สถานการณ์แรงงานศึกษา 2016

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

“บทความนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักคือ ส่วนที่หนึ่งนั้นเน้นสามารถวิเคราะห์โดยบนฐานคิดการประสานความรู้จากวิชา แรงงานศึกษา [1]ในความรู้ต่างๆที่เกี่ยวข้อง : คุณภาพแรงงาน Generation แนวคิดทางสังคม การย้ายถิ่นแรงงาน และรูปแบบแรงงานพร้อมทั้งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น จึงใช้กระบวนการเชื่อมโยงและแบ่งประเด็นการวิเคราะห์ออกเป็น 4 ประเด็น ประกอบด้วย  1) บทบาทของโลกาภิวัฒน์และทุนนิยมต่อแรงงาน : เพื่อแสดงให้เห็นบทบาทของกระบวนการโลกาวิวัฒน์ระบบเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลต่อสังคม พร้อมทั้งทุนนิยมในฐานะปัจจัยขับเคลื่อนตลาด 2) การมองแรงงานผ่านระบบสายพานการผลิต (Fordism) : สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทแรงงานต่อระบบอุตสาหกรรมแบบเข้มข้น คุณภาพพร้อมทั้งมุมมองต่อระบบตลาดและสังคมที่เกิดขึ้น  3) ระบบหลังสายพานการผลิต (Post-Fordism)  : เพื่อเห็นถึงมิติของแรงงานและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งรูปแบบการรับงานไปทำ เหมาช่วง หรือ ระบบสังคมที่เป็นพลวัตรเรื่องแรงงานและรูปแบบของวัยแรงงาน ณ ยุคหลังสายพาน 4) ในประเด็นกล่าวถึงสุดท้ายจะกล่าวถึง ความท้าทายที่เกิดขึ้นศักยภาพแรงงานในการปฎิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 : ที่บทบาทของแรงงานเปลี่ยนไปเทคโนโลยีมาแทนที่ ทักษะแรงงานที่ปรับเพิ่มมากขึ้น จากทั้งหมดจะเป็นฐานในการประมวลความรู้จากการศึกษาที่ผ่านมา  และในส่วนที่สองนั้นจะเป็นการวิพาก์กระบวนการในการพัฒนาสังคมไทยเข้าสู่ในยุค 4.0”

บทบาทของโลกาภิวัฒน์และทุนนิยมต่อแรงงาน

เมื่อโลกก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 ศตวรรษแห่งการเชื่อมโยงประเทศต่างๆ ให้ใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น หรือประเทศต่างๆ ได้ก้าวสู่ระบบหนึ่งเดียวกัน ตามที่เรียกว่า โลกาภิวัตน์ (Globalization) นับได้ว่าเป็นกระแสหลักของโลกแห่งยุคปัจจุบันในฐานะเป็นตัวจักรขับเคลื่อนโลกใบนี้ภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลกซึ่งเต็มไปด้วยกระแสแห่งการพลวัตอย่างสูง และรวดเร็วทั้งในด้านสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ซึ่งไม่เคยเป็นมาก่อนการไหลบ่าของกระแสโลกาภิวัตน์นี้ ได้เร่งให้ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายหันมาเปิดนโยบายทางเศรษฐกิจแบบเสรี โดยเฉพาะปัจจัยด้านแรงงานหากวิเคราะห์ปัจจัยที่ข้องแล้วนำมาสู่องค์ประกอบในเบื้องต้น 3 ปัจจัย ที่ส่งผลต่อความต้องการแรงงาน การเคลื่อนย้ายแรงงาน ศักภาพแรงงาน รวมถึงความรู้ในการพัฒนาแรงงานในแต่ละช่วงต่อประเทศไทยและสังคมโลก 1) ปัจจัยของระบบเครือข่าย ผลจากโลกาภิวัตน์ได้ทำให้นโยบายภายนอกและนโยบายภายในมีความเกี่ยวโยงกันอย่างใกล้ชิดซึ่งทำให้ กระบวนการกำหนดยุทธศาสตร์และวางแผนพัฒนาของประเทศต่างๆต้องเปลี่ยนไป 2) ปัจจัยเกี่ยวกับกติกาของโลก เศรษฐกิจและสังคมในกระแสโลกาภิวัตน์ จะต้องปรับบทบาทและพัฒนาขีดความสามารถภายใต้กติกาของโลกส่งผลต่อขีดความสามารถของแรงงาน ประเทศพัฒนาแล้วมีแนวโน้มใช้นโยบายเศรษฐกิจหลายกรอบ เช่น พหุภาคี ภูมิภาคนิยม เป็นต้น เพื่อให้ได้ประโยชน์ในกติกาของโลกเช่นนี้ ประเด็นอยู่ที่เมื่อประเทศต่างๆ เปิดประเทศพัฒนาตามบริบทของโลกจะมีความเหมาะสมในความเหลากหลายเพียงใดในบริบทของตน  3) ปัจจัยทางความรู้ (Knowledge) มีความสำคัญในด้านการส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก 4)เทคโนโลยีและระบบข่าวสาร ทำให้ผู้คนรับรู้รับทราบข้อมูล ข่าวสารคล้าย ๆ กันในเวลาใกล้เคียงกัน ใช้สินค้าและบริการเกือบเหมือนกัน อยู่อาศัยหรือทำงานในอาคารมีลักษณะคล้าย ๆ กัน  ทำให้ภาพการดำรงชีวิตของผู้คนในที่ห่างไกลจากเมือง ต่างเมือง หรือต่างประเทศเป็นไปอย่างใกล้เคียงกันด้วย

โลกาภิวัตน์ได้เปลี่ยนสังคมในประเทศโลกกำลังพัฒนา ซึ่งก่อนหน้านั้นมีการจ้างแรงงานไร้ฝีมือ ราคาถูก สวัสดิการต่ำ เป็นจำนวนมากที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมไปสู่การเป็นสังคมอุตสาหกรรมบริการและสารสนเทศ ที่ต้องการแรงงานมีความรู้และทักษะฝีมือสูง แรงงานเหล่านี้จะเป็นแรงงานที่มีความเป็นปัจเจกในตนเองสูง ทำให้ความต้องการรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงานมีน้อย ประกอบกับการรุกคืบขยายฐานการผลิตของบรรษัทข้ามชาติ อันเป็นผลมาจากการเปิดเสรีทางการเงินและการค้า และการพัฒนารูปแบบการจ้างงานไปสู่การเหมาช่วง และการจ้างแรงงานสัญญาระยะสั้น ยิ่งส่งผลให้แรงงานตกอยู่ภายใต้ความไม่มั่นคง และขาดอำนาจต่อรองมากยิ่งขึ้น

 

การมองแรงงานผ่านระบบสายพานการผลิต (Fordism)

ระบบสายพานการผลิตเป็นระบบที่มีการแยกความเป็นจ้าของสถานประกอบการ และการจัดการควบคุมในบรรษัทขนาดใหญ่ ความสําเร็จจากการที่มีผลิตภาพสูงเนื่องด้วยมีการควบคุมแรงงานที่เข้มงวด ในการผลิตบนระบบสายพาน (assembly line) โดยแรงงานจะถูกฝึกทักษะให้ชํานาญงานเฉพาะอย่างบนเทคโนโลยีสายพานการผลิต ซึ่งทําให้ลดต้นทุนการผลิตในการฝึกทักษะฝีมืออย่างอื่น

จากมุมมองดังกล่าวหากวิเคราะห์ตามปรากฏการณ์แรงงานที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งการวิเคราะห์อย่างเชื่อมโยงในการมองระบบอุตสาหกรรม รูปแบบกระทัศน์ดังกล่าวยังมีการคงอยู่ในระบบอุตสาหกรรมไทย กล่าวคือ

1) การพัฒนาศักยภาพแรงงานเป็นรูปแบบการดำเนินการเฉพาะ เน้นทักษะแรงงานที่มีความเฉพาะ(Labor intensive) จากปี 2542 เป็นต้นมา แรงงานไทยมีศักยภาพการศึกษาที่สูงมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันนั้นเมื่อพิจารณาแล้วแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นสะท้อนในบางอาชีพที่ไม่ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน  

2) เมื่อวิเคราะห์ตามกระบวนการการเคลื่อนไหวแรงงานแล้วพบว่า ขบวนการแรงงานที่มีความเป็นปึกแผ่นมีเอกภาพสูง การผลิตขนาดใหญ่จะมีลักษณะเข้มข้นและอ่อนไหวต่อการเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงานในอุตสาหกรรม

3) ระบบเศรษฐกิจเงินตรา (money economy) กลายมาเป็นศูนย์กลางของความสัมพันธ์ทางสังคมทั้งหมดผ่านระบบ “ค่าจ้าง” ที่ทำให้เกิดระบบสมรรถนะของคนทำงาน (Competency) ขึ้นมา แต่ขณะเดียวกันระบบดังกล่าวก็ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวด้านแรงงาน

ระบบหลังสายพานการผลิต (Post-Fordism)

การเปลี่ยนแปลงของการผลิตแบบทุนนิยมจากรูปแบบเดิมที่อยู่บนฐานการผลิตแบบสายพาน และโครงสร้างองค์กรการผลิตภายใต้ระบบโรงงานมาสู่การผลิตแบบใหม่ที่มีความยืดหยุ่น ส่งผลอย่างสําคัญต่อการจ้างงาน การเปลี่ยนแปลงที่กล่าวนี้ปรากฏให้เห็นทั้งในด้านการผลิตที่มีการกระจายการผลิตออกมานอกระบบโรงงานและการจ้างงานแบบยืดหยุ่นหลายรูปแบบ อาทิ การจ้างงานชั่วคราว การจ้างงานแบบเหมาช่วง หรือ แรงงานนอกระบบ เป็นต้น เป็นต้น การจ้างแรงงานโดยแท้จริงแล้วก็เป็นความสัมพันธ์ทางสังคมและเป็นกิจกรรมทางสังคมในรูปแบบหนึ่ง ดังนั้นแล้วหากวิเคราะห์ระบบ

1) การบริโภคกลายมาเป็นใจกลางของการผลิตซ้ำของทุน (capital reproduction) และเพื่อให้การบริโภคยั่งยืน กลุ่มผู้ที่อยู่ในโครงสร้างรายได้กลุ่มบนสุดของสังคม จึงถูกดึงเข้ามาอยู่ในแบบแผนการบริโภคมากยิ่งขึ้น  

2) ระบอบการสะสมทุน เป็นโครงสร้างของระบบการผลิตที่พัฒนาขึ้นในทิศทางที่มีลักษณะเฉพาะ โดยเชื่อมโยงเข้ากับปัจจัยทางเทคโนโลยีต่างๆ รวมถึงองค์กรการผลิตและระบบแรงงานสัมพันธ์  

3) บริโภคในปัจจุบันอยู่ภายใต้แบบแผน “การบริโภคบ่งบอกตัวตน” (self-referencing consumerism) ผลก็คือ คนงานถูกกำหนดให้แสดงออกในฐานะผู้บริโภค

4)รูปแบบการจ้างงาน : ระบบการจ้างงานเต็มเวลา (Full time worker) และสัญญาการจ้างงานระยะยาว (Long-time salary employee) ถูกแทนที่ด้วย การจ้างงานเป็นช่วงเวลา (Part-time work) การจ้างงานชั่วคราว (Temporary work) ไม่เฉพาะแรงงานไร้ทักษะเท่านั้น หากแต่รวมถึงแรงงานมีทักษะด้วย ในประเทศกลุ่ม G7 ตัวเลขการจ้างงานแบบใหม่นี้มีสัดส่วนถึงร้อยละ 25-40 ของการจ้างงานทั้งหมด (ACTRAV Bureau for Workers’ Activities) เพื่อหลบเลี่ยงจากระบบการตรวจสอบ และระบบประกันสังคมของภาครัฐ อีกทั้งเพื่อความสามารถในการเปลี่ยนแปลงให้สอดรับกับระบบการทำงานแบบยืดหยุ่นด้วย ดังนั้นจึงเชื่อมโยงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นคือ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4[2]

 

ปรากฏการณ์แนวการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 : ความอยู่รอดของแรงงาน

จากทั้งหมดที่กล่าวแสดงในการวิเคราะห์ระบบโลกาภิวัฒน์ พร้อมทั้ง Fordism & Post Fordism นั้น ถึงการพัฒนาแรงงานและระบบตลาดโลก เพื่อเชื่อมโยงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น “การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4” คือ การต่อยอดและผสมผสานของเทคโนโลยีหลายด้านที่ได้เกิดขึ้นในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 เพื่อรับใช้มนุษย์ได้กว้างขวางยิ่งขึ้น เทคโนโลยีเหล่านี้ ได้แก่ เทคโนโลยีหุ่นยนต์ นาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีสารสนเทศ การพิมพ์สามมิติ ไบโอเทคโนโลยี เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) พันธุวิศวกรรม ฯลฯ ปรากฏการณ์ดังกล่าวยิ่งเป็นข้อท้าทายต่อกระบวนการศึกษาที่เกิดขึ้น บทบาทแรงงานจะคงอยู่อย่างไรใรคลื่นลูกที่ 4 หรือทักษะของแรงงานที่จำเป็นคืออะไรบ้าง เช่นความสามารถในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่มุ่งให้แรงงานเป็น (Functional Flexibility) เช่น (1) ทักษะการแก้ไขปัญหา (2) ทักษะการคิดวิเคราะห์ (3) ทักษะการคิดสร้างสรรค์ (4) ทักษะการบริหารจัดการบุคคล (5) ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น (6) ทักษะการมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ (EQ) (7) ทักษะการตัดสินใจ (8) ทักษะการเจรจาต่อรอง (9) การมีใจรักบริการ และ (10) ความยืดหยุ่นทางความคิด เป็นเป็นทักษะในศตวรรษใหม่ของแรงงานที่สำคัญในการเตรียมความพร้อม[3]

ขณะเดียวกันกลุ่มแรงงานหลักเป็นคนกลุ่ม Gen Y ในสถานการณ์ปัจจุบัน กลุ่มคนกลุ่มนี้โตมาพร้อมกับคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี มีลักษณะนิสัยชอบแสดงออก มีความเป็นตัวของตัวเองสูง (Instagram LINE หรือ Facebook) ไม่ชอบอยู่ในกรอบและไม่ชอบเงื่อนไข คนกลุ่มนี้ต้องการความชัดเจนในการทำงานว่าสิ่งที่ทำมีผลต่อตนเองและต่อหน่วยงานอย่างไร อีกทั้งยังมีความสามารถในการทำงานที่เกี่ยวกับการติดต่อสื่อสาร และยังสามารถทำงานหลาย ๆ ทั้งนี้ประเด็นสำคัญคือ จะพัฒนาทักษะหรือความสามารถในการกระทำสิ่งหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นจากการฝึกฝน มิได้เกิดจากความเฉลียวฉลาด ความสำคัญของงานบริการ ไม่ว่าเทคโนโลยีสารสนเทศจะก้าวหน้าอย่างใด มนุษย์ก็ยังคงเป็นมนุษย์อยู่เสมอ โดยปรารถนาจะได้รับบริการที่ดี ซึ่งคุณลักษณะเช่นนี้สามารถฝึกหัดให้เกิดขึ้นได้เสมอ สมรรถนะสำคัญอีกประการคือ “ความยืดหยุ่นทางความคิด” เป็นทักษะแรงงานที่เกิดขึ้นในการเตรียมพร้อมอุตสากหรรมลูกที่ 4 ที่กำลังตามมา ทั้งหมดเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงมองระบบเศรษฐกิจทั้งระบบ[4]

บทสรุป :  การศึกษาแรงงานในบริบทต่างต้องวิเคราะห์ถึงกลไกระบบโลก มาถึงระบบเศรษฐกิจ พร้อมทั้งปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับแรงงานที่เกิดขึ้น อันนำมาสู่รูปแบบและการกำหนดแรงงานคุณภาพแรงงาน พร้อมทั้งตลาดของงานที่บ่งบอกว่างานนั้นเป็นงานที่มีคุณค่า (Decent work) ดังนั้นแรงงานจึงศึกษาได้หลายมิติที่เกี่ยวข้อง แต่ทั้งหมดอยู่บนฐานกลไกตลาดโลกพร้อมทั้งนโยบายที่เกี่ยวข้องในการกำหนดคุณค่าและความหมายของแรงงาน ที่สำคัญกระบวนการหนึ่งที่สำคัญและเกี่ยวเนื่องคือ “กระบวนการแรงงานสัมพันธ์” ที่จะมีพัฒนาการอย่างไร โจทย์สำคัญหลายคนกล่าวว่า ยิ่งให้เทคโนโลยีคนยิ่งสำคัญน้อยลง แต่ในทางตรงกันข้ามยิ่งสำคัญมากขึ้นเป็นลำดับมากกว่าเพราะคนจะต้องพัฒนาศักยภาพเป็นผู้วิเคราะห์และควบคุม” สิ่งเหล่านี้อาจต้องต่อยอดในการศึกษาต่อไป

 

บทวิพากษ์ระบบเศรษฐกิจ 4.0 [5]

โจทย์ข้อที่ 1 “มีผู้กล่าวว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยอยู่ในระดับ Thailand 2.0 เท่านั้น เห็นด้วยหรือไม่”

กล่าวได้ว่าประเทศไทยยังอยู่ในยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรม 2.0 ที่ยังมุ่งเน้นกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานเป็นหลักนั้น จากประโยคดังกล่าวผู้เขียนมีความเห็นด้วยกับความเห็นนั้น “ว่าการพัฒนาในระบบอุตสาหกรรมในประเทศไทยนั้นยังอยู่ในยุค 2.0” หากพิจารณาการปฏิวิติอุตสาหกรรมที่ผ่านมาพบว่า  กิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อผลิตสินค้าและบริการผ่านการ "ปฏิวัติ" มาหลายครั้งในประวัติศาสตร์ โดยเกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงปี ค.ศ. 1760 ที่มนุษย์รู้จักใช้พลังงานไอน้ำมาสร้างผลผลิตทวีคูณ ต่อเนื่องมาถึง ค.ศ. 1870 พลังงานเหล่านั้นมาสร้างระบบการผลิตอย่างเป็นระบบจำนวนมากบนสายพาน การกำเนิดโรงงานที่สามารถผลิตสินค้าได้อย่างต่อเนื่อง เข้าสู่ยุคทองของสินค้าอุตสาหกรรม เช่น รถยนต์ เรือ น้ำมัน เหล็ก จนกระทั่งปี 1960s เราก็เข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สาม หรือบางครั้งเราก็เรียกว่า "ยุคดิจิทัล" เมื่อเราสามารถผลิตเซมิคอนดักเตอร์ คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล และอินเทอร์เน็ต และโลกกำลังจะก้าวสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 คือการเชื่อมโยงทุกสิ่งเข้าหากันจนเกิดความเป็นไปได้ที่ไม่จำกัด ดังนั้นยิ่งสะท้อนได้อย่างชัดเจนว่าไทยนั้นยังอยู่ในการปฏิวัติอุตสาหกรรม 2.0 และพยายามก้าวผ่านในบางธุรกิจอุตสาหกรรมที่เข้าสู่ 3.0

เหตุผลประการสำคัญที่สนับสนุนความคิด การพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยในที่นี้ขอยกเหตุผลสนับสนุนสำคัญ 4 ประการ ประกอบด้วย

(1) เทคโนโลยีที่ใช้และกำลังพัฒนาเข้ามาเป็น 4.0 แต่แรงงานไทยไม่สามารถใช้งานหรือนำมาใช้ประโยชน์ได้ ในยุคของระบบการปฏิวัติอุตสาหกรรมนั้นเรื่องระบบ Big Data เข้ามาช่วยในการออกแบบพร้อมทั้งกำหนดระบบอุตสาหกรรมพร้อมทั้งทิศทางกำลังที่เกิดขึ้น แต่ทั้งนี้สำหรับประเทศไทยนั้นระบบข้อมูลดังกล่าวยังไม่ได้นำมาปรับใช้ในกระบวนการออกแบบกระบวนการผลิตมากพร้อมทั้งกำหนดยุทธศาสตร์และผลิตภัณฑ์ที่สำคัญ กระบวนการ Data mining ในยุค 4.0 จึงมีความสำคัญมากเพราะถือเป็นการปรับวนการที่ชัดเจนในการกำหนดทิศทางของระบบอุตสาหกรรม

(2) ศักยภาพของแรงงานในการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์และการใช้ความรู้ประสานระบบการผลิต แรงงานที่อยู่ในระบบการผลิตนั้นอยู่ในรูปแบบแรงงานทั่วไปที่ขาดทักษะเฉพาะซึ่งสวนทางกับทิศทาง 4.0 ที่ต้องการ Creativity + Entrepreneurship + Innovation +Self development โดยศักยภาพแรงงานเหล่านี้ในตลาดแรงงานปัจจุบันพบว่ายังหาได้น้อยหรือไม่มีความเพียงพอต่อตลาดแรงงาน โดยสัมพันระบบการศึกษาของไทยที่มุ่งเน้นเฉพาะทางจนขาดแรงงาน “ที่สามารถเชื่อมโยงและพัฒนานวตกรรมใหม่ให้เกิดขึ้น” โดยทั้งหมดการศึกษาที่ควรเพิ่มประสบการณ์ “การเรียนรู้จากการทำงานจริง” ประเทศไทยขาดเป็นอย่างมาก

(3) แรงงานไทยที่ระบบอุตสาหกรรม 4.0 ต้องการเพิ่มรูปแบบสมรรถนะจากรู้ทั่วไป เป็น “แรงงานเชี่ยวชาญ” ซึ่งยังพบได้น้อยและยังเป็นแรงงานทั่วไปที่เน้นการใช้แรงงาน 2.0 ในทักษะที่จำเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ที่เกิดขึ้น คือ ทักษะการแก้ไขปัญหา ทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะการคิดสร้างสรรค์ ทักษะการบริหารจัดการบุคคล ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น ทักษะการมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ (EQ) ทักษะการตัดสินใจ ทักษะการเจรจาต่อรอง การมีใจรักบริการ ความยืดหยุ่นทางความคิด หากพิจารณาในระบบอุตสาหกรรมไทยปัจจุบันพบว่าสิ่งที่ขาดนั้นเกือบจะเป็นรูปแบบทั้งหมดของแรงงานในปัจจุบัน ทั้งในรูปแบบรายงานรายวัน กลุ่มแรงงานชนชั้นกลาง และกลุ่มอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ต้องเร่งพัฒนาเร่งด่วนคือ “ทักษะการคิดสร้างสรรค์ การมีใจรักบริการ ความยืดหยุ่นทางความคิด” เพราะ 3 ทักษะที่กล่าวมานั้นคือทักษะชีวิตที่ทำให้แรงงานสามารถทนรับต่อการเปลี่ยนแปลงของกระแสอุตสาหกรรม 4.0 ที่กำลังเข้ามาได้ ทักษะที่แตกต่างย่อมนำมาซึ่งความแตกต่างของระบบอุตสาหกรรม “ที่ต้องการคนที่เข้ามาแก้ปัญหาพร้อมเพิ่มมูลค่า มากกว่าแรงงานทั่วไป”

(4) การปรับตัวของระบบเศรษกิจไทยนั้นยังเป็นรูปแบบ “การใช้แรงงานเข้มข้น” แม้จะพบว่าเริ่มมีกระบวนการนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาใช้แต่เป็นเพียงบางส่วนในภาคธุรกิจ ในระบบอุตสาหกรรมสิ่งสำคัญที่พบในหลายอุตสาหกรรมภาคส่วน ในที่นี้ขอยกตัวอย่าง อุตสาหกรรมรูปแบบ SME รูปแบบอุตสาหกรรมสิ่งทอ และรูปแบบอุตสาหกรรมประกอบรถยนต์ นั้นพบว่ายังเป็นรูปแบบการใช้แรงงานเข้มข้นเน้น “แรงงานเป็นผู้ผลิต” หรือ มากกว่านั้น “ในรูปแบบเพียงแรงงานควบคุมเครื่องจักร” เท่านั้น

กรณีศึกษาที่สำคัญต่อปรากฏการณ์แรงงาน :  กรณีในอุตสาหกรรมในระบบภาคการผลิตสิ่งทอ และชิ้นประกอบยานยนต์ได้ย้ายฐานการผลิตไปยังชายแดน หรืออาศัยแรงงานประเทศเพื่อนบ้าน หรือย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่ฐาน “ค่าจ้างต่ำกว่า” สิ่งเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยยังเป็น 2.0 ยังใช้ “แรงงานเข้มข้นในการผลิต คนทำได้เร็ว” ผลผลิตทั้งหมดเกิดจากคนในระบบการผลิต และการผลิตนั้นเน้นผลผลิตในรูปแบบผลิตภัณฑ์เชิงเดี่ยวจำนวนมาก

ดังนั้นแล้วสำหรับประเทศไทย อาจสามารถสรุปได้ไทยอยู่ในยุค 2.0 เป็นส่วนใหญ่ แต่ว่ามีการกำหนดแนวทางเพื่อการพัฒนาไปสู่กระบวนการ 4.0 แต่สิ่งที่ไทยต้องพัฒนาเร่งด่วนคือ “ศักยภาพของแรงงาน ระบบการศึกษาที่สร้างแรงงาน แรงงานที่พร้อมต่อการปรับตัว พร้อมทั้งแนวทางการพัฒนาระบบอุตสาหกรรมที่ยกระดับการพัฒนาอย่างชัดเจน”

โจทย์ข้อที่ 2 “ นอกเหนือจากการปรับตัวเพิ่มสมรรถนะของ ประเทศไทยต้องปรับตัวด้านใดอีกบ้างเพื่อรองรับวาระ Thailand 4.0”

สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 คือ การต่อยอดและผสมผสานของเทคโนโลยีหลายด้านที่ได้เกิดขึ้นในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 เพื่อรับใช้มนุษย์ได้กว้างขวางยิ่งขึ้น เทคโนโลยีเหล่านี้ ได้แก่ เทคโนโลยีหุ่นยนต์ นาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีสารสนเทศ การพิมพ์สามมิติ ไบโอเทคโนโลยี เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) พันธุวิศวกรรม ฯลฯ ปรากฏการณ์ดังกล่าวที่มักกล่าวเสมอคือ สมรรถนะและศักภาพของแรงงานที่จะคงอยู่ เป้าหมายเป็นการเน้นพัฒนา “ของแรงงาน” ในฐานะที่เหนือเครื่องจักร (ดังแผนภูมินำเสนอ)[6]

ทั้งนี้หากพิจารณาในประเด็นอื่นสำหรับประเทศไทยที่ควรพัฒนาตามมาเพื่อรองรับวาระ 4.0 นั้น ผู้เขียนเสนอควรพิจารณาเพิ่มเติมในมุมมอง 3 (ตัวแรงงาน องค์กร/นายจ้าง สังคม) ประเด็นสำคัญที่กำหนดให้วาระ Thailand 4.0 นั้นสามารถดำเนินการและมีทิศทางได้ ประกอบด้วย

(1) การพัฒนาแรงงาน หมายถึง สร้างแรงงาน “ที่มุ่งมั่นต่อการเปลี่ยนแปลง พร้อมทั้งมีระบบความคิดที่เกิดการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องและเปิดพื้นที่ให้แรงงานสามารถทดลองและเรียนรู้ไปพร้อมกัน” ทั้งนี้กลไกที่ก่อให้เกิดกระบวนการดังกล่าวได้คือ การศึกษาของประเทศจะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับทักษะที่แรงงานจะต้องมีในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ที่กล่าวไว้ข้างต้น วิธีในการศึกษาควรจะต้องจัดการศึกษาโดยเน้นการฝึกปฏิบัติจริงเพื่อให้ผู้เรียนได้เห็นภาพว่าในการทำงานที่แท้จริงนั้น ผู้เรียนจะต้องปฏิบัติอย่างไร และหากเกิดปัญหาต่างๆ ขึ้นจะต้องนำความรู้ ความสามารถที่เรียนมาในการแก้ไขปัญหาอย่างไร ซึ่งนโยบายด้านการศึกษาแบบนี้จะต้องอาศัยการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนที่จะต้องจัดการเรียนการสอนเพื่อประโยชน์ซึ่งกันและกัน กล่าวคือ การเรียนการสอนภาคทฤษฎีจะรับผิดชอบโดยสถาบันการศึกษาภาครัฐ แต่การฝึกปฏิบัติจะต้องอาศัยภาคเอกชนในการเอื้อสถานที่ปฏิบัติงานจริงให้ผู้เรียนได้ทดลองทำงานเสมือนจริง ได้ใช้เครื่องจักรที่ดำเนินการผลิตจริงเพื่อให้ผู้เรียนได้ทราบถึงกระบวนการและกลไกต่างๆรวมทั้งปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น หรือการให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการออกแบบหลักสูตรการศึกษา เนื่องจากภาคเอกชนซึ่งเป็นผู้ที่จะต้องนำคนเข้ามาปฏิบัติงานจริงจะทราบดีว่า ผู้เรียนที่จะเข้ามาปฏิบัติงานจริงนั้นควรจะต้องมีความรู้ ทักษะ ความสามารถอะไรบ้าง เพื่อลดปัญหาภาครัฐผลิตบัณฑิตไม่ได้คุณภาพตามที่ภาคเอกชนต้องการ

(2) การกำหนดและพัฒนาในภาคอุตสาหกรรม (มุมมององค์กร) : แรงงานที่อุตสาหกรรมต้องการ ที่มุ่งแรงงานที่ชัดเจนและต้องพัฒนาคือ “แรงงานที่สามารถเพิ่มมูลค่าต่อระบบอุตสาหกรรม รูปแบบของการพัฒนาตนเอง และการพัฒนาระบบการปรับตัวของแรงงาน” สิ่งเหล่านี้ในภาพองค์กรหน่วยทั้งภาครัฐและเอกชนควรกำหนดอย่างชัดเจน “ผ่านกระบวนการสำคัญ On the Job training Coaching” หากต้องการแรงงานในประเทศที่เก่ง ควรส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้และฝึกจริงจากหน้างาน เพื่อก้าวสู่แรงงานทั่วไปสู่แรงงานเชี่ยวชาญ ดังคุณสมบัติ "แรงงานมืออาชีพ"

1)Real Time Ability แรงงานจะต้องปรับตัวเข้ากับสถานการณ์เฉพาะหน้าได้อย่างดี ตัวแรงงานต้องเรียนรู้ และนำไปปรับใช้พัฒนาตนเอง ปรับตัวเอง ปรับการกระทำตามสถานการณ์ที่เข้ามาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า 

2)Class Decision ต่อเนื่องจากการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ จากการที่เห็นปัญหาส่งผลต่อการตัดสินใจแก้ไขปัญหา เลือกทางออกในการแก้ไข

3)Convertible การปรับตัวเข้ากับงาน การเรียนรู้งานใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาในอนาคต ควรมีทั้งสามส่วนอยู่รวมกันในตัวแรงงานยุคใหม่ เมื่อเห็นสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ต้องมีการตัดสินใจในการแก้ไขปัญหาที่ดี ไม่ว่าจะสามารถแก้ไขด้วยตัวเอง หรือวิธีใด และต้องมีการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ 

(3) การให้ความหมายและนิยามของสังคมต่อ “แรงงาน” และ “งาน” การส่งเสริมคุณค่าและความหมายพร้อมทำความเข้าใจของระบบสังคมอย่างแท้จริงของคำว่า “งานทุกงานล่วนมีส่วนสำคัญในการพัฒนาและเติมโตในอาชีพได้” ประเด็นดังกล่าวสำคัญในเชิงกระบวนการคิด เช่น การมองแรงงานสายอาชีพเป็นแรงงานชั้น 2 และไม่สามารถไปสู่ระดับบริหารได้ ส่วนการเรียนปริญญาตรีส่งผลให้เติบโตทางการงาน ระบบการศึกษาเหล่านี้ยิ่งตอกย้ำ “ค่าของคนและงานที่แตกต่าง” ดังนั้นคำว่า “คุณภาพการศึกษาที่เท่าเทียมทั้งระบบไม่เหลื่อมล้ำจึงเป็นจุดสำคัญ

ดังนั้นจาก 3 มิติที่กล่าวมา ระบบการศึกษา ระบบการสร้างคน ระบบการพัฒนาคนจากงาน การสร้างคุณค่าความหมายความเท่าเทียมจากงาน เป็นสิ่งที่ประเทศไทยควรคำนึงไปพร้อมกันดังนั้นแล้วความสามารถในการเรียนรู้" จึงจำเป็นกว่า "ความรู้" หรือ "ทักษะ" เพราะ “คน” มีความซับซ้อนเปราะบาง

0000

 

เอกสารอ้างอิง

ภาษาไทย

 นราเขต ยิ้มสุข, เรียนรู้แรงงานต่าง Generation, เอกสารประกอบการบรรยายวิชา นบส.611 แรงงานศึกษา คณะ

         สังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559,

พงษ์เทพ สันติกุล, จุดแรงงานในกระแสโลกาภิวัตน์, ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการวิกฤติแรงงาน,

      http://www.labourcrisiscenter.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539165345

&Ntype=6

วรากรณ์ สามโกเศศ, แรงงานไทย 4.0 , เอกสารประกอบการสัมมนา แรงงานไทยพันธุ์ใหม่ 4.0, คณะสังคม

      สงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์, 2559,

 

ภาษาอังกฤษ

ACTRAV Burea for Workers’ Activities , ILO . Labor Market Trends and Globalization’s
Impact on them. http://ilo.org/

World Economic Forum. World Economic Forum Global Competitiveness Report 2015-2016, World
Economic Forum Geneva, 2015,

เชิงอรรถ

[1] ประมวลองค์ความรู้จากชุดวิชา วิชา นบส.611 วิชาแรงงานศึกษา เพื่อต่อยอดความคิดและเกิดการพัฒนางานสำหรับผู้สนใจแรงงานศึกษาต่อไป จากการบรรยาย รศ.ดร.นฤมล นิราทร และคณะคณาจารย์ร่วมสอน พร้อมคำชี้แนะจาก รศ.ดร.กิติพัฒน์ นนทปัทมดุลย์

[2] รศ.ดร.พงษ์เทพ สันติกุล. แรงงานในกระแสโลกาภิวัตน์.  นำเสนอใน ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการวิกฤติแรงงาน, http://www.labourcrisiscenter.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539165345&Ntype=6

[3] จากการบรรยาย.แรงงานไทย 4.0  รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ  วันที่ 10 พฤษภาคม 2559, คณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

[4] จากการบรรยาย ดร.นราเขต ยิ้มสุข. การบรรยาย เรียนรู้แรงงานต่าง Generation”. 13 กุมภาพันธ์ 2559, คณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

[5] เน้นกระบวนการสังเคราะห์เนื้อหาโดยอ้างอิงจากการประมวลของผู้ศึกษาในการวิเคราะห์ทิศทางการดำเนินการ Thailand 4.0

[6] Model นำเสนอดังกล่าว ปรังปรุง ชาญณรงค์  วงค์วิชัย โดยการเชื่อมโยงประเด็นสำคัญ 2 ส่วนประกอบด้วย ประเด็นการเปลี่ยนแปลงยุค 4.0 และเปรียบกับมรรถนะแรงงานใน 4.0 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน ชาญณรงค์  วงค์วิชัย เป็นนักศึกษาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขานโยบายสังคม เอกการบริหารแรงงาน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท