 2% หรือเพิ่ม 0.5 ขั้น ได้มีการนำเสนอ ครม.พิจารณา ก่อนให้นำกลับมาศึกษาทบทวนอีกครั้ง ซึ่งผลการทบทวนไม่เป็นที่น่าพอใจ
 
"ระบบไตรภาคีในประเทศไทย มีปัญหา เพราะยังมีการแทรกแซง เท่าที่ผมทราบ ครส. มีมติให้ตั้งฐานเงินเดือนอยู่ที่ 43,890 บาท ถ้าเงินเดือนต่ำกว่าฐาน จะให้มีการปรับขึ้นเงินเดือน 2% หรือ 0.5 ขั้น แต่ถ้าใครมีเงินเดือนมากกว่าฐานที่ตั้งไว้ จะไม่ให้มีการปรับใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งตรงนี้ สรส.จะมีการหารือกันอีกครั้ง ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป" รองเลขาธิการ สรส. กล่าว
 
 
มีผลแล้ว! ผู้ประกันตนรับสิทธิทำฟัน "อุด-ถอน-ขูดหินปูน" เบิกได้ 900 บาทต่อปี
 
เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า เมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา ประธานคณะกรรมการการแพทย์ของ สปส.ได้ลงนามในประกาศคณะกรรมการการแพทย์โดยยกเลิกบัญชีประกาศแนบท้ายหลักเกณฑ์สิทธิการรักษาทันตกรรมผู้ประกันตนของ สปส.ภายใต้วงเงินคนละ 900 บาทต่อปีแล้ว หลังจากนี้ ผู้ประกันตนที่ไปใช้บริการทันตกรรมในสถานพยาบาลรัฐและเอกชนทั่วไป ก็สามารถไปใช้บริการทันตกรรมได้ แต่ต้องสำรองจ่ายเงินไปก่อนและผู้ประกันตนมายื่นเรื่องเบิกเงินกับ สปส.ภายหลัง แต่ไม่เกินคนละ 900 บาทต่อปี โดยสามารถยื่นเบิกได้ในครั้งเดียวหรือจะยื่นหลายครั้งก็ได้
 
เลขาธิการ สปส.กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันโครงการนำร่องทำฟันโดยไม่ต้องสำรองจ่ายไปก่อนใน 30 หน่วยบริการ ก็ได้เริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่วันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งผู้ประกันตนที่ใช้บริการทันตกรรมในสถานพยาบาลรัฐและเอกชนในโครงการนำร่องไม่ต้องสำรองจ่ายเงินไปก่อน ทั้งนี้ ให้สถานพยาบาลรัฐและเอกชนในโครงการนำร่องมาเรียกเก็บเงินจาก สปส.โดยตรง ซึ่งมีเกณฑ์กำหนดอัตราเบิกจ่ายตามจริง แต่ไม่เกินคนละ 900 บาทต่อปี ซึ่งในส่วนของสถานพยาบาลรัฐจะยึดตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข ขณะที่สถานพยาบาลเอกชน ก็จะให้แจ้งอัตราค่าบริการทันตกรรมต่างๆ ทั้งอุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน มายัง สปส. เพื่อจะได้แจ้งผู้ประกันตนให้ทราบ
 
นพ.สุรเดชกล่าวด้วยว่า โครงการนำร่องทำฟันฯดำเนินการใน 30 หน่วยบริการ ใน 19 จังหวัด ได้แก่ กทม. สมุทรปราการ ปทุมธานี อ่างทอง ร้อยเอ็ด เชียงใหม่ ชัยภูมิ สุพรรณบุรี สมุทรสงคราม ชุมพร พังงา สตูล จันทบุรี บึงกาฬ มุกดาหาร ยโสธร แพร่ อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี โดยมีสถานพยาบาลรัฐและเอกชนที่ทำสัญญาเข้าร่วมโครงการกับ สปส. 78 แห่ง ทั้งนี้ ระยะ 3 เดือนตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงธันวาคมนี้ จะประเมินผลการดำเนินการโดยดูถึงจำนวนผู้ใช้บริการ ปัญหาและข้อร้องเรียนต่างๆ เพื่อวางแนวทางแก้ไขก่อนที่จะขยายผลโครงการนำร่องฯให้ครอบคลุมทั่วประเทศในปีหน้า
 
 
เล็งออกระเบียบจ้างงาน โดยเฉพาะอาชีพสงวนผู้สูงอายุที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมเป็นการเฉพาะ
 
เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2559 นายสิงหเดช ชูอำนาจ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวหลังเข้าปฏิบัติหน้าที่เป็นวันแรก ว่า จะเน้นมิติใหม่ส่งเสริมการมีงานทำ โดยเฉพาะการหางานผ่านแอพพลิเคชั่นจะพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ ควบคู่กับเป็นช่องทางร้องทุกข์ ซึ่งจะต้องพัฒนาระบบเทคโนโลยีให้ทันสมัยและรองรับการปฏิบัติงาน และการเตรียมรับมือสังคมผู้สูงอายุเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลและกระทรวงแรงงาน ที่ กกจ. ต้องดำเนินการ
 
ทั้งนี้ จะเน้นการทำงานในท้องถิ่นตามความสมัครใจ ได้เตรียมนำรูปแบบการจ้างงานของประเทศสิงคโปร์มาศึกษา เพื่อนำมาขับเคลื่อนแนวคิด ในการออกระเบียบการจ้างงานเฉพาะของผู้สูงอายุ โดยอาจจะออกเป็นลักษณะงานและอาชีพสงวนสำหรับผู้สูงอายุที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมเป็นการเฉพาะ เช่น ไกด์ท้องถิ่น การเลี้ยงเด็ก และการทำขนมโบราณ
 
นายสิงหเดช กล่าวอีกว่า งานด้านต่างประเทศและการนำเข้าแรงงานต่างด้าวเป็นอีกภารกิจหลักที่กรมการจัดหางานต้องเร่งจัดระบบให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์และการหลอกลวงแรงงาน ส่วนการดูแลแรงงานต่างด้าวแย่งอาชีพคนไทยทำ ก็จะต้องดำเนินการตรวจจับอย่างต่อเนื่อง
 
 
โพลล์ระบุ 48.39% ไม่เห็นด้วยให้ขยายอายุเกษียณไปเป็น 65 ปี ขณะที่ 55.53% เชื่อว่าต้องเสียงบประมาณมากขึ้น 
 
ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส ,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (ระดับอุดมศึกษา) แถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และลูกจ้างสถานประกอบการเอกชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อการขยายอายุเกษียณในการทำงาน ซึ่งได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 23 ถึง 28 กันยายน พ.ศ. 2559 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,149 คน
 
ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวว่า วันที่ 30 กันยายนของทุกปีถือเป็นวันเกษียณอายุในการทำงานของข้าราชการและลูกจ้างในหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ รวมถึงพนักงานขององค์กรเอกชนบางแห่งที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ซึ่งได้ถูกกำหนดและถือปฏิบัติกันมาอย่างยาวนานเพื่อให้สอดคล้องกับการสิ้นสุดปีงบประมาณดำเนินงานของหน่วยงานนั้นๆ ทั้งนี้ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และลูกจ้างในสถานประกอบการเอกชนส่วนใหญ่ในประเทศไทยจะถูกกำหนดให้เกษียณอายุในการทำงานตอน 60 ปี ยกเว้นในบางสายอาชีพหรือสายงานที่มีการกำหนดอายุเกษียณในการทำงานให้สูงหรือต่ำกว่า 60 ปีเพื่อความเหมาะสม ขณะเดียวกันในปัจจุบันเริ่มมีแนวคิดในการขยายอายุเกษียณในการทำงานออกไปเป็น 65 ปี เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในการทำงานรวมถึงเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีแต่ยังมีศักยภาพในการทำงานได้ทำงานต่อไปและเป็นการลดภาระเกี่ยวกับสวัสดิการในการดูแลผู้สูงอายุ แต่อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคมถึงผลดีและผลเสียที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะนักวิชาการและประชาชนบางส่วนที่มีความคิดเห็นว่าอาจเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณมากขึ้นและลดโอกาสคนรุ่นใหม่ในการได้งานทำ จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และลูกจ้างสถานประกอบการเอกชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อการขยายอายุเกษียณในการทำงาน
 
ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวต่อว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดซึ่งเป็นลูกจ้างและพนักงานในสถานประกอบการเอกชน ข้าราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ โดยเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.74 และเพศชายร้อยละ 49.26 สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านความรับรู้และความคิดเห็นต่อแนวคิดการขยายอายุเกษียณในการทำงานไปเป็น 65 ปีนั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 74.33 ทราบ/ได้ยินข่าวเกี่ยวกับแนวคิดการขยายอายุเกษียณในการทำงานไปเป็น 65 ปี ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 25.67 ระบุว่าไม่ทราบ/ไม่ได้ยิน อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 48.39 ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดการขยายอายุเกษียณในการทำงานไปเป็น 65 ปี ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 41.6 เห็นด้วย ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 10.01 ไม่แน่ใจ
 
ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 55.53 มีความคิดเห็นว่าหากมีการขยายอายุเกษียณในการทำงานไปเป็น 65 ปี จะมีส่วนทำให้หน่วยงานต่างๆต้องใช้งบประมาณมากขึ้น ในทางกลับกันกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 57.62 มีความคิดเห็นว่าหากมีการขยายอายุเกษียณในการทำงานไปเป็น 65 ปี จะมีส่วนช่วยลดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในหน่วยงานต่างๆได้ นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 52.22 มีความคิดเห็นว่าหากมีการขยายอายุเกษียณในการทำงานไปเป็น 65 ปี จะไม่มีส่วนทำให้หน่วยงานต่างๆประกาศรับสมัครงานน้อยลง
 
ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 58.49 มีความคิดเห็นว่าหากมีการขยายอายุเกษียณในการทำงานไปเป็น 65 ปี จะมีส่วนทำให้ ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และลูกจ้างสถานประกอบการเอกชนมีเงินออมเก็บมากขึ้นได้ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 57.35 มีความคิดเห็นว่าหากมีการขยายอายุเกษียณในการทำงานไปเป็น 65 ปี จะมีส่วนช่วยลดโอกาสการเป็นโรคซึมเศร้าของ ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และลูกจ้างสถานประกอบการเอกชนหลังเกษียณได้ แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 77.28 เห็นด้วยที่จะคงสวัสดิการให้กับผู้ที่ต้องการเกษียณอายุในการทำงานตอน 55 ปี และ 60 ปี ไว้เช่นเดิม หากมีการขยายอายุเกษียณในการทำงานไปเป็น 65 ปี
 
และสำหรับความตั้งใจในการเกษียณอายุการทำงานตอนอายุเท่าใดนั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 46.74 ตั้งใจจะเกษียณอายุในการทำงานตอน 60 ปี ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 15.58 และร้อยละ 12.01 ตั้งใจจะเกษียณอายุตอน 65 ปี และ 55 ปีตามลำดับ โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างถึงประมาณหนึ่งในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 25.67 ยังไม่แน่ใจ ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าว
 
 
กรมโรงงานฯ เดินหน้าผลักดันอุตฯเชิงนิเวศ เตรียมเสนอแผนปฎิบัติการใน 15 จังหวัดเข้า ครม.
 
นายอภิจิณ โชติกเสถียร รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเป็นการดำเนินการตามกรอบยุทธศาสตร์ประเทศที่มุ่งสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความสมดุลอย่างยั่งยืน ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 31 มี.ค.56 โดยในปีงบประมาณ 57 กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ดำเนินการศึกษาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ในพื้นที่ 5 จังหวัดนำร่อง ประกอบด้วย พื้นที่ที่มีอุตสาหกรรมหนาแน่น ได้แก่ สมุทรปราการ สมุทรสาคร และระยอง และพื้นที่อุตสาหกรรมใหม่ ได้แก่ ฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี
 
ในปี 58 ได้ดำเนินการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเพิ่มอีก 10 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ขอนแก่น นครราชสีมา สระบุรี ราชบุรี สุราษฎร์ธานีและสงขลา
 
สำหรับในปีงบประมาณ 59 กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้นำกิจกรรมในมิติกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการ ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในพื้นที่ 15 จังหวัด มาจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบและสนับสนุนงบประมาณการดำเนินโครงการและกิจกรรมตามแผนปฏิบัติการต่อไป ซึ่งในแต่ละจังหวัดจะมีการเลือกพื้นที่นำร่องในการพัฒนาเข้าสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เพื่อให้เป็นตัวอย่างในการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมอื่นๆ ในจังหวัด
 
นอกจากนี้กรมโรงงานอุตสาหกรรมยังได้ดำเนินงานโครงการด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยตามแผนแม่บท เพื่อให้เกิดการพัฒนาไปสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศใน 8 จังหวัด ได้แก่ ระยอง สมุทรปราการ สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ชลบุรี นครปฐม และปทุมธานี ศึกษาปรับปรุงตัวชี้วัดความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศให้เหมาะสมแก่การตรวจประเมินยิ่งขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของศูนย์พัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Town Center) พร้อมทำการศึกษาเพื่อจัดทำแผนแม่บทพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ประกอบด้วย จังหวัดมุกดาหาร สระแก้ว ตาก และตราด
 
ในการดำเนินการดังกล่าวข้างต้นได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากแต่ละจังหวัด ในการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศระดับจังหวัด และคณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศระดับพื้นที่นำร่อง เพื่อให้กรอบแนวทางและร่วมพิจารณาจัดทำโครงการหรือกิจกรรมดังกล่าว
 
"กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้นำแผนปฏิบัติการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศทั้ง 15 จังหวัด เสนอขอรับความเห็นชอบจากคณะกรรมการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ซึ่งมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน และมีผู้แทนส่วนราชการระดับกระทรวง และกรมที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบและสนับสนุนงบประมาณการดำเนินโครงการต่อไป" นายอภิจิณ กล่าว
 
ด้านน.ส.นิสากร จึงเจริญธรรม รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม จะส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ให้เป็นไปในแนวทางอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และอุตสาหกรรมสีเขียว พร้อมทั้งนำแนวทางการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศมาใช้ โดยขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างบูรณาการใน 5 มิติ ได้แก่ มิติกายภาพ มิติเศรษฐกิจ มิติสิ่งแวดล้อม มิติสังคม และมิติการบริหารจัดการ ไปพร้อมๆกัน ทั้งนี้ในจังหวัดที่มีอุตสาหกรรมหนาแน่นและที่มีศักยภาพการเติบโตของอุตสาหกรรมสูงจะศึกษาและจัดทำแผนแม่บทพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เพื่อเป็นกรอบการดำเนินงาน พร้อมทั้งนำแผนแม่บทไปจัดทำแผนปฏิบัติการแบบบูรณาการระหว่างทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชนและประชาชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ตามแผนแม่บทฯ ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ไปสู่เป้าหมายตามตัวชี้วัดระดับการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 5 ระดับที่จัดทำขึ้นตามลำดับ
 
นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศทั้งในส่วนกลางและจังหวัดเป้าหมาย เพื่อประสานงาน จัดฝึกอบรม ตลอดจน รวบรวมและบริการข้อมูลความรู้เกี่ยวกับเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ การประชุมสัมมนาเพื่อเผยแพร่ผลการดำเนินการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศปีงบประมาณ 59 ที่จัดขึ้นนี้ ได้รับทราบผลการดำเนินงานการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งในส่วนที่เป็นผลสำเร็จ ปัญหา และอุปสรรค ที่ต้องช่วยกันแก้ไข เพื่อให้การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น
 
 
ผู้พิการหนุนคำสั่ง ม.44 ปลดล็อกสิทธิรักษาที่หายไป หลังย้ายไปประกันสังคม
 
จากกรณีนโยบายการจ้างงานคนพิการ เพื่อให้คนพิการมีงานทำ เลี้ยงดูตัวเองได้ และไม่เป็นภาระนั้น ส่งผลให้คนพิการที่เดิมได้รับสิทธิการรักษาในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) เมื่อถูกจ้างงานต้องเข้าสู่การเป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายประกันสังคม ซึ่งสิทธิการรักษาด้อยกว่า โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ ให้ผู้พิการสิทธิประกันสังคมได้รับสิทธิรับบริการสาธารณสุขเทียบเท่าสิทธิบัตรทอง โดยค่าใช้จ่ายยังใช้เงินกองทุนประกันสังคม
 
วันนี้ (4 ต.ค.) นายวันเสาร์ ไชยกุล ผู้จัดการศูนย์ญาณากร แหล่งเรียนรู้คนพิการ กล่าวว่า เห็นด้วยอย่างยิ่งกับคำสั่งดังกล่าวที่ให้สิทธิผู้พิการในระบบประกันสังคมสามารถเข้ารับบริการสิทธิบัตรทองตามเดิมได้ มาตรา 44 ที่ออกมาถือเป็นเรื่องดี เพราะตาม พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 กำหนดให้บุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐาน และคนพิการไม่ควรถูกปฏิเสธสิทธิเดิมที่เคยมีอยู่แล้ว ที่สำคัญ เราทราบว่า มีการให้ข้อมูลจากคนที่ทำงานกับผู้พิการโดยตรงถึงปัญหาเรื่องสิทธิที่หายไป จึงมาซึ่งคำสั่งนี้มาตรา 44 ครั้งนี้
 
“ก่อนหน้านี้ เมื่อคนพิการไปทำงานบริษัทและได้สิทธิการรักษาตามระบบประกันสังคม แต่กลับถูกตัดสิทธิที่สำคัญ คือ ท 74 หรือ บัตรทองคนพิการ ดังนั้น คำสั่ง ม.44 ได้ช่วยปลดล็อกตรงนี้ให้ผู้พิการที่ได้สิทธิ์ประกันสังคมสามารถกลับไปใช้สิทธิบัตรทองผู้พิการได้ตามเดิม โดยที่สำนักงานประกันสังคมจะเป็นคนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้” นายวันเสาร์ กล่าวและว่า ก่อนที่จะมีคำสั่งมาตรา 44 นี้ออกมา ได้กำหนดว่า ถ้าผู้พิการคนใดออกจากระบบประกันสังคมจึงจะสามารถกลับไปใช้สิทธิบัตรทอง ท 74 ตามเดิมได้ ซึ่งมันทำให้คนพิการไม่สบายใจ เพราะรู้สึกว่า บัตรทอง ท 74 ที่เขาได้สิทธิมาก่อนหน้านี้ครอบคลุมกับเขามากกว่าระบบประกันสังคม เพราะประกันสังคมไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อคนพิการตั้งแต่แรก แต่เน้นการรักษาแบบฟื้นฟู ไม่ได้เน้นเรื่องการเข้าถึงระบบสุขภาพของผู้พิการ ทั้งนี้ เมื่อมีคำสั่งมาตรา 44 ออกมา ก็ช่วยสร้างกลไกที่ถูกต้องกลับมาช่วยคนพิการได้สิทธิตามเดิม
 
นายวันเสาร์ กล่าวว่า บัตรทองของผู้พิการหรือ ท 74 เข้าใจว่า มีทั้งหมด 76 รายการ เช่น การรักษา การฟื้นฟู การฝึกพูด กายภาพ ซึ่งก็คือ การรักษาโรคทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับผู้พิการโดยตรง ทั้งนี้ ต้องเข้าใจว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ดูแลสิทธิบัตรทองของผู้พิการ ได้ทำการเก็บข้อมูล รับฟังความเห็นของคนที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นระยะ ๆ เรื่องใดควรอยู่หรือไม่ควรอยู่ในสิทธิ จึงเป็นเหตุว่า ทำไมช่วงแรก ๆ ที่คนพิการที่รู้ว่า ต้องเข้าระบบประกันสังคม จึงไม่อยากเข้าเพราะจะทำให้เขาเสียสิทธิบัตรทอง เนื่องจากประกันสังคมไม่ได้ครอบคลุมการรักษาอะไรมาก
 
