Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 

บทคัดย่อ

การศึกษาเรื่องแรงงาน การจ้างงานกรณีแม่บ้าน มีผู้ศึกษาในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิแรงงาน สวัสดิการ กระทั่งแรงงานแม่บ้านข้ามชาติ ในบทความนี้ให้ความสำคัญกับแม่บ้าน-ภารโรงที่ทำงานอยู่ในสถานศึกษา โดยให้ความสำคัญกับพื้นที่ทำงานและพื้นที่พักผ่อนของแรงงานเหล่านี้ การศึกษานี้ทำโดยการสำรวจเบื้องต้นและการตั้งข้อสังเกตถึงการปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่ทำงานภายในสถานศึกษาในระดับอุดมศึกษาเป็นหลักและพบว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับสภาพการจ้างงานที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย


แม่บ้าน-ภารโรง สถานะที่กำกวม

เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2559 การแชร์ภาพและเนื้อหาในโลกโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับธีรภัทร วรรณฤมล คณบดีคณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปลอมตัวเป็นพนักงานรักษาความสะอาดในวันปฐมนิเทศของคณะ เพื่อปลุกจิตสำนึกนักศึกษาใหม่ ได้สร้างความฮือฮาเป็นอย่างยิ่ง โดยเขากล่าวว่า "สาเหตุที่ทำเพราะต้องการให้นักศึกษาได้รู้จักเรียนรู้การมองคนและคุณค่าของทุกคน และมีจิตสำนึกในการรักษาความสะอาด เพื่อเป็นประชาชนที่มีคุณภาพในอนาคต"[2] ผู้เขียนเห็นว่า ปรากฏการณ์นี้แสดงให้เห็นได้ดีอย่างยิ่งของสภาวะ "ไร้ตัวตน" ของพนักงานรักษาความสะอาด หรือที่รู้จักกันในนามแม่บ้าน-ภารโรง

แม่บ้าน-ภารโรง พนักงานทำความสะอาด (janitor/cleaner ในที่นี้จะใช้คำว่า "แม่บ้าน-ภารโรง") แตกต่างจากงานแรงงานอีกชนิดที่มีลักษณะงานที่ใกล้เคียงกันอย่างแม่บ้านในฐานะแรงงาน-งานบ้าน (Domestic workers) นับว่าฝ่ายหลังมีประเด็นระดับนานาชาติที่องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ให้ความสำคัญในการปรับปรุงมาตรฐานสิทธิแรงงาน-งานบ้าน (Domestic workers ในที่นี้จะใช้คำว่า "แม่บ้าน") เมื่อปี 2554/2011[3] ปัญหาของแรงงาน-งานบ้าน มักจะมีมิติที่ซ้อนขึ้นมาอีกส่วน นั่นคือ สัมพันธ์กับแรงงานข้ามชาติ-ข้ามทวีปอีกด้วย ดังที่เห็นได้จากข่าวการละเมิดสิทธิแม่บ้านในพื้นที่ครัวเรือนอยู่เสมอ เช่น ปัญหาแม่บ้านกัมพูชาที่ถูกผู้ว่าจ้างชาวมาเลเซียข่มเหงเมื่อปี 2554 จนมีการสั่งระงับการส่งแม่บ้านที่มาเลเซีย[4] ขณะที่รัฐบาลอินโดนีเซียมีแผนจะทยอยลดการส่งออกแรงงานหญิงที่เป็นแม่บ้านไปยังมาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง ตะวันออกกลางและภูมิภาคอื่นๆ โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่แม่บ้านอินโดนีเซียถูกทำร้าย เมื่อปี 2557 เป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก หรือกรณีที่แม่บ้านชาวอินโดนีเซียถูกผู้ว่าจ้างชาวฮ่องกงทำร้าย จนตัดสินใจต่อสู้กลับด้วยวิธีทางกฎหมาย กล่าวกันว่าในฮ่องกงมีแรงงานต่างชาติทำงานแม่บ้านจำนวนกว่า 325,000 คน ส่วนใหญ่มาจากอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ และมีอยู่บ่อยครั้งที่พวกเธอจะถูกทารุณโดยผู้ว่าจ้าง สถานะของแม่บ้านอินโดนีเซียในสิงคโปร์ และมาเลเซียยังมีปัญหาเช่นกัน ไม่ว่าจะถูกทำร้ายร่างกายโดยนายจ้างผู้หญิงในประเทศแรก เมื่อปี 2010 หรือการถูกเหยียดหยามและทำร้ายร่างกายในมาเลเซีย[5] กระทั่งกรณีแม่บ้านอินโดนีเซียฆ่านายจ้างและคนในครอบครัว แล้วถูกตัดสินประหารชีวิตที่ซาอุดิอาระเบียถึงสองราย ในเดือนเมษายน 2558[6] ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์พบว่า มีแม่บ้านกว่า 146,000 คนที่ส่วนใหญ่มาจากฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย, อินเดีย, บังกลาเทศ, ศรีลังกา, เนปาล และ เอธิโอเปียมีสถานะที่ย่ำแย่ จนองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ได้ออกมาเรียกร้องให้ปรับปรุงสภาพการจ้างงานในปี 2557[7] ล่าสุดองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้เปิดเผยสภาพการจ้างงานที่ย่ำแย่ในอาชีพ "แม่บ้าน"[8] ว่าร้อยละ 90 หรือ 60 ล้านคนจาก 67 ล้านคนของคนทำงานบ้านในโลกไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการ-ประกันสังคม งานบ้านถูกมองว่าเป็นงานที่ถูกประเมินคุณค่าต่ำและไม่ได้รับการปกป้อง โดยกลุ่มแรงงานข้ามชาติถือเป็นกลุ่มที่เปราะบางที่สุด และส่วนใหญ่แล้วคนทำงานบ้านกว่าร้อยละ 80 เป็นผู้หญิง

ในประเทศไทยมีองค์กรที่เรียกร้องเพื่อสิทธิของแม่บ้านอย่างเช่น เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ เครือข่ายแรงงานหญิงคนทำงานบ้านสากล มูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ ฯลฯ ได้มีการประเมินตัวเลขในปี 2553 ไว้ว่าจำนวนคนทำงานบ้าน หรือแม่บ้านมีจำนวนกว่า 4 แสนคน สร้างเม็ดเงินสะพัดกว่า 27,000 ล้านบาท แต่พวกเขามักไม่ได้รับการคุ้มครอง และสวัสดิการพื้นฐานที่พวกเขาควรจะได้รับ รวมไปถึงการให้ทำงานเกินหน้าที่ที่ควรจะทำ และการถูกล่วงละเมิดทางเพศ จากข้อมูลนี้คนทำงานบ้านออกเป็น 3 ประเภท คือประเภทที่หนึ่ง เป็นงานบริการคนทำงานบ้านที่คนไทยทำในประเทศปี 2550 มีจำนวนกว่า 225,000 คน เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 1,100 ล้านบาท ประเภทที่สองเป็นแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานเป็นคนทำงานบ้าน ปี 2550 มีประมาณ 150,000 คน สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนประมาณ 9,000 ล้านบาทโดยแรงงานกลุ่มนี้จะมีค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 3,000-5,000 บาท ต่อเดือน ประเภทที่สาม คือแรงงานคนทำงานบ้านที่เป็นคนไทย แต่ไปเป็นคนทำงานบ้านที่ต่างประเทศมีประมาณ 25,000 คนในปี 2550 สร้างเม็ดเงินเข้าประเทศมากกว่า 7,000 ล้านบาท[9]

กระทั่งบทความเร็วๆนี้ของเก่งกิจ กิติเรียงลาภที่สนทนากับงานเขียนของแล ดิลกวิทยรัตน์เมื่อสามสิบก่อน[10] ที่ว่าด้วยงานบ้าน (housework) ของผู้หญิงที่มักไม่ถูกนับเป็นงาน แต่ถือเป็นลักษณะเฉพาะ และงานบ้านมีส่วนสำคัญต่อการสร้างมูลค่าส่วนเกินในระบบทุนนิยม และงานบ้านไม่ใช่งานแห่งความรัก แต่คือการกดขี่ขูดรีดที่สังคมทุนนิยมกระทำต่อผู้หญิงผ่านระบบครอบครัวที่ผู้ชายเป็นใหญ่โดยผ่านสิ่งที่เรียกว่ารัก เซ็กส์ เรือนร่างและการใช้แรงงาน ผ่านการแยกงานบ้านออกจากงานนอกบ้าน

ในที่นี้ไม่ได้มองว่า แม่บ้าน-งานบ้านเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญหรือไม่ควรถกเถียง แต่ผู้เขียนเห็นว่ามิติที่กล่าวมานั้นได้รับความสนใจกันอยู่บ้างแล้ว จึงสนใจที่จะนำเสนอมุมมองของ แม่บ้าน-ภารโรงที่เป็นแรงงานแม่บ้านที่อยู่ในพื้นที่นอกบ้านมากกว่า ในทางกลับกันแม่บ้าน-ภารโรงเหล่านี้ ก็คงเป็นแรงงานงานบ้านที่กลายเป็นแรงงานที่ไม่ถูกนับเช่นกันในที่พักอาศัยของพวกเธอเช่นเดียวกับที่แล และเก่งกิจได้นำเสนอนั่นเอง

แม่บ้าน-ภารโรงในความหมายแบบ Janitor/cleaner เป็นประเด็นที่ถูกกล่าวถึงไม่มากเท่าใดนัก อาจเป็นเพราะพวกเขาคือ แรงงานในชีวิตประจำวันที่คล้ายกับจะมีสถานภาพที่มั่นคงกว่า หรือไม่ตกเป็นข่าวที่ถูกล่วงละเมิดมากนัก ทั้งที่พวกเขาไม่มีองค์กรจัดตั้ง ไม่มีองค์กรสนับสนุนและเรียกร้องสิทธิ์ให้พวกเขาเหมือนอย่างอีกกลุ่มหนึ่งที่มักพ่วงประเด็นชาติพันธุ์, ประเด็นเพศสภาวะ, ประเด็นสหภาพแรงงาน ฯลฯ จึงอาจเรียกได้ว่าพวกเขาเป็นคนที่ไม่มีปากเสียงและ ไร้ตัวตนเป็นอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าจะไม่มีการศึกษาประเด็นนี้ เก่งกิจได้กล่าวไว้บ้างในบทความเดียวกันว่า งานนอกบ้านที่ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทมากขึ้นคือการทำงาน "นอกบ้าน" ตัวเอง แต่ในนามบริการบ้านของคนอื่น หรือรูปแบบการจ้างงานผู้หญิงในภาคบริการที่แตกต่างจากโรงงานของผู้ชาย เนื่องจากผู้หญิงถูกกีดกันออกจากการรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงาน และการทำงานกระจายไปตามบ้านคน และรูปแบบการจ้างงานอย่างไม่เป็นทางการทำให้พวกเธอไม่มีอำนาจต่อรองค่าแรง มีค่าแรงที่ต่ำกว่ามาตรฐานการยังชีพ[11] แม้เก่งกิจจะไม่กล่าวถึงแม่บ้าน-ภารโรงโดยตรง แต่ในสภาพการจ้างงานของพวกเขาก็มีลักษณะใกล้เคียงที่ว่า ดังจะเห็นได้จากบทความที่ให้ภาพพวกเขาอย่างชัดเจนคือ "พนักงานทำความสะอาด ‘คุณพี่-คุณน้า-คุณป้า-คุณย่า-คุณยาย’ ในที่ทำงาน"[12] ได้มีการจำแนกว่า การจ้างงานพนักงานทำความสะอาดในสถานประกอบการและหน่วยงานต่างๆ จะมีอยู่ 3 รูปแบบคือ 1. สถานประกอบการนั้น ๆ จ้างเป็นพนักงานประจำโดยตรง 2. สถานประกอบการนั้น ๆ จ้างเป็นพนักงานชั่วคราว และ 3. สถานประกอบการนั้น ๆ จ้างผ่านบริษัทเหมาช่วง การจ้างในรูปแบบแรกค่อยๆ ลดลง และหันมาใช้การจ้างผ่านบริษัทเหมาช่วงแทนเพื่อลดต้นทุนด้านสวัสดิการ และเลี่ยงภาระหน้าที่ตามกฎหมาย ซึ่งรวมไปถึงงานรักษาความปลอดภัย งานซ่อมบำรุง ในที่นี้นิยามของแม่บ้าน-ภารโรงนับว่าอยู่ภายใต้สภาพการจ้างงานทั้งสามประเภท ดังที่กล่าวไปแล้วคนกลุ่มนี้ไม่มีองค์กรจัดตั้งที่เข้มแข็งเพื่อเรียกร้องสภาพการจ้างงานที่ดีกว่าเดิม การศึกษาบางแห่งพบว่า พนักงานทำความสะอาดหญิงในบริษัทรับเหมาทำความสะอาด ไม่ได้มีการรวมตัวกัน มีเพียงการสานสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมอาชีพเพื่อผลประโยชน์การแลกเปลี่ยนข่าวสาร เป็นฟันเฟืองหนึ่งที่เอาตัวรอดในระบบการจ้างงานจากบริษัทหนึ่งไปสู่บริษัทหนึ่ง
 

แม่บ้าน-ภารโรง แรงงานผีในสถานศึกษา

หลายปีที่ผ่านมาตำแหน่งภารโรงหรือ นักการภารโรงในสถานศึกษาระดับประถมศึกษา-มัธยมศึกษา กระทั่งมหาวิทยาลัยมีสถานะเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยที่อาจกล่าวได้ว่า เงินเดือนน้อย สถานภาพทางสังคมต่ำ แต่อาจจะมีความมั่นคง ก่อนจะเปลี่ยนสถานะไปสู่สภาพการจ้างที่มั่นคงน้อยลงเรื่อย งานวิจัยในปี 2529[13] พบว่าพวกเขามีบทบาท 3 ประเภทนั่นคือ

งานประจำ ได้แก่ เปิด ปิดสำนักงาน ทำความสะอาดห้องเรียน อาคารเรียน ดูแล ตกแต่งรักษาความสะอาดบริเวณโรงเรียน จัดหาน้ำดื่ม น้ำใช้ในโรงเรียน การซ่อมแซม วัสดุ ครูภัณฑ์ของโรงเรียน บำรุงดูแลรักษาต้นไม้ในโรงเรียน การอยู่เวรยามรักษา ทรัพย์สิน และเดินหนังสือทั้งในและนอกโรงเรียน เป็นต้น

งานในลักษณะมอบหมาย เป็นงานที่ผู้บริหารโรงเรียนคือครูในโรงเรียนมอบหมาย ให้นักการภารโรงปฏิบัติเป็นครั้งคราว

งานพิเศษ เป็นงานที่ปฏิบัตินอกเหนืองานประจำ และงานที่ได้รับมอบหมาย เช่น งานส่วนรวมในชุมชนหรืองานระดมที่ผู้บังคับบัญชาหน่วยเหนือขึ้นไปสั่งการมา

ไม่เพียงเท่านั้นในงานวิจัยนี้ยังนำเสนอว่า ในมุมมองของภารโรงพวกเขามีขอบข่ายคือ  ซ่อมแซมวัสดุ ครุภัณฑ์ของโรงเรียน, การรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินของโรงเรียน, การปรับปรุง ตกแต่งอาคารและบริเวณโรงเรียน, การรักษาความสะอาดของอาคารเรียนและบริเวณโรงเรียน, การให้บริการแก่คณะครู งานของภารโรงจึงอาจเรียกได้ว่าเป็น "คนรับใช้" ของครูในสถานศึกษานั่นเอง จึงไม่แปลกที่ทัศนคติของภารโรงนั้นมีความน้อยเนื้อต่ำใจว่าประกอบอาชีพที่ต่ำต้อย

ด้วยภารกิจที่เกี่ยวข้องกับงานซ่อมบำรุงทั้งหลาย ส่วนใหญ่ในยุคเดิมนั้นภารโรงจึงมักเป็นเพศชาย ภาพของภารโรงนั้นอาจซ้อนทับได้กับตัวละครอย่าง "ไอ้ฟัก" ในนวนิยาย คำพิพากษาของชาติ กอบจิตติ ที่จัดพิมพ์ครั้งแรกในปี 2525 ความผูกพันของตำแหน่งนี้อยู่บนความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ที่มีลำดับชั้นดังนั้นการจ้างงานและสภาพการจ้างงานจึงมีลักษณะที่กินเวลาส่วนตัวเข้าไปด้วย เนื่องจากว่าผู้บังคับบัญชาพวกเขามีอำนาจให้คุณให้โทษ ดังที่พบการร้องเรียนว่า การพิจารณาความดีความชอบไม่ยุติธรรม

งานวิจัยระบุปัญหาของภารโรงก็คือ เรื่องวัสดุเครื่องมือขาดแคลน ไม่เพียงพอ ภาระงานที่มาก และเนื่องจากเป็นผู้รักษาความสะอาด ก็ต้องเจอกับปัญหาความไม่ร่วมมือจากนักเรียน ความไม่มั่นคงของพวกเขายังมีประเด็นเกี่ยวกับที่พักอาศัยอยู่ด้วย

อย่างไรก็ตาม ภารโรงได้กลายเป็นตำแหน่งของเพศหญิงมากขึ้นเรี่อยๆ และไม่ทราบว่าตั้งแต่เมื่อใด จนพบว่าบางแห่งได้ประกาศรับสมัครลูกจ้างชั่วคราวในตำแหน่ง "นักการภารโรง (แม่บ้าน)" ที่ระบุคุณสมบัติผู้สมัครว่าเป็น "เพศหญิง" ในอัตราเงินเดือน 4,870 บาท[14] แต่บางแห่งก็แยกตำแหน่ง "นักการภารโรง" กับ "แม่บ้านทำความสะอาด" ออกจากกันและไม่แยกเพศ ในอัตราเงินเดือน 7,740 บาททั้งคู่[15] บางแห่งตำแหน่งนักการภารโรง แยกออกเป็น นักการภารโรง (แม่บ้าน) และ นักการภารโรง (ภาคสนาม) อัตราเงินเดือน 5,340 บาท[16] แต่ที่ต่างออกไปคือ โรงเรียนที่อยู่นอกระบบราชการไทย พบว่า โรงเรียนนานาชาติเซนต์แอนดรู จ.ระยอง ให้ความสำคัญกับงานแม่บ้าน-ภารโรง โดยพบว่ามีการจ้างในสัดส่วนที่สูง พบว่า จ้างแม่บ้านจำนวนสี่สิบกว่าคน ต่อจำนวนนักเรียนประมาณ 250 คน ครูแปดสิบกว่าคน และยังมีสวัสดิการค่อนข้างดี กล่าวคือ เงินเดือนเริ่มที่ 10,000 บาท และมีช่วงเวลาทำงาน 5 วัน หยุด 2 วัน[17]

แม่บ้าน-ภารโรง เป็นบุคคลที่มีตำแหน่งแห่งที่ชัดเจนก็จริง แต่กลับเป็นคนที่ไม่ถูกมองเห็น เมื่อเทียบกับแม่บ้าน (domestic workers) เนื่องจากเป็นคนที่มีภาระในพื้นที่สาธารณะหรือกึ่งสาธารณะที่สังคมไทยมักไม่ใส่ใจอยู่แล้ว ต่างจากแม่บ้านที่ถูกจ้าง หรือแรงงานแม่บ้านที่อยู่ในครัวเรือน ที่การทำความสะอาดและใส่ใจความสัมพันธ์ของกิจการและผู้คนในบ้านเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว และอาจส่งผลกระทบโดยตรง หาความสะอาดและความสัมพันธ์นั้นไม่ถูกจัดการ ยังไม่ต้องนับว่า กรณีแม่บ้านนั้นได้รับความสนใจในระดับนานาชาติมากยิ่งขึ้น ขณะที่ตำแหน่งแม่บ้าน-ภารโรง กลับถูกละเลย ประเด็นดังกล่าวถูกยกขึ้นมาเป็นประเด็นอย่างยาวนานจนเรื่องสหภาพแรงงานด้านแม่บ้าน-ภารโรง และพนักงานทำความสะอาดเกิดขึ้นอย่างเป็นกิจลักษณะ[18] แต่ในสังคมไทยนั้น ให้ความสำคัญน้อยมากกับสภาพการจ้างงานอยู่แล้ว การเรียกร้องของสหภาพแรงงานกลับไปเข้มแข็งอยู่กับเหล่าแรงงานที่มีรายได้และความมั่นคงเป็นอย่างดีในองค์กรวิสาหกิจอย่าง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, การรถไฟแห่งประเทศไทย, การบินไทย ฯลฯ และแทบไม่ได้เป็นพลังที่ร่วมกันเคลื่อนไหวเพื่อแรงงานกลุ่มอื่นอย่างมีประสิทธิภาพมากนัก

 

แม่บ้าน-ภารโรง แรงงานผีในสถาบันอุดมศึกษา

ผมแทบจะไม่เจอตัวเขา แต่รับรู้ถึงการมีอยู่ของเขาได้ผ่านอุปกรณ์ทำความสะอาดและถังขยะที่ถูกเอาไปเททิ้งแทบทุกครั้งที่ผมเข้าห้อง       

อาจารย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่เปิดเผยนาม

29 สิงหาคม 2559

แต่เดิมในระบบราชการแม่บ้าน-ภารโรงมีตำแหน่งโครงสร้างอย่างชัดเจน รวมถึงมีพื้นที่อย่างห้องพักอย่างเป็นสัดส่วน ผู้เขียนเข้าใจว่ามาจากโครงสร้างบุคลากรข้าราชการที่สัมพันธ์กับพื้นที่และครุภัณฑ์ในฐานะ "ของหลวง" ที่หมายถึง "ของรัฐ" ไม่ใช่ "สาธารณะ"

ขณะที่สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของรัฐที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งในเงื่อนไขการออกนอกระบบไปสู่การเป็นสถาบันอุดมศึกษาภายใต้กำกับของรัฐที่มีการจัดการบริหารแบบเอกชนมากขึ้น หรือการที่มหาวิทยาลัยรัฐอีกส่วนที่แม้จะยังไม่ออกนอกระบบแต่ก็ต้องปรับตัวมากขึ้นไปด้วย สภาพการจ้างงานแม่บ้าน-ภารโรง จึงมีอยู่สามประเภททั้งมีสถานะเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยหรือลูกจ้างประจำ, ลูกจ้างชั่วคราว และแม่บ้านที่ถูกส่งมาจากบริษัททำความสะอาด

ตำแหน่งนักการภารโรงก็เริ่มมีการเปลี่ยนสถานะจากนักการภารโรงที่คอยทำความสะอาดไปเป็นนักการที่ดูแลวัสดุอุปกรณ์และซ่อมแซมอุปกรณ์ทั้งหลาย โดยที่ผู้รักษาความสะอาดจะมาจากบริษัทดังที่กล่าวไปแล้ว กรณีเช่นนี้เกิดขึ้นที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ (หรือที่รู้จักกันในนามวิทยาลัยเพาะช่าง) [19] บางแห่งตำแหน่งนักการภารโรงก็ทยอยเกษียณ และมหาวิทยาลัยก็เลือกที่จะจ้างในฐานะลูกจ้างประจำ หรือลูกจ้างชั่วคราว กระทั่งการจ้างผ่านบริษัทรักษาความสะอาด


พื้นที่ต่ำศักดิ์-พื้นที่แห่งความไร้ตัวตน-สภาวะของผีแรงงาน

ห้องและพื้นที่อาคารต่างๆ ถูกออกแบบมาเพื่อตอบสนองโครงสร้างการบริหารงานบุคคลและกิจกรรมที่ถูกกำหนดมาจากผู้บริหารที่ต้องการให้พื้นที่นั้นรับใช้ใครและกิจกรรมอะไร สิ่งที่เลี่ยงไม่ได้เลยคือ การกำหนดลำดับความสำคัญของพื้นที่ต่างๆ ในสังคมไทยยังมีมิติที่ซ้อนเข้ามาอีกนั่นคือ มิติของลำดับศักดิ์ของผู้ใช้อาคาร การใช้สอยของพื้นที่ถูกกำหนดด้วยสถานะทางสังคม ดังที่เราจะเห็นได้ถึงการแบ่งแยกห้องน้ำ ที่นอกจากจะแบ่งจากความเป็นชาย-หญิงแล้ว ยังแบ่งแยกระหว่างห้องน้ำอาจารย์-นักศึกษา หรือในท่าอากาศยานบางแห่งนอกจากจะมีห้องรับแขกพิเศษแล้ว ยังมีการกำหนดห้องทรงพระอักษร สำหรับพระราชวงศ์แยกมาอีกต่างหาก ในภาพที่ตัดกันพื้นที่ของแม่บ้าน-ภารโรง นับเป็นพื้นที่ที่อยู่ในลำดับชั้นต่ำที่สุด

บางแห่งได้จัดพื้นที่ไว้อย่างเป็นสัดส่วนเช่นกรณีห้างเซ็นทรัลพลาซ่า ลำปาง จัดเตรียมไว้บริเวณที่จอดรถชั้นใต้ดิน กั้นเป็นคอกและมีโต๊ะและม้านั่งยาวให้ ซึ่งบริเวณดังกล่าวยังใช้ร่วมกับพื้นที่นั่งพักสูบบุหรี่ แต่บางแห่งที่อาคารไม่ได้จัดเตรียมไว้ทำให้เหล่าแม่บ้านต้องทำตัวเป็นผีที่ "สิง" อยู่พื้นที่ที่เป็นช่องว่างเพื่อใช้สอยโดยพวกเขาเอง เช่น พื้นที่ใต้บันไดเลื่อน สนามบินสุวรรณภูมิ, ห้องเก็บของในห้องน้ำ ฯลฯ

ในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ที่มีกิจกรรมหลักก็คือ การเรียนการสอน และการสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าว ดังนั้นอาคารจึงให้ความสำคัญลดหลั่นกันลงมานั่นคือ ผู้บริหาร อาจารย์ นักศึกษา บุคลากรมหาวิทยาลัยและแม่บ้าน-ภารโรง เมื่อพิจารณาแล้ว ผู้ใช้อาคารสามประเภทแรก ไม่ได้มีลักษณะการใช้สอยอาคารที่ติดอยู่กับพื้นที่อย่างตายตัวนักในเวลาทำการ

ขณะที่บุคลากรมหาวิทยาลัย แม่บ้าน-ภารโรงเป็นผู้ที่อยู่กับอาคารดังกล่าว พวกเขา "สิง" อยู่ในอาคารทั้งในแง่อุปมา และ "สิง" อยู่ในอาคารด้วยระเบียบข้อจำกัดที่ผูกมัดพวกเขา ดังที่เห็นได้จากคำสั่งราชการให้พวกเขาอยู่เวร เงื่อนไขดังกล่าวกลายเป็นภาระหนักอึ้งที่พวกเขาไม่มีอำนาจ แต่ต้องรับผิดชอบพื้นที่ ดังเห็นได้จาก คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1944/2538

"จำเลยเป็นลูกจ้างประจำของวิทยาลัยครูซึ่งสังกัดอยู่กับโจทก์ทำหน้าที่ยามรักษาการณ์ และรักษาความปลอดภัย จำเลยมีหน้าที่เข้าเวรตั้งแต่เวลา 24 นาฬิกาถึง 6 นาฬิกาวันรุ่งขึ้น  ปรากฏว่ามีคนร้ายงัดหน้าต่างเข้าไปลักเอาเครื่องอัดสำเนาเอกสารในอาคารหลังหนึ่งซึ่งมีเวรประจำตึกเฝ้าอยู่ 1 คนโดยยังมีอาจารย์เวรและอาจารย์ผู้ตรวจเวรคอยดูแลตรวจตราอีกชั้นหนึ่ง ตามระเบียบผู้อยู่เวรประจำตึกมีสิทธินอนได้ ส่วนยามต้องตรวจตราทั่วบริเวณไม่มีสิทธินอนพัก จนกว่าจะออกเวรยามจะต้องตรวจตราความเรียบร้อยตลอดเวลา เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า หลังจากจำเลยได้เข้ารับเวรต่อจากผลัดก่อนแล้วนั้น จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ต้องสำรวจพื้นที่และทรัพย์สินในอาคารให้ครบทั้ง 30 อาคารซึ่งโดยวิสัยของผู้มีหน้าที่อยู่ยามที่ต้องดูแลบริเวณที่มีพื้นที่ถึง 150 ไร่  และมีอาคารถึง 30 อาคาร ขณะที่มีการเข้าเวรเพียงผลัดละ 2 คน ทั้งไม่มี    ระเบียบชัดแจ้งให้กระทำ การดังกล่าวจำเลยไม่น่าจะต้องใช้ความระมัดระวังถึงระดับนั้นอีกทั้งของอาจจะหายในช่วงการอยู่เวรยามของผลัดก่อนก็ได้จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองประมาทเลินเล่อทำให้ทรัพย์สินของโจทก์เสียหายไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์"[20]

แม้ว่าคดีความเกี่ยวข้องกับการอยู่เวรจะตัดสินให้พวกเขาไม่ต้องรับผิดชอบพื้นที่อันกว้างขวาง แต่ภายใต้ระบบสายบังคับบัญชา การตรวจสอบ และการสอบสวนเชิงวินัยนั้นได้กดให้พวกเขาแบกภาระที่มองไม่เห็นนั้นอยู่ด้วย อย่างไรก็ตามการอยู่เวรนอนเฝ้าอาคารไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะกับแม่บ้าน-ภารโรง ในสถานที่ราชการอื่นๆ ข้าราชการบางส่วนก็ต้องอยู่เวร เช่น กรณีครูเวรที่ตกเป็นคดีในปี 2523 เนื่องจากว่าโรงเรียนถูกงัดในวันที่เขานอนเวรอยู่[21]

 

พื้นที่พักผ่อน/ห้องพักของแม่บ้าน-ภารโรงในสถาบันอุดมศึกษา

ภาระและหน้าที่ของแม่บ้าน-ภารโรงนั้น สัมพันธ์กับสภาพการจ้างงานอย่างยิ่ง กรณีของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาลัยเพาะช่าง ที่กล่าวไปแล้วพวกนักการเดิมยังมีห้องพักเดิมที่เคยเตรียมไว้ให้ แต่สำหรับแม่บ้าน-ภารโรงที่มากับบริษัททำความสะอาดกลับไม่มีพื้นที่ดังกล่าว ต้องนั่งตามโถงทางเดินแต่ละชั้นไป[22] เช่นเดียวกับที่ คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากรได้จ้างบุคลากรไว้สองประเภท นั่นคือ ลูกจ้างประจำที่ทำความสะอาดในแต่ละภาควิชา กับ พนักงานทำความสะอาดบริษัทที่รับผิดชอบบริเวณอาคารเรียน กลุ่มแรกจะมีที่นั่งพักให้เป็นกิจลักษณะ แต่ส่วนหลังจะเป็นพื้นที่คล้ายๆห้าง บริเวณห้องเก็บวัสดุ ใกล้ห้องน้ำ หรือกระทั่งตามบันได[23]

นอกจากงานทำความสะอาดและงานที่เกี่ยวข้องเช่น การเปิด-ปิดห้องเรียน ล้างจาน ฯลฯ แล้ว พวกแม่บ้าน-ภารโรงยังทำหน้าที่เป็นผู้ที่อำนวยความสะดวกให้กับคณาจารย์ สำหรับลูกจ้างประจำพวกเขาอาจจะต้องนอนเฝ้าเวรด้วย อย่างกรณีของคณะมนุษยศาสตร์ ม.เชียงใหม่พบว่า ผู้ที่เป็นเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานส่วนงาน ลูกจ้างประจำ พนักงานมหาลัย ยกเว้นอาจารย์ หากมีเงินเดือนต่ำกว่า 30,000 บาท พวกเขามีหน้าที่ต้องอยู่เวร สำหรับพวกเงินเดือน 30,000 บาทขึ้นไป จะต้องรับผิดชอบมาตรวจเวร โดยจะแบ่งเป็นเวรกลางคืนที่มีทุกวัน ส่วนนี้จะเป็นหน้าที่ของบุคลากรชาย ส่วนเวรกลางวันในวันเสาร์-อาทิตย์จะเป็นของบุคลากรหญิง และเคยมีปัญหากรณีที่มีการเฝ้าเวรกลางคืน แล้วเจ้าหน้าที่คนสวนผู้เฝ้าเวรพบว่า ในห้องพักอาจารย์ลืมปิดพัดลม แล้วเกิดไฟไหมพัดลมจึงทุบกระจกเพื่อเข้าไปดับไป แต่กลับโดนสอบว่า เหตุใดถึงทุบกระจก เหตุใดไม่เอากุญแจมาไขห้อง[24] ในวันธรรมดาที่พวกเขาไร้อำนาจ และตัวตนบนพื้นที่ดังกล่าว กลับเป็นว่าพวกเขาต้องมาแบกรับผิดชอบนอกเวลาราชการในนามของการเฝ้าเวรอาคารสถานที่เสียอีก

ยังมีกรณีที่ฟังดูลี้ลับด้วย อาจารย์ท่านหนึ่งกล่าวว่า เขาพบแม่บ้าน-ภารโรง ประมาณ 1-2 ครั้ง ในระยะเวลา 8-9 เดือน แต่ที่บ่อยกว่ากลับเจอเพียงร่องรอยบางอย่างเท่านั้นเช่นอุปกรณ์ทำความสะอาด หรือถังขยะที่ถูกนำไปทิ้งแล้วในวันใหม่[25] ยิ่งแสดงให้เห็นถึงสภาวะที่ไร้ตัวตนของแรงงานเหล่านี้

จากการสำรวจเบื้องต้นของผู้เขียน พบว่าพื้นที่สำหรับพักผ่อน/ห้องพักของแม่บ้าน-ภารโรงอาจจำแนกได้เป็น 4 ประเภทนั่นคือ

ประเภทที่หนึ่ง มีห้องหรือพื้นที่รองรับอย่างเหมาะสม แยกเป็นสัดส่วนอย่างชัดเจนและอาจมีสิ่งอำนวยความสะดวกจัดหาไว้ด้วย พื้นที่เช่นนี้ถือเป็นการออกแบบพื้นฐานที่ควรจะมี กรณีตัวอย่าง เช่น ห้องพักแม่บ้าน-ภารโรง ชั้นที่ 1 ตึก 9 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏลำปาง อันเป็นอาคารเดียวกับสำนักงานคณะ บุคลากรที่ใช้ห้องนี้มีทั้งลูกจ้างประจำและลูกจ้างชั่วคราว และยังไม่มีการว่าจ้างผ่านบริษัททำความสะอาด พวกแม่บ้านมีหน้าที่ปิด-เปิดอาคารและห้องเรียน ทำความสะอาด ห้องพักนี้มีสิ่งอำนวยความสะดวกตั้งแต่ เตาแก๊ส, ตู้เย็น, ตู้น้ำดื่ม, โต๊ะกินข้าว พร้อมอุปกรณ์จานชามต่างๆ พื้นที่นี้บ่อยครั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการก็มาร่วมรับประทานอาหารเช้า กลางวันหรือช่วงพักอีกด้วย

ประเภทที่ 2 มีห้องหรือพื้นที่รองรับโดยใช้ร่วมกับพื้นที่อาคารที่มีอยู่แล้ว เช่น ตึก HB2 คณะมนุษยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ เป็นที่นั่งพักของลูกจ้างประจำที่ใช้ร่วมกับส่วนกลางของห้องพักอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ และบ่อยครั้งที่นักศึกษา อาจารย์และแม่บ้านจะมีกิจกรรมร่วมกันในห้องนี้ ทำให้บริเวณห้องนี้มีสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างเช่น เตาไมโครเวฟ ตู้กดน้ำ ตู้เย็น

อาคารคณะมนุษยศาสตร์1 ม.เกษตรศาสตร์ มีที่นั่งพักของแม่บ้าน-ภารโรง หน้าห้องน้ำอาจารย์ชาย พื้นที่ดังกล่าวมีลักษณะเป็นเพียงโต๊ะและเก้าอี้นั่งพักอยู่หน้าห้องน้ำที่มีพื้นที่ว่างเหลือ นอกจากนั้นยังมีบริเวณไม่ไกลกันนักที่เป็นห้องซักล้าง กล่าวกันว่าได้กลายเป็นสำนักงานของเหล่าแม่บ้าน-ภารโรงไปโดยปริยาย พวกเขาทั้งหมดมีสถานะเป็นพนักงานที่บริษัททำความสะอาดส่งมา[26]

อาคารคณะสังคมศาสตร์4 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[27] มีลักษณะคล้ายกับอาคารคณะมนุษยศาสตร์ 1 คือ บริเวณใกล้ห้องน้ำจะมีพื้นที่ว่างอยู่ แต่จะใช้โต๊ะสูงกั้นแบ่งพื้นที่ไม่ให้คนมองเข้าไปได้

ประเภทที่ 3 จัดเตรียมไว้ให้ในสภาพที่พอทนได้ หรือมีพื้นที่เหลืออยู่ในอาคาร แล้วแม่บ้านดัดแปลงไว้ใช้ในสถานการณ์เฉพาะหน้า เช่น เต๊นท์ที่พักแม่บ้าน-ภารโรง บริเวณอาคารศูนย์เอเชียศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต แม่บ้านเหล่านี้คือพนักงานจากบริษัททำความสะอาดเช่นกัน แตกต่างจากก่อนหน้านั้นมีลูกจ้างประจำสองคน ก่อนที่จะเกษียณและเสียชีวิต จะมีห้องพักภายในอาคารให้[28]

อาคาร HB7 คณะมนุษยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ พบว่ามี 3 จุดที่มีการดัดแปลงการใช้พื้นที่[29]  จุดแรกใช้ที่ว่างของอาคารบริเวณหนึ่งของชั้น มีขนาดประมาณ 2.5 x 3 เมตร เกิดจากการใช้ตู้ไม้กั้นเพื่อแบ่งพื้นที่และเก็บของจิปาถะ ภายในมีโต๊ะและเก้าอี้ พร้อมเก้าอี้เล็กเชอร์ไม้เก่าๆ หนึ่ง พร้อมกับพัดลม เป็นที่รวมตัวกันของแม่บ้านเวลากินข้าว ถือเป็นจุดที่กว้างขวางที่สุด มีหน้าต่างและแสงสว่างทำให้อากาศถ่ายเท จุดที่สองอยู่ในห้องเก็บของในพื้นที่ประมาณ 1 x 2 เมตร ล้อมรอบด้วยตู้เหล็กเก็บเอกสารและวัสดุ บริเวณนี้แม่บ้านนำเอาแผ่นฟิวเจอร์บอร์ดมารองนอน พร้อมกับเก้าอี้เล็กเชอร์ไม้เก่าๆ สำหรับวางสิ่งของอย่างขวดน้ำ ทิชชู่ รองเท้า หนังสือพิมพ์ มีเพียงคนเดียวที่ใช้พื้นที่นี้ คาดว่าเป็นการจัดเตรียมเอาเองตามมีตามเกิด แต่ก็ยังมีหน้าต่างและแสงสว่างธรรมชาติเข้ามา เวลากินข้าวก็จะไปรวมตัวกันในจุดแรกที่กล่าวถึง ส่วนจุดที่สาม เป็นพื้นที่ห้องเก็บของขนาด 1 x 1 เมตร สำหรับอยู่คนเดียว ภายในเก็บสิ่งของเครื่องใช้ของแม่บ้าน แค่พัดลมเครื่องเดียวก็กินพื้นที่ไปเศษหนึ่งส่วนสี่ของห้องแล้ว ห้องดังกล่าวเป็นห้องทึบมีเพียงประตูเท่านั้น ไม่มีหน้าต่างใดๆ ต้องอาศัยไฟฟ้าจากหลอดฟลูออเรสเซนต์เท่านั้น

ห้องภารโรง (Janitor Room) อาคารเรียนรวม ม.ราชภัฏเลย ศูนย์ขอนแก่น[30] การขึ้นป้ายชื่อห้องดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงการจัดเตรียมจากผู้บริหาร แต่น่าเสียดายว่า ห้องดังกล่าวอยู่ติดกับห้องน้ำ และกลายเป็นห้องที่ใช้สำหรับเก็บอุปกรณ์ทำความสะอาด มากกว่าจะเป็นพื้นที่พักผ่อนสำหรับมนุษย์ได้ เนื่องจากมีลักษณะที่คับแคบ ภายในไม่มีหน้าต่าง เช่นเดียวกับอีกห้องหนึ่งในอาคารเดียวกันพบว่าภายในมีลักษณะคล้ายส่วนซักล้างที่มีการปูกระเบื้องเพื่อใช้ในการเก็บอุปกรณ์ทำความสะอาด และซักล้างอุปกรณ์ดังกล่าว ทำให้แม่บ้านต้องไปอาศัยห้องสมุด โรงอาหาร โถงใหญ่ของอาคารเรียนรวมเป็นจุดพัก ซึ่งพวกเขาก็จะเดินไปมาเพื่อดูแลและทำความสะอาดพื้นที่ดังกล่าวไปด้วย

ห้องเก็บของ ชั้นที่ 1 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏเลย[31] มีเรื่องเล่าอยู่ว่า อาจารย์มักจะได้กลิ่นการทำกับข้าวลอยขึ้นมาชั้นที่สาม จากบริเวณห้องดังกล่าวช่วยตอกย้ำให้กับการรับรู้สถานะว่า มีอยู่ แต่มองไม่เห็นซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับความคลุมเครือและกำกวมของผี กระนั้นห้องเก็บของนี้ ภายในจะเป็นส่วนระบบท่อน้ำประปาและท่อโสโครก พื้นที่ว่างภายในได้ปรับใช้สำหรับวางโต๊ะ และมีชั้นวางของและจานชาม และสังเกตว่าภายในจะมีก๊อกน้ำ และรูระบายน้ำ พื้นที่ดังกล่าวคงใช้ในการล้างจานชามที่ใช้งานด้วย

ประเภทที่ 4 ไม่ได้จัดเตรียมไว้ให้ แม่บ้านต้องไปอาศัยตามบันได ห้องน้ำ ข้อนี้อาจเป็นได้ว่า อาคารอาจมีห้องหรือพื้นที่รองรับไว้แต่ไม่เพียงพอกับปริมาณแม่บ้าน-ภารโรง เช่น อาคารวิทยาลัยการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคามไม่มีห้องพักให้แม่บ้าน ทำให้พวกเขาต้องไปกินข้าวในห้องควบคุมไฟฟ้า ของห้องเรียนใหญ่[32]

อาคาร E1 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง[33] ไม่มีห้องพักให้แม่บ้าน-ภารโรง พบว่า แม่บ้านต้องไปแสวงหาพื้นที่พักผ่อนเอง เช่น แม่บ้านเลือกที่จะ "สิง" ห้องเครื่องระบบไฟฟ้า-แอร์ ที่นับว่าเสี่ยงอันตรายอยู่ด้วย แม่บ้าน-ภารโรงแห่งนี้เป็นพนักงานของบริษัททำความสะอาด


สรุป

เห็นได้ว่า สภาพพื้นที่ที่พักของแม่บ้าน-ภารโรงสอดคล้องกับสภาพการจ้างงานด้วย นั่นคือ แม่บ้าน-ภารโรงที่เป็นลูกจ้างประจำมักจะถูกนับเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างองค์กร และครุภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ขณะที่แม่บ้าน-ภารโรงที่มาจากบริษัททำความสะอาด หากองค์กรใจกว้างก็จะมีการจัดเตรียมพื้นที่ให้เขาอย่างเป็นสัดส่วน แต่สำหรับผู้ที่ไม่ได้รับสวัสดิการเชิงพื้นที่ เหล่าแม่บ้าน-ภารโรงก็ต้องปรับตัวในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการอาศัยชั่วคราวในพื้นที่ชั่วคราว ไม่ว่าจะเป็นโถงบันได ม้านั่งหิน หรือกระทั่งการ "สิง" พื้นที่ว่างที่หลงเหลืออยู่ภายในอาคาร ไม่ว่าจะเป็นห้องเก็บของ ห้องควบคุมไฟ ช่องว่างที่ไม่มีแม้แต่หน้าต่างจะระบายอากาศ เพื่อใช้เป็นที่พักผ่อนชั่วคราว ทั้งนี้อาจเกิดขึ้นทั้งการรับรู้หรือไม่รับรู้ของสถานศึกษานั้นๆด้วย สภาพการจ้างงานของแม่บ้าน-ภารโรงที่มีแนวโน้มย่ำแย่อันเนื่องมาจากการที่สถานศึกษาต้องการจะลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการในนามของพนักงานประจำ ทำให้มีการจ้างแม่บ้าน-ภารโรงมาจากบริษัททำความสะอาดมากขึ้น ทำให้สถานศึกษาเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบชีวิตของพวกเขา กรณีนี้ได้แสดงให้เห็นถึงสวัสดิการเชิงพื้นที่-ที่พัก อย่างไรก็ตามไม่ใช่เฉพาะสถาบันการศึกษาเท่านั้นที่พวกเขาประสบปัญหานี้ ในอาคารสาธารณะและสถานที่ราชการต่างๆก็ประสบปัญหาดังกล่าวเช่นกัน เพียงแต่ว่ายังไม่มีใครศึกษาอย่างจริงจัง

0000

 

เชิงอรรถ

[1] อาจารย์ สาขาวิชาสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง

[2] มติชนออนไลน์. "เจ๋งได้อีก! คณบดีสื่อสารมวลชน มช. ปลอมเป็นภารโรง หวังปลูกจิตสำนึกให้ น.ศ.ใหม่ (ชมคลิป)". อ้างอิงใน http://www.matichon.co.th/news/235534 (3 สิงหาคม 2559) อ้างอิงเมื่อ 30 สิงหาคม 2559

[3] International Trade Union Confederation. Decent work, decent life for domestic workers : ITUC Action Guide, 2010, p.9

[4] กรุงเทพธุรกิจออนไลน์. "กัมพูชาร่วมมาเลเซียเพิ่มรักษาสิทธิ-ปลอดภัยลูกจ้างแม่บ้าน". อ้างอิงจาก http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/638502#sthash.zbTjgVGg.dpuf (4 สิงหาคม 2559) อ้างอิงเมื่อ 31 สิงหาคม 2559

[5] ทีมข่าวแรงงาน ประชาไท. "ชีวิตลำเค็ญ ‘คนทำงานแม่บ้าน’ จาก ‘อินโดนีเซีย’". อ้างอิงจาก  http://prachatai.com/journal/2015/02/58014 (20 กุมภาพันธ์ 2558) อ้างอิงเมื่อ 31 สิงหาคม 2559

[6] ทีมข่าวแรงงาน ประชาไท. "ชีวิตลำเค็ญ ‘คนทำงานแม่บ้าน’ จาก ‘อินโดนีเซีย (ตอน2)’". อ้างอิงจาก http://prachatai.com/journal/2015/04/58980 (26 เมษายน 2558) อ้างอิงเมื่อ 31 สิงหาคม 2559

[7] ประชาไท. "ฮิวแมนไรท์วอทช์จี้ยูเออีคุ้มครองแม่บ้านจากต่างชาติ". อ้างอิงจาก http://prachatai.com/journal/2014/10/56185 (24 ตุลาคม  2557) อ้างอิงเมื่อ 31 สิงหาคม 2559

[8] ประชาไท. "คนทำงานบ้านทั่วโลกร้อยละ 90 ไม่มีประกันสังคม ที่ฮ่องกงร้อยละ 17 ถูกใช้แรงงานบังคับ". http://prachatai.com/journal/2016/03/64898 (28 มีนาคม  2559) อ้างอิงเมื่อ 31 สิงหาคม 2559

[9] คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.). "ข่ายคนทำงานบ้าน เผยไร้สวัสดิการขั้นพื้นฐาน ร้องรัฐปกป้องคุ้มครองสิทธิอาชีพแม่บ้าน". http://www.tacdb-burmese.org/web/index.php?option=com_content&view=article&id=63:2010-11-16-05-51-28&catid=34:2010-10-18-12-23-22&Itemid=53 (16 พฤศจิกายน  2553) อ้างอิงเมื่อ 31 สิงหาคม 2559

[10] เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. "จาก 'มดลูกก็ปัจจัยการผลิต' ถึงภาคบริการ: ทำไมผู้หญิงต้องปลดแอกตัวเองจากระบบทุนนิยม". อ้างถึงจาก https://blogazine.pub/blogs/group-of-comrades/post/5276 (6 มีนาคม 2559) อ้างถึงเมื่อ 18 กันยายน 2559

[11] เก่งกิจ กิติเรียงลาภ, เรื่องเดียวกัน

[12] ประชาไท. "พนักงานทำความสะอาด ‘คุณพี่-คุณน้า-คุณป้า-คุณย่า-คุณยาย’ ในที่ทำงาน".  อ้างอิงจาก http://prachatai.com/journal/2015/08/60987 (23 สิงหาคม  2558) อ้างอิงเมื่อ 31 สิงหาคม 2559

[13] ชาติชาย ฟักสุวรรณ. "บทบาทหน้าที่ของนักการภารโรงตามงานวิจัย". อ้างอิงจาก http://www.brr.ac.th/articles.php?article_id=263 (27 สิงหาคม  2554) อ้างอิงเมื่อ 31 สิงหาคม 2559 น่าจะอ้างถึงงานวิจัยนี้ สานิต สมมิตร. การศึกษาบทบาทหน้าที่และขวัญกำลังใจของนักการภารโรง สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาขอนแก่น วิทยานิพนธ์ การศึกษามหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2529.

[14] ประกาศโรงเรียนแม่ทาวิทยาคม เรื่อง ประกาศรับสมัครลูกจ้างชั่วคราว ตำแหน่ง นักการภารโรง (แม่บ้าน), 24 กันยายน 2557 อ้างอิงจาก http://www.maetha.ac.th/UserFiles/File/รับสมัครภารโรงแม่บ้าน.pdf อ้างอิงเมื่อ 31 สิงหาคม 2559

[15] ประกาศวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ เรื่อง การรับสมัครลูกจ้างนักการภารโรงและแม่บ้านทำความสะอาด, 5 สิงหาคม 2559 อ้างอิงจาก http://www.tatc.ac.th/files/20100887_16080515150149.pdf อ้างอิงเมื่อ 31 สิงหาคม 2559

[16] สำนักประชาสัมพันธ์จังหวัดนครนายก. "วิทยาลัยเทคนิคนครนายก มีความประสงค์จะรับสมัครบุคคลเข้าทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราว ตำแหน่ง นักการภารโรง(แม่บ้าน) จำนวน 1 อัตรา อัตราจ้าง 5,340 บาท ตำแหน่ง นักการภารโรง (ภาคสนาม) จำนวน 2 อัตรา อัตรา 5,340 บาท". อ้างอิงจาก  http://pr.prd.go.th/nakhonnayok/ewt_news.php?nid=932 (16 กรกฎาคม  2558) อ้างอิงเมื่อ 31 สิงหาคม 2559

[17] ธนรรค เวชสุนทร, ผู้ปกครองนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนเซนต์แอนดรู ระยอง, สัมภาษณ์, 29 สิงหาคม 2559

[18] Justice for Janitors History Project."Timeline". access from http://socialjusticehistory.org/projects/justiceforjanitors/timeline access on 2 September 2016

[19] อาจารย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ (วิทยาลัยเพาะช่าง)ไม่เปิดเผยนาม, สัมภาษณ์, 28 สิงหาคม 2559

[20] ค้นหาฎีกา. "คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1944/2538". อ้างอิงจาก https://deka.in.th/view-2399.html อ้างอิงเมื่อ 2 กันยายน 2559

[21] ค้นหาฎีกา. "คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1996/2523". อ้างอิงจาก https://deka.in.th/view-2399.html อ้างอิงเมื่อ 2 กันยายน 2559

[22] อาจารย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ (วิทยาลัยเพาะช่าง)ไม่เปิดเผยนาม, สัมภาษณ์, 28 สิงหาคม 2559

[23] คมกฤช อุ่ยเต็งเค่ง, อาจารย์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสนามจันทร์, สัมภาษณ์, 28 สิงหาคม 2559

[24] พนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุน คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไม่เปิดเผยนาม, สัมภาษณ์, 2 กันยายน 2559

[25] อาจารย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่เปิดเผยนาม, สัมภาษณ์, 29 สิงหาคม 2559

[26] อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไม่เปิดเผยนาม, สัมภาษณ์, 2 กันยายน 2559

[27] อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไม่เปิดเผยนาม, สัมภาษณ์, 3 กันยายน 2559

[28] พนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ไม่เปิดเผยนาม, สัมภาษณ์, 29 สิงหาคม 2559 และ 2 กันยายน 2559

[29] พนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุน คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไม่เปิดเผยนาม, สัมภาษณ์, 2 กันยายน 2559

[30] อาจารย์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ศูนย์ขอนแก่น ไม่เปิดเผยนาม, สัมภาษณ์, 2 กันยายน 2559

[31] อาจารย์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ไม่เปิดเผยนาม, สัมภาษณ์, 29 สิงหาคม 2559

[32] อาจารย์ วิทยาลัยการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ไม่เปิดเผยนาม, สัมภาษณ์, 1 กันยายน 2559

[33] อาจารย์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ไม่เปิดเผยนาม, สัมภาษณ์, 3 กันยายน 2559

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net