Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล หรือ ICJ ผิดหวังต่อคำพิพากษากรณี อานดี้ ฮอลล์ ชี้จำเป็นต้องยกเลิกโทษทางอาญาสำหรับข้อหาหมิ่นประมาท


อานดี้ ฮอลล์ พร้อมแรงงานข้ามชาติที่มาให้กำลังใจก่อนเข้าฟังคำพิพากษา (20 ก.ย.2559)

21 ก.ย. 2559 กรณีศาลชั้นต้นตัดสินให้ลงโทษ อานดี้ ฮอลล์ นักสิทธิแรงงานชาวอังกฤษ จากกรณีหมิ่นประมาทบริษัทแปรรูปผลไม้ของไทย ตามความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ตามประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) ให้ลงโทษจำคุก 3 ปี โดยให้รอลงอาญา 2 ปีและปรับเป็นเงิน 150,000 บาท

ล่าสุด คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล หรือ ICJ (International Commission of Jurists) ออกแถลงการณ์แสดงความผิดหวังต่อคำพิพากษาดังกล่าว โดยชี้ว่า คำพิพากษาคดีนายอานดี้ ฮอลล์ได้เน้นย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นในการยกเลิกโทษทางอาญาสำหรับการกระทำที่เป็นการหมิ่นประมาท

“นักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างเช่นนายอานดี้ ฮอลล์ มีสิทธิที่จะใช้เสรีภาพในการแสดงออก เพื่อส่งเสริมให้มีการปกป้องคุ้มครองและให้มีการตระหนักซึ่งสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยมีพันธกรณีในการปกป้องคุ้มครอง” นายคิงสลีย์ แอ๊บบ็อต ที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศอาวุโส คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล กล่าว

“อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียดายว่ามีกรณีอีกเป็นจำนวนมากที่ความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญาและความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินคดีต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ซึ่งการปฏิบัติดังกล่าวต้องยุติลง โดยต้องดำเนินการปฏิรูปกฎหมายทั้งสองฉบับนี้อย่างจริงจัง”

อนึ่ง ICJ และ Lawyers’ Rights Watch Canada ได้ร่วมกันยื่นหนังสือเพื่อนศาล (Amicus Curiae Brief) สำหรับประกอบการพิจารณาคดีของศาล โดยหนังสือฉบับดังกล่าวยังให้เหตุผลไว้ว่า การปรับใช้บทลงโทษทางอาญาที่รุนแรงต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอาทิเช่น การจำคุก หรือการปรับเป็นจำนวนเงินที่สูงนั้นเสี่ยงต่อการสร้างความหวาดกลัว (chilling effect) ในการใช้เสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งประเทศไทยมีพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศที่จะต้องปกป้องคุ้มครอง

ทั้งนี้ ICJ คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเหตุผลที่แถลงในหนังสือฉบับดังกล่าวจะได้รับการพิจารณาในชั้นอุทธรณ์

“เป็นเรื่องน่าผิดหวังอีกเช่นกันที่ศาลมิได้ยึดถือแนวบรรทัดฐานที่วางไว้โดยศาลจังหวัดภูเก็ตในคำพิพากษาคดีภูเก็ตหวานเมื่อเร็วๆ นี้ โดยศาลจังหวัดภูเก็ตได้พิพากษาว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำมาใช้ประกอบข้อกล่าวหาการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท” นายแอ๊บบอต กล่าว

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2558 ศาลจังหวัดภูเก็ตได้วินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องนักข่าวสองคนในคดีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญาและความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ อันเนื่องมาจากกรณีที่กองทัพเรือได้กล่าวหาว่านักข่าวทั้งสองได้กระทำการหมิ่นประมาทกองทัพเรือเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2556 โดยการหยิบยกและเผยแพร่ข้อความย่อหน้าหนึ่งจากบทความรางวัลพูลิตเซอร์ของสำนักข่าวรอยเตอร์ที่กล่าวอ้างว่า
กองทัพเรือของประเทศไทยมีส่วนรู้เห็นในการค้ามนุษย์

ICJ ชี้ว่า การดำเนินคดีอาญากรณีความผิดฐานหมิ่นประมาทต่อนายอานดี้ ฮอลล์ เป็นเพียงหนึ่งในการฟ้องร้องดำเนินคดีจากอีกหลายคดีต่อบรรดานักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา คดีอื่นๆ เช่น กรณีที่มีการตั้งข้อหากับ นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ นายสมชาย หอมลออ และนางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ ในเดือนกรกฎาคม 2559 อันสืบเนื่องมาจากการเผยแพร่ข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการซ้อมทรมานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และกรณีที่มีการดำเนินคดีต่อนักรณรงค์ต่อต้านโครงการพัฒนาต่างๆ ในประเทศไทยที่อ้างว่าส่งผลกระทบต่อชุมชนของนักรณรงค์เหล่านี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net