Skip to main content
sharethis

เด็กเร่ร่อนในอินเดียมากกว่าครึ่งหนึ่งยังประสบปัญหาถูกละเมิดสิทธิ์ด้านต่างๆ ท่ามกลางสภาพชีวิตที่ไร้สิทธิไร้เสียง องค์กรเอ็นจีโอกลุ่มหนึ่งจึงให้เงินทุนพวกเขาตั้งหนังสือพิมพ์ของตัวเองเพื่อนำเสนอเรื่องราวเป็นปากเสียงให้กับกลุ่มเด็กเร่ร่อนด้วยกันเอง และนำเสนอเรื่องราวของพวกเขาให้สังคมได้รับรู้

ปกหนังสือพิมพ์ Balaknama (ที่มาของภาพ:  Aparna Menon/the betterindia)

ทีมงานหนังสือพิมพ์ Balaknama (ที่มาของภาพ: The Guardian/Balaknama)

7 ก.ย. 2559 เว็บไซต์อัลจาซีรานำเสนอเรื่องเด็กเร่ร่อนในอินเดียสร้างสื่อหนังสือพิมพ์ของตัวเองชื่อ "บาลัคนามา" (Balaknama) เพื่อนำเสนอเรื่องราวของความทุกข์ยากและการถูกกดขี่ ถูกละเมิดสิทธิของเหล่าเด็กเร่ร่อนบนท้องถนน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการถูกล่วงละเมิดทางเพศ การถูกทารุณกรรม ปัญหาติดยาเสพติด การถูกอันธพาลและตำรวจคุกคาม

บรรณาธิการของบาลัคนามาเป็นคนล้างรถอายุ 17 ปี ชื่อชัมพู เขาบอกว่าหนังสือพิมพ์ที่เขาจัดทำเป็นสื่อเพื่อบอกกับผู้คนได้รู้ว่าชีวิตของคนเร่ร่อนอย่างพวกเขาต้องประสบพบเจออะไรบ้างและแสดงให้เห็นว่าแม้แต่ชีวิตของคนอย่างพวกเขาก็มีค่า ชัมพุบอกอีกว่าโดยปกติแล้วผู้คนจะไม่ค่อยสนจเรื่องของเด็กข้างถนนไม่ว่าพวกเขาจะถูกทุบตี ถูกข่มขืน หรือแม้กระทั่งถูกทำให้หายตัวไป ก็ไม่ได้ทำให้สังคมรู้สึกกระวนกระวายใจ

หนังสือพิมพ์ของเด็กเร่ร่อนฉบับนี้มีผู้รายงานข่าวหลักๆ 4 คน มีคนทำหน้าที่เก็บรวบรวมเรื่องราว 64 คน พวกเขาเป็นที่รู้จักในฉายา "บาตูนี" (Baatooni) หรือ "คนช่างพูด" ซึ่งกลุ่มเด็กช่างคุยผู้รวบรวมข้อมูลเหล่านี้ไม่สามารถเขียนเรื่องราวออกมาเองได้ ทำให้พวกเขาส่งเรื่องราวให้ผู้รายงานข่าวหลักๆ เขียนในประเด็นต่างๆ ให้

หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ยังมีการตีพิมพ์ออกมาสองภาษาในขนาดแท็บลอยด์ มีการตีพิมพ์ 5,000 ฉบับออกมาเป็นภาษาฮินดี และ 3,000 ฉบับเป็นภาษาอังกฤษ พวกเขาได้รับเงินทุนสนับสนุนการตีพิมพ์มาจากองค์กรเอ็นจีโอที่ชื่อเชตนา โดยที่ชัมพุบอกว่าถึงแม้เอ็นจีโอจะมีบทบาทด้นการเงินแต่ไม่ว่าอะไรก็ตามที่มีการตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ฉบับนี้รวมถึงบทบรรณาธิการต่างก็เป็นอิสระ

เด็กที่ร่วมกันทำบาลัคนามาส่วนใหญ่เป็นคนเก็บขยะและไม่ได้เข้าโรงเรียน มีบางคนทำงานรับจ้างเล็กๆ น้อยๆ แถวทางรถไฟ สถานีรถประจำทาง และร้านกาแฟข้างถนน โดยมีผู้รายงานข่าวไปเยี่ยมพวกเขาตามที่ต่างๆ เพื่อรวบรวมเรื่องราวของพวกเขา โดยหลังจากที่หนังสือพิมพ์มีการตีพิมพ์ออกมาแล้วจะมีการแจกจ่ายให้ฟรีกับร้านค้าต่างๆ กับตำรวจ และกับเขตที่พบเจอเด็กเร่ร่อนได้

ในรูปข่าวของอัลจาซีรามีรูปของเด็กชายอายุ 13 ปี ชื่อไฟซานเป็นผู้เก็บรวบรวมข่าวสาร เขาเป็นเด็กที่หนีออกจากบ้านเมื่อไม่กี่ปีที่แล้ว เขาเคยเป็นคนติดยาที่ต้องทำงานเก็บขยะเพื่อประทังชีวิต หลังจากที่เขาเข้าร่วมทำหนังสือพิมพ์เขาก็สามารถเลิกยาได้สำเร็จ ไฟซานบอกว่า "หนังสือพิมพ์ทำให้เขามีความหวัง มีวิสัยทัศน์ และมีความชื่นบานในชีวิต" ไฟซานบอกอีกว่าถ้าหากเขาหางานทำได้เขาจะกลับไปหาครอบครัวเขาคิดว่าครอบครัวคงมีความสุขถ้าได้เห็นว่าเขาได้รับการศึกษาและประสบความสำเร็จ

คนทำงานหนังสือพิมพ์อีกคนหนึ่งคือเชตัน อายุ 17 ปี ทำงานเป็นคนรับจ้างทำงานบ้านและเป็นผู้รายงานข่าว เขาบอกว่าหนังสือพิมพ์ทีพวกเขาทำได้มอบ "ปีก" ให้กับพวกเขาเนื่องจากไม่มีใครฟังเสียงเด็กที่ยากจน แต่ในตอนนี้พวกเขาสามารถนำเสนอเรื่องราวของสิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญในชีวิตประจำวันได้

องค์กร Save the Children ระบุว่ามีเด็กเร่ร่อนในกรุงนิวเดลีอยู่ราว 51,000 คน มีร้อยละ 20 เป็น มีมากกว่าครึ่งหนึ่งเคยถูกล่วงละเมิดทางวาจา ทางกายและทางเพศมาก่อน

เรียบเรียงจาก

India: Street kids publish newspaper to raise awareness, Aljazeera, 07-09-2016 http://www.aljazeera.com/indepth/inpictures/2016/09/india-street-kids-publish-newspaper-raise-awareness-160905070347441.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net