ลาก ‘เก้าอี้’ มานั่งคุย: พวงทอง ภวัครพันธุ์ คอนเน็กชั่น ชนชั้นนำ และวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด

‘พวงทอง’ วิเคราะห์สังคมไทย ผ่านเหตุการณ์ 40 ปี 6 ตุลา คอนเน็คชั่นของชนชั้นนำหล่อเลี้ยงวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดฝังรากลึกในสังคมไทย ขณะที่ญาติผู้เสียชีวิตยังอยู่ภายใต้ความกลัว แม้ผ่านมา 4 ทศวรรษแล้ว ชนชั้นนำไม่เห็นความคับแค้นของประชาชน หวั่นบีบคนออกสู่ท้องถนน

ในฐานะนักรัฐศาสตร์ที่ติดตามเรื่องการลอยนวลพ้นผิดและเป็นหนึ่งคณะกรรมการจัดงาน 40 ปี 6 ตุลา เราไม่ลืม พวงทอง ภวัครพันธุ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ว่าเป็นบาดแผลเหวอะหวะและเป็นหลักหมายอันอัปลักษณ์ของวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดของสังคมไทย

6 ตุลาถูกทำให้เลือนรางและหลงลืม พวงทอง กล่าวว่า คนจำนวนไม่น้อยยังคิดว่าฉากที่ผู้คนรุมล้อมการแขวนคอนักศึกษาที่สนามหลวงและชายผู้หนึ่งกำลังยกเก้าอี้ฟาดร่างไร้ชีวิตนั้นเป็นเพียงฉากหนึ่งในภาพยนตร์อะไรสักเรื่อง

สังคมไทยมีภาพจำกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มากกว่า แน่นอน เพราะมันหมายถึงชัยชนะของเหล่านักศึกษาและประชาชนในการขับไล่เผด็จการทหารที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนาน แต่นั่นไม่ใช่กับเหตุการณ์ 6 ตุลา อนุสรสถานทั้งสองแห่งบอกเล่าความแตกต่างได้โดยตัวมันเองอยู่แล้ว เมื่ออนุสรสถาน 14 ตุลา เป็นสิ่งปลูกสร้างที่ตำแหน่งแห่งที่ชัดเจนที่สี่แยกคอกวัว บนถนนราชดำเนิน แต่ 6 ตุลา เป็นเพียงกลุ่มงานปฏิมากรรมในรั้วธรรมศาสตร์ พวงทองใช้คำว่า “แอบอยู่ข้างประตูหอใหญ่ธรรมศาสตร์”

000

ที่มาของภาพ: เอื้อเฟื้อภาพประกอบโดย พวงทอง ภวัครพันธุ์

“มีคนพูดว่าเหตุการณ์นี้เป็นประวัติศาสตร์บาดแผล มันเป็นประวัติศาสตร์ของคนจำนวนหนึ่งที่ผ่านเหตุการณ์เหล่านั้นมา นักศึกษาที่ประสบเหตุการณ์ความรุนแรง รวมถึงญาติพี่น้องเพื่อนฝูง ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องจริง แต่ก็อาจมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้รู้สึกว่านี่เป็นประวัติศาสตร์บาดแผล ไม่ต้องการจดจำ ไม่ต้องการขุดคุ้ย ดิฉันอาจจะผิดก็ได้ แต่ดิฉันไม่เชื่อว่าคนที่เรียกตัวเองว่าคนเดือนตุลาทุกคนจะยังรู้สึกเจ็บปวดกับเหตุการณ์ 6 ตุลา หรือรู้สึกว่านี่เป็นบาดแผลที่ฝังอยู่ในจิตใจเขา ในหมู่คนเดือนตุลาเองก็ไม่ได้คิดหรือมอง 6 ตุลาแบบเดียวกันทั้งหมด มันมีความหมายที่หลากหลาย ซึ่งผิดกับ 14 ตุลา ที่เป็นชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตย นิสิตนักศึกษาเป็นฝ่ายชนะ นำพาประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ดิฉันคิดว่าเราไม่เห็นความลังเลในคนเดือนตุลาที่จะนิยามตัวเองกับ 14 ตุลา”

“เขาไม่ได้ลืม แต่เขาอยู่กับความกลัว มันชี้ชัดว่านี่เหมือนเป็นเรื่องต้องห้าม เป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่มีใครอยากพูดถึงเป็นเวลา 20 ปี มันทำให้คนที่สูญเสีย รู้สึกว่าเขาสูญเสียคนที่รักไป โดยที่คนที่เขารักก็มีตราบาปติดอยู่”

 

ความกลัวยังไม่จาง

ผิดกับ 6 ตุลา ที่ความลังเลปรากฏชัด เหตุการณ์ที่ขบวนการประชาธิปไตยถูกปราบและถูกกล่าวหาว่า เป็นคนอื่น เป็นคอมมิวนิสต์ ที่ต้องการล้มล้างสถาบันหลักของประเทศ ในทัศนะของพวงทอง กลุ่มอำนาจที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง 6 ตุลายังคงอำนาจไว้ในมือ นี้เป็นหนึ่งแรงบีบที่ทำให้ยังไม่มีใครกล้าแตะต้องหรือขุดคุ้ยชิ้นส่วนของอดีตชิ้นนี้ขึ้นมาปัดฝุ่นและไขความกระจ่าง

“บางครอบครัว เราคุยกับสมาชิกระดับรุ่นลูกหลาน เขาพูดชัดเจนว่าไม่กล้าที่จะถามเรื่องนี้กับพ่อแม่หรือปู่ย่าของเขา เพราะเขารู้ว่านี่คือบาดแผลของครอบครัวและในครอบครัวไม่มีใครอยากพูดถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ผู้เสียชีวิตนั้นเสียชีวิตในลักษณะที่โหดเหี้ยมมากๆ เพราะฉะนั้น บาดแผลของคนในครอบครัวมันก็ขึ้นกับลักษณะการเสียชีวิตของเหยื่อด้วย หรือบางครอบครัวยินดีให้สัมภาษณ์ คือเวลาเราสัมภาษณ์ เราแทบจะไม่ได้พูดถึงเรื่องการเมืองในปัจจุบันเลย เราอยากให้เขาเล่าบุคลิกลักษณะของผู้เสียชีวิต เขาผูกพันกับคนในครอบครัวอย่างไร ทางญาติพี่น้องเขาก็ยินดีให้สัมภาษณ์นะ แต่ปรากฎว่าหลังจากนั้นสองสามวันเขาโทรมาบอกว่าเขากลัว เพราะว่าเราอยู่ภายใต้รัฐบาลทหาร เขาขอไม่เปิดเผยชื่อ ไม่เปิดเผยหน้าได้ไหม ขณะที่หลายครอบครัวไม่อยากที่จะพูดถึงเหตุการณ์นี้”

 

40 ปีผ่านไป เงามืดของความกลัวก็ยังคงแผ่คลุมครอบครัวผู้สูญเสีย

“เขาไม่ได้ลืม แต่เขาอยู่กับความกลัว มันชี้ชัดว่านี่เหมือนเป็นเรื่องต้องห้าม เป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่มีใครอยากพูดถึงเป็นเวลา 20 ปี มันทำให้คนที่สูญเสีย รู้สึกว่าเขาสูญเสียคนที่รักไป โดยที่คนที่เขารักก็มีตราบาปติดอยู่ ไม่สามารถที่จะรำลึกพวกเขาได้อย่างวีรชนอย่างในกรณี 14 ตุลา”

 

คนผิดยังลอยนวล

อะไรที่ทำให้ความหวาดกลัวยังคงดำรงอยู่? พวงทองวิเคราะห์ว่าเป็นผลจากวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดที่ฝังพิษอยู่ลึกมากในสังคมไทย 40 ปีที่ขาดไร้ความพยายามโดยสิ้นเชิงในการสืบสาวราวเรื่องเพื่อหาตัวคนผิดมาลงโทษ

“ประเด็นนี้หายไปเลยจากสังคมไทย ไม่มีใครพูดถึงมากนัก คนที่อยากจะเห็นความยุติธรรมก็รู้สึกว่ามันเป็นไปไม่ได้ คนจำนวนมากก็บอกว่าไม่ควรจะรื้อฟื้น ซึ่งหมายความว่า กรณีนี้ชัดเจนว่าคนทำผิดก็ถูกปล่อยให้ลอยนวลไป เพราะเขายังมีอำนาจอยู่ สอง ยิ่งเราอยู่ภายใต้รัฐบาลทหาร ความกลัวนี้ยิ่งชัดเจน เพราะคนรู้สึกว่าทหารเป็นกลุ่มอำนาจที่มีบทบาทต่อต้านปราบปรามนักศึกษาในช่วง 6 ตุลาด้วย

“ว่าไปแล้ว การที่คนที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง 6 ตุลานั้นไม่เคยต้องกลัวว่าตัวเองจะถูกลงโทษ นี่ก็คือวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดในสังคมไทยอย่างชัดเจน วัฒนธรรมนี้ถ้ามองจากแง่มุมของญาติผู้เสียชีวิต นี่คือการที่เขาถูกลงโทษซ้ำสอง เขาถูกทำร้ายครั้งแรกเมื่อเขาสูญเสียคนที่เขารัก ครั้งที่สอง เขายังต้องทนอยู่ในความเงียบ อยู่กับความกลัวต่อเนื่องมาอีกจนถึงปัจจุบัน ถามว่ามันยุติธรรมไหม ดิฉันคิดว่าไม่ยุติธรรม แต่ไม่มีใครต้องการพูดถึงเท่าไหร่นัก คนส่วนใหญ่ก็จะเรียกร้องให้เงียบ ไม่ควรจะรื้อฟื้นเรื่องนี้”

และเมื่อสังคมใดยินยอมให้วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดดำรงอยู่ โอกาสที่รัฐจะใช้ความรุนแรงกับประชาชนย่อมเป็นไปได้เสมอ ซึ่งสังคมไทยก็มีบทเรียนมาแล้ว ทั้งในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 และเหตุการณ์พฤษภาคม 2553

วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดฝังรากลึก

 

พวงทองอธิบายต่อไปว่า เหตุการณ์ 6 ตุลาเป็นกรณีการลอยนวลพ้นผิดที่ใหญ่มากๆ เป็นความขำขื่น เมื่อเราเห็นหน้าผู้ที่ใช้ความรุนแรงกับนิสิต นักศึกษา และประชาชนในวันนั้นชัดเจน ทั้งรูปและคลิปวิดีโอ แต่ในทางกฎหมายไม่มีใครตั้งคำถามเลยว่า เราจะเอาผิดกับคนเหล่านี้ได้อย่างไร หนำซ้ำ ภายหลังเหตุการณ์ประมาณ 2 ปี กฎหมายนิรโทษกรรมก็ออกมา

“หลังจากเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา คนที่ถูกเอาขึ้นพิจารณาคดีในศาลอาญา คือผู้นำนักศึกษา 19 คน แต่ในฝ่ายผู้ใช้ความรุนแรง ไม่มีกระบวนการนี้เลย ในการพิจารณาคดี ข้อมูลที่ปรากฏออกมา กลับปรากฏว่าคนที่เป็นจำเลยนั้นเป็นฝ่ายถูกกระทำอย่างเดียว ซึ่งในที่สุดก็นำไปสู่การนิรโทษกรรม เกิดการประนีประนอมทางการเมือง ฝ่ายชนชั้นนำเองก็เห็นว่าถ้าเกิดยังใช้แนวทางสายเหยี่ยวก็จะยิ่งก่อให้เกิดความแตกแยกหนักขึ้น เพราะพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเองก็เติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ หลัง 6 ตุลา การนิรโทษกรรมครั้งนี้จริงๆ คนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดก็คือฝ่ายผู้ที่ใช้ความรุนแรง เพราะนิรโทษกรรมให้กับทหาร ตำรวจ คนทุกกลุ่มที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลา

“มันเป็นอาชญากรรมที่เราเห็นผู้ที่ก่ออาชญากรรมชัดเจน หน้าตาของคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งคนที่อาจจะไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ คนที่ใช้เก้าอี้ฟาดคนที่ถูกแขวนคอ ลูกเสือชาวบ้านที่ใช้ไม้ตีคนที่ถูกแขวนคอ พวกม็อบ เจ้าหน้าที่รัฐ แต่เราไม่ตั้งคำถามเลยว่าคนเหล่านี้ทำผิดกฎหมายหรือไม่ ควรมีการตามหาคนเหล่านี้หรือไม่ กฎหมายนิรโทษกรรมในกรณีนี้ยุติธรรมหรือไม่”

วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดทิ้งมรดกบาปให้กับคนรุ่นหลังแลเห็นว่า ถ้าผู้ใดมีอำนาจในสังคม มีเครือข่าย มีเส้นสาย บุคคลนั้นก็ไม่จำเป็นต้องรับผิด สังคมไทยจึงเกิดการเรียนรู้ (แบบผิดๆ) ว่า ต้องสร้างเครือข่าย สร้างคอนเน็กชั่น เพื่อให้สิ่งเหล่านี้เป็นเกราะป้องกันตนเองจากกฎหมายบ้านเมืองและไม่ต้องรับผิด ตั้งแต่ในระดับชีวิตปกติทั่วไป จนถึงการเมืองระดับประเทศ

เครือข่ายชนชั้นนำไทย

“คอนเน็คชั่นมันสำคัญในแง่ที่ว่า ถ้าคุณจะไต่เต้า คุณจำเป็นต้องมีคอนเน็คชั่นที่ถูกต้อง ถ้าคุณทำผิด คอนเน็คชั่นนี้ก็จะช่วยปกป้องคุณจากการทำผิด ฉะนั้น สิ่งหนึ่งที่วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดในทุกระดับทิ้งให้กับสังคมไทยก็คือ เราไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงหลักการ คอนเน็คชั่นเป็นสิ่งสำคัญ อันนี้จึงฟอร์มลักษณะของคนไทยด้วยที่บ่อยครั้ง เมื่ออยากจะแสดงความคิดเห็นหรือทำอะไร จะต้องระวังว่าจะไปกระทบกับคอนเน็คชั่นของตัวเองหรือไม่”

“มันเป็นอาชญากรรมที่เราเห็นผู้ที่ก่ออาชญากรรมชัดเจน หน้าตาของคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งคนที่อาจจะไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ คนที่ใช้เก้าอี้ฟาดคนที่ถูกแขวนคอ ลูกเสือชาวบ้านที่ใช้ไม้ตีคนที่ถูกแขวนคอ พวกม็อบ เจ้าหน้าที่รัฐ แต่เราไม่ตั้งคำถามเลยว่าคนเหล่านี้ทำผิดกฎหมายหรือไม่ ควรมีการตามหาคนเหล่านี้หรือไม่ กฎหมายนิรโทษกรรมในกรณีนี้ยุติธรรมหรือไม่”

ทว่า ในมุมมองของพวงทอง สิ่งที่น่าเจ็บปวดคือ แม้กระทั่งผู้คนที่ทำงานด้านสันติภาพและสิทธิมนุษยชนเอง ก็ไม่เคยเรียกร้องความยุติธรรมอย่างเต็มที่ พวงทองกล่าว่า การเรียกร้องของคนกลุ่มนี้มักจะหยุดลงเพียงมิติของการเยียวยาผู้เสียหายจากเหตุการณ์ การเรียกร้องให้ปล่อยตัว ซึ่งเมื่อข้อเรียกร้องทำนองนี้บรรลุผล คนกลุ่มนี้ก็จะเงียบ ไม่ปริปากว่าควรนำตัวคนผิดมาลงโทษอย่างไร จะฟื้นฟูความยุติธรรมให้แก่เหยื่ออย่างไร ซึ่งลักษณะอันจำเพาะแบบไทยๆ นี้ยังยืนยาวถึงปัจจุบัน

“เมื่อไม่นานมานี้ก็มีนักเคลื่อนไหวด้านสันติวิธีคนหนึ่งออกมาพูดว่า เขาไม่เข้าใจว่าทำไมจะต้องเรียกร้องให้มีการเอาผิดกับผู้มีอำนาจที่ใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชนอย่างที่เกิดขึ้นในลักษณะเดียวกับกรณี Holocaust ที่นาซีกระทำกับชาวยิว ที่มีความพยายามติดตามเอาอดีตนาซีมาดำเนินคดีอย่างต่อเนื่อง แม้เวลาจะผ่านไปแล้ว 40-50 ปี

“แต่สำหรับคนไทย แค่ช่วยคนที่เดือดร้อนก็พอแล้ว เช่น ให้ปล่อยหรือให้เงินเยียวยา หลังจากนั้นอย่าไปคิดเรื่องที่จะเอาผิดกับคนที่มีอำนาจ เขาอาจจะมีคำอธิบายว่าเพราะคนที่มีอำนาจนั้น ถ้าคุณไปตามเอาผิดเขา มันจะก่อให้เกิดความขัดแย้งมากยิ่งขึ้น คนที่มีอำนาจอาจจะโต้กลับ แล้วทำให้โอกาสในการที่จะสร้างความปรองดอง สมานฉันท์หรือพัฒนาประชาธิปไตยหยุดชะงักลง”

แน่นอน พวงทองไม่เห็นด้วยกับความคิด ความเชื่อทำนองนี้ เธอให้คำอธิบายว่า เพราะนักสันติวิธี นักสิทธิมนุษยชน ก็เป็นชิ้นส่วนเดียวกันกับชนชั้นนำในสังคมไทย

เวลามองชนชั้นนำ ต้องขยายกรอบให้กว้างออกไป มันไม่ใช่เพียงนักการเมืองหรือนักธุรกิจ แต่ยังกินความถึงวงวิชาการ พรรคการเมือง นักเคลื่อนไหวทางสังคม เอ็นจีโอ เป็นต้น ซึ่งสังคมจะนึกภาพออกได้ว่าคนกลุ่มนี้เป็นใครบ้าง

“ชนชั้นนำในสังคมไทยมันแคบมาก มันจำกัดอยู่กับคนไม่มาก แล้วคนเหล่านี้รู้จักกันหมด มีความเป็นเพื่อน มีความต่อเนื่อง เคยช่วยเหลือสนับสนุนกัน คอนเน็คชั่นเหล่านี้บดบังจุดยืนการฟื้นฟูความยุติธรรม ฉะนั้น เราจะไม่เห็นการเรียกร้องให้เอาผิดกัน เพราะในที่สุดมันจะไปเกี่ยวข้องกับคนที่เขารู้จัก

“ดิฉันอยากให้มองคนเหล่านี้ในฐานะที่เป็นชนชั้นนำซึ่งมันแคบและมีคอนเน็คชั่น มันมีระบบอุปถัมภ์และสายสัมพันธ์ซึ่งกันและกันอยู่ และคอนเน็คชั่นเหล่านี้คือสิ่งที่ขับเคลื่อนการเมืองไทยด้วย บางครั้งนำไปสู่การขับเคลื่อนทางบวก แต่บางครั้งนำไปสู่การขับเคลื่อนทางลบ หรือการพยายามรักษาวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด ซึ่งวัฒนธรรมที่ว่านี้อยู่ได้ระบบคอนเน็คชั่นเครือข่ายของชนชั้นนำไทยที่แคบมากๆ”

เรียนรู้บทเรียน ก่อนสายเกินไป

6 ตุลา เป็นบาดแผลที่ควรจะเป็นบทเรียนในเวลาเดียวกัน ในความเป็นจริงแล้ว ดูเหมือนมันจะเป็นอย่างแรกมากกว่า ขณะที่อย่างหลังไม่เกิดขึ้น...อย่างน้อยก็ยังไม่เกิดขึ้น การสร้างความเกลียดชังผู้ที่เห็นต่างจากกระแสหลักของสังคมยังเกิดขึ้น ไม่ต่างจากในอดีตที่มีวิทยุยานเกราะหรือดาวสยามเป็นหัวหอก อาจจะแตกต่างตรงที่ว่า ปัจจุบัน ใครๆ ก็สามารถแพร่ระบาดความเกลียดได้ผ่านเครื่อมือโซเชียล มีเดีย

“ชนชั้นนำในสังคมไทยมันแคบมาก มันจำกัดอยู่กับคนไม่มาก แล้วคนเหล่านี้รู้จักกันหมด มีความเป็นเพื่อน มีความต่อเนื่อง เคยช่วยเหลือสนับสนุนกัน คอนเน็คชั่นเหล่านี้บดบังจุดยืนการฟื้นฟูความยุติธรรม ฉะนั้น เราจะไม่เห็นการเรียกร้องให้เอาผิดกัน เพราะในที่สุดมันจะไปเกี่ยวข้องกับคนที่เขารู้จัก”

“กรณีปี 2553 เราพบว่าคนกรุงเทพฯ จำนวนมากไม่ได้เศร้าเสียใจกับการเสียชีวิตของประชาชนเกือบร้อยคน เขาเสียใจมากกว่ากับการที่โรงหนังสยามถูกเผา ทุกวันนี้เราก็เห็นในโซเชียล มีเดีย มีการใช้คำด่าทอเกลียดชังอย่างกว้างขวาง ไม่มีใครพยายามเตือนใคร เตือนก็ไม่ฟัง โอกาสที่จะเกิดความรุนแรงมีอีกไหม ก็ความรุนแรงเพิ่งเกิดเมื่อปี 2553 นี่เอง ความรุนแรงจะเกิดขึ้นอีกไหม ก็เกิดขึ้นได้อีกแน่

“ทุกวันนี้กลุ่มที่มีอำนาจพยายามที่จะหลับตา หรือตั้งใจที่จะมองไม่เห็นว่ามันมีความคับแค้นของประชาชนจำนวนมาก ซึ่งดิฉันกล้าพูดว่าพวกนี้เป็นเสียงส่วนใหญ่ในประเทศ ซึ่งไม่พอใจต่อการที่เสียงทางการเมืองของพวกเขาถูกปิดกั้นด้วยวิธีการต่างๆ”

รัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม อาจเป็นตัวเร่งความรุนแรงในอนาคต เพราะมันเป็นกลไกที่ออกแบบมาเพื่อสกัดกั้นเสียงทางการเมืองของประชาชนจำนวนมาก ความต้องการทางการเมืองที่ถูกส่งต่อผ่านคะแนนเสียงจะถูกเมินเฉย รัฐบาลอาจไม่สามารถผลักดันนโยบายได้ เมื่อกลไกทางการเมืองไม่ทำงาน ประชาชนไม่สามารถแก้ไขปัญหาทางการเมืองผ่านกลไกประชาธิปไตยได้ ย่อมผลักไสให้ผู้คนออกสู่ท้องถนน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท