Skip to main content
sharethis

รายงานจาก TCIJ สำรวจสภาพการทำงานของนักโทษ ทำงานวันละ 8 ชั่วโมงไร้วันหยุด แลกค่าแรงวันละ 13 บาท หลายคนยอมจ่ายส่วย ขอย้ายงานให้สบายขึ้น ขณะที่การจ้างงานจากภายนอก ผู้ประกอบการเผยนักโทษค่าแรงถูก แต่จ้างยากเพราะต้องจ่าย 'ส่วย' หลายระดับ หลายคนนิยมใช้บริการนายหน้า ประสานตรงกับเรือนจำ จ่ายส่วยน้อยกว่าและได้งานจริง

ชุดช้อนส้อมพลาสติกร้านสะดวกซื้อ แก้วดื่มกระดาษ และทองคำเปลวปิดองค์พระฯ กว่าครึ่งหนึ่งของผลผลิตในอุตสาหกรรมดังกล่าว มาจากน้ำพักน้ำแรงราคาถูกของเหล่าผู้ต้องขังในเรือนจำ ซึ่งการฝึกอาชีพหรือให้ผู้ต้องขังมีงานทำระหว่างต้องโทษเป็นหนึ่งในนโยบายแก้ไขฟื้นฟูพฤติกรรรมผู้ต้องโทษของกรมราชทัณฑ์ ที่ส่งเสริมให้เรือนจำทั่วประเทศอบรม และฝึกอาชีพให้ผู้ต้องขัง  โดยหมายมั่นว่า เมื่อพวกเขาออกจากกำแพงสูงแห่งนี้ จะมีอาชีพติดตัว ไม่หันกลับไปกระทำผิดซ้ำสอง (อ่าน 'การลงนามความร่วมมืองานฝึกวิชาชีพผู้ต้องขัง') ซึ่งในแต่ละปี ดอกผลจากแรงงานตีตรวนเหล่านี้ สร้างเม็ดเงินหมุดเวียนแต่ละปีราว 8 ล้านบาท (อ่านเพิ่มเติมใน จับตา : รายได้จากการจ้างงานนักโทษในเรือนจำ)

คำถามที่ตามมาคือ เงินจำนวนนี้ตกถึงมือผู้ต้องขังเท่าไร ?  อีกทั้งไม่ใช่ผู้ต้องขังทุกคนจะได้รับการฝึกทักษะจนกลายเป็นอาชีพติดตัว นักโทษส่วนใหญ่ในเรือนจำตกอยู่ในสถานะของแรงงานราคาถูกนอกระบบ ที่ผู้ประกอบการต่างหมายปอง ขณะที่การทำงานภายในเรือนจำนั้น  ผู้ต้องขังรายหนึ่งเล่าให้ TCIJ ฟังว่า มีสภาพไม่ต่างจากโรงงานนรก

ส่องสภาพการทำงานในเรือนจำ

ในปี 2558  ข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ระบุตัวเลขจำนวนผู้ต้องทั้งหญิงชายทั่วประเทศ แออัดยัดเยียดกันในเรือนจำทั้งสิ้น 314,967 คน จากเรือนจำทั่วประเทศ 140 แห่ง  กิจวัตรประจำวันส่วนใหญ่หลังมื้อเช้า จะมีการเช็คจำนวน นักโทษแต่ละคน แล้วแยกย้ายไปทำภารกิจตามที่ตนได้ถูกจำแนกไว้  โดยเวลาเข้างานจะแบ่งเป็นสองช่วง คือ ช่วงเช้า ตั้งแต่ 8.00 น -12.00 น  ช่วงบ่าย 13.00 น -16.00 น และทำงานล่วงเวลาได้อีกสองชั่วโมง

สมหญิง (นามสมมติ) นักโทษหญิงจากเรือนจำภาคกลางแห่งหนึ่ง อธิบายถึงระบบการจำแนกงานภายในเรือนจำว่า ไม่ได้มีมาตรฐานหรือกฎเกณฑ์ที่เป็นกลางแต่อย่างใด ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่ประเภทของคดีและดุลยพินิจของผู้คุม เช่น หากเป็นนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ ฆ่าคนตาย มักถูกจำแนกให้ได้รับงานประเภทงานโรงงาน หรือที่นักโทษเรียกว่า “โรงซิป” ชื่อเรียกตามสถานที่ทำงานที่ภายในคล้ายโรงงานขนาดใหญ่ บรรจุแรงงานนักโทษราวร้อยคน  ซึ่งเป็นที่รู้กันดีในหมู่นักโทษว่า เป็นงานที่หนักไม่ต่างจากโรงงานนรก ซึ่งสมหญิงเป็นหนึ่งในนักโทษที่ถูกจำแนกให้ทำงานในโรงซิป

