40 ปีผ่าน เจอข้อมูลใหม่ 6 ตุลา! คนถูกแขวนคอสนามหลวงมีมากกว่า 2 คน

ภัทรภร ภู่ทอง นักวิจัยและทีมค้นคว้าภาพ-หลักฐานชันสูตรผู้เสียชีวิต พบข้อมูลขาดอีกมาก พร้อมโชว์ภาพผู้ถูกแขวนคอมีอย่างน้อย 4-5 ราย ‘คนเดือนตุลา’ อึ้ง ไม่ทราบมาก่อน ธงชัย วินิจจะกูล ย้ำรายละเอียดสำคัญต้องคืนความเป็นมนุษย์ให้คนตาย เตรียมเปิดโครงการแหล่งข้อมูล 6 ตุลารับเบาะแสวัถตุดิบทุกประเภท

บันทึกการเสวนาในครั้งนี้

คำเตือน ด้านล่างมีภาพผู้เสียชีวิตที่อาจทำให้ผู้อ่านไม่สบายใจ

ในวาระ 40 ปีเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา มีการจัดงานเสวนา “ความรู้และควาความไม่รู้ว่าด้วย 6 ตุลา 2519” ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิทยากรประกอบด้วย สุรชาติ บำรุงสุข คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ, ภัทรภร ภู่ทอง นักวิจัยและผู้สร้างหนัง Silence-Memories และ Respectfully Yours, ธงชัย วินิจจะกูล จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดินสัน และสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดำเนินรายการโดย พวงทอง ภวัครพันธุ์

พวงทอง กล่าวถึงการจัดงานในครั้งนี้ว่า แม้เราจะจัดงานรำลึกกันมา 40 ปีแล้วแต่กลับมีเหตุการณ์อีกมากมายที่เราไม่รู้ โดยส่วนตัวมี 2 เหตุการณ์ที่รู้สึกตกใจ เรื่องแรกกรณีการเสียชีวิตของจารุพงษ์ ทองสินธุ์ ซึ่งครอบครัวไม่ทราบเรื่องและใช้เวลา 20 ปีในการตามหา เรื่องที่สองเกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล บอกว่ามีคนถูกแขวนคอมากกว่า 1 คน อย่างน้อย 2 คนแน่ๆ หรืออาจมากกว่านั้น

“ดิฉันฟังแล้วตกใจ เพราะส่วนตัวสนใจและสอนเรื่องความรุนแรง ให้ความสนใจกับรายละเอียด แต่พอเรื่องใกล้ตัวขนาดนี้ เป็นเรื่องพื้นฐานที่เราน่าจะรู้กันมาตั้งนานแล้ว ทำไมเราไม่รู้ ประกอบกับช่วงที่ผ่านมาได้คุยกับคุณภัทรภร ที่ทำหนัง Silence Memories เรื่องรายละเอียดผู้เสียชีวิตพบว่า มีข้อมูลเยอะเลยเป็นเรื่องพื้นฐานที่เราไม่รู้ จึงคิดว่าเราน่าจะคุยเรื่องนี้ให้ชัดเจน ความไม่รู้ด้านหนึ่งสะท้อนปัญหาอะไรของสังคมไทย ขณะเดียวกันในการรำลึกเหตุการณ์ความรุนแรง ถ้าเรานึกถึงเหยื่อ การให้เกียรติ ให้ความเคารพยกย่อง เราละเลยเรื่องผู้เสียชีวิตไม่ได้ว่าเขาเป็นใคร” พวงทองกล่าว

พวงทองกล่าวว่า นอกจากนี้ความรู้เกี่ยวกับผู้ใช้ความรุนแรงก็มีจำกัด เราอาจได้ยินชื่อ กระทิงแดง นวพล คนเหล่านี้เกี่ยวข้องกันอย่างไร นอกจากตำรวจตระเวนชายแดนที่มาในวันนั้น ใครเป็นคนสั่งการ ดูเหมือนไม่มีใครทำวิจัยหรือคุยกันจริงจัง

คลิปเหตุการณ์ 6 ตุลา โดยนาทีที่ 25 เป็นต้นไปจะเห็นภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้นที่บริเวณสนามหลวง

ภัทรภร ภู่ทอง: เมื่อคนอีกรุ่นพบว่า 6 ตุลายังขาดข้อมูลรายละเอียดอีกมาก

ภัทรภร ภู่ทอง นักวิจัยอิสระและผู้สร้างสารคดีเกี่ยวกับ 6 ตุลา กล่าวว่า เธอเพิ่งเริ่มศึกษาเรื่อง 6 ตุลาเมื่อ 4 ปีที่แล้วและพบเจอคำถามสำคัญเมื่อศึกษาเรื่องนี้ 4 คำถามจากคนรอบตัว 1. เพื่อนสื่อมวลชนคนหนึ่งถามว่าจะทำเรื่อง 6 ตุลาไปทำไม ในเมื่อเรารู้ทุกอย่างหมดแล้ว 2.คำถามจากครอบครัวผู้เสียชีวิตถามว่า ผ่านมา 40 ปีทำไมเพิ่งติดต่อมา 3.นักข่าวจากเอพีซึ่งช่วยงานนี้ ดูรูปด้วยกันแล้วตั้งข้อสังเกตว่า ใครคือคนที่ยกเก้าอี้ฟาดศพ ชายดังกล่าวปรากฏในหลายภาพ น่าแปลกที่ไม่มีใครสงสัยหรือตามหา 4.ผู้ร่วมงานรุ่นน้องสงสัยว่า เหตุใด 6 ตุลายังเป็นประเด็นอ่อนไหวขนาดนี้แม้ผ่านไป 40 ปี

“argument หลักในการศึกษาคือ เสียงขอพวกเหยื่อ ครอบครัวและผู้คนในภาพถ่ายมีความหมายอย่างไร เราคิดว่าเสียงของครอบครัว ของเหยื่อ ของคนตัวเล็กตัวน้อย เป็นเหมือนจิ๊กซอว์ที่เมื่อประกอบเข้าด้วยกัน จะเห็นเหตุการณ์ก่อนหน้า วันนั้น และหลังจากนั้น ทั้งความกลัว ความรุนแรง ความ ignorance ของสังคมไทย” ภัทรภรกล่าว

ภาพรวมผู้เสียชีวิตเหตุการณ์ 6 ตุลา

ภัทรภรให้ภาพรวมการเสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าวโดยข้อมูลหลักได้มากจากไฟล์ชันสูตรพลิกศพของแพทย์ พบว่า

-มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 46 คน เป็นนักศึกษา ประชาชน 41 คน เจ้าหน้าที่รัฐ 5 คน

-เป็นชายไทยทราบชื่อ 30 คน เป็นชายไทยไม่ทราบชื่อ 3 คน หญิงไทยทราบชื่อ 4 คน ศพที่ถูกเผาและไม่ทราบเพศแน่ชัดอีก 4 คน

“ไม่มีการพูดถึงชาวเวียดนามแต่อย่างใด”ภัทรภรกล่าว

-อายุต่ำสุดคือนายอภิสิทธิ ไทยนิยม อายุ  17 ปี 

“เราพยายามสืบหาว่าคือใคร แต่ยังหาไม่พบ ทราบเพียงว่ามาจากจันทบุรี” ภัทรภรกล่าว

-สถาบันการศึกษาของผู้เสียชีวิต คือ รามคำแหง ธรรมศาสตร์ จุฬาฯ มหิดล ม.กรุงเทพ โรงเรียนเพาะช่าง

“นักศึกษามหิดลและราม ส่วนใหญ่ทำหน้าที่เป็นการ์ด ดูแลความปลอดภัยให้เพื่อน”ภัทรภรกล่าว

-ภูมิลำเนาของผู้เสียชีวิต พบว่ามาจากทุกภาคยกเว้นภาคตะวันตก และภาคใต้เยอะที่สุด

-สาเหตุ ถูกระเบิด กระสุนปืน จมน้ำ ถูกแทง ถูกรัดคอ

-สถานที่พบศพ แม่น้ำ 2 คน (พบที่ท่าสวัสดิการทหารเรือวันที่ 7 ต.ค.) ส่วนใหญ่พบที่รพ.ตำรวจ

“รู้สึกแปลกประหลาดมากที่ระบุแบบนั้น แทนที่จะบอกว่าพบที่สนามหลวงหรือตรงไหน”  

-การจัดการศพ ส่วนใหญ่มอบคืนให้ญาติ และมีการระบุด้วยว่า จัดการตามประเพณี
“การจัดการตามประเพณีหมายความว่ายังไง แปลว่ามีส่วนที่ญาติไม่ได้มารับไปใช่ไหม”  

ภัทรภรกล่าวว่า ในการทำภาพยนตร์และเก็บข้อมูลจากญาติผู้เสียชีวิตนั้นเธอสามารถติดต่อได้ทั้งหมด 10 ครอบครัว สิ่งที่พวกเขาเผชิญ พบว่า ส่วนใหญ่ผู้เสียชีวิตเป็นลูกชายคนแรก หรือลูกคนเดียวของครอบครัว เป็นคนที่มีโอกาสดีที่สุดของครอบครัว ยกตัวอย่าง อับดุลรอเฮง สาตา คณะสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล อีก 6 เดือนเขาจะเรียนจบแล้วจะกลับไปทำงานที่บ้านเกิดจังหวัดนราธิวาส เขามาจากครอบครัวยากจนมาก มีพี่น้อง 4 คน ทุกคนเรียนศาสนาหมด มีเขาเรียนสายสามัญคนเดียว และเป็นคนเดียวในตำบลที่มาเรียนในมหาวิทยาลัยของรัฐ เมื่อเสียชีวิตครอบครัวเดินทางมาไม่ทันการทำพิธีทางศาสนาอิสลาม หลังจากนั้นจนถึงทุกวันนี้ ครอบครัวแทบไม่พูดถึงกรณีนี้อีกเลย ทุกวันนี้เขาเองยังกังวลและหวาดกลัว ทางครอบครัวขอเวลาในการทำความคุ้นเคยและให้ข้อมูล เขากังวลว่าถ้าให้ข้อมูลจะทำให้เขาเดือดร้อนไหม อีกรายหนึ่งเราไปสัมภาษณ์ เขายินดี แต่อีกไม่กี่วันเขากลับโทรมาขอว่าเป็นไปได้ไหมที่จะไม่เผยแพร่คำให้สัมภาษณ์ เพราะกลัวมากว่าจะเกิดอะไรกับครอบครัว บางครอบครัวโกรธเกรี้ยว ห่างเหินเย็นชาดูจากบทสนทนาที่มีต่อกัน อยากตีความว่า เขาไม่เห็นประโยชน์หรือความหมายของการให้ข้อมูล เขาตระหนักเหมือนที่เราส่วนใหญ่ก็ตระหนักว่าข้อมูลเหล่านี้ไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไร ไม่นำสู่ความยุติธรรม การเยียวยา

“คุณไม่รู้หรอกว่าครอบครัวเราเจออะไรมาบ้าง เราเจอมามากพอแล้ว” บางครอบครัวบอกกับภัทรภรเช่นนี้ แต่ก็มีบางครอบครัวพูดชัดเจนมากกว่า “เราต้องการความจริง เราต้องการความยุติธรรม”

เกิดอะไรขึ้นที่สนามหลวงในเช้าวันนั้น มีกี่คนถูกแขวนคอ?

ในส่วนนี้ภัทรภรนำเสนอภาพเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จำนวนหนึ่งซึ่งเป็นภาพใหม่ที่ไม่เคยเผยแพร่มาก่อน โดยเธอระบุว่า ภาพรูปคนถูกแขวนคอและถูกฟาดด้วยเก้าอี้ซึ่งถ่ายโดย Neal Ulevich ช่างภาพสำนักข่าว AP และได้รับรางวัลพูลิตเซอร์นั้น ผู้คนคิดว่าเป็น วิชิตชัย อมรกุล แต่อันที่จริงเรายังไม่รู้ว่าเขาชื่ออะไร ส่วนวิชิตชัยนั้นถูกแขวนคอและปรากฏในอีกภาพหนึ่ง เขาถูกแทง ถูกทุบตี และแขวนคอ ในส่วนนี้พวงทองเสริมว่า ดูจากภาพการเสียชีวิตที่ลิ้นจุกปากคาดว่าน่าจะเสียชีวิตจากการถูกแขวนคอ

นอกจากสองคนดังกล่าว ภัทรภรยังนำเสนอชุดภาพจากผู้ไม่ประสงค์ออกนาม ปรากฏชายใส่เสื้อลายดอกที่อยู่ในรถซึ่งขับมาที่สนามหลวง จากนั้นเขาถูกฝูงชนลากออกมา ถูกจับใส่กุญแจมือ ถูกรุมทำร้าย แล้วถึงถูกนำไปแขวนคอ ดูจากภาพแล้วเขาน่าจะไม่ใช่นักศึกษาและมีอายุมากกว่า 30 ปี จากการสืบค้นในไฟล์ชันสูตรทางการแพทย์พบว่าเขาคือ นายปรีชา แซ่เฮีย สูง 170 ซม.โดยในไฟล์ชันสูตรของแพทย์นั้นระบุชัดเจนเรื่องเสื้อผ้าซึ่งตรงกับภาพที่ถูกลากจากรถมารุมทำร้ายและถูกแขวนคอในที่สุด

ภาพบนซ้ายมือ: ภาพจาก AP, ชายไม่ทราบชื่อ
ภาพบนขวามือ:  ภาพจาก AP, ชายไม่ทราบชื่อ
ภาพล่างซ้ายมือ: ภาพจากสมาคมนักข่าว?,  วิชิตชัย อมรกุล นิสิตจุฬาฯ
ภาพล่างขวามือ: ภาพจากบุคคลนิรนาม เผยแพร่ใน www.2519.net, ผู้วิจัยระบุว่าเขาคือ ปรีชา แซ่เฮีย
(ที่มา: สไลด์ของภัทรภร ภู่ทอง) 

 

ภาพบุคคลที่ภัทรภรระบุว่า น่าจะเป็นรายที่ 5 ที่ถูกแขวนคอ
(ที่มา: สไลด์ของภัทรภร ภู่ทอง)

ธงชัยกล่าวเสริมว่า  หลายคนเห็นภาพเหล่านี้แล้ว แต่ด้วยความสะเพร่าของพวกเราเองรวมถึงตัวเขาด้วยด้วยทำให้ไม่ทันได้สังเกตว่ามีกี่คนถูกแขวน ทั้งที่พยายามสืบค้น แต่ด้วยข้อจำกัดที่เขาเองไม่เคยดูรูปและคลิปวิดีโอใดๆ จบเลย จนเมื่อปี 2011 จึงพบว่ามีคนถูกแขวนคอ 2 รายก็เชื่อว่ามีเพียงเท่านั้น แต่เมื่อดูภาพทั้งหมดในครั้งนี้แล้วทำให้มั่นใจว่ามีคนถูกแขวนคออย่างน้อย 4 ราย และท้ายที่สุดกลายเป็นว่าคนที่ถูกเก้าอี้ฟาดที่คนเข้าใจว่าเป็นวิชิตชัย ที่จริงแล้วเราไม่รู้เลยว่าเขาคือใครและศพเขาอยู่ที่ไหน

ภัทรภรกล่าวว่า นอกจากนี้ในรูปความรุนแรงที่ทำกับผู้เสียชีวิตในหลายๆ รูปท่ามกลางมวลชนที่รายล้อม พบว่า ชายที่ใช้เก้าอี้ฟาดผู้เสียชีวิตที่ถูกแขวนที่สนามหลวงนั้นเป็นผู้ที่ปรากฏตัวในหลายภาพ แต่ยังไม่มีใครทราบว่าเขาเป็นใคร โดยส่วนตัวอยากเจอเขาคนนี้อย่างยิ่ง ไม่ได้จะตัดสิน แต่อยากถามถึงประสบการณ์ความคิดความรู้สึกของเขาในขณะนั้นและขณะนี้ ส่วนภาพผู้หญิงเปลือยกายที่ร่างวางลงพื้น ไม่ปรากฏข้อมูลในไฟล์ชันสูตร ทำให้ไม่แน่ใจว่าถูกเผาหรือไม่

ภัทรภรกล่าวว่า ข้อสังเกตต่อฟุตเทจและภาพเก่าที่ค้นคว้าพบว่า มีการนำภาพ 6 ตุลามาใช้ซ้ำมากในสื่อต่างๆ แต่มีผู้จัดทำไม่กี่รายที่ระบุแหล่งที่มาหรือเจ้าของภาพ ซึ่งมีความสำคัญมาก นอกจากเป็นการให้เกียรติเจ้าของงานแล้ว ยิ่งกว่านั้นคือสายตาของช่างภาพหลังเลนส์ วินาทีที่บันทึกเห็นอะไรบ้างที่มากกว่าภาพตรงหน้า มีเรื่องมากมายที่ไม่ได้บันทึกในความทรงจำของเขา

ธงชัย วินิจจะกูล: เมื่อเขาถูก dehumanized เราจะ re-humanized
คืนความเป็นมนุษย์ให้พวกเขา 

ธงชัยกล่าวว่า นอกจากเขาที่ศึกษาเรื่องนี้ ยังมีธนาพล อิ๋วสกุล บก.ฟ้าเดียวกันที่ค้นพบเอกสารจำนวนมาก การมีคนอยู่จำนวนน้อยที่เกาะติดเรื่องนี้หรือการที่มีเขาคนเดียวศึกษาราวกับเป็นเจ้าเข้าเจ้าของมากเกินไปก็มีข้อเสีย

“ผมดื้อกับคุณอ้อ (ภัทรภร) อยู่นาน พอเขื่อนแตกปุ๊บ (มีคนถูกแขวนคอ) 4-5 คนผมรับไม่ได้ และข้อมูลหลายอย่างไม่ใช่เรื่องลึกลับ มันหาได้” ธงชัยกล่าว 

เขากล่าวว่า คำถามสำคัญคือ เราสนใจรายละเอียดเหล่านี้ทำไม ตัวเขานั้นอยู่ใน 2 สถานะ คือ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ และอีกสถานะหนึ่งคือ ผู้ร่วมเหตุการณ์ ทำให้รู้สึกมีความรับผิดชอบอะไรบางอย่าง อันที่จริงข้อมูลรายละเอียดขนาดนี้ไม่มีความหมายเท่าไรสำหรับนักประวัติศาสตร์ จะแขวนคอ 2 คนหรือ 4 คนภาพใหญ่หรือบทเรียนทางประวัตติศาสตร์ก็ได้เปลี่ยนในฐานะนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ แต่ในฐานะคนผ่านเหตุการณ์มันมีความหมาย

“พวกเราทุกคนผ่านเหตุการณ์ทั้งนั้น ทำไมผมพูดแบบนี้ วันที่ 6 ตุลานี้ผมจะเฉลย (ในปาฐกถาที่หอประชุมมธ.-ประชาไท) เราไม่สามารถเป็นเราในวันนี้ได้ มีอณูบางอณูของชีวิตเราเกี่ยวข้องกับคนที่ตายไปทั้งนั้น” ธงชัยกล่าว

ธงชัยกล่าวต่อว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับข้อสรุปทางวิชาการ แต่มันเกี่ยวข้องตรงที่พวกเขาเหล่านั้นถูก dehumanized (ถูกทำให้ไม่เป็นมนุษย์) การให้ความเคารพกับคนตายเหล่านั้น เราต้อง re-humanized (คืนความเป็นมนุษย์) ให้พวกเขาเหล่านั้น ทำให้กลับคืนความมนุษย์ทีละคน ทุกคนเท่าที่เราจะทำได้

“นี่คือจุดประสงค์ของการตามหารายละเอียดเหล่านี้ทั้งหมด ไม่ว่าจะโหดเหี้ยมอย่างไร เราต้องให้ข้อมูล เราต้องบันทึกไว้ ให้ครอบครัวได้รับรู้ แม้ว่าแต่ละรายจะอยากรู้หรือเปล่า ทำให้ได้มากที่สุด นี่เป็นวิธีเดียวที่เราจะสู้ ถึงที่สุดในเมื่อเขาดีฮิวแมนไนซ์ เราต้องคืนความเป็นมนุษย์ให้แก่ทุกๆ ราย แล้ววันไหนก็แล้วแต่ที่ครอบครัวยินดีจะค้นข้อมูลเขาควรมีสิทธิจะได้รับรู้ ผมมีหลักแค่นี้  เราจะคืนรายละเอียดทุกยอย่างให้กับชีวิตเขา” ธงชัยกล่าวด้วยเสียงสั่นเครือ

ธงชัยกล่าวต่อว่า คำถามต่อมาคือ ทำไม 40 ปีเราถึงเพิ่งมาทำ เขาคิดว่าทุกคนควรทำเท่าที่ทำได้ ควรทำตั้งนานแล้ว แต่เรื่องนี้ไม่มีวันสายเกินไป แม้จะน่าเสียดายที่เราพยายามน้อยไป ทั้งที่มีข้อมูลพอสมควร

ธงชัยยังกล่าวถึง “ฝ่ายขวา” ในเหตุการณ์ 6 ตุลาด้วยว่า เรื่องนี้พอเห็นเค้าลาง มีมูลให้สืบค้นได้ แต่เขาทำเองไม่ไหว ไม่มีความสามารถเพียงพอ และที่สำคัญคือไม่อยากทำด้วย

“ถึงตอนนี้ผมทำใจได้แล้ว ผมคุยกับกระทิงแดงได้แต่ผมไม่ต้องการคุยกับเขาอีก ไม่ใช่โกรธแค้น แต่ไม่จำเป็นไม่อยากเจออีก คนอื่นถ้ามีแรงกรุณาช่วย มันมีมูลซึ่งทำได้ มีเหตุที่ผมแฝงไว้ในหนังสือของผม ที่ต้องเขียนแฝงๆ ไว้เพราะมันไม่ชัด มีสองประเด็น หนึ่ง นวพล คนเชื่อมาตลอดว่าเป็นองค์กรใหญ๋โตมีพลังมาก ผมไม่แน่ใจ อาจเป็นองค์กรเสือกระดาษ คล้ายๆ แนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติตอนนั้นซึ่งมีสมาชิก 1 คน แต่ผมไม่กล้าเขียน ไม่ใช่กลัว แต่เพราะข้อมูลมันลางเลือน เจอแต่การประกาศตัวแต่ตามรอยไม่เจอ ประเด็นที่สอง สำคัญกว่ามาก ด้านหนึ่งเห็นกระทิงแดง พล.อ.สุดสาย รู้ขนาดว่าได้รับเงินส่วนหนึ่งจาก กอ.รมน.และบางส่วนจาก อนุสรณ์ ทรัพย์มนู เจ้าของนมตรามะลิ เฉลียว อยู่วิทยา เจ้าของกระทิงแดง เราเชื่อกันว่า กระทิงแดงก่อการเช้าวันนั้น ผมไม่ได้จะทำให้เขาพ้นผิด เขาปาระเบิดตอนเช้า ใช่ และเขายอมรับด้วย แต่เขาให้การตรงกันหลายคนว่า เหตุการณ์เช้าวันนั้นเขาก็คาดไม่ถึง มันนอกสั่ง คำสั่งที่เขาได้รับมันไม่มี และพล.อ.สุดสายก็สั่งถอย กระทิงแดงเป็นกลุ่มฝ่ายขวาที่ใช้ความรุนแรงแต่จัดตั้งดีพอควรจึงสั่งได้ กลุ่มฝ่ายขวาจำนวนหนึ่งจัดตั้งห่วยหรือตั้งใจจัดตั้งห่วย ขอเรียกว่า ฝ่ายขวากเฬวราก พวกนี้เขาอวด เขาโม้ ว่าเขาต่างหากเป็นคนทำ พวกนี้ต่อมาในปี 2524 ตั้งชื่อกลุ่มว่า อภิรักษ์จักรี แต่ตอนนั้น (2519) ยังไม่มีชื่อกลุ่มชัดๆ ผมไม่ได้ต้องการให้ใครพ้นผิดแต่มันเป็นเบาะแสว่า มันมีช่องทาง นอกจากพวกนี้ยังมีกลุ่มที่สามพวกชุมนุมที่ลานพระบรมรูปฯ ชมรมแม่บ้าน ลูกเสือชาวบ้าน อะไรทั้งหลายที่ชุมนุมต้านพวกเรา ขบวนการพวกนี้ไม่ใช้ความรุนแรง  สามสายนี้ ข้างบนคือ กอ.รมน. ใครที่เป็นตัวการในการจัดตั้งฝ่ายขวาทำให้เกิด กอ.รมน.ในสมัยนั้น ผมไม่ได้ระบุชื่อ แต่ระบุร่องรอยที่จะรู้จักคนนั้นได้ในหนังสือผม (ชื่อหนังสือ 6 ตุลา ลืมไม่ได้ จำไม่ลง-ประชาไท)”  

ธงชัยกล่าวด้วยว่า สำหรับความยากลำบากในการเก็บข้อมูลกับญาติผู้ตายนั้นเป็นเรื่องเข้าใจได้ ลองนึกดูว่าเคยมีคณะกรรมการญาติวีรชนหกตุลาไหม  ที่ไม่มีก็เพราะไม่มีใครเรียก 6 ตุลาว่าวีรชน และญาติทั้งหลายเขาไม่มีการรวมตัวกัน เขาไม่อยากจะเผยตัวด้วยซ้ำ

“อาชญากรรของรัฐทุกครั้งเลวระยำทั้งสิ้น แต่ด้วยหลายปัจจัย 14 ตุลาและพฤษภา 35 อยู่ในสถานะจะรับได้บ้าง มีพิธีต่างๆ เป็นรัฐพิธี แต่ 6 ตุลาไม่มี ไม่ได้แปลว่า 6 ตุลามีศักดิ์ศรีดีกว่าหรือแย่กว่า แต่จัดการกับเรื่องเหล่านี้ไม่เหมือนกัน เวลาคุยกับญาติ แต่พูดทำนองเดียวกัน คือ เรื่องหกตุลาเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ละเอียดอ่อนแปลว่าอะไร ไม่ได้อยากจะทึกทักว่าทุกคนรู้ว่าอะไรเป็นอะไรแต่ไม่กล้าพูด แต่มันมีอะไรบางอย่างที่เกินกว่าที่เขาจะพูด อะไรบางอย่างนั้นเขาอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคืออะไร แต่มีเซนส์บางอย่าง อย่าแตะเรื่องนั้นหรือเรื่องนี้  เขาจะระวังตัวไม่อยากเดือดร้อน ตะหงิดๆ บางอย่างและไม่รู้เสียดีกว่า 6 ตุลาจึงยังเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ตอนรำลึก 20 ปี 6 ตุลา สิ่งที่เราทำสำเร็จคือ สามารถออกมาพูดอย่างเปิดเผย พูดว่ามีการฆ่าอย่างโหดร้าย แต่พวกเรากรุณาตระหนักว่า มันมีเพดานอยู่เยอะมาก มีการสังหารโหดอัปลักษณ์ โหดเหี้ยม ฟูลสต็อป เราพูดได้แค่นั้น สังคมไทยอยู่ในภาวะที่อนุญาตให้พูดแค่นั้น” ธงชัยกล่าว

“สุดท้าย ด้วยเหตุนี้ สี่สิบปีสายไปหรือเปล่าไม่ทราบ แต่เราทิ้งมรดกเท่าที่ทำได้ มรดกอันแรกที่อยากทำที่สุด ไม่ใช่เรื่องตามวิเคราะห์สถานการณ์ แต่อยากเก็บข้อมูลเรื่องคนตายกับญาติ เราต้องการคืนความเป็นมนุษย์ให้พวกเขา อาจสำคัญกว่าหนังสือวิเคราะห์เสียอีก เรามีโครงการจะประกาศเร็วๆ นี้ จะจัดตั้ง โครงการแหล่งข้อมูล 6 ตุลา จุดประสงค์เบื้องต้นในปีแรกๆ จะสืบค้นเก็บรวบรวมข้อมูลเรื่องคนตาย ใครมีวัตถุดิบเรื่องเล่าหรือรู้แหล่งข้อมูลติดต่อกับครอบครัวคนเหล่านี้ได้ อย่างน้อยอยากทำทะเบียนว่าข้อมูลอยู่ไหนบ้าง อนาคตถ้าคนอยากจะค้นจะได้รู้ว่าจะค้นที่ไหน ผมเชื่อว่าถ้าเรามีข้อมูลมันไปต่อได้ แม้คนในอนาคตเขาจะค้นด้วยสายตาของอนาคต หรือถามคำถามจากยุคสมัยของเขา อย่าไปผูกให้เขาคิดอย่างที่เราคิด”

“เราไม่ได้จะทำให้หกตุลา sensational ผมเกลียดที่สุด เราแค่ต้องการเอาความจริงให้มากที่สุด เพราะนั่นเป็นวิธีเดียวที่จะเคารพเขาดีที่สุด”  

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ทำไมจึงไม่มีข่าว/ข้อมูลเหตุการณ์ 6 ตุลาหลงเหลือ

สุธาชัยกล่าวว่า เขาก็เหมือนธงชัยและคนอื่นในเหตุการณ์ที่ไม่เคยดูคลิปเหล่านั้นได้ พร้อมกันนี้เขาเล่าย้อนถึงเหตุการณ์ก่อนหน้าเพื่ออธิบายว่าผู้ที่ตั้งคำถามว่าทำไมไม่สลายการชุมนุมตั้งแต่คืนวันที่ 5 ต.ค.หลังจากหนังสือพิมพ์ดาวสยามลงรูปละครแขวนคอแล้วในช่วงเย็นนั้น ถามโดยไม่เข้าใจบริบทในช่วงนั้น แกนนำนักศึกษาประเมินสถานการณ์ว่าถูกป้ายสีรุนแรงและได้เตรียมกำลังนักศึกษาไปเคาะประตูบ้านทำความเข้าใจประชาชนในวันที่ 6 ต.ค. แต่ไม่มีใครประเมินว่าสถานการณ์จะรุนแรงถึงเพียงนั้น

“การตัดสินใจปราบก็เพิ่งตัดสินใจกลางดึกคืนนั้นเอง ตำรวจตระเวนชายแดนเคลื่อนตอนตีสอง ถึงธรรมศาสตร์หกโมงเช้า” สุธาชัยกล่าว  

“เช้าวันขณะเกิดเหตุ ผมไปตามนัดที่มหิดล (ทีมเคาะประตูบ้านประชาชน) แต่ไม่เจอใครเลย ไม่รู้จะทำยังไง มีคนบอกให้ไปที่สนามหลวงก็ไม่กล้าไป เลยแวะไปบ้านเพื่อน และทันได้ดูวิดีโอชุดหนึ่งที่คุณสรรพสิริ วิรยศิริ ทำแล้วออกช่องเก้า ผมตกใจมาก ทำให้ผมตัดสินใจเข้าป่าแน่นอน เหตุการณ์ในวันนั้น ผมเดาไม่ได้ว่าเพื่อนผมกี่คนที่ตาย มันเดาไม่ถูก ไม่ได้สื่อสารสะดวกเหมือนเดี๋ยวนี้ กว่าจะรู้จริงๆ ก็อาทิตย์หรือสองอาทิตย์หลังเหตุการณ์ เราร้องไห้ คิดถึงเพื่อน มันพูดไม่ถูก คลิปชุดนั้นทำให้การเข้าป่าเป็นทางออกทางเดียวที่จะสามารถแก้แค้นแทนเพื่อนได้ นั่นคือการดูครั้งแรก หลังจากนั้นก็เกิดภาวะแบบธงชัยคือดูไม่ได้จริงๆ บางรูปผมได้เห็นครั้งแรก ดังนั้น ความแชเชือนทางหนึ่งมันก็เป็นเรื่องความรู้สึกส่วนตัว มันไม่ได้จริงๆ” สุธาชัยกล่าว

สุธาชัยยังเล่าเหตุการณ์ตอนนั้นอีกว่า สภาพการณ์ขณะนั้นมีการปราบปรามช่วงเช้าตรู่ จากนั้น 19.00 น.เกิดการรัฐประหาร ดังนั้น การปราบนักศึกษาและการรัฐประหารจึงเป็นมรดกชั่ว 2 อย่างของ 6 ตุลา จากนั้นคณะรัฐประหารก็มีคำสั่งไม่ให้สื่อเผยแพร่ข่าวสารใดๆ ทั้งสิ้น เป็นเวลา 2 วัน

“ไม่มีหนังสือพิมพ์ออกในวันที่ 7-8 ตุลา มีแต่สื่อของฝ่ายรัฐเท่านั้น พวกวิทยุและทีวี พอวันที่ 9 ตุลาหนังสือพิมพ์ออกครั้งแรก หนังสือพิมพ์ของฝ่ายซ้ายโดนปิด เหลือแต่พวกกลางๆ  เรียกว่าพอวันที่ 9 ก็แทบไม่เสนอเรื่องนี้แล้ว เสนอเรื่องใหม่ไปเลย เรื่องทั้งหมดมันจบ ฉะนั้นเหตุการณ์นี้จึงไม่มีใครทำข้อมูลอะไรกันเลย แกนนำนักศึกษาจำนวนมากอยู่คุก และอีกมากมายเข้าป่ากัน  พอถึงวันที่จะทำข้อมูลจึงเหลือแต่ของฝ่ายรัฐเป็นหลัก พอผมออกมาจากป่า ธงชัยออกมาจากคุก เรามีภารกิจอื่น เราต้องกลับไปเรียน บรรยากาศสมัยเกรียงศักดิ์แม้จะดีกว่าสมัยธารินท์เยอะแต่ก็ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ยิ่งกว่านั้นคือความพ่ายแพ้ของ พคท.ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งของชีวิตขบวนนักศึกษา ฉะนั้น ปี 2539 จึงเป็นปีสำคัญ ข้อมูลก่อนหน้านี้มีน้อยมาก ชุดแรกเป็นข้อมูล propaganda ที่จะเอาเรื่องหกตุลาไปโฆษณาปลุกเร้าการปฏิวัติของ พคท. และธงชัย (วินิจจะกูล) เป็นคนสำคัญที่ทำให้เกิดงานปี 2539 จัดกันยิ่งใหญ่ มีผลสะเทือน จากนั้นพวกเราก็ทะเลาะกันเอง แตกกันเละ ผลของการทะเลาะกันก็คือ กูไม่ทำแล้ว มันเกิดปรากฏการณ์อย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า นี่คือเหตุผลและที่มาว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาเป็นเหตุการณ์ที่ค่อนข้างอาภัพ ไม่เหมือน 14 ตุลา มีการทำหนังสืออนุสรณ์”

“มันมีหลายเรื่องที่ผมก็เพิ่งรู้ ถูกแขวนคอเกินกว่า 2 คนผมก็เพิ่งรู้ และอีกคนคือ คุณวันชาติ ศรีจันทร์สุข ผูกคอตายในคุก ในบรรดาคนถูกจับและไม่ได้ออกมามีคนแขวนคอตายในคุกด้วย ใครคือเขา เราก็ไม่รู้ สรุปแล้วความไม่รู้เรื่อง 6 ตุลาแม้แต่ในหมู่พวกเราเองมันเยอะมาก จนไม่รู้จะว่ายังไง ภาพคนกำลังหัวเราะ ที่เขาอ้าปาก ส่วนหนึ่งเขาอ้าปากเพื่อร้องเพลงหนักแผ่นดินอยู่ อาจไม่ได้หัวเราะทั้งหมด”

“กระบวนการ dehumanization เกิดขึ้นก่อนหน้าเป็นปี จนถึงจุดสูงสุด จนฝ่ายขวาเหล่านี้ทำอะไรก็ได้ที่เหี้ยมโหด เขาคิดว่าเขาทำถูกต้องในการรักษาชาติบ้านเมือง ในการรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ สังคมไทยไม่เคยสรุปบทเรียนเลย บทเรียนกว่าการฆ่าคน ความรุนแรงแก้ปัญหาไม่ได้ การปลุกระดมให้คนเกลียดชังกันด้วยข้อมูลเท็จ ก็ยังทำกันอยู่ และเรื่องใหญ่ที่สุด คือ รัฐประหาร มันก็ยังเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า” สุธาชัยกล่าว  

สุรชาติ บำรุงสุข : ประวัติศาสตร์ที่ (ผู้ร่วมเหตุการณ์) ไม่ยอมสร้าง

สุรชาติกล่าวว่า ถ้าประวัติศาสตร์คือการเมืองในอดีต การเมืองก็คือประวัติศาสตร์ในปัจจุบัน เราจึงต้องทำความเข้าใจบริบทของปี 2519 ด้วย แต่จะมองมันล้วนๆ ก็ไม่ได้ เพราะมันเกี่ยวพันกับ 14 ตุลาคม 2516 ด้วย แต่ก็มีนิสิตบางคนพูดว่าถ้าไม่เรียนรัฐศาสตร์จะไม่ได้รู้เรื่อง 6 ตุลาเลย เพราะไม่มีคณะไหนสอน ประวัติศาสตร์ส่วนนี้หายไปจากระบบการศึกษา

สุรชาติกล่าวต่อว่า วันนี้ทำอย่างไรที่งานรำลึก 6 ตุลาจะไม่กลายเป็นงานทำบุญรวมญาติ ความยากคือ ผ่านเหตุการณ์ไปไม่นานเขาจบปริญญาโทกลับมาสอนหนังสือที่คณะ ตอนนั้นมีการพูดถึงเหตุการณ์ “16 ตุลา” แล้ว ผ่านไปไม่กี่ปีเพียงแค่ความทรงจำจะแยกสองเหตุการณ์ก็ลำบากแล้ว ในความทรงจำที่เริ่มขาดตกบกพร่อง ปัญหาใหญ่ตามมาหลายอย่าง ถ้าความทรงจำไม่มี ความรู้จะเกิดอย่างไร

“คนรุ่นหลังไม่ผ่านสงครามเย็นในภูมิภาค ไม่ผ่านสงครามคอมมิวนิสต์ในบ้าน ไม่เคยเห็นขบวนชาวนากรรมกรขนาดใหญ่ เติบโตมากับการสิ้นสุดของสงครามเย็น” สุรชาติกล่าว

เขากล่าวว่า แม้แต่การสืบค้นใน google ก็ไม่พบภาพเหตุการณ์มากนัก เขาจึงเสนอว่าผู้คนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์โดยตรงควรจะเขียนบันทึกออกมา  เรื่องนี้ควรทำตั้งนานแล้ว มหิดลทำชุดใหญ่ มธ.ทำบ้าง แต่จุฬาฯ ไม่มีใครเขียนเลย

“หลายคนอยากเห็นการชำระประวัติศาสตร์ 6 ตุลา ผมว่าอย่าว่าแต่ชำระ เขียนยังไม่มีเลย ผมจึงเรียกร้องให้คนในเหตุการณ์ทุกคน ผมเรียกร้องให้เขียน เอาความทรงจำกลับมา โพสต์เข้าไปในเว็บไซต์ ถ้าเราอยากเห็นความรู้เกิดก็ต้องสร้าง ต้องมีเวที เพื่อเปิดโอกาสให้ความรู้ หรือความทรงจำเกิดขึ้นมา เวทีนี้ไม่มีเจตนาฟื้นฝอยหาตะเข็บกับเรื่องใดๆ ทั้งสิ้น เพียงแต่อยากให้สังคมไทยรับรู้เรื่องราวในช่วงหนึ่งเท่านั้น” สุรชาติกล่าว

“นอกจากนี้เราแทบไม่เคยศึกษากระแสขวาในไทย ตอนนั้นเราตื่นเต้นกับกระแสซ้าย ทั้งที่สังคมไทยมีกระแสขวาสูงมาก ประวัติศาสตร์กลายเป็นความลับโดยตัวมันเอง และท้ายที่สุดตำราเรียนของเด็กก็มีแค่ 14 ตุลาแล้ว 6 ตุลาอยู่ไหน มันถูกทำให้หายไป ประวัติศาสตร์เป็นทั้งการเมือง ความทรงจำ การประกอบสร้างและยังเป็นความลับอีก วันนี้อาจไม่สามารถคลี่ข้อมูลทั้งหมด แต่ถ้าจะเป็นไปได้ ผมคิดว่า 40 ปีน่าจะเป็นคุณูปการของการต่อสังคม บทเรียนที่ชัดเจนคือ ความรุนแรงไม่ช่วยแก้ปัญหาสังคมไทย มีแต่จะสร้างปัญหา ถ้า 6 ตุลาเดินไปมากกว่านี้มันคงเกิดสงครามการเมืองและเราจะเป็นโดมิโนตัวที่สี่ ถ้าจะไม่เดินไปสู่จุดจบแบบลาว เขมร อะไรคือคำตอบ คำตอบคือการรัฐประหารของเกรียงศักดิ์แล้วปรับทิศทางประเทศไทย นำพาคนอีกชุดคือ ทหารสายปฏิรูปเข้ามาแล้วปรับทิศทาง ผลพวงคือการนิรโทษกรรม พวกผมนี่แหละนิรโทษกรรมเหมาเข่งสุดซอยของจริง มันนิรโทษกรรมคนในเหตุการณ์ 6 ตุลาทั้งหมด เราเองส่วนหนึ่งก็รับไม่ได้ พวกเขาเองที่ขวาจัดๆ ก็รับไม่ได้ที่จะนิรโทษให้พวกเรา แต่วันนี้ย้อนกลับไป นิรโทษกรรมกลายเป็นการเปิดทางใหญ่ของการเมืองไทย ไม่ใช่เฉพาะคนถูกจองจำ แต่พานักศึกษาเข้าสู่ชีวิตปกติ พาคนที่ร่วมกับ พคท.เข้าสู่สังคมไทย นั่นคือตัวแบบที่เราเห็น" สุรชาติกล่าว 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท