'รถเมล์สุขภาพ' ระบบส่งต่อชุมชน จาก 'รพ.ขุนหาญ' ถึง 'รพ.ศรีสะเกษ' ช่วยคนไข้รักษาต่อเนื่อง 100%

รถเมล์สุขภาพ รพ.ขุนหาญ 11 ปี ช่วยคนไข้ไม่ฉุกเฉินกลุ่มส่งต่อ รพ.ศรีสะเกษ เข้าถึงการรักษาเกือบ 100% แก้ปัญหาคนไข้ไม่ไปตามนัด เหตุจากอุปสรรคการเดินทางและค่าใช้จ่าย ส่งผลเกิดการประสานข้อมูลและวางระบบส่งต่อระหว่าง รพ. แนวโน้มคนไข้ใช้บริการเพิ่ม เหตุสะดวก รวดเร็ว ได้รับตรวจแน่นอน แถมประหยัดค่าเดินทาง จ่ายไป-กลับเพียง 50 บาท พร้อมชี้คนไข้ตาต้อกระจกรับการผ่าตัดกว่า 1,600 ราย เป็นผลชัดเจนจากโครงการนี้
 
 
นางเพ็ญศรี นรินทร์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ งานอุบัติเหตุฉุกเฉิน รพ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของโครงการรถเมล์สุขภาพว่า เริ่มจากการทบทวนจำนวนผู้ป่วยส่งต่อ พบว่ามีคนไข้กลุ่มไม่ฉุกเฉินที่ต้องส่งต่อรักษาโรคเฉพาะทางที่ รพ.ศรีสะเกษ ไม่เดินทางไปรักษาจำนวนมาก มีอัตราสูงถึงร้อยละ 13.48 จากคนไข้ไม่ฉุกเฉินที่ถูกส่งต่อทั้งหมด คนไข้กลุ่มนี้ภายหลังจะมีอาการหนักเพิ่มขึ้น เมื่อกลับมาตรวจที่ รพ.ขุนหาญอีกครั้ง สาเหตุจากความไม่สะดวกในการเดินทาง ด้วย รพ.ขุนหาญและ รพ.ศรีสะเกษมีระยะทางห่างกันถึง 60 กิโลเมตร อีกทั้งคนไข้ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและยากจน บางคนไม่มีคนดูแล และไม่กล้าไปเอง จึงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าถึงการรักษา
 
จากสถานการณ์ข้างต้นนี้คิดว่า ทำอย่างไรจึงจะช่วยคนไข้กลุ่มนี้ให้เข้าถึงการรักษาได้ จึงมีแนวคิดว่าหากนัดคนไข้เหล่านี้ในวันเดียวกันและจัดหารถรับส่งไปยัง รพ.ศรีสะเกษได้หรือไม่ จึงเป็นที่มาของโครงการรถเมล์สุขภาพ โดยได้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา โดยช่วงแรกขอใช้รถของ รพ.ขุนหาญไปรับส่งก่อน แต่เนื่องจากรถ รพ.มีเพียงแค่ 3 คันเท่านั้น ซึ่งในกรณีที่มีผู้ป่วยฉุกเฉินทำให้มีปัญหา ดังนั้นจึงได้จัดทำข้อมูลความคุ้มทุนของงบประมานในการจัดรถรับส่งคนไข้จากงบ CEO จังหวัดศรีสะเกษ ได้รับงบดำเนินการจัดรถรับส่งคนไข้ตลอดทั้งปีจำนวน 2.6 แสนบาท  
 
ต่อมางบ CEO ได้หมดลง และยังหางบไม่ได้ ในฐานะที่เป็นคนพาคนไข้เดินทางไป รพ.ศรีสะเกษ จึงพูดคุยกับคนไข้ว่างบจัดรถรับส่งคนไข้ได้หมดลงแล้ว เป็นไปได้หรือไม่ถ้าเราจะช่วยกันออกเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อจ้างรถรับส่งกันเอง ปรากฎว่าคนไข้ต่างยินดี นับจากวันนั้นมาจนถึงวันนี้ค่าใช้จ่ายในการจัดรถรับส่งคนไข้จาก รพ.ขุนหาญ เพื่อรับการรักษายัง รพ.ศรีสะเกษ หรือที่เรียกว่า รถเมล์สุขภาพ จึงมาจากการร่วมจ่ายของคนไข้เองทั้งหมด โดยคิดค่าบริการไปกลับครั้งละ 50 บาท
 
นางเพ็ญศรี กล่าวว่า ในการนำคนไข้จาก รพ.ขุนหาญ รับการรักษาส่งต่อที่ รพ.ศรีสะเกษ โดยรถเมล์สายสุขภาพ จะนัดคนไข้ทุกวันพุธเวลา 7 โมงเช้า รถออกในเวลา 8 โมงเช้า เฉลี่ยเที่ยวละประมาณ 30 คน โดยก่อนหน้านี้พยาบาลจะประสานข้อมูลส่งต่อคนไข้กับแผนกต่างๆ ของ รพ.ศรีสะเกษไว้ก่อน ทั้งข้อมูลประวัติคนไข้ บัตรคิวรับการตรวจ
 
“ก่อนถึงวันพุธเราจะมีหนังสือประสานไปยัง รพ.ศรีสะเกษก่อน ทั้งจำนวนคนไข้ แผนกที่คนไข้ต้องรับการตรวจ ซึ่ง รพ.ศรีสะเกษดูแลให้เป็นอย่างดี มีการจัดคิว จัดแฟ้มข้อมูลคนไข้ไว้ให้ เมื่อรถเมล์สายสุขภาพไปถึงคนไข้ก็จะเข้ารับการตรวจยังแผนกต่างๆ ที่ประสานไว้ โดยในส่วนคนไข้ที่ซับซ้อนที่ต้องทำการตรวจอัลตร้าซาวด์หรือเอ็กซเรย์ รพ.ศรีสะเกษจะทำให้คราวเดียว เพื่อไม่ให้คนไข้ต้องเดินทางกลับมาอีก ทำให้เกิดความสะดวกและรวดเร็ว”
 
หลังดำเนินโครงการรถเมล์สายสุขภาพ นางเพ็ญศรี กล่าวว่า ทำให้คนไข้เข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น ปัจจุบันคนไข้ที่ส่งต่อไปยัง รพ.ศรีสะเกษ มีการเข้าถึงเกือบ 100% ขณะที่จำนวนคนไข้ที่ไม่ไปตรวจตามนัดลดลงจนเหลือเกือบศูนย์
 
ทั้งนี้ผลจากการดำเนินโครงการที่เห็นชัดเจนมากคือ การเข้าถึงการรักษาของคนไข้โรคตาเพราะหมอตา รพ.ศรีสะเกษมีน้อยมาก บางคนไปรอคิวเป็น 10 ครั้งก็ยังไม่ได้รับการตรวจ ทำให้คนไข้ไม่อยากไปรักษา แต่พอมีโครงการรถเมล์สายสุขภาพที่มีระบบการนัดที่ชัดเจนรองรับผู้ป่วยที่ถูกส่งไป ทำให้คนไข้โรคตาได้คิวการตรวจรอบละ 5 คน และยังได้รับการลอกต้อกระจกเฉลี่ย 20 รายต่อเดือนจนกลับมามองเห็นได้ ซึ่งคนไข้ต่างดีใจมาก ขณะเดียวกันยังนำมาสู่การจัดโครงการผ่าตัดตาต้อกระจกที่ รพ.ขุนหาญ ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งได้เริ่มในปี 2555 โดยเชิญหมอตาจาก รพ.ศรีสะเกษมาช่วยผ่าตัดต้อกระจกให้กับคนไข้เดือนละ 1 ครั้ง ใช้หอประชุม รพ.เป็นหอผู้ป่วย ทำให้คนไข้ตาต้อกระจกจำนวนมากในพื้นที่เข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น โดยมีคนไข้ตาต้อกระจกที่ได้รับการผ่าตัดแล้วกว่า 1,600 ราย นอกจากนี้ยังมีคนไข้มะเร็งที่ได้รับการบำบัดด้วยคีโมจนครบ คนไข้บางรายหายจากมะเร็งได้
 
ขณะเดียวกันกลุ่มคนไข้ที่ส่งต่อและต้องนอนรักษาที่ รพ.ศรีสะเกษยังได้รับการเยี่ยมติดตาม กลุ่มคนไข้พิการและคนไข้ระบบประกันสังคมที่มีปัญหาการเดินทางก็ได้รับการดูแล รวมถึงการับผู้ป่วยที่ไม่มีญาติกลับอำเภอขุนหาญ ซึ่งเป็นผลพวงจากโครงการรถเมล์สายสุขภาพ
 
“รถเมล์สายสุขภาพที่สามารถดำเนินโครงการมาจนถึงวันนี้ เกิดจากการมีส่วนร่วมของชาวบ้านโดยแท้จริง ซึ่งชาวบ้านเป็นผู้ร่วมจ่ายทั้งหมด และจากการที่พยาบาลเป็นผู้นำส่งคนไข้ ทำให้มีการพูดคุยกับคนไข้จนเกิดความใกล้ชิด สามารถดึงให้มีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพ เกิดความตระหนักต่อการส่งเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันมากขึ้น นำไปสู่ความยั่งยืนของระบบสุขภาพได้” นางเพ็ญศรี กล่าวและว่า ส่วนในแง่ของค่าเดินทางสามารถประหยัดได้ปีละกว่า 1 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับการที่คนไข้เหมารถเพื่อเดินทางไป รพ.ศรีสะเกษเอง รวมถึงการเดินทางด้วยรถโดยสารประจำทาง  
 
ส่วนการต่อยอดจากโครงการนี้ นางเพ็ญศรี กล่าวว่า นอกจากเป็นแนวคิดที่นำไปสู่การวางระบบการส่งต่อคนไข้ระดับประเทศแล้ว ในส่วนของ จ.ศรีสะเกษเอง ยังอยู่ระหว่างการต่อยอดการจัดระบบการส่งต่อระดับจังหวัด เนื่องจาก รพ.ศรีสะเกษ สามารถดูแลคนไข้ซับซ้อนได้ในระดับหนึ่ง แต่ในกรณีที่เป็นโรคซับซ้อนมากต้องส่งคนไข้ไปรับการรักษาที่ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี ที่เป็น รพ.แม่ข่าย ซึ่งตรงนี้ทางเทศบาลและ อบต.อยากมีส่วนร่วมในการนำส่งคนไข้ให้เข้าถึงการรักษา ซึ่งอยู่ระหว่างการวางระบบและประสานยัง รพ.แม่ข่ายที่รับส่งต่อ ในการให้บริการในปี 2560 โดยใช้รูปแบบเดียวกับโครงการรถเมล์สายสุขภาพนี้
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท