Skip to main content
sharethis

รายงานเสวนากะลาแลนด์ “ต้องการกิจกรรมแบบไหน ในสถาบันการศึกษา?” พร้อมประเมินกิจกรรมในสถาบันการศึกษากับการมีส่วนร่วมของนักเรียน/นักศึกษา

เมื่อวันที่ 25 ก.ย. ที่ผ่านมา กลุ่มลานยิ้ม ร่วมกับ กลุ่มพลเรียน กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทและศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตย จัดงานเสวนาหัวข้อ "เราต้องการกิจกรรมแบบไหนใน สถาบันการศึกษา?" ในงานศิลปกับสังคม ครั้งที่ 21 เทศกาลศิลปะนานาพันธุ์ ครั้งที่ 9 (รำลึก 40 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519) ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์ (ทองหล่อ) ชวนคุยเสนอความคิดเห็นโดย นลธวัช มะชัย นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักกิจกรรมเคลื่อนไหวประเด็นการศึกษา วริษา สุขกำเนิด เลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท โดยมี ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล คณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินรายการ

กิจกรรมในสถาบันการศึกษากับการมีส่วนร่วมของนักเรียน/นักศึกษา

ประเด็นแรกที่พูดคุยกัน อ.อรรถพล ให้ทั้ง 4 คน ได้แลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ในการทำกิจกรรม คำถามแรกเวลาที่เราพูดถึงสถาบันการศึกษากับกิจกรรมที่ให้นักเรียนหรือให้นักศึกษามีส่วนร่วมได้นั้น กิจกรรมที่มีอยู่เป็นอย่างไร และมีประสบการณ์ในโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยผ่านกิจกรรมแบบไหนกันมาบ้าง แล้วก็เราตั้งคำถามหรือมุมมองต่อกิจกรรมอย่างไร

วริษา กล่าวว่า กิจกรรมในโรงเรียนทั้งประถม มัธยมต้น มัธยมปลาย ก็จะมีกิจกรรมที่เห็นได้ชัด 2 อย่าง คือ กิจกรรมบังคับ และกิจกรรมไม่บังคับ กิจกรรมบังคับ หรือบางทีอาจจะใช้คำว่าขอ “ความร่วมมือ” ทำเพื่อกลุ่ม ทำเพื่อห้อง ซึ่งทำให้ทุกคนต้องเข้าร่วม แต่ถามว่าเราเห็นถึงความสำคัญของกิจกรรมนั้นไหม ก็ไม่ กิจกรรมที่โรงเรียนยังขาดก็คือกิจกรรมที่นักเรียนเป็นคนสร้างเอง หรือกิจกรรมที่เด็กอยากสร้างเอง แต่กิจกรรมก็จะไม่สามารถจัดได้ ถ้าผู้ใหญ่ไม่สนับสนุน ส่วนในเรื่องของการเสวนาในโรงเรียน นักเรียนไม่ค่อยสนใจ ดังนั้น หัวข้อในการจัดก็คงจะต้องคำนึงถึงผู้ฟัง ต้องเป็นหัวข้อปลายเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าฟังได้ ถ้าจะจัดหัวข้อเสวนาในโรงเรียนก็ต้องคิดก่อนว่าผู้ฟังอยากฟังเรื่องอะไร

พริษฐ์ ชี้ให้เห็นถึงบทบาทการใช้อำนาจของครูในโรงเรียน ส่วนมากกิจกรรมจะไม่ได้ออกมาในแนวครูใช้เด็กเป็นแรงงาน แต่ส่วนมากจะเป็นในลักษณะของครูที่อยู่หลังม่านอีกที อุปสรรคของการทำงานในโรงเรียนมีอยู่ 2 แง่ คือ hard power และ soft power จากการทำกิจกรรมกับองค์กรมาพบว่าองค์กรที่เรื่องมากเรื่องเอกสารมากที่สุดคือโรงเรียน ปัญหาที่คาดว่าน่าจะมีทุกที่รวมถึงกิจกรรมนอกโรงเรียนด้วย ก็คือกิจรรมนี้ไม่ได้ in great ผู้เข้าร่วม ผู้ร่วมไม่ได้เป็น factor ที่สำคัญ เช่น กิจกรรมบรรยาย ผู้เข้าร่วมอยากให้กิจกรรมมันออกมาลักษณะไหนไม่ได้มีผล เพราะมันถูกกำหนดไว้แล้ว ซึ่งพออำนาจในการจัดกิจกรรมมันอยู่กับองค์กรไม่กี่องค์กรมันกลายเป็นว่าวัฒนธรรมบางมันเกิดขึ้นเอง อันนี้เลยทำให้การเปลี่ยนแปลงในโรงเรียนมันยาก ทีนี้ถามว่าการจัดกิจกรรมในสถานศึกษามันแย่จนไม่มีข้อดีเลยไหม อย่าลืมว่าสถานศึกษาเป็นแหล่งผู้ฟังที่ดีที่สุด ที่มีเยอะที่สุด การจัดกิจกรรมที่เราหันหลังให้โรงเรียนหรือระบบเลย ก็คงจะไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร พริษฐ์เปรียบตัวเองเหมือนกบที่ยันกะลาอยู่ ถ้าเราเลือกจะทิ้งมันไปแต่คนอื่นก็ยังอยู่ในกรอบเดิม ก็เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ และการไปทำงานนอกโรงเรียน หรือนอกสถาบันก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีปัญหาหรืออุปสรรคเพียงแต่โจทย์มันคนละแบบกัน

เนติวิทย์ กล่าวว่า ตนอยู่ในโรงเรียน ตนไม่ได้หันหลังให้ระบบของโรงเรียน ตนเลือกที่จะต่อสู้ตั้งแต่ ม.3 ถ้าไม่สู้ในโรงเรียน อุดมการณ์ของเราเรื่องการเปลี่ยนแปลงการศึกษาที่เราคิดไว้ มันก็เป็นเหมือนการที่ “ตัวเองดูดี แต่ในเชิงความจริงมันไม่เปลี่ยนแปลง” ตนได้รับแรงบันดาลใจมากว่าทำไมถึงเลือกที่จะสู้ในโรงเรียน มันมาจากสิ่งที่ตนค้นพบก็คือ ครูในโรงเรียนหลายๆ คน เมื่อเขาเขียนบทความมาให้ในวารสารที่ตนทำ พบว่าข้อเขียนเหล่านั้นมันดีมากเลย มันสวยมาก มันเลยเกิดความคิดว่า ทำไมครูก็ไม่เห็นเขียนหนังสือเลย เห็นแต่สอนอย่างเดียว แต่มีความสามารถมากขนาดนี้ อย่างการแนะนำหนังสือให้ตนอ่านซึ่งมันเป็นการศึกษาทางเลือกทางหนึ่งมันทำให้รู้ว่าโรงเรียนเรามีคนที่มีความสามารถเยอะมีคนที่มีความสนใจในเรื่องต่างๆมากมายแต่เขาเหล่านั้นไม่วามารถที่จะนำศักยภาพของเขาออกมาใช้ได้ ตนรู้สึกว่ามันน่าเสียดาย แล้วโรงเรียน ก็ทำตามนโยบายบางอย่างโดยไม่ฟังเสียงคนในโรงเรียน ทั้งๆ ที่มันมีคนมีความสามารถแบบนี้เยอะแยะ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ตนทำก็คือการพยายามนำคนเหล่านี้มาสนทนากันก็คือการจัดเสวนา เช่นจัดเสวนาภาพยนตร์ โดยมีนักเรียนเป็นผู้ดำเนินรายการก็ผ่านมาได้ซึ่งค่อนข้างประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แน่นอนว่ามันก็มีปัญหาอยู่หลายๆเรื่อง เช่น ฝ่ายบริหารไม่เข้าใจเราและก็มีระบบครูที่ปรึกษาอีก ซึ่งครูที่ปรึกษาส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยมีความคาดหวังเท่าไหร่ เลือกที่จะอยู่เงียบๆ ดีกว่ามาคลุกคลีกับพวกเรา เพราะมันอาจจะทำให้ภาพลักษณ์เสีย หรือครูบางคนเห็นใจเรา เขาก็จะสนับสนุน แต่เขาก็จะไม่เข้ากับฝ่ายบริหารสักเท่าไหร่เพราะฝ่ายบริหารก็จะไม่ชอบเขา ตนรู้สึกดีใจที่ได้เจอครูที่หลากหลายมากนอกจากนี้ตนยังเขียนจดหมายถึงผู้อำนายการโรงเรียน มากกว่า 20 ฉบับ เราต้องลองคุยกับเขา ตนเชื่อว่าการเสวนาในโรงเรียนมันเป็นไปได้ แต่มันต้องมีความพยายามเกิดขึ้นก่อน มันต้องมีการประสานกัน เราอย่าไปแยกตัวอิสระเสียทีเดียว ข้างนอกทำก็ดี แต่ข้างในมันเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุด ที่ถูกมองข้ามไปในรอบหลายปีที่ผ่านมา 

นลธวัช กล่าวว่า หนังตะลุงเป็นตัวแทนของประชาชนในการวิพากษ์การเมืองและอำนาจ เราก็เลยใช้วัฒนธรรมชุมชนบางอย่างในการศึกษาหาข้อมูลในชุมชนแล้วมันสะท้อนออกมา เรานิยามตัวเองว่าเป็นนักกิจกรรมไม่ใช่เด็กกิจกรรมเพราะเราจัดกิจกรรมเอง ตอนนั้นเรามีไฟมากแล้วหวังว่าเข้าไปในมหาวิทยาลัยแล้วเราจะได้ต่อยอดมัน แต่พอเข้าไปอยู่ในมหาวิทยาลัย  เราไม่ได้ทำอะไรเลยไม่ได้ใช้ศักยภาพของเราเลย  พอเข้ามหา’ลัยแล้วเราต้องเริ่มนับ 0 ใหม่ ซึ่งมันทำให้ความฝันเราดับไปเลยนะ เรามาเจอบรรยากาศที่เราต้องเดินไปด้วยกัน เป็นระบบที่เกิดจากความหวังดี เอาความหวังดีมาเป็นข้ออ้างในการในการให้คนมาเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งมันเกิดความกดทับ มีคำถามว่าถ้าไม่ทำแบบนี้แล้วจะทำยังไง เป็นคำถามที่ถามส่งๆ ไป คือปัดความรับผิดชอบ ไม่มีการตั้งคำถามว่าถ้าเราจะออกจากตรงนี้เราต้องทำตัวยังไง มันกลายเป็นกรอบบางอย่างที่ทำให้เราไม่เติบโต หลายคนถูกแช่แข็งความคิดตอนอยู่ปี 2 พอมีอำนาจ เราคิดว่าเราเติบโตเต็มที่แล้ว และก็จะหยุดอยู่แค่นั้นไปจนจบปี 4 คือความรู้พอเพียง “รุ่นพี่ที่ถามว่าไม่ทำแบบนี้แล้วจะทำอย่างไร ยังไม่น่ากลัวเท่ารุ่นน้องถามว่าไม่ทำแบบนี้แล้วจะทำอย่างไร” รุ่นน้องเองก็วิ่งหาระบบอุปถัมภ์เหมือนกันเพราะคิดว่าฉันจะมีโอกาสเติบโตทางมหาวิทยาลัยมากขึ้น เปาโล แฟร์ บอกว่าเรากลัวอิสรภาพ ซึ่งมันจริงมาก กิจกรรมส่วนใหญ่ในโรงเรียนจะออกแบบมาเพื่อผู้รับ ครูจะออกแบบกิจกรรมไว้สวยหรูตอบโจทย์ตัวชี้วัดได้อย่างดี และนักเรียนเป็นผู้รับ เพราะความหวังดี พอเราขึ้นมหาวิทยาลัย ความหวังดีหรือสายตาของความสงสาร ของการให้ มันติดไปมหาวิทยาลัย พอเด็กมหา’ลัยไปลงชุมชน เด็กมหา’ลัยมองพวกเขาน่าสงสาร ต้องเข้าไปช่วย ฉันคือผู้ประเสริฐที่จะเข้าไปช่วยคุณ ไม่ได้มองในสายตาที่ว่าเราจะเข้าไปแลกเปลี่ยนอะไรกับชุมชนบ้าง เราไปศึกษาชุมชน แต่จริงๆ แล้วมันใช่รึเปล่า? เรากลัวการวิพากษ์และนักศึกษากลัวความวุ่นวายมากในมหาวิทยาลัย ซึ่งมันทำให้เราไม่เติบโต ในบางวิชาที่เพื่อนคนหนึ่งตอบคำถามอาจารย์ได้หมดแล้ว แต่เขาแลกเปลี่ยนกับอาจารย์ไม่ได้ เพราะมันยังไม่ถึงเวลาที่จะแสดงความคิด อุปสรรค คือ ความหวังดีที่เกิดจากการอธิบาย และการอธิบายก็มักมาจากผู้บริหารเสมอๆ เมื่อไหร่ก็ตามที่มีความวุ่นวายเกิดขึ้นในคณะ กิจกรรมก็จะถูกสั่งให้หยุดเพราะต้องไปเคลียร์ปัญหาเหล่านั้นก่อน มันกลายเป็นว่าคุณรอมีอำนาจเหนือกว่า คุณถึงจะเข้าถึงองค์ความรู้ได้ ถ้าเราไม่สามารถก้าวข้ามข้อนี้ได้ กิจกรรมจะไม่สามารถเกิดแบบใหม่ได้ ผู้บริหารต้องการนักศึกษาที่เป็นนักกิจกรรม แต่เขาไม่ชอบนักศึกษาที่เป็นนักกิจกรรม อันนี้น่าคิด

ต้องการกิจกรรมแบบไหนในสถาบันการศึกษา

อรรถพล ตั้งคำถามต่อว่าอยากเห็นกิจกรรมแบบไหนในสถาบันการศึกษา แล้วคิดว่าสิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้เราได้ใช้งานหรือตอบโจทย์สิ่งที่เราเชื่อหรืออยากทำแล้วหรือยัง

วริษา กล่าวว่า อยากเห็นกิจกรรมที่นักเรียนเป็นคนคิด เป็นคนเริ่มต้นเอง เป็นกิจกรรมที่นักเรียนตั้งใจทำด้วยตัวเอง ไม่ใช่ครูสั่งมาหรือใครสั่งมาและอยากให้มีความสร้างสรรค์

พริษฐ์ กล่าวว่า ตนรู้สึกว่าถ้าบอกว่ากิจกรรมอะไรก็ที่นักเรียนเป็นคนจัดเองมันจะมีปัญหานิดหนึ่ง เพราะว่าการว้ากน้องนี่ก็นักเรียนจัด คือรู้สึกว่ามันต้องไม่ไปหนักหัวคนจัด แล้วก็ต้องไม่หนักหัวคนร่วมด้วย ต้องไม่ใช่ลักษณะไปเกณฑ์เขามาหรือไปกดทับอะไรบางอย่างเขา อีกอย่างคือต้องให้ความยุติธรรม สุดท้ายคืออยากให้เป็นกิจกรรมที่ทุกส่วนเข้ามามีส่วนร่วม สึกว่าทรัพยากรเป็นสิ่งสำคัญ แต่ถ้าอยู่กับโรงเรียนแล้วมันลำบากก็อย่าไปพึ่งโรงเรียนมาก

เนติวิทย์ กล่าวว่า จริงๆ เรียนปีเดียวก็ได้ ยัดๆ ไปให้จบ ไม่ต้องเสียเวลาขนาดนี้ ดังนั้นโรงเรียนจึงต้องมีเป้าหมายสำหรับเด็ก โรงเรียนไม่สามารถตอบโจทย์ได้จึงต้องมาคิดว่าแล้วโรงเรียนมีภารกิจอะไร มีหน้าที่อะไรตอนนี้ โรงเรียนน่าจะเป็นพื้นที่ที่ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ และทดลองอะไรใหม่ๆ อีกส่วนที่สำคัญมากและขาดหายไป คือ นักเรียนกลัวการมีส่วนร่วม คนในโรงเรียนไม่ค่อย active หรือตรวจสอบกัน อย่าละเลยการสนทนาในโรงเรียน และอย่าประมาทกับความคิดของคนที่อยู่ในสารระบบว่าเขาคิดอะไรอยู่ ที่เขายอม เขามองกิจกรรมต่างๆ ในโรงเรียนอย่างไร สองคือโรงเรียนกำลังทำให้ตัวเองหมดความสำคัญลงด้วยการไม่ทำหน้าที่ของตัวเองที่จะทำให้การสร้างสรรค์มันเกิดขึ้นได้ โรงเรียนควรมีพื้นที่ที่จะทำให้ครูและนักเรียนพัฒนาตัวเองได้ หากโรงเรียนทำหน้าที่เป็นโรงสอนมากกว่าโรงเรียน คำว่าโรงเรียนก็จะหมดความหมายลง

นลธวัช กล่าวว่า จากการลงชุมชน เราพบว่าเด็กมีประกายเยอะมากในการที่อยากรู้ เพราะเด็กไม่รู้ แต่แว่นที่เขามองอยู่มันถูกระบายสี ถึงสีมันจะสวยงาม แต่มันคือสีจากผู้ใหญ่ที่ทับถมกันจนมืดดำไปแล้ว ตอนนี้เด็กหลายคนต้องการแว่นใหม่ที่ใส แต่เราไม่ให้แว่นใหม่เขาสักที เราควรให้แว่นที่อิสระและเปิดกว้าง อนุญาตหรือไม่นั่นอีกเรื่อง แต่ควรให้เด็กลองวางกระบวนการและมีพื้นที่ในการเสนอก่อน เพราะฉะนั้นถ้าเราแก้ไขระบบได้เด็กพวกนี้ก็จะเติบโตได้ มหาวิทยาลัยพยายามทำให้เราเหมือนกัน ทั้งระบบวิธีการคิดที่เขาลดความเป็นปัจเจกเราทุกๆ อย่าง พยายามสร้างความเป็นหนึ่งเดียว ความกลมเกลียวกัน สิ่งเหล่านี้คือข้ออ้างที่ทำให้ความเป็นปัจเจกของนักศึกษามันลดลง เพราะฉะนั้นสำหรับตนมันต้องมีกิจกรรมที่ไม่ลดความเป็นปัจเจก ปัจเจกต้องคงอยู่ การวิพากษ์วิจารณ์จะเกิดขึ้นต่อไปเมื่อปัจเจกคงอยู่เพราะแต่ละคนมีปัจเจกและศักยภาพที่แตกต่างกัน กิจกรรมควรเป็นกิจกรรมที่วางไว้หลวมๆ วางเพียงเป้าหมายร่วมไว้ก็พอ อย่าลืมว่าเป้าหมายของกิจกรรมมันมีพลวัต ส่วนกระบวนการก็ค่อยเป็นไป เป็นกิจกรรมที่คิดเดือนต่อเดือนเลยก็ได้ นักศึกษานิ่งเฉยกับประเด็นทางสังคม เพราะมันถูกทำให้คิดเป็นปี คิดไกลมาก ความไกลบางอย่างมันทำให้เราไม่สามารถพูดคุยประเด็นทางสังคมในขณะนั้นๆได้ อันที่สองคือพื้นที่ เราต้องการพื้นที่  ครูต้องพังทลายกรอบความเป็นครูให้ได้ อย่ามองครูเป็นผู้ให้ เป็นผู้ประสาทสอนวิชา เป็นผู้ให้เพียงอย่างเดียว เพราะฉะนั้นกิจกรรมควรเป็นการให้นักเรียนกลับไปหาข้อมูลเอง เด็กสมัยนี้ไม่อยากทำอะไรมากกว่าที่เขาให้ เพราะไม่อยากให้วุ่นวาย บางทีการศึกษาไม่ได้กดทับเรานะ แต่เป็นเราที่กดทับตัวเองเอาไว้

ผู้ใหญ่ไม่ยอมให้แว่นตาใหม่เราสักที

อรรถพล กล่าวว่า ผู้ใหญ่ไม่ยอมให้แว่นตาใหม่เราสักที ตนมีคำถามต่อว่าเขาไม่ให้หรือเขาไม่มี ดังนั้นแล้วกิจกรรมควรมีความยืดหยุ่นสูงเพื่อให้มันสามารถตอบโจทย์หรือโยงให้คนทำงานกับสังคมได้ แต่ปัญหาคือผู้ใหญ่ยังมองตัวเองในบทบาทฐานะของผู้ให้อยู่ 

ในช่วงท้ายของการเสวนา ก็ได้ให้ผู้เข้าร่วมการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น “ต้องการกิจกรรมแบบไหนในสถาบันศึกษา” ซึ่งมีหลากหลายมุมมองต่างกันไป อาทิ เราต้องการกิจกรรมแบบไหนเหนือสิ่งอื่นใด การศึกษาไทยต้องกระตุ้นให้เด็กคิดก่อน ควรมีกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับสังคม หรือให้ประโยชน์กับสังคมได้บ้าง ไม่ใช่เรียนรู้อยู่แต่ภายในมหาวิทยาลัย ให้ใช้สังคมเป็นสนามทดลองที่ใหญ่ขึ้น แล้วสังคมจะสะท้อนกลับมาเองว่า มหาวิทยาลัยควรมีกิจกรรมแบบไหน ที่มันจะสอดคล้องกับสังคมได้ ควรปลูกฝังวัฒนธรรมทางการคิดก่อน แล้วกิจกรรมจะเกิดหลังความคิดเอง และการห่วงภาพลักษณ์มากไปจนทำให้ไม่เกิดสิ่งใหม่เป็นข้อผูกมัดที่ทำให้เราคิดไม่ได้ ที่สำคัญคือเปิดพื้นที่ให้นักเรียน นักศึกษาได้แสดงออก กระตุ้นให้เด็กคิดแล้วรู้วิธีนำเสนอต่อสังคม และครูเป็นเพียงอาจารย์ที่ปรึกษาเท่านั้น หรือระบบการศึกษาไม่ได้เอื้อให้นักเรียนเกิดความคิดสร้างสรรค์ ควรให้เด็กได้ถูกอบรมสั่งสอนให้มีความคิดสร้างสรรค์ตั้งแต่ชั้นประถมเป็นต้นมา

เนติวิทย์ ได้กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการปลดปล่อยปัจเจกชน ต้องมีพื้นที่เสรีชนให้ปัจเจกชนในสถาบันการศึกษา เป็นที่ที่ให้เขาคิดได้ แต่อย่าลืมว่าประชาธิปไตย ส่วนสำคัญคือทุกคนต้องมีส่วนร่วม ส่วนนี้ถูกละเลยไปมาก การมารวมตัวกันได้ถือเป็นเรื่องดีที่จะไปต่อยอดดังนั้นภราดรภาพต้องมี อีกอย่างคือเราต้องรู้ว่าเราไม่ได้กำลังต่อสู้กับเป้าหมายอะไรที่มันกำลังอยู่นิ่ง แต่เป็นเป้าหมายที่มีพลวัต มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เราต้องไม่ทำตัวให้นักเรียนเป็นเด็กไร้เดียงสา เราต้องมองเขาด้วยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน และสุดท้ายคือจัดกิจกรรมให้ออกมาเป็นรูปธรรม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net