 
แรงงานติดดาวเผย "โภชนาบำบัด 2" ค่าแรงพุ่งสูง 815 บาท/วัน
 
นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือเเรงงาน (กพร.) เปิดเผยว่า ตามนโยบายของพลเอกศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเเรงงาน ได้กำหนดทิศทางการพัฒนากำลังคนในปี 2560 โดยให้ใช้มาตรฐานฝีมือเเรงงานเป็นตัวขับเคลื่อนเพื่อให้เเรงงานทุกระดับเข้าสู่การทดสอบมาตรฐานฝีมือเเรงงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาตัวเอง ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่มุ่งเน้นให้แรงงานทุกคนได้มีการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีฝีมือเป็นไปตามมาตรฐาน พร้อมก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0
 
“ประการสำคัญจะได้รับอัตราค่าจ้างที่สูงตามมาตรฐานฝีมือเเรงงาน ซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้เเล้ว 55 สาขาอาชีพ จากเดิมกำหนดไว้ 35 สาขา ในปี 2559 ได้ประกาศเพิ่มอีก 20 สาขา และในปี 2560 จะประกาศเพิ่มเติมอีกหลายสาขา ทั้งนี้อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือสูงสุดอยู่ที่ 815 บาทต่อวันในสาขานักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวมสปาตะวันตก (โภชนบำบัด) ระดับ2 ในส่วนของอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมืออัตราต่ำสุดอยู่ที่ 340 บาทต่อวัน อาทิช่างค่าบำรุงรักษารถยนต์ระดับ 1 เป็นต้น" นายธีรพล กล่าว
 
นายธีรพล กล่าวอีกว่า นอกจากนั้นนายจ้าง หรือ สถานประกอบกิจการต่างๆจะได้เเรงงานที่มีคุณภาพสามาร ถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เเละ สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภาพสินค้าได้อย่างดียิ่ง ประการสำคัญผู้บริโภคจะได้สินค้าที่ได้มาตรฐานจากคนทำงานที่มีมาตรฐานฝีมือเเรงงานด้วย
 
นายธีรพล กล่าวต่อไปว่า ดังนั้นเพื่อเป็นการพัฒนากำลังคนให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเเรงงาน จึงได้จัดทำโครงการ “ เเรงงานติดดาว ” ขึ้น เพื่อกระตุ้นจูงใจให้คนทำงานทุกคนเข้าสู่กระบวนการทดสอบมาตรฐานฝีมือเเรงงานแห่งชาติ ซึ่งนอกจากนายจ้างได้เเรงงานคุณภาพลูกจ้างได้ค่าจ้างที่เหมาะสมเเล้ว ผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแห่งชาติ ทุกคนจะได้มีการติดดาวเป็นสัญลักษณ์ว่าได้ผ่านการทดสอบที่ได้มาตรฐานเเล้วด้วย
 
"โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับ 1 หนึ่งดาว เป็นผู้มีฝีมือความรู้พื้นฐานในการทำงาน ปฏิบัติงานภายใต้คำแนะนำของหัวหน้างาน ระดับ 2 สองดาว เป็นผู้ที่มีฝีมือระดับกลาง มีความรู้ความสามารถทักษะการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ได้ดี และมีประสบการณ์ในการทำงาน สามารถให้คำเเนะนำผู้ใต้บังคับบัญชาได้ และระดับ 3 จะมีสามดาว มีฝีมือระดับสูงสามารถวิเคราะห์ ตัดสินใจแก้ปัญหา นำความรู้เเละทักษะมาประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีได้ ซึ่งจะติดแสดงให้เห็นชัดเจนบริเวณอกเสื้อที่สวมใส่ระหว่างปฏิบัติงาน เพื่อเเสดงให้ผู้ใช้บริการได้รับรู้รับทราบว่าผู้ให้บริการผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือเเรงงานระดับใด พร้อมกับมอบบัตรเเสดงตัวและเอกสารรับรอง เพื่อใช้ประโยชน์ในการสมัครงานทั้งในเเละต่างประเทศ เพิ่มโอกาศในการมีงานทำ สร้างความเชื่อมั่นให้กับนายจ้าง" อธิบดี กพร.กล่าว
 
ทั้งนี้ประชาชนสามารถทดสอบได้ที่ สถานบันพัฒนาฝีมือเเรงงาน ศูนย์พัฒนาฝีมือเเรงงานทั่วประเทศหรือศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือเเรงงานที่ได้รับอนุญาติจากกรมพัฒนาฝีมือเเรงงาน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม 0 224-5 4035
 
 
ลูกจ้างรัฐวิสากิจเฮ ครม.ขึ้นเงินเดือน 2% ย้อนหลังถึง 1 ธ.ค.57
 
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบการปรับค่าจ้างของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ซึ่งเป็นไปตามมติคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยให้ปรับอัตราค่าจ้างสำหรับลูกจ้างที่มีเงินเดือนไม่เกิน 43,890 บาท ขึ้นไม่เกิน 2% หรือแบบขั้นไม่เกิน 0.5 ขั้น โดยให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2557 ซึ่งจำนวนลูกจ้างรัฐวิสาหกิจทั้ง 64 แห่ง มีจำนวนรวมกันประมาณ 300,000 ราย ในส่วนนี้เป็นผู้ที่มีเงินเดือนต่ำกว่า 43,890 บาทจำนวน 190,000 ราย ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับเงินเดือนของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้รับการอนุมัติปรับขึ้นเงินเดือนไปตั้งแต่เดือนธ.ค.2557 และเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการช่วยเหลือบุคลากรภาครัฐชั้นผู้น้อยให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
 
นอกจากนี้ครม.ยังได้อนุมัติการยกเว้นภาษีสำหรับการโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปออมต่อเนื่องในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ(อาร์เอ็มเอฟ) ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2559 ซึ่งจะเป็นการช่วยส่งเสริมการออมเพื่อการเกษียณอายุอย่างต่อเนื่องผ่านระบบผ่านระบบกองทุน รวมทั้งช่วยเพิ่มทางเลือกแก่ผู้ออมให้ได้รับผลตอบแทนจากการออมเพิ่มขึ้น สร้างหลักประกันและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมให้แก่ผู้สูงอายุ และช่วยลดภาระงบประมาณของรัฐบาลในการดูแลผู้สูงอายุในอนาคต โดยเฉพาะเมื่อประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จะไม่ทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ
 
 
เลิกจ้างพนักงานราชการของกรมพลศึกษาจำนวน 33 คน
 
จากการที่พนักงานราชการของกรมพลศึกษาจำนวน 33 คน ถูกคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) แจ้งยกเลิกการว่าจ้างจากเดิม 35 คน เหลือเพียงแค่ 2 คน ทำให้มีคนต้องตกงานทันทีจำนวน 33 คน โดยพนักงานที่กำลังถูกเลิกจ้างงานได้รับความเดือดร้อนและร้องขอความเป็นธรรมแก่ผู้บริหารเพื่อหาทางออกที่เหมาะที่ควรไม่ให้เดือดร้อนทุกฝ่าย ล่าสุดนายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้สรุปข้อสั่งการออกมา 7 ข้อหลังจากเรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายดังนี้
 
ข้อ 1.ให้ทุกหน่วยงานส่งผลการประเมินให้กองกลาง สป.กก. 2.กำหนดเกณฑ์พิจารณาให้เป็นมาตรฐาน เป็นธรรม โปร่งใส 3.ตั้งคณะกรรมการกลางคนนอกเข้ามาร่วมพิจารณาให้เสร็จภายในวันที่ 15 ต.ค. 4.คนที่ไม่ผ่านเกณฑ์ให้รับสิทธิจ้างต่อในฐานะลูกจ้าง 6 เดือน จะมีการพิจารณาช่วยเหลือเงินเดือนเพิ่มเติม หลังจาก 6 เดือนแล้ว ทางหน่วยงานต้องพิจารณาหาแนวทางช่วยเหลือต่อไป กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาไม่มีนโยบายทิ้งใคร 5.ยื่นขออัตรากำลังเพิ่ม ก.พ.ร 6.ให้ทุกหน่วยงานสรุปปัญหาเรื่องนี้ส่งภายในวันที่ 15 ต.ค. เพื่อเป็นบทเรียนป้องกันปัญหาในอนาคต และ 7.หาวิธีทางแก้ไขปัญหาอื่นๆ เพิ่มเติม
 
จาก 7 ข้อที่ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาร่วมแถลง ผลปรากฏว่าพนักงานข้าราชการกรมพลศึกษาทั้ง 33 คนต่างตั้งคำถามว่า ความมั่นใจมีมากแค่ไหน และอยากให้คำแถลงทั้ง 7 ข้อผู้รับนโยบายได้ปฏิบัติตามที่สรุปเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ รวมถึงเป็นการการันตีว่าพนักงานข้าราชการทั้ง 33 คนจะไม่ถูกลอยแพ ส่วนคำตอบในวันที่ 15 ต.ค. ทุกคนตั้งความหวังว่าจะเป็นข่าวดี พร้อมกับเชื่อว่าปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะดูแลไม่ให้คนหนึ่งคนใดได้รับความเดือดร้อนตามที่สรุปไว้ในข้อที่ 4 อีกด้วย
 
 
เหมืองแร่ทองคำอัครา จ.พิจิตร นับถอยหลัง 87 วัน ปิดกิจการ ทยอยปลดพนักงานแล้วกว่า 100 คน
 
นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการทั่วไปบริษัท อัครารีซอร์สเซส จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลเขาเจ็ดลูกอำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร เปิดเผยว่า เหลือเวลาอีกแค่ 87 วัน ก็จะถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559 ซึ่งเหมืองทองจะต้องปิดกิจการตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี ที่ได้ใช้เหตุผลว่า เกิดความแตกแยกในชุมชนและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงสุขภาพของประชาชน ทั้งที่ผลทางวิทยาศาสตร์ ยังไม่มีหน่วยงานใดออกมายืนยันชัดเจน แต่เมื่อเป็นคำสั่งของนายกรัฐมนตรี ก็ต้องจำยอมปฏิบัติตาม ล่าสุดขณะนี้ได้ทำการปลดพนักงานออกจากงานแล้วกว่า 100 คน พร้อมจ่ายเงินชดเชยให้ตามกฎหมายแรงงานส่วนพนักงานที่เหลืออีกเกือบ 1,000 คน หลังสิ้นปีนี้ก็คงจะต้องยอมรับสภาพตกงานต่อไปด้วยเช่นกัน ในส่วนของพนักงาน ที่ถูกปลดออกและได้รับเงินชดเชย ส่วนใหญ่พึงพอใจที่จะได้เงินก้อนนำไปลงทุนทำการเกษตรหรือนำไปลงทุนค้าขาย แต่ก็ยังมีบางคนที่ยังอยู่ในวัยทำงานต่างเป็นห่วงว่า เงินที่ได้มาไม่ช้าจะหมดไปหากไม่มีงานทำ จึงต้องออกตระเวนหางาน โดยได้เดินทางไปที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด แต่พบว่าตำแหน่งงานว่างส่วนใหญ่ อยู่ในจังหวัดใกล้เคียง ทำให้อาจต้องละทิ้งครอบครัว แตกต่างกับการทำงานที่เมืองทองอัครา ซึ่งอยู่ใกล้บ้านและได้ค่าตอบแทนสูง สำหรับพนักงานที่ถูกปลดออกชุดแรกนี้ ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า งานที่กระทรวงแรงงานหาไว้ให้ส่วนใหญ่เป็นโรงงานเย็บผ้า งานประกอบชิ้นส่วนเครื่องยนต์ ซึ่งไม่ตรงกับความสามารถของพนักงานที่ถูกปลดออก จึงทำให้หลายคนเริ่มเครียดว่าต่อจากนี้จะทำเช่นไร บางคนถึงกับประกาศขายบ้าน และรถที่ยังผ่อนอยู่ เพราะถูกปลดออกจากงานดังกล่าว
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท