Skip to main content
sharethis

หนึ่งในประเด็นที่ฮิลลารี คลินตัน พูดเปิดการดีเบตผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา คือเรื่องของการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การกลบช่องว่างรายได้ที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศ และการลาดูแลลูกแบบยังได้รับค่าจ้าง ซึ่งมีผลการศึกษาประเมินพบว่าช่องว่างรายได้ระหว่างเพศยังมีอยู่และอาจจะต้องใช้เวลาเกินหนึ่งชั่วคนทีเดียวกว่าจะกลบช่องว่างได้


โดนัลด์ ทรัมป์ และฮิลลารี คลินตัน ระหว่างการหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา 
(ที่มาของภาพ: แฟ้มภาพ/วิกิพีเดีย)

28 ก.ย. 2559 ความเท่าเทียมกันทางเพศเป็นหนึ่งในเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ แต่ก็ดูเหมือนจะเป็นเป้าหมายที่ห่างไกลเมื่อช่องว่างรายได้ที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างชาย-หญิง ยังมีอยู่ทั่วโลก จากที่ก่อนหน้านี้ในรายงานปี 2558 เวิร์ลอิโคโนมิคฟอรัมประเมินว่าต้องใช้เวลาอีก 118 ปี ซึ่งก็คือในปี 2676

และเมื่อไม่นานมานี้มีการวิเคราะห์ของกลุ่มที่ปรึกษาด้านการเงินการบัญชีชื่อ "ดีลอยต์" ประเมินว่าต้องใช้เวลาถึงปี 2612 ถึงจะกลบช่องว่างรายได้ระหว่างเพศได้อย่างน้อยก็ในประเทศอังกฤษ อย่างไรก็ตามช่องว่างระหว่างรายได้ของทั้งสองเพศก็เริ่มเข้าใกล้กันมากขึ้นอย่างช้าๆ

"อัลจาซีรา" ระบุว่าในแง่ของการจ้างงานในตำแหน่งสูงๆ อย่างตำแหน่งการบริหารจัดการก็เป็นส่วนหนึ่งที่ยังไม่มีความเท่าเทียมกันระหว่างเพศเช่นกัน โรเบิร์ต จอยซ์ จากสถาบันด้านการศึกษางบประมาณให้สัมภาษณ์ต่ออัลจาซีราว่าช่องว่างรายได้จะแย่กว่าเดิมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีการลาคลอดหรือลาเลี้ยงดูลูก หนึ่งในข้อเสนอของจอยซ์เกี่ยวกับเรื่องนี้คือการเสนอวัฒนธรรมการเลี้ยงดูลูกแบบร่วมแชร์ความรับผิดชอบของทั้งชาย-หญิง

เรื่องการลาเลี้ยงดูลูกก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่มีการถกเถียงกันในช่วงดีเบตระหว่างฮิลลารี คลินตัน ตัวแทนเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครตกับโดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน ซึ่งทั้งสองพรรคต่างก็เสนอให้มีการลาคลอดหรือเลี้ยงดูลูกได้ โดยที่ทรัมป์เสนอให้มีวันลาสำหรับคุณแม่ 6 สัปดาห์หลังการให้กำเนิดลูก

แม้ว่าจะฟังดูก้าวหน้าเมื่อเทียบกับจุดยืนแบบรีพับลิกัน แต่ ลิซา มาตซ์ ผู้นำฝ่ายรัฐบาลสัมพันธ์และการรณรงค์จากสมาคมสตรีมหาวิทยาลัยของอเมริกัน (AAUW) กล่าวว่านโยบายของทรัมป์ยังเอื้อต่อผู้หญิงที่มีลูกเท่านั้นซึ่งถือเป็นปัญหาสำหรับเธอ เพราะมันละเลยความต้องการของผู้เป็นพ่อ ละเลยครอบครัวของคนรักเพศเดียวกัน หรือละเลยครอบครัวที่อุปการะเลี้ยงดูบุตร การจำกัดการลาเลี้ยงดูลูกให้กับเฉพาะผู้เป็นแม่จึงเป็นเรื่องล้าหลังในประเด็นของช่องว่างระหว่างเพศ มิหนำซ้ำยังเป็นการย้ำให้เกิดอคติในเรื่องที่ว่าผู้เป็นแม่เท่านั้นที่ควรเลี้ยงดูลูก

อีกประเด็นหนึ่งที่มาตซ์พูดถึงคือการขาดสถานรับเลี้ยงเด็กและสถานรับเลี้ยงของเอกชนก็มีราคาแพงบีบให้ผู้หญิงต้องอยู่บ้าน เป็นสิ่งที่ทำให้เรื่องความเท่าเทียมกันของรายได้ถดถอย อีกทั้งยังมีปรากฎการณ์ที่ผู้หญิงที่เป็นแม่แล้วจะถูกจำกัดสิทธิด้านต่างๆ หรือถูกกีดกันจากที่ทำงาน ซึ่งมาตซ์เรียกว่าเป็น "การลงโทษผู้เป็นแม่"

ทางด้านคลินตันมีข้อเสนอให้ทั้งพ่อและแม่สามารถลาหยุดได้ 12 สัปดาห์ โดยไม่เกี่ยงว่าจะเป็นเพศใดหรือมีความเกี่ยวข้องทางชีวภาพกับเด็กหรือไม่ ซึ่งข้อเสนอของคลินตันดูมีความก้าวหน้ากว่าในด้านความเท่าเทียม

อีกเรื่องหนึ่งที่กล่าวถึงกันในสังคมอเมริกันคือเรื่องความโปร่งใสของบริษัท ซึ่งมาตซ์กล่าวว่าบริษัทอเมริกันร้อยละ 60 มักจะมีนโยบายสนับสนุนให้ปกปิดข้อมูลเรื่องรายละเอียดของเงินเดือน ทำให้ผู้หญิงไม่มีทางรู้ได้เลยว่าพวกเธอได้เงินเดือนเท่าผู้ชายหรือไม่ ทำให้ต้องมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องเปิดเผยในเรื่องนี้ ในสมัยที่คลินตันยังเป็นวุฒิสมาชิกในปี 2552 เธอเคยส่งเสริมกฎหมายเพื่อความเป็นธรรมของเงินค่าจ้าง (Paycheck Fairness Act) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ช่วยเสริมกฎหมายความเท่าเทียมกันด้านค่าจ้าง (Equal Pay Act) ของปี 2506 อีกทีหนึ่ง ที่มีการห้ามไม่ให้นายจ้างลงโทษลูกจ้างที่เปิดเผยข้อมูลเงินเดือนของตัวเอง อีกทั้งยังเป็นการเสริมกำลังให้แรงงานในการฟ้องร้องนายจ้างถ้าหากถูกเลือกปฏิบัติในเรื่องค่าจ้าง

สื่อควอตซ์ระบุว่าในสหรัฐฯ มีประวัติศาสตร์การเลือกปฏิบัติเรื่องค่าจ้างอย่างหนักมาเป็นเวลานาน ผู้หญิงมักจะได้รับเข้าทำงานด้วยฐานเงินเดือนที่ต่ำกว่าและถูกจำกัดสิทธิต่างๆ ในช่วงที่ทำงานเมื่อมีความผิดพลาดในการเจรจาต่อรอง อย่างไรก็ตามมาตซ์กล่าวว่า ในรัฐแมสซาชูเซตส์ มีการออกกฎหมายใหม่เมื่อวันที่ 1 ส.ค. ที่ผ่านมาห้ามไม่ให้นายจ้างถามเกี่ยวกับเงินเดือนจากที่ทำงานเก่าในการสัมภาษณ์รับเข้าทำงาน ซึ่งมาตซ์มองว่าเป็นความก้าวหน้าที่ควรจะเกิดขึ้นในระดับประเทศด้วย มาตซ์บอกอีกว่าควรจะมีการเสนอช่วงเงินเดือนร่วมกันเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและช่วยในการเจรจาต่อรองค่าจ้างได้ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าคลินตันจะชื่นชมกฎหมายของรัฐแมสซาชูเซตส์ แต่ก็ยังไม่มีผู้แทนคนใดที่มีข้อเสนอจำเพาะเจาะจงเรื่องความโปร่งใส

 

เรียบเรียงจาก

Salary history and salary range, Quartz, 26-09-2016 http://qz.com/789975/does-donald-trump-have-a-plan-to-close-the-gender-pay-gap/

Trump v. Clinton debate: Promises, blunders from the first presidential debate, Global News Canada, 26-09-2016  http://globalnews.ca/news/2965048/trump-v-clinton-debate-promises-blunders-from-the-first-presidential-debate/

China in debt - The gender pay gap 'non-myth', aljazeera, 24-09-2016 http://www.aljazeera.com/programmes/countingthecost/2016/09/china-debt-160924081946832.html

Gender pay gap won't close until 2069, says Deloitte, The Guardian, 24-09-2016 https://www.theguardian.com/society/2016/sep/24/gender-pay-gap-wont-close-until-2069-says-deloitte

Gender pay gap 'may take 118 years to close' - World Economic Forum, BBC, 19-11-2015 http://www.bbc.com/news/world-europe-34842471

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Motherhood_penalty

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net