งานภายในโรงซิปเป็นงานแพคสินค้าทุกประเภท โดยเฉพาะสินค้าขนาดเล็ก ตั้งแต่ จัดชุดช้อนส้อมพลาสติกของสายการบินต่างๆ  น้ำตาลซอง  และงานที่พบบ่อยที่สุด คือ งานห่อทองคำเปลวสำหรับปิดทององค์พระ ซึ่งถือเป็นงานที่ยากที่สุด เพราะต้องห่อทองด้วยมือทีละแผ่นไม่ให้แตก  โดยจำนวนงานจะขึ้นอยู่กับปริมาณสินค้าที่ทาง  เรือนจำรับมา และจัดสรรให้นักโทษทำให้เสร็จครบตามกำหนดเวลาที่ลูกค้าต้องการ เฉพาะทองคำเปลวส่วนมากมักกำหนดให้ทำวันละ 10 ห่อ แบ่งเป็นเช้าและบ่ายอย่างละ 5 ห่อ แต่ละห่อมีปริมาณทองคำห่อกระดาษห่อละ   500 แผ่น ซึ่งหากทำไม่ได้ตามจำนวนที่กำหนด ก็จะถูกทำโทษ ซึ่งจะมีตั้งแต่ปล่อยให้ไปโรงเลี้ยงอาหารช้า ให้อดข้าว หรือตัดเงินปันส่วน หมายถึงเงินรายได้ที่นักโทษจะได้จากการทำงาน  

สมหญิงอธิบายระบบการจ่ายเงินนักโทษในโรงซิปว่า จะจ่ายให้เป็น “ส่วน” จำนวนของส่วนจะขึ้นอยู่กับตำแหน่ง  อย่างไม่เป็นทางการ และความสามารถของนักโทษในงานนั้นๆ  รวมถึงความประพฤติขณะทำงาน  โดยผู้คุมงาน ซึ่งก็คือนักโทษที่ได้รับการแต่งตั้งจากผู้คุม ซึ่งจะถูกเรียกว่า “นักโทษมีซี” นักโทษที่เป็นผู้คุมงานจะได้เงินปันส่วน   6-7 ส่วน นักโทษที่เป็นแรงงานได้รับเงินปันส่วนมากที่สุด 4 ส่วน ต่อเดือน  เฉลี่ยให้ส่วนละไม่เกิน 100 บาท  ซึ่ง  หมายความว่า นักโทษจะทำงานวันละ ประมาณ 8 ชั่วโมง เพื่อแลกกับรายได้มากสุดเดือนละ 400 บาท หรือวันละ 13.33 บาท  

“เขา (คนคุมงาน) คิดว่าเราทำได้มากแล้วไม่เป็นไร ถ้าอย่างนั้นมากกว่านี้เราก็ต้องทำได้ เขาก็จะยิ่งเพิ่มงานให้เรา เพราะถ้าหน่วยของเขาทำงานได้มาก เขาก็จะได้รับคำชม  เพื่อนบางคนทำงานจนป่วย เพราะแพ้ทองคำเปลว เราไปแจ้งผู้คุม เขาก็ว่าป่วยเองไม่เกี่ยวกับงานที่ทำ คนอื่นไม่เห็นเป็นอะไรยังทำงานได้ สุดท้ายก็ไม่ได้เปลี่ยนงานและยังถูกลดเงินปันส่วน เพราะเราป่วย ทำงานไม่ได้ตามยอด”

สภาพการทำงานที่เลวร้ายและรายได้ที่น้อยนิด ทำให้นักโทษบางคนยอมจ่ายเงินสินบนให้กับผู้คุม หรือเจ้าหน้าที่ภายในเรือนจำ เพื่อแลกกับการไม่ต้องทำงานประเภทใช้แรงงานเช่นงานลงซิป  ซึ่งงานที่สบายสำหรับนักโทษหมายถึง งานที่ได้นั่งโต๊ะ เช่น งานปักเลื่อมชุดลิเก หรือทำงานในห้องแอร์ เช่น งานเลี้ยงเด็ก หรือได้รับคัดเลือกให้เข้ารับการฝึกอาชีพ

ค่าแรงต่ำ เพราะทุจริตตั้งแต่ต้นทาง?

สภาพการทำงานที่กดดันและค่าแรงแสนถูกนั้น อาจต้องสืบย้อนไปตั้งแต่ระบบการจ้างงานผู้ต้องขังจากหน่วยงานภายนอก หากอ้างอิงตามระเบียบการว่าจ้างที่ประกาศโดยส่วนบริหารแรงงานและพัฒนาผลิตภัณฑ์ กรมราชทัณฑ์นั้น ผู้ประกอบการหรือบริษัทต่างๆ สามารถทำได้โดยติดต่อผ่านเรือนจำในจังหวัดที่ต้องการว่าจ้างโดยตรง  ซึ่งงานที่ได้รับอนุญาตนำเข้าไปให้นักโทษทำนั้น ต้องเป็นงานที่ชิ้นส่วนของวัสดุการทำงงานไม่เอื้อต่อการหลบหนี และปลอดภัยต่อสภาพแวดล้อมในเรือนจำ รวมถึงอัตราค่าจ้างที่เสนอเข้ามาเหมาะสมต่อรูปแบบของงาน แน่นอนว่ารายละเอียดที่กล่าวไปนั้น เป็นเพียงหลักการที่ปรากฎตามระเบียบราชการ ทว่าในทางปฏิบัติกลับไม่ได้ เป็นเช่นนั้น

หนึ่งในผู้ประกอบการที่เคยจ้างงานนักโทษ อธิบายถึงวิธีการเข้าไปจ้างงงานนักโทษว่า ผู้ต้องขังเป็นแรงงานราคา ถูกซึ่งบริษัทที่รู้ช่องทางก็นิยมใช้บริการ โดยส่วนใหญ่จะนิยมทำผ่านนายหน้า ที่จะเป็นตัวกลางในการรับงานและเข้าไปติดต่อเรือนจำในจังหวัดที่ต้องการจ้างงาน  พร้อมกับดำเนินการเรื่องเอกสารและขั้นตอนต่างๆ ให้ โดยจะคิด ราคาเพิ่มจากใบเสนอราคาที่ตกลงกันไว้กับทางเรือนจำ  สอดคล้องกับนายหน้ารายหนึ่งที่เปิดเผยกับ TCIJ ว่า  ผู้ประกอบการส่วนใหญ่นิยมติดต่องานผ่านเครือข่ายนายหน้า เพราะนอกจากจะสะดวกในขั้นตอนเดียวแล้ว ยังมั่นใจได้ว่างานที่ตนเสนอเข้าไปในเรือนจำนั้น จะถึงมือนักโทษแน่นอน อีกทั้งยังป้องกันการเรียกรับสินบนจาก หลายทาง เนื่องจากเคยมีผู้ประกอบการบางคนที่ติดต่องานโดยตรงกับทางเรือนจำ  ซึ่งนอกจากงานจะไม่ได้รับคัดเลือกแล้ว ยังถูกเรียกรับสินบนจากหน่วยงานภายในหลายส่วน  

นักโทษรายหนึ่งจากแดนขังเดียวกับสมหญิง ระบุว่า ผู้คุมนักโทษ มักเป็นคนที่หางานป้อนเข้าสู่เรือนจำเป็นหลัก  ยิ่งผู้คุมหางานเข้าเรือนจำได้มาก ก็จะยิ่งมีรายได้มาก ซึ่งเกี่ยวพันกับความดีความชอบและการเลื่อนตำแหน่งในอนาคต  

สายธารการเอารัดเอาเปรียบที่ลำเลียงมาเป็นทอด โดยมีนักโทษอยู่ปลายสุดของห่วงโซ่นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่าง ใด ในสหรัฐอเมริกา ก็มีการนำนักโทษไปใช้ในงานสาธารณะที่เสี่ยงอันตรายหลายอย่าง เช่น ทำงานดับไฟป่าในรัฐแคลิฟอร์เนียและจอร์เจีย ซึ่งร้อยละ 30 ของเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าเป็นนักโทษชายจากเรือนจำทั้งของรัฐและเอกชน นักโทษเหล่านี้ต้องทำงานวันละ 24 ชั่วโมง นับเป็นการเข้างานหนึ่งครั้ง และได้รับค่าตอบแทนเฉลี่ยวันละ 2 ดอลล่าห์สหรัฐ หรือราว 70 บาท นักโทษรายหนึ่งสะท้อนถึงสภาพการทำงานว่า เขารู้สึกไม่ต่างจากแรงงานทาสเท่าไรนัก (อ่านเพิ่มเติม 'The Prisoners Fighting California’s Wildfires')

การใช้แรงงานนักโทษมักถูกให้คำอธิบายว่า เป็นหนึ่งในวิธีการฟื้นฟูผู้กระทำผิดให้กลับมาอยู่ในครรลองคลองธรรมของสังคม การทำงานหนักจะช่วยให้พวกเขาเปลี่ยนเป็นคนที่มีคุณค่าต่อสังคม  คำถามที่ถามมาคือ การทำงานหนักจะสามารถเปลี่ยนคนให้เป็นอย่างที่สังคมต้องการได้จริงหรือไม่  ในระบบยุติธรรมที่สร้างความอยุติธรรมเสียเองเช่นนี้ ?

 

อ่าน 'จับตา': “รายได้จากการจ้างงานนักโทษในเรือนจำ"
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=6443

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net