Skip to main content
sharethis

คนรุ่นใหม่กับประเด็น 40 ปี 6 ตุลา ประวัติศาสตร์ที่รัฐทำให้ลืม ไม่พูดถึง เป็นบาดแผลของสังคมไทย แต่กลับไม่เคยเรียนรู้บทเรียน ความรุนแรงโดยรัฐยังคงเกิดขึ้น พวกเขาและเธอหวังให้ความรุนแรงเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก

(แถวบนจากซ้ายไปขวา) อ้อมทิพย์ เกิดผลานันท์ และ พริษฐ์ ชิวารักษ์ (แถวล่างจากซ้ายไปขวา) ชลธิชา แจ้งเร็ว และ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (ที่มาของภาพประกอบ: แฟ้มภาพ/ประชาไท/รายการต่างคนต่างคิด)

แม้แต่กับคนรุ่นใหม่ที่สนใจการเมือง 6 ตุลาคม 2519 ก็ยังเป็นประวัติศาสตร์ที่คลุมเครือ เหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาที่เกิดขึ้นในวันนั้นเมื่อ 40 ปีก่อน เป็นความทรงจำลางเลือนที่ไม่ควรถูกลืม แต่มันก็ถูกทำให้ลืม เป็นความรุนแรงที่ควรเป็นครั้งสุดท้ายของสังคมไทย แต่กลับไม่ใช่

ในทัศนะของพวกเขา 6 ตุลา เป็นอย่างไร

000

วิกรานต์ จรรยารณ์

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายสวัสดิการงาน 6 ตุลา จุฬาไม่ลืม

“ผมมอง 6 ตุลาเป็นการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในสมัยนั้น เป็นโศกนาฏกรรมของประเทศไทย เป็นการสังหารหมู่ย่อยๆ ครั้งหนึ่ง สำหรับผม 6 ตุลาเหมือนเป็นบาดแผลที่สังคมไทยพยายามจะลืมมัน พยายามจะลบมันออกไป พยายามจะมองมันเหมือนการชุนนุมทางการเมืองธรรมดา ทำให้มันดูเบาลง แล้วหนังสือเรียนประวัติศาสตร์มัธยมก็ไม่มีเรื่องพวกนี้เลย มีประมาณหนึ่งย่อหน้าจบ ตอนนี้สิ่งที่ผมพยายามจะทำคือให้มันเป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นอีก ผมเลยจะจัดงานนี้ขึ้นให้คนรุ่นผมรู้ว่าที่จริงมันเกิดอะไรขึ้น จุฬาฯ มีส่วนเกี่ยวข้องยังไงกับเหตุการณ์นี้ คนไม่รู้เลยว่าจุฬาฯ เกี่ยวข้องอย่างไรกับเหตุการณ์นี้ ทำให้คนมองภาพจุฬาฯ เป็นคอนเซอเวทีฟ

“เราอยากให้คนภายนอกมองภาพจุฬาฯ เปลี่ยนไป เราไม่ได้คอนเซอเวทีฟขนาดนั้นนะ จุฬาฯ มีมุมมองที่คนไม่เห็น รุ่นพี่ผม นิสิตจุฬาฯ ก็ไปร่วมเหตุการณ์และเสียชีวิต หลายคนยังไม่รู้ว่ามีเด็กจุฬาฯ รูปคนที่ถูกแขวนคอ ไม่มีใครรู้เลยว่าเป็นนิสิตจุฬาฯ คณะรัฐศาสตร์ หมุดที่รำลึกอยู่ที่ตึกรัฐศาสตร์ บางคนก็ไม่รู้ เราพยายามทำเป็นมองไม่เห็นมัน

“งานนี้จึงเสนอว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพราะอะไร จากมุมมองต่างๆ สื่อเป็นยังไง ผู้คนสมัยนั้นใช้ชีวิตยังไง โดนสังคมเชพมายังไงให้เห็นว่า การที่คนโดนฟาดเป็นเรื่องน่าสนุก เป็นสิ่งที่เราอยากให้คนมองเห็น เพื่อให้ในอนาคตจะได้ไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีกได้ยังไง จะร่วมเปลี่ยนประเทศได้ยังไง อาจจะไม่ใช่ออกไปประท้วงเหมือนนักกิจกรรม แต่อาจจะเข้าไปนั่งในสภา ซึ่งเป็นอีกวิธีหนึ่งที่เราสามารถทำได้

“อย่างตอนปี 2553 ผมยังไม่รู้อะไรเกี่ยวกับการเมืองเลย ก็เปิดข่าวมีการประกาศเคอร์ฟิว ห้ามกลับบ้านดึก ตอนนั้นดีใจได้หยุดอยู่บ้าน มองว่าเป็นเหตุการณ์ที่น่ากลัว มีการยิงกัน ตอนนั้นเด็กๆ ก็ยังไม่อะไรมาก ตอน ม.3 ผมยังไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับ 6 ตุลา ตอนนี้ผมมองว่า 6 ตุลาคือโศกนาฏกรรม ปี 2553 ก็เป็นโศกนาฏกรรมอีกแบบหนึ่ง มีการฆ่ากัน มีการใช้กระสุนจริง เหมือนเหตุการณ์เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง แต่เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง มีคนตาย มีการประท้วงทางการเมืองเหมือนกัน เพียงแต่เรามองไม่เห็นว่ามันเกี่ยวกันยังไง เราปล่อยให้มันเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เราปล่อยให้คนโดนฆ่า ถูกแกนนำบอกให้ไปตาย สุดท้ายความตายของเขาก็ไม่เกิดอะไรขึ้นมา”

000

อ้อมทิพย์ เกิดผลานันท์

คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประชาสัมพันธ์งาน 6 ตุลา จุฬาไม่ลืม

“6 ตุลาเป็นเรื่องที่ถูกทำให้ลืม คนรุ่นหนูลืม ไปถามใครก็ได้ เราจะรู้แค่ผิวเผิน รู้ว่ามีการฆ่าหมู่จบ แล้วเกิดอะไรขึ้น เกิดขึ้นเพราะอะไร เหมือนจะตอบไปไม่ได้มากกว่านั้น ถ้าถูกทำให้ลืมแล้ว มันอาจจะเกิดเหตุการณ์นั้นซ้ำขึ้นอีกก็ได้ โดยที่เราไม่ได้เรียนรู้อะไรจากมันเลย จุดประสงค์การจัดงานครั้งนี้อีกอย่างคือเพื่อทำเรื่องนี้ให้คนรู้ รู้และเป็นบทเรียน ป้องกัน และหาวิธีอยู่ร่วมกันอย่างสันติต่อไป

“หนูมองในแง่คนภายนอกว่า ทำไมมีเหตุการณ์อย่างในปี 2553 ถึงเกิดขึ้นแล้ว คนที่ไม่ได้สนใจยังรีแอ็กเหมือน 6 ตุลาเหมือนเดิม ที่สะใจที่มีคนไทยถูกฆ่า มันมีกระแสเกิดขึ้นจริงๆ ตอนนั้นแม่กับเพื่อนสนิททะเลาะกันอย่างรุนแรง เพื่อนแม่โทษเสื้อแดงว่าทำธุรกิจพัง เลยมองว่าผ่านไปหลายปี ทำไมคนไทยยังไม่เข้าใจถึงความเห็นต่างหรือเคารพความเห็นต่าง เขาไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยเหรอ ที่จะอยู่ร่วมกันกับความเห็นต่างยังไง ทำถึงยังรู้สึกว่าการฆ่าคนที่เห็นต่างยังเป็นสิ่งที่ไม่ผิด ซึ่งมันไม่ควรเกิดขึ้นแล้วในศตวรรษนี้

000

พริษฐ์ ชิวารักษ์

นักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

"ผมรู้สึกว่า 6 ตุลามันคือรูปธรรมของประวัติศาสตร์ที่คนเลือกจะไม่จำ ถ้าถามเรื่อง 6 ตุลากับผมก็จะได้คำตอบอีกอย่างหนึ่งแต่ถ้าถามกับเยาวชนคนอื่นๆ ทั่วไปก็จะได้คำตอบอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเพราะในหนังสือแบบเรียนก็พูดถึง 6 ตุลาแค่เพียงครึ่งหน้า พูดรวมกับ 14 ตุลา สั้นๆ บางทีก็ไม่พูดถึงเลย เลือกที่จะข้ามไปเลย มันไม่ใช่ว่าเราเรียนประวัติศาสตร์แล้วไม่เรียนรู้ เราถึงปล่อยให้มันซ้ำรอยอยู่อย่างนั้น บางทีมันจะเป็นเพราะเราไม่ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์เลย

"เรามีเรื่องเราอีกหลายเรื่องที่ไม่ปรากฏในแบบเรียน เราไม่พูดถึงการตายของจิตร ภูมิศักดิ์ เราไม่พูดถึงกบฏสันติภาพ และเราก็ไม่พูดถึงเรื่องถังแดง ซึ่งทั้งหมดนี้มันเป็นเรื่องของความรุนแรง เอาจริงๆ ประวัติศาสตร์ไทยไม่มีความรุนแรง เพราะความรุนแรงมันถูกกวาดเข้าไปใต้พรมหมดแล้ว แต่ผมก็ยังไม่รู้สึกหมดหวังไปเสียทีเดียว ที่จะให้สิ่งที่อยู่ใต้พรมมันปรากฏออกมา

“ผมรู้ว่ารัฐไม่อยากจะพูดถึงสิ่งเหล่านี้ด้วยตัวของรัฐเอง แต่เราเป็นประชาชน เราสามารถเลือกที่จะพูดสิ่งเหล่านี้ได้ ซึ่งถ้าเราพูดเท่ากับว่าอย่างน้อยๆ ในภาคประชาชนเอง เรื่องพวกนี้ก็จะไม่เงียบหายไป คิดว่ามันอาจจะมีรูปแบบใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ เพื่อที่จะสื่อสารไปยังบุคคลภายนอก โจทย์ตอนนี้คือเราจะทำให้คนรุ่นใหม่คนอื่นๆ สนใจเรื่อง 6 ตุลาได้อย่างไร ทำให้เขาคิดว่ามันเกี่ยวโยงกับปัจจุบันอย่างไร และมันน่าสนใจอย่างไร ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุด

“ผมให้ความสำคัญกับ 6 ตุลามากกว่า 14 ตุลา เพราะมันเป็นเรื่องที่รัฐพยายามใช้ความรุนแรงกับนักศึกษา มันเป็นคนละเหตุผลกับ 14 ตุลาที่จบลงด้วยชัยชนะ ซึ่งผมคิดว่ามันสำคัญกว่าที่เราจะพูดถึงประวัติศาสตร์ของ 6 ตุลา เพราะมันเป็นเรื่องของความรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของคนทั่วไปที่ไม่ได้มีความสนใจเรื่องการเมืองเป็นหลัก เพื่อที่จะได้ศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้นไม่ให้มันเป็นแค่เรื่องที่เกิดขึ้นและผ่านไป เพราะถ้าเราเลือกที่จะเงียบกับมัน เลือกที่จะไม่พูดถึงมัน มันจะก็เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

"6 ตุลาก็จะเป็นอีกวันหนึ่งที่ผมจะออกมาแต่งกลอนรำลึกถึง แต่ว่าสิ่งที่มันสำคัญจริงๆ ก็คือ 6 ตุลามันเตือนเราได้ว่า เมื่อถึงจุดหนึ่ง รัฐก็พร้อมที่จะใช้ความรุนแรงกับเราได้ทุกเมื่อ"

000

จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

“มาถึงตอนนี้ มันเข้าใจมากขึ้น ก่อนหน้านี้ก็แค่รู้ว่ามันมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ยุคนั้นมันเป็นเผด็จการ เขาออกมาต่อสู้ ต้องหนี ต้องตาย เราก็แค่อ่านหนังสือ ศึกษาประวัติศาสตร์ เห็นภาพเห็นอะไร แต่ทุกวันนี้เราเข้าใจว่า ความรู้สึกของการถูกใช้อำนาจในการจัดการกับผู้เห็นต่างมันเป็นอย่างไร แม้เราจะไม่ถูกยิงเหมือนพวกเขา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเวลานี้มันทำให้เรารู้สึก และมันก็ถูกแล้วที่เราต้องต่อสู้ แม้ว่าครั้งนี้มันจะเนียนกว่า ไม่ได้มีการใช้อำนาจตรงๆ แบบนั้น แต่มันก็เลวร้ายเท่ากัน อันนี้สำหรับตัวเองนะ

“แต่ถ้ามองออกไปจากตัวเรา ลองไปเป็นคนอื่น 6 ตุลา ก็อาจจะไม่มีอะไร ไม่ได้สนใจประวัติศาสตร์ และมันก็เป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกทำให้ลืม กระทรวงศึกษาธิการไม่ได้ให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์การต่อสู้แบบนี้ ฉะนั้น โดยทั่วไป 6 ตุลา ก็ไม่มีความหมาย เพราะเขาไม่ต้องการให้มันมีความหมายอยู่แล้ว ถ้าคนเติบโตผ่านประวัติศาสตร์ ได้ศึกษาประวัติศาสตร์เหล่านี้ มันก็จะเห็นเอง คือการศึกษาประวัติศาสตร์โดยตัวมันเอง มันทำให้เราเห็นและเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นจริงและก็เห็นอนาคตว่ามันจะเป็นอย่างไรต่อ

“มันมีบทเรียนให้เราดูแล้ว มันอาจจะไม่เหมือนกันก็ได้ แต่สิ่งเหล่านี้มันเคยเกิดขึ้นมาแล้ว ทุกวันนี้มันเปลี่ยนไปก็แค่คำใหม่ คนใหม่ แต่ทุกอย่างก็เหมือนเดิม บรรยากาศของการสร้างความเกลียดชังก็ยังเหมือนเดิม บางทีอาจจะหนักกว่าเดิมอีก

“แต่บรรยากาศของจิตสำนึกเรื่องประชาธิปไตยในยุคนั้น ประชาชนยังตื่นตัวมากว่านี้ แต่พอมาในยุคเราเขาประสบความสำเร็จในการทำให้คนเชื่อง แต่ก่อนนักศึกษาตื่นตัว แต่ตอนนี้นักศึกษาก็เชื่อง มันมีความต่างกันอยู่ บรรยากาศตอนนั้นนักศึกษากำลังตื่นตัว ศึกษาหาความรู้ อยากเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง มันเรียกได้ว่าเป็นยุคเบิกบาน แต่ยุคเราเชื่องกันเกินไปและก็กลายเป็นนักศึกษากลุ่มน้อยที่ออกมา ฉะนั้น 6 ตุลา จึงเป็นบทเรียนสำคัญที่คนรุ่นเราควรจะเรียนรู้ มันไม่ใช่แค่ว่าเราไม่ได้เกิดในยุคนั้น แต่เรารู้ว่าโครงสร้างความอยุติธรรมมันเป็นอย่างไร และในยุคของเราที่ยังต้องต่อสู้กับความอยุติธรรม เราจะทำได้อย่างไร คือเราต้องคิดว่าประเทศนี้มันเป็นของเรา”

000

ชลธิชา แจ้งเร็ว

ขบวนการประชาธิปไตยใหม่

“เอาตั้งแต่เรื่องการรับรู้ เหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์ที่ถูกรัฐไทยลบเลือนเปลี่ยนแปลงการรับรู้ ตอนเด็กเราไม่เคยรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ ในหนังสือเรียนก็จะสอนแต่เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 แต่ไม่รู้ว่าเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เกี่ยวข้องกันอย่างไร เหมือนมันเป็นบาดแผลอะไรบางอย่างที่รัฐไทยพยายามลบมัน ด้วยความสนใจของเราที่ชอบประวัติศาสตร์เราก็ไปค้นหาหนังสือเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม จนเกิดคำถามกับเราตั้งแต่ตอนมัธยมว่า ทำไมในครั้งนั้นคนจำนวนหนึ่งพร้อมใจกัน ร่วมมือกัน ที่จะฆ่าคนจำนวนหนึ่งด้วยข้อหาที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์

“ตอนที่เราเป็นเด็ก อ่านหนังสือหนูก็ยังไม่รู้ว่าทำไมคำว่าคอมมิวนิสต์ มันเลวร้ายขนาดนั้น ทำไมสังคมไทยถึงกล้าฆ่าคนจำนวนหนึ่งได้ แล้วเราจะเห็นจากรูป จากในหน้าหนังสือพิมพ์ เหตุการณ์นี้มันเหมือนหลุมดำในหน้าประวัติศาสตร์ เรามักจะข้ามเหตุการณ์นี้ไปและไปพูดถึง 14 ตุลาคม 2516 ว่าประเทศไทยมีการเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ถัดจากนั้นมาแค่ 3 ปี เขาก็เลือกที่จะปิดกั้นการรับรู้ 6 ตุลา 19 ถ้าเราไม่ได้แสวงหาการรับรู้เองเราก็ไม่คงไม่มีความคิดเกี่ยวกับเหตุการณ์อย่างวันนี้

“ถ้าถามเกดตอนนี้ เกดมองว่าจริงๆ เหตุการณ์ 6 ตุลา ประชาชนจะต้องเรียนรู้ เราไม่ควรจะต้องมีการสูญเสียชีวิตจำนวนมากของประชาชน เราไม่ควรต้องมีบทเรียนนี้ในประวัติศาสตร์ เราสามารถฆ่าคนคนหนึ่งได้โดยไม่รู้จักเขาเลย แค่เพียงอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างกัน แค่เพียงข่าวลือที่สร้างขึ้นมาในยุคนั้น มันเป็นบทเรียนที่เกิดขึ้นที่ไม่อยากมองในฐานะบทเรียน เพราะสังคมไทยไม่ได้เรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์เหล่านี้เลย สังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่กล้าเผชิญหน้ากับความขัดแย้งและเราเลือกที่จะใช้ความรุนแรงในการจัดการปัญหาต่างๆ มาตลอด

“หลังจากปี 2519 ก็จะมีเหตุการณ์ ปี 2535 ม็อบพันธมิตรฯ เหตุการณ์ปี 2553 ฯลฯ เรารู้สึกว่าเหตุการณ์ต่างๆเหล่านี้เราไม่เคยเรียนรู้อะไรเลยจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เราไม่เคยเรียนรู้ที่จะอยู่ด้วยกันบนความแตกต่างทางความคิด เอาเข้าจริงๆ สังคมไทยพร้อมที่จะใช้ความรุนแรงและอำนาจพิเศษทุกรูปแบบที่จะจัดการปัญหา และชนชั้นนำไทยก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะทำทุกอย่างเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเองไว้โดยที่ไม่สนใจวิธีการเลย ถึงได้มีการยอมรับให้มีการฆ่าหรือทำร้ายคนที่มีความเห็นต่าง

“มันมีเหตุการณ์ครั้งหนึ่งเรื่องตรวจสอบอุทยานราชภักดิ์ที่เราไปรวมกันที่สถานีรถไฟบ้านโป่ง เป็นเหตุการณ์ที่เรากลัวที่สุดตั้งแต่ทำกิจกรรมและไม่เคยร้องไห้ต่อหน้าสาธารณะชนมาก่อน ตอนนั้นเรากล้าที่จะร้องไห้ มันเกิดจากการกลัวคนจำนวนมากที่เขามาชุมชนุมต้านเราทำกิจกรรม เขาตะโกนด่าว่าพวกหนักแผ่นดิน ให้ไปตายซะ ให้ออกไปนอกประเทศ เขาพยายามขว้างปาข้าวของที่จะทำร้ายเรา ขว้างใส่เรา แนวกำแพงที่ทหารตำรวจกั้นไว้ก็พยายามจะพังมาทำร้ายเรา จาก 6 ตุลาฯ จนมาถึงปี 57-58 เราไม่ได้เดินไปข้างหน้า การที่ประชาชนมาสู้กันเอง โดยรัฐไทยเองเข้ามาควบคุมและปลูกฝังความเชื่อทางความคิดและสร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงและบ่มเพาะความเกลียดชังในสังคม”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net