Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis




อีกเพียงไม่กี่วันก็จะถึงวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2559 ซึ่งจะเป็นวันครบรอบ 40 ปีของเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ซึ่งถือว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ อย่างน้อยที่สุด กรณี 6 ตุลาก็เป็นครั้งแรกที่พลังฝ่ายประชาชนได้เรียนรู้ความพ่ายแพ้จากการปราบปรามจากชนชั้นปกครองอย่างเป็นรูปธรรม และได้เผชิญกับการรัฐประหาร หลังจากที่บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์มา 3 ปี เวลาผ่านมาในระยะ 40 ปี ที่น่าสนใจคือ กรณี 6 ตุลาเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ ที่มีการจัดงานรำลึกกันทุกปี เป็นงานขนาดเล็กและขนาดใหญ่ตามแต่โอกาส

ในการจัดงาน 6 ตุลาในระยะหลายปีที่ผ่านมา มีประเด็นสำคัญที่เสนอต่อสังคมไทยให้เป็นบทเรียน 2 ประการ คือ ประการแรก การเสนอต่อสังคมไทยให้เลิกใช้วิธีการรัฐประหารในการแก้ไขปัญหา เพราะการรัฐประหารที่ผ่านมา ก็ไม่เคยแก้ปัญหาอะไรได้ ประการที่สอง คือ การเรียกร้องต่อชนชั้นปกครองไทย ให้เลิกใช้อาวุธและความรุนแรงในการปราบปรามประชาชน ให้รู้จักที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนโดยสันติวิธี เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย แต่จากเหตุการณ์ที่ผ่านมาในรอบ 40 ปี จะเห็นว่าข้อเสนอทั้ง 2 ข้อไร้ผล ชนชั้นปกครองก็ยังแก้ปัญหาทางการเมืองด้วยการสนับสนุนให้กองทัพทำการรัฐประหาร สถาปนาอำนาจเผด็จการ ยิ่งกว่านั้น ความรุนแรงจากการใช้อำนาจรัฐ ก็ยังเป็นปรากฏการณ์ปกติอย่างนี้ ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

คำถามคือ เหตุใดชนชั้นนำไทยจึงไม่รู้จักสรุปบทเรียน และใช้วิธีการแบบเดิมทั้งปราบปรามประชาชนและก่อรัฐประหาร อ.พวงทอง ภวัครพันธุ์ แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้คำตอบกรณีนี้ว่า วัฒนธรรมแห่งการไม่ต้องรับผิด (Culture of impunity) ของชนชั้นปกครองไทยมีความสำคัญอย่างมาก เพราะกลายเป็นว่า เมื่อผู้มีอำนาจก่อการกระทำผิดต่อชีวิตของประชาชน เช่นกรณี 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 และกรณีที่เกิดขึ้นภายหลัง เช่น เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 รัฐบาลที่ก่อเหตุการณ์ไม่เคยต้องรับความผิด โดยมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับความผิดเหล่านั้น กฎหมายนิรโทษกรรมจึงมีความสำคัญอย่างมาก ดังนั้น เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ.2535 พล.อ.สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี จึงออกกฎหมายนิรโทษกรรมเสียก่อน แล้วจึงลาออกจากตำแหน่งในวันรุ่งขึ้น แต่ที่มากกว่านั้น ก็คือ กรณีสังหารประชาชนเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ที่ดำเนินการโดยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ต้องมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมเสียด้วยซ้ำ แต่ก็ไม่มีกระบวนการใดเลย ที่จะจัดการนำตัวผู้ก่อเหตุสังหารประชาชนกลางพระนคร มาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม

ด้วยกระบวนการเช่นนี้ การเสนอให้สอบสวนดำเนินคดีกับผู้รับผิดชอบสั่งฆ่าประชาชน โดยเฉพาะในกรณีเมษายน-พฤษภาคม พ.ศ.2553  จึงเป็นเสมือนเรื่องในความฝัน เพราะในทางความเป็นจริง แม้กระทั่งคำขอโทษ หรือท่าทีสำนักในความผิดของบุคคลที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่เคยมีเสียด้วยซ้ำ ชนชั้นนำไทยเฉยเมยอย่างมากต่อการถูสังหารผมู่ของคนเสื้อแดง และเมื่อการรัฐประหารครั้งใหม่เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2557 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการปราบปรามประชาชนให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีมหาดไทย ทำให้ความหวังที่จะให้เกิดการลงโทษผู้กระทำผิดยิ่งเป็นไปไม่ได้ ในที่สุด กรณีนี้ สังหารประชาชนครั้งนี้ ก็จะจบลงภายใต้วัฒนธรรมไม่ต้องรับผิดชอบชนชั้นนำเช่นเดิม

ท่ามกลางกระบวนการละเลยความผิดกันเองในหมู่ชนชั้นนำ แต่ถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดในทางการเมืองเป็นฝ่ายประชาชน กลับถูกดำเนินคดีอย่างจริงจัง เช่นในกรณี 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 มีการจับกุมนักศึกษาประชาชนผู้ชุมนุม 3,094 คน และต่อมาถูกฟ้องดำเนินคดี 19 คน ส่วนกรณีเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 มีประชาชนฝ่ายคนเสื้อแดงถูกจับดำเนินคดีนับพันคน และเมื่อถึงวันนี้หลายคนถูกตัดสินลงโทษสถานหนัก ตัวอย่างอันดีคือกรณีเผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี จำเลยถูกตัดสินลงโทษ 13 คน ซึ่งนายพิเชษฐ ทาบุดดา ถูกลงโทษสูงสุดคือจำคุกตลอดชีวิต ความจริงแล้วก่อนหน้านี้ มีการเคลื่อนไหวที่จะให้มีการนิรโทษกรรมประชาชนผู้ได้รับผลจากความขัดแย้งทางการเมือง แต่ความพยายามเช่นนั้น ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เท่ากับว่า การนิรโทษกรรมความผิดเป็นเรื่องของชนชั้นนำเท่านั้น ประชาชนจะได้รับนิรโทษกรรมไม่ได้

เช่นเดียวกันกับในเรื่องการก่อการรัฐประหาร ล้มล้างรัฐบาล และฉีกรัฐธรรมนูญ ที่เกิดขึ้น 5 ครั้งในระยะ 40 ปี ทั้งที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายทั้งสิ้น แต่ก็ได้รับการยอมรับจากชนชั้นนำในสังคมไทย และจะถูกดำเนินการให้กลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฏหมาย โดยกระบวนการรัฐสภาแต่งตั้งโดยคณะทหาร หรือโดยคณะตุลาการที่โอนอ่อนตามอำนาจคณะรัฐประหารเสมอมา นี่เป็นผลประโยชน์ร่วม ที่ทำให้คณะรัฐประหารทุกคณะ ไม่เคยแตะต้องอำนาจตุลาการเลย ยิ่งกว่านั้น การรัฐประหาร พ.ศ.2549 และ รัฐประหาร พ.ศ.2557 ยังมีกระบวนการเพิ่มอำนาจทางการเมืองให้คณะตุลาการอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน

สรุปแล้ว ไม่ว่าการรัฐประหารครั้งไหน ก่อความเสียหายเหลือคณานับให้กับประเทศไทยอย่างไร คณะทหารที่ก่อรัฐประหารไม่เคยต้องรับผิด และยังได้ผลประโยชน์อันมหาศาล ทำให้นายทหารที่ก่อรัฐประหารทุกสมัยล้วนมีฐานะอันมั่งคั่งร่ำรวย

ในต่างประเทศหลายประเทศ ได้มีการยกเลิกวัฒนธรรมไม่ต้องรับผิดของชนชั้นนำมาแล้ว เช่น ในเกาหลีใต้ ตุรกี บราซิล อาร์เจนตินา และ ชิลี ซึ่งมีการยกเลิกมาตรการนิรโทษกรรม และนำเอาอดีตนายทหารที่ก่อการรัฐประหารแล้วปราบปรามประชาชนมาลงโทษ เช่นกรณีล่าสุด ศาลอาร์เจนตินา ก็มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 8 กันยายน ลงโทษ พล.อ.อ.โอมาร์ กราฟฟิกนา อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ วัย 90 ปี และนายลุยซ์ ตริลโญ วัย 75 ปี อดีตหัวหน้าสำนักข่าวกรอง โดยจำคุกคนละ 25 ปี ในความผิดฐานปราบปรามและสังหารนักเคลื่อนไหวฝ่ายค้านตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.2522 การดำเนินการลักษณะนี้ ก็เพื่อสร้างหลักประกันไม่ให้มีการรัฐประหารและการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้นอีก

นี่คงเป็นความคาดหวังว่า สิ่งเหล่านี้ น่าจะเกิดได้ในสังคมไทย ที่จะทำให้การรัฐประหารและการละเมิดสิทธิมนุษย์กลายเป็นเรื่องผิดกฎหมาย และปิดทางสำหรับชนชั้นนำที่จะกระทำเช่นนี้อีกในอนาคต แม้ว่าความคาดหวังเช่นนี้จะไม่เป็นจริงในขณะนี้ และอาจจะไม่เป็นจริงสำหรับรุ่นคนเดือนตุลา ซึ่งขณะนี้ก็สูงอายุแล้ว แต่ก็หวังให้เป็นจริงสักวันหนึ่งข้างหน้า

0000

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 582 วันที่ 17 กันยายน 2559


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net